“คลัง” ชี้จ่ายเงิน 5 พันบาท 3 เดือนครอบคลุมแรงงานนอกระบบ 3 ล้านคนที่ถูกพิษโควิด-19 ได้แน่ แต่พร้อมขยายหากมีคนแห่ลงทะเบียนที่เริ่มเสาร์นี้ “เกษตรกร” เป็นล็อตต่อไป แบงก์ชาติตื่นออกมาตรการอุ้มลูกหนี้ทั้งบัตรเครดิต-ลิสซิ่ง-กู้ซื้อรถ-บ้าน “กนง.” ประเมินไวรัสทำเศรษฐกิจหัวทิ่ม เชื่อปี 63 ติดลบ 5.3%
เมื่อวันพุธที่ 25 มีนาคม นายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ให้สัมภาษณ์ว่า ในวันที่ 26 มี.ค. เวลา 15.00 น. กระทรวงจะชี้แจงถึงขั้นตอนลงทะเบียนการรับเงินเยียวยาผลกระทบจากการแพร่ระบาดไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ หรือโควิด-19 ตามมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่อให้ประชาชนได้เข้าใจและสามารถลงทะเบียนได้อย่างถูกต้อง ซึ่งการลงทะเบียนดังกล่าวจะผ่าน www.เราจะไม่ทิ้งกัน.com หรือผ่านสาขาของธนาคารรัฐ คือ ธนาคารออมสิน ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร และธนาคารกรุงไทย โดยระบบจะเปิดให้ลงทะเบียนได้ตั้งแต่เวลา 08.00 น. วันเสาร์ที่ 28 มี.ค.นี้
นายอุตตมกล่าวต่อว่า ผู้ที่เข้าข่ายได้รับเงินเยียวยา คือ แรงงานนอกระบบประกันสังคมที่ประกอบอาชีพอิสระได้รับผลกระทบจากโควิด-19 โดยได้รับเงินเดือนรวม 1.5 หมื่นบาท แบ่งจ่ายเดือนละ 5 พันบาท เป็นเวลา 3 เดือน โดยหลังจากลงทะเบียนแล้วจะได้รับเงินภายใน 7 วัน ส่วนในรายที่ต้องการเงินทุนเพิ่มเติมสามารถติดต่อขอสินเชื่อฉุกเฉินจากแบงก์รัฐ 3 แห่ง ซึ่งมีทั้งรายละไม่เกิน 1 หมื่นบาท และ 5 หมื่นบาท รวมถึงผู้ประกอบการที่ขอสินเชื่อไม่เกิน 3 ล้านบาท
นายลวรณ แสงสนิท ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง กล่าวว่า ในการเยียวยากลุ่มแรงงานนอกระบบคนละ 5 พันบาท 3 เดือน ยืนยันว่าตัวเลข 3 ล้านคนนั้นน่าจะครอบคลุมกลุ่มตกงาน โดยแรงงานในไทยมีทั้งหมด 36 ล้านคน อยู่ในระบบประกันสังคม 16 ล้านคน ที่เหลือประมาณ 20 ล้านคนเป็นแรงงานอิสระ แต่เท่าที่ไปดูข้อมูลจากหลายๆ แหล่ง พบว่ามีลูกจ้างนอกระบบเดือดร้อนจากการถูกปิดกิจการประมาณ 3 ล้านคน
“ลูกจ้างนอกระบบกว่า 20 ล้านคน หักกลุ่มเกษตรกรออกไป 4-5 ล้านคน จะมีแนวทางช่วยเหลือในรอบถัดไป และหักนักศึกษาอายุ 18-21 ปีอีกหลายล้านคน ดังนั้นคิดว่าลูกจ้างนอกระบบที่มีอายุ 18-60 ปีที่เหลืออยู่และเดือดร้อนจริงๆ น่าจะมีไม่เกิน 3 ล้านคน แต่หากมาลงทะเบียนมากกว่านี้ กระทรวงก็พร้อมดูแลให้ เพราะเตรียมงบประมาณไว้เบื้องต้น 4.5 หมื่นล้านบาท” นายลวรณกล่าว และว่า การจ่ายเงินให้กลุ่มอาชีพอิสระอาจน้อยกว่าลูกจ้างประกันสังคมรับสูงสุด 7,500 บาทต่อคนต่อเดือน แต่เอาไปเทียบกันไม่ได้ เนื่องจากระบบประกันสังคมนั้น ลูกจ้างต้องจ่ายเงินสมทบเข้ากองทุนประกันสังคม
ส่วนที่ทำเนียบรัฐบาล ม.ร.ว.จัตุมงคล โสณกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ได้แถลงแนวทางดูแลผู้ใช้แรงงาน หลังจาก ครม.มีมติแก้กฎกระทรวงว่าด้วยผลประโยชน์ทดแทนกรณีว่างงานจากเหตุสุดวิสัย ให้ครอบคลุมกรณีโรคระบาดตั้งแต่วันที่ 1 มี.ค.-31 ส.ค. ซึ่งมีทั้งการขยายเวลาส่งแบบเงินสมทบผู้ประกันตน การลดหย่อนเงินสมทบ
ขณะที่นายกรณ์ จาติกวณิช หัวหน้าพรรคกล้า อดีต รมว.การคลัง โพสต์เฟซบุ๊กเสนอแนะเพิ่มเติมในการเยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ว่าไม่ควรใช้กองทุนประกันสังคมมารับภาระ เพราะจะกระทบกับสถานะกองทุนในระยะยาว โดยรัฐควรมีมาตรการช่วยเหลือโดยตรง และทุกคนที่เดือดร้อนควรได้ 50% ของเงินเดือนเท่ากัน สูงสุด 7,500 บาทเป็นอย่างน้อย เพราะเงินชดเชย 5,000 บาทอาจไม่ทั่วถึง
ด้านนายวิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวภายหลังประชุมร่วมกับสมาคมและหน่วยงาน 9 แห่ง ว่า ธปท.ได้ออกมาตรการช่วยเหลือด้านสินเชื่อสำหรับลูกหนี้ที่ยังไม่เป็นหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) โดยจะมีผลตั้งแต่วันที่ 1 เม.ย. ซึ่งมาตรการประกอบด้วย 1.บัตรเครดิตและสินเชื่อเงินสดหมุนเวียน โดยลดอัตราผ่อนชำระขั้นต่ำจาก 10% เหลือ 5% ในปี 2563-2564 และในปี 2565 จะเพิ่มขึ้นเป็น 8% และกลับสู่ 10% ในปี 2566 ซึ่งลูกหนี้สามารถเปลี่ยนแปลงหนี้เป็นสินเชื่อระยะยาวที่ดอกเบี้ยต่ำลงได้ 2.สินเชื่อส่วนบุคคลที่ผ่อนชำระเป็นงวดและสินเชื่อจำนำทะเบียน โดยธนาคารพาณิชย์และสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ จะผ่อนผันการชำระเงินต้นและดอกเบี้ยเป็นเวลา 3 เดือน และผู้ให้บริการอื่นเลือกดำเนินการระหว่างเลื่อนการชำระเงินต้นและดอกเบี้ยเป็นเวลา 3 เดือน หรือลดค่างวดอย่างน้อย 30% ของค่างวดเดิมเป็นเวลา 6 เดือน
3.สินเชื่อเช่าซื้อ ประเภทรถมอเตอร์ไซค์ วงเงินไม่เกิน 35,000 บาท และรถทุกประเภท วงเงินไม่เกิน 250,000 บาท โดยผู้ให้บริการเลือกดำเนินการระหว่างเลื่อนการชำระเงินต้นและดอกเบี้ยเป็นเวลา 3 เดือน หรือพักชำระเงินต้นเป็นเวลา 6 เดือน 4.ลีสซิ่ง มูลหนี้คงเหลือไม่เกิน 3 ล้านบาท โดยผู้ให้บริการเลือกดำเนินการระหว่างเลื่อนการชำระเงินต้นและดอกเบี้ยเป็นเวลา 3 เดือน หรือพักชำระเงินต้นเป็นเวลา 6 เดือน 5.สินเชื่อบ้าน วงเงินไม่เกิน 3 ล้านบาท และ 6.สินเชื่อธุรกิจเอสเอ็มอี ไมโครไฟแนนซ์ นาโนไฟแนนซ์ วงเงินไม่เกิน 20 ล้านบาท ให้พักชำระเงินต้น 3 เดือน และพิจารณาลดดอกเบี้ยให้ตามสถานการณ์ของแต่ละราย
“ลูกหนี้ที่ชำระหนี้ได้ตามปกติและไม่ขอความช่วยเหลือ ผู้ให้บริการจะให้เงื่อนไขสินเชื่อเป็นการพิเศษตามความเหมาะสม ลูกหนี้ที่มีสินเชื่อหลายประเภทสามารถได้รับความช่วยเหลือทุกประเภทตามเงื่อนไข” นายวิรไทกล่าว
วันเดียวกัน นายทิตนันทิ์ มัลลิกะมาส เลขานุการคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) กล่าวว่า ที่ประชุม กนง.มีมติ 4 ต่อ 2 เสียง ให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 0.75% ต่อปี ขณะที่ 2 เสียงเห็นควรให้ลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 0.25% ต่อปี โดยที่ประชุมมองว่าการระบาดของไวรัสโควิด-19 จะส่งผลให้เศรษฐกิจไทยในปี 2563 มีแนวโน้มหดตัวแรงจากปีก่อน อัตราเงินเฟ้อทั่วไปมีแนวโน้มติดลบ ขณะที่ระบบการเงินโดยรวมมีเสถียรภาพ ตลาดการเงินได้เริ่มกลับมาทำงานปกติ
“กนง.เห็นว่าการระบาดของไวรัสโควิด-19 ในระยะข้างหน้ายังมีความรุนแรง รวมทั้งจะใช้เวลาอีกระยะหนึ่งกว่าที่จะกลับเข้าสู่ภาวะปกติ ซึ่งในภาวะเช่นนี้ กนง.สนับสนุนมาตรการดูแลผู้ได้รับผลกระทบอย่างตรงจุดของรัฐบาลที่ได้ประกาศไปแล้ว รวมทั้งต้องดำเนินการช่วยบรรเทาปัญหาสภาพคล่องและเร่งปรับปรุงโครงสร้างหนี้ของลูกหนี้ โดยเฉพาะครัวเรือนและธุรกิจเอสเอ็มอีให้เกิดผลชัดเจนเป็นรูปธรรม เพิ่มเติมจากการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายในการประชุมนัดพิเศษที่ผ่านมา โดยในสถานการณ์เช่นนี้ มาตรการด้านการคลังจะต้องเป็นกลไกหลักในการบรรเทาผลกระทบ ซึ่งจะช่วยให้เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มกลับมาขยายตัวในปี 2564 หากสถานการณ์คลี่คลายลง”
นายดอน นาครทรรพ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายเศรษฐกิจมหภาค สายนโยบายการเงิน ธปท. แถลงว่า คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) คาดว่าเศรษฐกิจไทยในปี 2563 จะขยายตัวติดลบ 5.3% เนื่องจากสถานการณ์โรคระบาดไวรัสโควิด-19 ได้กระทบต่อประเทศต่างๆ ทั่วโลก รวมถึงไทย ทั้งด้านตลาดการเงิน เศรษฐกิจ และสังคม ก่อนจะกลับมาขยายตัวเป็นบวกที่ 3% ในปี 2564
“ปัจจัยหลักที่มีผลต่อการหดตัวของเศรษฐกิจไทยในปีนี้มาจากสถานการณ์ของโรคโควิด-19 ที่ขยายวงกว้างเกือบทั่วทั้งโลก ซึ่งส่งผลกระทบโดยตรงต่อเศรษฐกิจโลกในปีนี้ ทำให้คาดว่าเศรษฐกิจโลกจะเข้าสู่ภาวะถดถอยในปีนี้ ซึ่งเป็นเรื่องที่ไม่ได้มีการคาดการณ์ไว้ล่วงหน้า โดยปัจจัยเสี่ยงนี้ได้ส่งผลต่อภาคการส่งออกและการท่องเที่ยวของไทย โดยคาดว่าจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติจะหดตัวราว 60% ในปีนี้ และเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าทั่วโลกจะชะลอตัวแรง หรืออาจถึงขั้นหดตัวในหลายประเทศ หากโควิด-19 ระบาดรุนแรงและยาวนาน ซึ่งจะกระทบต่อรายได้ ความเชื่อมั่น และกิจกรรมทางเศรษฐกิจของประชาชนและภาคธุรกิจในวงกว้าง” นายดอนกล่าว
สำหรับแนวโน้มของเศรษฐกิจไทยในระยะถัดไปจะขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย ได้แก่ มาตรการช่วยเหลือของภาครัฐในด้านต่างๆ การปรับตัวของภาคธุรกิจและประชาชน และความยาวนานของสถานการณ์โรคโควิด-19 ซึ่งตามคาดการณ์ของกระทรวงสาธารณสุขคาดว่าจะควบคุมสถานการณ์ได้ภายในไตรมาส 2/2563 ส่วนการฟื้นตัวของจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติยังต้องใช้เวลา โดยประมาณการครั้งนี้ยังไม่รวมมาตรการการเงินการคลังที่จะออกมาเพิ่มเติม
“ยอมรับว่าสถานการณ์ขณะนี้มีความยากลำบากมากในการทำประมาณการณ์ โดยเมื่อมองไปข้างหน้า ความไม่แน่นอนมีสูงมากขึ้นกับหลายปัจจัย ที่สำคัญคือ ระยะเวลาและขอบเขตของการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ซึ่งขึ้นอยู่กับมาตรการสาธารณสุขของประเทศต่างๆ และการพัฒนาวัคซีนและยา รวมถึงการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก และมาตรการการเงินการคลังของไทย” นายดอนกล่าว.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |