พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพระราชทานเครื่องช่วยหายใจ อุปกรณ์ทางการแพทย์ เครื่องมือแพทย์ ช่วยผู้ป่วยวิกฤติโควิด-19 แก่ 5 โรงพยาบาล รวม 92 เครื่อง ถือเป็นพระมหากรุณาธิคุณอย่างหาที่สุดมิได้ โฆษก ศบค.เผยนายกฯ ขอบคุณความร่วมมือจาก ปชช.และทุกฝ่ายร่วมป้องกันการแพร่ระบาดโควิด "มท." ยกระดับความเข้มข้นทุกมาตรการ จว.พื้นที่เสี่ยง-กทม.-ปริมณฑล-อุบลฯ-สงขลา-ภูเก็ต-3 จังหวัดชายแดนใต้ สั่งกำนัน ผู้ใหญ่บ้านกำชับติดแอปเฝ้าระวังติดตามบุคคลกลับจาก กทม. ด้าน ผบ.ทสส.ส่งหนังสือถึง 26 หน่วยงานรัฐ-วิสาหกิจปรับลดเวลาและวันทำงาน
เมื่อวันที่ 27 มีนาคม 2563 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพระราชทานเครื่องช่วยหายใจ และอุปกรณ์ทางการแพทย์เพื่อรับมือสถานการณ์โควิด-19 แก่โรงพยาบาลสมเด็จพระปิ่นเกล้า และโรงพยาบาลสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ กรมแพทย์ทหารเรือ ในการนี้พลเรือโทวิชัย มนัสศิริวิทยา เจ้ากรมแพทย์ทหารเรือ และพลเรือตรีสุมิตร แดงดีเลิศ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลสมเด็จพระปิ่นเกล้า เป็นตัวแทนรับมอบของพระราชทานในเบื้องต้น ได้แก่ เครื่องช่วยหายใจ Puritan Bennett รุ่น 980 จำนวน 1 เครื่อง, เครื่องช่วยหายใจ Puritan Bennett รุ่น 840 จำนวน 3 เครื่อง, เครื่องช่วยหายใจ Draeger รุ่น Carina จำนวน 2 เครื่อง, เครื่องช่วยหายใจ Maquet รุ่น SERVO-s จำนวน 1 เครื่อง และเครื่องวัดออกซิเจนปลายนิ้ว จำนวน 13 เครื่อง
ด้วยความสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเป็นล้นพ้น ที่ทรงมีต่อกรมแพทย์ทหารเรือ กองทัพเรือ ตลอดจนประชาชน บุคลากรของกรมแพทย์ทหารเรือ กราบถวายบังคมแทบเบื้องพระยุคลบาท และขอเทิดทูนไว้เหนือเกล้าเหนือกระหม่อมเป็นสรรพสิริมงคล และจะมุ่งมั่นดำเนินภารกิจดูแลผู้ป่วย ประชาชนที่ทุกข์ร้อน และจะใช้ประโยชน์สูงสุดจากเครื่องมือและอุปกรณ์ทางการแพทย์พระราชทานเพื่อพัฒนางานบริการทางการแพทย์ต่อไป
ที่กระทรวงกลาโหม (กห.) พล.ท.คงชีพ ตันตระวาณิชย์ โฆษกระทรวงกลาโหม แถลงข่าวหลังประชุมสภากลาโหม โดยมี พล.อ.ชัยชาญ ช้างมงคล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงกลาโหมเป็นประธานว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานเครื่องมือแพทย์สำหรับผู้ป่วยวิกฤติแก่ รพ.พระมงกุฎเกล้า, รพ.สมเด็จพระปิ่นเกล้า, รพ.ภูมิพลอดุลยเดช และ รพ.ตำรวจ เพื่อใช้ในการดูแลรักษาผู้ป่วยวิกฤติจากไวรัสโควิด-19 ซึ่งประกอบด้วย เครื่องช่วยหายใจชนิดควบคุมปริมาตรและความดัน 42 เครื่อง, เครื่องวัดความอิ่มตัวของออกซิเจนในเลือด 50 เครื่อง รวมทั้งหมดจำนวน 92 เครื่อง ถือเป็นพระมหากรุณาธิคุณอย่างหาที่สุดมิได้ กระทรวงกลาโหม (กห.) และสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) และทุกโรงพยาบาล จะนำไปใช้ประโยชน์อย่างสูงสุดในการดูแลช่วยเหลือชีวิตประชาชนที่ได้รับผลกระทบวิกฤติจากภัยโรคระบาดครั้งนี้
วันเดียวกัน เมื่อเวลา 09.30 น. ที่ตึกสันติไมตรี ทำเนียบรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) (ศบค.) เป็นประธานการประชุมศูนย์ฯ ซึ่งเป็นวันที่สองหลังจากการประกาศใช้ พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน โดยมี พล.อ.พรพิพัฒน์ เบญญศรี ผู้บัญชาการทหารสูงสุด (ผบ.ทสส.), ปลัดกระทรวงที่รับผิดชอบงาน 5 กลุ่ม และตัวแทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วม แต่ไม่มีระดับรองนายกรัฐมนตรี, รัฐมนตรี, ทีมโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี และฝ่ายการเมืองเข้าร่วมเหมือนวันที่ 26 มี.ค. โดยเป็นการรายงานการติดตามงานทั้งในด้านสาธารณสุข การควบคุมสินค้าและเวชภัณฑ์ การต่างประเทศ และช่วยเหลือคนไทยในต่างประเทศ การแก้ไขสถานการณ์ด้านความมั่นคง การปราบปรามอาชญากรรมทุกประเภท และภาพรวมหลังประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน มีผลบังคับใช้เข้าวันที่สอง
ยกระดับเข้มพื้นที่เสี่ยง
โดย พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า การประชุมวันนี้มีเพียงผู้รับผิดชอบกลุ่มงานที่เกี่ยวข้องเท่านั้น เพราะต้องการประชุมกับฝ่ายปฏิบัติเพื่อปรับให้รูปแบบการทำงานรวดเร็วขึ้น และนำไปสู่การปฏิบัติที่แท้จริง พร้อมสั่งการให้นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี เข้าประชุมด้วยทุกครั้ง เพราะมีประเด็นที่เกี่ยวข้องกับข้อกฎหมายและแนวทางปฏิบัติเพิ่มเติม รวมทั้งตัวแทนจากกระทรวงการคลังต้องเข้าร่วมด้วย เพราะมีเรื่องที่เกี่ยวข้องกับการใช้จ่ายงบประมาณ เพื่อจะได้รับทราบแนวปฏิบัติตามที่สั่งการให้ตรงตามวัตถุประสงค์ต่อไป
ภายหลังการประชุม นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษก ศบค.แถลงผลการประชุมว่า ในที่ประชุม พล.อ.ประยุทธ์กล่าวชื่นชมประชาชนที่ให้ความร่วมมือมาตรการป้องกันการแพร่เชื้อโควิด-19 เช่น การเว้นระยะห่างในการนั่งรถโดยสารประจำทาง และการเว้นระยะห่างในการนั่งรับประมานอาหาร เป็นต้น พร้อมกันนี้กระทรวงสาธารณสุขได้รายงานให้ที่ประชุมทราบว่า ขณะนี้เตียงรองรับผู้ติดเชื้อเพียงพอ มีการปรับปรุงโรงแรมให้เป็นหอผู้ป่วยเฉพาะกิจในพื้นที่กรุงเทพฯ จำนวน 250 เตียง ซึ่งในส่วนนี้จะใช้รองรับผู้ป่วยที่มีอาการน้อยซึ่งเป็นผู้ป่วยส่วนใหญ่ อีกทั้งในส่วนของเวชภัณฑ์มีการอนุมัติให้บริษัทเอกชนจำหน่วยชุดตรวจแบบสอดเข้าโพรงจมูกเพิ่มเติม 12 บริษัท และชุดเจาะเลือดตรวจภูมิคุ้มกันอีก 3 บริษัท อย่างไรก็ตามมีงบกลาง 1,500 ล้านบาทให้กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เป็นหน่วยงานกลางจัดซื้อจัดหาเวชภัณฑ์และอุปกรณ์ทางการแพทย์แจกจ่ายบุคลากรทางการแพทย์ทั่วประเทศ เพื่อไม่ให้เกิดความซ้ำซ้อน
นพ.ทวีศิลป์กล่าวว่า ขณะที่ปลัดกระทรวงมหาดไทยได้เสนอให้จังหวัดที่มีผู้ป่วยมากและความเสี่ยงสูง ต้องยกระดับการป้องกันให้เข้มข้นขึ้นทุกมาตรการ โดยเฉพาะกรุงเทพฯ และปริมณฑล ชลบุรี ระยอง อุบลราชธานี และที่เน้นหนักมากเป็นพิเศษ ได้แก่ สงขลา ปัตตานี ยะลา นราธิวาส รวมถึงภูเก็ต ซึ่งมาตรการต่างๆ แล้วแต่ทางจังหวัดจะไปปรับใช้ให้สอดคล้องกับมาตรการของกระทรวงสาธารณสุข ซึ่งที่ประชุมไม่ได้มีการพูดถึงการเคอร์ฟิว ด้านกระทรวงการต่างประเทศเตรียมประชุมในวันที่ 30 มี.ค.เพื่อจัดเครื่องบินเช่าเหมาลำนำคนไทยกลับจากประเทศอิตาลี จากนั้นจะประสานกับกระทรวงสาธารณสุข เพื่อหามาตรการดูแลเนื่องจากเป็นประเทศกลุ่มเสี่ยง ขณะที่ ผบ.ทสส.ระบุว่ามาตรการตั้งด่านต่างๆ นั้น ได้รับความร่วมมือจากประชาชนเป็นอย่างดี แต่ก็จำเป็นต้องตั้งจุดตรวจเพื่อให้ประชาชนอยู่กับบ้านมากขึ้น โดยจะมีการเพิ่มจุดตรวจเป็นทั้งหมด 377 จุด ซึ่งประชาชนจะต้องคุ้นชินกับสถานการณ์ในภาวะฉุกเฉินเช่นนี้ เพื่อทำให้ข้าศึกที่มองไม่เห็นลดลงด้วยการอยู่ในเคหสถาน
"ไม่มีการพูดเรื่องเคอร์ฟิว แต่นายกรัฐมนตรีให้อำนาจผ่านกระทรวงมหาดไทย สั่งการให้ผู้ว่าฯ พิจารณามาตรการต่างๆ ตามความเหมาะสม เช่นการประกาศปิดชายหาดหรือสถานที่อื่นๆ หรือกรณียังมีการรวมกลุ่มของประชาชนต่างจังหวัดในแต่ละวัน" นพ.ทวีศิลป์กล่าว
ในช่วงเย็น พล.อ.ประยุทธ์ลงนามในคำสั่งนายกรัฐมนตรี ที่ 6/2563 เรื่องการจัดโครงสร้างของ ศบค. โดยมีการจัดโครงสร้างภายใน ดังนี้ 1.สำนักงานเลขาธิการ มีรองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ที่นายกฯ มอบหมายเป็นหัวหน้าสำนักงาน 2.สำนักงานประสานงานกลาง ให้เลขาฯ สภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) เป็นหัวหน้าสำนักงาน 3.ศูนย์ปฏิบัติการฉุกเฉินด้านการแพทย์และสาธารณสุข ให้ปลัดกระทรวงสาธารณสุขเป็นหัวหน้าศูนย์ 4.ศูนย์ปฏิบัติการด้านมาตรการป้องกันและช่วยเหลือประชาชน ให้ปลัดกระทรวงมหาดไทยเป็นหัวหน้าศูนย์ 5.ศูนย์ปฏิบัติการกระจายหน้ากากและเวชภัณฑ์สำหรับประชาชน ให้ปลัดกระทรวงมหาดไทยเป็นหัวหน้าศูนย์
6.ศูนย์ปฏิบัติการควบคุมสินค้า ให้ปลัดกระทรวงพาณิชย์เป็นหัวหน้าศูนย์ 7.ศูนย์ปฏิบัติการมาตรการเดินทางเข้าออกประเทศ และดูแลคนไทยในต่างประเทศ ให้ปลัดกระทรวงการต่างประเทศ เป็นหัวหน้าศูนย์ 8.ศูนย์ปฏิบัติการด้านการสื่อสารโทรคมนาคม และสื่อสังคมออนไลน์ ให้ปลัดกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมเป็นหัวหน้าศูนย์ 9.ศูนย์ปฏิบัติการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินด้านความมั่นคง ให้ผู้บัญชาการทหารสูงสุดเป็นหัวหน้าศูนย์ และ 10.ศูนย์ปฏิบัติการด้านข้อมูล มาตรการแก้ไขปัญหาจากการติดเชื้อโควิด-19 ให้ปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีเป็นหัวหน้าศูนย์ โดยทั้ง 10 ศูนย์ต้องรายงานให้นายกฯ ในฐานะ ผอ.ศูนย์ได้รับทราบ และนายกฯ ในฐานะ ผอ.ศูนย์สามารถปรับปรุงโครงสร้างได้ นอกจากนี้ ผอ.ศูนย์ยังสามารถแต่งตั้งบุคคลเป็นคณะที่ปรึกษาด้านการแพทย์ ด้านกฎหมาย ด้านธุรกิจ และด้านอื่นๆ อีกตามสมควร
ขณะที่การประชุม ศบค.ที่ก่อนหน้านี้นายกฯ ให้มีการประชุมทุกวันในช่วงนี้เพื่อประเมินสถานการณ์และติดตามงานนั้น สำหรับวันเสาร์และอาทิตย์นี้จะไม่มีการประชุม แต่จะมีการแถลงข่าวเวลา 11.00 น.
กทม.ปิดพื้นที่เสี่ยงเพิ่มเติม
ด้าน ร.ต.อ.พงศกร ขวัญเมือง โฆษกกรุงเทพฯ แถลงว่า คณะกรรมการโรคติดต่อ กทม.พิจารณาให้มีการปิดสถานที่เพิ่มเติมและอนุโลมให้เปิดสถานที่เพิ่มเติม โดยสถานที่ปิดเพิ่มเติม คือ 1.สนามแข่งขันทั้งคนและสัตว์ เช่น สนามแข่งขันนกพิราบและนกเขา 2.สนามเด็กเล่นทั้งสวนสาธารณะและในหมู่บ้าน 3.สถานที่แสดงมหรสพ และสถานที่มีการละเล่นสาธารณะ เช่น ลานแสดงดนตรีในพื้นที่สาธารณะ 4.พิพิธภัณฑ์ และ 5.ห้องสมุด ซึ่งจะมีผลตั้งแต่วันที่ 28 มี.ค.-30 เม.ย.63 นอกจากนี้ยังให้มีสถานที่ปิดเพิ่มอีก คือ ห้องประชุมหรือห้องจัดเลี้ยงในโรงแรม หรือสถานที่รับจัดเลี้ยง เช่น บ้านทรงไทย ซึ่งการแต่งงานที่จะมีขึ้นในวันที่ 28 มี.ค.นี้จะได้รับผลกระทบ แต่ขอให้เข้าใจ กทม.เพราะหากมีการแพร่ระบาดจากงานแต่งงาน พลาดแล้วเรียกคืนไม่ได้ รวมถึงให้ปิดร้านสนุกเกอร์ คลินิกเสริมความงาม สถานเสริมความงามที่ประกอบเวชกรรม ซึ่งจะมีผลตั้งแต่วันที่ 28 มี.ค.เป็นต้นไป และปิดสถานที่รับเลี้ยงเด็กของรัฐและเอกชน จะมีผลในวันที่ 31 มี.ค.นี้
ส่วนพื้นที่อนุโลมเปิดได้ คือ 1.พื้นที่จัดให้รับประทานอาหารในโรงพยาบาล แต่ต้องมีมาตรการเว้นระยะห่างทางสังคม 2.ตลาด หรือตลาดนัด อนุญาตให้ร้านดอกไม้ขายได้ 3.พื้นที่หน่วยงานของรัฐและรัฐวิสาหกิจในห้างสรรพสินค้า เช่น ไปรษณีย์ในห้าง และสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง (ตม.)
นายฉัตรชัย พรหมเลิศ ปลัดกระทรวงมหาดไทย ส่งหนังสือด่วนที่สุดถึงผู้ว่าราชการจังหวัดทุกจังหวัด ความว่าได้รับการประสานจาก ศบค.ว่าสืบเนื่องจากการปิดห้างสรรพสินค้าทั่วประเทศ ทำให้ศูนย์บริการโทรศัพท์มือถือที่ตั้งอยู่ในห้างทั่วไปต้องปิดไปด้วย จึงมีประชาชนร้องเรียนว่าได้รับความเดือดร้อน ไม่สามารถไปใช้บริการเมื่อโทรศัพท์มือถือมีปัญหาได้ โดยเฉพาะกรณีซิมการ์ดโทรศัพท์เสีย (ซิมดับ) หรืออุปกรณ์มือถือชำรุด กระทรวงมหาดไทยพิจารณาแล้วเห็นว่าเพื่อเป็นการบรรเทาปัญหาผลกระทบต่อประชาชน จึงขอให้จังหวัดพิจารณาการผ่อนผันให้ศูนย์บริการโทรศัพท์มือถือ หรือระบบสื่อสารในห้างสรรพสินค้าสามารถเปิดให้บริการประชาชนได้
นอกจากนี้ ปลัดกระทรวงมหาดไทยส่งหนังสือด่วนที่สุดถึงผู้ว่าราชการจังหวัดทุกจังหวัด เรื่องการใช้แอปพลิเคชันเพื่อเฝ้าระวังติดตามบุคคลที่เดินทางออกจากกรุงเทพฯ และปริมณฑลกลับภูมิลำเนา ให้จังหวัดดำเนินการเพิ่มเติม ดังนี้ 1.ให้อำเภอสั่งการกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน หรือประธานชุมชนสำหรับชุมชนในเขตเทศบาล ขอความร่วมมือให้ผู้ที่เดินทางกลับติดตั้งแอปพลิเคชัน AOT Airports 2.หากพบว่าเมื่อแอปพลิเคชันแจ้งเตือนการขาดหาย หรือออกนอกพื้นที่ ให้ผู้ว่าราชการจังหวัดดำเนินการตามแนวทางปฏิบัติตามที่ได้สั่งการไว้ก่อนหน้านี้
แจ้ง 26 หน่วยงานปรับลดเวลาทำงาน
พล.อ.พรพิพัฒน์ เบญญศรี ผบ.ทสส. ในฐานะหัวหน้าศูนย์ปฏิบัติการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินด้านความมั่นคง (ศปม.) ลงนามหนังสือวันที่ 26 มี.ค.63 แจ้งไปยัง 26 หน่วยงาน เพื่อปรับลดเวลาและวันทำงานของข้าราชการ พนักงานรัฐวิสาหกิจ องค์กรหรือองค์การมหาชน หรือหน่วยงานอิสระ ตั้งแต่ 27 มี.ค.เป็นต้นไป ตามประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน เพื่อแก้ไขสถานการณ์การแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 ตามมาตรการที่ สธ.กำหนดและการเว้นระยะห่างทางสังคม ดังนี้ ผู้อำนวยการสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ, นายกราชบัณฑิตยสภา, เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน, อัยการสูงสุด, ผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน, เลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร, ประธานวุฒิสภา, ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย, เลขาธิการคณะกรรมการการเลือกตั้ง, ประธานกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์, ประธานผู้ตรวจการแผ่นดิน, ประธานกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ, เลขาธิการศาลรัฐธรรมนูญ, เลขาธิการสำนักงานศาลยุติธรรม, ประธานศาลฎีกา, ประธานศาลอุทธรณ์, อธิบดีผู้พิพากษาศาลแพ่ง, อธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญา, ประธานศาลปกครอง, เลขาธิการสถาบันพระปกเกล้า, ประธานสภาพัฒนาการเมือง, เลขาธิการคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน, เลขาธิการคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย, เลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ, ผู้อำนวยการสถาบันคุ้มครองเงินฝาก และนายกพัทยา
ที่รัฐสภา นายชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฏร กล่าวถึงกรณีที่นายสิระ เจนจาคะ ส.ส.กทม. พรรคพลังประชารัฐ เรียกร้องให้ปิดอาคารรัฐสภา โดยอ้างถึงความกังวลของข้าราชการกลัวติดไวรัสโควิด-19 ว่า อาคารรัฐสภาไม่สามารถปิดได้เพราะเป็นสถานที่ราชการรวมถึงหน่วยงานราชการต่างๆก็ไม่สามารถปิดได้เช่นกัน เพียงแต่ขอความร่วมมือ เช่น ไม่เดินทาง ไม่อยู่ในที่แออัดเกินไป ส่วนข้าราชการบางส่วนที่ไปทำงานตามอาคารเช่าต่างๆ เท่าที่ไปตรวจเยี่ยมมามีสภาแออัด ซึ่งก็ได้มีการปรับให้ส่วนหนึ่งกลับไปทำงานที่บ้าน เพื่อให้เกิดความไม่หนาแน่นเกินไป ซึ่งตนก็เห็นด้วย ส่วนใหญ่การทำงานของคณะกรรมาธิการไม่มีการประชุมแล้ว แต่ก็เหลือเพียงคณะกมธ.ป.ป.ช. ก็ต้องให้เกียรติเขาในการพิจารณาว่าจะประชุมต่อไปหรือไม่ เพราะเชื่อว่าทุกคนมีวุฒิภาวะแล้ว ส่วนจะสั่งให้ปิดเลยเป็นไปไม่ได้ ต้องทำงานตามปกติ
นพ.สุขุม กาญจนพิมาย ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวภายหลังรับมอบแอลกอฮอล์คุณภาพจาก ปตท.จำนวน 30,000 ลิตร เพื่อมอบให้องค์การเภสัชกรรม (อภ.) ไปผลิตยาว่า พล.อ.ประยุทธ์ได้อนุมัติงบกลาง 1,500 ล้านบาท ให้กระทรวงสาธารณสุขไปบริหารจัดการซื้ออุปกรณ์ยาและเวชภัณฑ์ ในการควบคุมและแก้ไขสถานการณ์โควิด-19 ซึ่งกระทรวงจะได้โอนงบประมาณให้องค์การเภสัชกรรมไปสั่งซื้ออุปกรณ์เหล่านี้จากทั้งจีนและญี่ปุ่นในแบบรัฐต่อรัฐ ซึ่งคาดว่าจะสามารถจัดซื้อยาฟาวิพิราเวียร์ได้ประมาณ 340,000 เม็ด เพียงพอใช้กับประชาชน 6,000 คน โดยจะใช้ในผู้ป่วยรายที่มีอาการหนัก ปอดอักเสบติดเชื้อรุนแรง ส่วนในรายที่มีอาการไม่รุนแรงก็รักษาตามอาการ ขณะเดียวกันจะมีการจัดซื้อหน้ากากอนามัยแบบ N95 และชุด PPE เพิ่มเติมเพื่อใช้สำหรับป้องกัน รวมอย่างละ 2 ล้านชิ้นเพื่อให้เพียงพอ.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |