วันที่ 25 มี.ค. - พล.อ.ดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ องคมนตรี เป็นประธานในพิธีลงนามบันทึกความเข้าใจผ่านระบบวีดีโอคอนเฟอเร้นระหว่างมหาวิทยาลัยราชภัฏ 38 แห่งทั่วประเทศ และกรมส่งเสริมวัฒนธรรม (สวธ.) เพื่อเตรียมการฟื้นฟูเศรษฐกิจฐานรากภายหลังสถานการณ์แพร่ระบาดของโรค COVID-19 คลี่คลาย โดยใช้วัฒนธรรมและภูมิปัญญาชุมชนท้องถิ่นเป็นฐาน และบูรณาการองค์ความรู้วิชาการที่สอดรับกับบริบทของพื้นที่ในทุกมิติเป็นตัวขับเคลื่อน โดยแผนปฏิบัติการจะดำเนินการทันทีเมื่อผ่านพ้นวิกฤติการแพร่ระบาด ได้แก่ 1. การนำนวัตกรรมและเทคโนโลยีสมัยใหม่มาประยุกต์ใช้กับวัฒนธรรมและมรดกทางภูมิปัญญาด้านวัฒนธรรมเพื่อยกระดับเศรษฐกิจชุมชน 2. จัดทำข้อมูลมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมของชุมชนท้องถิ่นให้สามารถขึ้นทะเบียนระดับชาติและระดับสากล เพื่อสร้างฐานการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมที่จะนำรายได้มาสู่ชุมชนท้องถิ่น 3.สร้างการมีส่วนร่วมของนักศึกษา คณาจารย์ และชุมชนท้องถิ่นในลักษณะ Area Based ต่อยอดสร้างสรรค์วัฒนธรรมท้องถิ่นให้มีมูลค่าเพิ่มกลับคืนสู่ชมชน และ 4. การพัฒนามรดกทางวัฒนธรรมผ้าไทยสู่สากล ขยายตลาดสร้างมูลค่าเศรษฐกิจสร้างรายได้ให้กับชุมชน
ด้านนายอิทธิพล คุณปลื้ม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) กล่าวว่า มหาวิทยาลัยราชภัฎทั่วประเทศถือเป็นสถาบันการศึกษาเพื่อการพัฒนาท้องถิ่นตามพระบรมราโชบายของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เพื่อช่วยให้เกิดการพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนซึ่งความร่วมมือกับมหาวิทยาลัยราชภัฎที่มีการทำงานร่วมกับชุมชนท้องถิ่นอยู่แล้วจะช่วยยกระดับในการนำองค์ความรู้มรดกภูมิปัญญาที่ สวธ.ได้ประกาศขึ้นทะเบียนเป็นมรดกของชาติไว้แล้วจำนวน 354 รายการได้ใช้ประโยชน์ และสามารถนำมาต่อยอดสร้างรายได้ โดยจะเดินหน้าสร้างการรับรู้และมีส่วนร่วมของคนในชุมชนให้เกิดความภาคภูมิใจ โดยมหาวิทยาลัยราชภัฎจะนำองค์ความรู้ที่รวบรวมไว้มาเตรียมความพร้อมจัดกิจกรรม และสร้างผลิตภัณฑ์ รวมถึงการพัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยวทางวัฒนธรรม หลังสถานการณ์การแพร่ระบาดคลี่คลาย โดยองคมนตรีได้กำชับให้การดำเนินการไม่ให้กระทบมาตรการทางสาธารณสุขในการป้องกันการเฝ้าระวังโควิด โดยเริ่มรวบรวมเอกสารวิชาการ ไม่มีการรวมตัวของกลุ่มคนโดยใช้การประชุมคอนเฟอเรน หากลงพื้นที่ต้องคำนึงถึงความพร้อมด้านสุขอนามัย
" แต่ละมหาวิทยาลัยจะมีการดำเนินงานถ่ายทอดองค์ความรู้แต่ละภูมิภาค เช่น การแสดงโปงลางของอีสาน การแสดงโนราห์ ของภาคใต้ จะมีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับ สวธ. สำหรับปีนี้จะเริ่มดำเนินการเรื่องผ้าท้องถิ่นเป็นหลัก เพราะสามารถต่อยอดสร้างเศรษฐกิจได้เฉพาะคนที่ตกงานในช่วงสถานประกอบการหยุดงานชั่วคราว โดยประสานงานกับผู้ประกอบการท้องถิ่นให้มีการจ้างงานการตัดเย็บ และทอผ้า ให้มีรายได้ระหว่างการไม่มีงานทำ พร้อมกันนี้จะมีการศึกษารวบรวมข้อมูลทางวิชาการเกี่ยวกับผ้าท้องถิ่นภูมิภาคต่างๆ จัดทำหนังสือแนะนำแนวโน้มการตัดเย็บผ้า และคุณสมบัติของตัวผ้าพื้นถิ่นแต่ละชนิดให้กับผู้ประกอบการ โดยที่ สวธ.จะประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อหาตลาดรองรับ เช่น กระทรวงมหาดไทย กระทรวงพาณิชย์ กรมส่งเสริมการส่งออก โดยจัดทำเป็นสินค้าวัฒนธรรมไทย หรือ ซีพอต 5 ดาวรองรับการจำหน่ายในตลาดต่างๆ" นายอิทธิพล กล่าว