จ่อออก‘พ.ร.ก.’ กว่า2แสนล้าน ฟื้น‘เศรษฐกิจ’


เพิ่มเพื่อน    

 "คลัง" ยันลงทะเบียนรับสิทธิ์เงินเยียวยาโควิด-19 จำนวน 5 พันบาทผ่าน www.เราไม่ทิ้งกัน.com เท่านั้น วอนประชาชนไม่ต้องไปสาขาธนาคารเพื่อเปิดบัญชี ระบุรัฐบาลพร้อมโอนเงินผ่านทุกธนาคารที่ผู้ได้รับสิทธิ์มีบัญชี "สมคิด" เผยการออก พ.ร.ก.กู้เงินถ้าจำเป็นก็ต้องทำเลย อาจมากกว่า 2 แสนล้าน ยันฐานะการคลังแข็งแกร่ง

    นายลวรณ แสงสนิท ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง เปิดเผยถึงการลงทะเบียนรับสิทธิ์ตามมาตรการเยียวยา 5,000 บาท (3 เดือน) ซึ่งจะเปิดให้ลงทะเบียนผ่านเว็บไซต์ www.เราไม่ทิ้งกัน.com ในวันเสาร์ที่ 28 มี.ค.นี้ ตั้งแต่เวลา 18.00 น.เป็นต้นไป  และเว็บไซต์จะเปิดตลอด 24 ชม.นั้น เขากล่าวยืนยันว่า ประชาชนไม่จำเป็นต้องเดินทางไปที่สาขาของธนาคารเพื่อเปิดบัญชีใหม่หรือเพื่อลงทะเบียน โดยประชาชนสามารถลงทะเบียนได้ด้วยตัวเองหรือให้ผู้ใกล้ชิดช่วยลงทะเบียนให้ได้
    อีกทั้งไม่จำเป็นต้องเปิดบัญชีธนาคารใหม่ที่ธนาคารเฉพาะกิจของรัฐ เนื่องจากในขั้นตอนการจ่ายเงินกระทรวงการคลังสามารถโอนเงินไปได้ทุกธนาคารที่ประชาชนมีบัญชีอยู่และได้ลงทะเบียนไว้ โดยมีเงื่อนไขเพียงชื่อและนามสกุลเจ้าของบัญชีจะต้องตรงกับชื่อและนามสกุลที่ลงทะเบียนไว้ นอกจากนี้ สามารถเลือกให้โอนเข้าพร้อมเพย์ที่ผูกกับหมายเลขประจำตัวประชาชนก็ได้ โดยจะได้รับเงินเร็วที่สุด 7  วันทำการหลังจากการลงทะเบียนและตรวจสอบแล้วผ่านเกณฑ์คุณสมบัติที่กำหนด
    "กระทรวงการคลังได้กำหนดให้การลงทะเบียนและจ่ายเงินเป็นการดำเนินการผ่านระบบออนไลน์เป็นหลัก เพื่อความสะดวกและปลอดภัยของประชาชนมากที่สุด และให้สอดรับกับแนวปฏิบัติของกระทรวงสาธารณสุขในการอยู่บ้าน หยุดเชื้อเพื่อชาติ" นายลวรณกล่าว
    ม.ร.ว.จัตุมงคล โสณกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า จากสถานการณ์ความรุนแรงกรณีการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ส่งผลให้สถานประกอบกิจการหลายแห่งต้องใช้วิธีเลิกจ้างลูกจ้าง  ปิดกิจการ รวมถึงการหยุดกิจการบางส่วนหรือทั้งหมดเป็นการชั่วคราวมาใช้ ซึ่งการหยุดกิจการบางส่วน หรือทั้งหมดเป็นการชั่วคราวนั้น กฎหมายคุ้มครองแรงงานให้สิทธิ์นายจ้างสามารถกระทำได้ และมุ่งคุ้มครองทั้งนายจ้างและลูกจ้างไปพร้อมกัน 
    ในกรณีที่นายจ้างประสบปัญหามีความจำเป็นต้องหยุดกิจการชั่วคราว แต่ยังมีความประสงค์ประกอบกิจการต่อไป เพื่อแก้ไขวิกฤติดังกล่าวให้คลี่คลายและบรรเทาภาระค่าใช้จ่ายของนายจ้างในการดำเนินกิจการให้บรรเทาเบาบางลงไป ก่อนกลับมาเปิดดำเนินกิจการตามปกติได้อีกครั้ง และยังเป็นการประคับประคองให้นายจ้างสามารถดำเนินกิจการต่อไปได้โดยไม่จำเป็นต้องปิดกิจการและเลิกจ้างลูกจ้าง  ทำให้ลูกจ้างไม่ต้องตกงาน ขาดรายได้และได้รับความเดือดร้อนในช่วงที่หยุดงานเพราะเหตุดังกล่าว
    อย่างไรก็ตาม แม้กฎหมายคุ้มครองแรงงานจะให้สิทธิ์นายจ้างหยุดกิจการชั่วคราวเพื่อแก้ไขวิกฤตการณ์ได้ แต่กฎหมายก็ไม่ได้ยินยอมให้นายจ้างกระทำได้ตามอำเภอใจ จึงได้กำหนดมาตรการเพื่อควบคุมไว้ ดังนี้
    นายจ้างต้องมีเหตุจำเป็นที่สำคัญอันมีผลกระทบต่อการประกอบกิจการของนายจ้าง จนทำให้นายจ้างไม่สามารถประกอบกิจการได้ตามปกติ
    นายจ้างต้องจ่ายเงินให้แก่ลูกจ้างไม่น้อยกว่าร้อยละ 75 ของค่าจ้างในวันทำงานที่ลูกจ้างได้รับก่อนนายจ้างหยุดกิจการตลอดระยะเวลาที่นายจ้างไม่ได้ให้ลูกจ้างทำงาน ณ สถานที่ทำงานของลูกจ้าง หรือสถานที่อื่นตามที่ตกลงกันและภายในกำหนดเวลาการจ่ายเงินตามข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงาน หรือตามที่ตกลงกันกับลูกจ้าง
    นายจ้างต้องแจ้งให้ลูกจ้างและพนักงานตรวจแรงงานทราบล่วงหน้าเป็นหนังสือก่อนวันเริ่มหยุดกิจการชั่วคราวไม่น้อยกว่า 3 วันทำการ
    "หากนายจ้างจำเป็นที่จะต้องหยุดกิจการชั่วคราว นายจ้างจะต้องจ่ายเงินให้แก่ลูกจ้างไม่น้อยกว่าร้อยละ 75 และต้องแจ้งให้ลูกจ้างและพนักงานตรวจแรงงานทราบล่วงหน้าเป็นหนังสือก่อนวันเริ่มหยุดกิจการชั่วคราวไม่น้อยกว่า 3 วันทำการ ดังนั้น กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน รวมทั้งผู้ตรวจราชการกระทรวงแรงงาน จะเข้าไปดูแลและตรวจสอบการใช้มาตรา 75 ให้เป็นไปตามกฎหมายอย่างเคร่งครัด ซึ่งผมให้ความสำคัญกับเรื่องนี้" รมว.แรงงานกล่าว
    ทั้งนี้ การไฟฟ้านครหลวง หรือ MEA แจ้งว่าตั้งแต่วันที่ 25 มีนาคม 2563 ที่เปิดให้มีการลงทะเบียนตรวจสอบสิทธิ์ขอคืนเงินประกันการใช้ไฟฟ้า จนถึงวันที่ 27 มีนาคม 2563 ช่วงเช้ามีผู้ลงทะเบียนกว่า 1  ล้านราย เป็นปริมาณเดียวกับการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค หรือ PEA โดยลูกค้า MEA ที่จะได้สิทธิ์การคืนเงินมีประมาณ 3.85 ล้านราย เป็นเงินประมาณ 13,500 ล้านบาท ส่วนลูกค้า PEA มี 18.3.ล้านราย วงเงิน  19,699 ล้านบาท ลงทะเบียนทางออนไลน์ได้ตลอด ไม่มีการกำหนดวันปิดลงทะเบียนแต่อย่างใด และจะได้รับเงินคืนวันแรก 31 มีนาคมนี้ โดยขอความร่วมมือให้ผู้ใช้ไฟฟ้าลงทะเบียนตรวจสอบสิทธิ์คืนเงินประกันการใช้ไฟผ่านช่องทางออนไลน์ งดเดินทางมาที่สำนักงานการไฟฟ้าเพื่อลดการแพร่ระบาดและป้องกันการแพร่เชื้อ COVID-19 ตามมาตรการของรัฐบาล "อยู่บ้าน ลดเชื้อ เพื่อชาติ"
    นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี เปิดเผยภายหลังการประชุมร่วมกับ รมว.การคลัง, ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.), ผู้บริหารระดับสูงของกระทรวงการคลัง, สถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ, สมาคมธนาคารไทย และตลาดทุน เรื่องมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพื่อบรรเทาปัญหาจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ว่า ได้เรียกประชุมด่วนทุกส่วนที่เกี่ยวข้องเพื่อหารือถึงมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ เพื่อรองรับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ชุดที่ 3 เนื่องจากเป็นที่ทราบกันดีอยู่แล้วว่าขณะนี้เศรษฐกิจไทยส่วนใหญ่เริ่มหยุดชะงัก ประชาชนส่วนใหญ่ถูกจำกัดให้อยู่ที่บ้านเพื่อป้องกันการแพร่ระบาด ซึ่งในส่วนของรัฐบาลต้องพยายามแก้ปัญหาเรื่องโรคระบาดนี้ให้จบโดยเร็วที่สุด เพื่อให้การฟื้นตัวทางเศรษฐกิจเป็นไปได้อย่างรวดเร็ว เพราะเศรษฐกิจที่ถูกกระทบนานๆ จะยิ่งเสื่อมลง ดังนั้นหากแก้ปัญหาช้าเท่าไหร่ การฟื้นตัวของเศรษฐกิจก็ยิ่งยากขึ้นเท่านั้น
    "ภาพรวมเบื้องต้นของมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจชุดที่ 3 นั้น ได้มีการหารือกันว่าถ้าจะอัดมาตรการชุดใหญ่ออกมา ต้องเป็นไปในทิศทางที่สอดคล้องกับสภาพความจริงที่เกิดขึ้น ให้ถือเอาวิกฤติครั้งนี้มาสร้างความเข้มแข็งให้ชุมชนในท้องถิ่น ส่วนงบประมาณที่จะใช้ยังไม่ได้ระบุตัวเลขที่แน่นอน แต่เข้าใจว่าต้องใช้งบก้อนใหญ่พอสมควร"
    ส่วนการออกพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) กู้เงิน นายสมคิดระบุว่าขึ้นอยู่กับความจำเป็น ระยะเวลา ถ้าต้องทำก็สามารถทำได้เลย ทุกคนเข้าใจ ไม่น่าจะมีอะไร เพราะกระทรวงการคลังเตรียมตัวเรื่องนี้มาเป็นเดือน วงเงินอาจจะมากกว่า 2 แสนล้านบาท ซึ่งไม่มีปัญหา ฐานะการคลังแข็งแกร่ง ส่วนเรื่องการเกลี่ยงบประมาณปี 2563 ไม่ใช่เรื่องงาน ต้องทำผ่านพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) โอนเงินงบประมาณ ซึ่งไม่ใช่เรื่องง่าย
    นายอุตตม สาวนายน รมว.การคลัง กล่าวว่า เรื่องการกู้เงินในความเห็นตนทำได้ แต่ขอให้รอเมื่อถึงเวลาที่เหมาะสมชัดเจนก็จะได้เห็นตัวเลข และจะได้เห็นว่าจะเอาเงินตรงนี้ไปใช้ทำอะไรในช่วงเวลาที่เหมาะสม
    นายวิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) พิจารณาแล้วเห็นตรงกันว่า ภาวะเศรษฐกิจในขณะนี้การใช้นโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจที่ตรงจุดเป็นเรื่องสำคัญ ซึ่งก่อนหน้านี้ได้ปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายไปแล้ว แต่ก็มองว่าไม่ตรงจุดเท่ากับนโยบายที่มีเป้าหมายเฉพาะเจาะจง เหมือนที่รัฐบาลทำนโยบายช่วยเรื่องคนตกงาน ซึ่งจะตอบโจทย์ภาวะเช่นนี้
    ขณะที่นายปรีดี ดาวฉาย ประธานสมาคมธนาคารไทย เปิดเผยว่า ข้อเรียกร้องของลูกค้าเรื่องภาระการชำระเงินต้นและดอกเบี้ยกำลังพิจารณาอยู่ ตอนนี้ภาระเงินต้นถ้ามีความต้องการ ธนาคารก็สามารถเลื่อนให้หมด ส่วนการขอเลื่อนหรือลดดอกเบี้ยก็จะพิจารณาเป็นเรื่องๆ ไป ขณะเดียวกันสภาพคล่องของกิจการที่ยังต้องการ ก็มีมาตรการของรัฐที่ออกไปคือซอฟต์โลน 1.5 แสนล้านบาท นอกจากนี้ยังมีมาตรการที่รัฐบาลสนับสนุน เรื่องหลักประกันวงเงิน 6 หมื่นล้านที่พร้อมให้บริการ
    นายธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย และประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ระบุถึงกรณีที่กระทรวงการคลังเตรียมออก พ.ร.ก.กู้เงินฉุกเฉิน 200,000 ล้านบาทนั้น ถือว่าเป็นสิ่งจำเป็น เพราะตัวเลขประเมินความเสียหายจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ขณะนี้ คาดว่าอาจจะสูงเกิน 1 ล้านล้านบาท ขณะที่งบประมาณปี 2563 ที่มีอยู่ไม่เพียงพอในการนำมาใช้ แม้หลายส่วนเสนอให้ดึงงบประมาณลงทุนในโครงการขนาดใหญ่ของรัฐมาใช้ในส่วนกลางก็ตาม แต่หากดูจากตัวเลขจะมีเพียงประมาณ 450,000 ล้านบาทเท่านั้น ซึ่งอาจไม่เพียงพอ จึงจำเป็นต้องเตรียมพร้อมในการกู้เงินเพื่อนำมาใช้จ่ายฉุกเฉิน แต่ทั้งนี้เมื่อ พ.ร.ก.ออกมาแล้วจะกู้ผ่านหรือไม่ถือเป็นอีกเรื่องหนึ่ง.
    


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"