มาตรการรัฐปราบโควิด รับมือได้หรือยังน่าเป็นห่วง


เพิ่มเพื่อน    

  

    รายงานสถานการณ์โควิด-19 ในไทยยังเพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งคาดว่าในอีกไม่กี่วันยอดสะสมจะเพิ่มสูงขึ้นเป็น 500 คน ยอมรับว่าช่วงหลังยอดผู้ติดเชื้อดูเหมือนจะเพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดด จากวันละ 30  คน เป็น 60 คนต่อวัน ส่งผลให้รัฐบาลมีคำสั่งปิดสถานบริการ โรงภาพยนตร์ และสถานบันเทิงทั่วกรุงเทพฯ และปริมณฑล ตั้งแต่วันที่ 18-30 มี.ค.เพื่อลดจำนวนผู้ติดเชื้อ
     แม้ว่าผู้ติดเชื้อจะเพิ่มขึ้นสูงอย่างต่อเนื่อง แต่ส่วนใหญ่ยังอยู่ในกลุ่มเดิมไม่ว่าจะเป็นกลุ่มเซียนมวย  ผู้ชมจากสนามมวยลุมพินี สนามมวยราชดำเนิน สถานบันเทิงย่านทองหล่อที่เจอผู้ติดเชื้อในส่วนของเจ้าหน้าที่ร้านแทบจะยกร้าน ดังนั้นขณะนี้รัฐบาลจึงยังสามารถรับมือผู้ติดเชื้อได้อยู่ แต่สิ่งที่น่ากลัวคืออะไร? คือผู้ติดเชื้อจะกระจายไปยังทุกภาคส่วนต่างๆ ทั่วประเทศ ซึ่งเหตุการณ์ที่เลวร้ายสุดคือการแพร่ระบาดจากคนที่ทำงานใน กทม.ลามไปถึงญาติและครอบครัวในต่างจังหวัด จึงทำให้รัฐบาลต้องยกเลิกวันหยุดช่วงเทศกาลสงกรานต์เพื่อลดปัจจัยเสี่ยงผู้ติดเชื้อเพิ่ม
    ด้านการเข้าออกของคนในส่วนของสนามบิน รัฐบาลมีมาตรการยกเลิก Visa on Arrival (VOA) 18  ประเทศ โดยใช้อำนาจตาม พ.ร.บ.เข้าเมือง หากนักท่องเที่ยวต้องการเดินทางเข้ามาจะต้องไปติดต่อสถานทูตไทยในประเทศนั้นๆ ประกอบด้วย 1.บัลแกเรีย 2.ภูฏาน 3.จีน (รวมไต้หวัน) 4.ไซปรัส 5.เอธิโอเปีย 6.สาธารณรัฐฟิจิ 7.จอร์เจีย 8.อินเดีย 9.คาซัคสถาน 10.มอลตา 11.เม็กซิโก 12.นาอูรู 13.ปาปัวนิวกินี 14.โรมาเนีย 15.รัสเซีย 16.ซาอุดีอาระเบีย 17.อุซเบกิสถาน 18.วานูอาตู
     และยกเลิกขอวีซ่าฟรี (Visa Free) 3 ประเทศ คือ 1.ฮ่องกง 2.อิตาลี 3.เกาหลีใต้ และหากนักท่องเที่ยวจะเข้ามาให้ประสานขอวีซ่าจากสถานทูตและมีใบรับรองแพทย์อายุไม่เกิน 3 วันก่อนเดินทาง ส่วนศูนย์กักกันแรงงานไทยที่กลับจากต่างประเทศทั่วประเทศให้ยกเลิกทั้งหมด โดยให้แรงงานกลับไปกักตัวเอง 14 วันที่ภูมิลำเนาตัวเอง
     โดยมาตรการในประเทศไทยตอนนี้ทีมแพทย์กระทรวงสาธารณสุขได้ระบุว่า อยู่ในขั้นตอนหน่วงโรค คือทำทุกอย่างให้โรคกระจายตัวช้าลง เช่น เฝ้าระวัง สอบสวน กักกันโรคอย่างขันแข็ง ใช้อุปกรณ์ป้องกันส่วนบุคคล กักกันตนเอง อยู่ให้ห่างคนอื่น ที่ชุมนุมคนจำนวนมากโดยไม่จำเป็น เช่น มหรสพต่างๆ ก็งดเสียเพื่อให้โรคขยายตัวช้าที่สุด 
    หวังว่าจะไม่ให้ท่วมกำลังของแพทย์พยาบาลและอุปกรณ์การรักษาที่มีอยู่ ค่อยๆ สู้กันอย่างยืดเยื้อเรื้อรังไปจนโรคได้ระบาดไปสุดระยะเร่งของมัน ซึ่งน่าจะใช้เวลานานประมาณหนึ่งปี จากนั้นโรคก็จะเข้าสู่ระยะผ่อนโดยตัวของโรคเองโดยไม่ต้องไปพะวงกักกันหลังจากนั้นอีก ซึ่งตอนนี้สหรัฐอเมริกากำลังใช้ยุทธศาสตร์นี้อยู่
     อีกระดับต่อมาซึ่งเป็นลำดับสุดท้ายคือการปิดประเทศ ซึ่งประชาชนส่วนใหญ่ในโซเชียลคาดหวัง  คือไม่ให้มีการเคลื่อนย้ายคนเข้าออก ควบคู่ไปกับการเฝ้าระวังสอบสวนกักกันอย่างเข้มงวด ซึ่งถ้าดำเนินมาตรการนี้จะทำให้เศรษฐกิจไทยพังแบบสมบูรณ์ แต่ถ้าดูเคสของเมืองอู่ฮั่นที่จีนได้ปิดเมืองอย่างสมบูรณ์ หลังพบผู้ป่วยเพิ่มสูงขึ้นแบบก้าวกระโดด เป็นการระงับการคมนาคมทุกช่องทาง ทั้งรถไฟ  เครื่องบิน การขนส่งระบบราง รถบัสทางไกล และเรือข้ามฟาก 
    แต่ยังคงอนุญาตการเดินทางด้วยรถยนต์และรถบรรทุก แต่ต้องผ่านจุดคัดกรองอย่างเข้มงวด รวมทั้งสั่งปิดสถานที่สาธารณะอย่างโรงภาพยนตร์ สวนสนุก และวัด แต่ในส่วนของไทยตอนนี้ยอดผู้ติดเชื้อยังไม่สูงจนน่ากังวลเท่าไหร่ แต่ถ้าเพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ มาตรการต่อไปก็คือปิดเฉพาะเมือง ไม่ให้คนออกจากเมือง ซึ่งจะส่งลบต่อเศรษฐกิจน้อยกว่าปิดประเทศ
     ปัจจุบันนี้ ความพร้อมด้านการสาธารณสุขของไทย พบว่าจำนวนเตียงผู้ป่วยโควิด-19 ในโรงพยาบาลพื้นที่ กทม. มีห้องแยกผู้ป่วยเดี่ยว หรือห้องแยกโรคธรรมดาเพียงพอ นอกจากนี้ยังมีการประสานโรงแรมเพื่อเตรียมสถานที่พิเศษไว้รองรับ กรณีมีผู้ป่วยเพิ่มมากขึ้นกว่า 500 ราย เตียงโรงพยาบาลต่างจังหวัดมี 2,444 เตียง ส่วนห้องความดันลบ หรือห้องแยกผู้ป่วยติดเชื้อ โรงพยาบาลใน  กทม.มี 136 เตียง โรงพยาบาลต่างจังหวัดมี 1,042  เตียง ขณะที่ห้องแยกผู้ป่วยแบบรวมหลายเตียง  หรือ รพ.สนาม (Cohort Ward) โรงพยาบาล กทม.มี 143 เตียง โรงพยาบาลต่างจังหวัดมี 3,061 เตียง
     อย่างไรก็ตามเมื่อมาดูจำนวนบุคลากรสาธารณสุข ณ วันนี้ บ้านเรามีแพทย์โรงพยาบาลรัฐ 29,449  คน โรงพยาบาลเอกชน 7,711 คน รวมแพทย์ทั้งหมด 37,160 คน ส่วนพยาบาลโรงพยาบาลรัฐ  126,666 คน โรงพยาบาลเอกชน 24,905 คน รวมจำนวนพยาบาลทั้งหมด 151,571 คน กรุงเทพฯ เป็นแหล่งที่พบผู้ติดเชื้อมากสุด หากดูถึงการเตรียมรองรับผู้ติดเชื้อของกรุงเทพฯ
     ทั้งนี้แม้ประเทศไทยจะมีความพร้อมมากแค่ไหน แต่สิ่งสำคัญเพื่อไม่ให้เชื้อโรคแพร่ระบาดมากขึ้นกว่าเดิม คือวินัยประชาชนคนไทยด้วยกันเอง ทุกคนต้องจริงจังที่จะช่วยกันหยุดการแพร่ระบาด ไม่ว่าจะเป็นการใช้ช้อนกลางส่วนตัว ขยันล้างมือบ่อยๆ พกหน้ากากอนามัย และเจลแอลกอฮอล์ล้างมือทุกครั้งที่ออกจากบ้าน สำหรับผู้ที่กลับมาจากต่างประเทศควรกักตัวเพื่อเฝ้าระวังเป็นเวลา 14 วัน แต่ความเป็นจริงก่อนหน้านี้หลายคนที่มาจากประเทศกลุ่มเสี่ยง ไม่ว่าจะญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ไม่มีการกักตัว ส่งผลให้คนรอบข้างทั้งเพื่อนร่วมงาน ญาติ พ่อแม่ พี่น้อง มีความเสี่ยงต่อการติดเชื้ออันมาจากความไม่รับผิดชอบของแค่คนบางกลุ่ม
     ในส่วนของรัฐบาลก็มีข้อผิดพลาดที่ไม่ได้มีข้อบังคับในการกักตัวอย่างจริงจัง ถ้ามีมาตรการทางกฎหมายอย่างเข้มงวดก็จะช่วยลดความเสี่ยงติดเชื้อสำหรับสังคมส่วนรวมมากขึ้น หรืออีกแนวทางหนึ่งที่อาจจะมีทั้งมาตรการที่เป็นการลงโทษ และมาตรการที่เป็นรางวัลเป็นแรงจูงใจให้คนทำตาม 
      จริงอยู่ว่าประเทศไทยยังไม่มีการระบาดใหญ่ โดยลักษณะการระบาดเป็นแบบเรื่อยๆ ช้าๆ  แบบนี้ยังควบคุมและรักษาได้ และเราอาจไม่มีภาพการระบาดแบบอิตาลีหรืออู่อั่น ที่คนติดเชื้อพร้อมๆ กันเป็นจำนวนมากในระยะเวลารวดเร็ว ดังนั้นสิ่งที่เราต้องทำคือ อย่าให้ป่วยพร้อมกัน  เพราะฉะนั้นกิจกรรมรวมพลต่างๆ ที่จะทำให้เชื้อเข้าไปแพร่กระจายในกลุ่มได้ต้องหยุด.


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"