ยิ้มสยามในสายตาศิลปินรางวัลศิลปกรรม “ช้างเผือก”


เพิ่มเพื่อน    

ผลงานรางวัลช้างเผือก “เสน่ห์ศิลป์แผ่นดินสยาม” โดยธมลวรรณ แสงนาค

 

 

     คนไทยไม่ใช่เสือยิ้มยาก ทำให้ประเทศไทยได้ชื่อว่าเป็นสยามเมืองยิ้ม มีรอยยิ้มเป็นเอกลักษณ์ประจำชาติ ทั้งยังสร้างความประทับใจให้กับชาวต่างประเทศที่ได้เดินทางมาท่องเที่ยวประเทศไทย ได้พบกับอัธยาศัยไมตรีของคนไทย ประเทศไทยที่อบอุ่นด้วยรอยยิ้ม ปฏิเสธไม่ได้ว่าเกิดจากประวัติศาสตร์ชาติไทยและความอุดมสมบูรณ์ของบ้านเมือง

      และ “สยามเมืองยิ้ม” คือโจทย์ที่ท้าทายสุดๆ ของโครงการประกวดศิลปกรรมช้างเผือก ครั้งที่ 9 จัดโดยบริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) โดยเปิดเวทีให้เหล่าศิลปินและผู้สร้างสรรค์ผลงานศิลปะตีความนิยามความสุขและความหวังความปรารถนาอันดีที่ผู้คนพึงมีต่อกันที่อยู่เบื้องหลังใบหน้าที่เปี่ยมไปด้วยรอยยิ้ม รวมถึงมุ่งให้ผู้เสพศิลป์ชาวไทยจินตนาการเรื่องราวของสยามเมืองยิ้มผ่านผลงานศิลปกรรม

 

บรรยากาศคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิพิจารณาตัดสินรางวัลศิลปกรรมช้างเผือก 

 

      ล่าสุด คณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิตัดสินโครงการประกวดศิลปกรรมช้างเผือก ครั้งที่ 9 ได้พิจารณาคัดเลือกผลงานศิลปะที่ถ่ายทอดความหมายได้ตรงกับหัวข้อการประกวดและแสดงถึงทักษะฝีมืออันฉกาจของศิลปิน ซึ่งผลปรากฏว่า ผลงานที่ได้รับรางวัลช้างเผือก ได้แก่ “เสน่ห์ศิลป์แผ่นดินสยาม” โดย ธมลวรรณ แสงนาค รับเงินรางวัล 1,000,000 บาท รางวัลชนะเลิศ ได้แก่ “สุขสัมพันธ์ สามัญวิธี” โดย นิลยา บรรดาศักดิ์ รับเงินรางวัล 500,000 บาท รางวัล CEO AWARD ได้แก่ “ผมทรงกะลาครอบ” โดย มานนท์ สุธรรม รับเงินรางวัล 250,000 บาท นอกจากนี้ยังมีรางวัลรองชนะเลิศ 5 รางวัล รางวัลละ 200,000 บาท ประกอบด้วย คเณศ แสนศรีลา, จรัญ บุญประเดิม, บุญนำ สาสุด, พฤกษ์ โตหมื่นไวย, เรืองฤทธิ์ สร่องศรี และรางวัลชมเชยอีก 13 รางวัล รางวัลละ 100,000 บาท ทุกรางวัลศิลปินรังสรรค์บอกเล่าในชิ้นงาน โดยมีรากฐานมาจากความที่ไทยเป็นประเทศแห่งรอยยิ้ม

 

.“สุขสัมพันธ์ สามัญวิธี” โดย นิลยา บรรดาศักดิ์ พิชิตรางวัลชนะเลิศ

 

      นิติกร กรัยวิเชียร ผู้อำนวยการโครงการส่งเสริมศิลปวัฒนธรรม บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า การประกวดศิลปกรรมช้างเผือก เกิดจากความตั้งใจอันดีของบริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) มีวัตถุประสงค์เพื่อเฟ้นหาศิลปินไทยรุ่นใหม่ที่มีทักษะความสามารถทางศิลปะอันโดดเด่นในการสร้างสรรค์ศิลปะแบบเหมือนจริงและศิลปะรูปลักษณ์ โดยยึดถือความเหมือนจริงเป็นแก่นสำคัญ เพื่อให้ผลงานศิลปะเหล่านี้เป็นอีกหนึ่งแนวทางที่สำคัญ ในการเผยแพร่ความรู้ความเข้าใจด้านศิลปะร่วมสมัยให้ขยายไปสู่การรับรู้ของสังคมในวงกว้าง การดำเนินการประกวดศิลปกรรมช้างเผือก เริ่มต้นขึ้นตั้งแต่ปี พ.ศ.2554 และดำเนินงานต่อเนื่องมาเป็นประจำทุกปี โดยปี พ.ศ.2563 ซึ่งนับเป็นการจัดการประกวดครั้งที่ 9 ภายใต้หัวข้อ 'สยามเมืองยิ้ม' ได้รับการตอบรับเป็นอย่างดี ศิลปินผู้สร้างสรรค์ผลงานศิลปะได้แสดงฝีมือและความคิดสร้างสรรค์ โดยตีความจากโจทย์ที่กำหนดให้ ซึ่งศิลปินที่เข้าร่วมประกวดแต่ละคนต่างสร้างผลงานที่น่าสนใจในรูปแบบและแนวทางที่แตกต่างได้อย่างน่าประทับใจ และได้รับการตอบรับเป็นอย่างดี

      “ ปีนี้มีศิลปินจำนวน 205 คน ส่งผลงานเข้าร่วมประกวดจำนวน 235 ชิ้น มีผลงานที่ได้รับรางวัล 21 ชิ้น และผลงานที่ได้รับคัดเลือกให้ร่วมแสดงในนิทรรศการ 34 ชิ้น รวมผลงานจัดแสดงในนิทรรศการ 55 ชิ้น บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) รู้สึกสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณของสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี อย่างหาที่สุดมิได้ ที่ได้เสด็จพระราชดำเนินมาทรงเป็นประธานในการพระราชทานรางวัลตั้งแต่การประกวดครั้งแรกตราบจนปัจจุบัน และขอขอบพระคุณคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ ตลอดจนศิลปินผู้ส่งผลงานเข้าร่วมการประกวดทุกคน และจะมุ่งมั่นในการส่งเสริมและสนับสนุนให้วงการศิลปะร่วมสมัยของประเทศไทยประสบความสำเร็จสืบเนื่องต่อไปในอนาคต” นิติกร กล่าว

 

ผู้บริหารไทยเบฟและกรรมการคัดสรรผลงานโดดเด่นได้รับรางวัลศิลปกรรมช้างเผือก

 

      ศิลปินหญิงมากฝีมือ ธมลวรรณ แสงนาค ผู้ชนะรางวัลช้างเผือกภายใต้ผลงานชื่อ “เสน่ห์ศิลป์แผ่นดินสยาม” เผยถึงแรงบันดาลใจว่า ผลงานชิ้นนี้ใช้เทคนิคภาพพิมพ์ตะแกรงไหมและวัสดุผสมที่งดงามมลังเมลืองด้วยทิวทัศน์วัดวังมลังเมลือง บ่งบอกถึงวัฒนธรรม ประเพณี และวิถีชีวิตความเป็นอยู่แบบไทยอันสงบสุข สวยงาม สอดรับกับหัวข้อ สยามเมืองยิ้ม เป็นอย่างดี

      “ ชิ้นงานสื่อถึงความเจริญรุ่งเรืองของศิลปวัฒนธรรม วิถีชีวิตชาวสยาม ผ่านรูปแบบอัตลักษณ์ลวดลายผ้าที่แฝงไปด้วยความประณีตงดงาม ใช้ระยะเวลารังสรรค์ชิ้นงานนี้ 3 เดือน ตั้งใจทำผลงานนี้ออกมาให้ดีที่สุด รู้สึกเป็นเกียรติและภูมิใจมากๆ ที่งานชิ้นนี้ได้รับรางวัลช้างเผือก ขอบคุณโครงการศิลปกรรมช้างเผือกที่เปิดโอกาสให้สร้างสรรค์ผลงานศิลปะและได้พัฒนาฝีมือ รวมถึงแสดงฝีมือในการสร้างงานศิลป์ได้อย่างเต็มที่ ก่อนหน้านี้เคยส่งผลงานประกวดเวทีศิลปกรรมช้างเผือก ครั้งที่ 8 ได้รางวัลชมเชย ครั้งนั้นจัดหัวข้อ 'รื่นเริง เถลิงศก'” ธมลวรรณ ศิลปินช้างเผือกคนล่าสุด กล่าว

ประติมากรรม "รอยยิ้มกลางสายฝน" ของพฤกษ์ โตหมื่นไวย คว้ารองชนะเลิศ

 

      อีกศิลปินหญิงที่ฝีมือโดดเด่น พิชิตรางวัลแทบทุกครั้ง นิลยา บรรดาศักดิ์ เจ้าของรางวัลชนะเลิศจากผลงานชื่อ “สุขสัมพันธ์ สามัญวิธี” เผยว่า รู้สึกดีใจมากที่งานชิ้นนี้ได้รับรางวัลชนะเลิศ นำเรื่องราวความประทับใจในวิถีการลงแขกเกี่ยวข้าวของสังคมชนบทอีสานบ้านเกิดอันเป็นเอกลักษณ์มาเป็นแรงบันดาลใจ สร้างสรรค์ผลงานศิลปะร่วมสมัย โดยใช้เทคนิคกระบวนการเย็บปักเส้นด้าย ร้อยเรียงเรื่องราวความรัก ความสัมพันธ์ ผสานพลังความสามัคคี ก่อเกิดความสุขของการร่วมแรงร่วมใจช่วยเหลือซึ่งกันและกัน ภายใต้การใช้ชีวิตที่เรียบง่าย เราสามารถปรับประยุกต์วิถีชีวิตให้เข้ากับสภาพสังคมที่เปลี่ยนแปลงไปได้อย่างกลมกลืน โดยยึดตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของในหลวงรัชกาลที่ 9 ที่ตรัสถึง “ความพอเพียงสร้างได้ก็ต่อเมื่อคนในชุมชนช่วยเหลือเกื้อกูลกัน” เป็นประโยคที่จุดประกายความคิดให้ตนเล็งเห็นถึงการมีส่วนร่วมจากส่วนรวม เพื่อสร้างสรรค์และสานสัมพันธ์ชุมชนไทยให้ยั่งยืน ทั้งนี้นิทรรศการ “ศิลปกรรมช้างเผือก ครั้งที่ 9” ภายใต้หัวข้อ 'สยามเมืองยิ้ม' มีแผนจะเปิดให้ผู้สนใจเข้าชมผลงานที่หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานครด้วย เป็นการเผยแพร่งานศิลปะร่วมสมัยให้เป็นที่รู้จักในวงกว้าง ครั้งที่แล้วตนก็ส่งงานประกวด ได้รางวัลช้างเผือก

      “ ในช่วงเทศกาลปีใหม่ที่ผ่านมา ครอบครัวของเรามีกิจกรรมลงแขก ภาพทั้งหมดเป็นภาพของเครือญาติเป็นบรรยากาศที่อบอุ่นและมีความสุข เป็นวิถีชีวิตของชนบทไทย ความสุขมักเกิดขึ้นจากการลงมือทำด้วยตัวเอง ประสบการณ์ที่ส่งผ่านจากรุ่นสู่รุ่น การร่วมแรงร่วมใจผ่านวิถีชีวิตอันเรียบง่ายผ่านกิจกรรมสัมพันธ์ในรูปแบบต่างๆ ล้วนสะท้อนภาพความสัมพันธ์อันแน่นแฟ้น สอดประสานกลมเกลียวกันได้อย่างสวยงามตามวิถีแห่งการพึ่งพาอาศัยกัน ผลงานชิ้นนี้ใช้เทคนิคเย็บ ปัก ถัก ร้อย ซึ่งเป็นเทคนิคที่ถนัดอยู่แล้ว ใช้ระยะเวลา 2 เดือนก็เสร็จสมบูรณ์” นิลยา กล่าว

ผลงานรางวัลชื่อ “ผมทรงกะลาครอบ” โดย มานนท์ สุธรรม เห็นแล้วต้องอมยิ้ม

 

      เช่นเดียวกับ มานนท์ สุธรรม ศิลปินกลุ่มศิลปาศรี ครั้งนี้เขานำผลงานชื่อ “ผมทรงกะลาครอบ” คว้ารางวัล CEO AWARD และเผยถึงแนวคิดงานชิ้นนี้ว่า ร้านตัดผมมักจะสะท้อนวิถีชีวิตและบ่งบอกถึงเรื่องราวความเป็นมาของสังคมไทยได้เป็นอย่างดี ผมทรงกะลาครอบ อาจจะดูเชยและน่าขบขัน แต่ก็มีเสน่ห์ มีประวัติศาสตร์ร่วม เชื่อว่า ทุกคนเคยผ่านหรือสัมผัสครั้งเมื่อวัยเด็ก ตนและเพื่อนๆ มักจะโดนล้อกับผมทรงนี้ คิดว่าใครที่ชมภาพนี้คงจะต้องยิ้มตามไปด้วย สอดคล้องกับหัวข้อสยามเมืองยิ้ม ผลงานชิ้นนี้เทคนิคสีน้ำมันบนผ้าลินิน ทุ่มทำงานตลอด 2 เดือน จนแล้วเสร็จ รู้สึกดีใจมากๆ ที่คณะกรรมการตัดสินให้ได้รับรางวัลนี้ ถือเป็นเกียรติอันสูงสุด

      สำหรับ การประกวดศิลปกรรมช้างเผือก ประจำปี 2564 จะจัดเป็นครั้งที่ 10 ได้กำหนดหัวข้อ “ในฝัน” สื่อความหมายแนวความคิดเกี่ยวกับความฝัน จินตนาการ ความใฝ่ฝันอันดีงามทั้งในเชิงเศรษฐกิจ สังคม ศีลธรรม วิถีชีวิตความเป็นอยู่ของผู้คนในแต่ละพื้นถิ่น อีกทั้งยังเปิดโอกาสให้ศิลปินผู้สร้างสรรค์ผลงานสามารถตีความความฝันทั้งในแง่มุมที่เป็นนามธรรมและรูปธรรม ในสายตาศิลปินเป็นความฝันที่สามารถเป็นจริงได้หรือเพียงความฝันที่เป็นจินตนาการอันสวยงาม นอกจากนั้นยังหมายรวมถึงความรัก ความผูกพัน ความปรารถนา ปณิธาน ความฝันอันสูงสุด ความดีงามที่อยากสรรค์สร้างให้เกิดขึ้นจริง หรือการหวนรำลึกถึงความทรงจำอันมีคุณค่าที่จารึกไว้ในฝันของตนเอง

      เช่น เคยการประกวดมุ่งเน้นส่งเสริมการสร้างสรรค์ผลงานแบบเหมือนจริงที่มีเรื่องราวเนื้อหาอันดีงาม การตัดสินงานจะไม่แยกประเภทและวัสดุ ศิลปินสามารถส่งผลงานจิตรกรรม ประติมากรรม ภาพพิมพ์ และสื่อผสม โดยไม่จำกัดเทคนิคและวัสดุ ทั้งนี้จะเปิดรับผลงานในระหว่างวันที่ 29-30 มกราคม 2564 สามารถติดตามรายละเอียดได้ทางเฟซบุ๊ก: ศิลปกรรมช้างเผือก, www.thaibev.com และ www.bacc.or.th 

 

 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"