สถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ หรือ COVID-19 โควิด-19 ในประเทศไทยยังคงน่าเป็นห่วงเช่นเดียวกับอีกหลายประเทศทั่วโลก
ล่าสุดตั้งแต่ช่วงสายวันเสาร์ที่ 21 มี.ค.ที่ผ่านมา คนกรุงเทพมหานครต้องพากันแตกตื่นกับข่าวการตัดสินใจของกรุงเทพมหานคร ภายใต้การนำของ พลตำรวจเอกอัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ที่ออกมาตรการหลังเป็นประธานการประชุมคณะกรรมการควบคุมโรคติดต่อกรุงเทพมหานคร ตาม พ.ร.บ.โรคติดต่อ พ.ศ.2558 อันเป็นมาตรการที่ กทม.บอกว่าจำเป็นต้องใช้ เพื่อหยุดการแพร่กระจายของเชื้อโควิด-19
สาเหตุแห่งความแตกตื่นดังกล่าว เพราะมาตรการที่ออกมาส่งผลกระทบกับการดำเนินชีวิตของคนกรุงเทพมหานคร-ปริมณฑล ตลอดจนชาวต่างชาติในประเทศไทยไม่มากก็น้อย เพราะ กทม.มีมติสั่งปิดสถานที่ต่างๆ เป็นระยะเวลา 22 วัน ตั้งแต่ 22 มีนาคม-12 เมษายน 2563 โดยใช้อำนาจตาม พ.ร.บ.โรคติดต่อ พ.ศ.2558
สถานที่ซึ่งถูก กทม.สั่งปิดดังกล่าวมีมากมาย ไม่ว่าจะเป็นห้างสรรพสินค้า ยกเว้นส่วนซูเปอร์มาร์เก็ต-ตลาดทุกประเภท ยกเว้นแผงของสด และแผงค้าที่จำหน่ายอาหารตามความจำเป็นต่อการดำรงชีวิตประจำวัน-คลินิกเสริมความงาม ร้านตัดผม ร้านทำผม-สนามกอล์ฟ สนามฝึกซ้อมกอล์ฟ-สระว่ายน้ำ-กิจการบริการเลี้ยงและดูแลเด็กที่บ้าน-บริการดูแลผู้สูงอายุที่บ้าน-สถานที่จัดประชุมและนิทรรศการ-สถานพัฒนาเด็กปฐมวัย สถานศึกษารัฐ เอกชน โรงเรียนประจำ โรงเรียนนานาชาติ โรงเรียนสอนศาสนา โรงเรียนกวดวิชาทุกแห่ง- สถาบันการศึกษาระดับมหาวิทยาลัย บัณฑิตวิทยาลัย ทั้งของรัฐและเอกชน รวมถึงสถาบันอบรมวิชาชีพทั่วกรุงเทพฯ เป็นต้น
แต่ก็ปรากฏว่า หลังมีข่าวดังกล่าวออกมาไม่กี่นาที ก็มีดรามาให้ประชาชนสับสนพอสมควรกับท่าทีของรัฐบาลผ่านนฤมล ภิญโญสินวัฒน์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ที่บอกว่า “ขอให้ประชาชนได้รอฟังประกาศ หรือความคืบหน้าจากราชการ และหยุดการแพร่ข่าวที่ไม่มีที่มาที่ไป ที่ไม่เกิดประโยชน์ใดๆ นอกจากความแตกตื่น ที่ไม่ตรงกับข้อเท็จจริง” แต่สุดท้ายเมื่อมีหนังสือประกาศของ กทม.อย่างเป็นทางการเผยแพร่ออกมา สิ่งที่สังคมแลเห็นก็คือ การสื่อสารในภาวะวิกฤติ ของรัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ยังมีปัญหาให้ประชาชนสับสนเช่นเดิม อันเป็นเรื่องที่รัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องแก้ไขปรับปรุงโดยเร่งด่วน
สำหรับการใช้มาตรการควบคุมการแพร่เชื้อดังกล่าวคงไม่หมดแค่นี้ น่าจะยังมีอีกหลายจังหวัดก็จะใช้มาตรการในการป้องกันพื้นที่ของตัวเอง โดยไม่ต้องรอการตัดสินใจจากรัฐบาลส่วนกลาง เพราะแต่ละจังหวัด ผู้ว่าราชการจังหวัดมีอำนาจในการตัดสินใจได้ตาม พ.ร.บ.โรคติดต่อ
ยิ่งตัวเลขสถิติ จำนวนผู้ติดเชื้อ-ผู้ป่วยยังคงมีมากขึ้นต่อเนื่อง ก็ย่อมทำให้แต่ละภาคส่วนก็ต้องตัดสินใจอย่างใดอย่างหนึ่งในการทำศึกป้องกันโควิด-19
ข้อมูลล่าสุด ณ วันที่ 21 มี.ค. กระทรวงสาธารณสุขแถลงสถานการณ์ไวรัสโควิด-19 ประจำวันที่ 21 มีนาคม ว่า พบผู้ติดเชื้อรายใหม่ 89 ราย รวมเป็น 411 ราย แบ่งเป็น 2 กลุ่มใหญ่ คือ กลุ่มสนามมวย 32 ราย พบใน กทม. สมุทรปราการ นนทบุรี กาญจนบุรี อุบลราชธานี สุราษฎร์ธานี สุรินทร์ กระบี่ สุพรรณบุรี กลุ่มสถานบันเทิง 2 ราย จากสถานบันเทิงย่านเอกมัย สุขุมวิท และได้เดินทางไปจังหวัดเชียงรายเข้าร่วมพิธีทางศาสนาประเทศมาเลเซีย 6 ราย พบในจังหวัดปัตตานี ยะลา นราธิวาส และ 11 รายมีประวัติสัมผัสกับผู้ป่วย ส่วนกลุ่มผู้ป่วยใหม่มี 38 ราย เป็นกลุ่มเดินทางจากต่างประะเทศ มีต่างชาติ 6 ราย และได้ไปท่องเที่ยวผับที่ปอยเปต นอกจากนี้ยังพบผู้ที่ไปยังสถานที่แออัด ผู้ทำงานด้านบริการ พนักงานขาย พนักงานเสิร์ฟ สถานบันเทิง พนักงานขับรถ และมีกลุ่มผู้ที่รอผลตรวจยืนยันอีก 20 ราย ส่วนผู้ป่วยหนักเพิ่มเป็น 7 ราย
จากข้อมูลดังกล่าวแสดงให้เห็นว่า มีผู้ติดเชื้อกระจายออกไปอยู่หลายจังหวัดทั่วประเทศ จึงทำให้ประชาชนทั่วประเทศมีความเสี่ยงมากขึ้นเรื่อยๆ!!!
ท่ามกลางกระแสเรียกร้องให้ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ออกมาตรการคุมเข้มแบบ จัดหนัก-ใส่ยาแรง ให้มากขึ้น เพราะคนในสังคมเริ่มหวั่นเกรงว่า สุดท้ายแล้วตัวเองอาจไม่รอดใน สงครามโควิด-19 War against Covid-19 แม้ต่อให้พลเอกประยุทธ์จะปลุกให้ประชาชนคนไทยร่วมกันฟันฝ่าวิกฤติครั้งนี้ ประเทศไทยต้องชนะ แต่ดูเหมือนอารมณ์ของคนไทยจะไม่อินตาม
สาเหตุสำคัญ จับกระแสความรู้สึกได้ว่า ประชาชนจำนวนมากมองว่ารัฐบาลประยุทธ์ตื่นตัวช้า ไม่มีการบริหารงานแบบ Crisis Management ไม่ปรับรูปแบบการทำงานของคณะรัฐมนตรีเพื่อรับมือและสู้กับวิกฤติโควิด-19 แบบ War cabinet เพราะพลเอกประยุทธ์และรัฐบาลมาเริ่มตื่นตัวและออกหลายมาตรการ ที่แม้ประชาชนจะเห็นด้วย สนับสนุน แต่ก็มองว่า ในความเป็นจริงควรทำมาตั้งนานแล้ว ไม่ใช่เพิ่งจะงัดออกมาเมื่อ 17 มี.ค.ที่ผ่านมา
ไม่ว่าจะเป็นการห้ามไม่ให้ข้าราชการ พนักงานรัฐวิสาหกิจเดินทางไปต่างประเทศ ยกเว้นกรณีจำเป็น รวมถึงการสั่งปิดสถาบันการศึกษาทุกประเภท สนามมวย สนามกีฬา ผับบาร์ โรงหนัง นวดแผนโบราณในพื้นที่ กทม.และปริมณฑล เป็นเวลา 14 วัน เริ่มตั้งแต่ 18-31 มี.ค.2563 สั่งการให้งดกิจกรรมเคลื่อนย้ายคนข้ามจังหวัด ให้หน่วยราชการส่งเสริมการทำงานที่บ้าน เป็นต้น
เพราะเมื่อตัวเลขสถิติผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง และกระจายในวงกว้าง แม้รัฐบาลจะยังไม่ประกาศว่าไทยเข้าสู่ระยะที่ 3 ที่เป็นการระบาดในวงกว้าง อยู่ในสภาพที่เชื้อโควิด-19 ได้แพร่ระบาดจากคนไทยสู่คนไทยด้วยกันเอง แต่ในความเป็นจริงคนไทยส่วนใหญ่ก็มองว่าสถานการณ์เท่าที่เห็นก็เริ่มเข้าสู่จุดนั้นแล้ว ดังนั้นหลายมาตรการที่รัฐบาลออกมา เสียงเห็นด้วยมีแน่ แต่ก็ยังมีกระแสบอกว่าช้าไป และต้องออกกฎเหล็กคุมเข้มกว่านี้
จึงไม่แปลกที่อารมณ์ความรู้สึกของคนตอนนี้ เรื่องการให้ใช้มาตรการ Lockdown-ล็อกดาวน์ ปิดตาย ไม่อนุญาตให้ใครเข้าหรือออกประเทศไทย หรือพื้นที่เสี่ยงอย่างกรุงเทพมหานครจึงเริ่มถูกพูดถึงดังมากขึ้นเรื่อยๆ
ซึ่งท่าทีจากฝ่ายรัฐบาล นางนฤมล ภิญโญสินวัฒน์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี บอกให้สังคมต้องคอยลุ้น ว่าหลังจากนี้รัฐบาลจะมีการใช้มาตรการที่เข้มข้นขึ้น เป็นยาแรงในการสู้กับสงครามโควิด-19 ด้วยการบอกว่า พล.อ.ประยุทธ์ นายกรัฐมนตรี กำลังพิจารณาแนวทางรับมือกับการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 หลังจากได้รับฟังความเห็นของผู้ทรงคุณวุฒิทางการแพทย์อย่างรอบด้าน
“จะรับฟังข้อเสนอแนะจากทุกฝ่ายจนเห็นชอบร่วมกัน และพร้อมประกาศใช้มาตรการเข้มข้นสูงสุดหากถึงเวลาที่เหมาะสม เพื่อควบคุมการแพร่ระบาดของโรคอย่างเด็ดขาด”
กระนั้นแม้เวลานี้จะไม่ได้มีการประกาศ Lockdown ประเทศไทยอย่างเป็นทางการ อย่างไรก็ตาม หลายมาตรการที่หน่วยงานต่างๆ เริ่มงัดมาใช้ ไม่ว่าจะเป็นกระทรวงคมนาคม-กระทรวงมหาดไทย ก็ถูกมองว่าเป็นเหมือนกับการ Lockdown ประเทศไทยกลายๆ ไปแล้ว ไม่ว่าจะเป็นการที่สำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (กพท.) ออกประกาศสำนักการบินพลเรือนฉบับใหม่เพื่อให้ผู้โดยสารทุกคนต้องผ่านการตรวจจากแพทย์ และมีใบรับรองแพทย์ไม่เกิน 3 วัน รวมทั้งมีประกันสุขภาพจำนวน 100,000 เหรียญดอลลาร์ จึงจะสามารถออก Bording Pass และขึ้นเครื่องบินเดินทางมายังประเทศไทยได้ เป็นต้น
ส่วนหลังจากนี้รัฐบาลจะใช้มาตรการอะไรในสงครามสู้ศึกโควิด-19 เป็นเรื่องที่ต้องติดตามกันอย่างใกล้ชิด แน่นอนว่าไม่ว่าจะใช้มาตรการแบบไหนก็ต้องมีประชาชนจำนวนหนึ่งต้องเจ็บปวด-ได้รับผลกระทบไม่มากก็น้อย ทั้งผลกระทบในการดำเนินชีวิตและผลกระทบทางเศรษฐกิจ และรายได้ การจ้างงาน ตามมาแน่นอน จุดนี้รัฐบาลก็ควรต้องให้ความสำคัญ คอยเหลียวแลกลุ่มประชาชนที่ได้รับผลกระทบด้วย
ท่ามกลางกระแสข่าวว่า ในสัปดาห์นี้รัฐบาลจะเชิญภาคธุรกิจ ผู้ประกอบการ สภาอุตสาหกรรม สภาหอการค้า มาพูดคุยที่ทำเนียบรัฐบาล เพื่อรับฟังผลกระทบในมิติต่างๆ โดยเฉพาะกลุ่มผู้ใช้แรงงาน ลูกจ้าง ซึ่งพบว่ามีตัวเลขค่อนข้างสูงที่จะได้ความเดือดร้อนจากมาตรการรัฐบาลในการรับมือการแพร่ระบาด รวมถึงฟังข้อเสนอแนะ ข้อเรียกร้องในการช่วยเหลือเยียวยาที่ต้องการให้รัฐบาลช่วยเหลือ รวมถึงรับฟังความคิดเห็นผลกระทบในกรณีหากรัฐบาลจำเป็นต้องตัดสินใจประกาศการแพร่ระบาดในระยะ 3 หรือต้องปิดประเทศ
อีกทั้งข่าวบางกระแสอ้างว่า สัปดาห์หน้านี้รัฐบาลจะออกมาตรการเพิ่มเติมเพื่อสร้างความเชื่อมั่นด้านสาธารณสุขในการรับมือของรัฐบาล ทั้งการป้องกันการแพร่ระบาด การกักกัน การรักษาผู้ติดเชื้อ
สุดท้ายแล้ว ไม่ว่ารัฐบาลจะใช้มาตรการอย่างไรในการรับมือทำศึกโควิด-19 อย่างไร แต่เบื้องต้นประชาชนทุกคนก็ต้องป้องกันตัวเองและคนในครอบครัว ไม่ให้ติดเชื้อ-แพร่เชื้อไว้ก่อนเป็นลำดับแรก ไม่ใช่จะมาหวังพึ่งพิงรอการช่วยเหลือ ป้องกันจากภาครัฐอย่างเดียว ตามหลัก “ตนเป็นที่พึ่งแห่งตน”
เพราะถ้าทุกคนมีการป้องกัน ระมัดระวังตัวเอง โดยไม่ตื่นตระหนก วิตกจริตจนเกินเหตุ ก็จะเป็นการทำให้จำนวนผู้ติดเชื้อ ผู้ป่วย ลดลงไปโดยอัตโนมัติ ก็จะเป็นการลด-แบ่งเบาภาระของบุคลากรทางการแพทย์-โรงพยาบาลไปโดยปริยาย และหากทุกคนทำได้ สุดท้าย “ประเทศไทยต้องชนะ” ย่อมเกิดขึ้นได้โดยเร็ววัน
...................................................
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |