ศาลสั่งจำคุก "บรรยิน" 8 ปี ปลอมเอกสารโอนหุ้น "เสี่ยชูวงษ์" สองสาวคนสนิทโดน 4 ปี แม่โบรกเกอร์รอดศาลยกฟ้อง "วันเพ็ญ" ขอบคุณรักษาความเป็นธรรม ชูวงษ์ไม่เสียชื่อเสียง ส่ง "สองสาว" นอนคุกรอศาลอุทธรณ์สั่งประกัน
เมื่อวันที่ 20 มีนาคม ที่ศาลอาญากรุงเทพใต้ ถ.เจริญกรุง ศาลอ่านคำพิพากษาคดีปลอมเอกสารโอนหุ้นของนายชูวงษ์ แซ่ตั๊ง หรือเสี่ยจืด อายุ 50 ปี นักธุรกิจรับเหมา หมายเลขดำ อ.305/2561, อ.3352/2559 และ อ.3354/2559 (รวมกับคดีที่ผู้เสียหายเป็นโจทก์ร่วม) ที่พนักงานอัยการ สำนักงานคดีอาญากรุงเทพใต้ 3 เป็นโจทก์ และนางศิริรัตน์ แซ่ตั๊ง อายุ 57 ปี ภรรยาของนายชูวงษ์ ในฐานะผู้จัดการมรดกสามี ผู้เสียหาย เป็นโจทก์ร่วม ยื่นฟ้อง น.ส.กัญฐณา หรือน้ำตาล ศิวาธนพล อายุ 30 ปี อดีตพริตตี้คนสนิทของ พ.ต.ท.บรรยิน, น.ส.อุรชา หรือป้อนข้าว วชิรกุลฑล (ชื่อปัจจุบัน น.ส.วัชรียา หรือน้ำมนต์ วัชรประยงค์วุฒิ) อายุ 29 ปี เจ้าหน้าที่การตลาด หรือโบรกเกอร์บริษัทหลักทรัพย์แห่งหนึ่ง และคนสนิทของ พ.ต.ท.บรรยิน, พ.ต.ท.บรรยิน ตั้งภากรณ์ อายุ 57 ปี อดีต รมช.พาณิชย์ และอดีต ส.ส.นครสวรรค์ พรรคพลังประชาชน และ น.ส.ศรีธรา พรหมา อายุ 56 ปี มารดาของ น.ส.อุรชา เป็นจำเลยที่ 1-4 ในความผิดฐานร่วมกันปลอมและใช้เอกสารสิทธิปลอม ลักทรัพย์ และรับของโจร ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 264, 265, 268, 334, 335 วรรคหนึ่ง (5) (7) กับวรรคสาม, 357
ศาลพิเคราะห์พยานหลักฐานของพนักงานอัยการโจทก์ที่ 1 และนางศิริรัตน์ แช่ตั๊ง โจทก์ที่ 2 และจำเลยทั้งสี่แล้ว เห็นว่า เอกสารใบคำขอ/ถอนโอนหลักทรัพย์ทั้งสองบริษัทที่โอนหุ้นไปให้ น.ส.กัญฐณา จำเลยที่ 1 และ น.ส.ศรีธรา จำเลยที่ 4 และสำเนาบัตรประจำตัวประชาชนของนายชูวงษ์ มีการแก้ไขเพิ่มเติมข้อความ ทั้งการโอนไม่ได้เป็นไปตามระเบียบของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยและบริษัทหลักทรัพย์ทั้งสอง ตามที่เจ้าหน้าที่ของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยและเจ้าหน้าที่ของบริษัท อาร์เอชบี โอเอสเค (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) และบริษัทหลักทรัพย์ เออีซี จำกัด (มหาชน) เบิกความ
ทั้งได้ความจากพยานบุคคล พยานเอกสาร และวัตถุพยานซึ่งเป็นบันทึกภาพจากกล้องวงจรปิดว่า น.ส.กัญฐณา จำเลยที่ 1 กับ พ.ต.ท.บรรยิน จำเลยที่ 3 และ น.ส.อุรชา จำเลยที่ 2 กับ พ.ต.ท.บรรยิน จำเลยที่ 3 มีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกันเป็นพิเศษมากกว่านายชูวงษ์ ไม่มีเหตุที่นายชูวงษ์จะโอนหุ้นจำนวนมากให้แก่จำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 4 ซึ่งเป็นมารดาของจำเลยที่ 2
จำเลยที่ 1-2 มีหน้าตาดี จำเลยที่ 3 ชอบพอ จึงร่วมกันยักย้ายหุ้นของนายชูวงษ์ จำเลยร่วมกันไปรับประทานอาหาร ตีกอล์ฟ เที่ยวประเทศอังกฤษ โอนหุ้นให้จำเลยที่ 1-2 ไปซื้อทรัพย์สินฟุ่มเฟือย ส่วนที่จำเลยที่ 2 ตั้งครรภ์ แพทย์เบิกความผลการตรวจว่าเด็กในครรภ์มีการปฏิสนธิประมาณเดือน มิ.ย.-ต้นเดือน ก.ค. 2558 ก่อนนายชูวงษ์เสียชีวิตวันที่ 28 ก.ค.2558 เป็นเวลาไม่นาน และพยานหลักฐานไม่พบว่านายชูวงษ์มีพฤติกรรมสัมพันธ์กับจำเลยที่ 1-2 ตามที่จำเลยกล่าวอ้าง
การโอนหุ้นนั้น จำเลยที่ 2 อ้างว่าไม่สามารถรับโอนหลักทรัพย์ดังกล่าวเป็นของตนเองได้ เนื่องจากเป็นเจ้าหน้าที่ของบริษัทหลักทรัพย์ ต้องให้จำเลยที่ 4 ซึ่งเป็นมารดาเป็นผู้รับโอนแทน โดยโทรศัพท์ที่ใช้ในการยืนยันการโอนหุ้น อยู่ในความครอบครองของจำเลยที่ 3 เสียงพูดโทรศัพท์ที่ยืนยันการโอนหุ้นไม่ใช่เสียงของนายชูวงษ์ แต่พยานที่ใกล้ชิดสนิทสนมกับนายชูวงษ์และจำเลยที่ 3 ยืนยันว่าเป็นเสียงจำเลยที่ 3
ก่อนและหลังการโอนหุ้น จากการตรวจสอบการใช้โทรศัพท์และภาพจากกล้องวงจรปิดในสถานที่ต่างๆ พบว่าจำเลยที่ 3 กับจำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 3 กับจำเลยที่ 2 ได้พบปะและพูดคุยบ่อย รวมทั้งระหว่างที่จำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 4 ไปเบิกเงินจากที่ได้จากการขายหลักทรัพย์ที่รับโอนมา ทำให้เชื่อว่าในการโอนหุ้นให้จำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 4 มารดาจำเลยที่ 2 นั้น นายชูวงษ์ไม่มีส่วนรู้เห็น แต่จำเลยที่ 3 ได้ร่วมกับจำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 3 ได้ร่วมกับจำเลยที่ 2 ร่วมกันปลอมใบคำขอถอน/โอนหลักทรัพย์และสำเนาบัตรประจำตัวประชาชนของนายชูวงษ์แล้วโอนหุ้นของ บริษัท พลังงานบริสุทธิ์ จำกัด (มหาชน) (EA) จำนวน 9,500,000 หุ้น มูลค่า 228,000,000 บาท รวมทั้งจำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 3 ร่วมกับจำเลยที่ 2 โอนหุ้นของธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) (BBL), บริษัท เซ็นทรัลพัฒนา จำกัด (มหาชน) (CPN) หลักทรัพย์ของบริษัท ปตท. สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) (PTTEP) รวมมูลค่า 35,050,000 บาท ให้แก่จำเลยที่ 4 มารดาของจำเลยที่ 2
ส่วนจำเลยที่ 4 ศาลเห็นว่า ในขณะที่จำเลยที่ 2 กับจำเลยที่ 3 ร่วมกันปลอมคำขอถอน/โอนหลักพรัพย์และสำเนาบัตรประจำตัวประชาชนของนายชูวงษ์นั้น จำเลยที่ 2 กับจำเลยที่ 3 เป็นคนดำเนินการ โดยจำเลยที่ 2 แจ้งกับจำเลยที่ 4 ว่าคนรักของจำเลยที่ 2 เป็นคนดำเนินการโอนหุ้นให้ เนื่องจากจำเลยที่ 2 เป็นเจ้าหน้าที่ของบริษัทหลักทรัพย์จะเปิดบัญชีรับเองไม่ได้ เป็นเหตุผลที่จำเลยที่ 4 ที่เป็นมารดาย่อมเชื่อ พยานหลักฐานยังฟังไม่ได้ว่าจำเลยที่ 4 มีส่วนร่วมในการปลอมใบคำขอถอน/โอนหลักทรัพย์และสำเนาบัตรประจำตัวประชาชนของนายชูวงษ์ดังกล่าวตามฟ้อง แต่เข้ามาเกี่ยวข้อง
หลังจากจำเลยที่ 2 และจำเลยที่ 3 ดำเนินการโอนหุ้นเข้ามาในบัญชีหลักทรัพย์ที่เปิดไว้ในชื่อจำเลยที่ 4 หลังจากนั้นจำเลยที่ 2 และจำเลยที่ 3 ร่วมกันขายหุ้นที่รับโอนมาเข้าบัญชีของจำเลยที่ 4 แล้วจำเลยที่ 4 เป็นคนดำเนินการเบิกถอนเงินจำนวนดังกล่าว ซึ่งในชั้นสอบสวนพนักงานสอบสวนแจ้งข้อหาจำเลยที่ 4 ว่า ร่วมกันลักทรัพย์หรือรับของโจร แต่พนักงานอัยการสั่งไม่ฟ้อง โดยโจทก์ที่ 2 ฟ้องจำเลยที่ 2 จำเลยที่ 3 และจำเลยที่ 4 ว่า ร่วมกันลักทรัพย์และรับของโจรเงินที่ได้จากการขายหุ้นดังกล่าวด้วย แต่ศาลไต่สวนแล้วเห็นว่าข้อหาดังกล่าวไม่มีมูล คดีถึงที่สุดไปแล้ว
จำเลยที่ 1-3 มีความผิดฐานร่วมกันปลอมและใช้เอกสารสิทธิปลอม พิพากษาให้จำคุก น.ส.กัญฐณา หรือน้ำตาล ศิวาธนพล จำเลยที่ 1 มีกำหนด 4 ปี, จำคุก น.ส.อุรชา หรือป้อนข้าว วชิรกุลฑล จำเลยที่ 2 มีกำหนด 4 ปี, จำคุก พ.ต.ท.บรรยิน ตั้งภากรณ์ กระทงละ 4 ปี 2 กระทง รวมจำคุก 8 ปี ยกฟ้อง น.ส.ศรีธรา พรหมา จำเลยที่ 4
นางวันเพ็ญ ธนธรรมสิริ พี่สาวของนายชูวงษ์ เปิดเผยหลังฟังคำพิพากษาว่า ขอขอบคุณศาลที่ให้ความเป็นธรรม รอมา 4 ปี 9 เดือน และขอแสดงความเสียใจกับพี่ชายของผู้พิพากษาที่เสียชีวิตจากคดีนี้ วันนี้เป็นคดีอาญาชั้นต้นในเรื่องหุ้น ส่วนคดีฆาตกรรมที่อัยการกับญาติเป็นโจทก์ร่วมนั้น จะคัดคำพิพากษาของคดีนี้ ไปยื่นต่อศาลอาญาพระโขนงในคดีฆาตกรรมต่อไป
พี่สาวของนายชูวงษ์เผยด้วยว่า คำพิพากษาเป็นการพิสูจน์สิ่งที่มีการใส่ความน้องชายตนว่ามีสัมพันธ์กับหญิงสาวไม่เป็นความจริง เพราะนอกจากถูกโกงหุ้นแล้วก็ยังเสียชื่อเสียง วันนี้ก็ดีใจที่ไม่เสียชื่อเสียง ซึ่งการโอนหุ้นไม่ใช่วัตถุประสงค์ของผู้ตาย การเสียชีวิตมีมูลเหตุ คดีแพ่งที่จำหน่ายไว้ชั่วคราว หลังจากนี้ก็จะคัดคำพิพากษาคดีนี้ไปยื่นคดีแพ่งด้วย ตนมั่นใจในพยานหลักฐานที่กองปราบปรามทำไว้แน่นมาก ก่อนหน้าเราต่อสู้ฟ้องเองมา ขอบคุณ ผบ.ตร. อัยการสูงสุด ที่เห็นแย้งยื่นฟ้อง และเราได้กลับมาเป็นโจทก์ร่วม ที่ผ่านมาใช้ชีวิตลำบาก ต้องระแวดระวัง ไม่อยากเล่าว่าเจออะไรมาบ้าง ส่วนการอุทธรณ์คดีนั้น ต้องปรึกษาทีมทนายความก่อน
สำหรับจำเลยอื่นที่ศาลพิพากษาลงโทษจำคุก ในส่วนของ น.ส.กัญฐณา หรือน้ำตาล อดีตพริตตี้ จำเลยที่ 1 นั้น ทนายความได้ยื่นคำร้องพร้อมหลักทรัพย์เดิม 5 ล้านบาท ขอปล่อยชั่วคราวระหว่างอุทธรณ์คดี ส่วนป้อนข้าว อดีตโบรกเกอร์ จำเลยที่ 2 ยื่นหลักทรัพย์เดิม 3 ล้านบาท
ศาลพิจารณาแล้วเห็นควรส่งให้ศาลอุทธรณ์เป็นผู้พิจารณาคำร้องขอปล่อยชั่วคราว และมีคำสั่งว่าจะให้ประกันหรือไม่ต่อไป โดยจำเลยทั้งสองก็จะต้องถูกนำตัวไปคุมขังยังทัณฑสถานหญิงกลางระหว่างรอฟังคำสั่งประกันจากศาลอุทธรณ์ก่อน.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |