"จุรินทร์" ถก 13 หน่วยจัดหาเวชภัณฑ์ป้องโควิด-19 ชง "บิ๊กตู่" อนุมัติงบซื้อหน้ากากแจกฟรี รพ.-บุคลากรทางการแพทย์-กลุ่มเสี่ยง ปชป.สอบปมกักตุนนัดแรก 23 มี.ค. เตือน "อัจฉริยะ" ถ้าพรรคเสียหายต้องรับผิดชอบ
ที่ศูนย์ข้อมูลโควิด-19 ภายใต้ศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 ทำเนียบรัฐบาล นายเทวัญ ลิปตพัลลภ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงว่า ตัวเลขการผลิตหน้ากากอนามัย จากเดิม 1.2-1.3 ล้านชิ้นต่อวัน แต่ขณะนี้สามารถผลิตได้ 2.28 ล้านชิ้นต่อวัน โดยจะจัดสรรให้บุคลากรแพทย์ 1.3 ล้านชิ้นต่อวัน กระทรวงพาณิชย์จัดสรรให้ประชาชนกว่า 9 แสนชิ้น ส่วนหน้ากากทางเลือกนั้น เราอยากให้ประชาชนได้ใช้ กระทรวงมหาดไทยและจิตอาสาร่วมกันผลิต มียอดสะสม 12.8 ล้านชิ้น มีเป้าหมายให้ได้ 50 ล้านชิ้นในเดือน มี.ค.นี้ ส่วนกรมราชทัณฑ์ผลิตได้ยอดเกือบ 8 แสนชิ้น กระทรวงกลาโหมกว่า 2 แสนชิ้น และกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์กว่า 2 แสนชิ้น
ด้านนายคมสัน ขวัญใจธัญญา รักษาการประธานสมาคมผู้ค้าปลีกไทย กล่าวว่า ยืนยันว่าประชาชนไม่จำเป็นต้องกักตุนสินค้าอุปโภคบริโภค เพราะสินค้าเรามีเพียงพอ เนื่องจากไทยเป็นประเทศที่ผลิตอาหารส่งออกเป็นลำดับต้นๆ ของโลกอยู่แล้ว ปริมาณข้าวที่มีเราสำรองไว้บริโภคได้ทั้งปี หากเทียบเคียงกับตอนน้ำท่วมปี 54 ตอนนั้นโรงงานผลิตและคลังกระจายสินค้าถูกน้ำท่วมหมด อาหารยังไม่ขาดแคลน แต่ครั้งนี้โรงผลิตและคลังสินค้าไม่ได้รับผลกระทบอะไร และหากสินค้าบนชั้นวางหมด สามารถเติมได้ทันทีภายในเวลา 12 ชั่วโมง ขณะเดียวกัน ขณะนี้การสั่งสินค้าออนไลน์เพิ่มมากขึ้น การจัดส่งอาจล่าช้าจากเดิมบ้าง แต่ถือเป็นทางเลือกหนึ่ง
ที่กระทรวงพาณิชย์ นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยภายหลังการประชุมการบริหารจัดการด้านเวชภัณฑ์ป้องกันร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง 13 ฝ่ายว่า กระทรวงพาณิชย์และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้รับการแต่งตั้งจากคณะกรรมการบริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ที่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม เป็นประธาน ให้ร่วมกันดูแลเรื่องเวชภัณฑ์ป้องกันไม่ให้ขาดแคลน และมีเพียงพอกับความต้องการใช้ จึงได้มีการประชุมร่วมกันและเห็นควรเสนอมาตรการด้านเวชภัณฑ์ป้องกันที่จำเป็นต้องใช้รองรับการระบาดของไวรัสโควิด-19 แล้ว และจะนำเสนอให้คณะกรรมการฯ เพื่อพิจารณาเห็นชอบในวันที่ 23 มี.ค.นี้ เพราะจะมีการปรับเปลี่ยนระบบการบริหารจัดการใหม่ทั้งหมด และต้องเสนอของบประมาณจากรัฐบาลในการดำเนินการ
โดยมาตรการดำเนินการในส่วนของหน้ากากอนามัย ได้กำหนดให้จัดหาให้กับกระทรวงสาธารณสุข เพื่อนำไปใช้ในโรงพยาบาลและบุคลากรทางการแพทย์ให้ได้มากที่สุด เพราะถือเป็นกลุ่มที่มีความจำเป็นต้องใช้สูงสุดในการปฏิบัติหน้าที่ และเพื่อความปลอดภัย โดยกระทรวงสาธารณสุขแจ้งว่า ถ้ามีหน้ากากอนามัยเพิ่มจากเดิม 30-50% จากที่ได้รับในปัจจุบัน น่าจะเพียงพอต่อความต้องการใช้
ส่วนการกระจายให้กับกลุ่มเสี่ยงนั้่น จะเสนอให้ป็นอำนาจของคณะกรรมการควบคุมโรคติดต่อระดับจังหวัด ที่มีผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นประธาน ตาม พ.ร.บ.โรคติดต่อ พ.ศ.2558 เป็นผู้พิจารณาการกระจายหน้ากากอนามัยให้กับกลุ่มเสี่ยงต่างๆ เพราะทางจังหวัดรู้ดีว่าในพื้นที่ใครคือกลุ่มเสี่ยง เช่น กลุ่มแท็กซี่ กลุ่มผู้ที่เดินทางกลับจากต่างประเทศ กลุ่มที่มีความเสี่ยงติดเชื้อ เป็นต้น ซึ่งจะต้องให้กลุ่มเสี่ยงเหล่านี้ มีหน้ากากอนามัยใช้ป้องกันตัวเองและป้องกันการแพร่ระบาด โดยกระทรวงสาธารณสุขจะไปหารือกับกระทรวงมหาดไทย เพื่อพิจารณาว่าความต้องการที่แท้จริงเป็นยังไงต่อไป สำหรับประชาชนทั่วไป จะรณรงค์ให้ใช้หน้ากากทางเลือก หน้ากากผ้า ซึ่งรัฐบาลได้ส่งเสริมให้มีการผลิตเพิ่มขึ้นโดยลำดับแล้ว
แจกหน้ากากหมอ-กลุ่มเสี่ยง
“จะเสนอให้รัฐบาลเป็นผู้รับภาระงบประมาณในส่วนนี้ ค่าใช้จ่ายตรงนี้ เพราะหน้ากากอนามัยที่ผลิตได้ ต้องนำไปจัดสรรให้แพทย์ ให้บุคลากรทางการแพทย์ และกลุ่มเสี่ยงก่อนเป็นลำดับแรก โดยจะเป็นการจัดสรรให้ฟรี ซึ่งต้องรอผลการประชุมคณะกรรมการบริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ก่อนว่าเห็นชอบตามที่เสนอหรือไม่” นายจุรินทร์ระบุ
สำหรับเวชภัณฑ์ป้องกันอื่นๆ เช่น เจลล้างมือ และแอลกอฮอล์ กระทรวงอุตสาหกรรมรับผิดชอบไปดำเนินการให้มีการผลิตให้เพียงพอกับความต้องการของผู้ที่จำเป็นต้องใช้ เพราะขณะนี้กรมสรรพสามิตได้ผ่อนผันให้นำเอทานอลซึ่งเป็นวัตถุดิบสำคัญมาเป็นส่วนผสมจำหน่ายได้แล้ว แต่พบว่ามีปัญหาเรื่องบรรจุภัณฑ์ ซึ่งจะต้องปรับเปลี่ยนไปใช้บรรจุภัณฑ์ชนิดอื่นมากขึ้น
นอกจากนี้ หน้ากาก N95 ที่ใช้ทางการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุขรับผิดชอบจัดหา และกระจายให้สถานพยาบาลทุกประเภท ทุกสังกัดทั้งรัฐและเอกชน ชุด PPE (Personal Protection Equipment) อุปกรณ์ป้องกันร่างกายส่วนบุคคล หรือชุดคลุมทั้งตัวที่ต้องใช้ในห้องติดเชื้อ กระทรวงสาธารณสุขจะรับผิดชอบในการจัดหาและกระจายเช่นเดียวกัน ขณะเดียวกันทางการจีนแจ้งมาว่าจะช่วยบริจาคให้ประเทศไทยจำนวน 2,000 ชุด หลังจากที่มีการเจรจากับอุปทูตจีน ถุงมือยางทางการแพทย์ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ยืนยันว่ายังมีเพียงพอ สำหรับที่วัดไข้หรือเทอร์โมมิเตอร์ ทาง อย.จะรับเป็นเจ้าภาพในการอำนวยความสะดวกให้กับผู้ที่จะขอนำเข้ามาจำหน่ายในประเทศไทย พร้อมกับจะทำการเร่งรัดการดำเนินการอนุญาต และปรับปรุงกฎระเบียบให้สามารถนำเข้ามาได้ง่ายขึ้น
ด้านนายชาญชัย สิริเกษมเลิศ ผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาอุตสาหกรรมสิ่งทอ เปิดเผยว่า ขณะนี้สถาบันร่วมกับกระทรวงอุตสาหกรรมเร่งผลิตหน้ากากผ้าอนามัย 10 ล้านชิ้น เพื่อแจกจ่ายให้ประชาชน คาดจะนำมาแจกจ่ายในล็อตแรกได้ในช่วงสัปดาห์หน้าประมาณ 1-2 ล้านชิ้น โดยสถาบันจะตรวจสอบคุณภาพผ้าให้ตรงตามมาตรฐานกำหนด สามารถกรองอนุภาคที่มีขนาดไม่ต่ำกว่า 5 ไมครอน แม้จะป้องกันไม่ได้สูงเท่าหน้ากากทางการแพทย์ แต่สามารถใช้ป้องกันในชีวิตประจำวันได้ และประหยัดค่าใช้จ่ายเพราะนำไปซักกลับมาใช้ใหม่ได้
นายก่อกิจ ด่านชัยวิจิตร กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด เปิดเผยว่า ไปรษณีย์ไทยยังเปิดรับฝากส่งพัสดุประเภทเจลแอลกอฮอล์และหน้ากากอนามัย รวมถึงหน้ากากผ้า สำหรับการฝากส่งภายในประเทศ แต่กรณีฝากส่งระหว่างประเทศ จะส่งออกได้เฉพาะหน้ากากผ้าเท่านั้น ไม่สามารถฝากส่งเจลแอลกอฮอล์และหน้ากากอนามัย เนื่องจากเจลแอลกอฮอล์เป็นของเหลวที่ห้ามฝากส่งทางอากาศยาน ส่วนหน้ากากอนามัย เป็นสินค้าที่ต้องห้ามส่งออกไปต่างประเทศตามประกาศกระทรวงพาณิชย์
ที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.) พล.ต.ท.ปิยะ อุทาโย ผู้ช่วย ผบ.ตร., พล.ต.ต.บุณยรัสน์ พุกกะเวส นายแพทย์ (สบ 7) รพ.ตำรวจ, พล.ต.ต.หญิงสุรัมภา รอดมณี ผบก.วิทยาลัยพยาบาลตำรวจ, พ.ต.อ.คลัง เสถียรธนเศรษฐ รอง ผบก.กองวิจัย สำนักงานยุทธศาสตร์ตำรวจ และศาสตรจารย์ ดร.นงนุช เหมืองสิน ผู้อำนวยการหลักสูตรสาขาวิชาธุรกิจเทคโนโลยีและการจัดการนวัตกรรมบัณฑิตวิทยาลัย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมกันแถลงข่าวโครงการ “ร่วมจัดหาและผลิตเจลล้างมืออนามัยเพื่อสุขอนามัยของตำรวจและประชาชน"
พล.ต.ท.ปิยะกล่าวว่า จุฬาฯ นำเจลล้างมือจำนวน 200 ลิตร มามอบให้กับทางสำนักงานตำรวจแห่งชาติ โดยตั้งเป้าจะผลิตส่งให้ตำรวจสัปดาห์ละ 1,000 ลิตร เพื่อแจกจ่ายให้กับสถานีตำรวจทั่วประเทศ และให้ประชาชนที่ไปติดต่อราชการที่สถานีตำรวจได้ใช้ในการป้องกันไวรัสโควิด-19 โดยจะผลิตจนกว่าสถานการณ์ไวรัสนั้นจะดีขึ้น
ปชป.เริ่มสอบกักตุน 23 มี.ค.
ที่กองบัญชาการกองทัพภาคที่ 3 ค่ายสมเด็จพระนเรศวรมหาราช อ.เมืองฯ จ.พิษณุโลก พล.ท.ฉลองชัย ชัยยะคำ แม่ทัพภาคที่ 3 เป็นประธานรับมอบแอลกอฮอล์ 99.5% จากนายเทวกุล ปัทมะสุวรรณ์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการสายงานวิศวกรรมและประกันคุณภาพ บริษัท แม่สอดพลังงานสะอาด จำกัด เพื่อให้ทางกองทัพภาคที่ 3 จำนวน 2,000 ลิตร ในการนำไปผลิตเจลแอลกอฮอล์ สำหรับล้างมือแจกจ่ายให้กับกำลังพลและครอบครัว
วันเดียวกัน นายราเมศ รัตนะเชวง โฆษกพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงความคืบหน้าในกรณีของการตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริง กรณีมีการกล่าวหาว่าสมาชิกพรรคมีส่วนเกี่ยวข้องกับการกักตุนหน้ากาก ส่งออกหน้ากากอนามัยว่า พรรคยืนยันว่าไม่ได้นิ่งนอนใจกับเรื่องนี้ หัวหน้าพรรคได้มีคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการขึ้นมาตรวจสอบเรื่องดังกล่าว และความคืบหน้าที่สำคัญมีการเก็บข้อมูล ทั้งกรณีที่นายอัจฉริยะ เรืองรัตนพงศ์ ประธานช่วยเหลือเหยื่ออาชญากรรมกล่าวหา และคำชี้แจงของนางมัลลิกา บุญมีตระกูล ตั้งมหาสุข ที่ปรึกษา รมว.พาณิชย์ ซึ่งนายองอาจ คล้ามไพบูลย์ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ จะมีการประชุมนัดแรกในวันจันทร์ที่ 23 มี.ค. เวลา 13.00 น. ซึ่งการตรวจสอบข้อเท็จจริงต่างๆ จะต้องได้ข้อยุติโดยเร็วตามคำสั่งหัวหน้าพรรค
ส่วนกรณีที่คณะกรรมาธิการการป้องกันและปราบปรามการทุจริตประพฤติมิชอบ (ป.ป.ช.) และคณะอนุกรรมาธิการ ป.ป.ช.ได้มีการเรียกสมาชิกของพรรคเข้าไปตรวจสอบ เป็นกระบวนการตรวจสอบในฝ่ายนิติบัญญัติของสภาผู้แทนราษฎร พรรคไม่กังวลพร้อมให้ความร่วมมืออย่างเต็มที่
"ยืนยันอยู่ตลอดว่าในส่วนของพรรคเราได้มีการตรวจสอบคุณอัจฉริยะที่กล่าวหาสมาชิกพรรคประชาธิปัตย์อยู่หลายครั้งแล้ว และวันนี้ผมส่งสัญญาณไปยังคุณอัจฉริยะว่าข้อเท็จจริงต่างๆ ถ้าเกิดมีการเปิดเผยจะต้องเป็นข้อเท็จจริงที่ตรงไปตรงมา แล้ววันหนึ่งปรากฏว่าข้อเท็จจริง กรณีของการกล่าวหานั้นทำให้พรรคหรือหัวหน้าพรรคเกิดความเสียหาย คุณอัจฉริยะต้องรับผิดชอบกับการกระทำในวันนี้" นายราเมศระบุ.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |