สธ.พบไทยป่วยโควิด-19 เพิ่ม 111 ราย พุ่ง 1,045 ราย "ผอ.รพ.สมุทรปราการ" ติดเชื้อ กักตัวหมอ-คนใกล้ชิดอีก 20 คน "สาธิต" เปิดตัว 3 แอปให้ประชาชนติดตามข้อมูล "อนุทิน" แจงดรามาปัดต่อว่าหมอ แต่ตำหนิพวกไปเที่ยวแล้วติดเชื้อ ราชทัณฑ์เผยนักโทษเรือนจำราชบุรีป่วยโคโรนารายที่ 2
ที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เมื่อวันที่ 26 มีนาคม เวลา 12.30 น. นพ.อนุพงศ์ สุจริยากุล ผู้ทรงคุณวุฒิกรมควบคุมโรค แถลงสถานการณ์การแพร่ระบาดเชื้อโควิด-19 ว่า ประเทศไทยมีผู้ติดเชื้อเพิ่ม 111 ราย รวมผู้ติดเชื้อสะสม 1,045 ราย ยังรักษาอยู่ 953 ราย ในส่วนอาการหนัก 4 ราย ยังต้องให้เครื่องช่วยหายใจ รักษาหายแล้ว 88 ราย เสียชีวิต 4 ราย โดยผู้ติดเชื้อที่พบในวันนี้แบ่งออกเป็น 3 กลุ่ม
กลุ่มที่ 1 ผู้ที่มีประวัติสัมผัสกับผู้ป่วยหรือเกี่ยวข้องกับสถานที่พบผู้ป่วยก่อนหน้านี้ มาจากสนามมวย 6 ราย สถานบันเทิง 3 ราย สัมผัสกับผู้ป่วยที่มีรายงานมาก่อนหน้านี้ 19 ราย และเดินทางประกอบศาสนกิจในประเทศมาเลเซีย 1 ราย ซึ่งอยู่ในพื้นที่ปัตตานี
กลุ่มที่ 2 รายใหม่ จำนวน 19 ราย เดินทางจากต่างประเทศ คนไทย 5 ราย ต่างชาติ 1 ราย เป็นชาวสหรัฐอเมริกา อาศัยหรือทำงานอยู่ในสถานที่แออัด 9 ราย สถานบันเทิง ขับรถสาธารณะ พนักงานร้านนวด บุคลากรทางการแพทย์ 3 ราย (บุคลากรทางการแพทย์ติดเชื้อสะสมรวม 9 ราย) และผู้ป่วยที่เป็นปอดอักเสบไม่ทราบสาเหตุ 1 ราย และกลุ่มที่ 3 ผู้ที่แพทย์พบเชื้อซึ่งต้องรอสอบประวัติแต่ต้องรอสอบสวนโรคจำนวน 63 ราย
"จุดเปลี่ยนของเราคือ หลังวันที่ 15 มี.ค.จากจำนวนผู้ติดเชื้อหลักสิบเพิ่มเป็นหลักร้อย จากเหตุสถานบันเทิง สนามมวย และการเข้าร่วมกิจกรรมทางศาสนาของคนไทย 132 คนในประเทศมาเลเซีย ทั้ง 3 กรณีทำให้ตัวเลขผู้ติดเชื้อที่เพิ่มขึ้นในแต่ละวันคงตัวอยู่ที่หลักร้อย หากมาตรการของเราไม่แรงพอ ยังปล่อยให้มีการติดเชื้อเพิ่มขึ้นวันละหลักร้อย ประมาณการว่า ณ วันที่ 30 เม.ย.นี้ เราจะมีผู้ป่วยติดเชื้อ 3,500 คน ดังนั้นพระราชกำหนดการบริหารในสถานการณ์ฉุกเฉินที่ประกาศออกมาเพื่อช่วยหน่วงสถานการณ์ ปิดสถานที่หลายๆ แห่งเพื่อให้คนอยู่กับบ้าน มีระยะห่างทางสังคม ไม่ไปร่วมในที่ชุมนุมกัน ถ้าทำตรงนี้ได้อย่างเข้มแข็งจริงจัง ก็คาดหวังว่าจำนวนผู้ป่วยรายใหม่จะลดลงมาเหลือหลักสิบ และหวังว่าผู้ป่วยในไทยคงไปไม่ถึง 3,500 คน" นพ.อนุพงศ์ระบุ
นพ.อนุพงศ์กล่าวว่า กรณีสนามมวยทำให้พบผู้ติดเชื้อใน กทม.และต่างจังหวัด 160 ราย มีทั้งวัยรุ่น กลางคน สูงอายุ และมีกลุ่มผู้สัมผัสใกล้ชิดที่บ้านอีก 17 ราย รวมถึงเด็กและผู้สูงอายุ จึงชี้ให้เห็นว่าการไปเที่ยวสถานบันเทิง สนามมวย เป็นการเอาโรคไปติดเด็กและคนสูงอายุที่บ้าน ซึ่งการติดเชื้อกระจายไปทุกภาค โดยอัตราการติดต่อใน กทม.ค่อนข้างสูง 1 ต่อ 3.4 ขณะนี้สงครามยังไม่จบ ขอเรียกร้องให้คนที่เข้าไปในสนามมวย สถานบันเทิง เข้าตรวจคัดกรองโรคเพื่อความสบายใจว่าไม่ได้ป่วยโควิด สำหรับบุคลากรทางการแพทย์ที่ติดเชื้อสะสม 9 ราย รายแรกเป็นบุคลากรทางการแพทย์ใน รพ.เอกชนแห่งหนึ่ง ผู้ป่วยมีอาการคล้ายไข้เลือดออก ส่วนรายอื่นๆ เป็นความเสี่ยงที่ต้องสัมผัสผู้ป่วยติดเชื้อที่เพิ่มมากขึ้น
ด้าน นพ.อัษฎางค์ รวยอาจิณ รองอธิบดีกรมควบคุมโรค เปิดเผยว่า พบผู้อำนวยการโรงพยาบาลแห่งหนึ่งป่วยโควิด-19 โดยผลการตรวจยืนยันทางห้องปฏิบัติการทางวิทยาศาสตร์เพิ่งออกมาในช่วงเช้า 26 มี.ค. ขณะนี้อยู่ระหว่างการสอบสวนโรค เพราะยังไม่แน่ชัดว่าสาเหตุการติดเชื้อมาจากสถานที่ใด เนื่องจากเป็นฝ่ายบริหารและมีการประชุมในหลายสถานที่ ส่วนผู้สัมผัสใกล้ชิดที่เกี่ยวข้องพบว่ามีจำนวนหนึ่ง แต่อยู่ระหว่างการสอบ เบื้องต้นสั่งการให้คนที่เกี่ยวข้องกักตัวเองสังเกตอาการ 14 วัน แล้ว
ผอ.รพ.ปากน้ำป่วยโควิด
ผู้สื่อข่าวจังหวัดสมุทรปราการรายงานว่า นพ.นำพล แดนพิพัฒน์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลสมุทรปราการ ที่เพิ่งย้ายมารับตำแหน่งผู้อำนวยการได้เพียง 10 วัน ได้ติดเชื้อไวรัสโควิด-19 และถูกส่งตัวไปรักษาที่สถาบันบำราศนราดูรเมื่อช่วงสายวันที่ 26 มี.ค. ขณะที่นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดสมุทรปราการ พร้อมด้วยรองผู้อำนวยการโรงพยาบาลสมุทรปราการและบุคคลใกล้ชิดอีก 20 คน ต้องกักตัวเองอยู่ที่บ้านเพื่อรอดูอาการเช่นกัน เนื่องจากระยะเวลาที่ผ่านมาได้ร่วมประชุมหารือเกี่ยวกับการรับมือการแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19
นพ.พรณรงค์ ศรีม่วง นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดสมุทรปราการ ให้สัมภาษณ์ทางโทรศัพท์ว่า ตนเองเป็นหนึ่งในกลุ่มเสี่ยงที่ต้องกักตัวเองอยู่ที่บ้านด้วยเช่นกัน ส่วนตัวผู้อำนวยการโรงพยาบาลคนดังกล่าวนั้นเริ่มมีอาการมาหลายวันแล้วจึงได้เข้ารับการตรวจ ส่วนตนและรองผู้อำนวยการรวมทั้งผู้ใกล้ชิดประมาณ 20 คน ที่มีการประชุมหาแนวทางแก้ไขการคัดกรองและการรักษาผู้ที่ติดเชื้อไวรัสอยู่หลายครั้งถือว่าเป็นกลุ่มเสี่ยงด้วยเช่นกัน ในวันนี้ได้มีการเก็บตัวอย่างส่งไปตรวจที่ห้องแล็บที่โรงพยาบาลใน กทม.แล้ว ซึ่งระหว่างนี้บุคคลทั้งหมดต้องกักตัวเองอยู่ที่บ้านพักเช่นกัน
วันเดียวกัน นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ได้ร่วมพิธีรับมอบเวชภัณฑ์จากมูลนิธิแจ๊ก หม่า และมูลนิธิ อาลีบาบา ประกอบไปด้วยหน้ากากอนามัย 5 แสนชิ้น, ชุดป้องกันเชื้อโรค (Ppe) 5 หมื่นชิ้น และหน้ากาก N95 จำนวน 5 หมื่นชิ้น รวมไปถึงความช่วยเหลือจาก Bank of America ซึ่งจัดหาหน้ากาก N95 มาช่วยเหลือเป็นจำนวนมาก
นายอนุทินกล่าวว่า ขอขอบคุณทุกความช่วยเหลือที่เข้ามาจากทั่วสารทิศ ขอยืนยันว่าของทุกชิ้น จะต้องส่งตรงถึงมือแพทย์และพยายาล ซึ่งเป็นแนวหน้าที่ต้องต่อสู้กับเชื้อโรค ทั้งนี้เวชภัณฑ์เรามีเพียงพอกับสถานการณ์ปัจจุบัน หากผู้ป่วยไม่สูงขึ้นอย่างรวดเร็ว เรายังมีทรัพยากรในการจัดการได้ ดังนั้นพี่น้องประชาชน ขอให้ดำเนินมาตรการโซเชียลดิสแทนซิงอย่างเคร่งครัด เราอาจจะลำบากในการปรับตัวเอง แต่เมื่อเราคุมสถานการณ์ได้ คนไทยจะได้กลับมาใช้ชีวิตตามปกติ
นายเจมส์ ตง ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ลาซาด้า จำกัด (ประเทศไทย) ในฐานะตัวแทนมูลนิธิอาลีบาบา และมูลนิธิอาลีบาบา กล่าวว่า ในวันที่จีนประสบปัญหา ไทยไม่เคยนิ่งเฉย และส่งทั้งกำลังใจและความช่วยเหลือมาตลอด เมื่อไทยมีปัญหาเราจะนิ่งเฉยไม่ได้
ต่อมานายอนุทินยังได้ชี้แจงกรณีที่มีการเผยแพร่คลิปในสังคมออนไลน์ที่ตนเองพูด แล้วทำให้เข้าใจว่ากระทรวงสาธารณสุขไม่มีมาตรการคุ้มครองหรือลดความเสี่ยงให้แพทย์ พยาบาล และบุคลากรทางการแพทย์ที่ทำงานในโรงพยาบาลว่า เป็นการสื่อสารที่ผิดพลาด ตนบอกว่าแพทย์ บุคลากรทางการแพทย์ที่ติดเชื้อจากการทำงานยังไม่มี เนื่องจากเรามีมาตรการระมัดระวังอยู่ นอกจากนี้ยังมีกรมธรรม์ประกันภัยจากโควิด-19 ให้แก่บุคลากรทางการแพทย์อีก 120,000 กรมธรรม์ ที่ตนจัดหามาให้บุคลากรทางการแพทย์ โดยที่รัฐไม่ต้องเสียเงินงบประมาณ แต่ไปขอรับการสนับสนุนจากบริษัทประกันภัยต่างๆ
'อนุทิน' โต้ดรามาด่าหมอ
"เรื่องแพทย์ที่ติดเชื้อจากการทำงานนั้นไม่ได้มีเจตนาจะตำหนิหรือต่อว่า เพราะรู้ว่าทุกคนทำงานหนักและเสี่ยงชีวิตอยู่แล้ว ซึ่งมีแต่ให้กำลังใจกันทุกวัน แต่ที่ตำหนิคือบุคลากรทางการแพทย์ที่ไปติดเชื้อมาจากการไปสังสรรค์กับเพื่อนฝูงแล้วติดเชื้อ แต่ยังมาทำงาน ทำให้เจ้าหน้าที่ท่านอื่นๆ ต้องถูกกักตัว เสียกำลัง ขาดบุคลากรที่จะมาทำงานให้ประชาชนไปด้วย และเตือนบุคลากรทางการแพทย์ทุกคนว่า ในฐานะที่เป็นข้าราชการสาธารณสุขต้องปฏิบัติเป็นตัวอย่างแก่ประชาชน" นายอนุทินระบุ
นายสาธิต ปิตุเตชะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข แถลงเปิดตัวแอปพลิเคชันที่ใช้ในการติดตามนักท่องเที่ยวและผู้เดินทางกลับจากประเทศเสี่ยง ที่ต้องดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน AOT ติดตามตัวผ่านโทรศัพท์มือถือว่า ผู้ที่ต้องกักกันตัวเองอยู่ภายในบ้านตามข้อกำหนดของกรมควบคุมโรคหรือไม่ หากแสดงผลเป็นสีเขียวคืออยู่ในบ้าน สีส้มออกจากบ้านเกิน 200 เมตร และสีแดงมีอาการไข้หรือฝ่าฝืนเงื่อนไขออกนอกพื้นที่บ้าน นอกจากนี้แอปพลิเคชันยังเป็นประโยชน์ต่อการสอบสวนโรค โดยแสดงผลเป็นแถบสี ผู้ติดเชื้อสีแดง สีส้มกลุ่มเสี่ยง สีเทาผู้ที่เป็นพาหะโดยไม่รู้ตัว
นอกจากนี้ สธ.ยังได้รับความร่วมมือจากภาคเอกชน จัดทำแอปพลิเคชันใหม่ "covid19.ddc.moph.go.th" เป็นแพลตฟอร์มที่จัดทำขึ้นใหม่ ประชาชนสามารถติดตามข้อมูลกลุ่มเสี่ยง รายงานข้อมูลตัวเลขผู้ติดเชื้อ จำนวนผู้ป่วยสะสม ผู้ป่วยรักษาหายกลับบ้าน และมีแบบประเมินความเสี่ยงการติดเชื้อโควิด-19 ให้ประชาชนกรอกข้อมูลเพื่อประเมินและวัดผลความเสี่ยงได้ด้วยตนเอง สำหรับแพลตฟอร์มที่ 3 เป็นแชตบอต "สบายดีบอต" ใช้กับผู้ติดเชื้อเข้าสู่ระบบตรวจอาการติดเชื้อ เพื่อให้ประชาชนสามารถเข้าสู่ระบบการตรวจโรคได้อย่างรวดเร็ว แจ้งผลตรวจและส่งต่อผู้ป่วยเข้าสู่ระบบการรักษาพยาบาล
กรมราชทัณฑ์รายงานสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ภายในเรือนจำ ประจำวันที่ 26 มี.ค.63 ว่า เรือนจำกลางราชบุรีพบผู้ต้องขังชายได้รับการตรวจยืนยันว่าติดเชื้อโควิด-19 จำนวน 1 ราย อายุ 60 ปี เป็นผู้ต้องขังในคดี พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ อัตราโทษ 6 ปี รับโทษมาตั้งแต่ปี 2559 ป่วยเป็นมะเร็งในช่องปาก ขณะนี้กำลังร่วมกับเจ้าหน้าที่กรมควบคุมโรคกระทรวงสาธารณสุขสอบสวนสาเหตุของการติดเชื้อ โดยกรมได้มอบหมายให้ นพ.วีระกิตติ์ หาญปริพรรณ์ รองอธิบดีกรมราชทัณฑ์ เดินทางไปประสานงานที่จังหวัดราชบุรี คาดว่าจะนำตัวส่งเข้ารักษาพยาบาลที่โรงพยาบาลศูนย์ราชบุรี และนับเป็นผู้ป่วยรายที่ 2
ส่วนเรือนจำจังหวัดสระบุรีและเรือนจำกลางฉะเชิงเทรา ที่มีผู้ต้องขังต้องสงสัยแห่งละ 1 ราย เนื่องจากสัมผัสใกล้ชิดกับผู้ติดเชื้อ เจ้าหน้าที่ตำรวจผู้จับกุมที่ติดเชื้อนั้น ทราบผลการตรวจพิสูจน์แล้ว ยืนยันผลเป็นลบไม่พบเชื้อโควิด-19 ทั้ง 2 ราย
ที่ศูนย์ประสานการบริหารจัดการและแก้ปัญหาผลกระทบโรค COVID-19 ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) พล.ร.ต.สมเกียรติ ผลประยูร เลขาธิการ ศอ.บต.เปิดเผยว่า จากที่มีกรณีผู้ปกครองในพื้นที่ชายแดนภาคใต้สอบถามถึงการให้ความช่วยเหลือนักศึกษาไทยที่ยังไม่สามารถเดินทางกลับมายังประเทศไทยได้กว่า 27 ประเทศทั่วโลก ที่มีทั้งหมด 11,069 คนว่า ได้ให้สถานทูตในประเทศนั้นๆ กว่า 27 ประเทศที่มีนักศึกษาไทยพำนักอยู่เป็นผู้ดูแลความเป็นอยู่ของนักศึกษา ส่วน ศอ.บต.ทำการสนับสนุนงบประมาณ อาหารแห้ง หน้ากากอนามัยไว้ป้องกันในสถานการณ์ฉุกเฉิน
ที่ จ.ยะลา นายสงกรานต์ ไหมชุม นายแพทย์สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดยะลา ได้แจ้งโรงพยาบาลบันนังสตาดำเนินการตามมาตรการที่ศูนย์ปฏิบัติการตอบโต้ภาวะฉุกเฉิน กรณีโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ภายหลังพบบุคลากรทางการแพทย์ติดเชื้อโควิด-19 รวม 3 ราย และมีบุคลากรทางการแพทย์ถูกกักตัวอีก 21 ราย อาทิ งดบริการผ่าตัดปกติ ผ่าตัดเฉพาะกรณีฉุกเฉิน เลื่อนนัดผู้ป่วยโรคเรื้อรังตามเงื่อนไขความเจ็บป่วยเพื่อลดการแพร่หรือรับเชื้อ บุคลากรของโรงพยาบาลทุกกลุ่ม ทุกคน หากมีไข้ มีอาการหวัด ให้หยุดงานอยู่กับบ้านและแจ้งหัวหน้างานทราบทันที จัดแพทย์จากทุกโรงพยาบาลในจังหวัดยะลาไปช่วยบริการในโรงพยาบาลบันนังสตาวันละ 3 คน ประมาณ 7 วัน เริ่มตั้งแต่วันที่ 26 มี.ค.เป็นต้นไป
ที่ จ.นครราชสีมา พบผู้ป่วยโควิด-19 เพิ่มอีก 4 ราย รวมเป็น 11 ราย โดยผู้ป่วยรายใหม่ 4 ราย เป็นหญิงอายุ 25 ปี เด็กหญิงอายุ 1 ขวบ 2 เดือน เด็กหญิงอายุ 9 ขวบ (ติดเชื้อมาจากแม่รายที่ 7 อยู่บ้านเดียวกันที่ อ.โชคชัย) มีไข้ ไอ เจ็บคอ รักษาอาการในห้องแยกโรค รพ.โชคชัยฯ อาการทั่วไปอยู่ในเกณฑ์ดี ไม่รุนแรง โดยทั้งหมดได้ไปฟาร์มที่ จ.ระยอง และฟาร์มแพะที่ จ.ชลบุรี และรายที่ 11 เป็นชาย อายุ 36 ปี (เป็นเซียนมวยติดเชื้อจากสนามมวยลุมพินีและราชดำเนินที่ กทม.).
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |