ครม.ไฟเขียวมาตรการดูแลและเยียวยาผลกระทบจากโควิด-19 ระยะ 2 ชดเชยรายได้แรงงานที่ไม่อยู่ในประกันสังคม 5 พันบาท/เดือน ในระยะเวลา 3 เดือน พร้อมออกสินเชื่อกู้เงินดอกเบี้ยต่ำ โยน 3 ธนาคารรัฐดูแล พร้อมออกอีก 7 มาตรการเยียวยาผู้ประกอบการ
นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี เปิดเผยถึงผลการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ที่มีการอนุมัติมาตรการดูแลและเยียวยาผลกระทบจากไวรัสโคโรนา (โควิด-19) ต่อเศรษฐกิจไทยทั้งทางตรงและทางอ้อม ระยะที่ 2 ที่มีการเสนอจากกระทรวงการคลัง ว่าเป็นการออกมาตรการดูแลและเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบทั้งประชาชนและผู้ประกอบการอย่างเร่งด่วน เนื่องจากการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 ขยายวงกว้างขึ้น โดยเฉพาะการเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องของจำนวนผู้ติดเชื้อในประเทศไทย ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยทั้งทางตรงและทางอ้อม โดยมีมาตรการดูแลและเยียวยาทั้งทางตรงและทางอ้อม ระยะที่ 2 ดังนี้ 1.มาตรการดูแลและเยียวยา “แรงงานลูกจ้าง ลูกจ้างชั่วคราว อาชีพอิสระที่ไม่อยู่ในระบบประกันสังคม” ซึ่งได้รับผลกระทบประกอบด้วย 8 มาตรการ ดังนี้
1.1 มาตรการชดเชยรายได้แก่แรงงานลูกจ้าง ลูกจ้างชั่วคราว อาชีพอิสระที่ไม่อยู่ในระบบประกันสังคมหรือผู้ได้รับผลกระทบอื่น ๆ ของการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 เพื่อช่วยเหลือเยียวยาให้กับกลุ่มเป้าหมายดังกล่าวที่ได้รับผลกระทบจากการหยุดประกอบกิจการของสถานประกอบการที่เสี่ยงต่อการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ซึ่งเป็นสถานที่ที่มีคนแออัด เบียดเสียด ง่ายต่อการแพร่เชื้อ เช่น สนามมวย สนามกีฬา ผับ สถานบันเทิง โรงมหรสพ นวดแผนโบราณ สปา ฟิตเนส สถานบริการอื่นๆ เป็นต้น หรือผู้ได้รับผลกระทบอื่นๆ
ทั้งนี้ ไม่รวมผู้ประกันตนตามมาตรา 33 ที่มีคุณสมบัติครบตามเงื่อนไขการได้รับประโยชน์ทดแทนกรณีว่างงานจากสำนักงานประกันสังคม ไม่รวมข้าราชการและข้าราชการบำนาญ และไม่รวมเกษตรกร (กลุ่มเกษตรกรได้รับความช่วยเหลืออื่นๆ จากรัฐบาลอยู่แล้ว) ทั้งนี้ ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) จะเป็นผู้รับลงทะเบียนเข้าร่วมมาตรการ เป้าหมาย รวมทั้งสิ้น 3 ล้านคน โดยการสนับสนุนเงินช่วยเหลือรายละ 5,000 บาทต่อเดือน เป็นระยะเวลา 3 เดือน ตั้งแต่เม.ย.-มิ.ย.2563 รวมวงเงินทั้งสิ้น 45,000 ล้านบาท ผ่านการลงทะเบียนแสดงความจำนงตรวจสอบคุณสมบัติและการโอนเงินผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ เช่น พร้อมเพย์ตามเลขบัตรประจำตัวประชาชน โอนเข้าบัญชีธนาคาร กระเป๋าเงินอิเล็กทรอนิกส์ เป็นต้น ส่วนวิธีการขอรับความช่วยเหลือจะเป็นไปตามแนวทางที่กระทรวงการคลังกำหนด
1.2 โครงการสินเชื่อฉุกเฉิน เพื่อเพิ่มสภาพคล่องชั่วคราวในการดำรงชีวิตแก่ประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากไวรัสโควิด-19 โดยไม่จำเป็นต้องมีหลักประกัน โดยธนาคารออมสินและธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) สนับสนุนสินเชื่อวงเงินรวม 40,000 ล้านบาท (ธนาคารออมสิน 20,000 ล้านบาท และ ธ.ก.ส. 20,000 ล้านบาท) วงเงินต่อรายไม่เกิน 10,000 บาท คิดอัตราดอกเบี้ยคงที่ไม่เกิน 0.1% ต่อเดือน ระยะเวลากู้ไม่เกิน 2 ปี 6 เดือน ปลอดชำระเงินต้นและดอกเบี้ย 6 เดือนรับคำขอสินเชื่อถึงวันที่ 30 ธ.ค.2563
1.3 โครงการสินเชื่อพิเศษเพิ่มเติม เพื่อเพิ่มสภาพคล่องชั่วคราวในการดำรงชีวิตแก่ประชาชนที่มีรายได้ประจำ โดยมีหลักประกัน โดยธนาคารออมสิน สนับสนุนสินเชื่อวงเงินรวม 20,000 ล้านบาท วงเงินต่อรายไม่เกิน 50,000 บาท คิดอัตราดอกเบี้ยคงที่ไม่เกิน 0.35% ต่อเดือน ระยะเวลากู้ไม่เกิน 3 ปี รับคำขอสินเชื่อถึงวันที่ 30 ธ.ค.2563
1.4 โครงการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำสำหรับสำนักงานธนานุเคราะห์เพื่อช่วยเหลือประชาชนฐานรากที่ได้รับผลกระทบทั้งทางตรงและทางอ้อมจากการระบาดของไวรัสโควิด-19 เพื่อช่วยเหลือประชาชนฐานรากที่ได้รับผลกระทบ โดยธนาคารออมสินสนับสนุนเงินทุนดอกเบี้ยต่ำวงเงินรวม 2,000 ล้านบาท ให้แก่กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ในนามของสำนักงานธนานุเคราะห์ (สธค.) โดยคิดดอกเบี้ยในอัตรา 0.1% ต่อปี และ สธค. คิดดอกเบี้ยจากประชาชนในอัตราไม่เกิน 0.125% ต่อเดือน ระยะเวลา 2 ปี
1.5 มาตรการเสริมความรู้ พิจารณาดำเนินการจัดฝึกอบรมเพื่อเพิ่มทักษะ เสริมอาชีพ เพื่อเสริมสร้างความรู้ให้กับผู้ที่ได้รับผลกระทบของการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 หรือผู้ที่สนใจ พร้อมทั้งจัดทำกิจกรรมเพื่อสังคม (ซีเอสอาร์), 1.6 มาตรการเลื่อนเวลาการชำระภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา โดยเลื่อนเวลาการชำระภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา จากเดิมสิ้นสุดวันที่ 30 มิ.ย.2563 เป็นสิ้นสุดวันที่ 31 ส.ค.2563 เพื่อบรรเทาภาระให้แก่ผู้มีหน้าที่เสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดามีสภาพคล่องเพิ่มขึ้น
1.7 มาตรการเพิ่มวงเงินหักลดหย่อนค่าเบี้ยประกันสุขภาพ โดยเพิ่มวงเงินหักลดหย่อนค่าเบี้ยประกันสุขภาพจากเดิมตามจ่ายจริงไม่เกิน 15,000 บาท เป็นไม่เกิน 25,000 บาท และเมื่อรวมกับการหักลดหย่อนค่าเบี้ยประกันชีวิตและเงินฝากประเภทสงเคราะห์ชีวิตแล้วต้องไม่เกิน 100,000 บาท ทั้งนี้ ตั้งแต่ปีภาษี 2563 เป็นต้นไป เพื่อให้ประชาชนมีหลักประกันสุขภาพเพิ่มขึ้นและมีภาระค่าใช้จ่ายในการดูแลสุขภาพลดลง และรัฐสามารถนำรายจ่ายด้านสาธารณสุขที่ลดลงจากการทำประกันสุขภาพของประชาชนไปช่วยเหลือประชาชนกลุ่มผู้มีรายได้น้อยทั้งในด้านสาธารณสุขและด้านอื่นๆ ได้มากขึ้น
1.8 มาตรการยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาสำหรับค่าตอบแทนในการเสี่ยงภัยของบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุข โดยยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาสำหรับ 1 ค่าตอบแทนเสี่ยงภัยในการเฝ้าระวัง สอบสวน ป้องกัน ควบคุม และรักษาผู้ป่วยจากไวรัสโควิด-19 ค่าตอบแทนบุคคลที่มิใช่ข้าราชการหรือข้าราชการที่มีความรู้ ความสามารถ และประสบการณ์ในการให้คำปรึกษาด้านการแพทย์และสาธารณสุข เพื่อรับมือกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ที่ได้รับแต่งตั้งจากกระทรวงสาธารณสุข
ซึ่งเป็นเงินได้พึงประเมินที่ได้รับในปีภาษี 2563 เพื่อสนับสนุนบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขที่ปฏิบัติงานเกี่ยวกับการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ไม่มีภาระภาษีสำหรับค่าตอบแทนพิเศษจากการปฏิบัติงานดังกล่าวและมีขวัญกำลังใจในการปฏิบัติงานเพิ่มขึ้น
2.มาตรการดูแลและเยียวยา “ผู้ประกอบการ” ประกอบด้วย 7 มาตรการ ดังนี้ 2.1 โครงการสินเชื่อเพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการรายย่อยที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของไวรัสโควิด-19 เพื่อเสริมสภาพคล่องในการดำเนินธุรกิจและแบ่งเบาภาระค่าใช้จ่ายในการประกอบธุรกิจของผู้ประกอบการรายย่อยที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของไวรัสโควิด-19 ได้แก่ ธุรกิจทัวร์ ธุรกิจสปา ธุรกิจขนส่งที่เกี่ยวเนื่อง (รถทัวร์ รถบัส รถตู้ รถแท็กซี่ เรือนำเที่ยว รถเช่า) บริษัทนำเที่ยว โรงแรม ห้องพัก และร้านอาหาร โดยธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.) สนับสนุนสินเชื่อวงเงินรวม 10,000 ล้านบาท วงเงินต่อรายไม่เกิน 3 ล้านบาท คิดอัตราดอกเบี้ย 3% สำหรับ 2 ปีแรก ระยะเวลาการกู้ยืมสูงสุดไม่เกิน 5 ปี รับคำขอสินเชื่อถึงวันที่ 30 ธ.ค.2563
สำหรับมาตรการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำเพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบทั้งทางตรงและทางอ้อมจากการระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ภายใต้มาตรการดูแลและเยียวยาผลกระทบจากไวรัส ต่อเศรษฐกิจไทยทั้งทางตรงทางอ้อม ระยะที่ 1 นั้น เพื่อเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพในการดำเนินโครงการ ครม. จึงได้มอบหมายให้ธนาคารออมสินเป็นผู้นำหลักในการปล่อยสินเชื่อให้กับผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบโดยเร็ว เพื่อประคองให้ธุรกิจสามารถอยู่รอดในภาวะเช่นนี้
2.2 มาตรการเลื่อนเวลาการชำระภาษีเงินได้นิติบุคคล โดยเลื่อนเวลาการชำระภาษีเงินได้นิติบุคคลให้แก่บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ไม่ได้จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ดังนี้ 1.รอบระยะเวลาบัญชีปี 2562 (ภ.ง.ด.50) สำหรับกรณีที่จะต้องยื่นรายการชำระภาษีตั้งแต่วันที่ 1 เม.ย.2563 ถึงวันที่ 30 ส.ค.2563 ออกไปเป็นภายในวันที่ 31 ส.ค.63 2.รอบระยะเวลาบัญชีปี 2563 (ภ.ง.ด.51) สำหรับกรณีที่จะต้องยื่นรายการชำระภาษีตั้งแต่วันที่ 1 ก.ค.2563 ถึงวันที่ 29 ก.ย.2563 ออกไปเป็นภายในวันที่ 30 ก.ย.63 เพื่อให้ผู้ประกอบการมีสภาพคล่องเพิ่มขึ้นจากการเลื่อนชำระภาษีตาม ภ.ง.ด.50 ประมาณ 120,000 ล้านบาท และจากการเลื่อนชำระภาษีตาม ภ.ง.ด.51 ประมาณ 30,000 ล้านบาท
2.3 มาตรการเลื่อนเวลาการยื่นแบบแสดงรายการ นำส่ง และชำระภาษี โดยเลื่อนเวลาการยื่นแบบแสดงรายการ นำส่ง และชำระภาษีทุกประเภทที่กรมสรรพากรจัดเก็บ เช่น ภาษีมูลค่าเพิ่ม ภาษีธุรกิจเฉพาะ เป็นต้น ให้แก่ผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบจาก ได้แก่ 1.ผู้ประกอบการที่ต้องปิดสถานประกอบการตามคำสั่งของทางราชการ เช่น กระทรวงมหาดไทย องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น กระทรวงสาธารณสุข เป็นต้น 2.ผู้ประกอบการอื่นๆ ที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัส เฉพาะที่มีเหตุอันสมควรให้เลื่อนเวลาออกไป โดยกระทรวงการคลังจะพิจารณาเป็นรายกรณี เพื่อเป็นการลดภาระในการจัดทำเอกสารและการเพิ่มสภาพคล่องให้กับผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบดังกล่าว
2.4 มาตรการขยายเวลาการชำระภาษีให้แก่ผู้ประกอบอุตสาหกรรมสินค้าน้ำมันและผลิตภัณฑ์น้ำมัน เพื่อบรรเทาภาระภาษีแก่ผู้เสียภาษีที่ได้รับผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจชะลอตัวจากการแพร่ระบาดไวรัสฯ กรมสรรพสามิตให้ผู้ประกอบอุตสาหกรรมน้ำมันและผลิตภัณฑ์น้ำมันจากเดิมยื่นขอชำระภาษีภายใน 10 วันเป็นภายในวันที่ 15 ของเดือนถัดจากเดือนที่นำสินค้าออกจากโรงอุตสาหกรรม หรือคลังสินค้าทัณฑ์บน โดยให้ดำเนินการดังกล่าวเป็นระยะเวลา 3 เดือน ตั้งแต่เม.ย.-มิ.ย.63
2.5 มาตรการขยายเวลาการยื่นแบบรายการภาษีพร้อมกับชำระภาษีของการประกอบกิจการสถานบริการที่จัดเป็นบริการตามบัญชีพิกัดอัตราภาษีสรรพสามิต เพื่อบรรเทาภาระภาษีแก่ผู้ประกอบกิจการสถานบันเทิงที่ได้รับผลกระทบจากการให้ปิดสถานที่ที่เสี่ยงต่อการแพร่ระบาดที่มีคนแออัด เบียดเสียด ง่ายต่อการแพร่เชื้อไวรัส COVID-19 เป็นการชั่วคราว กรมสรรพสามิตขยายเวลาการยื่นแบบรายการภาษีพร้อมกับชำระภาษีของการประกอบกิจการสถานบริการ ได้แก่ ไนต์คลับ ดิสโก้เธค ผับ บาร์ ค็อกเทลเลาจน์
โดยรวมถึงสถานที่ที่จำหน่ายอาหารและเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ โดยจัดให้มีการแสดงดนตรีหรือการแสดงอื่นใดเพื่อการบันเทิง ซึ่งปิดทำการหลังเวลา 24.00 น. และสถานอาบน้ำหรืออบตัว และนวด ตลอดจนกิจการเสี่ยงโชคประเภทสนามแข่งม้า และสนามกอล์ฟ ให้ยื่นแบบรายการและชำระภาษีภายในวันที่ 15 ก.ค. 2563
2.6 มาตรการยกเว้นอากรขาเข้าของที่ใช้รักษา วินิจฉัย หรือป้องกันโรคติดเชื้อโควิด-19 โดยยกเว้นอากรขาเข้าของที่ใช้รักษา วินิจฉัย หรือป้องกันโรค ติดเชื้อไวรัส ตามรายการที่กระทรวงสาธารณสุขประกาศกำหนด ตั้งแต่วันที่ประกาศกระทรวงการคลังมีผลบัง
นายลวรณ แสงสนิท ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง กล่าวว่า มาตรการดังกล่าวจะสามารถกระจายเงินสู่ผู้ที่มีสิทธิ์ได้รับได้ภายในช่วงต้นเดือนเม.ย.63 นี้ ซึ่งผู้ที่ได้รับสิทธิ์ชดเชยรายได้แก่แรงงานลูกจ้าง รายละ 5,000 บาทต่อเดือน เป็นระยะเวลา 3 เดือน จะต้องเป็นคุณสมบัติ เป็นแรงงาน ลูกจ้างชั่วคราว อาชีพอิสระ ที่ไม่อยู่ในระบบประกันสังคม ที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 โดยต้องมีหลักฐาน 1.บัตรประจำตัวประชาชน 2.ข้อมูลส่วนบุคคล 3.ข้อมูลนายจ้าง โดยลงทะเบียนผ่าน w ww.เราไม่ทิ้งกัน.com และรอตรวจสอบคุณสมบัติและรับเงินเยียวยาผ่านบัญชีธนาคาร หรือพร้อมเพย์ที่ผูกกับเลขบัตรประจำตัวประชาชน
“งบประมาณทั้งหมดที่จะใช้ในมาตรการดังกล่าวอยู่ที่ 4,500 ล้านบาท และถ้ามีความต้องการมากกว่า 3 ล้านรายที่กำหนดไว้ ก็อาจจะมีการขยายโควตาเพิ่มขึ้นอีก แต่ต้องมีการเสนอเข้า ครม. ใหม่อีกครั้ง เพื่อขออนุมัติงบเพิ่มเติม” นายลวรณกล่าว.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |