29 มี.ค. 63 - นพ.พิเชฐ บัญญัติ รองอธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กว่า “#ความเห็นแก่ตัวน่ากลัวกว่าโรคร้าย วันอาทิตย์ ถือเป็นวันพักผ่อน แต่ผมประเมินตัวเองดูแล้วว่า ผมมีความเครียดมากกว่าช่วงก่อนๆ เยอะเลย ยิ่งได้อ่านสิ่งที่ส่งๆกันทางสื่อสังคมมากๆ ก็จะเริ่มรู้สึกว่า หลับไม่ค่อยดีเท่าไหร่ จนต้องพยายามลดการอ่านข่าวลง และอ่านหนังสือก่อนนอนแทน
“ความเครียด พักผ่อนน้อย หลับไม่ดี กินอาหารไม่มีประโยชน์ ออกกำลังกายน้อย สูบบุหรี่หรือดื่มสุราเป็นประจำ” ล้วนเป็นปัจจัยส่งผลกระทบให้ภูมิคุ้มกันต่ำลง เสี่ยงต่อการเกิดภาวะภูมิไวรับ เมื่อสัมผัสเชื้อโรค ก็จะติดและป่วยได้ง่าย ดีที่ผมแสดง ”ความเห็นแก่ตัว” ทุกเช้า ด้วยการวิ่งออกกำลังกายเป็นประจำ 35-50 นาที หัวใจเต้นเร็วพอประมาณ ก็รู้สึกผ่อนคลายเครียดไปได้เยอะ หลับได้ดีขึ้น
ได้ดูคลิปหนึ่งด้วยความชื่นชมและซาบซึ้งใจ เจ้าของโรงงานเย็บเสื้อผ้า ได้ทำการเย็บหน้ากากผ้า แจกให้หน่วยงานต่างๆ ฟรี มีคนถามว่า “ทำไมไม่ทำขายเลย ตอนนี้ต้องการมาก ขายดีแน่ๆ” เขาบอกว่า “เงินใครๆก็ต้องการ แต่ก็ไม่สามารถซื้อความสุขความภาคภูมิใจได้ คนเขากำลังเดือดร้อนกัน จะมาคิดหากำไรได้อย่างไร” และเขายังบอกอีกว่า “ความเห็นแก่ตัวน่ากลัวกว่าโรคร้าย” เป็นกระทู้ให้ผมเขียนกลอนวันนี้ครับ
“ความ”เป็นจริงนิ่งคิดสักนิดก่อน
“เห็น”กันตอนตกยากลำบากเข็ญ
“แก่”หนุ่มเด็กเล็กใหญ่ได้ยากเย็น
“ตัว”เองเป็นประดุจตัวฉุดมัน
“น่ากลัว”มากหากคนเอาตนตั้ง
“กว่า”การหวังพลังชนดลสร้างสรรค์
“โรค”ระบาดคาดหมายทำลายกัน
“ร้าย”ไม่ทันเทียมเท่าใจเราเอง
“ความเห็นแก่ตัว” ที่ไม่ทำให้คนอื่นหรือสังคมเดือดร้อน เป็นสิ่งที่ทำได้ เช่น เห็นว่าตัวเองเสี่ยงที่จะรับเชื้อ หรือ แพร่เชื้อโรค ให้คนอื่น ก็เอาเวลามาปรับปรุงตัวเอง เห็นแก่ตัวเองด้วย “การปรับสุขอนามัยส่วนบุคคล การรักษาระยะห่างจากคนอื่นๆ และ เก็บตัวอยู่บ้าน” (Personal hygiene, social distancing, stay home) ขณะที่ “ความเห็นแก่ตัว” อีกหลายอย่างกลับสร้างความทุกข์ให้กับคนอื่นๆในสังคม กลายเป็นสิ่งที่น่ากลัวกว่าการระบาดของโรค เช่น ถ้าเราเป็นคนขายสินค้ากักตุนสินค้าไว้ขายหรือ เราเป็นคนซื้อเองซื้อเอาไว้ใช้เกินความจำเป็น หรือ การหลอกขายของปลอมหรือด้อยคุณภาพ
การเอาแต่ตัวเองเป็นที่ตั้ง การเอาแต่ใจตัวเอง เอาแต่ตัวเองได้หน้า หรือ เอาแต่พวกพ้องตัวเอง ก็ล้วนเป็น “ความเห็นแก่ตัว” ที่อาจส่งผลกระทบรุนแรงได้เช่นกัน การเอาข้อมูลบางส่วนมาเผยแพร่เพื่อการหลอกหรือโฆษณาขายสินค้า ก็เป็นอีกตัวอย่างของความเห็นแก่ตัว เช่นกัน การเอาข้อมูลตัวเลขบางส่วนมาใช้ตามความเชื่อของตนเอง หรือ ความกลัวของตนเอง มาสร้างสถานการณ์ให้คนในสังคมเกิดความตื่นตระหนกหวาดกลัว จะได้ทำตามที่ตัวเองอยากให้ทำ โดยไม่คำนึงผลกระทบรอบด้าน เอาแต่ความเชื่อตัวเองเป็นใหญ่ ก็เป็น “ความเห็นแก่ตัว” เช่นกัน อาจเป็นความสบายใจส่วนตัว แต่สังคมส่วนใหญ่อาจเดือดร้อน
ผมเชื่อมั่นว่า “การรับมือกับโรคระบาด” ที่เหมาะสม ยั่งยืน ไม่ใช้ “ความกลัว” เป็นตัวตั้ง แต่ใช้ “ความรู้” และ “สติ” เป็นตัวนำ เราจึงจะอยู่กับโรคอุบัติใหม่ได้อย่างปกติสุข เพราะยังไงมันก็อยู่กับเราไปอีกนานแน่ๆ ทุก “ความเห็นแก่ตัว” ล้วนเกิดจากใจตัวเราเองทั้งนั้น จะดึงขึ้นหรือดึงลง ก็ล้วนอยู่ที่ใจเราจะกำกับ ใจจะกำกับได้ก็ต้องใช้ “สติ” ความเห็นแก่ตัวที่เป็นประโยชน์แก่ตัวเอง และไม่เป็นโทษกับใครๆหรือสังคมโดยรวม มันคือ “ความรักตัวเอง” อันนี้ทุกคนควรมีครับ
ส่วน “ความเห็นแก่ตัว” ที่ตัวเองและครอบครัวได้ประโยชน์ แต่คนอื่นหรือสังคมเสียประโยชน์ มันคือ “ความเห็นแก่ตัวที่แท้จริง” อันนี้เราควรละทิ้งครับ”.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |