29 มี.ค.63- นพ.ธนรักษ์ ผลิพัฒน์ รองอธิบดีกรมควบคุมโรค แถลงข่าวสถานการณ์โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ว่า วันนี้มีผู้ป่วยกลับบ้านได้ 11 ราย เสียชีวิต 1 ราย และมีผู้ป่วยรายใหม่เพิ่ม 143 ราย โดยสัดส่วนยังพบในพื้นที่กทม.มากที่สุด ทั้งนี้ในจำนวนผู้ป่วยรายใหม่ มาจาก 3 กลุ่ม กลุ่มที่ 1 ผู้ป่วยที่มีประวัติสัมผัสกับผู้ป่วย หรือเกี่ยวข้องกับสถานที่ที่พบผู้ป่วยก่อนหน้านี้รวม 70 ราย ได้แก่ กลุ่มสนามมวย 5 ราย, กลุ่มสถานบันเทิง 15 ราย, กลุ่มผู้สัมผัสกับผู้ป่วยที่มีรายงานมาแล้ว 49 ราย และผู้ร่วมพิธีทางศาสนาที่ประเทศมาเลเซีย 1 ราย
กลุ่มที่ 2 ผู้ป่วยรายใหม่ 43 ราย ได้แก่ กลุ่มที่เดินทางกลับจากพื้นที่เสี่ยงทั้งคนไทยและคนต่างชาติ 22 ราย, กลุ่มผู้ทำงาน/อาศัย และเดินทางไปในสถานที่แออัดต้องใกล้ชิดคนจำนวนมากหรือเกี่ยวข้องกับชาวต่างชาติ 8 ราย กลุ่มบุคลากรทางการแพทย์ เดิม 2 ราย วันนี้มีอีก 6 ราย รวมมีผู้ป่วยติดเชื้อ 8 ราย โดยติดจากผู้ป่วย 6 ราย ติดจากแหล่งอื่น 1 ราย อีก 1 รายอยู่ระหว่างการสอบสวน ถามว่าเป็นสัดส่วนมากหรือยัง ส่วนตัวไม่อยากให้มีบุคลากรติดแม้แต่คนเดียว เพราะต้องดูแลผู้ป่วยอีกเยอะ ดังนั้นนอกจากการป้องกันตัวระหว่างปฏิบัติงานแล้วขอให้ระมัดระวังเมื่อนอกรพ.ด้วย, และกลุ่มอื่นๆ ตามเกณฑ์เฝ้าระวัง เช่น ปอดอักเสบไม่ทราบสาเหตุ 5 ราย และ กลุ่มที่ 3 ผู้ที่ได้รับผลยืนยันทางห้องปฏิบัติการพบเชื้อแต่อยู่ระหว่างรอประวัติและสอบสวนโรค 30 ราย สรุปวันนี้ มีผู้ป่วยกลับบ้านแล้ว 111 ราย รักษาในโรงพยาบาล 1,270 ราย เสียชีวิต 7 ราย รวมมีผู้ป่วยสะสม 1,388 ราย
นพ.ธนรักษ์ กล่าวว่า สำหรับผู้เสียชีวิต 1 ราย นั้นเป็นชายไทยอายุ 68 ปี มีโรคประจำตัว ความดันโลหิตสูง และเบาหวาน มีอาการเหนื่อยหอบ เข้ารักษาที่รพ.เอกชนแห่งหนึ่ง ตรวจพบปอดอักเสบ และภาวะวิกฤติระบบทางเดินหายใจ จึงส่งต่อไปที่รพ.พระนั่งเกล้า อาการไม่ดีขึ้น และเสียชีวิตวันที่ 26 มี.ค. ส่วนผู้ป่วยอาการหนัก 17 ราย โดย 50% เป็นผู้สูงอายุที่อายุมากกว่า 70 ปี และมีโรคเรื้อรังประจำตัว อย่างไรก็ตาม ใน 17 รายนี้ มีอาการปอดอักเสบ ใส่เครื่องช่วยหายใจและเฝ้าระวังอาการใกล้ชิด ในจำนวนนี้ 1 ราย ใช้เครื่องพยุงการทำงานของปอด (ECMO) อาการอยู่ในภาวะวิกฤต
นพ.ธนรักษ์ กล่าวต่อว่า ขณะนี้กราฟผู้ป่วยในไทยเพิ่มขึ้นในแนวเส้นตรง พบผู้ป่วยมากในกลุ่มอายุ 20-59 ปี ส่วนผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป เจอน้อยแต่มีความสำคัญ เพราะเสี่ยงที่อาการรุนแรงและเสียชีวิต อย่างไรก็ตาม ในไทยตอนนี้มี 59 จังหวัดที่มีรายงานพบผู้ติดเชื้อ แต่สถานการณ์แตกต่างกัน ดังนั้นลักษณะการดำเนินมาตรการควบคุมโรคจึงต่างกัน โดยแบ่งออกเป็น 1.กทม.มีผู้ป่วยมาก ต้องมีมาตรการอย่างเข้มข้นเรื่องค้นหาผู้ป่วย และคนสัมผัสให้เร็วและเว้นระยะห่างทางสังคม
2.กลุ่มจังหวัดที่มีผู้ป่วยมาก เช่น สุรินทร์ อุดรธานี กาญจนบุรี บุรีรัมย์ นครราชสีมา จะต้องดำเนินมาตรการเช่นเดียวกับกทม. 3. กลุ่มจังหวัดที่มีผู้ป่วยไม่มาก 1-3 คน ต้องตะครุบผู้ป่วย ตามผู้สัมผัสให้เร็ว และเฝ้าระวังคนที่มาจากต่างพื้นที่ให้เร็วด้วย และ 4. กลุ่มจังหวัดที่ไม่มีผู้ป่วย ต้องจับตาคนที่เดินทางจากต่างพื้นที่ให้เร็ว และให้เข้าสู่ระบบการเฝ้าระวัง ทั้งนี้การมีจังหวัดที่ไม่มีผู้ป่วยเลยจำนวนมากจะส่งผลดีต่อการควบคุมโรคของจังหวัดใกล้เคียงด้วย สำหรับเรื่องอุปกรณ์การแพทย์ไม่เพียงพอนั้น ขอให้ทุกฝ่ายช่วยกัน ใช้อุปกรณ์อย่างเหมาะสม เพราะทั่วโลกอยู่ในสถานการณ์เดียวกัน และตนพยากรณ์ล่วงหน้าได้เลยว่าหากสถานการณ์แบบนี้ไปเรื่อยๆ อุปกรณ์ทางการแพทย์หลายๆ อย่างจะค่อยๆ ขาดแคลน เพราะกำลังการผลิตทั้งในโลกเป็นไปตามสถานการณ์ปกติ ไม่ได้ทำไว้สำหรับสถานการณ์ฉุกเฉิน
เมื่อถามผลการสอบสวนโรคกรณีผู้เสียชีวิตรายที่ 7 เนื่องจากมีรายงานว่าไม่ใช่ผู้ป่วยยืนยันโควิด-19 ตั้งแต่แรก จึงให้กลับบ้าน มีการสอบสวนผู้สัมผัสมากน้อยเพียงใด นพ.บัญชา ค้าของ รองอธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า เคสนี้จัดเป็นปัญหาอย่างหนึ่ง เนื่องจากผู้ป่วยไม่ได้ให้ประวัติเรื่องการเดินทางมาจากพื้นที่เสี่ยง ตอนนี้อยู่ระหว่างสอบสวนเพิ่มเติม ทั้งนี้ กรณีการไม่ยอมประวัติทำให้ยากต่อการควบคุมป้องกันโรค และการรักษา ซึ่งที่ผ่านมาพบว่ามีปัญหาเยอะเหมือนกัน อย่างกรณีบุคลากรทางการแพทย์ติดเชื้อเพิ่มขึ้นก็มาจากการปกปิดข้อมูลเช่นกัน ดังนั้นต้องขอความร่วมมือประชาชนอย่าปกปิดข้อมูล ขอให้บอกทุกอย่างตามความจริงด้วย.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |