การถกแถลงเรื่อง "ปิดเมือง" เพื่อสู้ไวรัสนั้น ก่อนอื่นต้องให้ชัดเจนก่อนว่าเรากำลังหมายถึงอะไร เพราะคำว่า Lockdown (อันเป็นที่มาของคำภาษาไทยว่า "ปิดเมือง") นั้น มีความหมายในทางปฏิบัติหลายมิติและหลายขั้นตอน
มีทั้ง Total Lockdown และ Partial Lockdown
ปิดร้านรวงก็เป็น Lockdown
เคอร์ฟิวก็เป็น Lockdown
ห้ามคนออกนอกบ้านก็เป็น Lockdown
ปิดบางส่วนของเมืองเพื่อตามไล่ล่าโจรก็เรียก Lockdown
เพื่อป้องกันความสับสน เราต้องตกลงกันก่อนว่าความหมายของคำว่า "ปิดเมือง" คืออะไร และแต่ละขั้นตอนของ "ปิดเมือง" นั้นจะบรรลุเป้าหมายที่เราต้องการมากน้อยเพียงใด
อีกทั้งยังต้องเข้าใจว่าคำว่า "ปิดเมือง" อาจจะหมายถึงคนมีอำนาจสั่งการให้ทำ
หรือประชาชนเองเห็นว่าควรจะร่วมมือกัน "หยุดกิจกรรมของเมือง" อย่างเต็มใจด้วยตนเอง
ความแตกต่างระหว่างการ "ปิดเมือง" กับ "ความร่วมมือของประชาชน" ที่จะสกัดการแพร่ของ Covid-19 อยู่ที่
แบบแรกคือการบังคับ
แบบที่สองคือการตัดสินใจของประชาชน ที่จะจัดระเบียบชีวิตประจำวันเพื่อเอาชนะสงครามไวรัสตัวนี้
การสั่ง "ปิดเมือง" อาจจะได้ผลหรือไม่ก็ได้ เพราะวัดกันด้วยประสิทธิภาพในการบังคับใช้กฎกติกานั้น เอาเข้าจริงๆ เราก็ไม่มีเจ้าหน้าที่เพียงพอที่จะอุดทุกรูโหว่ได้
และทุกรูโหว่นั้นคือชัยชนะของศัตรูที่มองไม่เห็น
นั่นเพราะเจ้าโคโรนาไวรัสพันธุ์ใหม่มีความสามารถในการโจมตีได้อย่างกว้างขวางและรวดเร็วกว่าไวรัสในครอบครัวเดียวกันตัวก่อนๆ
แต่หากเป็น "ความสมัครใจ" ของสมาชิกในสังคมเอง ที่จะรวมพลังกันเพื่อไม่เปิดช่องว่างให้มีการแพร่เชื้อได้ นั่นจะเป็นวิธีการที่ได้ผลที่สุด
ประเทศจีนได้พิสูจน์แล้วว่า ความสำเร็จในการจัดการกับวิกฤติครั้งนี้อยู่ที่รัฐบาลที่เอาจริง
เท่านั้นไม่พอ ประชาชนต้องร่วมมืออย่างเต็มที่ด้วย
แน่นอนว่าทุกสังคมมีคนเห็นแก่ตัว แต่เป็นเพียงส่วนน้อย
ส่วนเล็กๆ ที่ยังฝ่าฝืนหรือไร้ระเบียบก็จะถูกจัดการโดยกฎหมายอย่างเข้มงวดและฉับพลัน...และถูกลงโทษโดยพลังของสังคมเอง ที่จะไม่ยอมรับความเห็นแก่ตัวของคนบางคนที่ทำให้ทั้งประเทศตกอยู่ภายใต้อันตรายนั้น
เสียงเรียกร้องบางส่วนให้ใช้มาตรการเด็ดขาดคือ Lockdown หรือ "ปิดเมือง" ในลักษณะ "เจ็บแต่จบ" นั้น โดยทฤษฎีแล้วน่าจะตรงใจคนทั่วไปที่อยากเห็นการระบาดของโรคจบให้เร็วที่สุด
แต่ในทางปฏิบัติมีคำถามตามมาว่า "ถ้าเจ็บแต่ไม่จบ" จะทำอย่างไร
เพราะหากใช้วิธีบังคับก็ย่อมแปลว่าคนที่ยอมทำตามนั้นต้องทำเพราะเป็นคำสั่ง แต่ในใจอาจจะไม่ได้เห็นด้วยกับการถูกสั่งให้ทำนัก
ดังนั้นหาก "ปิดเมือง" ได้ระยะหนึ่งแล้วกลับมาเปิดใหม่ (เพราะไม่มีประเทศไหนปิดเมืองหรือประเทศได้ตลอดไป) ก็ไม่มีอะไรรับรองได้ว่าคนที่รู้สึกถูกบังคับให้ต้องอยู่ในกฎกติกาที่ตัวเองไม่ได้เห็นด้วยนั้นจะไม่กลับไปใช้ชีวิตแบบเดิมอีก
และหากกลับไปใช้ชีวิตแบบเดิม ก็ไม่มีอะไรรับรองได้ว่าเชื้อไวรัสตัวนี้จะไม่กลับมาอาละวาดอีก
ดังนั้นไม่ว่าจะโดยประสบการณ์หรือหลักปฏิบัติใด วิธีการเอาชนะโรคระบาดที่ได้ผลที่สุดก็คือ การที่ประชาชนเองลุกขึ้นมาแสดงความรับผิดชอบและสำนึกร่วมกัน ว่าจะต้องยอมปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตของตนเองเสียใหม่ที่จะไม่เอื้อต่อการถูกโจมตีโดยศัตรูไร้สัญชาติและไร้ร่องรอยได้อีก
มันคือ New Normal ที่คนไทยต้องยอมปรับยอมเปลี่ยนเพื่อเอาชนะภัยคุกคามต่ออนาคตของประเทศทุกชนิด
คำประกาศของ กทม.เมื่อวันเสาร์ให้ปิดห้างสรรพสินค้า, ตลาด, สนามกอล์ฟ และจุดที่มีการชุมนุมของผู้คน 22 วันนั้นเท่ากับเป็นการ "ปิดเมืองหลวง" แล้ว...เป็นการ Lockdown รูปแบบหนึ่ง
แต่ยังให้เปิดร้านรวงที่จำเป็นสำหรับความเป็นอยู่ในวิกฤติ เช่นร้านขายยาและร้านอาหารเพื่อซื้อกลับไปกินที่บ้าน
นี่คือความหมายของคำว่า Lockdown ที่แปลว่าเมืองนั้นๆ จะไม่มีความเคลื่อนไหวของประชาชนที่ไม่จำเป็น
เพื่อแยกมิตรแยกศัตรู แยกภัยคุกคามออกจากชีวิตปกติ
การระงับยับยั้งความเคลื่อนไหวของผู้คนเพื่อระงับโอกาสที่ไวรัสจะข้ามจากคนหนึ่งไปสู่อีกคนหนึ่ง (หรือหลายคน) นั้นมีอยู่สองทาง
หยุดคนออกไปเจอกัน
หรือปิดจุดที่มีคนพลุกพล่านเพื่อหยุดกิจกรรมที่จะทำให้คนต้องไปเจอกัน
การตัดสินใจของ กทม.คือการทำอย่างหลัง
เพราะรัฐบาลยังหวังว่าไม่ต้องทำอย่างแรก
แต่หากปิดสถานที่เหล่านี้เพื่อไม่ให้ผู้คนไปเจอกันไม่ได้ผล เพราะคนยังจะหาทางเจอกันในรูปแบบอื่นหรือด้วยการทำกิจกรรมด้วยกันแบบอื่น ก็คงไม่มีทางอื่นนอกจากจะต้องหยุดความเคลื่อนไหวของคน
การหยุดความเคลื่อนไหวของคนเพื่อไม่ให้ไวรัสมีโอกาสโจมตีให้กว้างขวางขึ้น ก็คือการห้ามคนออกนอกบ้าน
นั่นคือ Shelter-in-Place อันหมายถึงการให้คนอยู่ในที่ตั้ง ไม่ออกไปเจอกัน ไม่ว่าจะเป็นที่ไหนก็ตาม
หลักของการใช้มาตรการ Shelter-in-Place คือให้คนอยู่ในบ้านทุกคนตลอดช่วงเวลาที่กำหนด
ยกเว้นเฉพาะกิจกรรมที่ "จำเป็น" หรือ essential เท่านั้น
อะไรคือ "กิจกรรมที่จำเป็น"?
ส่วนใหญ่หมายถึงการออกจากบ้านแค่ไปซื้ออาหาร (รีบไปรีบกลับ...ไม่สังสรรค์เสวนากับคนอื่น), ออกไปซื้อยา หรือไปหาหมอกรณีเร่งด่วน
ทั้งหมดนี้หัวใจอยู่ที่การ "รักษาระยะห่าง" หรือ Social Distancing ระหว่างผู้คน เพราะไวรัสตัวนี้กระโดดข้ามจากคนสู่คนผ่านน้ำลาย, สารคัดหลั่งเป็นหลัก
สรุปว่าไม่ว่าเราจะตีความคำว่า "ปิดเมือง" แบบกว้างหรือแบบแคบ...วิธีการสู้กับศัตรูร้ายตัวนี้ที่คร่าชีวิตคนทั้งโลกไปกว่า 10,000 คนและทำให้คนติดเชื้อแล้วกว่า 250,000 คนก็คือ
Social Distancing เท่านั้น!
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |