ฝ่ายนิติบัญญัติ...มีไว้ทำไม จะปล่อยรบ.ลำพังจริงหรือ


เพิ่มเพื่อน    

         การแก้ปัญหาไวรัสโควิด-19 หากจะประสบความสำเร็จต้องได้รับความร่วมมือจากหลายฝ่าย โดยมีโต้โผหลักคือรัฐบาล ที่ต้องมีความชัดเจน บูรณาการการทำงานไปในทิศทางเดียว พร้อมมาตรการที่รองรับต้องตอบโจทย์ดับความเดือดร้อนของผู้ได้รับผลกระทบ  

                อีกส่วนหนึ่งคือความร่วมมือของประชาชน จำเป็นจะต้องมีวินัยและปฏิบัติคำแนะนำจากผู้เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะจากทีมแพทย์และบุคลากรสาธารณสุข  ซึ่งถือว่าเป็นจุดแข็งของประเทศอยู่ในเวลานี้ โดยคำแนะนำต่างๆ อาทิ การกักตัวเองอยู่กับบ้าน หยุดกิจกรรมสังคม กินร้อน ช้อนกู มิปล่อยให้สถานการณ์บานปลายอย่างเช่นประเทศอิตาลีและอิหร่านที่พบผู้เสียชีวิตเป็นประจำนวนมาก 

                ที่ผ่านมารัฐบาลถูกตั้งคำถามในเรื่องบริหารจัดการ นำมาซึ่งความเชื่อมั่นหดหาย จนเกิดเป็นวิกฤติซ้อนวิกฤติ โดยเฉพาะปมที่ถูกต่อว่ากันทั่วบ้านทั่วเมืองคือ หน้ากากอนามัยที่ไม่เพียงพอตั้งแต่บุคลากรทางการแพทย์และประชาชน  สอดแทรกด้วยคนในรัฐบาลกักตุนหน้าหน้ากากอนามัยเพื่อนำไปเวียนเทียนไปต่างประเทศ ก่อนนำกลับมาในประเทศราคาสูง 

                ซ้ำเติมด้วยความไม่ชอบมาพากล เรื่องข้อมูล การส่งออกหน้ากากอนามัยของกรมศุลกากร กระทรวงการคลัง กับกรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์ ที่ตัวเลขการส่งออกไม่ตรงกัน ทั้งที่มีคำสั่งห้ามการส่งออกไปแล้ว ก่อนจะเกิดการฟ้องร้องหมิ่นประมาท แก้เกี้ยวแทนที่จะหาคนผิดมาลงโทษ ทำให้ความเชื่อถือของรัฐบาลติดลบถึงขีดสุด 

                ขณะที่การชี้แจงของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม แถลงผ่านโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจฯ ว่า “ประเทศไทยต้องชนะ” เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาก็ไม่สามารถสร้างความเชื่อมั่นอะไรได้เลย  เพราะชาวบ้านต้องการเพียงหน้ากากอนามัยยังจัดการไม่ได้

                หรือกระทั่งเหตุการณ์ล่าสุดคือการปิด กทม.ของผู้ว่าฯ กทม. ที่ถือเป็นมาตรการแรงและถูกต้องตามหลักการแพทย์ แต่รัฐบาลกลับพลาดโดยไม่มีมาตรการรองรับ ทำให้คนแห่กลับภูมิลำเนา อย่างเช่นภาพผู้คนไปรวมตัวเบียดเสียดที่สถานีขนส่งหมอชิตมากถึง 8 หมื่นคนในช่วงวัน 22 มี.ค.ที่ผ่านมา   สร้างความหวั่นวิตกให้ทีมแพทย์ และเจ้าหน้าที่สาธารณสุข ที่เชื่อว่าอาจทำให้ไวรัสโควิด-19 แพร่ระบาดออกไปต่างจังหวัด รวมทั้งประเทศเพื่อนบ้าน ส่วนคนชั้นกลางก็ออกไปกักตุนอาหารแห้ง และยารักษาโรคกันเป็นจำนวนมาก

                ขณะที่โฆษกรัฐบาล ถือว่าเป็นจุดบอดสำคัญ ที่ผ่านมาสร้างความสับสับและตื่นตระหนก เป็นเหตุให้จนกระทั่งมีข้อเรียกร้องจำเป็นจะต้องเปลี่ยนทีมงานโฆษกรัฐบาลเสียใหม่  พร้อมปรับรูปแบบการทำงานให้ข้อมูลไปในทิศทางเดียวกันหรือไม่ ส่วนมาตรการเยียวยา และการแก้ปัญหาของ ครม.ต้องไปรอถึงการประชุม ครม.ในวันที่ 24 มี.ค. ซึ่งถือว่าล่าช้าและเดินตามหลังการแก้ปัญหา ท่ามกลางที่กระแสโลกเปลี่ยนเป็นยุคไอทีไปหมดแล้ว   

                คำถามและข้อเรียกร้องก็ตามจะปล่อยให้รัฐบาลคิด พล.อ.ประยุทธ์ รับผิดชอบเพียงลำพังอย่างนั้นหรือ เพราะระบบการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ยังมีระบบรัฐสภาเอาไว้ด้วย โดยมีหน้าที่ควบคุมการบริหารประเทศ ผ่านการปรึกษาหารือ ตั้งกระทู้ ประชุมกรรมาธิการ เสนอญัตติเพื่ออภิปรายทั่วไปเสนอแนะรัฐบาลโดยไม่ลงมติ แต่กลไกนี้กลับถูกแช่แข็งเพราะอยู่ในช่วงปิดสมัยประชุม ทั้งที่มีข้อเสนอจากหลายฝ่าย ไม่ว่าจะเป็นพรรคร่วมรัฐบาล พรรคฝ่ายค้าน หรือกระทั่งอดีตประธานสภาฯ  และประธานวุฒิสภาทั้ง 6 คนในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา ก็น่ารับฟัง

                การรีบชิงปิดกั้นการเปิดประชุมสมัยวิสามัญ เพื่อแก้ปัญหาเรื่องโควิด-19 ของประธานคณะกรรมการประสานงานสภาผู้แทนราษฎร (วิปรัฐบาล) หรือแกนนำพรรคพลังประชารัฐ ถือว่าถูกต้องเหมาะสมแล้วหรือไม่ ด้วยเหตุผลเกรงว่าจะถูกฝ่ายค้านฉวยโอกาสซ้ำเติมรัฐบาล ทั้งที่ช่วงเวลานี้คงไม่มีใครนำการเมืองมาซ้ำเติมประเทศ แต่ต้องการคนที่มีวุฒิภาวะ มีความรู้ ความสามารถและประสบการณ์ มาร่วมหาทางออกให้ประเทศ  

                จะยอมปล่อยให้ ส.ส.และ ส.ว.เขียนเฟซบุ๊กแถลงข่าวแต่คนหน้าประจำ เพียงไม่กี่คนเนื้อหาก็วนเวียนกับการเสนอแนะการแก้ปัญหาต่างๆ วิพากษ์วิจารณ์รัฐบาล การปกครองแก้ต่างให้รัฐบาล ต่อปากต่อคำไปมาระหว่าง ส.ส.ฝ่ายค้านกับ ส.ส.ฝ่ายรัฐบาล การแจ้งความดำเนินคดีในเรื่องเล็กๆ น้อยๆ ที่ไร้สาระ ฯลฯ

                ดังนั้น หากรัฐบาลโดย พล.อ.ประยุทธ์ เปลี่ยนวิธีคิดเป็นรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์คนใหม่ และใช้วิกฤติชาติครั้งนี้สร้างเป็นโอกาส ด้วยความจริงใจ และใช้กลไกรัฐสภาร่วมหาทางออกอย่างสร้างสรรค์ ไปพร้อมกับรัฐบาล อย่างน้อยประชาชนที่เฝ้าติดตามก็อาจเกิดความหวัง เห็นความสามัคคีไม่แบ่งฝักแบ่งฝ่าย ที่ทุกคนต้องการเห็นชาติผ่านพ้นวิกฤติครั้งนี้ไปให้ได้

                สอดคล้องกับข้อเสนอบางส่วนจากคอลัมน์กาแฟดำ “สุทธิชัย หยุ่น” นสพ.ไทยโพสต์ วันที่ 24 มี.ค.ฝากไว้

                “ผมอยากให้รัฐสภาเชิญทุกพรรคการเมืองมาร่วมฝ่าวิกฤติเหมือนไทยเจอสงคราม อยากให้รัฐบาลกางแผนให้ผู้นำศาสนา ผู้นำธุรกิจ ปราชญ์ชาวบ้าน ว่าเราจะเดินตามนี้นะ เรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องของท่านประยุทธ์หรือพรรคใดๆ เป็นเรื่องของคนไทย 68 ล้านคน เราจะได้มีพลังมากขึ้น”

                อย่างไรก็ตาม หากสมมุติว่าข้อเสนอที่ผ่านจากรัฐสภาแล้วสามารถชนะน็อกไวรัสโควิด-19 ได้ พล.อ.ประยุทธ์คนใหม่อาจกลายเป็นวีรบุรุษของประเทศ แต่ในทางกลับกันหากรัฐบาลแบกภาระเพียงลำพัง โดยไม่ให้ราคาฝ่ายนิติบัญญัติร่วมแก้ปัญหา และสุดท้ายสถานการณ์เลวร้ายดึ่งเหว... ก็นึกไม่ออกเลยว่าเรือที่มีกัปตันประยุทธ์จะมีชะตากรรมอย่างไร. 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"