วิถี “ผู้แทน” ในยามที่ชาวบ้านตกระกำลำบาก หากใคร “หายหน้า” จะถูกก่นด่า ว่าได้คะแนนแล้ว “หายหัว” ไม่สนใจไยดีประชาชน หรือเป็นพึ่งไม่ได้
เหมือนกับที่เคยมีการเปรียบเทียบไว้ว่า ตอนเป็นผู้สมัคร ส.ส.ไปหาเสียง แทบจะกราบขอคะแนนเสียง แต่พอเลือกตั้งเสร็จ กลายเป็นประชาชนที่ต้องยกมือไหว้อ้อนวอนให้มาช่วยเหลือ
ดังนั้น ในยามวิกฤติ บรรดานักการเมืองจึงมักจะใช้ช่วงนี้ในการหาคะแนนนิยม
บรรดา ส.ส.จึงใช้ยามนี้รักษาคะแนนเสียงเดิม และเพิ่มคะแนนเสียงจากคนที่ไม่ได้เลือกคราวก่อน ขณะที่คู่แข่งจะใช้จังหวะนี้หาคะแนนเพื่อหวังโค่นล้มในการเลือกตั้งครั้งหน้า
อย่างเมื่อคราวมหาอุทกภัยเมื่อปี 2554 หรือเหตุการณ์น้ำท่วมในฤดูฝน บรรดา ส.ส.และนักเลือกตั้งมักนิยมหาทางช่วยเหลือประชาชน โดยการเข้าไปแจกจ่ายข้าวสาร อาหารแห้ง เครื่องดื่ม ยาสามัญประจำบ้าน
ขณะที่การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ครั้งนี้ มี ส.ส.และนักเลือกตั้งหลายคน ใช้กลยุทธ์ในการช่วยเหลือประชาชนที่แตกต่างออกไป เพื่อให้รู้ว่า “ผู้แทน” พยายามช่วยประชาชนในพื้นที่
พบว่า วิธียอดฮิตที่นักการเมืองนิยมช่วยเหลือประชาชนในช่วงการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 คือ การประชาสัมพันธ์ แจ้งข้อมูลข่าวสาร ไม่ว่าจะเป็นตัวเลขของประชากรที่ติดเชื้อในพื้นที่, มาตรการการช่วยเหลือเยียวยาจากรัฐบาล, แนะนำวิธีการป้องกันไวรัสโควิด-19
อีกวิธีที่ทำกันไปก่อนหน้านี้แล้วคือ การพยายามหาหน้ากากอนามัย หน้ากากทางเลือก และเจลล้างมือไปแจกจ่ายให้กับประชาชนในพื้นที่ตัวเอง
รวมถึงการสอนทำหน้ากากผ้า ซึ่งเป็นหน้ากากทางเลือกนั้นพบว่า เป็นหนึ่งวิธีที่บรรดาผู้แทนราษฎรยุคนี้มักนำไปใช้สอน ฝึกทำ ให้กับคนในชุมชน ถือว่าเป็นการสร้างรายได้และการป้องกันตัวเองไปด้วย
อย่าง “ส.ส.แคมป์” กุลวลี นพอมรบดี ส.ส.ราชบุรี พรรคพลังประชารัฐ ที่อัพเดตข้อมูลใน จ.ราชบุรี แบบเรียลไทม์ และคอยประสานชี้แจงแก้ไขข้อมูลที่คลาดเคลื่อนและสร้างความตื่นตระหนก รวมถึงสวมบทเป็นครูสอนทำหน้ากากผ้าและเจลล้างมือ
หรือบางกรณีประชาชนในพื้นที่หวาดกลัว หรือต้องการความช่วยเหลือจากภาครัฐ อย่างในพื้นที่สัตหีบ จ.ชลบุรี ช่วงแรกๆ ที่มีการใช้เป็นสถานที่กักตัว “ดร.เอ” สะถิระ เผือกประพันธุ์ ส.ส.ชลบุรี พรรคพลังประชารัฐ ก็เป็นปากเสียงให้กับคนในพื้นที่จนภาครัฐตอบสนอง
บางรายที่มีความรู้ ถึงขั้นสอนวิธีทำเกราะป้องกันเชื้อโรคบนใบหน้า อย่าง วราวุธ ศิลปอาชา รมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคชาติไทยพัฒนา ที่รณรงค์พร้อมสอนวิธีการทำ “Face Shield” หรือเกราะป้องกันเชื้อโรคบนใบหน้า ให้กับชาวสุพรรณบุรี และชาวออนไลน์ที่เข้ามาดู เพื่อบริจาคให้ทีมแพทย์ พยาบาล ที่กำลังต่อสู้ไวรัสโควิด-19
นอกจากนี้ที่ทำกันมากในช่วงที่ผ่านมาคือ การลงพื้นที่พ่นยาฆ่าเชื้อในเขตพื้นที่รับผิดชอบของตัวเอง โดยช่วงนี้จะเห็นใน กทม.และต่างจังหวัดทำกันมาก เพื่อสร้างความอุ่นใจให้กับประชาชน
บางรายสวมชุดอวกาศลุยพ่นในพื้นที่เองอย่าง “ผู้กองเบิร์ด” ร.อ.จองชัย วงศ์ทรายทอง ส.ส.ชลบุรี พรรคพลังประชารัฐ
ส่วนอีกวิธีที่ปรับเข้ากับเทคโนโลยีที่ทันสมัยในปัจจุบันคือ การหาช่องทางเพิ่มรายได้ให้กับประชาชนคือ การเปิดให้ “ฝากร้าน” บนหน้าเพจตัวเอง ซึ่งมียอดผู้ติดตามจำนวนมากอยู่แล้ว โดยแนวทางนี้มีดารานักแสดงและผู้มีชื่อเสียงนิยมทำกันอย่างมากมาระยะหนึ่ง
เนื่องจากปัจจุบัน ห้างร้านต่างๆ ถูกปิด ทำให้รายได้หดหาย ขณะเดียวกัน การซื้อ-ขายผ่านออนไลน์ เป็นที่นิยมอย่างสูงในตลาดอยู่แล้ว ยิ่งช่วงไวรัสโควิด-19 ระบาดหนัก การขายออนไลน์จึงมีอัตราเพิ่มสูงขึ้นอย่างมาก
โดยวิธีนี้หลายคนได้ใช้ไปแล้ว อย่างนายเท่าพิภพ ลิ้มจิตรกร ส.ส.กทม. พรรคก้าวไกล ได้เปิดให้ร้านอาหารที่ยังเปิดให้สั่งกลับบ้าน/พร้อมส่งให้ถึงบ้าน ฝากร้านไว้ที่โพสต์ของตัวเอง พร้อมแนะนำการฝากร้าน ซึ่งได้รับการตอบรับพอสมควร
ถือเป็นหลายๆ วิธีที่บรรดา “ผู้แทน” ทำกันในช่วงนี้ ซึ่งยังมีอีกหลายคนที่ไม่ได้กล่าวถึง ก็สรรหาวิธีช่วยเหลือประชาชนกันแล้วแต่ความถนัด สไตล์ใครสไตล์มัน
เป็นอีกมุมหนึ่งที่ได้เห็นในช่วงการระบาดของไวรัสโควิด-19.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |