HAPPINET CLUB เครือข่ายสำนักสุขภาวะเด็ก เยาวชนและครอบครัว (สำนัก 4) สสส.เผยแพร่ผลงานวิจัยความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์ในวารสาร PLOS คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยบริติชโคลัมเบีย ฟันธงเด็กปฐมวัยเรียนรู้ผ่านการเล่น ทำให้เรียนดี ครูมีความสุขในการสอน ลดอัตราการกลั่นแกล้งในกลุ่มเด็ก รวมถึงการรวมกลุ่มเพื่อกีดกันเพื่อนคนอื่นออกจากกลุ่ม สอดคล้องกับงานวิจัยของ ศ.ดร.พิริยะ ผลพิรุฬห์ คณะพัฒนาการเศรษฐกิจ NIDA ทักษะการควบคุมตนเอง การตั้งข้อสงสัยและการอยากรู้อยากเห็น รวมถึงการสร้างความอุตสาหะและมุมานะ เป็นทักษะที่มีความจำเป็นต่อการเรียนรู้และการประกอบอาชีพของเด็กในอนาคต
HAPPINET CLUB วารสารรายเดือนเพื่อการทำงานร่วมกันในเครือข่ายสำนักสุขภาวะเด็ก เยาวชนและครอบครัว (สำนัก 4) สสส. (ณัฐยา บุญภักดี ผอ.สำนัก 4 สสส.) นำเสนอผลวิจัยซึ่งตีพิมพ์เผยแพร่ในวารสาร PLOS วารสารที่รวบรวมผลงานความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์เพื่อช่วยเหลือสังคม พบว่าการออกแบบหลักสูตรในชั้นเรียนเด็กปฐมวัย ที่เน้นการเรียนรู้ผ่านการเล่น ส่งผลต่อสมรรถภาพในการเรียนของเด็ก และยังช่วยลดภาระของครูผู้สอนลงได้จริง ทำให้ครูมีความสุขในการสอนมากขึ้น อีกทั้งยังลดอัตราการกลั่นแกล้งกันในกลุ่มเด็ก รวมถึงการรวมกลุ่มเพื่อกีดกันเพื่อนคนอื่นออกจากกลุ่มได้ด้วย
ดร.อเดล ไดมอนด์ หัวหน้าทีมวิจัยซึ่งเป็นอาจารย์ในภาควิชาประสาทวิทยาศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยบริติชโคลัมเบีย กล่าวถึงความจำเป็นของการเรียนรู้ผ่านการเล่นและเสริมด้วยว่า “ในความเป็นจริงนั้น คนทุกเพศทุกวัยล้วนแต่เรียนรู้ได้ดีกว่าด้วยการลงมือทำมากกว่าการนั่งฟังเฉยๆ” ทั้งนี้ ก่อนจะให้เด็กมีความสามารถในการนั่งฟังเฉยๆ เพื่อรับข้อมูลจากครู ซึ่งเป็นวิธีการสอนแบบที่ใช้กันมาโดยตลอดในโรงเรียนได้นั้น เด็กจำเป็นต้องผ่านขั้นตอนการเรียนรู้ด้วยการลงมือทำแบบที่เรียกว่า “Active Learning” ให้ได้ก่อน
ไดมอนด์และทีมใช้วิธีการวิเคราะห์ผ่านการสุ่มเลือกโรงเรียนที่ใช้หลักสูตรที่เรียกว่า Tools of the Mind (Tools) ซึ่งหลักสูตรนี้มีการนำไปใช้โดยความสมัครใจในครูที่สอนชั้นอนุบาลให้กับเด็กจำนวน 351 คน ซึ่งมีพื้นฐานครอบครัวและเศรษฐกิจที่แตกต่างกันใน รร.รัฐบาล จำนวน 18 แห่งทั่วเมืองแวนคูเวอร์ และเซอร์เรย์ ประเทศแคนาดา หลักสูตรที่เรียกว่า Tools นี้ถูกพัฒนาขึ้นมาเมื่อปี ค.ศ.1993 โดย ดร.เอลีนา โบโดรวา และเดบอราห์ ลีอง นักวิจัยชาวอเมริกันผู้ร่วมกันสร้างหลักการพื้นฐานที่จำเป็นต่อพัฒนาการด้านอารมณ์สังคมและการควบคุมตนเอง โดยหลักสูตรดังกล่าวเน้นบทบาทของการเล่นสมมติว่าเป็นส่วนสำคัญที่สร้างให้เด็กเกิดทักษะ EF
ผลจากงานวิจัยของไดมอนด์และทีมแสดงให้เห็นว่า หลักสูตร Tools สามารถช่วยให้เด็กมีทักษะด้านการเรียนเพิ่มขึ้นอีกด้วย นอกเหนือจากการอ่านและการคำนวณ นอกจากนั้นครูผู้สอนได้รายงานผลถึงการใช้หลักสูตรนี้ในห้องเรียน ว่าช่วยได้มากในเรื่องพฤติกรรมและการปลูกจิตสำนึกในด้านการช่วยเหลือชุมชน สะท้อนให้เห็นว่าเด็กสามารถเชื่อมโยงสิ่งที่เรียนรู้เข้ากับโลกแห่งความเป็นจริงได้ และทำให้ครูไม่รู้สึกว่าการสอนเป็นภาระหนัก
ข้อมูลจาก University of British Columbia “Emphasizing social play in kindergarten improves academics, reduces teacher burnout” Sciencedaily, Science Daily, 17 September 2019 ยังนำเสนอด้วยว่า “ฉันสนุกมากที่ได้เห็นความก้าวหน้าของนักเรียนในเรื่องการอ่านและการเขียน ซึ่งก่อนหน้านี้ฉันไม่เคยได้เจอจำนวนนักเรียนระดับอนุบาลที่สามารถเขียนหนังสือได้เป็นประโยคถึงสองสามประโยคจำนวนมากเท่านี้มาก่อน” ซูซาน โคชาน ครูที่นำหลักสูตร Tools ไปใช้ในการสอนที่เมืองแวนคูเวอร์กล่าว พร้อมกับเสริมว่า นักเรียนตื่นเต้นกับการมาเรียนที่โรงเรียน เด็กๆ ชอบกิจกรรมทุกอย่างที่เราให้ทำ จนไม่มีเด็กคนไหนอยากขาดเรียนเลยแม้ในวันที่เด็กไม่สบายก็ตาม”
การพัฒนา EF ผ่านการเล่นและการเรียนรู้ การเล่านิทาน นิทานช่วยปูรากฐานของภาษาและทักษะต่างๆ ปลูกฝังคุณธรรม จริยธรรม ทัศนคติในการมองโลก นิทานควรเป็นเรื่องใกล้ตัวเด็ก ขณะเดียวกันพ่อแม่ควรตั้งคำถามปลายเปิดเพื่อให้เด็กได้ตอบตามความคิดและจินตนาการ การเล่นกับลูก การเลือกของเล่นหรือเกมควรเลือกที่ต้องใช้สมาธิและความจำเพื่อฝึกให้เด็กคิด ฝึกจินตนาการ ตัวต่อเลโก้ หมากฮอส หมากรุก ควรเลี่ยงของเล่นสำเร็จรูป เพราะเด็กไม่ได้ฝึกการคิดเมื่อเจอปัญหายอมแพ้ต่ออุปสรรคโดยง่าย
การพาเด็กไปเรียนรู้นอกสถานที่ เพราะการที่เด็กอยู่ในสภาพแวดล้อมแบบเดิมๆ ก็จะคิดแบบเดิมๆ เมื่อไหร่ที่สภาพแวดล้อมเปลี่ยนจากเดิมจะกระตุ้นให้เด็กต้องคิดด้วยสมองส่วนหน้ามากยิ่งขึ้น ขณะเดียวกันต้องมีกิจกรรมเสริมทักษะ การฝึกดนตรี กีฬา ศิลปะต่างๆ เป็นกิจกรรมที่ฝึกการคิดเชิงบริหารที่ดี เพราะต้องใช้สมาธิ ทำอย่างเป็นลำดับขั้นตอน และต้องมีวินัยในการฝึกซ้อมจึงจะทำงานได้สำเร็จ
ขณะเดียวกันมีงานวิจัยของ ศ.ดร.พิริยะ ผลพิรุฬห์ คณะพัฒนาการเศรษฐกิจ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ เกี่ยวกับเศรษฐศาสตร์การศึกษาชั้นอนุบาลต่อผลได้ในระยะยาว การศึกษาในระดับชั้นอนุบาลจึงไม่ใช่เป็นเพียงเพื่อสร้างทักษะพื้นฐานทางปัญญา การอ่านและการเขียนเท่านั้น แต่ยังรวมไปถึงทักษะการควบคุมตนเอง ทักษะการตั้งข้อสงสัยและการอยากรู้อยากเห็น รวมถึงการสร้างความอุตสาหะและมุมานะ ซึ่งต่างก็เป็นทักษะที่มีความจำเป็นต่อการเรียนรู้และการประกอบอาชีพของเด็กคนนั้นในอนาคต
อย่างไรก็ดี งานศึกษาอีกจำนวนหนึ่งกลับพบว่า ถึงแม้ว่าการเรียนในระดับชั้นปฐมวัยจะสร้างผลได้ทางการศึกษาต่อเด็กคนนั้นๆ ในอนาคตก็ตาม แต่การเข้าเรียนในระดับชั้นอนุบาลเองก็อาจส่งผลทางลบต่อตัวเด็กเองก็เป็นได้ ไม่ว่าจะเป็น เช่น ลดความสามารถในการควบคุมตัวเอง นอกจากนี้ยังพบว่าทักษะที่ได้รับจากการเรียนในระดับปฐมวัยอาจจะไม่ได้อยู่ติดตัวนานอย่างที่เข้าใจ
มีงานศึกษาที่พยายามประมาณการหาผลได้ที่เกิดจากโครงการเรียนการสอนชั้นอนุบาล/ปฐมวัยในลักษณะโครงการพิเศษต่างๆ โดยเฉพาะโครงการที่มีลักษณะของการกำหนดกลุ่มเป้าหมายเฉพาะ เพื่อเน้นสร้างโอกาสทางการศึกษาสำหรับเด็กที่มาจากครอบครัวที่มีฐานะยากจนหรือด้อยโอกาส โดยโครงการแรกเริ่มที่เป็นที่รู้จักและถูกนำมาวิเคราะห์ในลักษณะการประเมินเปรียบเทียบต้นทุนและผลตอบแทนมากที่สุดมี 3 โครงการในประเทศสหรัฐอเมริกา ได้แก่
โครงการ Perry Preschool Project เน้นเด็กแอฟริกัน อเมริกันที่ด้อยโอกาสได้มีโอกาสเข้าเรียนใน รร.Perry Preschool โดย รร.ได้จัดการเรียนการสอนช่วงเช้าสองชั่วโมงครึ่งจากครูที่มีคุณภาพที่จบการศึกษาอย่างน้อยในระดับปริญญาตรี หลักสูตรการเรียนการสอนเน้นเรื่องกิจกรรมการเรียนที่ช่วยในการแก้ปัญหาและการตัดสินใจ การวางแผน การมีส่วนร่วมของผู้ปกครอง
โครงการ Carolina Abecedarian Project เป็นโครงการช่วยพัฒนาทักษะทางด้านภาษาของเด็กตั้งแต่แรกเกิดจนถึงเด็กทารก เรียน 5 วัน/สัปดาห์ 50 วันอาทิตย์/ปี เป็นการประเมินผลกระทบของการพัฒนาทักษะทางด้านภาษาตั้งแต่แรกเกิด และดูว่าเด็กเหล่านี้จะมีศักยภาพที่ดีขึ้นหรือไม่
โครงการ Chicago Child-Parent Center Program เด็กและพ่อแม่ที่ด้อยโอกาสในสังคมและอาศัยอยู่ในแถบ รร.สามารถส่งลูกเข้ามาเรียนในระดับปฐมวัยในโครงการ โดยพ่อแม่ของเด็กจะต้องอาสาสมัครเข้ามาร่วมทำกิจกรรมภายใน รร.ทุกอาทิตย์ ในปัจจุบันมี รร.ในเขตเมืองชิคาโกยังคงดำเนินกิจกรรมนี้อยู่ 11 แห่ง
โดยทั้ง 3 โครงการนี้เป็นโครงการที่ให้การศึกษาแก่เด็กที่มีฐานะยากจนและเด็กด้อยโอกาสตั้งแต่แรกเกิดจนถึง 5 ปี จุดเด่นที่ทั้งสามโครงการนี้ได้รับการกล่าวถึงมากที่สุดนั้นเกิดจากการทำการเก็บข้อมูลจากเด็กนักเรียนที่เข้าร่วมโครงการเปรียบเทียบกับเด็กนักเรียนที่ไม่ได้เข้าร่วมโครงการ และได้มีการสำรวจข้อมูลของเด็กนักเรียนเหล่านั้นอีกครั้งในลักษณะของการสำรวจซ้ำ เมื่อเด็กเหล่านั้นเจริญเติบโตเข้าสู่วัยรุ่นและหรือเข้าสู่วัยทำงานในอนาคต
ผลการศึกษาพบว่าเด็กที่ได้เข้าร่วมโครงการพิเศษเหล่านั้นเมื่อเติบโตขึ้นเป็นวัยรุ่นจะมีพัฒนาการในด้านการเรียนต่อที่ดีกว่า มีการตั้งครรภ์ก่อนวัยอันสมควรที่ต่ำกว่า มีการดำเนินกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับอาชญากรรมที่น้อยกว่า รวมไปถึงยังมีหน้าที่การงานและรายได้ที่สูงกว่าเมื่อเปรียบเทียบกับกลุ่มเด็กนักเรียนที่ไม่ได้เข้าร่วมโครงการ งานศึกษาต่างๆ สรุปได้ว่า นอกจากการศึกษาในระดับชั้นปฐมวัยจะสร้างผลได้ส่วนบุคคลแก่เด็กคนนั้นๆ เมื่อเจริญเติบโตเป็นผู้ใหญ่ในอนาคตแล้ว การจัดการศึกษาเด็กปฐมวัยที่มีคุณภาพยังช่วยรัฐประหยัดงบประมาณค่าใช้จ่ายที่จะต้องเสียไปกับการแก้ไขปัญหาอาชญากรรมหรือค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพ รวมถึงยังช่วยสร้างทรัพยากรมนุษย์ที่มีคุณภาพต่อเศรษฐกิจและสังคมในระยะยาว ผลตอบแทนดังกล่าวสามารถแสดงออกมาเป็นตัวเงินได้.
ฝึกEFสิ่งเล็กๆที่สร้างลูกพัฒนาสมองลูกน้อย
การพัฒนาสมองของเด็ก นอกเหนือจากเรื่อง IQ และ EQ การฝึกทักษะ EF-Executive Function (ทักษะการคิดเพื่อชีวิตที่สำเร็จ) เป็นสิ่งจำเป็นและสำคัญที่จะเป็นรากฐานกระบวนการคิด ตัดสินใจ และการกระทำที่มีส่วนช่วยให้ลูกน้อยในวันนี้เป็นคนที่ประสบความสำเร็จได้ในอนาคต ซึ่งทักษะ EF ไม่ได้มีติดตัวเรามา แต่เราทุกคนมีศักยภาพที่จะฝึกฝนให้เกิดทักษะ EF ได้ ซึ่งพ่อแม่สามารถช่วยฝึกฝนทักษะนี้ให้กับลูกได้ เด็กช่วงวัย 3-6 ขวบเป็นช่วงเวลาที่ดีที่สุดในการพัฒนาทักษะ EF ด้านต่างๆ ให้กับเด็ก เพราะเป็นช่วงที่สมองส่วนหน้าพัฒนามากที่สุด ขณะเดียวกันมีปัจจัยพื้นฐานที่แตกต่างกัน เด็กมีพัฒนาการล่าช้าหรือไม่ เด็กอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่มีความเสี่ยงสูงหรือไม่ เด็กไวต่อสิ่งเร้ารอบตัวมากหรือน้อย เด็กมีความเครียดสูง ความเหงา ความเศร้า หรือนอนหลับพักผ่อนไม่เพียงพอ สิ่งแวดล้อมในครอบครัวเหล่านี้อยู่ที่วิธีการเลี้ยงดูของพ่อแม่เป็นสำคัญ จะส่งผลต่อการสร้าง EF ที่ดีของเด็ก
EF คือกระบวนการทางความคิดในส่วนสมองส่วนหน้าที่เกี่ยวข้องกับความคิด ความรู้สึก การกระทำเป็นความสามารถของสมองที่ใช้บริหารจัดการชีวิตในเรื่องต่างๆ เพื่อกำกับตัวเราให้เกิดพฤติกรรมที่มุ่งสู่เป้าหมาย ทั้งยังช่วยให้เราคิดอย่างมีเหตุผล รู้จักยับยั้งชั่งใจ รู้จักตั้งเป้าหมายในชีวิต รู้จักการวางแผน มีความมุ่งมั่น มีการจดจำสิ่งต่างๆ เพื่อนำไปใช้ประโยชน์ได้ ยืดหยุ่นความคิดเป็น หรือสามารถจัดลำดับความสำคัญในชีวิต รวมทั้งรู้จักริเริ่มและลงมือทำสิ่งต่างๆ อย่างเป็นขั้นเป็นตอน ทักษะเหล่านี้เป็นสิ่งที่ทุกคนต้องใช้และมีผลต่อความสำเร็จทั้งการงาน การเรียน การใช้ชีวิต
เมื่อต้องเจอสถานการณ์ใหม่หรือไม่คุ้นเคย เมื่อมีการย้าย รร. เปลี่ยนที่ทำงาน พบครูใหม่ พบเพื่อนใหม่ เมื่อผลของงานที่ทำออกมาไม่เป็นไปตามที่คาดหวัง มีปัญหาที่ต้องแก้ไข เมื่อเราต้องระงับความคิดและการกระทำเพื่ออดทนต่อสิ่งยั่วยุต่างๆ หรือเมื่อต้องอยู่ในสถานการณ์คับขันหรือสถานการณ์ที่ต้องตัดสินใจ ทักษะ EF จะช่วยให้เราคิดและตัดสินใจอย่างถูกต้อง และเลือกทำในสิ่งที่สำคัญกับความสำเร็จของงาน
EF จะมีการเปลี่ยนแปลงตลอดช่วงชีวิต ตั้งแต่วัยเด็กเล็กและพัฒนาขึ้นจนถึงวัยรุ่น โดยทักษะด้านความจำที่นำมาใช้งานจะพัฒนาเร็วกว่าด้านอื่นตั้งแต่ช่วงปลายขวบปีแรก และจะพัฒนาดีขึ้นเรื่อยๆ เมื่อเด็กเติบโตขึ้น ส่วนทักษะการยับยั้งชั่งใจ คิดไตร่ตรองนั้น จะเริ่มในช่วงปฐมวัยและจะพัฒนาเต็มที่เมื่อเข้าสู่วัยผู้ใหญ่และเสื่อมลงเมื่อเข้าสู่วัยชรา
ข้อมูล :SOOK PUBLISHING
เด็กที่มี EF ดีมีคุณสมบัติดังนี้
1.ความจำดี 2.มีสมาธิจดจ่อกับงานที่ทำอย่างต่อเนื่องจนงานเสร็จ 3.รู้จักอดทนรอคอยที่จะทำหรือพูดในเวลาที่เหมาะสม 4.สามารถคาดการณ์ผลของการกระทำได้ 5.รู้จักขอความช่วยเหลือเมื่อจำเป็น 6.ไม่รบกวนผู้อื่น 7.มีความคิดยืดหยุ่นเปลี่ยนความคิดได้เมื่อเงื่อนไขและสถานการณ์เปลี่ยนไป 8.สามารถทำงานให้เสร็จตามกำหนดและได้ผลสำเร็จที่ดี 9.สามารถทำงานกับผู้อื่นได้อย่างมีความสุข 10.รู้จักประเมินตนเองนำจุดบกพร่องมาปรับปรุงการทำงานของตนให้ดีขึ้น 11.รู้จักยับยั้งควบคุมตนเองไม่ให้ทำในสิ่งที่ไม่ถูกต้อง ไม่เหมาะสม 12.มีปฏิสัมพันธ์ที่ดีกับคนรอบข้าง 13.เข้าอกเข้าใจและเห็นใจผู้อื่น 14.มีเป้าหมายชัดเจน
เด็กที่มีปัญหาความบกพร่อง EF
ปัญหาด้านการยับยั้ง ไม่รู้ตัวว่าพฤติกรรมของตัวเองมีผลกระทบหรือรบกวนผู้อื่น อยู่ไม่สุข กระสับกระส่าย วอกแวกง่ายขณะทำกิจกรรม หุนหันพลันแล่น ขาดความยับยั้งชั่งใจ
ปัญหาด้านการเปลี่ยนความคิดยืดหยุ่น มีปัญหาในการปรับตัวเข้ากับสิ่งใหม่ๆ อารมณ์เสียเมื่อมีการเปลี่ยนแผนหรือเปลี่ยนกิจวัตรประจำวัน ใช้เวลานานกว่าจะรู้สึกวางใจในสถานที่ใหม่หรือสิ่งแวดล้อมใหม่
ปัญหาด้านการควบคุมอารมณ์ ระเบิดอารมณ์โกรธอย่างรุนแรง โกรธฉุนเฉียวด้วยเหตุผลเพียงเล็กน้อย เมื่อผิดหวังจะเสียใจเป็นเวลานานกว่าเด็กคนอื่น
ปัญหาด้านความจำในขณะทำงาน เมื่อสั่งให้ทำงาน 2 อย่างเด็กสามารถจำได้เพียงคำสั่งแรกหรือคำสั่งสุดท้ายเท่านั้น ทำผิดเรื่องเดิมซ้ำๆ แม้เคยสอนหรือช่วยเหลือไปแล้ว ลืมว่ากำลังทำอะไรขณะที่ทำกิจกรรมนั้นอยู่
ปัญหาด้านการวางแผนจัดการ ต้องบอกให้เริ่มลงมือทำงาน แม้ว่าเด็กจะเต็มใจทำ ไม่สามารถหาเสื้อผ้า รองเท้า ของเล่นหรือหนังสือเจอ แม้ว่าจะชี้แนะอย่างเฉพาะเจาะจงแล้ว ทิ้งของเกลื่อนกลาด แม้ว่าจะได้รับการสอนหรือแนะนำแล้วก็ตาม ไม่สามารถทำงานให้เสร็จได้ แม้ว่าจะได้รับการแนะแนวทางแล้วก็ตาม
หนังสือ Lifelong Kindergarten อนุบาลตลอดชีวิต
“เป็นเพราะผู้ที่กล้าเสี่ยง ผู้ลงมือทำ ผู้สร้างสรรพสิ่ง บ้างก็เป็นที่กล่าวขานถึง แต่บ่อยครั้งมักเป็นบุรุษและสตรีผู้ปิดทองหลังพระ บุคคลเหล่านี้ต่างหากที่อุ้มชูพวกเราผ่านหนทางยาวไกลและเต็มไปด้วยขวากหนามจนได้มาซึ่งความมั่งคั่งและอิสรภาพ เราจะนำวิทยาศาสตร์กลับไปสถิต ณ จุดที่ควรอยู่อย่างสมเกียรติ” สุนทรพจน์ของบารัค โอบามา ประธานาธิบดีคนที่ 44 ของสหรัฐอเมริกา เมื่อเดือน ม.ค.2552 ภายในห้องบรรยายขนาดใหญ่ ณ วิทยาเขตของ MIT กลุ่มผู้ชมเป็นนักวิทยาศาสตร์และวิศวกรของ MIT เป็นข้อความหนึ่งในหนังสือ Lifelong Kindergarten อนุบาลตลอดชีวิต
ผู้ที่กล้าเสี่ยง ผู้ลงมือทำ ผู้สร้างสรรพสิ่ง คือนักเรียนพันธุ์เอ็กซ์ หรือเหล่านักคิดเชิงสร้างสรรค์ พวกเขาเป็นกำลังสำคัญที่ขับเคลื่อนจนเกิดความเปลี่ยนแปลงทั้งทางด้านเศรษฐกิจ เทคโนโลยี การเมือง และวัฒนธรรม ประวัติศาสตร์ แม้กระทั่งยุคปัจจุบัน ทุกคนก็ยังต้องเป็นผู้ที่กล้าเสี่ยง ผู้ลงมือทำ ผู้สร้างสรรพสิ่ง มิใช่ด้วยหวังจะเป็นผู้พลิกโฉมหน้าประวัติศาสตร์ แต่พลิกโฉมชีวิตของพวกเขาเอง...
งานเมกเกอร์แฟร์ เทศกาลแห่งสิ่งประดิษฐ์ ความคิดสร้างสรรค์ และความช่างคิดที่เป็นมิตรกับทุกวัยในครอบครัว จุดประกายให้เกิดปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งใหม่ในงานจัดแสดงข้าวของต่างๆ และ workshop สอนทำเครื่องประดับ ต่อเฟอร์นิเจอร์ สร้างหุ่นยนต์ สร้างเกือบทุกอย่างที่จินตนาการได้ ตลอดระยะเวลา 10 ปี งานเมกเกอร์แฟร์จัดขึ้นทั่วโลก ดึงดูดผู้เข้าชมนับล้านเข้ามาชม ทั้งวิศวกร ศิลปิน นักออกแบบ ผู้ประกอบการ ครูอาจารย์ พ่อแม่ และเยาวชน
เทคโนโลยีที่ล้ำสมัย เครื่องพิมพ์สามมิติหรือเครื่องตัดด้วยเลเซอร์ ช่วยให้เราออกแบบ ผลิต ดัดแปลงวัตถุสิ่งของต่างๆ ได้ตามต้องการ คนจำนวนมากนำเสนอแนวคิดใหม่ๆ ให้เป็นส่วนหนึ่งของประสบการณ์การเรียนรู้เชิงสร้างสรรค์ สร้างโอกาสในการพัฒนาตนเองในฐานะนักคิดเชิงสร้างสรรค์ ทั้งหมดนี้ตีพิมพ์ในหนังสือ Lifelong Kindergarten อนุบาลตลอดชีวิต ปฏิวัติการเรียนรู้เชิงสร้างสรรค์ทุกช่วงวัย ให้มีจิตวิญญาณอนุบาล โดย MIT Media Lab เขียนโดย Mitchel Resnick แปลโดย วิชยา ปิดชามุก
เซอร์เคน โรบินสัน เขียนคำนำ ความคิดสร้างสรรค์ของมนุษย์เคลื่อนที่เกาะเกี่ยวไปกับเทคโนโลยี ตลอดระยะเวลาในประวัติศาสตร์ เครื้องมือวิวัฒนาการเรื่อยมายังเป็นมีดหินเหล็กไฟ เครื่องชนอนุภาคแฮดรอนขนาดใหญ่และอุปกรณ์ที่ล้ำไปกว่านั้น เครื่องจักรกลหรือกลไกดิจิทัล เรียบง่ายหรือซับซ้อน ล้วนเอื้อให้มนุษย์เกิดความคิดสร้างสรรค์
เราใช้คันไถช่วยในการเพาะปลูก ใช้กล้องโทรทรรศน์ช่วยให้มองเห็น ใช้เครื่องยนต์ช่วยให้เดินทางได้ ล้วนแล้วแต่เป็นสิ่งที่เกินขีดความสามารถของร่างกายที่ไร้เครื่องทุ่นแรงอย่างมหาศาล เครื่องช่วยขยายขอบเขตความคิด เทคโนโลยีส่งเสริมให้เกิดความคิดที่ไม่มีใครคิดขึ้นมาได้หากปราศจากมัน.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |