อย่าให้บังคับปิดประเทศ เตือนไม่ร่วมมือผู้ป่วยพุ่งศบค.ประเมินถึง2.5หมื่น


เพิ่มเพื่อน    

 

"ประยุทธ์" ประเดิมนั่งหัวโต๊ะประชุม ศบค.หลัง พ.ร.ก.ฉุกเฉินบังคับใช้ วางหลัก 6 ข้อทำงาน ไร้ถกเคอร์ฟิว ประเมินตัวเลขหากทำตาม 6 ข้อกำหนดถึง 80% ผู้ติดเชื้อกลางเมษายนจะอยู่แค่  7.7 พันราย แต่ถ้าไม่ทำตามตัวเลขพุ่งถึง 2.5 หมื่นแน่ "พรพิพัฒน์" ชี้ที่ผ่านมาขอความร่วมมือแต่เพิกเฉยทำให้ผู้ป่วยพุ่ง เตือนอย่าให้ถึงบังคับปิดประเทศเลย "ตำรวจ" เพิ่มด่านใน กทม.อีก 5 ด่าน รวมทั่วประเทศ 362 ด่าน

    เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 26 มีนาคม หลังพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินทั่วราชอาณาจักร เพื่อแก้ไขปัญหาการแพร่ระบาดไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ หรือโควิด-19 มีผลบังคับใช้  พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นประธานการประชุมศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) (ศบค.) ครั้งที่ 1 /2563 โดยมีรัฐมนตรีและข้าราชการที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมประชุมอย่างพร้อมเพรียง
    ทั้งนี้ พล.อ.ประยุทธ์กล่าวก่อนเริ่มการประชุมว่า การแก้ไขปัญหาการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19  อยู่ในสถานการณ์ระดับที่รัฐบาลต้องใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน รวมถึงอำนาจการบริหาร การออกข้อกำหนดกฎเกณฑ์เพื่อหยุดยั้งการแพร่ระบาด ซึ่งอาจมีผลกระทบต่อสังคมและประชาชน แต่เพื่อลดการแพร่ระบาดจึงจำเป็นต้องดำเนินการอย่างเข้มงวด โดยต้องเดินหน้าบูรณาการความร่วมมือกับทุกภาคส่วนของสังคม ซึ่งรวมถึงนักวิชาการและภาคประชาชนด้วย ขณะที่เจ้าพนักงานผู้ปฏิบัติหน้าที่ตามประกาศ  พ.ร.ก.ฉุกเฉินก็ต้องเหน็ดเหนื่อยเพิ่มขึ้น
    "ขอให้ช่วยกันสร้างความเชื่อมั่นทางการแพทย์ของไทย เผยแพร่ผ่านสื่อสังคมออนไลน์เพื่อลดข่าวปลอม ทั้งให้กระทรวงพาณิชย์เข้าไปดูแลและแก้ไขปัญหาเรื่องอุปกรณ์และเวชภัณฑ์ทางการแพทย์ที่จำเป็น เพื่อใช้ในการปฏิบัติงานโดยเฉพาะการนำเข้าจากต่างประเทศ"
    สำหรับกรณี พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ ซึ่งมีอายุเกิน 70 ปี รวมถึงรัฐมนตรีคนอื่นที่อายุเกิน 70 ปีที่เข้าร่วมการประชุมนั้น ไม่ถือว่าขัด 16 ข้อกำหนดที่ออกมา เพราะเป็นเพียงข้อแนะนำให้คนอายุเกิน 70 ปีอยู่ที่บ้าน แต่มีข้อยกเว้น โดยรวมถึงการเป็นเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานตามข้อกำหนด  ประกาศหรือคำสั่งต่างของทางราชการ หรือมีเหตุจำเป็น ซึ่งสาเหตุที่ พล.อ.ประวิตรได้ยกเลิกวาระการเป็นประธานการประชุมคณะกรรมการขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ (คปต.) ก็ไม่เกี่ยวกับข้อกำหนด แต่เป็นเพราะติดภารกิจประชุมศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 ด้วย  
    มีรายงานว่า ในการประชุมศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 ที่ประชุมเห็นชอบให้ใช้ชื่อทางการว่า  ศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด 19) หรือ ศบค.  พร้อมแต่งตั้ง นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน สาธารณสุขนิเทศก์ เขต 10 เป็นโฆษก ศบค.ด้วย
ศบค.วางหลัก 6 ข้อ
    ด้าน นพ.ทวีศิลป์แถลงผลประชุม ศบค.ว่า ที่ประชุมนายกฯ ได้แจ้งถึงสาระสำคัญการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่ดำเนินมาถึงจุดที่รัฐบาลจำเป็นต้องใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน เพื่อระดมทุกสรรพกำลังหยุดยั้งการแพร่ระบาดและบรรเทาผลกระทบที่เกิดขึ้น โดยนายกฯ ให้แนวทางการทำงาน 6 ข้อ คือ 1.ให้ผู้รับผิดชอบงานแต่ละด้านเสนอแผนและแนวทางปฏิบัติโดยละเอียด 2.ให้บูรณาการจัดระบบความร่วมมือทุกภาคส่วนในสังคม 3.ติดตามผลกระทบที่เกิดกับประชาชนทุกกลุ่มจากการประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน และเสนอแนวทางแก้ปัญหาพร้อมกับมาตรการเยียวยา 4.ให้ความเชื่อมั่นระบบการแพทย์ต่อประชาชน  พร้อมระดมสรรพกำลัง ทั้งบุคลากรทางการแพทย์ทั้งจากรัฐและเอกชน ซึ่งที่ประชุมเน้นย้ำเรื่องเวชภัณฑ์   และสถานพยาบาลที่ขาดแคลนไม่เพียงพอต่อความต้องการ จึงต้องประสานกับภาคส่วนต่างๆ ทั้งกระทรวงการคลัง กระทรวงพาณิชย์ เพื่อละในข้อกฎหมายที่เป็นอุปสรรคในการนำเข้า เป็นต้น 5.เน้นสื่อสารในยามวิกฤติ ประสานผู้เชี่ยวชาญ นักวิชาการ และสื่อมวลชน เพื่อให้ความรู้แก่ประชาชน โดยเฉพาะการเว้นระยะห่างของบุคคลในสังคม และ 6.เรื่องงบประมาณ ขอให้ทุกส่วนราชการปรับแผนโครงการ เพื่อเน้นเพิ่มประสิทธิภาพงานด้านสาธารณสุข
    "ปลัดกระทรวงต่างๆ ได้นำเสนอปัญหาและแนวทางแก้ไขในส่วนที่เกี่ยวข้องทั้งหมด การประชุมวันนี้ภาพรวมได้รับความร่วมมือจากทุกภาคส่วนเป็นอย่างดี ทั้งนี้นายกฯ ให้แนวทางการประชุมของ  ศบค.ในช่วงต้นให้มีประชุมทุกวัน ใช้เวลาวันละ 1 ชั่วโมง เพื่อให้การทำงานกระชับและกลับไปปฏิบัติ  แต่สำคัญที่สุดนายกฯ ห่วงใยสุขภาพประชาชนทุกคน ซึ่งประชาชนต้องให้ความร่วมมือตามข้อปฏิบัติต่างๆ ช่วยให้เราผ่านพ้นวิกฤติโควิด-19 ไปได้ด้วยดี โดยเฉพาะการเว้นระยะห่างทางสังคมจะทำให้โรคระบาดยุติโดยเร็ว"
    นพ.ทวีศิลป์กล่าวตอบคำถามเกี่ยวกับการประกาศเคอร์ฟิวว่า ในที่ประชุมไม่ได้พิจารณาออกข้อกำหนดเพิ่มเติมแต่อย่างใด รวมถึงเรื่องเคอร์ฟิวหรือห้ามประชาชนออกจากบ้านในเวลาที่กำหนดก็ยังไม่ได้หารือ แต่แนวทางต่างๆ มีการเสนอมาหลากหลายเพื่อเป็นทางเลือกจากมาตรการเบาไปหาหนัก ถ้าประชาชนร่วมมือก็ไม่ต้องใช้กฎอะไรมาบังคับเลย
    พล.อ.สมศักดิ์ รุ่งสิตา เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) กล่าวหลังประชุม ศบค.ว่า วันนี้เป็นการหารือถึงภาพรวมข้อกำหนดต่างๆ ที่มีผลบังคับใช้แล้ว ซึ่งมาตรการความเข้มข้นในการเดินทางข้ามเขตจังหวัดนั้น โดยหลักการไม่ต้องการให้เคลื่อนย้ายข้ามจังหวัด แต่ต้องการให้จำกัดการเคลื่อนไหวอยู่ในจังหวัดของตัวเอง ซึ่งถ้าจำเป็นต้องข้ามก็จะถูกตรวจอย่างเข้มข้น โดยเฉพาะความจำเป็นที่ต้องข้ามออกนอกพื้นที่ จึงขอร้องหากไม่จำเป็นอย่าเดินทางข้ามจังหวัด เช่นเดียวกับผู้สูงอายุก็ขอให้อยู่แต่ภายในที่พัก เพราะหากผู้สูงอายุติดเชื้อโรคอาจเป็นอันตรายถึงชีวิต
ไม่ร่วมมือรัฐถึง 2.5 หมื่นแน่
    เมื่อถามว่า แล้วเจ้าหน้าที่ประจำจุดตรวจจะรู้ได้อย่างไรว่าผู้ที่เดินทางอยู่นั้นมีอาการหรือไม่ พล.อ.สมศักดิ์กล่าวว่า ส่วนหนึ่งอยู่ที่ตัวของผู้เดินทาง เพราะมาตรการที่ออกมาไม่ใช่เพื่อคนอื่น และอย่าลืมว่าผู้ที่ติดเชื้อและเสียชีวิตส่วนใหญ่เป็นผู้สูงอายุและมีโรคประจำตัวอยู่แล้ว รวมถึงเด็กเล็กก็เป็นกลุ่มเสี่ยง  ซึ่งมาตรการที่ออกมาก็เพื่อให้คนกลุ่มเสี่ยงเหล่านี้ได้ป้องกันตัวเองด้วยการไม่ออกจากบ้าน แต่หากมีความจำเป็นจริงๆ ก็ทำได้
    "โทษฝ่าฝืนมาตรการและข้อกำหนดจริงๆ จะรับโทษหนักจำคุก 2 ปี ปรับ 40,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ แต่เราไม่อยากใช้มาตรการลงโทษขนาดนั้น จึงขอความร่วมมือกันก่อนให้ปฏิบัติตามข้อกำหนด  แต่ถ้ายังไม่เชื่อฟังกันอีกก็ต้องเพิ่มความเข้มข้นและบทลงโทษต่อๆ ไป" พล.อ.สมศักดิ์กล่าว
    รายงานข่าวจากที่ประชุม ศบค.แจ้งว่า ในที่ประชุมกระทรวงการต่างประเทศแสดงความเป็นห่วงตามแนวชายแดนรอบประเทศเป็นพิเศษ ว่าทุกฝ่ายต้องระมัดระวังและดูแลปัญหาดังกล่าว โดยเฉพาะกรณีการเคลื่อนย้ายของกลุ่มแรงงานต่างด้าวกลับเข้าไทยหลังเทศกาลสงกรานต์ คือต้องคัดกรองและตรวจสอบอย่างเข้มข้นเพื่อไม่ให้ซ้ำเติมสถานการณ์การแพร่ระบาดในไทย นอกจากนี้ที่ประชุม ศบค.ยังได้ประเมินแนวโน้มจำนวนผู้ป่วยและจำนวนคาดการณ์ถึงวันที่ 15 เม.ย.63 โดยหากภาคประชาชนร่วมมือในการเว้นระยะห่างหรือ Social Distancing 80% จะมีผู้ป่วยสะสม 7,745 ราย แต่หากประชาชนร่วมมือเพียง 50% จะมีผู้ป่วยสะสม 17,635 ราย และถ้าไม่มีมาตรการป้องกันจะทำให้มีผู้ป่วยสะสมถึง  25,225 ราย
    ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากกรณีมีการรวมศูนย์การแถลงข่าวเกี่ยวกับสถานการณ์โควิด-19 โดยกระทรวงสาธารณสุขย้ายมาแถลงที่ทำเนียบรัฐบาลเมื่อวันที่ 24 มี.ค.แล้วนั้น ปรากฏว่าทำให้มีผู้สื่อข่าวเข้ามาทำข่าวที่ทำเนียบรัฐบาลเป็นจำนวนมาก จนเกิดความแออัด ทำให้ พล.อ.ประยุทธ์ได้สั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจัดหาสถานที่เพิ่มเติมเพื่ออำนวยความสะดวกสื่อมวลชน พร้อมเน้นย้ำในความปลอดภัยด้านสุขภาพของสื่อมวลชน รวมถึงที่นายกรัฐมนตรีระบุช่วงหนึ่งในแถลงการณ์ประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินว่า จะมีการแถลงสถานการณ์จุดเดียวเพียงวันละ 1 ครั้ง เพื่อลดความซ้ำซ้อนและลดความคลาดเคลื่อนของข้อมูล
    อย่างไรก็ตาม มีรายงานข่าวว่าในช่วงค่ำของวันที่ 25 มี.ค. นายกรัฐมนตรีได้ขอให้กระทรวงต่างๆ  กลับไปแถลงข่าวที่หน่วยงานของตัวเอง เนื่องจากไม่อยากให้เกิดความแออัดมากเกินไป และเกรงว่าจะขัดต่อมาตรการเว้นระยะห่างทางสังคม แต่ได้ให้แต่ละกระทรวงใช้ฉากหลังในการแถลงข่าวในรูปแบบเดียวกันในนามศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค. จึงทำให้วันเดียวกันนี้กระทรวงสาธารณสุขกลับไปแถลงข่าวที่กระทรวงตามเดิม 
    ที่กองบัญชาการกองทัพไทย (บก.ทท.) พ.อ.หญิง ฉัตรรพี พูนศรี โฆษก บก.ทท.ระบุว่า ตามคำสั่ง  พล.อ.ประยุทธ์ เรื่องการจัดตั้งหน่วยงานพิเศษเพื่อปฏิบัติหน้าที่ตามพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 และตามที่ได้มีประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในทุกเขตท้องที่ทั่วราชอาณาจักรตั้งแต่วันที่ 26 มี.ค. เพื่อให้การดำเนินการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินเป็นไปอย่างเหมาะสมและมีประสิทธิภาพ นายกฯ จึงมีคำสั่งให้ศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา  2019 (โควิด-19) หรือศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 เป็นหน่วยงานพิเศษ มีนายกฯ เป็นผู้อำนวยการศูนย์ และมี พล.อ.พรพิพัฒน์ เบญญศรี ผู้บัญชาการทหารสูงสุด (ผบ.ทสส.) เป็นกรรมการและหัวหน้าศูนย์ปฏิบัติการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินด้านความมั่นคง (ศปม.) มีอำนาจหน้าที่กำกับดูแลการปราบปรามอาชญากรรมทุกประเภท การปฏิบัติของเจ้าหน้าที่ทหารและตำรวจ ซึ่งการดำเนินมาตรการใดๆ นั้นจะเป็นไปตามนโยบายของรัฐบาล 
อย่าให้ถึงขั้นปิดประเทศ
    สำหรับการตั้งด่านตรวจตามจุดต่างๆ ในขณะนี้นั้น มีวัตถุประสงค์เพื่อจัดระเบียบด้านการเดินทาง  การจราจร ดูแลและอำนวยความสะดวกแก่ประชาชนในการเดินทางข้ามจังหวัด เพื่อลดอัตราการแพร่ระบาดเชื้อไปยังพื้นที่ต่างๆ โดยจะมีการตรวจคัดกรองบุคคลที่มีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อและจำกัดให้อยู่ในพื้นที่ที่เหมาะสม ตลอดจนมีมาตรการเฝ้าระวังหรือสังเกตอาการผู้เดินทางและพฤติกรรมที่เสี่ยงต่อการติดเชื้อ รวมทั้งยังเป็นการป้องกันการแทรกแซงจากภัยคุกคามหรืออาชญากรรมรูปแบบอื่นๆ ที่อาจแฝงตัวเข้ามาในช่วงสถานการณ์ฉุกเฉิน ดังนั้นจึงขอให้ประชาชนให้ความร่วมมือในการบังคับใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน โดย ศปม.จะดำเนินมาตรการเท่าที่จำเป็นเท่านั้น เพื่อให้กระทบกับการใช้ชีวิตประจำวันของพี่น้องประชาชนให้น้อยที่สุด และร่วมก้าวข้ามผ่านวิกฤติในครั้งนี้ไปด้วยกัน
    ด้าน พล.อ.พรพิพัฒน์กล่าวว่า ขณะมีการจัดตั้งจุดควบคุมสถานการณ์การแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 ทั่วประเทศแล้ว 357 จุด โดยมี 7 จุดใน กทม. เจ้าหน้าที่ส่วนใหญ่จะเป็นตำรวจและฝ่ายปกครอง มีทหารเข้าร่วมเสริม ซึ่งจุดตรวจจะดูแลให้ประชาชนปฏิบัติตามข้อแนะนำของกระทรวงสาธารณสุข เช่น  การเว้นระยะห่างทางสังคม และการสวมหน้ากากอนามัย แต่หลังจากนี้ถ้ามีการกำหนดข้อปฏิบัติเพิ่มเติม เช่น กระทรวงพาณิชย์กำหนดสินค้าควบคุมเพิ่มเติมก็จะตรวจตราส่วนนี้ การคัดกรองจะต้องค่อยเป็นค่อยไป ยืนยันเราจะอำนวยความสะดวกประชาชนให้ได้มากที่สุด 
    "ที่ผ่านมาภาครัฐเชิญชวนให้ประชาชนปฏิบัติตัวป้องกันโรคหลายอย่าง แต่ทุกคนยังใช้ชีวิตปกติ จึงทำให้ตัวเลขสูงขึ้น หลังจากนี้ถ้าเชิญชวนแล้วไม่ปฏิบัติ รณรงค์แล้วไม่ทำ ตัวเลขก็จะยิ่งสูงขึ้น และไม่รู้จะจบตรงไหน จึงเป็นที่มาของการกำหนดมาตรการ ขณะนี้ยังไม่ปิดประเทศปิดเมืองและปิดการสัญจร  แต่ถ้าพฤติกรรมยังไม่เปลี่ยนและตัวเลขสูงขึ้นก็จะนำไปสู่การปิดประเทศ ผลกระทบดำเนินชีวิตของประชาชนจะสูงขึ้น ถ้าไม่ปิดประเทศโดยบังคับ โดยประชาชนสมัครใจปิดตัวเองไม่ไปไหนมาไหน ไม่ดีกว่าหรือ มาถึงตรงนี้ทุกคนอยากให้โควิด-19 ผ่านพ้น" พล.อ.พรพิพัฒน์กล่าว
    พล.อ.พรพิพัฒน์กล่าวต่อว่า วันนี้อยากขอความร่วมมือนายจ้าง หัวหน้าส่วนราชการพิจารณาแนวทางเหลื่อมเวลา ลดเวลาการทำงาน ป้องกันการรวมตัวกันเป็นจำนวนมาก ถ้าทุกคนทำด้วยความสมัครใจตามคำแนะนำอยากให้รอดูผลที่จะเกิดขึ้น เพราะตัวเลขนับพันที่เกิดขึ้นในขณะนี้เกิดจากความหละหลวม ไม่ทำตามคำแนะนำเมื่อ 10 วันก่อน สิ่งที่จะทำวันนี้ก็จะส่งผลถึงตัวเลขผู้ติดเชื้อใน 10 วันข้างหน้า และจากการประเมินถ้าทุกคนทำตามคำแนะนำแพทย์อย่างเคร่งครัด ผู้ติดเชื้อจนถึงวันศุกร์หน้าจะอยู่ที่ 2 พันราย แต่ถ้าไม่ปรับวิธีดำเนินชีวิตตัวเลขจะสูงถึง 7,000-10,000 ราย
เพิ่มอีก 5 ด่านใน กทม.
    พล.ต.ท.ปิยะ อุทาโย โฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ กล่าวว่า ขณะนี้มีด่านตรวจทั่วประเทศ 357  ด่าน เป็นเส้นทางเข้าออกในกรุงเทพฯ 7 จุด แต่จากการประชุมของตำรวจจะเพิ่มด่านตรวจเส้นทางเข้าออกในกรุงเทพฯ อีก 5 จุด ประกอบด้วย จุดที่ 1 ถนนเพชรเกษม รอยต่อจังหวัดนครปฐม จุดที่ 2 ถนนบางนา-ตราด รอยต่อจังหวัดสมุทรปราการ จุดที่ 3 ทางยกระดับบูรพาวิถี จุดที่ 4 ถนนวิภาวดีรังสิต  บริเวณอนุสรณ์สถาน และจุดที่ 5 ทางยกระดับดอนเมือง-โทลล์เวย์ ซึ่งประชาชนที่จำเป็นต้องเดินทางขอให้ปฏิบัติตามคำแนะนำของรัฐบาลและกระทรวงสาธารณสุข คือ พกบัตรประชาชนติดตัว สวมหน้ากากอนามัย และเว้นระยะห่างที่นั่งบนรถ และถ้าหากมีกลุ่มเสี่ยงอยู่ในรถ เจ้าหน้าที่จะเชิญตัวลงมาจากรถเพื่อสอบประวัติอย่างละเอียด
    พล.อ.ณฐพนธ์ ศรีสวัสดิ์ ที่ปรึกษาพิเศษกองทัพบก ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 กองทัพบก (ศบภ.ทบ.) กล่าวถึงกรณีที่ พล.อ.อภิรัชต์ คงสมพงษ์ ผู้บัญชาการทหารบก (ผบ.ทบ.) ออกมาตรการ 7 ข้อ กำชับหน่วยทหารและกำลังพลปฏิบัติอย่างเคร่งครัดในช่วงโควิด-19 ว่า ผบ.ทบ.กำชับให้ใช้มาตรการดังกล่าวกับกำลังพลทุกนาย และทุกค่ายทหารต้องมีความพร้อม ส่วนครอบครัวกำลังพลโดยเฉพาะชุมชนในค่ายทหาร รวมถึงประชากรของครอบครัว ไม่ว่าจะเป็นผู้สูงอายุ เด็ก  และกลุ่มเสี่ยงที่ต้องมีการควบคุมเฝ้าระวัง ป้องกัน ต้องค้นหาตรวจสอบดูแลอย่างเข้มงวด เพื่อไม่ให้การแพร่ระบาดเกิดขึ้นในหน่วยทหารและชุมชนภายในค่ายทหาร โดยเฉพาะการห้ามกำลังพลกลับเข้าบ้านพักไม่เกินเวลา 21.00 น.ที่ ผบ.ทบ.เน้นย้ำเป็นอย่างมาก
    วันเดียวกัน พรรคเพื่อไทย (พท.) ออกแถลงการณ์ระบุว่า "ตามที่รัฐบาลได้ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน ตาม พ.ร.ก.บริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 ซึ่งถือเป็นกฎหมายที่มีการควบคุมประชาชนในระดับสูง โดยกำหนดให้มีผลบังคับใช้ถึงวันที่ 30 เมษายน 2563 หรืออีกประมาณ 1 เดือนกว่านั้น เมื่อรัฐบาลตัดสินใจใช้ 'ยาแรง' แล้วปัญหาต้องจบเร็วที่สุด ไม่ควรเกินระยะเวลาที่รัฐบาลได้กำหนดไว้ รัฐบาลไทยต้องควบคุมการแพร่ระบาดให้ได้ โดยมีตัวชี้วัดทางการแพทย์ชัดเจน จึงขอเรียกร้องให้นายกรัฐมนตรีแก้ปัญหาอย่างจริงจังดังต่อไปนี้ 1.ขอให้รัฐบาลปูพรมในการค้นหาผู้ติดเชื้อที่ยังไม่แสดงอาการ นำผู้ติดเชื้อทั้งหมดมารักษา พร้อมทั้งควบคุมไม่ให้สามารถแพร่เชื้อต่อ 2.เรียกความเชื่อมั่นจากพี่น้องประชาชนคืนมาด้วยการจับกุม และดำเนินคดีกับผู้เกี่ยวข้องกับขบวนการกักตุนหน้ากากอนามัย และลักลอบส่งไปจำหน่ายยังต่างประเทศให้ได้ 
    3.ควรดำเนินการเร่งใช้งบกลางที่มีอยู่กว่า 5 แสนล้านบาท มาใช้ในการต่อสู้กับการแพร่ระบาดของโรค COVID-19 อย่างเร่งด่วน พร้อมทั้งปรับงบประมาณแผ่นดินปี 2563 โดยเกลี่ยงบประมาณมาใช้แก้วิกฤติที่เกิดขึ้นก่อน ด้วยการยกเลิกการจัดซื้อจัดหาสิ่งของที่ยังไม่จำเป็น เช่น การจัดซื้ออาวุธ  การอบรมสัมมนาดูงาน การสร้างอาคารใหม่ การซื้อ/เช่ารถประจำตำแหน่ง ฯลฯ เป็นต้น จะได้งบประมาณกลับมาถึง 7-8 หมื่นล้านบาท 4.ควรต้องใส่ใจในการวางมาตรการเพื่อช่วยเหลือดูแลคนยากจน  ผู้มีรายได้น้อย หรือลูกจ้างรายวัน คนหาเช้ากินค่ำที่เป็นผู้ได้รับผลกระทบโดยตรงจากมาตรการ และวิกฤตการณ์ต่างๆ ในครั้งนี้อย่างเต็มที่และมีประสิทธิภาพ". 
 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"