23 มี.ค. 63 - คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ออกแถลงการณ์เรื่อง สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 (ฉบับที่ 2) ระบุว่า ตามที่คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ได้ออกแถลงการณ์เรื่องสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 (COVID-19) เมื่อวันที่ 10 มีนาคม 2563 โดยมีข้อห่วงใยและมีข้อเสนอต่อทุกภาคส่วนเพื่อประโยชน์ในการเฝ้าระวัง ป้องกัน และควบคุมโรคติดต่ออันตราย รวมทั้งการเยียวยาความเสียหาย ซึ่งทุกภาคส่วนก็ได้พยายามช่วยกันสกัดกั้นการแพร่ระบาดของโรคนี้อย่างเต็มที่ พร้อมทั้งสร้างการรับรู้อย่างกว้างขวางให้แก่ประชาชนส่วนใหญ่ได้ตระหนักถึงวิธีการปฏิบัติตัวเพื่อป้องกันอันตรายอันเกิดจากการติดเชื้อโรคโควิด 19
อย่างไรก็ตาม จนถึงขณะนี้การแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 ในประเทศไทยกลับขยายตัวสูงขึ้น อันเนื่องจากสถานการณ์เฉพาะหน้าที่เปลี่ยนแปลงไป คล้ายกับสถานการณ์ในหลายประเทศ และเพื่อป้องกันมิให้สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคดังกล่าวลุกลามมากยิ่งขึ้น อันจะส่งผลกระทบโดยเฉพาะต่อสิทธิในการมีสุขภาพที่ดีของประชาชนคนไทย และสิทธิด้านแรงงาน ซึ่งพึงได้รับการคุ้มครองตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยและกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิทางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม (ICESCR) ที่ประเทศไทยเป็นภาคีและมีพันธกรณีที่จะต้องปฏิบัติตาม
กสม. ขอเสนอแนวทางแก้ไขปัญหาของประเทศในสถานการณ์ปัจจุบัน ดังต่อไปนี้
1.นายกรัฐมนตรีควรมีอำนาจเต็มในการแก้ไขปัญหา ควรบูรณาการหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการแก้ไขปัญหาให้มีแนวทางการจัดการในทิศทางเดียวกัน ควรวางแนวทางการจัดการ “การสื่อสารในภาวะวิกฤติ” อย่างเป็นระบบ การเผยแพร่คำสั่ง หรือมาตรการใด ๆ ควรออกมาจากแหล่งเดียวกัน ไม่ว่าจะเป็นส่วนกลางหรือส่วนภูมิภาค เพื่อป้องกันมิให้ประชาชนสับสนจนนำไปสู่ความตื่นตระหนก และควรกำหนดมาตรการในการเฝ้าระวัง ป้องกัน และยับยั้งการแพร่ระบาดของโรคอย่างรัดกุมและเป็นเอกภาพ ตลอดจนการวางแผนในการแก้ปัญหาในกรณีมีการระบาดในวงกว้าง
2. แม้ผู้ว่าราชการจังหวัดโดยความเห็นชอบของคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด หรือผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครโดยความเห็นชอบของคณะกรรมการควบคุมโรคติดต่อกรุงเทพมหานคร จะมีอำนาจในการสั่งปิดสถานที่เป็นการชั่วคราว ตามพระราชบัญญัติโรคติดต่อ พ.ศ. 2558 ก็ตาม ก็พึงกระทำด้วยความรอบคอบ และไม่เลือกปฏิบัติ พร้อมกำหนดมาตรการเยียวยาอย่างเป็นธรรมแก่ผู้ได้รับผลกระทบโดยตรง เช่น ผู้ใช้แรงงานซึ่งต้องหยุดงานตามคำสั่ง ทั้งไม่ก่อให้เกิดผลกระทบในทางตรงข้าม เป็นเหตุให้ผู้ใช้แรงงานจำนวนมากเดินทางกลับภูมิลำเนาในต่างจังหวัด อันสุ่มเสี่ยงต่อการแพร่เชื้อโรคนี้ไปยังคนใกล้ชิดในท้องถิ่น แม้กรมควบคุมโรคจะมีหนังสือขอความร่วมมือในการจัดทำแผนปฏิบัติการค้นหา เฝ้าระวัง และป้องกันโรค ระดับอำเภอและหมู่บ้านแล้วก็ตาม ทั้งยังไม่มีหลักฐานที่ชัดแจ้งว่า ห้างสรรพสินค้า ศูนย์การค้า หรือคอมมูนิตี้มอลล์เป็นแหล่งแพร่กระจายของเชื้อโรคโควิด 19 จนถึงกับต้องสั่งปิดสถานประกอบการดังกล่าว
3. ในสถานการณ์ปัจจุบัน หากรัฐบาลจะพิจารณานำยุทธการปิดเมือง (Lockdown ) มาใช้ในพื้นที่และช่วงเวลาที่กำหนด พึงระมัดระวังผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากการใช้ยุทธการดังกล่าว และควรวางแผน "ยุทธบริการ" อย่างรอบคอบ ตั้งแต่กระบวนการผลิต รวบรวม และจัดส่งอาหารให้ถึงทุกวัน การเข้าถึงบริการขนส่งสาธารณะที่ปลอดภัย และการเข้าถึงการรับบริการสาธารณสุขของรัฐ โดยเฉพาะในกลุ่มคนยากจนในเมือง
4. ประชาชนควรแสดงความรับผิดชอบต่อสังคมด้วยการปฏิบัติตามคำสั่ง หรือข้อเสนอ หรือมาตรการของรัฐบาล ทีมแพทย์ และหน่วยงานของรัฐ เพื่อร่วมมือกันป้องกันและควบคุมการระบาดของโรคโควิด 19 เช่น มาตรการเว้นระยะห่างทางสังคม (Social Distancing) และ “อยู่บ้าน หยุดเชื้อ เพื่อชาติ” และควรให้ความร่วมมือและปฏิบัติตามมาตรการของรัฐเพื่อป้องกันและลดการแพร่กระจายของโรคอย่างเคร่งครัด
คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติเชื่อมั่นว่า ด้วยการดำเนินการของรัฐบาลอย่างจริงจังและด้วยความร่วมมือของประชาชนทุกคน จะช่วยกันป้องกันและควบคุมการแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 ในประเทศไทยได้อย่างแท้จริง เพื่อให้เราผ่านพ้นวิกฤติการณ์อันยากลำบากในครั้งนี้ไปด้วยกัน
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |