ถ้าไม่ร่วมมือกันตอนนี้ จะกู่ไม่กลับ อาจจะเป็นแบบอิตาลี
หลังพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม ตัดสินใจยกระดับความเข้มข้นในการสู้กับสงครามไวรัสโควิด-19 ด้วยการใช้พระราชกำหนดบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินฯ ที่มีผลตั้งแต่ 26 มี.ค.ที่ผ่านมา ประชาชนทั้งประเทศได้แต่หวังว่า มาตรการดังกล่าวจะช่วยป้องกัน-สกัด-หยุดยั้งการแพร่กระจายของเชื้อโควิด-19 ได้ ก่อนที่ทุกอย่างจะสายเกินไป
ศาสตราจารย์คลินิกเกียรติคุณ นพ.อุดม คชินทร อดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยมหิดล-อดีตคณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล-อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ที่ปัจจุบันมีบทบาทสำคัญอย่างยิ่งในการร่วมวางแผน กำหนดนโยบายในการรับมือกับวิกฤติโควิด 19 ของรัฐบาลในฐานะ ที่ปรึกษา คณะกรรมการอำนวยการเตรียมความพร้อมป้องกันและแก้ไขปัญหาโรคอุบัติใหม่แห่งชาติ ที่เป็นกรรมการชุดใหญ่ของรัฐบาลในการรับมือกับวิกฤติโควิด-19 โดย นพ.อุดม คือหนึ่งในบุคลากรทางการแพทย์ที่ร่วมประชุมเป็นการส่วนตัวกับพลเอกประยุทธ์ ที่ทำเนียบรัฐบาล เมื่อ 16 มี.ค. ที่กลายเป็นภาพซึ่งมีการส่งต่อและถูกพูดถึงในโซเชียลมีเดียมากที่สุดภาพหนึ่งก่อนหน้านี้ และหลังการประชุมนัดดังกล่าว รัฐบาลก็ออกหลายมาตรการในการรับมือกับวิกฤติโควิด-19 รวมถึงการประกาศใช้ พ.ร.ก.สถานการณ์ฉุกเฉินฯ
นพ.อุดม-ที่ปรึกษากรรมการโรคติดต่ออุบัติใหม่แห่งชาติ ย้ำว่า ขณะนี้ประเทศไทยอยู่ในช่วงหักเหสำคัญ ที่ต้องขอความร่วมมือจากประชาชนทุกคนให้ร่วมกันป้องกันการแพร่เชื้อโควิดให้ได้ เพราะในช่วง 2 สัปดาห์ต่อจากนี้คือช่วงเวลาสำคัญที่สุดที่จะบ่งชี้ว่าแนวโน้มผู้ติดเชื้อในประเทศไทยจะไปในทิศทางใด เพราะหากไม่เฝ้าระวัง ไม่ควบคุมให้ได้ ถ้ายังมีการแพร่เชื้อมากขึ้นเรื่อยๆ ทำให้สิ่งที่เรียกว่าแนวโน้มการระบาดโควิด-19 (Scenario Building) ของไทยเมื่อไปถึงประมาณกลางๆ เดือนเมษายน อาจมีผู้ติดเชื้อสูงถึงเกือบ 350,000 คน ซึ่งหากคนไทยไม่ร่วมมือกัน สถานการณ์อาจกู่ไม่กลับ จนทำให้ประเทศไทยอาจเหมือนอิตาลีก็เป็นได้!
นพ.อุดม เริ่มต้นอธิบายวิกฤติโควิด-19 ในประเทศไทย ด้วยการกล่าวถึงการเริ่มแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่อู่ฮั่น ประเทศจีนว่า เมื่อนับตัวเลขต่างๆ ของการแพร่เชื้อ เริ่มจาก 1 มกราคม 2563 ตัวเลขคร่าวๆ ผู้ติดเชื้อที่พบที่อู่ฮั่น ประเทศจีน ถึงตอนนี้ถ้าเราดูอู่ฮั่นที่เป็นข้อมูลจริง ซึ่งมหาวิทยาลัยโคลัมเบียวิเคราะห์ไว้ พบว่ากรณีอู่ฮั่นที่มีพลเมืองประมาณ 11 ล้านคน และเป็นแหล่งกำเนิด เขาติดเชื้อที่นับเป็นอุบัติการณ์ก็ประมาณ จุด 5 เปอร์เซ็นต์ของประชากรที่ติดเชื้อ ถ้าดูเป็นเปอร์เซ็นต์อาจดูเหมือนไม่เยอะ แต่ปัญหาก็คือว่าเชื้อไวรัสโคโรนาเป็นเชื้อที่ต่างจากไข้หวัดอื่นๆ เพราะ 1.แพร่ง่าย 2.แพร่โดยไม่มีอาการก็แพร่ได้ คือในช่วงฟักตัว 14 วัน มันแพร่ได้เลย โดยที่คนได้รับเชื้อไม่มีอาการ ซึ่งอันตรายที่สุด เพราะว่าคนรอบข้างไม่รู้ตัว คนได้รับเชื้อก็ไม่รู้ตัว แต่เชื้อมันไปหมดแล้ว นี่คือปัญหาใหญ่ และมันเป็นไวรัสที่เข้าไปที่ปอด เป็นไวรัสที่เข้าไปในจุดเฉพาะของร่างกายมนุษย์ เป็นไวรัสที่ไปจับอวัยวะอื่นไม่ได้เลยในร่างกายคน จะไปที่ปอด จึงเห็นได้ว่าคนไข้ส่วนใหญ่จะมีอาการปอดอักเสบ และถ้าเป็นผู้สูงอายุ มีโรคประจำตัว เป็นเบาหวาน ความดัน โรคหัวใจ โรคมะเร็งอยู่ 2 กลุ่มนี้คือกลุ่มใหญ่สุด มีความเสี่ยงมากที่สุด ก็คือจะมีอัตราการตายสูง ถ้าดูตัวเลขคนไข้ จะพบว่าคนไข้ในวัยหนุ่มสาวขึ้นไป ถึงประมาณสัก 50 ปี อัตราการตายแค่ประมาณ 1 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น แต่คนที่อายุช่วง 50-60 ปี พบว่าอัตราการเสียชีวิตอยู่ที่ 2-3 เปอร์เซ็นต์ และอายุ 60-70 ปีขึ้นไป อยู่ที่ 3-4 เปอร์เซ็นต์ ส่วน 70-80 ปีขึ้นไป แบบดับเบิ้ลเลยคือ 8 เปอร์เซ็นต์ แล้วพอเกิน 80 ปีขึ้นไป 15-16 เปอร์เซ็นต์
สิ่งที่กล่าวมา คือภาพใหญ่ที่แสดงให้เห็นถึงความรุนแรง และเราต้องยอมรับว่านี่คือ สิ่งที่องค์การอนามัยโลกประกาศว่านี่คือ การระบาดใหญ่ หรือ pandemic คือมันจะระบาดทั่วโลก เพราะฉะนั้นเมื่อมันระบาด ทุกคนก็ย่อมมีโอกาสติดเชื้อ เพียงแต่ว่าแต่ละประเทศจะมีมาตรการอย่างไรในการป้องกันให้ติดน้อยที่สุด ให้มีความสูญเสียน้อยที่สุด โดยเมื่อมาดูสถานการณ์ในบ้านเรา ตั้งแต่ 1 มกราคม จนถึงต้นมีนาคม เรากดอยู่ มีแค่ 30-40 เคส ในช่วง 3 เดือน มีแค่ 30-40 เคส มาต้นเดือนมีนาคม เราขึ้นไปที่ 60-70 เคส แต่ก็ยังไม่เกินร้อย มาเกินร้อยก็ตอนสัปดาห์สุดท้าย ที่ขึ้นมาพรวดๆ ขึ้นมา 188 ราย 102-106 -107 จนมีเคสสะสมร่วม 900 กว่าราย จะแตะหลักพัน
ศ.นพ.อุดม กล่าวต่อไปว่า ถามว่าแล้วสถานการณ์จะไปต่อถึงไหน ก็มี 2 โมเดลให้ดู คือ หนึ่ง หากมีมาตรการที่เข้มข้น ก็จะเหมือนกับญี่ปุ่น ไต้หวัน สิงคโปร์ ที่เขาสามารถกด curve ไม่ให้มันสูง คือจะมีเคสไม่เยอะ ควบคุมได้เร็ว กับอีกกลุ่มคือ แบบในประเทศกลุ่มยุโรป อย่าง อิตาลี สเปน ฝรั่งเศส curved มันชันมาก จนอิตาลีมีผู้ป่วยเสียชีวิตมากกว่าจีนแล้ว
...สถานการณ์ปัจจุบันของไทยอยู่กลางๆ เราตอนนี้อยู่ในจุดหักเห คือจะไปเร็วแบบอิตาลี หรือเราจะกดให้อยู่เป็นแบบญี่ปุ่น ไต้หวัน สิงคโปร์ ส่วนของไทยจะไปทางไหน มันขึ้นอยู่กับปัจจัยใหญ่ตอนนี้ สองอย่างคือ หนึ่ง คือมาตรการที่แนะนำโดยองค์การอนามัยโลก และกระทรวงสาธารณสุขเราก็ใช้มาตรการเดียวกันก็คือ ทุกคนต้องเลี่ยงการติด ไม่ให้ตัวเองไปติดเชื้อ สอง ถ้าติดเชื้อแล้ว โดยไม่รู้ตัว ต้องเลี่ยงไม่ไปแพร่เชื้อคนอื่น ทำให้มาตรการอย่าง ระยะห่างทางสังคม social distancing เป็นเรื่องใหญ่สำคัญที่สุด เพราะมีผลจริงๆ อันที่สองก็คือ ประชาชน คุณมีข้อแนะนำอย่างดี ทั้งจากองค์การอนามัยโลก และ กระทรวงสาธารณสุข แต่ประชาชนไม่ปฏิบัติตาม ยังไปชุมนุมกันเยอะ ยังไปในที่แออัด ไปในสถานที่ซึ่งมีความเสี่ยง เช่น สนามมวย ผับ บาร์ ก็มีโอกาสติดเชื้อแน่นอน อันนี้คือปัญหาใหญ่ เพราะจากข้อมูล พบว่าอย่างที่ประเทศจีน ซึ่งเป็นต้นแบบที่ต้องนำมาศึกษา เพราะเป็นหลักฐานเชิงประจักษ์ ทางมหาวิทยาลัยโคลัมเบียมีการส่งคณะไปศึกษาข้อมูลที่อู่ฮั่น ประเทศจีน พบว่าก่อนที่ประเทศจีนจะใช้มาตรการเข้มข้น จากสถิติพบว่ามีคนซึ่งสามารถแพร่เชื้อได้ โดยที่ไม่รู้ว่าตัวเองติดเชื้อประมาณ 6 เท่าของคนที่ติดเชื้อจริง คือเราจะรู้คนที่ติดเชื้อ เพราะเรามีการประกาศทุกวัน
...อย่างวันที่ให้สัมภาษณ์มีตัวเลขผู้ติดเชื้อ 924 คน จะมีคนซึ่งติดเชื้อแต่ไม่รู้ตัว แล้วไปแพร่คนอื่นอีก 6 เท่า ก็ 6 คูณ 9 เท่ากับ 54 คน ก็เท่ากับอีก 5,000 กว่าคน ที่อยู่ตรงไหนไม่รู้ เพราะว่าเขาอาจจะได้รับเชื้อโดยไม่รู้ตัว คือเขาไม่มีอาการก็ได้ หรือติดเชื้อแล้วยังมีอาการน้อย คนก็นึกว่าเป็นไข้หวัดธรรมดา เป็น 3 วัน 5 วันก็หาย คิดว่าเป็นไข้ธรรมดา เจ็บคอนิดหน่อย แล้วเดี๋ยวจะดีขึ้นได้
...รวมถึงกรณีอีกแบบที่เป็นตัวร้าย คือรู้ตัว แต่ปกปิดตัวเอง ไปหาแพทย์จริง แต่ไม่ยอมบอกว่าไปสัมผัสใครมา คนกลุ่มที่ไม่รู้ตัวจะพบว่ามีเยอะมาก ซึ่งกลุ่มนี้สำคัญที่สุดในการแพร่กระจายเชื้อโรค เพราะเราไม่รู้ คนทั่วไปจะไม่รู้ อย่างการนั่ง ที่มีการแนะนำให้ห่างกัน 2 เมตร เพราะละอองน้ำลาย ละอองเสมหะ ถ้าคนคุยกันธรรมดา ละอองน้ำลายออกไปแน่นอนจากปากคนทุกคนที่เป็นเรื่องธรรมชาติ แต่ปกติจะไปไม่เกิน 1 เมตร แต่ถ้ามีการไอ จาม จะไปไกล 2 เมตร 3 เมตร แบบนี้ติดตรงๆ เลย องค์การอนามัยโลกเลยเอากลางๆ ให้มีระยะห่าง 1-2 เมตร เพราะอันนี้เป็นอันที่ติดต่อโดยตรง
ไทยถึงจุดหักเห จะเหมือนญี่ปุ่นหรืออิตาลี
ศ.นพ.อุดม ให้ความรู้ต่อไปว่า เชื้อไวรัสโควิด-19 มันอยู่เฉยๆ ไม่ได้ มันต้องเกาะกับละออง อากาศ ฝุ่น ละอองนี้อยู่ได้ประมาณ 1-2 ชั่วโมง ก็จะตกไปกับพื้น ตกไปกับโต๊ะ อันนี้คือการแพร่เชื้อที่เรียกว่า การ contract การสัมผัส พบว่าผู้ติดเชื้อ 70-80 เปอร์เซ็นต์ เป็นการสัมผัส ไม่ใช่เกิดการได้เชื้อจากไอ จาม เพราะว่าเชื้อมันอยู่ได้ 6-8 ชั่วโมง แล้วพอคุณจับจุดใดจุดหนึ่ง เช่น จับราวบันได ลูกบิดประตู ชักโครกห้องน้ำ กดลิฟต์ เช่น คนได้รับเชื้อแล้วเขาไม่รู้ตัว เขามากดลิฟต์ แล้วเวลาคุณไปกดลิฟต์ตามเขา แบบนี้คุณก็จะเสี่ยงติดเชื้อแล้ว แล้วถ้าคุณไปกดลิฟต์อีกสามตึก คุณก็ไปแพร่เชื้ออีกสามตึก แล้วคนมากดลิฟต์ตามหลังคุณอีกเป็นพันคน
สิ่งเหล่านี้คือการที่ทำให้เชื้อแพร่กระจายเร็ว เพราะว่า “สัมผัส” เราถึงแนะนำให้ keep ระยะห่าง อย่าไปอยู่ใกล้ๆ กัน ให้ห่างกัน 1-2 เมตร การที่จะไปอยู่รวมกันในลักษณะการชุมนุมใหญ่ๆ เช่น สนามกีฬา การจัดอีเวนต์ต่างๆ ที่จะมีคนมาร่วมเกิน 50 คน ทางภาครัฐถึงสั่งให้ยกเลิกการจัด ที่เป็นมาตรการที่ออกมาช่วงแรกๆ นี่คือจุดสำคัญ เพราะเชื้อมันจะติดกันง่ายมาก จึงได้มีการแนะนำให้ล้างมือบ่อยๆ สิ่งเหล่านี้คือเรื่องที่อยากให้ประชาชนเข้าใจและปฏิบัติ
“ถึงได้บอกให้อยู่กับบ้านเถอะ ถ้าคุณไม่จำเป็น อย่าออกไปข้างนอก เพราะหากคุณติดเชื้อ คุณออกไปก็อาจไปแพร่เชื้อ หรือหากติดเชื้อมาแล้ว กลับมาที่บ้าน ที่มีพ่อ-แม่ ปู่ย่าตายาย แบบนี้ความเสี่ยงยิ่งสูงเลย แล้วคนกลุ่มนี้ หากมีโรคประจำตัว โอกาสเสียชีวิตก็จะมีเยอะมาก เกือบยี่สิบเปอร์เซ็นต์ อย่างที่อิตาลี ผู้เสียชีวิต ส่วนใหญ่เป็นผู้สูงอายุ คนแก่ทั้งนั้น เพราะลูกหลานออกไปข้างนอกแล้วไม่ระวัง แล้วหน้ากากอนามัยเขาก็ไม่มี เขาไม่มีวัฒนธรรมการใช้หน้ากากอนามัย ไม่ระวังตัวเอง ยังไปทำงาน ไปทำธุระ กลับเข้าบ้าน กินข้าวกับครอบครัว คนแก่ก็เสียชีวิตกันหมด ติดเชื้อร้อยเปอร์เซ็นต์ มันชัดมาก"
ข้อมูลจากมหาวิทยาลัยโคลัมเบียที่ไปวิเคราะห์ที่จีน ที่เขาพบว่าคนที่ติดเชื้อแล้วยังไม่มีอาการ จะมีการไปแพร่เชื้อ 6 เท่าของคนที่ติดเชื้อ แต่ก็พบว่า กรณีที่เกิดกับอู่ฮั่นหลังจาก จีนใช้มาตรการเข้มข้น เช่น ไม่ให้ออกจากบ้าน มหาวิทยาลัยโคลัมเบียเขาวิเคราะห์ข้อมูลอีก set หนึ่ง หลังจากนั้นพบว่า จากอัตราการแพร่เชื้อ 6 เท่า เหลือ .5 เท่า ลดลง 12 เท่า เป็นตัวเลขสำคัญที่แสดงถึงประสิทธิภาพ ประสิทธิผลว่า ถ้าทุกคนปฏิบัติตามข้อแนะนำขององค์การอนามัยโลก กระทรวงสาธารณสุขจะสามารถลดได้ถึง 12 เท่า ก็มีคนไปศึกษาต่ออีกว่า ที่มีการพูดถึงเรื่อง social distancing มันมีประโยชน์จริงหรือไม่ ก็พบว่าประโยชน์มี เพราะเขาได้ทำการศึกษาแล้วพบว่า ถ้ามีการทำ social distancing สัก 70-80 เปอร์เซ็นต์ จะลดการติดเชื้อได้ 40 เปอร์เซ็นต์ อันนี้เป็นข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ ซึ่งเป็นตัวเลขที่สูงมาก
“ทำให้ตอนนี้ประเทศไทยกำลังถึงจุดหักเห ว่าจะไปเป็นเหมือนอิตาลี คือมีคนติดเชื้อกันเป็นหลักหมื่น หลักแสนคน แล้วก็ตายกันเยอะแยะ หรือว่าจะกดให้อยู่ให้ได้ ซึ่งผมดูตัวเลขตอนนี้แล้ว ไทยเรายังกดให้อยู่ได้ แต่ทุกคนต้องร่วมมือกัน เพราะหากมีการออกกฎ ระเบียบ ออกคำแนะนำออกมา แต่ประชาชนไม่ให้ความร่วมมือก็จบ ตอนนี้ไม่ได้อยู่ที่กระทรวงสาธารณสุข หรือรัฐบาลแล้ว แต่อยู่ที่ประชาชน ต้องร่วมมือกัน แล้วมันจะดีขึ้นอย่างชัดเจน ตามสถิติจากประเทศที่เกิดปัญหาขึ้น" ศ.นพ.อุดมกล่าวเน้นย้ำ
อย่างตอนนี้ หากคุณไปดูที่อิตาลี ที่ curve มันชันๆ ขึ้นสูงมาก เขาก็ดูแบบนี้ว่า คนไข้ หากติดเชื้อเกินร้อยคน ทุกประเทศเหมือนกันเลย ตัวเลขมันขึ้นเร็วมาก ถ้าไม่มีมาตรการที่เข้มข้น อย่างอิตาลี มันขึ้นประมาณ 33 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งบ้านเราถ้าใช้สถิติของอิตาลีมาคำนวณในประเทศไทย ถ้าของเราตัวเลขผู้ติดเชื้อขึ้นไป 33 เปอร์เซ็นต์ หากเราไม่เฝ้าระวัง ไม่ใช้มาตรการเข้มข้น แล้วนับไปอีกประมาณ 30 วัน ประมาณถึงกลางๆ เดือนเมษายน จากฐานข้อมูลเราประมาณ 900 กว่าคน จาก 30 วัน ตัวเลขผู้ติดเชื้อในไทยจะขึ้นไปถึงเกือบ 350,000 คน โดยประมาณ เพราะเวลาขึ้นมันจะขึ้นเป็นล็อต แต่ถ้าใช้มาตรการเข้มข้น ถ้าทำได้สัก 80 เปอร์เซ็นต์ แค่ 80 เปอร์เซ็นต์ จะลดจาก 33 เปอร์เซ็นต์ เหลือ 20 เปอร์เซ็นต์ ที่หมายถึงอีก 30 วันข้างหน้า แทนที่จะขึ้นไปที่ 350,000 คน จะลงมาแค่ประมาณ 24,000 คน โดยหากตัวเลขผู้ติดเชื้ออยู่ที่ 350,000 คน จะมีคนไทยตายประมาณ 7,000 คน ในอัตราการตาย ค่าเฉลี่ยประมาณ 3 เปอร์เซ็นต์กว่าๆ แต่ถ้าทำได้ดีกว่านั้น ทำได้สักประมาณ 50 เปอร์เซ็นต์ ภายใน 30 วัน เคสจะเพิ่มขึ้นไปไม่ถึง 10,000 คน ประมาณหมื่นคน จากที่อาจจะสูงถึงที่ 350,000 คน หรือ 24,000 คน ให้เหลือแค่ 10,000 คน ทั้งหมดเป็นข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ ที่อ้างอิงจากประเทศที่เคยเป็นแล้ว เขามีการคำนวณให้ดูทางสถิติ เราเอามาเป็นแบบอย่างได้เลยว่า ต่อจากนี้เราจะไป curve ไหน ซึ่งเราต้องการ curve สุดก็คือ ให้คนติดเชื้อน้อยที่สุด เสียชีวิตน้อยที่สุด ลดการสูญเสียให้น้อยที่สุด ปัจจัยตอนนี้มีอย่างเดียวที่รัฐบาลกำลังทำเข้มข้น
3 กลุ่มหลักทำตัวเลขผู้ติดเชื้อพุ่งพรวด
นพ.อุดม กล่าวอย่างหนักแน่นว่า ต้องยืนยันว่ากระทรวงสาธารณสุขเรา ที่ผ่านมาทำงานได้เป็นอย่างดี เรามีมาตรการที่ดีมาก จะเห็นได้ว่าของไทยเรา ในช่วง 2 เดือนแรก ไทยยันอยู่ ขณะที่ประเทศอื่นๆ จำนวนผู้ติดเชื้อสูงขึ้นเรื่อยๆ มีไม่ถึงร้อยเคส ในช่วงสองเดือนกว่า แต่ตอนหลังที่ตัวเลขสูงขึ้นแบบโป๊ะแตก มาจากสามกลุ่ม ที่เป็นกลุ่มคนซึ่งไม่รับผิดชอบต่อสังคม
...กลุ่มแรก คือกลุ่มจากสนามมวย ที่มีคนไปอยู่ในสนามมวยร่วม 5,000 คน ซึ่งคนที่เข้าไปในสนามมวย ที่ผ่านมาทางการมีการประกาศ ทั้งที่ไม่ได้จะจับมาเข้าคุก ให้มาตรวจ เพื่อที่หากพบว่าติดเชื้อ ก็จะได้บอกแนวทางให้กักตัวเอง อย่าได้ทำให้เกิดการแพร่เชื้อไปถึงคนในครอบครัว ญาติพี่น้อง แต่พบว่าถึงตอนนี้ มีมาพบเพื่อให้ตรวจแค่ร้อยกว่าคน
...คนที่ไปสนามมวยแล้วติดเชื้อ ที่มาให้ตรวจ ก็ไม่ได้มาเพราะตั้งใจจะมา แต่มาเพราะมีอาการมากแล้ว อีกทั้งมาตอนแรกๆ ยังหลอกเราอีก มีการซักว่า ไปสนามมวยมาหรือไม่ ไปผับทองหล่อมาใช่ไหม เขาก็ปฏิเสธว่าไม่ได้เข้าไป แต่ตอนหลังมีอาการหนักมาแล้ว ญาติเขาถึงมายอมรับ ตอนผมประชุมร่วมกับกระทรวงสาธารณสุข มีการให้ข้อมูลต่อที่ประชุมถึงคนติดเชื้อที่ไปดูมวย ที่สนามมวยนนทบุรี พบว่าติดกันทั้งบ้านเลย ทั้งพ่อ-แม่-ลูก รวมถึงญาติบ้านใกล้เคียงกัน มากินข้าวด้วยกัน รวมแล้วสองครอบครัว จากแค่คนคนเดียวที่ไปดูมวย พบว่าติดเชื้อพร้อมกันทีเดียว 17 คน เป็นญาติคนคนนั้นคนเดียวเลย แล้วไหนจะอีก 17 คนดังกล่าว ที่ออกไปทำงาน ไปซื้อของ ไปทำธุระข้างนอกบ้าน ไปแพร่เชื้ออีกเท่าใด ไม่มีความรับผิดชอบ นี่คือที่ว่าทำไมโป๊ะแตก ก็มาจากเคสสนามมวย ที่พบว่าในจำนวนผู้ป่วยร่วม 900 กว่าคน (วันให้สัมภาษณ์ 25 มีนาคม) มีผู้ติดเชื้อจากการแพร่เชื้อกรณีมาจากสนามมวยถึงร้อยกว่าเคส อันนี้คือกรณีมาตรวจแล้วเรา Re-check ได้ แล้วที่เหลืออีก 4,800 กว่าคน ไปกระจายอยู่ที่ไหนก็ไม่รู้ นี่คือสาเหตุว่าเพราะเหตุใดจำนวนผู้ติดเชื้อถึงเพิ่มขึ้นขนาดนั้น
อันที่สองคือมาจากผู้ติดเชื้อที่ผับย่านทองหล่อ ไม่มีความรับผิดชอบต่อสังคมเลย พบว่ามีผู้ติดเชื้อแล้วประมาณ 70-80 คน กลุ่มที่สามคือผู้ไปทำพิธีทางศาสนาที่มาเลเซีย แล้วกลับเข้ามาที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้
"นี่คือเหตุใดว่าทำไมตัวเลขผู้ติดเชื้อในไทยถึงขึ้นพรวดในเวลาสัปดาห์เดียว เพิ่มจากไม่ถึงร้อยกลายเป็นเก้าร้อยกว่าคน เป็นสิ่งที่เรา expect อยู่แล้ว เพราะมีกลุ่มเสี่ยง 3 กลุ่มดังกล่าว จะต้องโผล่ขึ้นมาแน่นอน จะต้องมีอาการแน่นอน ที่จะต้องมาตรวจกับเรา แต่แค่นี้ยังไม่พอ เรายังต้องการกลุ่มประชาชนอีกจำนวนหนึ่งที่อยู่ใกล้ชิดกับคนใน 3 กลุ่มข้างต้น อยากให้พวกเขามารีบเข้าทำการตรวจให้หมด เพื่อที่จะได้รีบรักษา หากผลตรวจพบว่า positive ที่จะทำให้ได้ผลตามมาสองอย่างคือ ทำให้สามารถรักษาให้หายได้เร็ว และไม่อยากให้เขาเป็นกลุ่มที่จะไปแพร่เชื้อ อยากให้พวกเขาเห็นแก่ประโยชน์ประเทศชาติ ก็ไม่อยากให้ประชาชนตระหนก เพราะตัวเลขผู้ติดเชื้อจะขึ้นไปแบบนี้สักระยะหนึ่ง" ศ.นพ.อุดมให้ข้อมูลไว้
ศ.นพ.อุดม ย้ำเรื่องแนวทางการป้องกันการแพร่เชื้อโควิด-19 ว่า เรื่องการรักษาระยะห่างทางสังคม social distancing เป็นหัวใจสำคัญที่สุดที่อยากย้ำกับประชาชน ตรงนี้ทุกคนต้องเข้าใจ และเข้าใจยังไม่พอ ต้องถือเป็นหน้าที่ซึ่งต้องปฏิบัติเพื่อประเทศชาติ เป็นความรับผิดชอบต่อสังคม ถ้าคุณทำแค่นี้ จะเป็นการรับผิดชอบต่อสังคมหาศาล เพราะตอนนี้ก็เห็นแล้วว่าสูญเสียเท่าใด เป็นแสนล้านบาทที่ธุรกิจสูญเสีย แต่แสนล้านบาท ผมไม่ mind เพราะชีวิตคนสำคัญกว่า ตอนนี้ตัวเลขคนไทยตาย 5 คน จากตัวเลขผู้ติดเชื้อพันกว่าคน ที่เทียบกับประเทศอื่นแล้วยังน้อยมาก เพราะเรื่องการรักษาพยาบาลของไทยเราไม่ได้ด้อยกว่าใครในโลกนี้ ผมยืนยัน เห็นไหม เราเอาอยู่ แต่ตอนนี้ที่จะเอาไม่อยู่ก็คือ ประชาชนไม่ช่วยเรา เพราะฉะนั้น อยากย้ำว่าขอให้ทุกคนต้องช่วยกัน
“เพราะถ้าไปถึงจุดที่เอาไม่อยู่ ถ้าคนไข้มีมาก ซึ่งคนไข้มาก หมายถึงตัวเลขผู้ป่วยหนักต้องรักษาตัวที่โรงพยาบาล อีก 5 เปอร์เซ็นต์ต้องเข้า ICU เตียงคนไข้ก็อาจจะไม่พอ บุคลากรทางการแพทย์ก็จะไม่พอ ถ้าไปถึงจุดนั้นจะเหมือนอิตาลี คนแก่เขาปล่อยตายเลย เพราะเครื่องมือเขาก็ไม่พอ เราไม่อยากให้ถึงจุดนั้น ตอนนี้ยังไม่สาย”
...ทุกคนต้องช่วยกันกด curve ลงข้างล่างให้ได้ อย่า panic ต้องช่วยกันครับ ตรงนี้เป็นการแสดงความรับผิดชอบต่อสังคมจริงๆ ผมขอย้ำอีกที ผมรู้ว่าตอนนี้เสียหายเป็นแสนล้านเรื่องเศรษฐกิจ แต่ชีวิตคนสำคัญกว่า เงินหาทีหลังได้ ตอนนี้คนไปห่วงโน่นห่วงนี่ ห่วงไม่มีจะกิน ที่แน่นอนว่า เมื่อรัฐบาลตัดสินใจออกพระราชกำหนด รัฐบาลก็ต้องมีมาตรการเยียวยาอยู่แล้ว แต่ก็ต้องยอมรับว่า อาจจะไม่ได้เท่าเดิม อย่างที่เราเสนอไป ก็เช่นภาคธุรกิจ แน่นอนว่าเมื่อเขาหยุดกิจการ แล้วรัฐบาลขอให้เขาหยุดอยู่กับบ้าน ไม่ต้องออกมาทำงาน แล้วจะไม่ให้เงินเดือนเขา แล้วเขาจะเอาอะไรกิน โดยเฉพาะคนระดับล่าง ไม่ใช่ระดับผู้บริหาร ซึ่งกลุ่มนี้เรายังไม่ค่อยห่วง เราต้องเห็นใจคนระดับล่าง ที่มีสองส่วนคือกลุ่มลูกจ้างรายวัน นี่คือเหตุผลที่ทำไมรัฐบาลต้องแจกเงิน แต่คนก็เอาไปด่ากัน อย่างที่รัฐบาลให้เงินคนละ 5,000 บาทต่อเดือน เพราะคนกลุ่มที่จะได้รับ เขาเดือดร้อนจากผลกระทบโรคโควิด-19 ที่ทำให้เขาขาดรายได้ เขาไม่ได้แจกเหมือนกับเป็นคนจนเหมือนสมัยก่อน คนละวัตถุประสงค์ เพราะคนที่มีรายได้รายวัน เมื่อไปให้เขาหยุด 14 วัน แล้วคนกลุ่มนั้นเขาจะเอาที่ไหนกิน ครอบครัวเขาจะกินอะไร ขณะเดียวกัน ลูกจ้างบริษัท บางบริษัทใช้นโยบายให้คนมาทำงานที่บริษัท 1 ใน 3 ของจำนวนพนักงาน ส่วนอีก 2 ส่วนให้ไปอยู่ที่บ้าน แต่ไม่จ่ายเงินเดือน แล้วแบบนี้จะแฟร์กับเขาไหม
หนุนรัฐบาลกู้แสนล้านช่วยคนเดือดร้อน
นพ.อุดม บอกว่า เขาเห็นด้วยกับการออกกฎหมายเพื่อกู้เงินนำมาใช้ช่วยเหลือคนเดือดร้อนจากวิกฤติโควิดครั้งนี้ โดยบอกว่า ก่อนหน้านี้ได้เคยเสนอไป แต่ไม่รู้ว่าเขาจะรับได้แค่ไหน คือเสนอไปว่า ให้ใช้แนวทางช่วยกัน คือบริษัทจ่ายเงินเดือนให้พนักงาน 25 เปอร์เซ็นต์ แล้วรัฐจ่ายอีก 25 เปอร์เซ็นต์ รวมแล้วก็คือ เขาก็จะได้รายได้ต่อเดือน 50 เปอร์เซ็นต์ เช่น เงินเดือน 20,000 บาท ก็จะได้ 10,000 บาทต่อเดือน แบบนี้ก็ยังพออยู่กันได้
"ส่วนถามว่ารัฐบาลจะนำเงินจากแหล่งใด คำตอบก็คือ ก็ต้องกู้ แนวทางนี้ต้องทำ เพราะคนเดือดร้อน แล้วจะไม่มีใครด่า ไม่ต้องมากลัวว่าคนจะด่า เหตุผลผมอธิบายได้ ต้องกู้ ไม่มีเงินอยู่แล้ว ต้องกู้ ต้องใช้เงินเยอะเลย เป็นแสนล้านบาท แต่ยืนยันว่าคุ้ม เพราะเป็นความเดือดร้อนประชาชนจริงๆ และสอง มันได้ใจประชาชน เพราะเป็นช่วงที่เขาเดือดร้อนจริงๆ หากไม่ทำตอนนี้แล้วจะทำตอนไหน"
....อันนี้เป็นแค่มาตรการเดียว ยังมีมาตรการที่จะออกมาอีกเยอะแยะ แต่ยังไม่ขอพูดรายละเอียด ตอนนี้คือช่วงเวลาที่สำคัญที่สุด ว่าเราต้องถือเป็นหน้าที่ซึ่งต้องปฏิบัติตามคำแนะนำของรัฐบาลและกระทรวงสาธารณสุข ที่สำคัญคือไม่ไปรับเชื้อและไม่ไปแพร่เชื้อ ซึ่งจะลดความสูญเสียทั้งชีวิตและเศรษฐกิจ ตอนนี้เราต้องยอมอดทน คนไทยกำลังอึดอัดใจ ผมรู้ เราประเภทรักสบาย อยากไปโน่นไปนี่ แต่ตอนนี้อยากจะไปรับประทานอาหารก็ทำไม่ได้ เพราะร้านเขาเก็บโต๊ะหมด ก็อาจเกิดความหงุดหงิดที่ต้องซื้อไปกินที่บ้าน กว่าอาหารจะไปถึงบ้านก็เย็นหมด บอกไม่อร่อย แต่ผมอยากบอกว่า เราทุกคนต้องช่วยกัน เราต้องอดทน เราต้องยอมลำบาก ต้องยอมปฏิบัติตามเพื่อเราจะฝ่าวิกฤติไปด้วยกัน
- หลังจากรัฐบาลตัดสินใจใช้พระราชกำหนดบริหารสถานการณ์ฉุกเฉินฯ และอาจจะมีการใช้มาตรการเคอร์ฟิวบางพื้นที่ จะทำให้สถานการณ์การควบคุมการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ดีขึ้นหรือไม่?
ดีขึ้นแน่นอน เพราะที่ผ่านมา ผมขอพูดตรงๆ ที่ผ่านมาเรามีการขอร้อง แล้วปรากฏว่าคนไทยทำหรือไม่ (ผู้สัมภาษณ์ส่ายหน้า) นี่คือนิสัยคนไทยไง จะเห็นได้ว่าที่ผ่านมารัฐบาลเขาทำทีละขั้นตอน เพราะรู้นิสัยคนไทย เพราะถ้าคุณใช้ตูมตั้งแต่แรก ปิดประเทศตั้งแต่แรก คนก็จะด่ากันขรมเลย บอกลำบาก อะไรต่างๆ มีเคอร์ฟิว ก็เลยต้องเข้มขึ้น แต่เข้มตอนนี้ก็ยังไม่อยู่ ก็ต้องเข้มมากกว่านี้อีก ส่วนจะมีเคอร์ฟิวหรือไม่ ผมก็ยังบอกไม่ได้ แต่ใจผมคิดว่าให้มี แต่ผมคิดว่าไม่ให้มีเคอร์ฟิวทุกจังหวัดเหมือนกัน จากที่ผมร่วมประชุมกับกระทรวงสาธารณสุข มีการพล็อตกลุ่มผู้ติดเชื้อไวรัส พบว่าในจำนวนผู้ติดเชื้อ 900 กว่าคน จุดใหญ่อยู่ที่กรุงเทพมหานครร่วม 80 เปอร์เซ็นต์ และพบมากเป็นลำดับสอง กระจุกอยู่ที่พื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ และตอนนี้กระจายไปอีก 30 กว่าจังหวัด แต่ยังเป็นจุดเล็กๆ ที่กระจายออกไป เพราะเมื่อมีการให้หยุดงาน ก็ต้องเห็นใจ เพราะเขาอาจคิดว่า หากอยู่แต่ในห้องเช่า อาจเสี่ยงติดเชื้อมากขึ้น เขาก็ต้องกลับบ้าน ที่คนกลุ่มนี้เป็นคนระดับรากหญ้า ผมเชื่อว่าเขาไม่ไปเที่ยวที่ไหนหรอก เขาก็กลับไปบ้าน เหมือนกับเป็นการกักตัวเองไปในตัว
...ขณะนี้กระทรวงสาธารณสุขมีนโยบายว่าจะให้อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน หรือ อสม.ทั่วประเทศที่มีอยู่ล้านกว่าคน มีการบอกเลยว่า กลุ่มคนที่เดินทางกลับจากหกประเทศที่มีผู้ติดเชื้อจำนวนมาก แล้วเดินทางมาไทย เมื่อคนกลุ่มนี้กลับไปบ้านต่างจังหวัดในช่วง 14 วัน ต้องให้ อสม.ตามไปดูที่บ้าน ไปวัดดูว่ามีไข้หรือไม่ แต่คนกลุ่มนี้เริ่มไม่มีแล้ว เพราะเข้ามาไม่ได้ อีกกลุ่มคือ ประชาชนที่กลับจากต่างประเทศที่เป็นกลุ่มเสี่ยง เช่นกลุ่มประเทศยุโรปที่ไม่ได้หนักมาก เช่น เยอรมนี ก็ให้ตามไปดู กลุ่มที่สามคือ กลุ่มคนที่มาจากกรุงเทพฯ ที่แม้อาจไม่รู้ได้ว่าเขาติดเชื้อหรือไม่ ก็ให้ อสม.ตามไปดู ทำให้ อสม.มีหน้าที่ต้องไปติดตามดูประชาชนสามกลุ่มนี้ 14 วัน ก็อยากให้ทุกคนช่วยกัน แต่ก็มีบางคนบอกว่าอึดอัด เลยไปตั้งวงเหล้ากัน อสม.ที่เป็นผู้หญิงพบเห็นก็เข้าไปบอกว่าขอให้เลิกการตั้งวงเหล้า ไม่ให้มาตั้งวงกันเกินห้าคน เพราะอย่างตอนนี้ที่เราเสนอไปคือห้ามรวมตัวกันเกินห้าคน เพราะที่ได้รายงานมา พอ อสม.ผู้หญิงคนนี้ไปขอให้เลิก ก็ไม่ยอมจะเอาเรื่อง อสม.ผู้หญิงคนดังกล่าว จะทำร้ายด้วยซ้ำ
"ตอนนี้เราอยู่ในช่วงจุดหักเห มันต้องเข้มข้นขึ้น ดังนั้น ถ้าจะมีเคอร์ฟิวก็ต้องยอมรับและช่วยกัน อย่าหงุดหงิด ทำตาม ช่วยประเทศ"
...อย่างไรก็ตาม ผมเชื่อว่าเราไม่ควรประกาศเคอร์ฟิวทุกจังหวัดเหมือนกัน บางจังหวัดที่มีผู้ติดเชื้อน้อยหรือไม่มี ก็ไม่จำเป็นต้องประกาศ เพียงแต่ให้อยู่ในมาตรการที่เข้มข้น อย่างที่แนะนำคือให้อยู่บ้าน ให้ออกจากบ้านเฉพาะที่จำเป็นจริงๆ ให้มีการล้างมือบ่อยๆ หากเข้าไปที่แออัด ขอให้ช่วยกันใส่หน้ากากอนามัย จำเป็นจริงๆ เพราะจะช่วยให้เราสามารถกด curve ลงได้ เพราะตอนนี้ไทยอยู่ตรงกลางระหว่าง curved สองกลุ่ม ซึ่งความเสียหายต่างกันมหาศาล ทั้งชีวิตคนและเศรษฐกิจ
- ถึงตอนนี้ รัฐบาล กระทรวงสาธารณสุข มาถูกทางหรือยัง ในการรับมือกับวิกฤติโควิด-19?
มาถูกทางแล้ว มาตรการทุกอย่างมาถูกทางหมดเลย ผมยืนยันและทำได้ดีด้วย เพราะที่ผ่านมาเราทำได้ดีในช่วงเกือบสามเดือน แต่มาโป๊ะแตกเพราะมีคนแค่สามกลุ่มอย่างที่บอก ทำให้ประเทศจะพัง ตัวเลขขึ้นมาติดเชื้อร่วม 900 กว่าคน เพราะคนสามกลุ่มนี้เอง เมื่อตอนนี้ขอร้องกันไม่ฟัง ก็ต้องใช้ไม้แรงขึ้น แต่ไม่ใช่การ lockdown ทั้งประเทศ ผมยืนยัน เพราะ พ.ร.ก.สถานการณ์ฉุกเฉินฯ ไม่ใช่การ lockdown เพราะการ lockdown คือทุกคนต้องอยู่กับบ้านทุกครัวเรือนทั่วประเทศ ซึ่งยังไม่ถึงขนาดนั้น เพราะยังมีการให้เดินทางได้เท่าที่จำเป็น คุณยังทำธุรกิจบางอย่างได้เท่าที่จำเป็น เช่น เรื่องเกี่ยวกับอาหาร ยังทำได้ เพราะการ lockdown จริงๆ คือการห้ามเคลื่อนไหวเด็ดขาด ซึ่งการทำก็เป็นเรื่องที่ยาก เพราะก็จะต้องมีมาตรการรองรับด้วย เช่น หากมีคนไข้ที่กินยารักษาโรคประจำตัว แล้วเกิดว่าเขายาหมด แล้วจะไปส่งยาให้เขาอย่างไร หากไม่ให้คนออกจากบ้าน หรือหากมีคนไม่สบาย จะให้เขาไปหาหมอที่ไหน ซึ่งหากทำต้องมีมาตรการรองรับออกมาอีกมาก ซึ่งไม่ใช่เรื่องง่าย แต่ตอนนี้ก็ให้ใช้วิธีทำเป็นจุดๆ แต่ตรงไหนมีมาก ก็ต้องเข้ม แต่ตรงไหนแม้จะไม่มาก แต่ก็ยังต้องเข้ม แต่อาจไม่เข้มร้อยเปอร์เซ็นต์
ผมยืนยันว่ามาตรการต่างๆ ที่รัฐบาลลงมือทำ ผมเป็นนักวิชาการ ผมไม่ได้เป็นนักการเมือง ผมไม่ได้มีส่วนได้ส่วนเสีย สิ่งนี้คือเหตุผลที่นายกรัฐมนตรีเชิญผมและ นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร อดีต รมว.สาธารณสุข เข้ามาช่วยตรงนี้ เพราะคุณก็รู้อยู่ ความเห็นมันหลากหลาย การดำเนินการก็ไม่มี unity (เอกภาพ) เราเลยเข้ามาช่วย เพื่อตบให้มันเข้ารูปเข้าร่าง ซึ่งสำหรับผมที่เป็นคนนอก เป็นคนกลาง เป็นนักวิชาการ ก็เรียกว่ามีคนเชื่อถือพอสมควรทั้งในกระทรวงสาธารณสุขและประชาชน ที่เขาก็รู้จักผม กับท่านปิยะสกล สกลสัตยาทร ก็ทำให้ผมเสนอความเห็นแบบตรงๆ ไม่ใช่พูดเพราะผมเป็นหมอ ว่าวิธีการที่ทำกันอยู่เวลานี้ถูกต้องแล้ว และเป็นวิธีการที่มีประสิทธิภาพด้วย เพียงแต่ตอนนี้ที่ตัวเลขมันเพิ่มขึ้นมา มันไม่ใช่เพราะเรื่องของมาตรการ เพราะถ้าทำตามมาตรการ ตัวเลขมันจะไม่พุ่งขึ้นมาเด็ดขาด แต่เป็นเพราะคนไม่ปฏิบัติตัว ไม่ไปกักตัวเอง ไม่มาพบแพทย์ แล้วก็ไปแพร่เชื้อ แล้วมันไปแบบนี้ ซึ่งถ้าดูสถิติที่เขามีการทำกันกรณีเคสที่ประเทศจีน คนหนึ่งคนมีโอกาสแพร่เชื้อให้คน 32 คนโดยเฉลี่ย
“เป็นเรื่องที่ต้องขอร้องกันจริงๆ เพราะหากไม่ช่วยประเทศกันตอนนี้ จะไม่ได้ช่วยแล้ว เพราะมันจะไปแบบกู่ไม่กลับแบบอิตาลี ตายกันเป็นพันๆ เป็นเบือ”
พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ไม่ใช่ยาวิเศษ อีก 2 สัปดาห์เข้าช่วงวิกฤติสุดขีด
เมื่อถามว่าหากมาตรการที่รัฐบาลเลือกใช้เวลานี้ผ่านการออกพระราชกำหนดบริหารสถานการณ์ฉุกเฉินฯ หรืออาจใช้มาตรการอื่นๆ อีกเช่นการเคอร์ฟิว ถ้ายังคุมไม่ได้ จะใช้มาตรการอะไรที่เข้มข้นกว่านี้ได้อีกหรือไม่ นพ.อุดม ตอบชัดๆ ว่า มันจะไม่มีทางหยุด จะคุมให้อยู่ต้องคุมช่วงนี้ เพราะผมบอกตอนต้นแล้วว่า กฎหมายไม่ได้ช่วย กฎหมายเป็นเพียงการตีกรอบให้คุณ แล้วคุณยังไม่ทำ ยังมีการออกนอกกรอบอยู่ แล้วจะมีปัญญาไปจับคนทุกคนหรือไม่ กับประชาชนจำนวนตั้งร่วม 60 กว่าล้านคน มันเป็นไปไม่ได้หรอก มันต้องมีหลุดรอดไปแน่นอน เพราะนี้คือการ ระบาดของโรค เรามีสงครามอย่างอื่น เรายังเห็นตัว เช่น ผมเป็นศัตรูกับคุณ แต่อันนี้มองไม่เห็นตัว เอาแค่บอกจะปิดกรุงเทพฯ อย่างเดียวก็ตายแล้ว อย่างที่กรุงเทพมหานคร ประชากรประมาณ 11 ล้านคน เท่ากับที่อู่ฮั่น แต่ของเมืองจีนมันไม่เหมือนกัน ของจีนรัฐบาลเข้มแข็งและสั่งได้จริงๆ แล้วประชาชนเขาฟังจริงๆ ของไทยเรา รัฐบาลเข้มแข็ง แต่ประชาชนไม่ฟัง ไม่ใช่เอาทหารมาเอาปืนยิงคนได้ แบบนั้นเข้าคุก เพราะอย่างไปเจอคนนั่งกินเหล้ากันที่ชายหาดบางแสน เราก็ได้แต่ยกมือขอร้องให้กลับเข้าบ้านไปเถอะ อย่ามากินตรงนี้ อันนี้คือ point ผมว่าประชาชนไม่เข้าใจตรงนี้
“ไม่ใช่รัฐบาลออก พ.ร.ก.สถานการณ์ฉุกเฉินฯ มาแล้ว จะเป็นยาวิเศษ ก็ไม่ใช่ ผมกลับมา basic เลยคือประชาชนต้องปฏิบัติตามอย่างเดียว และจุดนี้ ตอนนี้คือช่วงหันเหมากที่สุด หากไปไกลมากกว่านี้ คุณจะไป lockdown ทั้งประเทศ ไม่มีประโยชน์แล้ว เพราะตอนนี้กลุ่มคนผู้ติดเชื้อกระจายไปยังจังหวัด พื้นที่ต่างๆ มากแล้ว เป็นเรื่องที่น่าตกใจ"
...เพราะพบว่าก่อนวันที่ 15 มีนาคม ในต่างจังหวัด ไม่มีจุดพล็อตคนติดเชื้อมากนัก แต่จะพบว่าอยู่ในพื้นที่ส่วนใหญ่ในกรุงเทพมหานครและในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ แต่หลังมีการจัดชกมวยดังกล่าว ที่จัดวันที่ 6 มีนาคม จากนั้นเริ่มพบกลุ่มผู้ติดเชื้อในกรุงเทพมหานครมากขึ้น ส่วนกลุ่มผู้ติดเชื้อใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้คือกลุ่มที่เดินทางกลับมาจากมาเลเซีย จากนั้นเริ่มพบกลุ่มผู้ติดเชื้อแพร่กระจายไปร่วม 30-40 จังหวัดเกือบทั่วประเทศ สาเหตุเพราะอะไร ก็เพราะคนไม่เชื่อฟัง ที่ขอให้หยุดการเดินทาง หยุดการเคลื่อนไหว คนไม่เชื่อกัน ผลก็คือ มันจะกู่ไม่กลับ
“ยืนยันว่าในอีกหนึ่งสัปดาห์ข้างหน้า ไม่เกินสองสัปดาห์ข้างหน้า จะอยู่ในช่วง critical วิกฤติจริงๆ ถ้าเราไม่สู้กันตอนนี้ มันจะไปแบบอิตาลีแน่นอน จะกู่ไม่กลับ แล้วจะไปปิดตอนนั้น มันไม่ได้ประโยชน์อะไรแล้ว ก็อยากให้ประชาชนช่วยกัน เพราะไม่อย่างนั้นมันจะไปแบบอิตาลีแน่นอน แล้วถึงตอนนั้นคงไม่มีมาตรการอะไร เพราะตอนนี้ถือว่าเราก็ใช้สูงสุดแล้ว เพียงแต่หากไปถึงแบบนั้น แล้วจะไปห้ามออกนอกบ้าน ก็ไม่ทันแล้ว หากใช้มาตรการเข้มกว่านี้คือห้ามไม่ให้ออกนอกบ้านมาเลย ทหาร ตำรวจต้องมาเฝ้า คอยยืนเฝ้าทุกปากซอย แล้วจะมีกำลังพอหรือ”
ถามย้ำว่า สถานการณ์เลวร้ายที่สุดสำหรับประเทศไทย หากเราควบคุมการแพร่เชื้อโควิดไม่ได้ จะเป็นอย่างไร นพ.อุดม ระบุว่า อีก 30 วันข้างหน้า ก็คือ curve ก็จะขึ้น จากวันที่ให้สัมภาษณ์ตัวเลขอยู่ที่เก้าร้อยกว่าคน จะเป็น 350,000 คน แล้ววันนี้ ไทยมีผู้เสียชีวิต 4 คน ถ้าแบบนั้น ก็จะตาย 7 พัน อันนี้ตัวเลขไม่ได้มั่ว เป็นการคำนวณตามที่อิตาลี curve มันขึ้น เราพล็อต curve ตามเขาเลย ทั้งหมดเป็นตัวเลขสถิติตามความเป็นจริง ไม่ใช่การคาดการณ์ อันนี้ไม่ใช่การคาดการณ์ คือ โอเค เราคิดไปล่วงหน้า แต่คิดบนฐานความจริงว่า มีตัวอย่างให้ดู อย่างของ ญี่ปุ่น curve มันขึ้นไปแบบนี้ แล้วก็เป็นแบบนี้ เพราะญี่ปุ่นเขากดอยู่ ส่วนที่จีน ก็กดอยู่ ตอนนี้ของเขาจบแล้ว แต่ของอิตาลี curve ขึ้นชันเลย ยิ่งกดไม่อยู่ ยิ่งขึ้นไปเลย สเปนก็กำลังขึ้นมา ตรงนี้ประชาชนต้องเข้าใจ ไม่ใช่ว่าใช้กฎหมายแล้วจะเอาทหารมา แล้วตัวเลขผู้ติดเชื้อมันจะลงมาได้ แต่มันอยู่ที่การปฏิบัติของประชาชน เชื้อโรคเอาลูกปืนยิงไม่ได้
- ถ้าเรากด curve ตัวเลขผู้ติดเชื้อลงมาได้ จะเริ่มเห็นผล ตัวเลขการติดเชื้อลดลงเมื่อใด?
ผมว่าจะเริ่มเห็นหน้าเห็นหลังในช่วงสองสัปดาห์ข้างหน้าต่อจากนี้ ว่ามันจะไปทางไหน คือหากเกินสองสัปดาห์ข้างหน้าไปแล้ว ผมว่าคงกดไม่อยู่แล้ว สิ่งที่อยากเน้นย้ำก็คือ ต้องให้ความสำคัญกับเรื่องระยะห่าง social distancing ไม่ควรออกนอกบ้าน หากจะออกไปไหน ให้ออกเฉพาะที่จำเป็น ตอนนี้ก็มีการรณรงค์กันอยู่แล้ว งานบางอย่าง หากทำที่บ้าน ก็ขอให้ทำที่บ้าน เพื่อลดโอกาสการไปเจอกันแล้วจะเกิดการแพร่เชื้อ
เชื่อคนไทยรอด-ไทยชนะสงครามไวรัส
นพ.อุดม กล่าวต่อไปว่า อย่างไรก็ตาม สิ่งสำคัญตอนนี้และค่อนข้างน่ากลัวคือ บุคลากรทางการแพทย์ที่เริ่มพบมีการติดเชื้อ เพราะเริ่มมีการสัมผัสใกล้ชิดแล้ว ต้องตรวจคนไข้ ต้องจับร่างกายคนไข้ จนเริ่มเห็นกรณีบุคลากรทางการแพทย์ติดเชื้อแล้ว 4 คน ที่เราไม่อยากให้มีมากกว่านี้ สำหรับแพทย์ พยาบาล เพราะหากเขาติดเชื้อแล้วไหนจะคนรอบข้างอีก แล้วต้องไปกักตัว 14 วัน ทำให้บุคลากรทางการแพทย์จะต้องหายไปอีก อันนี้คือประเด็นใหญ่ นอกจากนี้ เราคุยกันว่า พวกอุปกรณ์ที่จะป้องกันทั้งหลาย ต้องให้บุคลากรทางการแพทย์ ต้องมีการ priority จัดลำดับความสำคัญ เพราะเมื่อเขาไปรบ แล้วหากไม่ให้อาวุธเขาป้องกันตัวเอง ขวัญ กำลังใจเขาจะหาย คือหากเขาไม่อยากทำ หรือทำแล้วแต่ไม่มีประสิทธิภาพ มันจะยิ่งเละเลย จะตายกันเป็นเบือเลย ทั้งบุคลากรทางการแพทย์ด้วย ก็ดูอย่างที่อิตาลี บุคลากรทางการแพทย์ติดเชื้อไปร่วม 2,600 คนแล้ว ประมาณ 8 เปอร์เซ็นต์ และมันอาจต้องติดแน่ เพราะมีการใกล้ตัวกัน จากเดิมไม่มีตัวเลขบุคลากรทางการแพทย์ติดเชื้อเลย ตรงนี้เป็นเรื่องที่เรา concern เพราะต้อง keep คนกลุ่มนี้ให้ได้ เพราะเขาคือด่านหน้าที่จะช่วยประชาชน และคนที่จะช่วยได้มากที่สุด ไม่ใช่รัฐบาล เพราะเขาเตรียมไว้ได้อยู่แล้ว แต่ที่สำคัญก็คือ ประชาชนต้องพยายามไม่ให้ตัวเองติดเชื้อ จนต้องไปรักษาตัวที่โรงพยาบาลกันมากๆ เพราะหากคนได้รับเชื้อมารักษากัน 900 กว่าคน โดยจะมี 10 เปอร์เซ็นต์ ต้องเข้าโรงพยาบาล แล้วมันไม่ใช่อะไร คนที่สัมผัสคุณใกล้ชิด ซึ่งยังไม่มีอาการ ยังรอผลตรวจเชื้อ แต่อาจติดแน่ๆ ก็ต้องมีการกันไว้ที่โรงพยาบาล ก็ต้องใช้เตียงอีกจำนวนหนึ่ง วันนี้ที่บอกเรามี 1,000 เตียง เพราะก็มีคนไข้กลุ่มหนึ่งที่มีการกักไว้ไม่ให้กลับบ้าน เพราะต้องระวังไม่ให้กลับไปติดที่บ้าน มันจึงไม่ใช่เรื่องง่ายๆ ผมจึงอยากย้ำว่า ตอนนี้รัฐบาลก็ทุ่มเต็มที่ หาอุปกรณ์ต่างๆ มาให้บุคลากรทางการแพทย์ไม่ให้ติดเชื้อ ให้เขาทำงานด้วยความสบายใจ และให้ขวัญกำลังใจเขาผ่านแนวทางต่างๆ ก็อยากย้ำว่า ตอนนี้คือช่วงที่เป็นจุดหันเหจริงๆ
- เรามีความหวังได้หรือไม่ว่า คนไทย ประเทศไทยจะรอดจากสงครามไวรัสครั้งนี้?
ถ้าทำอย่างที่ผมบอก เราจะชนะ ที่ผ่านมาเรากดมาได้ ก็ต้องกด curve ต่อไปให้ได้ ถ้าประชาชนร่วมมือ ประชาชนต้องถือเป็นหน้าที่ซึ่งต้องปฏิบัติตามคำแนะนำของกระทรวงสาธารณสุข ทุกคนต้องร่วมกันรับผิดชอบ นี่คือวิกฤติของคนทั้งประเทศ ตอนนี้ต้องทำด้วยมาตรการเข้มข้น เพราะเป็นลักษณะการแพร่ระบาด ดังนั้น มาตรการทั้งหลายอาจไม่ถูกใจ แต่พวกเราต้องอดทน ต้องถือเป็นหน้าที่ในการปฏิบัติตามคำแนะนำ ที่ต้องใช้เวลาสักระยะ ในช่วง 2-3 สัปดาห์จากนี้ หากทุกคนช่วยกันเต็มที่ ก็จะเป็นการทำเพื่อพี่น้อง คนในครอบครัวและคนที่คุณรัก รวมทั้งต่อประเทศในส่วนรวมด้วย นี่คือผลที่จะเกิดขึ้นจริง
.............................................................................
ข้างหลังภาพ วอร์รูมเสื้อกาวน์ สู้ศึกโควิด-19 “บิ๊กตู่” เปิดทำเนียบฯ คุยหมอผู้ใหญ่
นพ.อุดม-ที่ปรึกษากรรมการโรคติดต่ออุบัติใหม่แห่งชาติ-อดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยมหิดล-อดีตคณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ที่ก่อนหน้านี้ก็คือ รมช.ศึกษาธิการในรัฐบาลพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา เล่าให้ฟังถึงการร่วมประชุมเป็นการส่วนตัวระหว่างบุคลากรทางการแพทย์ระดับผู้ใหญ่ของประเทศ กับพลเอกประยุทธ์ ที่ทำเนียบรัฐบาลเมื่อ 16 มี.ค. ที่กลายเป็นภาพที่พูดถึงอย่างกว้างขวาง จนถูกเรียกว่าเป็นภาพ วอร์รูมเสื้อกาวน์ สู้สงครามไวรัส โดย นพ.อุดมเล่าถึงที่มาที่ไปของการนัดคุยกันดังกล่าว ที่หลายคนไม่เคยรู้มาก่อนว่า ก็ต้องยอมรับว่ากลไกการบริหารงานบ้านเราไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะเมื่อเป็นระบบพรรคการเมือง ก็จะมีความเห็นแตกต่างกัน ที่ต้องเข้าใจนายกฯ ด้วย เพราะท่านนายกฯ มีความมุ่งมั่นตั้งใจมาก ท่านก็ไม่มีทางออก เพราะว่ากระทรวงนี้ก็จะเอาแบบนี้ อีกกระทรวงก็จะเอาอีกแบบหนึ่ง คุณก็เห็นอยู่ เราไม่ค่อยมีบูรณาการกันเท่าไหร่ เพราะไม่ใช่แค่งานของกระทรวงสาธารณสุข แต่ต้องให้กระทรวงต่างๆ มาร่วมมือ เช่น กระทรวงมหาดไทย กระทรวงพาณิชย์
...ผมสรุปแบบนี้ ถ้าคุณเจอวิกฤติเศรษฐกิจ แม่ทัพคือใคร ก็คือนักเศรษฐศาสตร์ หรือนักการเงินการคลังเก่งๆ ตอนนี้เป็นวิกฤติเกี่ยวกับโรค แม่ทัพก็ควรเป็นแพทย์ นั่นคือสิ่งที่ท่านนายกฯ บอกว่า ขอเถอะ ตอนนั้นที่เข้าไปคุยกันกับนายกฯ ประมาณ 5-6 คน ท่านก็บอกขอเป็นหมอผู้ใหญ่ วันนั้นก็เลยมีนายกแพทยสภา-นายกแพทย์สมาคม-ผู้เชี่ยวชาญด้านไวรัส อ.ดร.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยา คลินิกภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย แล้วก็ หมอปิยะสกล อดีต รมว.สาธารณสุขกับผม ในฐานะเป็นครูบาอาจารย์ มีคนรู้จัก มีเครดิตพอสมควร นายกรัฐมนตรีเป็นคนรับฟัง ถึงได้เชิญพวกเราไป ก็มีการให้คำแนะนำ ถึงได้เกิดมาตรการอะไรหลายอย่าง หลังจากการร่วมหารือกับนายกฯ ในวันนั้น ที่ออกมาแล้วเป็นบวกมาก เพราะต้องยอมรับว่า ตอนนั้นประชาชนไม่เชื่อกระทรวงสาธารณสุข ไม่เชื่อท่านนายกฯ ความศรัทธาลงอย่างมหาศาล ท่านนายกฯ ก็หาทางออกไม่ได้ ก็เชิญเราไปคุย แต่ท่านก็นึกไม่ถึง ผมก็นึกไม่ถึงว่า มิตินี้มันจะมี impact มหาศาลเลย อย่างภาพที่คุยกันวันนั้น ผมก็ได้รับส่งมาทางไลน์ คนต่างบอกมีความหวังแล้ว ผมเห็นแล้ว ผมก็ชื่นใจ ในฐานะเป็นหนึ่งในนั้น
"นายกรัฐมนตรีก็ส่งไลน์มาหาผม นายกฯ บอกว่า พี่หมอ มาทำให้เริ่มคนฟังผมมากขึ้น คือเดิมคนไม่ค่อยฟังผมเลย ท่านนายกฯ บอกประโยคนี้"
เราก็จะพยายามทำให้ดีที่สุด คือแน่นอนว่าทุกคนมีความมุ่งมั่นตั้งใจหมด คุณอนุทิน ชาญวีรกูล รมว.สาธารณสุข ก็ตั้งใจมาก แม้จะไม่ได้เป็นแพทย์ ตอนนี้เราก็มา support เรามาช่วยตัดสินใจ เรามาช่วยดูบางอย่างให้ละเอียดรอบคอบ เช่น หากจะคิดแก้แบบนี้ แล้วจะไปเกิดปัญหาแบบใหม่ อาจยังคิดไม่รอบคอบ เพราะประสบการณ์น้อย ไม่เป็นไร เรามาช่วยดูให้ แล้วเราเสนอไปที่นายกรัฐมนตรี
.... มันถึงเกิดมาตรการเป็นขั้นๆ ออกมา ก็ยืนยันว่าเรามาถูกทางแล้ว และการที่นายกรัฐมนตรีปรึกษาทีมแพทย์ ผมว่าแบบนี้ถูกต้อง เพราะนายกฯ ไม่ได้เป็นหมอ แต่เป็นแม่ทัพโดยตำแหน่ง ซึ่งต้องเข้าใจผ่านการมีคำแนะนำที่ถูกต้องเหมาะสม ไม่ใช่คำแนะนำแบบนักวิชาการ นักวิชาการเขาพูดถูกว่าต้องแบบนี้ แบบนี้ แต่อาจไปปฏิบัติไม่ได้ เราก็จะมาแปลงให้ โดยให้คิดแบบนักบริหาร เราต้องมองภาพใหญ่ มองผลกระทบ มีการวางมาตรการรองรับ ซึ่งนักวิชาการอาจไม่ได้คิดถึงตรงนี้ แต่พอดีอย่างผม เป็นทั้งนักวิชาการและนักบริหาร ก็จะมาช่วยเชื่อม gap ตรงนี้ให้ ระหว่างทีมของกระทรวงสาธารณสุข ทีมของนายกฯ และทีมนักวิชาการ และเรามีมุมมองด้านบริหารจัดการให้ แล้วเสนอให้นายกฯ ตัดสินใจ ทำให้หลายอย่างเริ่มขับเคลื่อนออกไปได้ จนเป็นที่พอใจของประชาชน จนประชาชนศรัทธาเพิ่มขึ้น ที่ผ่านมาก็ต้องยอมรับว่าการสื่อสารกับประชาชนยังอ่อนอยู่บ้าง ก็อาจทำให้ประชาชนไม่เข้าใจและบางอย่างมีความสับสน เราก็พยายามเคลียร์ว่ามาตรการต่างๆ ที่ออกมาต้องชัดว่าจะให้ประชาชนทำอะไรบ้าง รัฐบาลจะเข้าไปช่วยเหลืออย่างไรบ้าง
- ประชาชนจำนวนมากก็อยากรู้ว่าเขาจะต้องอยู่กับสภาวการณ์แบบนี้ต่อไปอีกนานแค่ไหน?
ผมขอว่า ก็คงอย่างน้อยในช่วง critical จากนี้ไปอีก 2-3 สัปดาห์ ที่ผ่านมารัฐบาลก็พยายามค่อยๆ ใช้ไม้แข็งขึ้นเรื่อยๆ พยายามให้เข้มขึ้นแบบช้าๆ เพื่อให้ประชาชนยอมรับและให้ความร่วมมือ ซึ่งถ้าทุกคนทำได้ ผมเชื่อว่ามาตรการที่ออกมาแข็งและเข้มพอ ส่วนเรื่องเคอร์ฟิว เป็นเรื่องละเอียดอ่อน ฝ่ายความมั่นคงเขาก็กำลังดูกันอยู่เพราะเป็นเรื่องละเอียดอ่อน แต่ก็ต้องยอมรับว่าประชาชนก็อาจเห็นว่าควรต้องมีมาตรการเข้มมากขึ้น แต่อยากให้เข้าใจว่า การดำเนินการเกี่ยวกับโรคโควิดนี้ ต้องไปอีกระยะหนึ่ง เพราะอย่างที่ผมบอกมีคนอีกตั้ง 5,000-6,000 คนที่ติดเชื้ออยู่แต่ไม่รู้ตัว ยังเป็นตัวแพร่อยู่ตลอด ทำให้เคสผู้ติดเชื้อก็จะต้องโผล่ออกมา ตรงนี้ก็อย่าได้ตกใจ เพียงแต่สองสัปดาห์นี้ หากคุมกันดีๆ คุมกันให้ดี ปฏิบัติตัวตามคำแนะนำ เราเชื่อว่ามันจะขึ้นไม่เกินสองสัปดาห์แล้วตัวเลขผู้ติดเชื้อจะลดลง.
โดยวรพล กิตติรัตวรางกูร
“””””””””””””””””””””””””””””””
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |