ข้างหลังภาพวอร์รูมเสื้อกาวน์ สู้ศึกโควิด-19 'บิ๊กตู่' เปิดทำเนียบฯคุยหมอผู้ใหญ่


เพิ่มเพื่อน    

28 มี.ค.63 - ศาสตราจารย์คลินิกเกียรติคุณ นพ.อุดม คชินทร อดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยมหิดล-อดีตคณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล-อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ที่ปัจจุบันมีบทบาทสำคัญอย่างยิ่งในการร่วมวางแผน กำหนดนโยบายในการรับมือกับวิกฤติโควิด 19 ของรัฐบาลในฐานะที่ปรึกษา คณะกรรมการอำนวยการเตรียมความพร้อมป้องกันและแก้ไขปัญหาโรคอุบัติใหม่แห่งชาติ ให้สัมภาษณ์พิเศษหนังสือพิมพ์ แทบลอยด์ ไทยโพสต์ ซึ่งจะตีพิมพ์ฉบับวันที่ 29 มี.ค.นี้

ช่วงหนึ่ง นพ.อุดม ที่ปรึกษากรรมการโรคติดต่ออุบัติใหม่แห่งชาติ เล่าให้ฟังถึงการร่วมประชุมเป็นการส่วนตัวระหว่างบุคลากรทางการแพทย์ระดับผู้ใหญ่ของประเทศ กับพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ที่ทำเนียบรัฐบาลเมื่อ 16 มี.ค. ที่กลายเป็นภาพที่พูดถึงอย่างกว้างขวาง จนถูกเรียกว่าเป็นภาพ วอร์รูมเสื้อกาวน์ สู้สงครามไวรัส โดย นพ.อุดมเล่าถึงที่มาที่ไปของการนัดคุยกันดังกล่าว ที่หลายคนไม่เคยรู้มาก่อนว่า ก็ต้องยอมรับว่ากลไกการบริหารงานบ้านเราไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะเมื่อเป็นระบบพรรคการเมือง ก็จะมีความเห็นแตกต่างกัน ที่ต้องเข้าใจนายกฯ ด้วย เพราะท่านนายกฯ มีความมุ่งมั่นตั้งใจมาก ท่านก็ไม่มีทางออก เพราะว่ากระทรวงนี้ก็จะเอาแบบนี้ อีกกระทรวงก็จะเอาอีกแบบหนึ่ง คุณก็เห็นอยู่ เราไม่ค่อยมีบูรณาการกันเท่าไหร่ เพราะไม่ใช่แค่งานของกระทรวงสาธารณสุข แต่ต้องให้กระทรวงต่างๆ มาร่วมมือ เช่น กระทรวงมหาดไทย กระทรวงพาณิชย์.

...ผมสรุปแบบนี้ ถ้าคุณเจอวิกฤติเศรษฐกิจ แม่ทัพคือใคร ก็คือนักเศรษฐศาสตร์ หรือนักการเงินการคลังเก่งๆ ตอนนี้เป็นวิกฤติเกี่ยวกับโรค แม่ทัพก็ควรเป็นแพทย์ นั่นคือสิ่งที่ท่านนายกฯ บอกว่า ขอเถอะ ตอนนั้นที่เข้าไปคุยกันกับนายกฯ ประมาณ 5-6 คน ท่านก็บอกขอเป็นหมอผู้ใหญ่ วันนั้นก็เลยมีนายกแพทยสภา-นายกแพทย์สมาคม-ผู้เชี่ยวชาญด้านไวรัส อ.ดร.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยา คลินิกภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย  แล้วก็ หมอปิยะสกล อดีต รมว.สาธารณสุขกับผม ในฐานะเป็นครูบาอาจารย์ มีคนรู้จัก มีเครดิตพอสมควร นายกรัฐมนตรีเป็นคนรับฟัง ถึงได้เชิญพวกเราไป ก็มีการให้คำแนะนำ ถึงได้เกิดมาตรการอะไรหลายอย่าง หลังจากการร่วมหารือกับนายกฯ ในวันนั้น ที่ออกมาแล้วเป็นบวกมาก เพราะต้องยอมรับว่า ตอนนั้นประชาชนไม่เชื่อกระทรวงสาธารณสุข ไม่เชื่อท่านนายกฯ ความศรัทธาลงอย่างมหาศาล ท่านนายกฯ ก็หาทางออกไม่ได้ ก็เชิญเราไปคุย แต่ท่านก็นึกไม่ถึง ผมก็นึกไม่ถึงว่า มิตินี้มันจะมี impact มหาศาลเลย อย่างภาพที่คุยกันวันนั้น ผมก็ได้รับส่งมาทางไลน์ คนต่างบอกมีความหวังแล้ว ผมเห็นแล้ว ผมก็ชื่นใจ ในฐานะเป็นหนึ่งในนั้น 

"นายกรัฐมนตรีก็ส่งไลน์มาหาผม นายกฯ บอกว่า พี่หมอ มาทำให้เริ่มคนฟังผมมากขึ้น คือเดิมคนไม่ค่อยฟังผมเลย ท่านนายกฯ บอกประโยคนี้"

เราก็จะพยายามทำให้ดีที่สุด คือแน่นอนว่าทุกคนมีความมุ่งมั่นตั้งใจหมด คุณอนุทิน ชาญวีรกูล รมว.สาธารณสุข ก็ตั้งใจมาก แม้จะไม่ได้เป็นแพทย์ ตอนนี้เราก็มา support เรามาช่วยตัดสินใจ เรามาช่วยดูบางอย่างให้ละเอียดรอบคอบ เช่น หากจะคิดแก้แบบนี้ แล้วจะไปเกิดปัญหาแบบใหม่ อาจยังคิดไม่รอบคอบ เพราะประสบการณ์น้อย ไม่เป็นไร เรามาช่วยดูให้ แล้วเราเสนอไปที่นายกรัฐมนตรี

.... มันถึงเกิดมาตรการเป็นขั้นๆ ออกมา ก็ยืนยันว่าเรามาถูกทางแล้ว และการที่นายกรัฐมนตรีปรึกษาทีมแพทย์ ผมว่าแบบนี้ถูกต้อง เพราะนายกฯ ไม่ได้เป็นหมอ แต่เป็นแม่ทัพโดยตำแหน่ง ซึ่งต้องเข้าใจผ่านการมีคำแนะนำที่ถูกต้องเหมาะสม ไม่ใช่คำแนะนำแบบนักวิชาการ นักวิชาการเขาพูดถูกว่าต้องแบบนี้ แบบนี้ แต่อาจไปปฏิบัติไม่ได้ เราก็จะมาแปลงให้ โดยให้คิดแบบนักบริหาร เราต้องมองภาพใหญ่ มองผลกระทบ มีการวางมาตรการรองรับ ซึ่งนักวิชาการอาจไม่ได้คิดถึงตรงนี้ แต่พอดีอย่างผม เป็นทั้งนักวิชาการและนักบริหาร ก็จะมาช่วยเชื่อม gap ตรงนี้ให้ ระหว่างทีมของกระทรวงสาธารณสุข ทีมของนายกฯ และทีมนักวิชาการ และเรามีมุมมองด้านบริหารจัดการให้ แล้วเสนอให้นายกฯ ตัดสินใจ ทำให้หลายอย่างเริ่มขับเคลื่อนออกไปได้ จนเป็นที่พอใจของประชาชน จนประชาชนศรัทธาเพิ่มขึ้น ที่ผ่านมาก็ต้องยอมรับว่าการสื่อสารกับประชาชนยังอ่อนอยู่บ้าง ก็อาจทำให้ประชาชนไม่เข้าใจและบางอย่างมีความสับสน เราก็พยายามเคลียร์ว่ามาตรการต่างๆ ที่ออกมาต้องชัดว่าจะให้ประชาชนทำอะไรบ้าง รัฐบาลจะเข้าไปช่วยเหลืออย่างไรบ้าง 

- ประชาชนจำนวนมากก็อยากรู้ว่าเขาจะต้องอยู่กับสภาวการณ์แบบนี้ต่อไปอีกนานแค่ไหน?
 
ผมขอว่า ก็คงอย่างน้อยในช่วง critical จากนี้ไปอีก 2-3 สัปดาห์ ที่ผ่านมารัฐบาลก็พยายามค่อยๆ ใช้ไม้แข็งขึ้นเรื่อยๆ พยายามให้เข้มขึ้นแบบช้าๆ เพื่อให้ประชาชนยอมรับและให้ความร่วมมือ ซึ่งถ้าทุกคนทำได้ ผมเชื่อว่ามาตรการที่ออกมาแข็งและเข้มพอ ส่วนเรื่องเคอร์ฟิว เป็นเรื่องละเอียดอ่อน ฝ่ายความมั่นคงเขาก็กำลังดูกันอยู่เพราะเป็นเรื่องละเอียดอ่อน แต่ก็ต้องยอมรับว่าประชาชนก็อาจเห็นว่าควรต้องมีมาตรการเข้มมากขึ้น แต่อยากให้เข้าใจว่า การดำเนินการเกี่ยวกับโรคโควิดนี้ ต้องไปอีกระยะหนึ่ง เพราะอย่างที่ผมบอกมีคนอีกตั้ง 5,000-6,000 คนที่ติดเชื้ออยู่แต่ไม่รู้ตัว ยังเป็นตัวแพร่อยู่ตลอด ทำให้เคสผู้ติดเชื้อก็จะต้องโผล่ออกมา ตรงนี้ก็อย่าได้ตกใจ เพียงแต่สองสัปดาห์นี้ หากคุมกันดีๆ คุมกันให้ดี ปฏิบัติตัวตามคำแนะนำ เราเชื่อว่ามันจะขึ้นไม่เกินสองสัปดาห์แล้วตัวเลขผู้ติดเชื้อจะลดลง. 

ติดตามอ่านรายละเอียดทั้งหมด ในหนังสือพิมพ์ แทบลอยด์ ไทยโพสต์ ฉบับวันที่ 29 มี.ค.2563

ศาสตราจารย์คลินิกเกียรติคุณ นพ.อุดม คชินทร


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"