ติดเชื้อก้าวกระโดด! สธ.ชี้ครบฟักตัว1สัปดาห์กลุ่มเดินทางเพราะล็อกดาวน์กทม.


เพิ่มเพื่อน    

  สธ.แถลงผู้ติดเชื้อโควิด-19 รายใหม่เพิ่ม 109 ราย เสียชีวิต 1 ราย มีประวัติโรคเบาหวาน ไขมันสูง ดันยอดติดเชื้อสะสมพุ่ง 1,245 คน อาการหนัก 17 คน เสียชีวิตรวม 6 คน พบผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้น 5 จังหวัด คาดหลังจากนี้จะพบผู้ป่วยเพิ่มแบบก้าวกระโดด เพราะจะครบ 1 สัปดาห์ของระยะฟักตัวของเชื้อในคนที่เดินทางออกจาก กทม.หลังปิดสถานประกอบการ 
    เมื่?อวันที่ 28 มี.ค.63 ที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) นพ.อนุพงศ์ สุจริยากุล ผู้ทรงคุณวุฒิ กรมควบคุมโรค แถลงข่าวสถานการณ์โรคระบาดโควิด-19 ว่า ตัวเลขการแพร่ระบาดทั่วโลกใกล้แตะ 6 แสนราย  ส่วนตัวเลขผู้เสียชีวิตเพิ่มขึ้นกว่า 3,700 ราย โดยจำนวนผู้ติดเชื้อสูงสุดคือสหรัฐอเมริกา รองลงมาเป็นอิตาลี ส่วนจีนตกลงมาเป็นอันดับ 3 ขณะที่ผู้เสียชีวิตมากที่สุดยังเป็นอิตาลีซึ่งมีมากกว่า 9,000 ราย
    ส่วนสถานการณ์ในไทยพบผู้ป่วยรายใหม่เพิ่ม 109 ราย ยังคงรักษาอยู่ใน รพ. 1,139 ราย กลับบ้านได้แล้ว 3 ราย เสียชีวิตเพิ่ม 1 ราย เป็นผู้หญิงอายุ 55 ปีในพื้นที่ กทม. มีประวัติเป็นผู้ป่วยเบาหวานที่ควบคุมน้ำตาลได้ไม่ดีและมีไขมันในเลือดสูง เข้ารับการรักษาเมื่อวันที่ 23 มี.ค.ด้วยอาการหอบเหนื่อย อีกทั้งพบว่ามีอาการปอดอักเสบรุนแรง ส่งผลให้วันนี้มียอดรวมสะสมผู้ติดเชื้อ 1,245 ราย รักษาหายกลับบ้านได้แล้ว 100 ราย และเสียชีวิตสะสม 6 ราย
    นพ.อนุพงศ์กล่าวอีกว่า สำหรับผู้ติดเชื้อรายใหม่ที่พบในวันนี้แบ่งออกเป็น 3 กลุ่ม กลุ่มที่ 1 คือผู้ที่มีประวัติสัมผัสกับผู้ป่วยหรือเกี่ยวข้องกับสถานที่พบผู้ป่วยก่อนหน้านี้ จำนวน 39 ราย สนามมวย 10  ราย อยู่ที่ กทม. สถานบันเทิง 8 ราย กระจายอยู่ใน กทม.และศรีสะเกษ และผู้มีประวัติสัมผัสกับผู้ป่วย  21 ราย กลุ่มที่ 2 ผู้ป่วยรายใหม่ จำนวน 17 ราย เป็นผู้เดินทางมาจากต่างประเทศ 8 ราย 
    แบ่งเป็นคนไทย 6 ราย มาจากประเทศสหรัฐอเมริกา อินเดีย ฝรั่งเศส เยอรมนี และญี่ปุ่น และชาวต่างชาติ 2 ราย เป็นชาวยูเครนและโปรตุเกส และเป็นผู้ที่อาศัยหรือทำงานอยู่ในสถานที่แออัด 7  ราย เช่น พนักงานร้านนวด สปา พนักงานต้อนรับในโรงแรม เชฟ เจ้าของร้านขายเครื่องประดับ รวมถึงบุคลากรทางการแพทย์ติดเชื้อเพิ่ม 2 ราย กลุ่มที่ 3 เป็นผู้ที่พบเชื้อซึ่งต้องรอสอบประวัติและรอสอบสวนโรคจำนวน 53 ราย เชียงราย ปทุมธานี สมุทรสาคร ภูเก็ต นนทบุรี มุกดาหาร ปัตตานี นราธิวาส ยะลา  กทม.
    นพ.อนุพงศ์กล่าวอีกว่า ผู้ป่วยอาการหนักขณะนี้มีจำนวน 17 ราย ยังต้องให้เครื่องช่วยหายใจ 12  ราย ซึ่งรักษาอยู่ในโรงพยาบาลพื้นที่ กทม. ส่วนผู้ป่วยอาการหนักอีก 5 รายรักษาตัวอยู่ที่ จ.เชียงใหม่  สุราษฎร์ธานี เพชรบุรี นครราชสีมา และบุรีรัมย์ โดยมีช่วงอายุระหว่าง 31-?76 ปี สำหรับผู้ป่วยที่มีอาการน้อยอีกกว่า 1,000 ราย พบว่ายังมีปัจจัยเสี่ยงจึงยังไม่อนุญาตให้กลับบ้าน นอกจากนี้ยังพบว่าผู้ป่วยอายุน้อยที่สุดมีอายุ 6 เดือน และอายุมากที่สุด 84 ปี และมีสัดส่วนเป็นผู้ชายมากกว่าผู้หญิง
กลุ่มสนามมวยยังไม่จบ
    จากแผนที่ประเทศไทย ขณะนี้มีผู้ป่วยติดเชื้อกระจายใน 57 จังหวัด จากเมื่อวาน (27 มี.ค.) ?มีจำนวน 52 จังหวัด ซึ่งผู้ป่วยส่วนใหญ่อยู่ในพื้นที่ กทม. 515 ราย นนทบุรี 65 ราย ภูเก็ต 41 ราย ยะลา  40 ราย ชลบุรี 36 ราย สมุทรปราการและปัตตานีจังหวัดละ 33 ราย สงขลา 27 ราย ปทุมธานี 14 ราย  อุบลราชธานี 12 ราย เชียงใหม่ 11 ราย ทั้งนี้การพบผู้ป่วยรายใหม่จากสนามมวยและสถานบันเทิง แสดงว่าทั้ง 2 กลุ่มนี้ยังไม่จบ เพราะทุกสนามมวยปิดตัวลงในวันที่ 24 มี.ค.ตามคำสั่งผู้ว่าฯ กทม. และขอให้ผู้เดินทางกลับภูมิลำเนาสวมหน้ากากอนามัยตลอดเวลา ล้างมือบ่อยๆ แยกกักตัวเอง 14 วัน เว้นระยะห่างทางสังคม เพื่อให้เราปลอดภัย อยู่ห่าง หยุดเชื้อเพื่อชาติ
    ถามถึงกรณี รพ.หลายแห่งระบุว่าเวชภัณฑ์ที่มีอยู่จะเพียงพอแค่ 2 สัปดาห์นั้น นพ.อนุพงศ์ตอบว่า  ผู้บริหารได้สั่งการให้ สธ.ทำแผนสำรวจการใช้หน้ากากอนามัย เวชภัณฑ์ เครื่องช่วยหายใจ โดยให้องค์การเภสัชกรรม (อภ.) เป็นผู้กระจายเวชภัณฑ์และยาไปให้ รพ.ทั้งของรัฐและเอกชน ในจำนวนที่เหมาะสมพอดีกับสิ่งที่ขอมา และพอดีกับที่เราสั่งซื้อไปยังต่างประเทศ สิ่งเหล่านี้จะค่อยๆ ทยอยส่งไปให้รพ. ส่วนเรื่องการบริจาคนั้นคนไทยมีจิตกุศล สธ.ไม่เคยห้าม รพ.เรื่องการรับบริจาค สามารถรับได้ตามจิตศรัทธาของประชาชน ไม่ได้หมายความว่าขอรับบริจาคเพราะของขาด แต่เพื่อให้มีสต๊อกไว้ใช้
    "การสอบสวนโรคไม่ใช่งานง่ายๆ กรณีที่เขตเตาปูนจากผู้ติดเชื้อ 1 ราย ขยายการติดเชื้อในวงกว้างถึง 10 ราย หากเราไม่มีมาตรการใดๆ ปล่อยให้การแพร่ระบาดติดเชื้อสูงถึง 33% โดยไม่ทำอะไรเลย  เราจะเป็นเหมือนอิตาลีกับอิหร่าน สิ้นเดือน เม.ย.ตัวเลขอาจมากกว่า 3,500 ราย ถ้าเราหยุดเชื้อเพื่อชาติร่วมกับ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ห้ามการเดินทาง ผู้ว่าฯ บางจังหวัดประกาศปิดเมือง จะทำให้ทุกอย่างเข้าที่เข้าทาง" นพ.อนุพงศ์กล่าว
    ด้าน นพ.โสภณ เอี่ยมศิริถาวร ผอ.กองโรคติดต่อทั่วไป กรมควบคุมโรค กล่าวว่า สิ่งที่ สธ.เป็นกังวลและอยากให้ประชาชนร่วมมือ เนื่องจากผู้ป่วยเพิ่มมากขึ้น แม้ผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรงและเสียชีวิต จะมีจำนวนน้อย โดยผู้ป่วยส่วนใหญ่กว่า 80% อาการน้อยเหมือนไม่ป่วย ส่วนผู้ป่วยหลักที่มีอาการรุนแรงจนเสียชีวิตเป็นเพียง 0.5% ซึ่งยังน้อยกว่าประเทศอื่น โดยผู้เสียชีวิตมักเป็นผู้สูงอายุมากซึ่งเป็นกลุ่มเสี่ยงสูง ที่ผ่านมาเราจึงรณรงค์ให้ปกป้องผู้สูงอายุไม่ให้ติดเชื้อ เพราะเป็นกลุ่มเปราะบางมีโอกาสเสียชีวิตสูง 
    "คนที่พาเชื้อเข้าบ้านมักเป็นคนอายุน้อย หรือคนที่เดินทางกลับจาก กทม.และปริมณฑล จึงต้องแยกตัวเพื่อลดโอกาสการถ่ายทอดเชื้อไปให้ญาติผู้ใหญ่ เป็นการป้องกัน เมื่อไม่ป่วยก็ไม่เสียชีวิต หากเจ็บป่วยต้องรีบพบแพทย์ ให้ประวัติการสัมผัสใกล้ชิดและประวัติการเดินทางโดยเร็ว ย้ำว่าผู้สูงอายุและผู้ที่มีโรคประจำตัว ความดัน เบาหวาน ไต มะเร็ง ต้องระวังการติดเชื้อโควิด-19 เป็นพิเศษ เพราะมีโอกาสเสียชีวิตมากกว่า 10% ขณะที่คนอายุน้อยมีโอกาสตายไม่ถึง 1%"
จะยังพบคนป่วยเพิ่มมากขึ้น 
    นพ.โสภณกล่าวย้ำว่า สธ.จะทำให้ดีที่สุดเพื่อลดการป่วยและลดการเสียชีวิต แต่โรคติดต่อทางเดินหายใจป้องกันได้ยากมาก เมื่อเทียบกับการติดต่อทางอาหารและน้ำหรือเพศสัมพันธ์ ที่ผ่านมาถือว่าเราป้องกันคนป่วยได้มาก ถ้าไม่ทำอะไรเราจะล้ำหน้าประเทศอื่นไปมาก และเราจะสามารถทำได้ดีกว่านี้เมื่อได้รับความร่วมมือจากประชาชน ซึ่งวันนี้มีความร่วมมือมากจริงๆ ถ้าเราร่วมกันสู้ต่อไปจนถึง เม.ย.และยาวไปจนถึงปลายปีจะลดความสูญเสียลงได้มาก 
    "ระยะหลังจากนี้เราจะยังพบคนป่วยเพิ่มมากขึ้น และจะพบผู้ป่วยอาการรุนแรงเพิ่มมากขึ้นด้วย  เพราะครบรอบ 1 สัปดาห์ที่เป็นระยะฟักตัวของเชื้อในกลุ่มคนเป็นแสนคนที่เดินทางออกจากรุงเทพฯ และปริมณฑลหลังมีประกาศปิดสถานประกอบการ" ผอ.กองโรคติดต่อทั่วไปกล่าว 
    ที่ศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค.  ทำเนียบรัฐบาล นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษก ศบค.แถลงว่า วันนี้นายกฯ ขอบคุณบุคลากรทางการแพทย์และประชาชน รวมถึงจิตอาสาที่มีส่วนร่วมในการหยุดการแพร่ระบาดไวรัสโคโรนา และฝากย้ำเตือนประชาชนขอให้อยู่บ้าน หยุดเชื้อ เพื่อชาติ เรามีผู้ป่วยรายใหม่เพิ่มขึ้น 109 คน รวมยอดทั้งหมดในประเทศ 1,245 คน จึงเป็นตัวเลขที่เรายังไม่สามารถนิ่งนอนใจได้ โดยนายกฯ ได้ให้ความสำคัญเรื่องการจัดหายาและเวชภัณฑ์ทางการแพทย์ โดยสั่งการให้กรมบัญชีกลาง สำนักงานอาหารและยา องค์การเภสัชกรรมของกระทรวงสาธารณสุข อำนวยความสะดวกอุปกรณ์ทางการแพทย์ที่ไม่ใช่ยา นำเข้ามาได้อย่างถูกต้อง 
    โดยผลการประชุมมีการกำหนดแนวทางปฏิบัติ ให้มีการผ่อนปรนระเบียบการจัดซื้อจัดจ้างของหน่วยงานราชการ ซึ่งทั้ง 3 หน่วยงานนี้ได้มีมติให้มีการจัดซื้อจัดจ้างพัสดุสำหรับป้องกัน ควบคุม หรือรักษาโรคโควิด-19 ทุกวงเงิน เพราะเป็นเรื่องเร่งด่วน จึงยกเว้นไม่ต้องปฏิบัติตามกฎกระทรวง ซึ่งขณะนี้ได้รับรายงานว่ามีการสั่งซื้อหน้ากาก N95 และชุด PPE ที่บุคลากรทางการแพทย์ใช้ในการป้องกันการติดเชื้ออย่างละ 4 แสนชุด ซึ่งของเหล่านี้เมื่อสั่งซื้อแล้วจะถูกจัดส่งเข้ามาโดยเร็ว
    เมื่อถามถึงกรณีชาวบางบอนออกมาเรียกร้องให้คนติดเชื้อโควิด-19 ออกจากพื้นที่ นพ.ทวีศิลป์ กล่าวว่า ภาพดังกล่าวจะเห็นในช่วงแรกที่มีการระบาดที่ประชาชนกังวล แต่พอคนเข้าใจมากขึ้นว่าเชื้อนี้จะติดต่อในระยะใกล้มากๆ สถานการณ์ก็จะดีขึ้น อย่างตนทำงานใกล้สถาบันนำราศนราดูรก็ไม่มีปัญหา คนที่อยู่รอบข้างก็ทำงานกันได้ จึงไม่อยากให้ประชาชนกังวล ในอนาคตอาจารย์แพทย์ก็ประเมินว่าจะมีผู้ติดเชื้อหลักหลายพันเหมือนต่างประเทศ คนที่ติดเชื้ออาจเป็นคนใกล้ตัวจะมารังเกียจกันไม่ได้ จึงอยากบอกว่าโรคนี้ไม่น่ากังวลแต่ต้องเตรียมการทุกอย่าง สำหรับประชาชนที่เดินทางกลับต่างจังหวัดก็ไม่อยากให้กังวล เพราะเรามี อสม.ทั่วประเทศกว่าล้านคนที่จะคอยดูแลประชาชนอย่างทั่วถึง. 
 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"