สนช.” จัดให้ตามประสงค์ “ประยุทธ์” เข้าชื่อถึง “พรเพชร” ให้ยื่นศาลรัฐธรรมนูญตีความกฎหมายลูก ส.ส. รอ “บิ๊กตู่” ตอบเรื่องขั้นตอนก่อน หวังศาลเร่งพิจารณาเพื่อไม่กระทบโรดแมป พร้อมกระทุ้ง กกต.ใช้เวลาจัดเลือกตั้งให้น้อยกว่า 150 วันเพื่อชดเชย “บิ๊กป้อม” ลั่นยึดปฏิทิน ก.พ.2562 ปลดล็อกแน่ แต่ต้องรอ มิ.ย.ให้พรรคใหม่ตั้งไข่ก่อน “ก๊วนบ้านริมน้ำ” รีบปัดข่าวสุมหัว
เมื่อวันพฤหัสบดี นายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ได้แถลงว่า ได้รับหนังสือจากนายปรีชา วัชราภัย สมาชิก สนช. พร้อมคณะรวม 27 คน เพื่อขอให้ประธาน สนช.ส่งร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) ให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยความชอบด้วยรัฐธรรมนูญ โดยยื่น 2 ประเด็น คือ 1.การตัดสิทธิการดำรงตำแหน่งข้าราชการการเมืองของบุคคลที่ไม่ได้ไปใช้สิทธิเลือกตั้ง และ 2.การอำนวยความสะดวกให้กับคนพิการในการลงคะแนนเลือกตั้ง
นายพรเพชรแถลงถึงขั้นตอนอีกว่า เมื่อได้รับหนังสือดังกล่าวแล้ว ทำให้ต้องมีหนังสือไปยัง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เพื่อสอบถามว่าได้นำร่างดังกล่าวขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายแล้วหรือไม่ โดยต้องรอหนังสือตอบกลับจากนายกฯ ก่อน ซึ่งถ้านายกฯ ยังไม่ได้นำขึ้นทูลเกล้าฯ ถวาย และนายกฯ จะไม่ยื่นร่างดังกล่าวให้ศาลวินิจฉัย ประธาน สนช.จะได้ส่งคำร้องของสมาชิ ก สนช.ไปยังต่อไป แต่หากพ้นวันที่ 12 เม.ย. นายกฯ ไม่ได้ตอบกลับมา เท่ากับว่าจะส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความไม่ได้แล้ว
เมื่อถามว่า การยื่นให้ศาลตีความจะกระทบโรดแมปตามประธาน สนช.เคยบอกก่อนหน้านี้หรือไม่ นายพรเพชรตอบว่า จะกระทบกับโรดแมปเมื่อดำเนินการในแต่ละขั้นตอนเต็มเวลาที่รัฐธรรมนูญกำหนด เช่น การจัดเลือกตั้งภายใน 150 วัน หากดำเนินการได้เร็วกว่านั้นได้ เช่น จัดภายใน 120 วัน ก็สามารถชดเชยเวลาที่ศาลใช้พิจารณา รวมทั้งจะมีหนังสือไปถึงศาลรัฐธรรมนูญว่ารัฐบาลและ คสช.มีความห่วงใยในเรื่องของโรดแมป จึงขอความกรุณาศาลพิจารณาโดยใช้เวลาที่ไม่กระทบโรดแมปมากนัก
“สรุปคือนายกฯ มีอำนาจ แต่ไม่มีหน้าที่ ขณะที่ประธาน สนช.มีหน้าที่ แต่ไม่มีอำนาจ ดังนั้น ประธานสนช.จะทำหน้าที่ได้ก็ต้องสอบถามผู้มีอำนาจในขณะนี้คือนายกฯ ก่อนว่าท่านจะใช้อำนาจนี้หรือไม่ ส่วนการวินิจฉัยของศาลนั้น หากตีความว่าขัดหรือแย้ง ก็มีผลเพียงให้ตัดมาตรานั้นออกไปเท่านั้น” นายพรเพชรกล่าว นายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย รองประธาน สนช. กล่าวว่า การยื่นต่อศาลเป็นเรื่องดี ถ้ายังติดใจกังวลใจว่าจะเกิดปัญหาในอนาคต ยอมเสียเวลาตรงนี้เพื่อให้ตกผลึกในทุกประเด็น แม้ส่วนตัวจะเห็นว่าทั้ง 2 ประเด็นในร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญไม่ขัดรัฐธรรมนูญ ส่วนจะกระทบโรดแมปหรือไม่นั้น คิดว่าถ้าทุกฝ่ายเข้าใจตรงกัน และขอความร่วมมือศาลเร่งรัดพิจารณาเป็นกรณีพิเศษ ก็คงไม่มีผลกระทบ ขณะเดียวกันในส่วนของการจัดการเลือกตั้งของคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ก็อาจกระชับเวลาไม่ถึง 150 วันได้ก็จะเป็นเรื่องดี เพื่อชดเชยเวลาที่เสียไปในขั้นตอนนี้
“ไม่ใช่เรื่องที่ สนช.กลับลำ แต่เป็นเรื่องของสมาชิกกลุ่มหนึ่งที่ใช้สิทธิเข้าชื่อ ซึ่งคงเห็นแล้วว่าจะช่วยแก้ปมปัญหาได้ ดีกว่าเกิดปัญหาในอนาคต เพราะไม่รู้ว่าใครจะหยิบมาเป็นข้อโต้แย้งหากไม่ประสบความสำเร็จหลังการเลือกตั้งหรือไม่” นายสุรชัยกล่าว
ลั่นยึดโรดแมปเดิม
ขณะที่ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ และ รมว.กลาโหม ยืนยันว่า การเลือกตั้งยังเป็นไปตามกรอบเดือน ก.พ.2562 ไม่มีการเลื่อนเลือกตั้ง ทั้งนี้ ต้องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความกฎหมายทั้งสองฉบับให้เร็วๆ
“บอกว่าไม่เลื่อนไงเล่า สนช.ก็ต้องส่งกฎหมายทั้งสองฉบับให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความ ซึ่งก็อยากให้ตีความให้เร็วหน่อย แค่นั้นก็จบ” พล.อ.ประวิตรย้ำ
พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รองนายกฯ กล่าวเช่นกันว่า นายกฯ แสดงเจตนารมณ์ชัดเจนที่อยากให้การเลือกตั้งเป็นไปตามโรดแมป นายกฯ ไม่ต้องการให้การเลือกตั้งเลื่อนออกไป และก่อนหน้านี้ก็มีการประกาศออกมาชัดเจนแล้วว่าไม่เข้าไปยุ่งเกี่ยวกับกระบวนการ สนช. ไม่มีส่วนเกี่ยวข้อง และหากโรดแมปต้องเลื่อนออกไป ก็ไม่เกี่ยวกับนายกฯ
“พล.อ.ประยุทธ์ไม่เคยพูดว่าจะลงเล่นการเมืองหรืออะไร ท่านบอกเพียงว่าอยากทำงานในขณะนี้ก่อน เพราะมีปัญหาให้แก้จำนวนมาก และอยากเห็นกระบวนการเลือกตั้งให้เกิดขึ้นตามโรดแมป ส่วนวันข้างหน้าจะเป็นอย่างไร ก็ต้องว่ากันไป อย่าเพิ่งไปมองหรือคาดคิดอะไรก่อน” พล.อ.ฉัตรชัยระบุ
นายวิรัตน์ กัลยาศิริ หัวหน้าฝ่ายกฎหมาย พรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) กล่าวเรื่องนี้ว่า เหมือนเล่นปาหี่
สังคมไม่มีทางคิดเป็นอย่างอื่นได้นอกจากคิดว่าเป็นเกมการยื้อการจัดเลือกตั้งของรัฐบาล และยิ่งทำให้สังคมลดความเชื่อถือต่อรัฐบาลและ คสช. โดยเฉพาะเครดิตในตัวของ พล.อ.ประยุทธ์ รวมถึง สนช.ที่ถูกสังคมตั้งคำถามในพฤติกรรมกลับไปกลับมา สร้างความสับสนและจะยิ่งทำให้สังคมไทยขาดที่พึ่งที่หวัง ในที่สุดจะมีกลุ่มคนออกมาเรียกร้องในรูปแบบต่างๆ เพิ่มจำนวนมากยิ่งขึ้น สวนทางกับจำนวนคนที่เคยสนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ก็จะลดน้อยถอยลง
นายองอาจ คล้ามไพบูลย์ รองหัวหน้าพรรค ปชป.ตั้งข้อสังเกตเช่นกันว่า เป็นความพยายามให้มีการเลื่อนเลือกตั้งออกไปหรือไม่ เพราะการยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความ อาจทำให้การเลือกตั้งต้องเลื่อนออกไป แต่ก็อาจไม่จำเป็นต้องเลื่อนออกไปก็ได้ ขึ้นอยู่กับความจริงใจของนายกฯ ในฐานะหัวหน้า คสช. สามารถบริหารจัดการให้การเลือกตั้งให้เป็นไปตามโรดแมปที่พูดหรือไม่
“การยื่นศาลรัฐธรรมนูญครั้งนี้ สะท้อน 3 เรื่อง คือ 1.ชี้ให้เห็นถึงประสิทธิภาพการทำงานของ สนช. 2.ทำให้เกิดความไม่มั่นใจว่าไทยจะเดินหน้าต่อไปอย่างไร จะมีกับดักอะไรขวางอยู่ข้างหน้าหรือไม่ และ 3.ก่อให้เกิดผลกระทบถึงความเชื่อมั่น” นายองอาจกล่าว
ปลดล็อกรอ มิ.ย.
สำหรับกรณีพรรคการเมืองเก่าเรียกร้องให้ยกเลิกคำสั่ง คสช.เพื่อดำเนินกิจกรรมทางการเมือง พล.อ.ประวิตรกล่าวว่า เคยบอกไว้แล้วว่าการยกเลิกคำสั่ง คสช.นั้นต้องมีแน่นอน แต่ต้องรอให้พรรคการเมืองใหม่ดำเนินการตั้งพรรคให้เรียบร้อยก่อน เพื่อให้ทุกพรรคการเมืองเดินไปพร้อมกันในเดือน มิ.ย.นี้ ส่วนการแก้ไขคำสั่ง คสช.ที่ 53/2560 นั้น หากจะให้แก้ขอให้ กกต.ทำเรื่องมา
นายนพดล ปัทมะ อดีต รมว.การต่างประเทศ พรรคเพื่อไทย (พท.) กล่าวว่า ทุกพรรคการเมืองได้เห็นปัญหาที่เกิดจากคำสั่ง คสช.ที่ 53/60 แล้ว และทั่วโลกคงประหลาดใจในเรื่องที่พรรคการเมืองไทยต้องมาถกเถียงและขอความชัดเจนในขั้นตอนการปฏิบัติทางธุรการต่างๆ บ้านเมืองเรามาถึงจุดนี้ได้อย่างไร นี่หรือไทยแลนด์ 4.0 จึงเรียกร้องให้ผู้มีอำนาจได้ตระหนักถึงภาระความยุ่งยากที่ไม่ได้ช่วยให้ประเทศก้าวหน้าและหาทางแก้ไข พาประเทศออกจากสถานการณ์เช่นนี้ เมื่อกลัดกระดุมผิดเม็ด ก็กลัดใหม่ได้ คนที่กล้าแก้ไข คือผู้ที่เข้มแข็ง
นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ แกนนำแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) กล่าวว่า ติดตามข่าวการประชุมระหว่าง กกต.กับพรรคการเมืองด้วยความอึดอัดและเห็นใจ เปรียบเหมือนคน 2 กลุ่มปิดห้องคุยกันว่าจะเดินไปข้างหน้าอย่างไร โดยมีเสือตัวหนึ่ง ซึ่งหมายถึงอำนาจเด็ดขาดของ คสช.ยืนอยู่ในห้อง และมีร่างของนายสมชัย ศรีสุทธิยากร อดีต กกต.ที่ถูกเสือตะปบไปแล้วนอนแผ่อยู่บนเวที ฝ่ายพรรคการเมืองไม่กล้าขยับตัวเพราะเสือจ้องอยู่ จึงมีแต่คำถาม กกต.ก็ไม่มีคำตอบ เพราะกลัวตอบแล้วจะเป็นเหมือนนายสมชัย การประชุมดังกล่าวจึงได้ข้อสรุปว่ายังไม่สรุป และไม่ได้เพิ่มความเชื่อมั่นให้กับทุกฝ่ายว่าบ้านเมืองกำลังเดินหน้าไปสู่การเลือกตั้ง
“ที่จริงแล้วก่อนการประชุมควรสื่อสารกับ คสช.ตรงๆ ว่าส่วนใดบ้างที่เป็นปัญหา คำสั่งไหนต้องยกเลิกก็พูดให้ชัด สังคมจะได้รับรู้ ไม่ใช่แอบทำหนังสือไปแล้วรอการพิจารณา ขนาดอีปริกเป็นบ่าวยังกล้าเถียงการะเกด แต่นี่เป็นองค์กรอิสระแท้ๆ ทำไมถึงไม่กล้าแม้แต่จะพูดและทำในสิ่งที่ถูกต้อง" นายณัฐวุฒิกล่าว
พล.อ.ประวิตรยังกล่าวถึงกรณี พล.อ.ประยุทธ์สั่งให้ฝ่ายความมั่นคงตรวจสอบเส้นทางการเงินของกลุ่มคนอยากเลือกตั้งว่า นายกฯ เพิ่งสั่งการเมื่อวันที่ 28 มี.ค. กำลังดำเนินการยังไม่แล้วเสร็จ ทั้งนี้ เราทราบดีว่ากลุ่มคนอยากเลือกตั้งเป็นกลุ่มเดิมๆ ที่ออกมาเคลื่อนไหว และมีพรรคการเมือง และกลุ่มการเมืองที่ต้าน คสช.อยู่เบื้องหลัง ซึ่งพวกกลุ่มที่ออกมาเคลื่อนไหวเราเห็นก็รู้แล้วว่าเป็นพวกใคร แต่ตอนนี้ยังไม่มีหลักฐาน ซึ่งจะเชื่อมโยงกลุ่มคนเสื้อแดงหรือไม่ ไม่ทราบ
บ้านริมน้ำปัดสุมหัว
วันเดียวกัน นายสุชาติ ตันเจริญ อดีตรองประธานสภาผู้แทนราษฎร และแกนนำกลุ่มบ้านริมน้ำ กล่าวถึงกระแสข่าวนัดอดีต ส.ส.ในกลุ่มบ้านริมน้ำและอดีตนักการเมืองในกลุ่ม 16 มารับประทานอาหารร่วมกันที่บ้านริมน้ำในวันที่ 1 เม.ย.ว่า ไม่มี ใครไม่รู้ไปพูดแบบนั้น ปกติแล้วเพื่อนฝูงก็จะมาทานข้าวที่บ้านกันเป็นปกติอยู่แล้ว เพราะบ้านเปิดให้พรรคพวกมาทานข้าวที่บ้านกันได้ตลอดเวลาอยู่แล้ว ไม่ได้มีการนัดหมายนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกฯ เป็นการพิเศษด้วย นอกจากนี้เวลานี้ยังติดธุระอยู่ที่จีน ส่วนในวันที่ 1 เม.ย.ที่จะนัดพบกันเนื่องในวันเกิดของพรรคภูมิใจไทยนั้น ก็ติดงานเช็งเม้งที่ จ.ฉะเชิงเทราด้วย
แหล่งข่าวจากอดีต ส.ส.กลุ่ม 16 กล่าวเช่นกันว่า ไม่น่าจะมีการนัดทานข้าวกันในวันที่ 1 เม.ย. ถ้าหากมีจริงๆ ก็น่าเป็นเพียงบางคนมากกว่าที่นัดทานข้าวทุกเดือน เพราะมีการเล่นแชร์ และผลัดกันเป็นเจ้ามืออยู่แล้ว ที่สำคัญคือเพิ่งจะนัดทานข้าวกันเมื่อ 2 สัปดาห์ที่ผ่านมา และยังชักชวนกันไปเที่ยวฮ่องกงอยู่เลย
นายสนธยา คุณปลื้ม หัวหน้าพรรคพลังชล ในฐานะสมาชิกกลุ่ม 16 กล่าวเพียงสั้นๆ ว่า ไม่มี ไม่เห็นรู้เรื่องเลยนัดหมายกัน
ขณะที่นายเผดิมชัย สะสมทรัพย์ อดีต รมว.แรงงาน ในสมัยรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร สมาชิกกลุ่มบ้านริมน้ำ กล่าวว่า ไม่รู้เรื่องนี้ ยังงงอยู่ เพราะไม่ได้นัดหมายอะไร ถ้ามีต้องรู้แล้ว และสถานการณ์ปัจจุบันต้องบอกว่านักการเมืองไม่สามารถทำอะไรได้ ตอนนี้ทุกคนนิ่งหมด ส่วนเรื่องการไปยืนยันความเป็นสมาชิกพรรคเพื่อไทยนั้น พรรคก็ติดต่อมาให้เดินทางไป แต่เราเป็นผู้ใหญ่แล้ว จะทำอะไรก็ต้องรอความชัดเจน ตอนนี้กฎหมายยังไม่นิ่ง อีกทั้งหากยืนยันความเป็นสมาชิกไปแล้ว ยังมีช่วงเวลาก่อนการเลือกตั้งอีกพอสมควร ในวันที่ 4 เม.ย.จึงจะยังไม่เดินทางไปยืนยันความเป็นสมาชิกพรรค เพราะอนาคตเราไม่รู้ว่าจะเกิดอะไรขึ้น จะอยู่พรรคเดิม หรือไปอยู่พรรคไหน
ด้านนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกฯ แสดงความเห็นเช่นกันว่า ทราบจากข่าวเท่านั้น แล้วข่าวมาจากไหน ให้ไปถามคนพูด แต่ขณะนี้ยังไม่มีใครมาเชิญ แต่ยอมรับว่ารู้จักกับนายสุชาติ เพราะอยู่พรรคไทยรักไทยด้วยกัน ซึ่งทุกคนก็สนิทสนมกันทั้งนั้น ส่วนการถูกเชิญไปร่วมรับประทานอาหารนั้น ก็เพิ่งรู้จากข่าวนี่แหละ ก็รู้พร้อมๆ กัน
พล.อ.ฉัตรชัยกล่าวในประเด็นนี้ว่า ไม่ทราบ คงต้องไปถามบุคคลในข่าว.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |