"บิ๊กตู่" ประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉินทั่วราชอาณาจักร สู้ "โควิด-19" เริ่ม 26 มี.ค. ลั่นพร้อมคุมเอง แบ่งงานปลัด 4 กระทรวง พ่วง ผบ.สส. โอนอำนาจบางส่วน รมต.ให้นายกฯ ลั่นไม่ปรานีพวกฉวยโอกาสหากินบนความทุกข์ ปชช. คาดโทษ จนท.ละเลยหน้าที่ รับอาจสร้างความไม่สะดวกบ้าง ขอให้ร่วมมือเสียสละเพื่อส่วนรวม ให้สัญญาจะนำไทยพ้นภัยได้ เผยข้อกำหนด 16 ข้อห้ามเข้าพื้นที่เสี่ยง-กักตุนสินค้า ฝ่าฝืนมีความผิด "ผู้สูงอายุ 70 ปีขึ้นไป ผู้มีโรคประจำตัว-เด็กอายุต่ำกว่า 5 ปี" ให้อยู่ในบ้าน เผย รมต. 7 คนอายุเกิน 70 ปี "วิษณุ" แจงยังไม่เคอร์ฟิวเดินทางข้าม จว.ได้แต่ถูกตรวจเข้ม ยังไม่ปิดประเทศให้คนไทยกลับเข้ามาได้ กองทัพขยับจัดทำแผนการปฏิบัติ
เมื่อเวลา 14.40 น. วันที่ 25 มีนาคม พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม แถลงผ่านโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจแห่งประเทศไทย ถึงการประกาศ พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 ว่า ช่วงเวลาหลายสัปดาห์ และหลายเดือนข้างหน้า ต่อจากนี้ไปเราอาจจะต้องเผชิญกับช่วงเวลาที่เลวร้าย และเป็นช่วงเวลาที่ยากลำบากของประเทศไทยอันเป็นที่รักยิ่งของพวกเรา ช่วงเวลานี้เป็นบททดสอบที่เราทุกคนไม่เคยเผชิญมาก่อน ถึงวันนี้เราต้องยอมรับความจริงว่า ประเทศไทยกำลังอยู่ในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อของภาวะวิกฤติจากไวรัสโควิด-19 และสถานการณ์อาจจะยิ่งทวีความรุนแรงมากขึ้น และเลวร้ายยิ่งขึ้นกว่านี้อีกหลายเท่า ซึ่งจะส่งผลต่อสุขภาพกาย สุขภาพใจ รวมทั้งรายได้ และการใช้ชีวิตของคนไทยทุกคน
"ด้วยเหตุนี้ ผมในฐานะนายกรัฐมนตรี จึงจำเป็นต้องดำเนินมาตรการต่างๆ ด้วยความเข้มข้นมากยิ่งขึ้น เพื่อให้เราสามารถหยุดการแพร่ระบาด พร้อมกับลดผลกระทบทางเศรษฐกิจ ที่จะเกิดขึ้นกับพี่น้องประชาชนทุกคนให้ได้ ผมจะเข้ามาบัญชาการ การจัดการกับไวรัสโควิด-19 ในทุกมิติอย่างเต็มตัว ทั้งด้านการป้องกันการระบาด การรักษาพยาบาลไป จนถึงการเยียวยาและฟื้นฟูประเทศจากผลกระทบของโควิด-19 ผมจะเป็นผู้นำในภารกิจนี้และรายงานตรงต่อประชาชนชาวไทยทุกคน โดยจะประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินทั่วราชอาณาจักร โดยอาศัยอำนาจตาม พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินฯ เพื่อควบคุมสถานการณ์ การระบาดของโรคติดต่ออันตรายร้ายแรง ตั้งแต่วันที่ 26 มีนาคม 2563 เป็นต้นไป ซึ่งคณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบแล้ว และจะยกระดับศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ที่ได้ตั้งไว้แล้ว ให้เป็นหน่วยงานพิเศษ ตามมาตรา 7 แห่งพระราชกำหนดฯ เพื่อบูรณาการทุกส่วนราชการ และสั่งการทุกส่วนราชการได้อย่างมีเอกภาพ รวดเร็ว เนื่องจากในสถานการณ์วิกฤติเช่นนี้ จำเป็นต้องรวมศูนย์สั่งการไว้ที่เดียว เพื่อกำหนดแนวทางที่ชัดเจน และขจัดปัญหาการทำงานแบบต่างคนต่างทำของหน่วยงานต่างๆ โดยมีผมเป็นประธาน" นายกฯ กล่าว
นายกฯ กล่าวว่า กำหนดให้ปลัดกระทรวงสาธารณสุข เป็นหัวหน้าผู้รับผิดชอบในการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินด้านสาธารณสุข, ปลัดกระทรวงมหาดไทย เป็นหัวหน้าผู้รับผิดชอบในการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน ด้านการสั่งการผู้ว่าราชการจังหวัด ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร, ปลัดกระทรวงพาณิชย์ เป็นหัวหน้าผู้รับผิดชอบในการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินด้านการควบคุมสินค้าและเวชภัณฑ์, ปลัดกระทรวงการต่างประเทศ เป็นหัวหน้าผู้รับผิดชอบในการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินด้านการต่างประเทศ และการคุ้มครองช่วยเหลือคนไทยในต่างประเทศ และผู้บัญชาการทหารสูงสุด เป็นหัวหน้าผู้รับผิดชอบในการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน ด้านความมั่นคงการปราบปรามอาชญากรรมทุกประเภท การปฏิบัติของเจ้าหน้าที่ทหารและตำรวจ รวมทั้งมีทีมงานจากทุกภาคส่วนเป็นคณะที่ปรึกษา โดยจะประชุมร่วมกันทุกวันเพื่อให้ทุกฝ่ายรับทราบข้อมูลสถานการณ์เป็นภาพเดียวกัน และเมื่อตนแจกจ่ายงานทุกฝ่ายจะรับทราบแผนงานทั้งหมดไปพร้อมกัน สามารถทำงานสอดประสานไปในทิศทางเดียวกันได้ ซึ่งผู้ที่จะรายงานต่อประชาชน จะต้องเป็นตนหรือผู้ที่ตนมอบหมายเท่านั้น
สำหรับข้อกำหนดต่างๆ เช่น การห้ามเข้าพื้นที่เสี่ยง, การปิดสถานที่เสี่ยง ซึ่งปิดไปบ้างแล้ว, การปิดช่องทางเข้าประเทศ, การเสนอข้อพึงปฏิบัติสำหรับ ผู้สูงวัย คนป่วย และเด็ก การห้ามกักตุนสินค้า, การขึ้นราคาสินค้าโดยไม่มีเหตุผล การห้ามเสนอข่าวบิดเบือน จะมีการประกาศตามมา หลังจากที่ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินแล้ว และยืนยันว่า ภายใต้พระราชกำหนดฉบับนี้ จะไม่มีการปิดร้านค้าที่จำหน่ายสิ่งของที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิต ข้อกำหนดเหล่านี้ อาจจะสร้างความไม่สะดวกกับประชาชนบ้าง แต่ขอให้ทุกท่านร่วมมือและเสียสละเพื่อส่วนรวม งานหลักที่เราจะต้องให้ความสำคัญมากที่สุด และดำเนินการควบคู่กันไป คืองานป้องกันการระบาด ด้วยการควบคุมพื้นที่ทุกพื้นที่ และใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วย เช่น แอปพลิเคชันกำหนดโลเกชั่น มาช่วยในการเฝ้าสังเกตอาการ หรือควอรันทีน การรักษาพยาบาล รวมทั้งการเยียวยา ฟื้นฟูประเทศ จากผลกระทบของเชื้อไวรัสโควิด-19
สัญญาจะก้าวพ้นสถานการณ์ได้
พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า ตนจะปรับปรุงให้การสื่อสารเกี่ยวกับสถานการณ์โควิด-19 กับประชาชน ให้มีความถูกต้อง ชัดเจน และครบถ้วน โดยได้สั่งการให้มีการแถลงข่าวเกี่ยวกับสถานการณ์และมาตรการต่างๆ รวมถึงคำแนะนำต่อประชาชนเพียงวันละ 1 ครั้ง เพื่อลดความซ้ำซ้อน ลดการบิดเบือนข้อมูล และลดการสร้างความเข้าใจที่คลาดเคลื่อน ขอยืนยันว่าประชาชนจะได้รับข้อมูลที่เป็นทางการ ตรงไปตรงมา โปร่งใส และชัดเจน จากเพียงแหล่งเดียว เป็นประจำทุกวัน ขอความร่วมมือให้สื่อมวลชน เพิ่มความรับผิดชอบในการรายงานข่าว ขอให้ใช้ข้อมูลจากการแถลงประจำวัน ของทีมสื่อสารเฉพาะกิจและทีมแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเป็นหลัก แทนการขอสัมภาษณ์เจ้าหน้าที่และบุคลากรทางการแพทย์ต่างๆ เพื่อให้ท่านเหล่านั้น สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้อย่างเต็มที่นี้
สำหรับผู้ใช้โซเชียลมีเดียทุกท่าน พวกเราคือทีมเดียวกัน ทุกท่านสามารถร่วมแชร์ข้อมูลที่ถูกต้องจากการแถลงประจำวัน ช่วยกันรายงาน และต่อต้านการแชร์ข่าวปลอม และใช้ความคิดสร้างสรรค์ของท่าน ช่วยให้ประชาชนทุกเพศทุกวัย รับรู้และเข้าใจข้อมูลได้ง่ายและกว้างขวางยิ่งขึ้น ขอเตือนกลุ่มคนที่จะฉวยโอกาส หาผลประโยชน์บนความทุกข์ร้อนความเป็นความตายของประชาชนให้รู้ไว้ว่า อย่าคิดว่าจะหลุดพ้นไปได้ ตนจะทำทุกทาง ที่จะใช้กฎหมายจัดการกับกลุ่มคนเหล่านี้อย่างรวดเร็ว เด็ดขาด และไม่ปรานีการบังคับใช้กฎหมายและข้อกำหนดต่างๆ ที่เกี่ยวกับการควบคุมโรค จะเข้มข้นขึ้นมากทั่วประเทศ ทั้งการเอาผิดผู้ที่ละเมิดกฎหมาย และการเอาผิดข้าราชการ และเจ้าพนักงานที่ละเลยการปฏิบัติหน้าที่
"ภาครัฐอย่างเดียวไม่สามารถฝ่าวิกฤติไปได้เพียงลำพัง ถ้าเราไม่จับมือ และดึงภาคส่วนอื่นๆ เข้ามาเป็นทีมเดียวกันกับภาครัฐ ประเทศไทยโชคดีที่มีคนเก่งมากมาย อยู่ในภาคเอกชน และภาคประชาสังคม ที่พร้อมจะช่วยรัฐบาลแก้ปัญหา ภายในหนึ่งสัปดาห์ ผมจะกระจายทีมงานไปทำความเข้าใจปัญหาและความต้องการของทุกกลุ่ม รวมทั้งรับทราบศักยภาพของแต่ละกลุ่ม ในการที่จะเข้ามาร่วมมือกันแก้ปัญหา และผมจะดึงคนเก่งเหล่านี้มาร่วมกันทำงาน ต่อจากนี้ไปมาตรการต่างๆ ที่รัฐจะออกมา เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อร้ายนี้ จะมีความเข้มข้นขึ้น จะส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวันของทุกคน ผมขอความร่วมมือและขอให้มีความรับผิดชอบต่อตนเองและสังคม รวมทั้งปฏิบัติตามนโยบายป้องกันโรคระบาดนี้อย่างเคร่งครัด บางคนอาจจะรู้สึกเสียสิทธิเสรีภาพ แต่เป็นการทำเพื่อปกป้องชีวิตของท่านเอง ของครอบครัวของท่าน และของคนไทยทุกคน หากพวกเราเข้าใจ เข้มงวดและจริงจัง ในเวลาไม่นาน ผมมั่นใจว่าพวกเราจะสามารถก้าวพ้นสถานการณ์ อันเลวร้ายนี้ไปได้"
พล.อ.ประยุทธ์กล่าวอีกว่า ช่วงเวลานี้ อาจเป็นช่วงเวลาที่สร้างความเจ็บปวดและท้าทายความรัก ความสามัคคีของพวกเราทุกคน แต่ขณะเดียวกัน ช่วงเวลานี้ก็เป็นช่วงเวลาที่จะดึงสิ่งที่ดีที่สุด ในตัวของพวกเราคนไทยทุกคนออกมา นั่นก็คือความกล้าหาญ ความรัก ที่มีต่อพี่น้องร่วมชาติ ความเสียสละที่จะช่วยเหลือผู้อื่น รวมถึงความเอื้ออาทรต่อกันและกัน ซึ่งจะนำพาให้เราก้าวผ่านช่วงเวลาที่ท้าทายนี้ไปได้ ด้วยความสามัคคี ความช่วยเหลือเกื้อกูลกัน ความมีน้ำใจของคนไทย ซึ่งหาไม่ได้จากชาติใดในโลก ไวรัสโควิด-19 ที่น่ากลัวและอันตราย ได้สร้างความเสียหายไปทั่วโลกก็จริง แต่สิ่งหนึ่งที่ไวรัสโควิด-19 ไม่สามารถทำร้ายได้ก็คือความดีงามในใจและความสามัคคีของคนไทยจะกลับมาเปล่งประกายไปทั่วผืนแผ่นดินไทยอีกครั้ง
"ผมในฐานะนายกรัฐมนตรี ขอให้คำมั่นสัญญากับทุกคนว่า ผมจะเดินหน้าสุดความสามารถ เพื่อนำประเทศไทยให้ผ่านพ้นวิกฤตินี้ไปให้ได้ ความปลอดภัยและสวัสดิภาพของประชาชนชาวไทยทุกคนเป็นสิ่งสำคัญเหนืออื่นใด ผมขอให้ทุกคนเชื่อมั่นและร่วมมือกัน ฝ่าฟันวิกฤติครั้งนี้ไปด้วยกัน ประเทศไทยที่รักของเราทุกคน จะต้องกลับมาแข็งแรงอีกครั้ง เราจะสู้ไปด้วยกัน และเราจะชนะไปด้วยกัน ขอบคุณครับ" นายกฯ กล่าว
มีผลบังคับ26มี.ค.-30เม.ย.
จากนั้นได้มีประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในทุกเขตท้องที่ทั่วราชอาณาจักร ลงนามโดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 5 แห่ง พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 นายกรัฐมนตรีโดยความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรี จึงให้ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในทุกเขตท้องที่ทั่วราชอาณาจักร สำหรับประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงในเขตท้องที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ให้ยังคงมีผลบังคับใช้ต่อไปควบคู่กัน ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 26 มีนาคม 2563 จนถึงวันที่ 30 เมษายน 2563
ต่อจากนั้น สำนักนายกรัฐมนตรีออกแถลงการณ์ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน สรุปความว่า บัดนี้ทุกฝ่ายเห็นว่าสถานการณ์ควรยกระดับขึ้นสู่การบังคับใช้มาตรการขั้นสูงสุดได้แล้ว จะมีการโอนอำนาจบางประการของรัฐมนตรีตามกฎหมายบางฉบับมาเป็นของนายกรัฐมนตรี เท่าที่จำเป็นและเป็นการชั่วคราวเพื่อความรวดเร็วและบูรณาการ จะมีการออกข้อกำหนด คือข้อห้ามหรือข้อปฏิบัติบางอย่าง เช่น ห้ามเข้า-ออกสถานที่บางแห่ง ห้ามหรือจำกัดการเข้า-ออกราชอาณาจักรและการเคลื่อนย้ายประชาชนจำนวนมากข้ามเขตพื้นที่การควบคุม การใช้ยานพาหนะ เส้นทางจราจร การควบคุมสินค้าและเวชภัณฑ์
โดยรัฐบาลจะพิจารณาเลือกใช้เฉพาะมาตรการเท่าที่จำเป็นตามคำแนะนำทางการแพทย์และสาธารณสุข เพื่อป้องกันและระงับยับยั้งการแพร่ระบาดของโรค โดยถือว่าการดูแลรักษาสุขภาพอนามัยและชีวิตของประชาชน การจัดสรรทรัพยากรเวชภัณฑ์ และการให้บริการทางการแพทย์ให้ทั่วถึงเพียงพอแก่ประชาชนชาวไทย มีความสำคัญเร่งด่วนเป็นลำดับแรก ซึ่งแน่นอนว่าความสะดวกสบายของประชาชนในระหว่างนี้ย่อมลดน้อยลงกว่าเดิม เพราะทุกคนต้องปรับเปลี่ยนพฤติกรรม แต่ประชาชนยังสามารถใช้ชีวิตได้ตามปกติโดยไม่เกิดภาวะขาดแคลน ซึ่งจะเป็นเช่นนี้ไประยะหนึ่งตามที่กฎหมายให้อำนาจรัฐบาลประกาศได้เป็นคราวๆ ไป คราวละไม่เกิน 3 เดือน แต่อาจประกาศขยายเวลาต่อได้อีกตามความจำเป็นแห่งสถานการณ์
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับเนื้อหาของข้อกำหนดออกตามความในมาตรา 9 แห่ง พ.ร.ก.บริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 (ฉบับที่ 1) ที่นายกรัฐมนตรีได้ลงนามประกาศเมื่อวันที่ 25 มีนาคม 2563 และมีผลบังคับใช้ในวันที่ 26 มี.ค. มีเนื้อหาสรุปดังนี้ อาทิ ข้อ 1 การห้ามเข้าพื้นที่เสี่ยง ตามที่ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ผู้ว่าราชการจังหวัด หรือเจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต่อได้ประกาศหรือสั่งตามพระราชบัญญัติโรคติดต่อ พ.ศ.2558 ไว้ก่อนวันที่ข้อกำหนดนี้ใช้บังคับและที่ทางราชการจะประกาศ, ข้อ 2 การปิดสถานที่เสี่ยงต่อการติดต่อโรค, ข้อ 3 การปิดช่องทางเข้ามาในราชอาณาจักร, ข้อ 4 การห้ามกักตุนสินค้า โดยให้เจ้าหน้าที่ผู้เกี่ยวข้องตรวจและควบคุมดูแลผู้ประกอบการดังกล่าวอย่างเคร่งครัด ตามพระราชบัญญัติสำรวจการกักตุนโภคภัณฑ์ พ.ศ.2497 และกฎหมายที่เกี่ยวข้อง, ข้อ 5 การห้ามชุมนุม, ข้อ 6 ห้ามการเสนอข่าวหรือทำให้แพร่หลายทางสื่อต่างๆ ซึ่งมีข้อความหรือข่าวสารเกี่ยวกับสถานการณ์โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา (โควิด-19) อันไม่เป็นความจริง และอาจทำให้ประชาชนเกิดความหวาดกลัว, ข้อ 7 มาตรการเตรียมรับสถานการณ์
เด็ก คนแก่ มีโรค ให้อยู่บ้าน
ข้อ 8 มาตรการพึงปฏิบัติสำหรับบุคคลบางประเภท ให้กลุ่มคนที่มีความเสี่ยงสูงต่อการติดเชื้อโรคโควิด-19 ได้ง่ายดังต่อไปนี้ อยู่ในเคหสถานหรือบริเวณสถานที่พำนักของตน เพื่อป้องกันตนเองจากการติดเชื้อจากสภาพแวดล้อมภายนอก (1) ผู้สูงอายุตั้งแต่เจ็ดสิบปีขึ้นไป (2) กลุ่มคนที่มีโรคประจำตัว ได้แก่ โรคไม่ติดต่อเรื้อรังต่างๆ เช่น โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง โรคหลอดเลือดหัวใจและสมอง โรคในระบบทางเดินหายใจ โรคภูมิแพ้ซึ่งมีภูมิคุ้มกันต่ำตามธรรมชาติของโรคและด้วยยาที่ใช้รักษา (3) กลุ่มเด็กเล็กที่มีอายุต่ำกว่าห้าปีลงมา เว้นแต่บุคคลดังกล่าวมีความจำเป็นเพื่อการพบแพทย์
ข้อ 9 มาตรการเกี่ยวกับการออกนอกราชอาณาจักร, ข้อ 10 มาตรการดูแลความสงบเรียบร้อย, ข้อ 11 ให้มีมาตรการป้องกันโรคตามที่ทางราชการกำหนดเพื่อใช้ปฏิบัติเป็นการทั่วไป, ข้อ 12 นโยบายการยังคงให้เปิดสถานที่ทำการ, ข้อ 13 คำแนะนำเกี่ยวกับการเดินทางข้ามเขตพื้นที่จังหวัด, ข้อ 14 คำแนะนำในการจัดกิจกรรมอื่นๆ, ข้อ 15 โทษผู้ใดฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามข้อ 1 ข้อ 2 ข้อ 3 ข้อ 4 ข้อ 5 และ ข้อ 6, ข้อ 16 การใช้บังคับ ข้อกำหนดนี้ให้ใช้บังคับทั่วราชอาณาจักร (รายละเอียดหน้า 4)
ต่อมา นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี แถลงว่า เมื่อพ.ร.ก.ดังกล่าวมีผลบังคับใช้ นายกฯ สามารถสั่งการได้เหมือนเป็นเจ้ากระทรวง จะโอนอำนาจสั่งการของรัฐมนตรีมาที่นายกฯ เสมือนนายกฯ เป็นเจ้ากระทรวง แต่ไม่ใช่การปลดรัฐมนตรีรัฐมนตรียังรับผิดชอบเหมือนเดิม ซึ่งนายกฯ เป็นผู้อำนวยการสถานการณ์ทั่วประเทศ พร้อมแต่งตั้งรองนายกฯ ทุกคนเป็นผู้ช่วยผู้อำนวยการ และจะแต่งตั้งหัวหน้าผู้รับผิดชอบในด้านต่างๆ นอกจากนี้ ด้านการประสานงาน จะให้เลขาฯ สมช., เลขาฯ นายกฯ, เลขาฯ ครม. และปลัดสำนักนายกฯ รับผิดชอบการประสานงาน เหตุที่ต้องให้ปลัดกระทรวงเป็นหัวหน้าผู้รับผิดชอบนั้น เพราะพ.ร.ก.ฉุกเฉินกำหนดให้ผู้รับผิดชอบในด้านต่างๆ ต้องเป็นข้าราชการประจำตำแหน่งไม่ต่ำกว่าอธิบดี ส่วนรัฐมนตรีจะให้ทำงานในส่วนนโยบาย
นายวิษณุกล่าวว่า สำหรับการจัดตั้งศูนย์บริหารสถานการณ์โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา (โควิด-19) นั้น เป็นการยกระดับจากศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 เดิม มาเป็นศูนย์ดังกล่าวแทน นายกฯ สามารถสั่งการผ่าน ศอฉ.โควิด-19 โดยไม่ต้องเรียกประชุมเต็มคณะเพื่อขอมติ หรือประชุมผู้เกี่ยวข้องไม่กี่คนก็สามารถออกเป็นมติได้ และจะมีคณะกรรมการเฉพาะกิจที่ปรึกษา รวมถึงศูนย์ปฏิบัติการย่อย 5-6 ศูนย์ ทาง สมช.จะดำเนินการ
รองนายกฯ กล่าวว่า ข้อกำหนดในฉบับที่ 1 จะกำหนดพฤติกรรมต่างๆ เอาไว้ 3 ประเภท คือ ห้ามทำ, ให้ทำ และไม่ควรทำ โดยมาตรการที่เกี่ยวกับการห้ามทำคือ การห้ามประชาชน เช่น ห้ามเข้าพื้นที่เขตเดิมที่ผู้ว่าราชการแต่จังหวัดกำหนดให้ปิดสถานที่ไว้ ส่วนจังหวัดใดที่ผู้ว่าฯ ยังไม่มีการสั่งให้ปิด ให้ยึดคำสั่งในแนวทางเดียวกัน ต้องสั่งปิดหมดเพื่อป้องกัน แต่ไม่ต้องปิดเหมือนกันทั้งหมด ส่วนข้อกำหนดที่ให้ทำจะบังคับกับส่วนราชการ ให้กระทรวงเตรียมการช่วยเหลือประชาชน เช่น เตรียมสถานที่เพื่อใช้เป็นโรงพยาบาลสนาม เตรียมยา และบุคลากรทางการแพทย์
ส่วนเรื่องข้อกำหนดที่ควรทำ เช่น ประชาชนควรอยู่กับบ้านไม่ออกจากบ้าน ขณะนี้ยังไม่ถึงขั้นบังคับประชาชน แต่จวนแล้วที่จะสั่งห้าม ทั้งนี้ คำแนะนำของแพทย์ระบุไว้ว่า 3 กลุ่มเสี่ยงที่มีความเสี่ยงสูงที่จะติดเชื้อสูง ได้แก่ 1.บุคคลสูงอายุเกินกว่า 70 ปี 2.มีโรคประจำตัว เช่น เบาเหวาน ความดันสูง ทางเดินหายใจ โรคปอด และ 3.เด็กอายุไม่ถึง 5 ขวบ ทำขอให้อยู่ที่บ้าน เว้นแต่ต้องออกไปทำธุระที่มีความจำเป็น เช่น ติดต่อศาล ไปพบหมอ เราไม่ห้ามประชาชนเดินทางข้ามจังหวัด แต่จะมีมาตรการออกมาทำให้เกิดความลำบาก จนไม่น่าจะเดินทาง ยกเว้นคนที่จำเป็นจริงๆ โดยฝ่ายมั่นคงจะจัดทหาร ตำรวจ อาสาสมัครตั้งจุดสกัด หรือด่าน ดูว่ายานพาหนะนั้นมีการเว้นระยะในการนั่งหรือยืนบนรถห่างกัน 1 เมตร และสวมหน้ากากอนามัยหรือหน้ากากผ้า รวมทั้งเรียกลงมาตรวจวัดอุณหภูมิและใช้เจลล้างมือ และจะให้ผู้ที่เดินทางทำประวัติ ติดตั้งแอปพลิเคชันผ่านโทรศัพท์ให้สามารถติดตามตัวได้ หากผู้โดยสารร่วมในรถคันดังกล่าวมีผู้ติดเชื้อ จะเรียกตัวมาพบทันที
ยังไม่ปิดประเทศคนไทยกลับได้
“ที่ถามว่าปิดประเทศหรือยังนั้น เรายังไม่ปิด เพราะยังเปิดให้คนไทยกลับเข้ามาได้ แต่คนต่างประเทศก็เหมือนปิด เพียงแต่ท่าอากาศยานยังเปิดอยู่ ส่วนเรื่องปิดบ้านนั้น ยังกึ่งๆ ปิดสำหรับคน 3 ประเภทที่แนะนำ ส่วนที่รัฐบาลสนับสนุนให้เปิด และขอร้องอย่าปิดคือ โรงงาน ธนาคาร ร้านขายยา สถาบันการเงิน ร้านอาหาร ห้างสรรพสินค้าแผนกอาหาร ยา และสินค้าจำเป็นในชีวิตประจำวัน ซึ่งไม่ใช่แผนกแฟชั่น การบริการขนส่งสินค้า โดยการซื้อหาอาหารยังทำได้ตามปกติ แต่ห้ามกักตุนสินค้า ขณะที่สถานที่ราชการยังเปิดทำการปกติ และวันนี้ยังไม่ได้มีการประกาศเคอร์ฟิว ซึ่งเคอร์ฟิวกับ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ไม่ใช่เรื่องเดียวกัน เพียงแต่ พ.ร.ก.ฉุกเฉินให้มีอำนาจประกาศเคอร์ฟิวได้ แต่ถ้าวันหนึ่งต้องประกาศเคอร์ฟิวจะไม่เหมือนวันที่ผ่านมา ที่ประกาศเพื่อรักษาความมั่นคง แต่เชื้อโควิด-19 ไม่จำกัดเวลา ถ้าประกาศเคอร์ฟิวต้องทำ 24 ชั่วโมง แต่จะมีข้อยกเว้นจำนวนมาก เพื่อให้ซื้อหาอาหารได้ รวมถึงขนส่งสินค้า วิทยุโทรทัศน์จัดรายการได้ตามปกติ โดยจะประกาศเมื่อใดนั้นจะมีการประเมินสถานการณ์ทุกวัน เพราะขณะนี้เราอยู่ในสถานการณ์ฉุกเฉิน” นายวิษณุกล่าว
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับข้อกำหนดมาตรการพึงปฏิบัติสำหรับบุคคลบางประเภท โดยให้บุคคลที่มีความเสี่ยงสูงต่อการติดเชื้อได้ง่ายอยู่ในเคหสถาน หรือบริเวณสถานที่พำนักของตน ได้แก่ ผู้สูงอายุตั้งแต่ 70 ปีขึ้นไปนั้น ส่วนของ ครม.พบว่ามีรัฐมนตรีที่มีอายุ 70 ปีขึ้นไป 7 คน ประกอบด้วย พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ อายุ 74 ปี, พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา อายุ 71 ปี, นายดอน ปรมัตถ์วินัย อายุ 70 ปี, ม.ร.ว.จัตุมงคล โสณกุล รมว.แรงงาน อายุ 76 ปี, นายถาวร เสนเนียม รมช.คมนาคม อายุ 72 ปี, นายประภัตร โพธสุธน รมช.เกษตรและสหกรณ์ อายุ 70 ปี และคุณหญิงกัลยา โสภณพนิช รมช.ศึกษาธิการ อายุมากที่สุด 78 ปี
ผู้สื่อข่าวรายงานความเคลื่อนไหวของ พล.อ.ประยุทธ์ ตลอดทั้งวัน โดยในช่วงเช้าเวลา 08.50 น. นายกฯ ได้เรียกนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.สาธารณสุข และนายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม เข้าหารือที่ตึกไทยคู่ฟ้า โดยภายหลังหารือ นายอนุทินเปิดเผยว่า ได้พูดคุยถึงการนำแอปพลิเคชันมาใช้ในการติดตามผู้ป่วยที่ติดเชื้อโควิด-19 และอยู่ในกลุ่มเสี่ยง
ต่อมาช่วงบ่าย นายกฯ ได้เรียกรัฐมนตรีหลายคนหารือที่ตึกไทยคู่ฟ้า อาทิ นายวิษณุ เครืองาม รองนายกฯ, นายอนุทิน, พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย, นายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ รมว.ดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม, นายศักดิ์สยาม, นายฉัตรชัย พรหมเลิศ ปลัดกระทรวงมหาดไทย, พล.อ.พรพิพัฒน์ เบญญศรี ผู้บัญชาการทหารสูงสุด (ผบ.สส.) เป็นต้น ก่อนที่นายกฯ จะแถลงการณ์ผ่านรวมการเฉพาะกิจแห่งประเทศ ในเวลา 14.40 น.
จากนั้นเวลา 15.40 น. นายอนุทินเปิดเผยอีกครั้งภายหลังเข้าพบนายกฯ ว่า มาตรการต่างๆ ต้องเข้มข้นขึ้น ไม่ให้มีการเข้าประเทศของคนต่างชาติในช่วงนี้ เพื่อป้องกันเชื้อที่จะมาจากต่างชาติ เราจะได้มาเน้นในการรักษาคนที่อยู่ในประเทศให้ได้มากที่สุด ซึ่งกลุ่มใหญ่ๆ ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ เรามีมาตรการไม่ให้เขาเดินทางข้ามจังหวัด และส่งแพทย์ อสม. โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล เข้าไปเฝ้าระวัง ทำการรักษาคนที่ป่วย ส่วนคนที่เข้าข่ายจะป่วยก็ต้องเฝ้าระวังให้เรียบร้อยจัดให้เป็นโซนๆ
เมื่อถามว่า หลังประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน เหตุการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19 จะดีขึ้นหรือไม่ นายอนุทินกล่าวว่า ต้องดีขึ้น เชื่อเถอะ เมื่อถามว่าการออกมาตรการควบคุมการข้ามเขตจังหวัด จะทำให้การเคลื่อนย้ายคนลดลง และการแพร่เชื้อลดลงหรือไม่ นายอนุทินกล่าวว่า ถูกต้อง เพราะเชื้อนี้ไปกับคน ดังนั้นต้องอดทนที่จะอยู่ห่างกันซักระยะหนึ่ง หากทุกคนอยู่ห่างกันได้ ไม่สุงสิงกันแค่ 3 สัปดาห์ ทุกอย่างก็เรียบร้อย นั่นคือทฤษฎี แต่เราก็พยายามอยู่ห่างกันมากที่สุด แต่หากจะมีการติดเชื้อก็จะอยู่ในวงที่แคบที่สุด ซึ่งสามารถรักษาได้
กองทัพขยับจัดทำแผน
มีรายงานข่าวเปิดเผยว่า ภายหลัง พล.อ.พรพิพัฒน์ เบญญศรี ผู้บัญชาการทหารสูงสุด ได้รับการแต่งตั้งเป็นหัวหน้าผู้รับผิดชอบในการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินด้านความมั่นคงการปราบปรามอาชญากรรมทุกประเภท การปฏิบัติของเจ้าหน้าที่ทหารและตำรวจ โดยได้จัดทำแผนไว้ 3 ขั้นตอน ในการดูแลความเรียบร้อย ประกอบด้วย ขั้นที่ 1 การจัดตั้งจุดตรวจ, จุดให้คำแนะนำกับผู้ที่สัญจร อย่างน้อยจังหวัดละ 2 จุด ขึ้นอยู่กับขนาดพื้นที่ของจังหวัดนั้นๆ โดยให้ตำรวจ กระทรวงมหาดไทย, กระทรวงสาธารณสุขประสานงาน บูรณาการร่วมกับผู้ว่าราชการจังหวัด ในฐานะ ผอ.รมน.ระดับจังหวัด, ขั้นที่ 2 หากเจ้าหน้าที่ประจำจุดตรวจได้ให้คำแนะนำ และพูดถึงมาตรการในการป้องกันดูแลตนเองแล้ว แต่ประชาชนไม่เชื่อฟังคำสั่ง คำประกาศ อาจจะต้องใช้กำลังเพิ่มขึ้นมา อีกระดับหนึ่ง โดยการใช้เจ้าหน้าที่สารวัตรทหาร (สห.) เข้ามารวมในจุดตรวจเพิ่มเติม และขั้นที่ 3 การใช้กำลังทหารเข้ามาเต็มรูปแบบ คาดว่าเหตุการณ์ไม่น่าไปถึงจุดนั้น
ที่กองบัญชาการกองทัพบก พล.อ.อภิรัชต์ คงสมพงษ์ ผู้บัญชาการทหารบก (ผบ.ทบ.) ได้มีคำสั่งการถึงกำลังพลกองทัพบกว่า ตนขอสั่งการให้ปฏิบัติตามคำสั่ง โดยมีผลการบังคับใช้กับกำลังพลในสังกัดกองทัพบกทุกนาย 7 ข้อ อาทิ กำลังพลที่พักอาศัยในบ้านพักของทางราชการให้หลีกเลี่ยงการออกนอกบริเวณโดยไม่จำเป็น ห้ามนำบุคคลภายนอกเข้ามาพักอาศัยโดยเด็ดขาดยกเว้นได้รับการอนุมัติเป็นลายลักษณ์อักษรจากผู้บังคับบัญชาระดับผู้บังคับกองพันขึ้นไป และต้องปฏิบัติตามมาตรการป้องกันการโรคระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ตามประกาศของกระทรวงสาธารณสุขอย่างเคร่งครัด ห้ามกลับเข้าบ้านพักของทางราชการเกินเวลา 21.00 น. หากมีความจำเป็นให้ขออนุญาตผู้บังคับบัญชาเป็นรายบุคคล และให้ผู้บังคับกองร้อยและผู้บังคับกองพันจะต้องเป็นผู้ควบคุมการปฏิบัติอย่างใกล้ชิด และอยู่กับหน่วย
ทั้งนี้ เพื่อเป็นการพิทักษ์กำลังพลและครอบครัวของกองทัพบก ผู้บังคับหน่วยทุกนาย จะต้องทุ่มเท เสียสละดูแลผู้ใต้บังคับบัญชาอย่างดีที่สุด โดยเฉพาะน้องๆ พลทหาร ซึ่งมีกำลังพลถึง 120,000 นาย ถือว่าเป็นกำลังสำคัญของกองทัพบก ทั้งนี้ ให้ปฏิบัติตามคำสั่งทั้ง 7 ข้อ ตั้งแต่วันที่ 25 มี.ค.2563 ถึงวันที่ 23 เม.ย.2563 ทั้งนี้ตนมีความห่วงใยต่อพลทหารกองประจำการที่กำลังจะปลดประจำการสิ้นเดือนเม.ย.2563 จึงขอเสนอทางเลือกให้สมัครเป็นทหารกองประจำการต่อโดยกองทัพบกจะพิจารณาโอกาสให้เป็นนักเรียนนายสิบ
มีรายงานว่า กองทัพเตรียมแผนสำหรับรองรับการประกาศใช้พ.ร.ก.ฉุกเฉินไว้แล้ว โดย พล.อ.อภิรัชต์สั่งการให้กองทัพภาคที่ 1-4 เตรียมแผนและจัดกำลังทหารออกปฏิบัติหน้าที่เป็นผู้ช่วยเจ้าพนักงานร่วมกับตำรวจ อาทิ ตั้งจุดตรวจคัดกรอง ควบคุมพื้นที่ พร้อมทั้งบังคับใช้กฎหมาย โดยใช้มาตรการขั้นสูงสุดเพื่อสกัดยับยั้งโควิด-19 ไม่ให้แพร่ระบาด
ที่ศูนย์ปฏิบัติการสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ศปก.ตร.) พล.ต.อ.จักรทิพย์ ชัยจินดา ผบ.ตร. เป็นประธานการประชุมวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ไปยังกองบัญชาการตำรวจภูธรภาค 1-9 สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง กองบัญชาการตำรวจตระเวนชายแดน กองบัญชาการตำรวจท่องเที่ยว เพื่อรองรับมาตรการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินเกี่ยวกับการแพร่ระบาดเชื้อไวรัสโควิด-19 หลังรัฐบาลเตรียมประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน มีผลวันที่ 26 มี.ค.
ฝ่ายค้านขวางละเมิดสิทธิ์
ด้านนายวัฒนา เมืองสุข แกนนำพรรคเพื่อไทย โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัวว่า ตนเสนอให้รัฐบาลประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน ก็เนื่องจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ถือเป็นสถานการณ์ฉุกเฉินที่กระทบถึงความปลอดภัยสาธารณะ ทั้งนี้ มาตรการดังกล่าวจะต้องมีความเหมาะสมที่หลายฝ่ายเกรงกลัวว่า พล.อ.ประยุทธ์ จะถือโอกาสใช้อำนาจตามมาตรา 9 เพื่อจำกัดสิทธิและเสรีภาพประชาชน ยืนยันว่าทำไม่ได้ เพราะขัดกับเหตุผลในการประกาศใช้ พ.ร.ก. ตนก็ยังคงจะวิพากษ์วิจารณ์การทำงานของรัฐบาลเช่นเดิม และพร้อมที่จะด่าหากการกระทำดังกล่าวขัดต่อประโยชน์สาธารณะ หรือเป็นการทำอะไรโง่ๆ แบบที่ชอบทำ เพราะผู้นำโง่พวกเราจะตายกันหมดหรือ
ร.ต.อ.วัฒนรักษ์ อำนรรฆสรเดช กรรมการกิจการพิเศษ และหัวหน้าศูนย์ข้อมูลสารสนเทศ พรรคเพื่อไทย กล่าวว่า หากรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ต้องการออก พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ก็ควรที่จะเปิดรับฟังความคิดเห็นของทุกภาคส่วน และไม่ควรมีการควบคุมสื่อ หรือลิดรอนสิทธิเสรีภาพการแสดงความคิดเห็นและการรับรู้ข้อมูลข่าวสารของประชาชน จนทำให้การออก พ.ร.ก.ฉุกเฉินครั้งนี้ของรัฐบาลดูขัดกับหลักความเป็นจริง
นายชวลิต วิชยสุทธิ์ ส.ส.นครพนม พรรคเพื่อไทย กล่าวว่า ขอรัฐบาลได้โปรดอย่าคิดแบ่งฝักแบ่งฝ่าย เพราะในยามนี้ อะไรที่เป็นประโยชน์กับประชาชน ประเทศชาติ ต้องบูรณาการ ร่วมมือกันทุกฝ่าย การใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ถ้ารัฐบาลไม่สามารถลากคอผู้ที่ทำให้หน้ากากอนามัยขาดแคลน หาซื้อยาก และราคาแพง ถือว่ารัฐบาลไม่มีฝีมือ ไม่มีความจริงใจ รัฐบาลต้องจัดการอย่างจริงจังกับคนที่ประพฤติชั่ว หากินบนความเดือดร้อน บนความเป็นความตายของประชาชน ต้องหาหน้ากากอนามัยมาจำหน่ายแก่ประชาชนในราคา 2.50 บาท ตามราคาควบคุม เมื่อใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินแล้ว ต้องจริงจัง อย่าเพียงจับแต่ปลาซิวปลาสร้อยดังเช่นที่ผ่านมา
นายสมคิด เชื้อคง ส.ส.อุบลราชธานี พรรคเพื่อไทย รองประธานวิปฝ่ายค้าน กล่าวว่า กรณีครั้งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เข้ายึดอำนาจบริหารประเทศ พล.อ.ประยุทธ์มีอำนาจมากกว่านี้ ยังไม่สามารถบริหารจัดการได้ ครั้งนี้ก็เช่นกัน หวั่นใจว่าจะไม่สามารถแก้ปัญหาได้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินจึงไม่ได้เป็นคำตอบที่ถูกต้องเสมอไป หากรัฐมีการบริหารจัดการที่ดี ก็สามารถพาประเทศฝ่าวิกฤติได้ คนที่แถลงข่าวเพื่อบอกประชาชน ต้องให้คนที่พูดรู้เรื่องมาแถลง อย่าพูดแบบ พล.อ.ประยุทธ์ เพราะฟังไม่รู้เรื่อง
นายพลภูมิ วิภัติภูมิประเทศ ส.ส.กทม.พรรคเพื่อไทย กล่าวว่า การตัดสินใจดำเนินมาตรการดังกล่าวนั้นถือเป็นเรื่องที่ดี ขอสนับสนุนให้ประชาชนปฏิบัติตาม โดยให้ความร่วมมือกับหน่วยงานภาครัฐ แม้จะมีการปิดห้าง ปิดสถานบริการต่างๆ แล้ว แต่บ่อนการพนันในกรุงเทพมหานครหลายพื้นที่ยังคงเปิดให้บริการอยู่ ได้รับการร้องเรียนจากประชาชนมาหลายครั้ง สถานที่เหล่านี้เป็นแหล่งรวมคนจำนวนมาก จึงมีโอกาสสูงจะเป็นแหล่งกระจายเชื้อไวรัสโควิด-19 จึงอยากให้เจ้าหน้าที่ตำรวจเข้าไปกวดขันเข้มข้น และดำเนินคดีตามกฎหมาย
นายนิกร จำนง ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคชาติไทยพัฒนา ในฐานะผู้อำนวยการพรรค เปิดเผยว่า? สนับสนุนต่อมาตรการของรัฐบาลเพื่อสู้กับวิกฤติไวรัสโควิด-19 ในประเทศ ตามที่ประกาศ พ.ร.ก.บริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน เชื่อว่ารายละเอียดที่รัฐบาลเตรียมประกาศเพื่อขับเคลื่อนมาตรการในวันที่ 26 มีนาคมนั้นจะเป็นไปตามความจำเป็น.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |