จ่าพหลโยธินสุดท้ายกลายเป็นแกะหลงฝูง เจ้านายแถลงปิดคดี ระบุเพื่อนตำรวจส่วนใหญ่ยินดีให้หักเบี้ยเลี้ยงซื้อแอร์ ยุติสอบวินัยเอาผิดใครทั้งสิ้น แค่เข้าใจผิดเท่านั้น เจ้าตัวรับต่อไปอยู่ยาก อาจตัดสินใจลาออก บิ๊กแป๊ะหงุดหงิดไปร้องนอกหน่วย โยน ผกก.รับผิดชอบ
ที่ สน.พหลโยธิน วันที่ 29 มีนาคมนี้ พล.ต.ต.เอกชัย บุญวิสุทธิ์ ผู้บังคับการตำรวจนครบาล 2 พร้อมด้วย พ.ต.อ.อิทธิเชษฐ์ วงษ์หอมหวล ผู้กำกับการ สน.พหลโยธิน ได้เปิดแถลงชี้แจงกรณีผู้ใต้บังคับบัญชาขัดแย้งกันเรื่องหักเงินเบี้ยเลี้ยงตกเบิกซื้อเครื่องปรับอากาศติดตั้งในห้องประชุมของฝ่ายสืบสวน
โดยผู้บังคับการตำรวจนครบาล 2 เปิดเผยว่า จากการตรวจสอบข้อเท็จจริงด้วยการสอบปากคำตำรวจฝ่ายสืบสวนทั้ง 10 นาย ที่ถูกหักเงินเป็นค่าซื้อแอร์ ต่างให้การสอดคล้องกันว่าให้หักเงินด้วยความสมัครใจ ยกเว้น จ.ส.ต.เลอศักดิ์ นนท์ขุนทด ผู้บังคับหมู่งานสืบสวน ผู้ร้องเท่านั้นที่ไม่สมัครใจและไม่เห็นด้วย แต่กรณีนี้เป็นเรื่องภายในที่เกิดจากความเข้าใจผิดกัน เชื่อว่าไม่กระทบการทำงานภายใน และยืนยันว่าจะไม่มีการดำเนินการทางวินัยต่อฝ่ายหนึ่งฝ่ายใด และผู้บังคับบัญชาจะคืนเงินให้แก่ผู้ที่ไม่สมัครใจ
ขณะเดียวกัน จ.ส.ต.เลอศักดิ์ชี้แจงต่อสื่อมวลชนทันทีหลังผู้บังคับบัญชาชี้แจงจบ โดยยืนยันว่าตนเองไม่สมัครใจให้เงินจำนวนดังกล่าวแต่แรก เพราะเงินจำนวนนี้เป็นสิทธิ์ของตนเองที่ได้มาจากเบี้ยเลี้ยงตกเบิกการตั้งด่านความมั่นคงช่วงกลางปีที่แล้ว และที่ผ่านมาไม่เคยถูกหักเงินเป็นค่าซ่อมบำรุงอุปกรณ์ที่ชำรุดในที่ทำงาน ทั้งยอมรับเงินเดือนปกติไม่ได้มาก ชีวิตไม่ได้สบาย และยังต้องมาเจอเหตุการณ์บั่นทอนกำลังใจในการทำงานแบบนี้ รู้สึกเสียใจ
ทั้งนี้ จ.ส.ต.เลอศักดิ์ยืนยันว่าจะดำเนินการตามขั้นตอนต่อไปตามที่ได้ร้องเรียนไปก่อนหน้านี้แล้ว ส่วนชีวิตการทำงานหลังจากนี้ยอมรับกังวลใจในบรรยากาศการทำงาน และกำลังพิจารณาโยกย้ายปรับเปลี่ยนการทำงาน หรืออาจลาออกจากอาชีพข้าราชการตำรวจ
ที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ พล.ต.อ.จักรทิพย์ ชัยจินดา ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ กล่าวถึงกรณี จ.ส.ต.เลอศักดิ์ นนท์ขุนทด ผบ.หมู่ สส.สน.พหลโยธิน นำเอกสารร้องเรียนขอความเป็นธรรมสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.) หลัง พ.ต.ต.ชลากร ปานแดง และ พ.ต.ต.เอกราช โอมาก สว.สส.สน.พหลโยธิน ใช้อำนาจหน้าที่สั่งการขอหักเงินเบี้ยเลี้ยงจากตำรวจชั้นผู้น้อย 11 นาย เพื่อจัดซื้อเครื่องปรับอากาศติดตั้งในห้องสืบสวน สน.พหลโยธิน ว่า เรื่องนี้ถ้าจะมองว่าเป็นเรื่องเล็กก็ไม่เล็ก มองว่าเป็นเรื่องใหญ่ก็ไม่ใหญ่ เป็นเรื่องการปกครองภายใน ต้องดูเจตนาของสารวัตรด้วยว่าเจตนาดีหรือไม่ดี ถ้าเจตนาดีก็อีกเรื่องหนึ่ง เจตนาไม่ดีก็ดูไม่ดี ว่าไปหักเบี้ยเลี้ยงลูกน้องทำไม เรื่องนี้ ผกก.หัวหน้าสถานีต้องไปดูแลลูกน้องอย่างใกล้ชิดด้วย อะไรที่ขาดเหลือต้องดูแล ไม่ใช่ปล่อยลักษณะเรี่ยไรอย่างนี้ ต้องลงไปแก้ไข อุปกรณ์ขาดเหลือก็ต้องเสนอขอมาในระดับ บก. บช. ตามลำดับ
"แต่ถ้าเหตุเร่งด่วน แอร์เสีย น้ำไม่ไหล เป็นเรื่องปกติ แต่บางทีผู้บังคับบัญชาเด็กๆ อาจอึดอัด สิ่งเหล่านี้พูดจากันได้ในโรงพัก ยิ่งฝ่ายสืบสวนมีไม่กี่คนหรอก สามารถพูดจากันได้ ไม่ควรจะไปที่หน่วยอื่น จริงๆ ก็แล้วแต่ ผมไม่ได้ปกป้องใคร แต่ผมมองว่าให้ดูที่เจตนา ถ้าทุกคนเห็นว่าแอร์เสีย เอามาใช้ส่วนรวม ไม่ได้เอาไปติดที่ห้องสารวัตรคนเดียว หรือห้อง ผกก. อย่างนี้ก็ไม่ได้ ไม่ถูกเรื่อง" ผบ.ตร.กล่าว
ผู้สื่อข่าวถามว่า ผบ.ตร.มีความเห็นว่าไม่ควรไปร้องที่ ป.ป.ท.ใช่หรือไม่ พล.ต.อ.จักรทิพย์กล่าวว่า ผู้บังคับบัญชามีตั้งหลายระดับชั้นที่จะให้ความเป็นธรรม ตั้งแต่ ผกก. รอง ผบก. ผบก.น.2 หรือไปที่ บช.น.ก็ได้ ผู้บังคับบัญชาจะได้รับรู้ปัญหาด้วย การร้องทุกข์ร้องเรียนต่อหน่วยอื่นจะมีความผิดตามระเบียบของสำนักงานตำรวจแห่งชาติหรือไม่ ให้ผู้บังคับบัญชาในนครบาลไปว่ากัน ที่ตนบอกมันไม่ใช่เรื่องเล็กหรือเรื่องใหญ่ มองเป็นเรื่องปกติก็ได้
เมื่อถามว่าการเรี่ยไรเงินในสถานีตำรวจแบบนี้เป็นเรื่องปกติ ธรรมเนียมปฏิบัติ หรือไม่ ผบ.ตร.กล่าวว่า อย่าไปเรียกว่าเรี่ยไรเงิน แต่อะไรที่มันเสีย ต้องซ่อมแซมให้ใช้ได้โดยไม่สามารถรองบประมาณปกติ ก็ต้องดำเนินการไป ตนเชื่อว่ามีอยู่หลายร้อยโรงพักที่ดำเนินการลักษณะแบบนี้ ตำรวจในโรงพักช่วยกันระดมทุนแบบนี้ต้องขึ้นอยู่กับหัวหน้าหน่วยบริหารจัดการและทำความเข้าใจ เรื่องนี้ตนขอพูดในภาพรวม แต่ก็จะสั่ง พล.ต.ท.ชาญเทพ เสสะเวส ผู้บัญชาการตำรวจนครบาล ไปดู ลักษณะแบบนี้จะเป็นอุทาหรณ์ ก็ขยายความไปในโซเชียลมีเดีย มีการแสดงความคิดเห็นต่างๆ นานา ขยายความไปเรื่อยๆ ส่วนที่ตอนนี้มีข่าวว่าตำรวจที่เป็นผู้ไปร้องเรียนอาจจะรู้สึกผิด อึดอัดในการอยู่ในโรงพัก ก็เป็นเรื่องที่ ผบช.น.ต้องไปจัดการ อะไรก็แล้วแต่ที่ทำให้เกิดความแตกแยก แตกความสามัคคี หน่วยมีกฎระเบียบอยู่แล้ว เรื่องนี้ผู้บังคับบัญชาต้องเอาใจใส่ ตนเน้นย้ำเรื่องการใช้งบประมาณมาตลอด เรื่องนี้ตนไม่ทราบรายละเอียดว่าการเรี่ยไรของผู้บังคับบัญชาเป็นการสมัครใจหรือไม่ อย่างไร ย้ำว่าตนไม่ก้าวก่าย แต่หากตำหนิ ต้องตำหนิหัวหน้าหน่วย ไม่ตำหนิเด็กอยู่แล้ว
ด้าน พล.ต.อ.จรัมพร สุระมณี กรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.) เปิดเผยว่า หลังรับเรื่องร้องเรียน ป.ป.ท.ได้ส่งเรื่องให้สำนักปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ 5 ซึ่งรับผิดชอบงานด้านตำรวจ ดำเนินการสอบสวนและรวบรวมพยานหลักฐาน ส่วนจะเรียกตัวเจ้าหน้าที่ตำรวจทั้ง 11 นาย เข้ามาสอบปากคำเพิ่มเติมหรือไม่ ขึ้นอยู่กับดุลพินิจของพนักงานสอบสวน อย่างไรก็ตาม ขณะนี้เรื่องยังไม่ถึงบอร์ด ป.ป.ท. ส่วนตัวเห็นว่าการที่จะพิจารณาว่ามีการกระทำที่ทุจริตหรือไม่นั้น ต้องดูว่าการกระทำเป็นการกระทำผิดต่อตำแหน่งราชการ หรือกระทำผิดต่อความยุติธรรมหรือไม่ ทั้งนี้ ยังต้องพิจารณาว่าผู้บังคับบัญชาใช้อำนาจหน้าที่เกินกว่าเหตุในการหักเงินผู้ใต้บังคับบัญชาหรือไม่ กรณีที่เงินเข้าบัญชีส่วนบุคคลแล้ว หากผู้ใต้บังคับบัญชาไม่สมัครใจก็ไม่สามารถหักเงินได้ เพราะไม่ใช่เงินขององค์กร
"กรณีนี้ไม่ควรเป็นกรณีศึกษา และไม่ควรเป็นตัวอย่าง แต่เป็นข้อจำกัดของการทำงาน ซึ่งผู้บริหารองค์กรสามารถตั้งงบประมาณในการจัดซื้อจัดจ้างได้ โดยผู้บริหารจะต้องสอดส่องดูแล ในด้านกฎหมาย ผมไม่ขอออกความเห็น มันอยู่ที่ระบบคุณธรรมและจริยธรรมของผู้บริหาร" พล.ต.อ.จรัมพรกล่าว.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |