ไม่สมราคาคุย! "เราไม่ทิ้งกัน" เดี้ยง ประชาชนแห่ลงทะเบียนนาทีเดียวระบบล่ม "ลวรณ" วอนทยอยลงทะเบียนเพราะเปิด 24 ชั่วโมงไม่มีปิด ขณะที่ "บิ๊กตู่" ห่วงไข่แพง สั่งตรวจสอบตั้งแต่ต้นทางเพราะจับรายย่อยแก้ไม่ตรงจุด "วีระกร" ถอยกรูดเลิกขายไข่ถูกหน้าพรรคแล้ว รอหาที่ใหม่กว้างขวางกว่าเดิม
เว็บไซต์ www.เราไม่ทิ้งกัน.com ที่ใช้ลงทะเบียนรับสิทธิ์เงินเยียวยาจากมาตรการเยียวยา 5,000 บาท (3 เดือน) แก่ลูกจ้างสถานประกอบการ หรือผู้ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัส COVID-19 โดยเปิดลงทะเบียนเข้าร่วมมาตรการได้ตั้งแต่วันเสาร์ที่ 28 มีนาคม 2563 เวลา 18.00 น. เป็นต้นไป ตลอด 24 ชั่วโมง
ทั้งนี้ รัฐบาลระบุว่าระบบสามารถรองรับการทำธุรกรรมได้ถึง 58,000 รายการในเวลาเดียวกัน หรือคิดเป็นจำนวน 3.48 ล้านคนต่อนาที โดยคาดว่าระบบจะสามารถรองรับจำนวนประชาชนที่ต้องการเข้ามาลงทะเบียนออนไลน์ได้แบบไร้กังวล
อย่างไรก็ตาม เมื่อถึงเวลาลงทะเบียนจริงคือเวลา 18.00 น. ปรากฏว่าเวลาผ่านไปไม่ถึงนาทีพบว่าระบบล่ม เนื่องจากมีประชาชนแห่ลงทะเบียนกันเป็นจำนวนมาก
มาตรการมอบเงินเยียวยาแก่ผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 จะให้สิทธิ์เฉพาะคนที่มีคุณสมบัติตรงตามที่ระบุไว้เท่านั้น คือผู้ลงทะเบียนต้องมีอายุตั้งแต่ 18 ปีขึ้นไป เป็นผู้ไม่อยู่ในระบบประกันสังคม เป็นแรงงาน ลูกจ้างชั่วคราว อาชีพอิสระ ให้เตรียมหลักฐานบัตรประจำตัวประชาชน ข้อมูลส่วนบุคคล ข้อมูลประกอบอาชีพ ข้อมูลนายจ้าง
นายลวรณ แสงสนิท ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง กระทรวงการคลัง เผยว่าระบบรองรับเต็มที่แล้ว แต่ประชาชนลงทะเบียนพร้อมกันมากเกินไป ซึ่งไม่จำเป็นต้องมาลงทะเบียนพร้อมกัน เพราะไม่มีปิด สามารถลงทะเบียนได้ 24 ชั่วโมง หากคัดกรองแล้วว่าคุณสมบัติตรงก็ได้รับเงินช่วยเหลือ 3 เดือน
นางนฤมล ภิญโญสินวัฒน์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นห่วงประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากราคาไข่ไก่แพง จึงได้สั่งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องคือกระทรวงพาณิชย์ ไปตรวจสอบหาสาเหตุตั้งแต่ต้นทาง รวมถึงการตรวจสอบทุกขั้นตอน กลางทางจนถึงปลายทางที่ประชาชน ซึ่งการไล่จับผู้ค้ารายย่อยอาจไม่ใช่การแก้ปัญหาที่ถูกจุด จึงต้องติดตามทุกขั้นตอน พร้อมเตือนกลุ่มฉวยโอกาสขึ้นราคาต้องเห็นใจประชาชนในสถานการณ์เช่นนี้
โฆษกรัฐบาลกล่าวว่า หลังจากรัฐบาลประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในทุกเขตท้องที่ทั่วราชอาณาจักร เพื่อควบคุมสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ หรือโควิด-19 เริ่มตั้งแต่วันที่ 26 มี.ค.-30 เม.ย.63 ส่งผลให้พี่น้องประชาชนเป็นกังวลและแห่ซื้อไข่ไก่จนขาดตลาดในบางพื้นที่ ทำให้เกิดการฉวยโอกาสขายไข่ไก่ราคาแพงกว่าที่ควรจะเป็น และไม่ต้องการให้พ่อค้าแม่ค้ารู้สึกว่ารัฐบาลไปตามไล่จับคนกลุ่มนี้ แต่ให้ดูว่าราคาที่พ่อค้าแม่ค้ารับมานั้นราคาเป็นธรรมหรือไม่ โดยการตรวจสอบตั้งแต่ต้นทางจะสร้างความเป็นธรรมแก่ทุกฝ่าย รวมถึงการป้องกันการเอารัดเอาเปรียบ หรือเกิดการฉวยโอกาสขึ้นราคาขายในสถานการณ์ที่ประชาชนได้รับความเดือดร้อนจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 อยู่แล้ว
'วีระกร' ถอยกรูด
"รัฐบาลหวังว่าทุกอย่างจะผ่านไปได้ด้วยดี ขออย่าใช้จังหวะแบบนี้เอาเปรียบซึ่งกันและกัน แต่มาร่วมช่วยเหลือสนับสนุนซึ่งกันและกันให้ผ่านวิกฤติไปได้" นางนฤมลกล่าว
ด้านนายวีระกร คำประกอบ ส.ส.นครสวรรค์ พรรคพลังประชารัฐ กล่าวว่า ตามที่ได้มีความตั้งใจจะช่วยเหลือพี่น้องประชาชนในกรุงเทพฯ ในภาวะขาดแคลนไข่ไก่และมีราคาสูงมาก ซึ่งจะช่วยแบ่งเบาภาระของรัฐบาลอีกทางหนึ่งด้วยนั้น ก็มีหลายท่านได้ทักท้วงในเรื่องที่อาจจะเป็นสาเหตุให้มีการแพร่กระจายของเชื้อ COVID-19 ได้หากมีผู้มาซื้อเป็นจำนวนมาก ประกอบกับบริเวณด้านหน้าของพรรคพลังประชารัฐไม่สามารถรองรับประชาชนได้เกิน 100-200 คน ซึ่งอาจทำให้เกิดความแออัดและการจราจรติดขัดได้
"ผมจึงขอยกเลิกการนำไข่ไก่จากนครสวรรค์มาจำหน่ายที่หน้าพรรคตามที่ได้ประกาศไว้ จนกว่าจะสามารถหาสถานที่ที่เหมาะสมและกว้างขวางรองรับประชาชนที่มาซื้อได้อย่างเพียงพอ ซึ่งจะประกาศให้ทราบต่อไป" นายวีระกรระบุ
นพ.ระวี มาศฉมาดล ส.ส.บัญชีรายชื่อและหัวหน้าพรรคพลังธรรมใหม่ กล่าวว่า กระทรวงพาณิชย์ต้องประกาศงดการส่งออกเป็นเวลาอย่างน้อย 1-2 เดือน ไม่ใช่ประกาศงดส่งออกเพียง 7 วัน เพราะการประกาศงดส่งออกเพียง 7 วันไม่ได้สร้างความเชื่อมั่นให้ประชาชนเลยว่าจะมีปริมาณไข่ไก่พอเพียง ในทางกลับกันจะเป็นการบอกให้ประชาชนต้องกักตุนไข่มากขึ้นด้วยซ้ำไป เพราะไม่มั่นใจว่าเหตุใดจึงประกาศงดส่งออกเพียง 7 วันเท่านั้น ดังนั้นกระทรวงพาณิชย์ต้องสร้างความเชื่อมั่นให้ประชาชนมากกว่านี้ ว่าจะมีไข่ไก่และไข่เป็ดจำหน่ายพอเพียงอย่างแน่นอน
"ถึงแม้จะงดการส่งออก ก็จะมีจำนวนไข่ไก่เพิ่มขึ้นจาก 39 ล้านเป็นเพียง 41 ล้านฟองต่อวันเท่านั้น แต่ถ้าประชาชนกักตุนเพิ่มขึ้นเพียง 50% ของความต้องการปกติ จะทำให้ความต้องการเพิ่มขึ้นถึงวันละ 60 ล้านฟอง ซึ่งกำลังผลิตของประเทศไม่พอแน่นอน" หัวหน้าพรรคพลังธรรมใหม่กล่าว
ด้านนายวัชระ เพชรทอง อดีต ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า ขณะนี้สิ่งที่ประชาชนต้องการมากที่สุดนอกจากไข่ไก่ ก็คือหน้ากากอนามัยแผ่นละ 2.50 บาท ตามที่ประกาศในราชกิจจานุเบกษา แต่ปรากฏว่าประชาชนหาซื้อไม่ได้ ทั้งๆ ที่มีโรงงานผลิตภายในประเทศได้วันละนับล้านชิ้น ดังนั้น พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ต้องรีบแก้ไขปัญหาหน้ากากอนามัยและไข่ไก่ให้ประชาชนโดยด่วนที่สุด ต้องทำให้ประชาชนเห็นว่าการประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉินสามารถแก้ไขปัญหาให้ประชาชนได้จริงๆ
ไม่ใช่เป็นเพียงเสือกระดาษเท่านั้น นายกรัฐมนตรีต้องทำให้กฎหมายศักดิ์สิทธิ์และปฏิบัติได้จริง ไม่มีใครอยู่เหนือกฎหมายทั้งสิ้น ถ้ามีผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองทำผิดต้องปลดทันที ถ้าเป็นข้าราชการต้องลงโทษเด็ดขาด เพื่อไม่ให้เป็นเยี่ยงอย่างต่อไป และถ้าเป็นพ่อค้าแม่ค้าขายสินค้าเกินกว่าราคาที่กฎหมายกำหนด อย่าไปจับแต่พ่อค้าแม่ค้ารายย่อย เขาอาจจำเป็นต้องทำเพื่อหาเช้ากินค่ำ พ่อค้ารายใหญ่ๆ เจ้าหน้าที่ของรัฐกล้าจับกุมได้บ้างหรือไม่
นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา หัวหน้าศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์ โพสต์เอกสารผ่านเฟซบุ๊ก ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา Thiravat Hemachudha กรณีโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์เหลือหน้ากาก N95 ในคลังเวชภัณฑ์ใช้ได้อีกประมาณ 2 สัปดาห์
ข้าวยังไม่ขาดตลาด
ผู้สื่อข่าวได้ไปสำรวจร้านจำหน่ายข้าวสารในอำเภอเมืองชัยนาท จ.ชัยนาท พบว่าขณะนี้ราคาข้าวสารบางชนิดเริ่มปรับขึ้นจากเดิม 15-20 บาท เช่น ข้าวสารเสาไห้ จากราคาถังละ 235 บาท เป็น 250 บาท แต่ข้าวสารหอมมะลิยังขายราคาเดิม ถังละ 500 บาท
พ่อค้าจำหน่ายข้าวสารรายหนึ่งในอำเภอเมืองชัยนาทเปิดเผยว่า ตอนนี้ราคาข้าวสารบางชนิดเริ่มปรับสูงขึ้นเล็กน้อย เนื่องจากสถานการณ์ภัยแล้ง และประชาชนเกิดความวิตกกังวลเกี่ยวกับโรคโควิด-19 จึงเริ่มมีลูกค้าเข้ามาซื้อข้าวสารไปกักตุน แต่ก็ยังไม่มากนัก ซึ่งทางร้านพยายามตรึงราคาโดยขายราคาเดิมไปก่อน จนกว่าราคาตลาดหรือพ่อค้าคนกลางจะปรับสูงขึ้น
อย่างไรก็ตาม ข้าวสารยังมีอยู่ในสต๊อกไม่ขาดตลาด ประชาชนจึงไม่มีความจำเป็นต้องซื้อกักตุน เพราะจะทำให้เสียเงินจำนวนมาก ควรเก็บเงินไว้ใช้ยามจำเป็นอย่างอื่นบ้างจะดีกว่า
นายทศพล กฤตวงศ์วิมาน เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม กล่าวในกรณีนายจ้างไม่ให้ผู้ประกันตนมาทำงานเนื่องจากสัมผัสหรือใกล้ชิดผู้ติดเชื้อโควิด-19 ให้กักตัว 14 วันเพื่อสังเกตอาการ และกรณีหน่วยงานภาครัฐมีคำสั่งให้หยุดกิจการชั่วคราวเพื่อป้องกันความเสี่ยงต่อการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ทำให้ผู้ประกันตนได้รับผลกระทบไม่สามารถทำงานและไม่ได้รับค่าจ้าง และหนึ่งในมาตรการของรัฐในการลดการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 คือให้ประชาชนลดการรวมตัวกัน เพื่อลดความเสี่ยงในการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19 สำนักงานประกันสังคมได้กำหนดช่องทางการให้บริการเป็นพิเศษ โดยการยื่นขอรับประโยชน์ทดแทนกรณีว่างงานจากเหตุสุดวิสัย ให้ยื่นแบบได้ทางระบบอิเล็กทรอนิกส์ หน้าเว็บไซต์สำนักงานประกันสังคม www.sso.go.th หัวข้อขอรับประโยชน์ทดแทน กรณีว่างงาน online (e-form for sso benefits) โดยผู้ประกันตนกรอกแบบขอรับประโยชน์ทดแทน กรณีว่างงานจากเหตุสุดวิสัย และนายจ้างกรอกแบบรับรองการปิดกิจการจากเหตุ COVID-19
เลขาธิการสำนักงานประกันสังคมกล่าวต่อไปว่า สำหรับผู้ประกันตนที่ถูกเลิกจ้างหรือลาออกจากงาน ซึ่งไม่เกี่ยวข้องกับการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 สามารถขึ้นทะเบียนผู้ว่างงาน และรายงานตัวผ่านระบบอินเทอร์เน็ตได้ที่เว็บไซต์กรมการจัดหางาน เพียงใช้เลขบัตรประชาชนในการเข้าสู่ระบบ ทาง http://empui.doe.go.th/auth/index กรอกข้อมูลจากบัตรประชาชนพร้อมกรอกเลขหลังบัตรประชาชน (Laser Code) จะได้รหัสผ่านเพื่อใช้งานระบบ เมื่อลงทะเบียนเข้าสู่ระบบเสร็จสิ้นแล้ว ให้ผู้ประกันตนยื่นคำขอ รับประโยชน์ทดแทนกรณีว่างงาน (สปส.2-01/7) e-form บนเว็บไซต์ www.sso.go.th โดยยื่นเอกสารช่องทาง ดังนี้
1.ส่งเอกสารทางไปรษณีย์ตอบรับ หรือ
2.ส่งทางโทรสาร (FAX) ของสำนักงานประกันสังคมกรุงเทพมหานครพื้นที่/จังหวัด/สาขา หรือ
3.ส่งทาง e-mail ที่สำนักงานประกันสังคมกรุงเทพมหานครพื้นที่/จังหวัด/สาขากำหนด หรือ
4.ส่งทางไลน์ที่สำนักงานประกันสังคมกรุงเทพมหานครพื้นที่/จังหวัด/สาขากำหนด
ทั้งนี้ เพื่อความสะดวกรวดเร็วในการรับสิทธิประโยชน์ และลดขั้นตอนรวมถึงค่าใช้จ่ายในการเดินทาง หากมีข้อสงสัยสอบถามข้อมูลได้ที่ เว็บไซต์สำนักงานประกันสังคม www.sso.go.th ผ่านช่องทาง e-mail ([email protected]), Web board. Live chat และทาง Facebook ของสำนักงานประกันสังคม กระทรวงแรงงาน (Facebook.com/ssofanpage) หรือโทร.1506 (ให้บริการทุกวันตลอด 24 ชั่วโมง)
9 สายการบินหยุดบิน
นายจุฬา สุขมานพ ผู้อำนวยการสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (กพท. หรือ CAAT) เปิดเผยว่า เมื่อวานนี้ (27 มี.ค.63) กพท.เห็นชอบให้สายการบินสัญชาติไทยจำนวน 9 สายการบิน แบ่งเป็นสายการบินที่ให้บริการเต็มรูปแบบ (Full-service airlines) จำนวน 3 ราย และสายการบินราคาประหยัด (Low-cost airline) 6 ราย หยุดทำการบิน
โดยสายการบินที่หยุดทำการบินในเส้นทางต่างๆ มีดังต่อไปนี้ สายการบินที่ให้บริการเต็มรูปแบบ 3 ราย ได้แก่
1.การบินไทย หยุดทำการบินเส้นทางในประเทศทุกเส้นทาง ระหว่างวันที่ 25 มีนาคม - 31 พฤษภาคม 2563 และโอนย้ายเที่ยวบินให้สายการบินไทยสมายล์ทำการบินแทน ด้านเที่ยวบินระหว่างประเทศหยุดทุกเส้นทาง ได้แก่ ทวีปเอเชีย หยุดระหว่างวันที่ 25 มีนาคม - 31 พฤษภาคม 2563 และทวีปยุโรป ระหว่างวันที่ 1 เมษายน - 31 พฤษภาคม 2563
2.สายการบินไทยสมายล์ หยุดทำการบินเส้นทางในประเทศ เชียงใหม่-ภูเก็ต ระหว่างวันที่ 25 มีนาคม - 31 พฤษภาคม 2563 และหยุดทำการบินเส้นทางระหว่างประเทศทุกเส้นทาง ระหว่างวันที่ 23 มีนาคม - 31 พฤษภาคม 2563
3.สายการบินบางกอกแอร์เวย์ส หยุดทำการบินเส้นทางในประเทศ ได้แก่ กรุงเทพฯ-เชียงราย, กรุงเทพฯ-กระบี่, สมุย-กระบี่, เชียงใหม่-กระบี่, เชียงใหม่-แม่ฮ่องสอน, เชียงใหม่-ภูเก็ต, เชียงใหม่-สมุย และสมุย-เชียงใหม่ ระหว่างวันที่ 29 มีนาคม - 24 ตุลาคม 2563 ด้านเส้นทางระหว่างประเทศหยุดทำการบินทุกเส้นทาง ระหว่างวันที่ 29 มีนาคม - 24 ตุลาคม 2563
สายการบินราคาประหยัด 6 ราย ได้แก่ 1.สายการบินไทยแอร์เอเชีย หยุดทำการบินเส้นทางในประเทศทุกเส้นทาง วันที่ 1-30 เมษายน 2563 ยกเว้นเส้นทางอู่ตะเภา-ขอนแก่น หยุดบินระหว่างวันที่ 1 พฤษภาคม - 24 ตุลาคม 2563 และหยุดบินเส้นทางระหว่างประเทศทุกเส้นทาง ระหว่างวันที่ 27 มีนาคม - 24 ตุลาคม 2563
2.สายการบินนกแอร์ หยุดทำการบินเส้นทางในประเทศ ได้แก่ กรุงเทพฯ-กระบี่, นครพนม, น่าน, ร้อยเอ็ด, แม่ฮ่องสอน ระหว่างวันที่ 1 มีนาคม - 30 เมษายน 2563 และหยุดทำการบินเส้นทางระหว่างประเทศทุกเส้นทางตั้งแต่ 31 มกราคม - 25 ตุลาคม 2563
3.สายการบินไทยไลอ้อน หยุดทำการบินเส้นทางภายในประเทศและเส้นทางระหว่างประเทศทุกเส้นทาง ระหว่างวันที่ 25 มีนาคม - 30 เมษายน 2563
4.สายการบินไทยเวียดเจ็ท หยุดทำการบินเส้นทางระหว่างประเทศทุกเส้นทาง ได้แก่ ประเทศจีน เดือนมกราคม-สิงหาคม 2563, ประเทศไต้หวันและเวียดนาม ระหว่างเดือนมีนาคม-สิงหาคม 2563 สำหรับเส้นทางในประเทศให้เปลี่ยนเที่ยวบิน สำหรับผู้สำรองที่นั่งช่วงสงกรานต์ระหว่างวันที่ 13-15 เมษายน 2563 และลดความถี่การทำการบินแต่ละเส้นทางวันที่ 24 มีนาคม - 3 เมษายน 2563
5.สายการบินไทยแอร์เอเชียเอ็กซ์ หยุดทำการบินเส้นทางระหว่างประเทศทุกเส้นทาง ระหว่างวันที่ 26 มีนาคม - 16 มิถุนายน 2563 และยกเลิกทำการบินกรุงเทพฯ-บริสเบน
6.สายการบินนกสกู๊ต หยุดทำการบินเส้นทางระหว่างประเทศทุกเส้นทาง ระหว่างวันที่ 25 มีนาคม - 30 เมษายน 2563.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |