ชุมชน “หัวตะเข้” ต้นแบบใช้ศิลปะ พลิกฟื้นย่านเก่า


เพิ่มเพื่อน    

รงระหัด พื้นที่แห่งการเรียนรู้ของดีหัวตะเข้ ทั้งว่าวทำจากใบไม้-พวงมะโหตร

     

 

     เมื่อความเจริญและเส้นทางการคมนาคมบนบกรุกคืบเข้ามาในชุมชนย่านหัวตะเข้ ในขณะที่ชาวชุมชนหัวตะเข้ตั้งรับกับการพัฒนา โดยเปิดพื้นที่เป็นแหล่งเรียนรู้ศิลปะและภูมิปัญญาของท้องถิ่นที่มีชีวิต เพื่อแสดงให้เห็นว่า ชุมชนย่านเก่าแห่งนี้สามารถอนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรมและสถาปัตยกรรมดั้งเดิมร่วมกับการพัฒนาพื้นที่บริเวณนี้ให้สร้างงาน สร้างรายได้ และให้รัฐตระหนักแนวคิดการพัฒนาเมืองให้สอดคล้องกับชุมชนเก่า ไม่ทำลายวิถีชีวิตเก่าไปจนหมด

      มีโอกาสร่วมกิจกรรม “ชมศิลป์ริมคลอง-ส่องสวนชานกรุง” กับเคทีซี พาไปสัมผัสเสน่ห์ย่านเก่าหัวตะเข้ ตั้งอยู่พื้นที่ฝั่งตะวันออกของกรุงเทพฯ ได้พูดคุยกับ อำภา บุณยเกต ผู้ประสานงานกลุ่มชุมชนคนรักหัวตะเข้ ถึงการพลิกฟื้นตลาดร้างให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวทางวัฒนธรรมที่โดดเด่น

 

ย่านเก่าหัวตะเข้ ชุมชนริมคลองประเวศบุรีรมย์ กรุงเทพฯ

 

      อำภา บุณยเกต เล่าเรื่องราวย่านหัวตะเข้ว่า ในอดีตความเจริญเติบโตไปทางน้ำ มีชุมชน ตลาดที่เกาะทางน้ำเป็นหน้าบ้าน วิถีชีวิตดั้งเดิมของชาวหัวตะเข้คือ ทำโรงไม้ และโรงสีข้าว หัวตะเข้เจริญรุ่งเรืองมาก เป็นบ้านนอกที่บูม เป็นศูนย์การค้าชานเมืองริมคลอง โดยมีคลองประเวศบุรีรมย์เป็นคลองหลักเชื่อมโยงพื้นที่บริเวณนี้โดยรอบ คนพายเรือ นั่งเรือมาซื้อของที่ตลาดหัวตะเข้ กับข้าว ของสด ร้านขายทอง ร้านขายยา มีท่าเรือใหญ่ไปคลองสวน บางพลี บางฉะโหลง มีนบุรี เป็นวิถีชีวิตที่อุดมสมบูรณ์และอดีตที่รุ่งเรือง แต่เมื่อเกิดไฟไหม้ตลาดฝั่งตรงข้ามเมื่อปี 2537 มีบ้านเรือนเสียหาย 150 ห้อง ตลาดฝั่งโน้นตาย คนย้ายออก ขณะที่ฝั่งตลาดหัวตะเข้เราเหลือ 58 ห้อง และร่วงโรยตามกาลเวลา บวกกับถนนหนทางเข้ามามีบทบาท จากเดิมคลองเป็นที่คึกคักทางเศรษฐกิจก็ไม่มีใครใช้ โรงไม้ที่จำหน่ายไม้เพื่อต่อเรือบ้าง ต่อระหัดวิดน้ำเข้านาบ้าง ก็ปิดตัวลงไป ทุกอย่างหายไป ภูมิปัญญาการต่อเรือก็หมดไป

      เมื่อการอนุรักษ์เมืองในอดีตไม่ได้ให้ความสำคัญกับชุมชนที่พักอาศัย มีการปรับเปลี่ยนพื้นที่ใช้ประโยชน์ นำมาสู่การอนุรักษ์ ฟื้นฟู และพัฒนาย่านเก่าหัวตะเข้โดยคนกลุ่มหนึ่งในชุมชน อำภาฉายภาพให้ชัดเจนยิ่งขึ้น โดยบอกว่า เมื่อ 10 ปีก่อนที่นี่เป็นตลาดที่ตายแล้ว เรือนไม้ผุพัง ไม่มีคนพักอาศัย มีแต่หมาขี้เรื้อน และยาเสพติด ไม่มีการปรับปรุงหรือพัฒนาใดๆ เพราะการรวมตัวของภาคประชาชนไม่แข็งแรง ต้นทุนไม่มี นำมาสู่การรวมตัวของกลุ่มเป็นชมรมคนรักหัวตะเข้เมื่อปี 2551 ความพยายามในการฟื้นฟูให้กลับมามีชีวิตอีกครั้ง ได้รับความร่วมมือจากชาวชุมชนหลวงพรต-ท่านเลี่ยม ที่หาจุดเด่นของสถานที่มาเป็นจุดขาย ใกล้ๆ กันเป็นที่ตั้งของสถานศึกษาหลายแห่ง เช่น วิทยาลัยช่างศิลป์ลาดกระบัง ที่เปิดสอนมาตั้งแต่ปี 2521 รวมทั้งสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง เป็นสถานศึกษาที่อยู่คู่ชุมชน

 

อำภา บุณยเกต ผู้ประสานงานกลุ่มชุมชนคนรักหัวตะเข้

 

      “ เมื่อเริ่มต้นฟื้นฟูตลาดไม่มีต้นทุนทางศิลปะที่จะทำ โดนท้วงติงแบบนี้ แต่ป้าก็ยืนยัน คนหัวตะเข้คุ้นเคยกับภาพนักศึกษามาทำกิจกรรมในชุมชน มานั่งวาดภาพที่ตลาดริมคลอง มีกิจกรรมศิลปะชาวชุมชนก็ร่วมมือเป็นแบบวาดภาพ หรือคนเฒ่าคนแก่มาเล่าเรื่องเก่าๆ ให้ฟัง คนหัวตะเข้เก็บภาพวาดที่นักศึกษาทิ้งไว้ ชาวบ้านเห็นความงาม รับรู้เป็นงานศิลปะ นี่เป็นบรรยากาศ กลิ่นอายที่แวดล้อมมาแต่ไหนแต่ไร จึงใช้ศิลปะฟื้นฟูชุมชน” อำภา เล่า

 

ร้านเอเฟรม หนึ่งในร้านค้าที่อนุรักษ์อาคารเรือนไม้

 

      ผู้ร่วมพลิกฟื้นย่านเก่าหัวตะเข้ บอกด้วยว่า เมื่อเวลาผ่านไป กลุ่มได้มาร่วมคิดและเห็นว่า จะต้องไม่ลืมรากเหง้าของชุมชน จึงรื้อฟื้นภูมิปัญญาในอดีต ควบคู่ไปกับงานศิลปะ เช่น งานไม้ ระหัดวิดน้ำ การต่อเรือ อาชีพที่เป็นลมหายใจของชุมชน แต่สูญหายไป เราพยายามดึงกลับมา อาจไม่ได้สร้างสรรค์เรือขนาดใหญ่ ทำเรือเล็กก็ยังดี เพื่อรักษาภูมิปัญญาต่อเรือไทยให้คนรุ่นหลังได้รู้จัก ชาวบ้านที่เป็นช่างไม้เก่าไปเรียนกับครูภูมิปัญญาที่ตลาดน้ำคลองลัดมะยม ตอนนี้ทำได้แล้ว มีเรือโอ่ เรือเข็ม เป็นการต่อยอดถูกทิศทาง และจะพัฒนาเป็นสินค้าที่ระลึกย่านหัวตะเข้ต่อไป แล้วยังฟื้นการทำขนมไทยด้วยเตาฟืน เตาแกลบ เพราะอดีตมีโรงสีมากมาย มีการโม่แป้ง และการเย็บฟุตบอลด้วยมือ โดยจัดสาธิตที่บ้านต้นมะขามด้านหลังตลาดหัวตะเข้ ซึ่งเป็นพื้นที่อเนกประสงค์ส่วนกลาง ใช้เสนอวิถีและภูมิปัญญาดั้งเดิมของชุมชนหัวตะเข้ ให้ลูกหลานเห็นคุณค่าของตนเอง แล้วยังขับเคลื่อนด้านสิ่งแวดล้อม อดีตมีน้ำเน่าเสีย ขยะทิ้งเรี่ยราดในชุมชน ก็จัดกิจกรรมเก็บขยะ ทั้งพายเรือเก็บขยะ เดินเท้าเก็บขยะ ในที่สุดก็นำถุงก๊อบแก๊บที่ไร้ค่ามีรีไซเคิลเป็นถุงใบใหม่ ขายให้นักท่องเที่ยวที่มาชมตลาด มีฝรั่งสนใจมาเรียนทำถุงกับชุมชน สินค้านี้มาแรงมาก

 

ภูมิปัญญาการต่อเรือที่เคยสูญหายกลับคืนมา สู่สินค้าของฝากชุมชนหัวตะเข้

 

      “ 10 ปีผ่านมาหลังทำงานฟื้นฟู จากที่ค้นหาคำว่า “หัวตะเข้” ในกูเกิลไม่พบ สะท้อนชื่อท้องถิ่นที่ถูกละเลย คนหัวตะเข้เดินออกไปก็ไม่อยากเดินกลับเข้ามา เพราะรู้ว่ามันเน่า แรกทำคิดแค่ว่าเอาคนบ้านเรากลับมา นักเรียนมาเดินเที่ยวบ้าง เมื่อวันนี้ย่านหัวตะเข้เป็นที่รู้จักก็ดีใจ แต่สิ่งสำคัญ การวัดว่าทำแล้วดีหรือไม่ขึ้นอยู่กับความสุขของคนในชุมชน ไม่ปฏิเสธว่ามีความขัดแย้ง ปัญหาคนเป็นเรื่องใหญ่ ชุมชนไปรอดหรือไม่อยู่ตรงนี้ แต่ชมรมคนรักหัวตะเข้เป็นคนจิตอาสา ลงเงินลงแรงพัฒนาชุมชน ไม่มีนายทุนคนไหน มีแต่คนบ้าๆ บ้านเราที่ทำขึ้นมาเพื่อประโยชน์ส่วนรวม อย่างโรงระหัดก็ลงทุนกันเอง ออกแบบใช้ไม้ระหัดและเศษไม้ ทำให้ที่นี่เป็นพื้นที่โชว์งานศิลปะ และนำเสนอของดีย่านหัวตะเข้ เมษายนนี้จะฟื้นฟูตลาดนัดศิลปะกลับมาอีกครั้งที่นี่” อำภา กล่าว

 

 ปรับปรุงเรือนไม้ริมคลองสู่ร้านสี่แยกหัวตะเข้คาเฟ่แอนด์เกสท์เฮ้าส์ ได้รางวัลอนุรักษ์ศิลปะสถาปัตยกรรมดีเด่น

 

     เมื่อถามถึงภาพย่านเก่าหัวตะเข้ใน 10 ปีข้างหน้า ผู้ประสานงานกลุ่มชุมชนคนรักหัวตะเข้ ยอมรับว่าหนักใจ มีการพูดคุยกับคนในชุมชน เราไม่ได้เลือกทำเชิงพาณิชย์ หรืออดีตประดิษฐ์ แต่เราพยายามให้คนในลุกขึ้นมาทำเอง แต่รู้สึกท้อบ้าง มีเรื่องการเมืองท้องถิ่นถาโถมเข้ามา จากการแลกเปลี่ยนพูดคุยกับหลายชุมชนย่านเก่า ฟื้นตัวยาก เพราะขาดความเข้มแข็ง ขณะที่กรุงเทพฯ ต้องเผชิญการเปลี่ยนแปลงทางกายภาพ ถนนเบียดเข้ามา ทำให้ความเจริญไปสู่ถนน ผู้คนไม่สนใจสังกะสีเก่าๆ หัวตะเข้ยังเจอน้อย เทียบกับย่านตลาดน้อย เยาวราช นางเลิ้ง หนักหนากว่า ชุมชนเก่าเหล่านี้แทบไม่เหลือแล้ว ต่อสู้ลำบากมาก ไม่รู้จะเกิดอะไรขึ้นในวันข้างหน้า ถ้า 10 ปีข้างหน้าคนในหัวตะเข้ยังสามัคคีกัน คิดว่า รอด ฉะนั้นเราต้องพบปะแลกเปลี่ยนความคิดและพูดคุยกันเสมอ แต่หากเปลี่ยนแปลงไปก็คงเสียใจ ถ้าคนส่วนใหญ่เห็นสิ่งที่เราทำ ช่วยรักษาก็ดี แต่ถ้าไม่ หมายถึง เปลี่ยน ก็เสียดาย ยังยืนยันหัวใจเป็นความสุขของคนที่ทำงานร่วมกัน

 

 

 

 

 

 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"