สธ.แถลงผู้ตรวจติดเชื้อเพิ่มขึ้น 122 ราย ชี้เหตุช่วงนี้ตัวเลขพุ่งเพราะใช้ผลแล็บเดียว “หมอศุภกิจ” ชี้ไทยอยู่บนทางสองแพร่ง จะให้เลือกผู้ติดเชื้อค่อยๆ เพิ่มแล้วลดเหมือนชาติเอเชียหรือให้พุ่งโด่งเหมือน “ยุโรป-สหรัฐ” ระบุช่วงนี้เป็นโอกาสทองสกัดโควิด-19 หากอยู่บ้านหยุดเชื้อเพื่อชาติ “หมอมนูญ” เผยเชื้ออิตาลีจากสนามมวยรุนแรงจนทำให้ไทยอาการหนัก “นพ.ทวี” รับหนักสุดในรอบ 20 ปี “บิ๊กตู่” ย้ำพร้อมใช้มาตรการเด็ดขาดเมื่อถึงเวลา
เมื่อวันจันทร์ นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) แถลงข่าวสถานการณ์โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโควิด-19 ว่ามีผู้ป่วยยืนยันรายใหม่ 122 ราย แบ่งเป็น 3 กลุ่ม คือ 1.กลุ่มสัมผัสผู้ป่วยหรือสถานที่ที่พบผู้ป่วยก่อนหน้านี้ 20 ราย ได้แก่ กลุ่มสนามมวย 4 ราย โดยเป็นพี่เลี้ยงนักมวย ผู้เคยไปค่ายมวย ซึ่งพบที่จังหวัดนนทบุรี นครปฐม และอุบลราชธานี กลุ่มสัมผัสผู้ป่วย 16 ราย คือสัมผัสผู้ป่วยจากการไปสังสรรค์ ทำงานกับต่างชาติ นั่งรถคันเดียวกัน ร่วมประชุม กินข้าว โดยมีทั้งอาชีพพนักงานส่งของ พนักงานบริษัท นักเรียน พนักงานนวด ญาติผู้ใหญ่ ซึ่งพบที่ กทม. อุบลราชธานี และศรีสะเกษ
นพ.ทวีศิลป์กล่าวอีกว่า 2.กลุ่มผู้ป่วยรายใหม่ 10 ราย คือ เดินทางจากต่างประเทศ 4 ราย เป็นชาวไทย 2 ราย กลับจากปอยเปตและเยอรมนี และเป็นชาวต่างชาติ 2 ราย เป็นชาวสวิตเซอร์แลนด์ และฝรั่งเศส และกลุ่มทำงานหรืออาศัยในสถานที่แออัดต้องใกล้ชิดคนจำนวนมากหรือเกี่ยวข้องกับชาวต่างชาติ 6 ราย เป็นพนักงานผับบาร์ พนักงานขับรถรับส่งชาวต่างชาติ ดีเจในผับ พบที่ จ.สุราษฎร์ธานี ร้อยเอ็ด ภูเก็ต กทม. และกระบี่ และ 3.กลุ่มรับผลแล็บยืนยันติดเชื้อ อยู่ระหว่างรอประวัติสอบสวนโรค 92 ราย
นพ.ทวีศิลป์กล่าวต่อว่า มีผู้ป่วยรักษาหายเพิ่ม 7 ราย สรุปมีผู้ป่วยสะสมรวม 721 ราย กลับบ้านแล้ว 52 ราย เสียชีวิต 1 ราย ยังรักษาตัวในโรงพยาบาล 668 ราย และผู้ป่วยอาการหนัก 7 ราย ซึ่งรักษาที่สถาบันบำราศนราดูร, รพ.เพชรบูรณ์, รร.แพทย์ และ รพ.เอกชน โดยยังต้องใส่เครื่องช่วยหายใจและดูแลอย่างใกล้ชิด
“การมีผู้ป่วยเพิ่มจำนวนช่วงนี้ เพราะปรับระบบนิยามใหม่ จากเดิมใช้ผลแล็บ 2 แห่งตอนนี้ใช้ผลแค่แล็บเดียว ทำให้ยอดผลบวกแล็บเดียวที่ค้างท่ออยู่พุ่งขึ้นมา 188 รายในวันเดียว และหลังจากนี้คาดว่าจะมีตัวเลขผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นวันละกว่า 100 ราย ส่วนแนวโน้มผู้ป่วยรายใหม่ ต่างจังหวัดเพิ่มมากขึ้น จากการย้ายถิ่นฐานกลับไปก่อนและหลังประกาศปิดสถานที่บางแห่งใน กทม.และปริมณฑล ทั้งนี้ ขอย้ำว่าทุกคนที่กลับไปขอให้รายงานตัวต่อเจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต่อ ทั้งสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด (สสจ.) หรือ รพ.ในจังหวัดและอำเภอ สาธารณสุขอำเภอ กำนัน ผู้ใหญ่ บ้าน อสม. แสดงตัวได้เลยว่ามาจาก กทม. และให้ปฏิบัติตามคำแนะนำ สธ. กักตัวเองที่บ้านอย่างเคร่งครัด 14 วัน” นพ.ทวีศิลป์กล่าว
ชี้ช่วงโอกาสทอง
นพ.ทวีศิลป์ย้ำว่า ขอให้ประชาชนให้โอกาสให้ทุกคนที่เดินทางกลับบ้านได้แสดงตัวเอง ทำให้เขาได้ภาคภูมิใจว่า คนที่เดินทางมาจาก กทม. กักกันตัวเองในบ้านอย่างเคร่งครัด 14 วัน โดยให้ทำแบบเดียวกับผู้ใช้แรงงานที่กลับจากเกาหลีใต้ ส่วนผู้ชมหรือผู้ที่ทำงานในสนามมวย สถานบันเทิงที่กลับบ้านไปพบพ่อแม่ ครอบครัว ผู้สัมผัสใกล้ชิดทุกคนต้องกักกันตัวเองอย่างเคร่งครัด เพราะอยู่ในกลุ่มที่มีโอกาสเสี่ยงรับเชื้อ แม้ยังไม่มีอาการป่วย แต่ยังไม่ต้องเข้ารับการตรวจหาเชื้อ เพราะหากยังไม่มีอาการจะตรวจพบเชื้อได้ยาก
“มีผู้ขอรับการตรวจ 30,000 คน ซึ่งเป็นผู้อยู่ในเกณฑ์เข้าระวัง 10,000 ราย ตรวจพบเชื้อเพียง 400 ราย หรือ 4% ซึ่งเป็นการเพิ่มภาระงานให้กับบุคลากรทางการแพทย์ เข้าใจว่าหลายคนตื่นตระหนกกังวล จึงอยากอธิบายว่าการตรวจเพื่อหาเชื้อต้องใช้ไม้พันสำลีที่ยาวมากๆ สอดเข้าไปให้ถึงพื้นที่หลังโพรงจมูก หลายคนออกมาบอกว่าเจ็บ รู้อย่างนี้ไม่ไปดีกว่า และยังทำให้ตัวเองมีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อเมื่อต้องเข้าไปในพื้นที่โรงพยาบาล ขอให้คนมีไข้เท่านั้นที่ควรไปตรวจ” นพ.ทวีศิลป์กล่าว
ด้าน นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ รองปลัด สธ.กล่าวชี้แจงที่มีคนตั้งคำถามตัวเลขผู้ติดเชื้อของไทยก้าวกระโดดขึ้นอย่างรวดเร็ว แล้วประเทศไทยจะเป็นอย่างไรต่อไป ว่าเราไม่ได้เป็นประเทศเดียวที่มีโควิด ขอให้ศึกษาจากประเทศที่เข้าสู่ 100 ราย จากนั้นตัวเลขจะวิ่งค่อนข้างรวดเร็ว วันนี้เป็นเรื่องที่ประชาชนทั้งประเทศต้องช่วยกันตัดสินใจ ประเทศที่ถึง 100 รายก่อนเราแล้วเดินหน้าไปคือ อิตาลี และอิหร่าน ซึ่งมีผู้ป่วยมากถึงหลักหมื่น มากจนระบบสาธารณสุขรองรับไม่ทัน ตัวเลขผู้เสียชีวิตจึงเป็นสิ่งที่น่าตกใจ ตรงกันข้าม ญี่ปุ่น ไต้หวัน และสิงคโปร์ในช่วงแรกตัวเลขขึ้นไปมาก แต่เขาสามารถควบคุมได้อย่างรวดเร็ว วันนี้ผู้ติดเชื้อของเราอยู่ที่ 721 ราย เรายังอยู่ในช่วงเวลาทอง ถ้าเราไม่ประพฤติปฏิบัติตัวให้มีวินัยอย่างเคร่งครัด อยู่บ้านหยุดเชื้อ เราจะเดินไปเหมือนยุโรป อีกไม่กี่วันเราจะทะลุพัน และหลายๆ พัน ซึ่งเมื่อไปถึงจุดนั้นไม่แน่ใจว่าระบบสาธารณสุขจะรองรับได้แค่ไหน
"ท่านจะเลือกช่วยกันให้ผู้ติดเชื้อค่อยๆ เพิ่มแล้วลดน้อยลง หรือจะทำให้พุ่งโด่งไปเหมือนยุโรปและสหรัฐอเมริกา สธ.ทำได้เพียงค้นหาและรักษามาตรการของรัฐที่ออกมา ขอให้ทุกคนเข้าใจแล้วช่วยทำตาม ไม่ใช่พอรัฐบอกปิดไม่ให้ไปกินอาหารนอกบ้าน ก็ไม่สุมหัวนั่งก๊งเหล้า เรายังไม่อยากไปถึงขั้นบังคับล็อกดาวน์ให้อยู่แต่ในบ้าน”
ผู้สื่อข่าวถามถึงกรณีนายแพทย์ออกมาแสดงความเห็นว่า เชื้อที่ติดจากสนามมวยมาจากประเทศอิตาลีจึงเป็นเชื้อดุร้ายกว่าเชื้อที่พบในเอเชีย นพ.ศุภกิจกล่าวว่า ขณะนี้ยังไม่มีข้อมูลว่าเชื้อประเทศใดรุนแรงหรือร้ายกว่าเชื้อของประเทศใด ตัวเลขการเสียชีวิตขึ้นอยู่กับจำนวนผู้ป่วยพุ่งทะยานจนเกินขีดความสามารถในการรักษาของระบบสาธารณสุข ถ้าหยุดรับเชื้อ หยุดแพร่เชื้อ ก็จะเป็นพระคุณต่อระบบสาธารณสุข ส่วนกรณีที่องค์การอนามัยโรคเตือนว่า เชื้อโควิด-19 มีการติดต่อผ่านทางอากาศ ขอให้ทำความเข้าใจว่า WHO แจ้งเตือนเจ้าหน้าที่และบุคลากรทางการแพทย์ ที่ใช้เครื่องผลิตฝอยละอองเพื่อให้คนไข้สูดเข้าไปรักษาอาการป่วย ซึ่งหากฝอยละอองที่มีความละเอียดนี้มีเชื้อโควิด เชื้อก็จะปนไปกับฝอยละออง แต่มนุษย์ทั่วไปไม่สามารถผลิตฝอยละอองที่ละเอียดดังกล่าวได้
"ยอมรับว่าเมื่อเห็นภาพคนที่เดินทางกลับบ้านต่างจังหวัด เราก็ตกใจ คิดว่าจากมาตรการที่ออกมาจะทำให้คนอยู่บ้าน แต่ก็เข้าใจว่าไม่มีทางเลือก จึงเร่งประสานไปยังทุกจังหวัดให้ช่วยกันเอกซเรย์ว่ามีใครกลับมา ท่านที่ลงรถทัวร์ตอนตีสองตีสามอาจไม่มีใครไปดู จึงขึ้นอยู่กับความรับผิดชอบของทุกคนว่าอยากให้ไทยเป็นเหมือนยุโรปหรือไม่ ขณะนี้ สธ.เตรียมสำรองเตียงสำหรับผู้ป่วยอาการไม่หนักทั้ง 1 หมื่น และเตรียม 3,000 เตียง สำหรับไอซียู แต่ไม่ว่าเตียงจะมากอย่างไร แต่บุคลากรทางการแพทย์มีจำกัด ถ้าผู้ป่วยค่อยๆ มา แพทย์ก็มีเพียงพอดูแลได้ เราอยู่บนทางสองแพร่ง จะไปซ้ายหรือขวาประชาชนเป็นผู้เลือก" รองปลัด สธ.กล่าว
ชี้เชื้ออิตาลีร้ายแรง
ทั้งนี้ นพ.มนูญ ลีเชวงวงศ์ หัวหน้าประจำห้องไอซียู โรคระบบการหายใจ ผู้ป่วยหนัก และโรคผู้สูงอายุโรงพยาบาลวิชัยยุทธ และประธานชมรมเชื้อราทางการแพทย์ประเทศไทย โพสต์เพจเฟซบุ๊ก "หมอมนูญ ลีเชวงวงศ์ FC" ว่า ศึกโควิด-19 ครั้งนี้ใหญ่หลวงนัก ในช่วงแรกๆ ของการระบาด ไทยดูดีเพราะมีผู้ติดเชื้อแค่ 30-40 รายเสียชีวิต 1 ราย และนิ่งอยู่นานหลายสัปดาห์ ซึ่งคนไทยส่วนใหญ่ติดเชื้อโควิดจากประเทศในเอเชีย เช่น ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ และฮ่องกง แต่หลังจากรายการมวยแชมเปี้ยนเกียรติเพชรวันที่ 6 มี.ค.ที่สนามมวยลุมพินี สถานการณ์เปลี่ยนไป เพราะมีเซียนมวยติดเชื้อโควิดจากคนในครอบครัว ซึ่งเดินทางกลับจากอิตาลี ซึ่งเซียนมวยคนนี้เป็น Super spreader แพร่เชื้อให้คนที่มาสนามมวยวันนั้นมากกว่า 50 คน และกำลังแพร่กระจายให้คนอื่นต่อไปเป็นวงกว้างไปจังหวัดต่างๆ ทั่วประเทศ ซึ่งที่ร้ายที่สุดคือเชื้อโควิดนี้ต้นตอมาจากอิตาลี เป็นเชื้อสายพันธุ์ที่ดุร้ายกว่าประเทศอื่นในเอเชีย สามารถเพิ่มจำนวนในปอดได้รวดเร็ว ทำให้แพร่กระจายเชื้อให้ผู้อื่นมากขึ้น และเชื้อนี้เล่นงานปอดอย่างหนัก ทำให้ปอดอักเสบอย่างรุนแรง ระบบหายใจล้มเหลว อัตราการเสียชีวิตจึงสูงมาก
สำหรับความเคลื่อนไหวของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เดินทางเข้าทำเนียบรัฐบาล ในเวลา 10.40 น. ซึ่งช้ากว่าทุกวัน โดยนายกฯ นัดหน่วยงานที่เกี่ยวข้องประชุมศูนย์ใหญ่โควิด-19 ในขณะที่การประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ในวันที่ 24 มี.ค. มีความเป็นไปได้ที่จะมีประชุมผ่านระบบวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ ซึ่งได้จัดเตรียมห้องไว้รองรับแล้ว ส่วนการแถลงข่าวภายหลังการประชุม ครม.นั้น กำลังพิจารณาว่าจะใช้รูปแบบไหน
ต่อมาสำนักเลขาธิการนายกฯ ได้ออกประกาศมาตรการป้องกันการแพร่เชื้อโควิด-19 สำหรับสื่อมวลชนที่เข้ามาปฏิบัติงานในทำเนียบรัฐบาล อาทิ กำหนดจุดสัมภาษณ์นายกฯ ครม. และผู้บริหาร 3 จุด คือ บริเวณหน้าตึกบัญชาการ ตึกนารีสโมสร และตึกสันติไมตรี ห้ามสื่อมวลชน เดินตามวิ่งตามหรือรุมล้อม นายกฯ และ ครม. และห้ามสื่อมวลชนเข้าตึกบัญชาการ ตึกสันตีไมตรี ยกเว้นกรณีเชิญเข้าไปทำข่าวเป็นครั้งคราวไป
นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกฯ และ รมว.สธ. กล่าวภายหลังการประชุมร่วมกับสื่อมวลชนทุกแพลตฟอร์มนนี้ได้เชิญสื่อทุกแขนงมาประชุมร่วมกันเพื่อทำความเข้าใจในการสื่อสารกับประชาชน เพื่อให้เกิดความร่วมมือมากขึ้น โดยยืนยันความพร้อมในการรักษาผู้ป่วยติดเชื้อโรคโควิด-19 แต่ต้องขอความร่วมมือจากประชาชน คำว่าเว้นระยะห่างทางสังคม (Social distancing) ไม่ได้เว้นระยะห่างเมตรครึ่งเท่านั้น แต่ต้องงดการจัดกิจกรรมในช่วงนี้ทั้งหมดงานเลี้ยงรุ่น งานทอดผ้าป่า และงานทอดกฐิน ไม่ใช่ว่าพอสั่งให้ปิดสถานบริการทั้งหมด แล้วจะไปรวมตัวสังสรรค์กันที่บ้านขอให้มีการเว้นระยะทางสังคม โดยขอให้ช่วงนี้อยู่กับครอบครัวซึ่งเป็นสิ่งที่ดีที่สุด
“องค์การอนามัยโลก ทั้งระดับนานาชาติ และสาขาประจำประเทศไทยได้ประสานมา พร้อมเน้นย้ำต่อประชาชน ให้คำว่า Social distancing อยู่ในมโนสำนึกประชาชนให้มากที่สุด ซึ่งดีกว่าวัคซีน ดีกว่ายาซึ่งเป็นวิธีที่ดีที่สุดในการป้องกันการแพร่ระบาดของโรค” นายอนุทินกล่าว
ต่อมาเวลา 14.00 น. พล.อ.ประยุทธ์เป็นประธานการประชุมศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 โดยใช้เวลาประชุมกว่า 3 ชั่วโมง 30 นาที ซึ่งนายกฯ กล่าวในที่ประชุม ว่ามาตรการต่างๆ ขอให้ฟังคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพราะจะต้องเข้า ครม.อยู่แล้ว
บิ๊กตู่พร้อมใช้ยาแรง
มีรายงานว่า ในที่ประชุมได้มีหาสอบถามถึงหน้ากากอนามัย N 95 ที่ติดเงื่อนไขบีโอไอที่ต้องส่งออก 4 แสนชิ้น โดยจะขอให้มีการปลดล็อกเพื่อนำมากระจายในส่วนของกระทรวงสาธารณสุขเดือนละ 1 แสนชิ้นได้หรือไม่ ขณะในที่ประชุมไม่ได้หยิบยกกรณีการใช้กฎหมายขั้นเด็ดขาด ภายหลังมีกระแสข่าวว่าจะออกพระราชบัญญัติความมั่นคงภายในราชอาณาจักรหรือพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน เพื่อยกระดับการป้องกันแพร่ระบาดโควิด-19 ซึ่งนายกฯ ย้ำว่า “มาตรการเข้มข้น ผมกล้าตัดสินใจอยู่แล้ว แต่ยังไม่ถึงเวลา”
จากนั้นเวลา 17.00 น. ภายหลังการประชุมนายกฯ ได้เรียกประชุมวงเล็ก ที่ห้องรับรอง ตึกสันติไมตรี โดยได้หารือถึงกรณีชาวต่างประเทศที่จะมารอต่อเครื่องที่ไทย ซึ่งแต่ก่อนสามารถออกจากสนามบินได้นั้น แต่ต่อจากนี้จะไม่ให้ออกจากสนามบิน โดยนายกฯ ประชุมวงเล็กกว่า 40 นาที ก่อนเดินทางกลับ พล.อ.ประยุทธ์กล่าวกับเพียงสั้นๆ ว่า “ขอให้ใจเย็นๆ พรุ่งนี้เจอกัน"
ส่วนที่ศูนย์ข้อมูลโควิด-19 ภายใต้ศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 นายเทวัญ ลิปตพัลลภ รมต.ประจำสำนักนายกฯ แถลงถึงกรณี กทม. ประกาศปิดสถานที่ต่างๆ เพิ่มเติมตั้งแต่วันที่ 22 มี.ค.-12 เม.ย. ทำให้ประชาชนเดินทางกลับภูมิลำเนา รวมถึงแรงงานต่างด้าว รัฐบาลไม่สามารถห้ามไม่ให้เดินทางกลับได้ แต่รัฐบาลมีมาตรการรองรับ โดยคณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติมีหนังสือไปยังผู้ว่าฯ ทำแผนระดับอำเภอ หมู่บ้าน ตำบล ให้ผู้เดินทางกลับภูมิลำเนาแยกตัวสังเกตอาการ 14 วัน หากประชาชนคนใดยังไม่ได้กลับ ขอความร่วมมือว่าอยากให้อยู่ กทม.และปริมณฑลไปก่อน เพราะถ้าท่านกลับบางครั้งอาจไม่ทราบตัวเองว่าติดเชื้อ และเป็นพาหะไปยังญาติพี่น้อง ถ้ายังอยู่ กทม.และปริมณฑลได้ รัฐบาลอยากให้ช่วยอยู่บ้านหยุดเชื้อเพื่อชาติ ซึ่งในวันที่ 24 มี.ค.กระทรวงการคลังจะนำมาตรการช่วยเหลือเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบเข้าสู่ที่ประชุม ครม.
นพ.ทวี โชติพิทยสุนนท์ ผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ กล่าวว่า ในฐานะที่ต่อสู้กับโรคระบาดมา 20 ปี ครั้งนี้เป็นครั้งที่โรคระบาดรุนแรงที่สุดเท่าที่เคยเห็นมา จึงอยากเห็นความร่วมมือร่วมใจเราถึงจะสามารถบรรเทาได้ ตอนนี้ไม่มีทางกำจัดออกไปแล้ว เพราะได้แพร่ระบาดไปทั่วโลก วิธีบรรเทาคือทำตามมาตรการที่ออกมา
นายสมคิด จันทมฤก รองปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวว่า คณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติได้วางกรอบให้มีทีมค้นหาและเฝ้าระวังระดับตำบล สำหรับผู้ที่เดินทางกลับมาจาก กทม. โดยมีกำนัน แพทย์ผู้ช่วย คณะกรรมการหมู่บ้าน อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) เจ้าหน้าที่ รพ.ระดับตำบลกระจายไปทุกหมู่บ้าน เพื่อจัดทำข้อมูลคนที่เดินทางกลับ รวมถึงให้ความรู้ความเข้าใจว่าควรแยกตัวเฝ้าสังเกตอาการ 14 วัน หากพบว่าใครมีอาการน่าสงสัย เช่น มีไข้ ต้องรีบแจ้งเพื่อให้ สธ.ดำเนินการทางการแพทย์ นอกจากนี้ เรามีมาตรการดูแลผู้สูงอายุในชุมชน ซึ่งกลุ่มนี้เป็นกลุ่มเสี่ยง โดยมี อสม.ไปให้คำแนะนำเป็นพิเศษ ยืนยันทุกจังหวัดมีความพร้อมรองรับประชาชนเดินทางกลับจากภูมิลำเนา แต่หากใครไม่ดำเนินการกักตัวหรือฝ่าฝืนจะมีความผิด โทษทั้งจำทั้งปรับ สามารถดำเนินการตามกฎหมายได้ทันที
นางนฤมล ภิญโญสินวัฒน์ โฆษกประจำสำนักนายกฯ กล่าวว่า การช่วยเหลือเยียวยาประชาชนไม่ได้ออกครั้งเดียวจบ โดยที่ ครม.อนุมัติครั้งก่อนเป็นครั้งที่ 1 ส่วนครั้งที่ 2 จะเสนอในที่ประชุม ครม.วันที่ 24 มี.ค.นี้ และจะมีครั้งที่ 3 และต่อเนื่องไป ซึ่งนอกจากมาตรการเยียวยาแล้ว นายกฯ ได้กำชับทุกหน่วยงานเตรียมแผนฟื้นฟูเมื่อสถานการณ์ใกล้เคียงปกติ จะมีมาตรการออกมาเป็นระลอกเพื่อดูแลทุกกลุ่มให้ครอบคลุมทุกจังหวัด
วันเดียวกัน พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้ออกประกาศกรุงเทพมหานคร เรื่อง การควบคุมการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 เพิ่มเติมอีกครั้ง ประกอบด้วย 1.ขอความร่วมมือไม่เดินทางออกนอกพื้นที่ กทม. 2.ขอความร่วมมืออยู่ในที่พักอาศัย หมั่นทำความสะอาดที่พัก พื้นผิวสัมผัสห้องสุขา ดูแลสุขภาพและป้องกันตนเองและคนในบ้านจากการติดเชื้อ 3.ขอความร่วมมือสถานที่ทำงานทั้งภาครัฐ รัฐวิสาหกิจ เอกชน สถานที่ทำงาน จัดให้มีมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อโรค 4.ขอความร่วมมือผู้ที่เดินทางไปยังสนามมวย สถานบันเทิง หรือสถานที่ที่มีรายงานการระบาดของโรคติดเชื้อโควิด-19 พักสังเกตอาการในที่พักอาศัย โดยป้องกันตนเองตามคำแนะนำของ สธ. หากมีอาการไข้ ไอ เจ็บคอ หายใจหอบเหนื่อย หายใจลำบากให้ไปพบแพทย์ 5.ขอความร่วมมือหลีกเลี่ยงการเข้าไปในสถานที่ที่มีคนแออัด และควรรักษาระยะห่าง 1-2 เมตรจากผู้อื่น 6.ขอความร่วมมือภาครัฐ รัฐวิสาหกิจ เอกชน งดการจัดกิจกรรมรวมคน หรือกิจกรรมที่รวมกันเป็นจำนวนมาก และ 7.ขอความร่วมมือขนส่งมวลชนทุกประเภทลดความแออัดของผู้โดยสารที่มาใช้บริการ
นายสมบูรณ์ อุทัยเวียนกุล เลขานุการประธานสภาผู้แทนราษฎร กล่าวว่า ที่ประชุมได้หารือถึงแนวการให้ข้าราชการและเจ้าหน้าที่ทำงานอยู่ที่บ้าน เพื่อลดการแพร่กระจายเชื้อโควิด-19 โดยสำนักใดที่สามารถทำงานอยู่ที่บ้านได้ ก็จะให้หยุดทำงานที่บ้าน โดยจะเริ่มตั้งแต่วันที่ 24 มี.ค.-12 เม.ย.2563
ที่ รพ.ธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ ได้แถลงจัดตั้งโรงพยาบาลสนาม 308 เตียงเพื่อรองรับผู้ป่วยที่ได้รับการแพร่ระบาดจากโรคโควิด-19 โดยใช้พื้นที่รองรับผู้ป่วยในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |