ธปท.คลอด 3 มาตรการดูแลตลาดเงิน-ตลาดทุน ตั้งกองทุนเสริมสภาพคล่อง 1 ล้านล้านบาท คลังชง ครม. 24 มี.ค.เคาะแพ็กเกจเยียวยาผลกระทบโควิดเฟส 2 "อุตตม" ยันให้ครอบคลุมประชาชนทุกกลุ่ม
เมื่อวันที่ 22 มีนาคม นายวิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า ได้ร่วมหารือกับกระทรวงการคลัง สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) และธนาคารพาณิชย์ไทย เกี่ยวกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อโควิด-19 ที่ทวีความรุนแรงขึ้น สร้างความกังวลให้แก่ตลาดเงินและตลาดทุนทั่วโลก จึงเห็นควรออกมาตรการสนับสนุนเสถียรภาพตลาดการเงินไทย ซึ่งจะช่วยป้องกันไม่ให้ปัญหาการขาดสภาพคล่องในตลาดการเงินขยายผลต่อไป โดยมาตรการดังกล่าวประกอบด้วยการดำเนินงานใน 3 ด้าน ดังนี้
1.กองทุนรวมตราสารหนี้ ธปท.จัดตั้งกลไกพิเศษเพื่อเพิ่มสภาพคล่องให้แก่กองทุนรวมผ่านธนาคารพาณิชย์ โดยธนาคารพาณิชย์ที่เข้าซื้อหน่วยลงทุนจากกองทุนรวมตลาดเงิน และกองทุนรวมตราสารหนี้ที่เป็นกองทุนเปิด ที่ถือสินทรัพย์คุณภาพดี แต่ได้รับผลกระทบจากการที่ตลาดการเงินขาดสภาพคล่อง สามารถนำหน่วยลงทุนดังกล่าวมาวางเป็นหลักประกัน เพื่อขอสภาพคล่องจาก ธปท.ได้ โดยจะดำเนินการจนกว่าสถานการณ์ในตลาดการเงินจะเข้าสู่ภาวะปกติ จากการประมาณการเบื้องต้นพบว่ามีกองทุนรวมตราสารหนี้ที่มีสินทรัพย์คุณภาพดีที่สามารถนำมาวางเป็นหลักประกัน เพื่อขอสภาพคล่องจาก ธปท.ได้ มูลค่ารวมกว่าหนึ่งล้านล้านบาท
2.ตราสารหนี้ภาคเอกชน สมาคมธนาคารไทย ธนาคารออมสิน ธุรกิจประกันภัย และกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ ร่วมกันจัดตั้งกองทุนเสริมสภาพคล่องเพื่อลดความเสี่ยงของการระดมทุนในตลาดตราสารหนี้ วงเงินเริ่มต้น 70,000-100,000 ล้านบาท เพื่อลงทุนในตราสารหนี้ภาคเอกชนออกใหม่ของบริษัทที่มีคุณภาพดี แต่ประสบปัญหาตลาดขาดสภาพคล่องจนส่งผลให้ไม่สามารถต่ออายุตราสารหนี้ที่ครบกำหนดได้ครบทั้งจำนวน และ 3.ตราสารหนี้ภาครัฐ ธปท.พร้อมที่จะดูแลให้กลไกตลาดตราสารหนี้ภาครัฐทำงานได้อย่างราบรื่น มีประสิทธิภาพ และมีสภาพคล่องเพียงพอ ผ่านการเข้าซื้อพันธบัตรรัฐบาลอย่างต่อเนื่อง
โดยมาตรการเหล่านี้จะเสริมสภาพคล่องของตลาดการเงินและช่วยให้กลไกตลาดตราสารหนี้กลับมาทำงานได้อย่างปกติ ท่ามกลางภาวะตลาดการเงินโลกที่ผันผวน และจะช่วยสร้างความมั่นใจให้แก่ผู้ถือหน่วยลงทุนตราสารหนี้ โดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐและเอกชนจะร่วมกันติดตามพัฒนาการในตลาดการเงินอย่างใกล้ชิด และพร้อมที่จะร่วมมือในการดำเนินมาตรการเพิ่มเติม เพื่อให้มั่นใจว่าตลาดการเงินทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพต่อไป
ผู้ว่าการ ธปท.กล่าวว่า สถานการณ์ที่ยังมีความผันผวนสูง ทำให้ผู้ถือหน่วยลงทุนบางส่วนเร่งไถ่ถอนหน่วยลงทุนจากกองทุนรวมตราสารหนี้ ส่งผลให้กองทุนรวมตราสารหนี้บางแห่งต้องเร่งขายตราสารหนี้ที่ส่วนใหญ่มีคุณภาพดีในราคาต่ำกว่าปกติ เพราะการขาดสภาพคล่องในตลาดการเงิน ส่งผลให้ผู้ถือหน่วยลงทุนได้รับผลตอบแทนที่ต่ำกว่าที่ควรโดยไม่จำเป็น ซึ่งอาจส่งผลต่อเนื่องให้เกิดการไถ่ถอนหน่วยลงทุนอื่นๆ ตามมา จนกระทบต่อการทำงานของกองทุนรวมตราสารหนี้และตลาดตราสารหนี้ในประเทศ รวมถึงอาจก่อให้เกิดความเสียหายแก่ภาคเอกชน เศรษฐกิจ และประชาชนเป็นวงกว้าง
“แม้ระบบสถาบันการเงินไทยโดยรวมยังมีเสถียรภาพดี ธนาคารพาณิชย์ไทยมีเงินกองทุนเข้มแข็งและไม่มีปัญหาสภาพคล่อง แต่สถานการณ์สภาพคล่องตึงตัวในระบบการเงินโลก และกลไกตลาดการเงินที่ทำงานต่างจากสภาวะปกติ ได้เริ่มส่งผลต่อตลาดการเงินไทย อย่างไรก็ตาม จึงต้องจำเป็นที่จะหามาตรการมาเยียวยาเรื่องดังกล่าว โดยการดำเนินงานกองทุนรวมตราสารหนี้จะนำเข้าที่ประชุมคณะกรรมการธนาคารแห่งประเทศไทย(บอร์ด ธปท.) ในวันที่ 23 มี.ค. และคาดว่าจะสามารถจัดตั้งกองทุนได้ภายใน 1 สัปดาห์” นายวิรไทระบุ
นายปรีดี ดาวฉาย ในฐานะประธานสมาคมธนาคารไทย กล่าวว่า ขอให้ประชาชนอย่าตื่นตระหนกหรือเร่งไถ่ถอนหน่วยลงทุนกองทุนรวมตราสารหนี้ในภาวะที่ตลาดการเงินไม่ปกติ ทั้งนี้ยืนยันว่าธนาคารพาณิชย์ไทยมีสภาพคล่องเพียงพอ รวมถึงสามารถกู้เงินมาเพิ่มได้เสมอ
ด้านนายกอบศักดิ์ ภูตระกูล รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง กล่าวว่า รัฐบาลพร้อมที่จะสนับสนุนการทำงานของทั้งกระทรวงการคลัง ธปท. และ ก.ล.ต. เพื่อให้สามารถดำเนินการได้อย่างเต็มที่ ช่วยเหลือประชาชนหรือผู้ที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ไวรัสโควิด-19 ในภาคการเงิน และในวันที่ 24 มี.ค.นี้ กระทรวงการคลังเองเตรียมเสนอมาตรการดูแลประชาชนชุดที่ 2 ในภาคของความเป็นอยู่เพิ่มเติม ให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติ
ขณะที่นายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กในหัวเรื่อง "มาตรการ ศก. ดูแลผู้ได้รับผลกระทบจากแผนสกัดโควิด-19" โดยระบุว่า กระทรวงการคลัง ได้เฝ้าติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด พร้อมทั้งประสานหารือกับทุกหน่วยงาน ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน เช่น ธปท., ก.ล.ต., ตลาดหลักทรัพย์, สำนักงบประมาณ, สภาอุตสาหกรรมฯ, หอการค้าฯ ฯลฯ เพื่อร่วมกันจัดเตรียมชุดมาตรการด้านเศรษฐกิจ ดูแลบรรเทาผลกระทบต่อประชาชนอย่างต่อเนื่อง มาตรการบรรเทาผลกระทบระยะแรกได้ออกไปเมื่อสองสัปดาห์ก่อน และวันนี้เราเห็นความจำเป็นของมาตรการเพิ่มเติมเป็นระยะที่สอง เพื่อให้สอดรับกับสถานการณ์และแนวโน้มที่เปลี่ยนแปลงไป
สำหรับมาตรการระยะสอง โดยรวมแล้วเราให้ความสำคัญในการช่วยเหลือประชาชนกลุ่มต่างๆ ที่ได้รับผลกระทบด้านต่างๆ ทั้งรายได้ ภาระค่าใช้จ่าย และอื่นๆ โดยพยายามให้ครอบคลุมทุกกลุ่ม พร้อมกันนั้นเราจะเตรียมมาตรการทางเศรษฐกิจที่อาจจำเป็นต้องเพิ่มเติมในอนาคตด้วย ทั้งนี้ เพื่อให้มาตรการมีผลและสามารถช่วยเหลือประชาชนได้รวดเร็ว กระทรวงการคลังกำลังเตรียมนำเสนอมาตรการระยะสองต่อ ครม.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |