ล็อกดาวน์กรุงเทพฯ ปิดสถานที่26ประเภท‘ห้าง-ตลาดนัด’5จว.ปริมณฑลเอาด้วย


เพิ่มเพื่อน    

  ผู้ว่าฯ กทม.สั่งล็อกดาวน์กรุงเทพฯ 22 วัน เริ่ม 22 มี.ค.-12 เม.ย. ปิดสถานที่ 26 ประเภท ห้าง ตลาดนัด ปิดหมด  เว้นซูเปอร์มาร์เก็ต ร้านสะดวกซื้อ ร้านอาหารขายได้เฉพาะหิ้วกลับบ้าน 5 จังหวัดปริมณฑล สมุทรปราการ สมุทรสาคร นครปฐม นนทบุรี และปทุมธานี ปิดสู้โควิด-19 ตาม "ธนาธร" เท้าราน้ำไล่ "บิ๊กตู่" ออกให้คนอื่นมาทำหน้าที่แทน ต้องแก้ รธน. ยุบ ส.ว.

        เมื่อวันที่ 21 มีนาคม 2563 เวลา 10.00 น. ณ ห้องประชุม ชั้น 8 อาคารธานีนพรัตน์ ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร 2 เขตดินแดง พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการควบคุมโรคติดต่อกรุงเทพมหานคร ตาม พ.ร.บ.โรคติดต่อ พ.ศ.2558 หารือมาตรการเพิ่มเติมเพื่อหยุดการแพร่กระจายของเชื้อโควิด-19 เนื่องจากสถานการณ์การระบาดมีแนวโน้มสูงขึ้นต่อเนื่อง จนอาจส่งผลให้เกิดการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด -19 กระจายขยายวงกว้าง
         ต่อมา พล.ต.อ.อัศวินเปิดเผยภายหลังการประชุมว่า ในที่ประชุมคณะกรรมการฯ มีมติสั่งปิดสถานประกอบการตามมาตรา 35 พ.ร.บ.โรคติดต่อ พ.ศ.2558 เพิ่มเติม เป็นระยะเวลา 22 วัน ตั้งแต่ 22 มีนาคม-12 เมษายน 2563 ดังต่อไปนี้
         1.ร้านอาหาร (ให้เปิดเฉพาะการจำหน่ายอาหารเพื่อนำกลับไปบริโภคที่อื่น และร้านอาหารในโรงแรมที่ให้บริการเฉพาะผู้ที่พักอาศัยในโรงแรม) 2.ห้างสรรพสินค้า เว้นแต่ซูเปอร์มาร์เก็ต ร้านขายยา หรือสินค้าเบ็ดเตล็ดที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิต ร้านอาหาร (ให้เปิดเฉพาะการจำหน่ายอาหารเพื่อนำกลับไปบริโภคที่อื่น) 3.พื้นที่นั่งหรือยืนรับประทานอาหารในร้านสะดวกซื้อ
       4.ตลาดและตลาดนัด (เปิดเฉพาะการจำหน่ายอาหารสด อาหารแห้ง อาหารปรุงสำเร็จเพื่อนำกลับไปบริโภคที่อื่น อาหารสัตว์ ร้านขายยา และสินค้าเบ็ดเตล็ดที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิต) 5. ร้านเสริมสวย แต่งผมหรือตัดผม 6.สถานที่บริการสักผิวหนังหรือเจาะส่วนหนึ่งส่วนใดของร่างกาย 7.สถานที่เล่นสเกตหรือโรลเลอร์เบลด หรือการเล่นอื่นๆ ในทำนองเดียวกัน
        8.สวนสนุก สถานที่เล่นโบว์ลิง หรือตู้เกม 9.ร้านเกมและร้านอินเทอร์เน็ต 10.สนามกอล์ฟหรือสนามฝึกซ้อมกอล์ฟ 11.สระว่ายน้ำ หรือกิจการอื่นๆ ในทำนองเดียวกัน 12.สนามชนไก่และสนามซ้อมชนไก่ 13.ศูนย์พระเครื่อง พระบูชา และสนามพระเครื่อง พระบูชา 14. ศูนย์แสดงสินค้า ศูนย์ประชุม และสถานที่จัดนิทรรรศการ
        15.สถานศึกษาทุกระดับและสถาบันกวดวิชา 16.สถานที่ให้บริการควบคุมน้ำหนัก คลินิกความงาม และสถานเสริมความงาม 17.สถานประกอบการเพื่อสุขภาพ (ร้านสปา ร้านนวดเพื่อสุขภาพ ร้านนวดเพื่อเสริมความงาม) 18.สถานที่ให้บริการสปา อาบน้ำ ตัดขุน รับเลี้ยงหรือรับฝากสัตว์    19.สถานประกอบกิจการอาบ อบ นวด
         20.สถานประกอบกิจการอาบน้ำ อบไอน้ำ อบสมุนไพร 21.โรงมหรสพ (โรงภาพยนตร์ โรงละคร โรงมหรสพ) 22.สถานที่ออกกำลังกาย 23.สถานบริการและสถานประกอบการที่คล้ายสถานบริการ 24.สนามมวยและโรงเรียนสอนมวย 25.สนามกีฬา 26. สนามม้า
ห้างเปิดเฉพาะโซนขายอาหาร
    อนึ่ง เนื่องจากเป็นกรณีที่มีความจำเป็นรีบด่วน หากปล่อยให้เนิ่นช้าไปจะก่อให้เกิดผลเสียหายอย่างร้ายแรงแก่สาธารณชนหรือกระทบต่อประโยชน์สาธารณะ จึงไม่อาจให้คู่กรณีใช้สิทธิโต้แย้ง ตามมาตรา 30 วรรคสอง (1) แห่ง พ.ร.บ.วิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ.2539 ผู้ฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตามต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ตามมาตรา 52 แห่ง พ.ร.บ.โรคติดต่อ พ.ศ.2558
         นอกจากนี้ กรุงเทพมหานครยังขอความร่วมมือหน่วยงานเอกชนให้อนุญาตพนักงานทำงานที่บ้าน ส่วนหน่วยงานของรัฐให้ใช้วิธีเหลื่อมเวลาหรือสลับวันการทำงาน ตามความเหมาะสม ส่วนระบบขนส่งมวลชนขอให้จัดเว้นระยะที่นั่งเพื่อลดความแออัดของผู้โดยสาร และขอความร่วมมือประชาชนลดการเดินทางไปในที่มีคนหนาแน่น
         ขอความร่วมมือประชาชนไม่ต้องกักตุนสินค้า ร้านอาหารยังเปิดตามปกติ เพียงแต่ขอให้ปรับรูปแบบเป็นแบบกล่องกลับบ้าน (take away) และซูเปอร์มาร์เก็ต ก็ยังเปิดตามปกติ ร้านสะดวกซื้อให้หมั่นทำความสะอาด มีจุดบริการแอลกอฮอล์บริเวณทางเข้า เพื่อความสะอาด ปลอดภัย
    ทั้งนี้ พล.ต.อ.อัศวินได้แจ้งประกาศกรุงเทพมหานคร เรื่องสั่งปิดสถานที่ชั่วคราว (ฉบับที่ 2) ผ่านทางเฟซบุ๊ก พร้อมระบุข้อความเรียกร้องประชาชนไม่ต้องกักตุนสินค้าและอาหาร แค่หลีกเลี่ยงสถานที่ที่มีคนจำนวนมาก และเว้นระยะ Social Distance
       นอกจากนี้ ผู้ว่าฯ กทม.ยังออกแถลงผ่านคลิปวิดีโอความยาว 7 นาที ถึงเหตุผลในการประกาศคำสั่งดังกล่าว พร้อมขอความร่วมมือทุกฝ่ายในการสกัดกั้นการแพร่เชื้อโควิด-19
         ผู้ว่าฯ กทม.ระบุว่า จากการประเมินสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 หรือโควิด-19 ของอาจารย์แพทย์และผู้เชี่ยวชาญจากมหาวิทยาลัยชั้นนำ ชี้ให้เห็นว่าหากกรุงเทพมหานครไม่มีมาตรการที่เข้มข้นสกัดการแพร่เชื้อ จะมีจำนวนผู้ป่วยและผู้เสียชีวิตเพิ่มขึ้นอีกจำนวนมากจนไม่สามารถรับมือได้ กทม.จึงได้มีคำสั่งปิดสถานที่เสี่ยงต่อการแพร่ระบาดเพิ่มอีก โดยร้านอาหาร ให้เปิดจำหน่ายแบบซื้อกลับไปทานที่บ้านเท่านั้น 
    ส่วนห้างสรรพสินค้าและตลาด เปิดได้เฉพาะโซนที่ขายอาหารและสินค้าจำเป็นในการดำรงชีวิตประจำวันเท่านั้น โดยขอให้ประชาชนอย่าตื่นตระหนกและกักตุนอาหาร ยืนยันมีจำหน่ายเพียงพอ พร้อมกันนี้ได้ขอความร่วมมือไปยังทุกภาคส่วน สถานที่ทำงาน หรือสถานที่ที่มีผู้คนมารวมตัวกันจำนวนมาก พูดคุยในระยะใกล้ชิดและเป็นระยะเวลานาน ขอให้หยุดงาน หรือทำกิจกรรมสังสรรค์ ป้องกันการมารวมตัวกันจำนวนมาก ขอให้เว้นระยะทาง 1-2 เมตร ทั้งนี้ การจะควบคุมโรคต้องได้รับความร่วมมือจากทุกภาคส่วน โดยขอให้ตระหนักว่าเชื้อโควิด-19 อยู่ใกล้ตัวมาก ทุกคนจะต้องช่วยกัน เพราะไม่อย่างนั้นการระบาดก็จะมากขึ้น และขณะนี้อยู่ระหว่างการชี้ชะตาว่าไทยจะควบคุมการแพร่ระบาดได้หรือไม่
    ผู้สื่อข่าวลงพื้นที่หลังมีประกาศของ กทม. พบว่าห้างสรรพสินค้าแทบทุกห้างในพื้นที่ กทม.และปริมณฑลมีประชาชนเดินทางซื้อสินค้าจำเป็นสำหรับการดำรงชีวิตกันจำนวนมาก โดยห้างสรรพสินค้าเทสโก้ โลตัส สาขาพระราม 4 และพระราม 3 พนักงานห้างได้ตั้งจุดวัดไข้ ก่อนที่จะปล่อยให้ประชาชนเข้าไปจับจ่าย โดยสินค้าที่มีการซื้อมากที่สุดคืออาหารแห้ง น้ำมันพืช ข้าวสาร เป็นต้น
5 จังหวัดปริมณฑลปิดตาม
    หลัง กทม.ออกประกาศปิดสถานที่ต่างๆ รวม 26 ประเภท  นายฉัตรชัย พรหมเลิศ ปลัดกระทรวงมหาดไทย เปิดเผยว่า จังหวัดปริมณฑล 5 จังหวัด ประกอบด้วย สมุทรปราการ สมุทรสาคร นครปฐม นนทบุรี และปทุมธานี ได้ประชุมคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดแล้ว มีมติให้ปิดสถานที่เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโรคระบาดโควิด-19 ตั้งแต่วันที่ 22 มีนาคม-12 เมษายน เช่นเดียวกับ กทม.
    เขากล่าวว่า โดยหลักๆ คือการปิดห้างสรรพสินค้า ยกเว้นแผนกซูเปอร์มาร์เก็ตและร้านสะดวกซื้อต่างๆ และไม่ปิดตลาด แต่ให้ขายได้เฉพาะอาหารและเครื่องอุปโภคบริโภคที่จำเป็นเท่านั้น นอกนั้นเป็นสถานที่ที่มีคนไปรวมตัวกันจำนวนมาก เช่น สนามมวย สนามกีฬา สถานที่ออกกำลังกาย ฟิตเนส สระว่ายน้ำ และอื่นๆ
    ที่ศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19 ) ทำเนียบรัฐบาล ได้ประชุมติดตามและประมวลสถานการณ์ปัจจุบัน โดยนายประทีป กีรติเรขา รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ในฐานะเลขานุการศูนย์ เป็นประธานการประชุม โดยในที่ประชุมได้เน้นย้ำให้เฝ้าระวังติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด ในช่วง 1-2 วันนี้ ในการติดตามจำนวนผู้ยืนยันการตรวจติดเชื้อไวรัสโควิด -19 เพื่อดูแลและจัดหาสถานที่รักษาได้อย่างเหมาะสม รวมถึงหาสถานที่สำรองในการดูแลผู้ป่วย ซึ่งก่อนหน้านี้มีการประสานและสั่งการเตรียมการไปแล้ว อีกทั้งเพื่อเชื่อมโยงข้อมูลที่รวบรวมโดยศูนย์ ไปสู่การตัดสินใจของผู้เกี่ยวข้องแล้วในระดับสูงต่อไป
    ต่อมาเวลา 12.20 น. ภายหลังการประชุม นายธีรภัทร ประยูรสิทธิ ปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมได้หารือเพื่อติดตามสถานการณ์ทั่วไป ตามที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม มีบัญชาให้ติดตามความคืบหน้าการทำงานของทุกหน่วยงานในภาพรวมตลอด 24 ชั่วโมง ซึ่งในวันนี้ได้หารือมาตรการ 6 ด้าน ได้แก่ ด้านสาธารณสุข ด้านเวชภัณฑ์ ด้านการต่างประเทศ ด้านป้องกัน ด้านการช่วยเหลือเยียวยา และด้านการรับเรื่องราวร้องทุกข์ รวมไปถึงเรื่องการประชาสัมพันธ์ และยังมีการติดตามเรื่องเกี่ยวข้องจากมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 17 มี.ค.ที่ผ่านมา และเป็นการติดตามสถานการณ์ปัจจุบันรวมไปถึงคาดการณ์สิ่งที่จะเกิดในระยะต่อไป
    ปลัด สปน.กล่าวอีกว่า ที่ประชุมได้นำเรื่องร้องเรียนของประชาชนมาหารือ เพื่อที่จะส่งต่อไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อแก้ไขปัญหาและปฏิบัติให้สมบูรณ์ยิ่งขึ้น อย่างไรก็ตาม เมื่อแต่ละหน่วยงานรายงานสรุปเข้ามารายวันแล้ว ทางศูนย์จะได้รวบรวม เพื่อรายงานต่อนายกรัฐมนตรีในฐานะผู้บัญชาการศูนย์ให้ทราบต่อไป
    นายธีรภัทรกล่าวอีกว่า จากการที่มีมติ ครม.เรื่องการทำงานของข้าราชการนอกและในสถานที่ตั้ง โดยเมื่อวันที่ 20 มี.ค.ที่ผ่านมา เลขาธิการคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) ได้หารือร่วมกับกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม และสำนักปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี หาเบื้องต้นและได้ออกแนวทางปฏิบัติให้กับข้าราชการและเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องแล้ว โดยทางกระทรวงดิจิทัลฯ ให้คำแนะนำเรื่องการประสานทางอิเล็กทรอนิกส์ รวมไปถึงการประชุมผ่านระบบวิดีโอคอนเฟอเรนซ์หรือการประชุมทางไกล โดยใช้เทคโนโลยีใหม่ๆ 
    อย่างไรก็ตาม เราได้เริ่มทำการทดสอบระบบกันมาบ้างแล้ว มีการวางหลักเกณฑ์เบื้องต้นเรียบร้อย คาดว่าวันพุธที่ 25 มี.ค.นี้ ทาง ก.พ. กระทรวงดิจิทัลฯ และสำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีจะได้มีการนัดชี้แจงหน่วยงานที่เกี่ยวข้องระดับกระทรวงเพื่อให้รับทราบและไปดำเนินการในส่วนที่ตัวเองรับผิดชอบ ว่าจะดำเนินการทำงานในและนอกสถานที่ตั้งอย่างไร แต่ทั้งนี้ยังต้องมีบางส่วนทำงานอยู่ในที่ตั้งและบางส่วนทำงานที่บ้าน ซึ่งแต่ละหน่วยงานสัดส่วนไม่เหมือนกัน โดยเราจะเน้นข้าราชการ เจ้าหน้าที่ที่เดินทางโดยสารรถสาธารณะก่อน ส่วนคนที่มีรถยนต์ส่วนบุคคลจะพิจารณาตามความเหมาะสมแต่ละหน่วยงานด้วย
    "ทาง ก.พ.ได้ย้ำว่าในการทำงานดังกล่าวจะต้องไม่ทำให้ประสิทธิภาพของงานลดลง โดยเฉพาะงานบริการประชาชน และต้องคำนึงถึงด้านสาธารณสุขเป็นหลัก และต้องทำให้งานเหล่านั้นเกิดสมดุล ไม่เสียหายต่อการบริการประชาชน โดยเฉพาะงานที่เกี่ยวข้องกับด้านสาธารณสุข ยังต้องให้บริการประชาชนตามปกติ และในส่วนความมั่นคงและความปลอดภัย เจ้าหน้าที่ยังคงหมุนเวียนปฏิบัติหน้าที่" ปลัด สปน.กล่าว
หมอคนเดียวสู้ไม่ไหว 
    นายธีรภัทรกล่าวว่า สำหรับเรื่องการกักตัว 14 วัน ในพื้นที่ต่างๆ ทั่วประเทศ ทางกระทรวงมหาดไทยได้มีทีมดำเนินการคัดกรอง แยกกัก กักกัน หรือคุมไว้สังเกตระดับพื้นที่ ให้การดูแลอยู่ 83,362 ทีมทั่วประเทศ โดยเป็นทีมท้องถิ่น ระดับอำเภอและสาธารณสุขร่วมกัน คอยติดตามดูแลสุขภาพของบุคคลเหล่านั้น นอกจากนั้นการปิดกิจกรรมหรือสถานที่หลายๆ ส่วนประมาณกว่า 2 หมื่นแห่งทั่วประเทศ ก็จะมีทีมเจ้าหน้าที่ลงพื้นที่ติดตามดูผลกระทบเหล่านั้นด้วย
    เมื่อถามว่า เรื่องส่วนใหญ่ที่ประชาชนร้องเรียนมาเป็นเรื่องอะไร นายธีรภัทรกล่าวว่า เวลานี้มีทั้งร้องเรียน ให้ข้อเสนอแนะ และแจ้งเหตุเบาะแสเข้ามาผ่านหลายช่อง รวมถึงสายด่วน 1111 สำนักนายกรัฐมนตรี ที่ 1-2 วันนี้ เฉลี่ยรวมกว่า 1,000 เรื่อง สอบถามมาตรการต่างๆ ของรัฐบาล อย่างขั้นตอนญาติเดินทางกลับจากต่างประเทศ รวมถึงการแจ้งเหตุบางพื้นที่มีคนจำนวนมาก แต่ยังไม่ปิดพื้น ที่หรือห้างสรรพสินค้า ที่คนมากมีมาตรการดูแลด้านสาธารณสุขหรือไม่ ส่วนนี้ได้แจ้ง กทม.ดำเนินการเพื่อให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องติดตามและให้ข้อเสนอแนะ เพื่อให้การเดินทางไปในพื้นที่ปลอดภัย
    ที่กระทรวงสาธารณสุข นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวภายหลังประชุมกับทีมผู้เชี่ยวชาญทางการแพทย์ว่า ในขณะนี้พบว่ามีผู้ป่วยใน กทม.มากที่สุดอันดับ 1 ของประเทศ ซึ่งพบกว่า 80% ดังนั้นการดูแลป้องกัน บริการผู้ป่วยจึงต้องเน้นในพื้นที่ กทม.มากเป็นพิเศษ ถ้าควบคุมได้สถานการณ์ทั่วประเทศก็จะดีขึ้น ยืนยันว่าเราไม่ได้ประกาศปิดเมือง แต่ปิดผู้ป่วยไม่ให้เดินทางไปในพื้นที่อื่นๆ โดยใช้มาตรการกักบริเวณ อย่างไรก็ตาม ประชาชนต้องปรับรับพฤติกรรมของตัวเองในการอยู่ร่วมกัน ให้คนไม่รับเชื้อต่อๆ กัน 
    "เรื่องการรักษาเราพร้อมแล้ว ทั้งเวชภัณฑ์ ยา หมอ เตียง แต่เราต้องขอความร่วมมือจากประชาชน หมอคนเดียวสู้ไม่ไหว งบเรามี แต่เราไม่ต้องการให้ท่านป่วย ท่านแค่ให้ความร่วมมือ หยุดรักสนุกพบปะผู้คนมากมาย รัฐบาลปิดสถานที่ที่เสี่ยงต่อการก่อให้เกิดการแพร่เชื้อแล้ว เราไม่ต้องการให้เชื้อเคลื่อนที่ และคนที่มีเชื้อต้องอยู่ในพื้นที่ที่จำกัด นั่นจะทำให้ตัวเลขผู้ติดเชื้อลดลง สิ่งที่พวกผมได้ทำมาหมดแล้ว แต่ท่านอย่าเอาตัวเองไปเสี่ยงรับโรคนี้ โรคนี้ไม่รุนแรงกับคุณ แต่อาจจะรุนแรงกับคนอื่น ทั้งนี้แม้คนอาจไม่เคารพกฎหมาย แต่สิ่งที่คนกลัวที่สุดคือการประณามทางสังคม  ถ้าวันนี้ประกาศแล้วยังมีคนทำอีก ก็ต้องเตือนด้วยว่าระวังกฎหมู่ด้วย คนที่รักประเทศคงไม่ยอมให้คนที่ไม่หวังดีต่อสังคมออกไปสร้างความเดือดร้อน ผมมีหน้าที่ป้องกันควบคุม รักษา ขอให้ทุกคนเป็นมือไม้ช่วยเหลือกัน" นายอนุทินกล่าวพร้อมสะอื้นเล็กน้อย
    นางนฤมล ภิญโญสินวัฒน์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ขอความร่วมมือพี่น้องประชาชนที่มีสุขภาพแข็งแรง ไม่อยู่ในกลุ่มเสี่ยง ไม่มีอาการไข้ ไม่มีประวัติสัมผัสใกล้ชิดกับผู้ป่วย ไม่เดินทางมาจากต่างประเทศที่ประกาศเป็นพื้นที่ติดโรคหรือพื้นที่ที่มีการระบาดอย่างต่อเนื่อง อย่าตัดสินใจไปโรงพยาบาลเองเพื่อตรวจหาเชื้อโควิด-19 เพราะขณะนี้มีคนจำนวนมากไปตรวจหาเชื้อโควิด-19 ทั้งที่โรงพยาบาลรัฐและโรงพยาบาลเอกชน ทำให้เจ้าหน้าที่ไม่สามารถให้บริการได้ และน้ำยาที่ใช้ในการตรวจเชื้อไม่เพียงพอ ซึ่งรัฐบาลกำลังเร่งจัดหาให้สถานพยาบาลเป็นการด่วน
เราจะไม่เข้าระยะที่ 3 
    เธอบอกว่า อยากให้พี่น้องประชาชนเข้าใจว่า หากคนปกติทั่วไป ไม่มีอาการไข้ ไม่ไปอยู่ร่วมหรือมีประวัติสัมผัสกับกลุ่มเสี่ยงหรือเดินทางมาจากพื้นที่เสี่ยง ไม่มีความจำเป็นต้องตรวจหาเชื้อโควิด-19 เพราะเมื่อไม่มีอาการอะไร ไม่มีไข้ ไปตรวจ เมื่อรู้ผล แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าจะปลอดภัย เพราะต้องกักตนเองอีก 14 วัน จึงอยากขอให้เก็บน้ำยาให้สำหรับคนหรือผู้ป่วยที่แพทย์ประเมินว่ามีโอกาสสูงในการมีเชื้อโควิดดีกว่า
    โฆษกประจำสำนักนายกฯ ยืนยันว่า ตามคำแนะนำของแพทย์และกระทรวงสาธารณสุข ประชาชนทั่วไปที่มีสุขภาพแข็งแรง สามารถใช้หน้ากากผ้าแทนได้ เพื่อที่จะได้เก็บสำรองหน้ากากอนามัยให้หมอ พยาบาล และเจ้าหน้าที่ ที่ต้องทำงานในด่านหน้ากับผู้ป่วยจริงในโรงพยาบาลขณะนี้ได้มีไว้ใช้ มั่นใจคนไทยจะร่วมมือร่วมใจฝ่าวิกฤตินี้ไปด้วยกัน
    ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เพจไทยคู่ฟ้า ได้เผยแพร่บทสัมภาษณ์ของ ศ.นพ.อุดม คชินทร อดีต รมช.ศึกษาธิการ และอดีตคณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ที่พูดถึงมาตรการรับมือกับการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ว่า ประเทศไทยทำได้ดีมากในช่วง 2 เดือนแรก เรามีคนไข้ไม่ถึง 100 คน และเสียชีวิตเพียงคนเดียว
ซึ่งหากลองคิดคำนวณตัวเลขผู้ติดเชื้อของไทย จากข้อมูลเมื่อวันที่ 18 มี.ค.63 ไทยมียอดผู้ติดเชื้อ 212 คน ถ้าคูณ 6 คือเท่ากับจำนวนยอดแบบก้าวกระโดด 1,200 คน โดยเฉพาะกลุ่มคนที่สามารถแพร่เชื้อแบบไม่รู้ตัว มองว่าคนกลุ่มนี้น่ากลัว เราจึงไม่ต้องการให้มีการชุมนุม ขอให้อยู่กันห่างๆ อย่าเดินทางในระยะนี้ เพราะเชื้อจะแพร่กระจายไปทั่ว
    ที่ผ่านมารัฐบาลได้กำหนดมาตรการเด็ดขาดที่ไม่ให้มีการชุมนุมเกิน 50 คน สำหรับต่างประเทศ ได้กำหนดให้ไม่เกิน 20 คนเท่านั้น เพื่อต้องการลดความเสี่ยงแพร่เชื้อให้มากที่สุด รวมถึงไม่ให้เร่งการแพร่ระบาดเข้าสู่ระยะ 3 อย่างรวดเร็ว อยากให้ประชาชนเข้าใจตรงนี้ โดยต้องอดทน ต้องยอมลำบาก และอย่าตามใจตัวเอง ไม่อย่างนั้นประเทศชาติจะเกิดการสูญเสียของระบบเศรษฐกิจอย่างมากมายมหาศาล และกินระยะเวลาการแพร่ระบาดออกไปยาวนาน เพราะประชาชนไม่มีความรับผิดชอบ ที่สำคัญเรากำลังเดินมาถูกทางแล้ว
    "นอกจากนี้ ขอให้เชื่อมั่นกระทรวงสาธารณสุข เพราะเราสู้เต็มที่ ท่านนายกฯ สนับสนุนเต็มที่ คำถามว่าเราจะเข้าระยะ 3 หรือไม่ ถ้าหากประชาชนไม่ปฏิบัติตามก็จะเข้าแบบ 100% แต่ก็มีโอกาสไม่เข้าด้วยเช่นกัน ถ้าทำอย่างจริงจังเข้มข้น ซึ่งถ้าทุกคนเสียสละยอมปฏิบัติตามมาตรการที่ สธ.ประกาศไว้ แล้วเราจะไม่เข้าระยะที่ 3 อย่างแน่นอน ขอยืนยัน”
    นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ แกนนำคณะก้าวหน้า อดีตหัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ แถลงเปิดตัวคณะก้าวหน้า ผ่านเพจเฟซบุ๊ก “คณะก้าวหน้า - Progressive Movement” ว่า ข้อบกพร่องในการแก้ปัญหาไวรัสโควิดของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ โดยยกกรณีต่างๆ อาทิ การเปิดโรงแรมรับคนต่างชาติมากักตัว แต่ศูนย์กักตัวผีน้อยมีเพียงมุ้ง เป็นการสะท้อนความคิดคนไม่เท่าเทียมกัน เลือกปฏิบัติ แบ่งชั้นวรรณะ, การอุ้มผู้ประกอบการดิวตี้ฟรี ทำให้รัฐสูญเสียรายได้ 30,000 ล้านบาท, การอุ้มตลาดหุ้น โดยใช้กลไกเซอร์กิตเบรกเกอร์ และตั้งกองทุนขึ้นมาเพื่อไม่ให้หุ้นตกไปมากกว่านี้ หมายถึงการช่วยผู้ถือหุ้นและนักลงทุน ขณะที่คนเดือดร้อนจากการไม่เดินทางใช้จ่าย ไม่ได้รับการดูแล แต่รัฐบาลจะเอาภาษีประชาชนมาตั้งกองทุนหุ้น พอเสียงค้านดังขึ้น พล.อ.ประยุทธ์ไม่เห็นด้วย จึงไม่มีการนำเสนอเข้าคณะรัฐมนตรี แต่นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี เผยได้เตรียมไว้แล้ว
    ช่วงท้าย นายธนาธรได้เสนอโรดแมปแก้วิกฤติชาติในนามคณะก้าวหน้าว่า 1.พล.อ.ประยุทธ์ ต้องเสียสละลาออก ให้คนอื่นเป็นผู้นำแก้วิกฤติชาติ ให้สภาแต่งตั้งนายกฯ ใหม่ ภารกิจเฉพาะหน้าภายใน 1 ปี แก้ปัญหาโควิด รวมถึงฟื้นฟูประเทศ 2.แก้รัฐธรรมนูญ ยุบศาลรัฐธรรมนูญ ยุบ กกต. ยุบ ส.ว. แต่งตั้ง เลิก ม.279 เลิกนิรโทษกรรม คสช. แก้ ม.256 ให้แก้รัฐธรรมนูญ ให้มี ส.ส.ร. มาจากประชาชน การเลือกตั้งครั้งหน้าจะได้ผู้นำที่มาจากเจตนารมณ์ประชาชนจริงๆ ไม่ใช่ผู้นำสืบทอดอำนาจ แล้วยุบสภาเลือก ส.ส. และ ส.ส.ร.ในคราวเดียวกัน จะได้สภาและผู้นำที่มาจากประชาชน.


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"