โฆษกรัฐบาลเผย จนท.เซตระบบวิดีโอคอนเฟอเรนซ์เตรียมประชุม ครม. 24 มี.ค.นี้ นายกฯ จ่อประชุมจากห้องทำงานตึกไทยคู่ฟ้าไปยัง รมต.ที่ประจำที่กระทรวง พร้อมปรับวิธีทำงานเหลื่อมเวลา-ทำงานที่บ้าน "บิ๊กป้อม" ยกผลโพล ปชช.เชื่อมั่นรัฐบาล "เพื่อแม้ว" เหน็บผู้นำบอกให้ทำอะไร ปชช.จะทำตรงข้าม "พิชัย" แนะลดดอกเบี้ยเหลือ 0% จัดซอฟต์โลน 5 แสนล้าน "กรณ์”เสนอออก พ.ร.ก.ตัดงบฯ กระทรวงละ 10% รับมือวิกฤติเศรษฐกิจ
เมื่อวันศุกร์ นางนฤมล ภิญโญสินวัฒน์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า เวลา 14.00 น. วันที่ 20 มี.ค. เจ้าหน้าที่ทำเนียบรัฐบาลได้ทำการเซตระบบวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ เพื่อเตรียมรองรับการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ซึ่งถือเป็นอีกมาตรการหนึ่งในการยกระดับป้องกันไวรัสโควิด-19 ซึ่งนายกรัฐมนตรีอาจประชุมมาจากห้องทำงาน ที่ตึกไทยคู่ฟ้า ไปยังรัฐมนตรีที่ประจำการที่กระทรวง หากระบบพร้อม การประชุม ครม.สัปดาห์หน้าในวันที่ 24 มี.ค.เริ่มได้เลย รวมถึงการประชุมอื่นๆ ด้วย ที่อาจจะใช้รูปแบบวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ แม้ก่อนหน้านี้มีมาตรการนั่งห่างคนละ 1 เมตร แต่มีผู้เข้าร่วมประชุมจำนวนมาก
นางนฤมลกล่าวชี้แจงกรณี น.ส.พรรณิการ์ วานิช อดีตโฆษกพรรคอนาคตใหม่ เรียกร้องให้รัฐบาลปรับปรุงด้านการสื่อสารให้กับประชาชนว่า ขณะนี้รัฐบาลได้มีเว็บไซต์ของศูนย์มาตรการแก้ไขปัญหาจากโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโควิด-19 รวมถึงเว็บไซต์ทำเนียบรัฐบาล และช่องทางออนไลน์ต่างๆ ของทำเนียบรัฐบาล เพื่อสื่อสารไปยังประชาชนอย่างทันท่วงทีตามสถานการณ์แล้ว และยังมีการตอบคำถามที่ประชาชนได้สอบถามมายังรัฐบาลอย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้รัฐบาลยังมีการแถลงข่าวจากกระทรวงสาธารณสุข และศูนย์ข้อมูลโควิด-19 ทุกวัน เกี่ยวกับทางการแพทย์ และข้อมูลที่ประชาชนสนใจ ขณะเดียวกันได้รวบรวมข้อมูลจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างรอบด้านและทันท่วงทีนำมาสื่อสารผ่านช่องทางสถานีโทรทัศน์ของรัฐในทุกวัน หากมีมาตรการเพิ่มเติมนายกรัฐมนตรีจะเป็นคนสื่อสารโดยตรงไปยังประชาชน
"รัฐบาลได้ดำเนินมาตรการการแก้ไขปัญหาตามขั้นตอนอย่างมีระบบ ผ่านการประชุม และรับฟังข้อคิดเห็นจากทุกหน่วยงาน เพื่อนำมาพิจารณา เพราะทุกมาตรการที่ประกาศไป ย่อมส่งผลกระทบต่ออีกหลายคน ดังนั้นทุกมาตรการเป็นไปอย่างรัดกุม มีประโยชน์ต่อคนส่วนใหญ่" นางนฤมลกล่าว
ขณะที่ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ถึงการทำบิ๊กคลีนนิงห้องประชุม ครม.เพื่อกำจัดเชื้อโควิด-19 หลังรัฐมนตรีบางคนใกล้ชิดกลุ่มเสี่ยงว่า เขาคงทำแล้ว และตอนนี้ยังไม่มีแนวคิดการประชุม ครม.ผ่านระบบวิดีโอคอนเฟอเรนซ์
เมื่อถามถึงข้อเสนอของคุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ ประธานยุทธศาสตร์พรรคเพื่อไทย ให้ปิดพื้นที่ตรวจหาผู้ติดเชื้อ พล.อ.ประวิตร กล่าวว่า คงต้องพิจารณากันก่อน แต่ขณะนี้สถานการณ์เรายังไม่ถึงขั้นแพร่ระบาดระยะใน 3 ถ้าถึงระยะที่ 3 ค่อยพิจารณา ตอนนี้ยังไม่ต้อง และใครที่มีโอกาสจะเป็นก็มาตรวจ เพราะสำหรับผู้มีความเสี่ยงเขาให้ตรวจฟรีอยู่แล้ว คนไทยในต่างประเทศที่จะเดินทางกลับสามารถทำได้ เราไม่ปิดกั้น เพราะเขาเป็นคนไทย แต่ต้องผ่านขั้นตอนการกักตัว 14 วันก่อนออกใบรับรองแพทย์จากสถานทูต และเมื่อเดินทางถึงไทยต้องกักตัวอีก 14 วันเช่นเดียวกัน
เมื่อถามถึงมีเสียงวิจารณ์รัฐบาลทำงานล่าช้า พล.อ.ประวิตร กล่าวว่า เห็นมีการสำรวจความเห็นประชาชนยังเชื่อมั่นต่อรัฐบาล ส่วนการเปิดค่ายทหารเป็นโรงพยาบาลสนามนั้น เราใช้ทุกค่ายที่สามารถทำได้ แต่สถานการณ์ต้องไปถึงระยะที่ 3 ก่อนถึงจะดำเนินการ ตอนนี้เป็นเพียงการเตรียมการ
ทำงานเหลื่อมเวลา-ที่บ้าน
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลังจากที่ ครม.ได้ออกมาตรการการป้องกันการแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 ล่าสุด รายงานข่าวจากทำเนียบรัฐบาลเปิดเผยว่า นายดิสทัต โหตระกิตย์ เลขาธิการนายกรัฐมนตรี ได้มีคำสั่งไปยังสำนักเลขาธิการนายกฯ ให้มีการปรับวิธีการทำงานของสำนักเลขาธิการนายกฯ ทั้งเรื่องการเหลื่อมเวลาทำงานและการทำงานที่บ้าน โดยให้เสนอแผนมาในสัปดาห์หน้า และพร้อมดำเนินการอย่างช้าไม่เกินต้นเดือนเมษายน โดยเบื้องต้นแผนการทำงานที่บ้านของข้าราชการและเจ้าหน้าที่ของสำนักเลขาธิการนายกฯ มีถึง 50% ขณะเดียวกันหน่วยงานต่างๆในทำเนียบรัฐบาลก็กำลังดำเนินการเพื่อปรับแผนดังกล่าวด้วย
นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รมว.อุตสาหกรรม กล่าวว่า ได้มอบหมายให้ทุกหน่วยงานในสังกัด (ส่วนกลาง) พิจารณาให้ข้าราชการและเจ้าหน้าที่แต่ละส่วนงานขยับเวลาการทำงานเหลื่อมเวลาที่ไม่ต้องเดินทางพร้อมเพรียงกัน เพื่อลดความแออัดในการใช้สถานที่ต่างๆ หรือปฏิบัติงานที่บ้าน (Work from Home) ได้ เพื่อความปลอดภัยมากยิ่งขึ้น โดยนำระบบเทคโนโลยีสารสนเทศมาปรับใช้กับการทำงาน อาทิ การประชุมผ่านระบบวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ วิดีโอคอล แอปพลิเคชันไลน์ หรืออีเมลมาเป็นเครื่องมือในการปฏิบัติงาน เพื่อไม่ให้มีข้อติดขัด หรือเกิดปัญหากับการปฏิบัติหน้าที่เพื่อประชาชน โดยเริ่มในวันจันทร์ที่ 23 มี.ค.นี้
ที่รัฐสภา นพ.สุกิจ อัถโถปกรณ์ ที่ปรึกษานายชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร แถลงภายหลังการประชุมร่วมกันของประธานกรรมาธิการสามัญประจำสภาผู้แทนราษฎร ทั้ง 35 คณะ ว่า นายชวนได้เป็นประธานการประชุมดังกล่าว แต่มีประธาน กมธ.ร่วมประชุมเพียง 18 คณะ ก็ถือว่าครบองค์ประชุมแล้ว โดยนายชวนยังได้ปรึกษาหารือเรื่องต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งมาตรการการป้องกันไวรัสโควิด-19 ซึ่งมีการถกเถียงกันมากพอสมควร โดยนายอนันต์ ผลอำนวย ส.ส.กำแพงเพชร พรรคพลังประชารัฐ ในฐานะประธานคณะ กมธ.กิจการสภาฯ ได้รายงานให้ที่ประชุมทราบว่าก่อนหน้านี้ได้คุยกับนายชวน และได้ของบประมาณต่างๆ 5 เรื่อง
ประกอบด้วย 1.การจัดซื้อเครื่องวัดอุณหภูมิใหม่ที่มีประสิทธิภาพกว่าที่ใช้ในทุกวันนี้ ซึ่งนายชวนก็ได้อนุมัติเรื่องนี้ไป 2.เรื่องอุปกรณ์ป้องกันการฆ่าเชื้อโรคต่างๆ เช่น หน้ากากอนามัย เป็นต้น จะได้งบประมาณเพิ่มมาที่จะไปจัดซื้อ 3.ได้ติดต่อและทำข้อตกลงกับสถาบันบำราศนราดูรในเรื่องการส่งต่อผู้ป่วย 4.ได้ส่งบุคลากรของรัฐสภาไปอบรมความรู้เกี่ยวกับไวรัสนี้ และ 5.ได้รับการอนุมัติให้ทำห้องโรคติดเชื้อความดันลบ โดยห้องดังกล่าวจะเป็นห้องป้องกันไม่ให้เชื้อออกมาสู่ภายนอก
นายอนุสรณ์ เอี่ยมสะอาด โฆษกพรรคเพื่อไทย กล่าวว่า จนถึงขณะนี้รัฐบาลยังไม่สามารถวิเคราะห์หรือประเมินแบบจำลองสถานการณ์ได้ว่า วิกฤติไวรัสโควิด-19 จะไปจบลงตรงไหน ปัญหาหลักที่รัฐบาลต้องเร่งแก้ในขณะนี้ คือ 1.ปัญหาการไร้ประสิทธิภาพ ในแนวทางและมาตรการแก้ไขปัญหาการแพร่ระบาด 2.รัฐบาลตัดสินใจช้าแทบทุกกรณี และมีแนวโน้มว่าถ้าไม่แก้ไขจะช้ากว่าการแพร่ระบาดต่อไปเรื่อยๆ 3.ต้องเร่งแก้ไขปัญหาหน้ากากอนามัย เจลแอลกอฮอล์ไม่เพียงพอ และข่าวคนในรัฐบาลที่เข้าไปเกี่ยวข้องกักตุนก็ยังไม่ได้ข้อสรุป
ปชช.ทำตรงข้ามรัฐบาล
"แนวโน้มของสถานการณ์จะเป็นอย่างไร จะมีจำนวนผู้ติดเชื้อไวรัสเพิ่มขึ้นอีกพันคนหรือหมื่นคน ระยะเวลาที่ต้องต่อสู้ให้ปัญหาจบ จะยาวหรือสั้น อยู่ที่ฝีมือการบริหารจัดการของรัฐบาล ถ้าตีโจทย์ถูกก็สั้นลง ตีโจทย์ผิดก็ยาวขึ้น มีการตั้งข้อสังเกตว่าวิกฤติไวรัส รุนแรงไม่แพ้วิกฤติภาวะผู้นำ รัฐบาลพูดอะไร ประชาชนจะทำตรงกันข้ามเสมอ เช่น บอกว่าอย่ากักตุนอาหาร ประชาชนก็จะแห่ไปกักตุน แต่หวังว่ารัฐบาลคงไม่ปฏิเสธความหวังดีของพรรคเพื่อไทยและพรรคฝ่ายค้าน ชนิดที่ฝ่ายค้านบอกอะไร รัฐบาลก็จะทำตรงกันข้าม" นายอนุสรณ์กล่าว
นายพิชัย นริพทะพันธุ์ อดีต รมว.พลังงาน กล่าวว่า ขอแนะนำ 4 เรื่องเร่งด่วนที่รัฐบางควรต้องทำดังนี้ 1.ให้รัฐบาลและกระทรวงการคลังร่วมกับธนาคารแห่งประเทศไทย ประกาศปรับลดอัตราดอกเบี้ยเหลือ 0% พร้อมเตรียมวงเงินซอฟต์โลน อัตราดอกเบี้ย 0% จำนวน 500,000 ล้านบาท เพื่อช่วยเหลือธุรกิจเอสเอ็มอีที่ได้รับผลกระทบให้ประคองตัวให้ผ่านช่วงวิกฤตินี้ไปให้ได้ 2.ควรเร่งปิดประเทศ แต่ก่อนที่จะปิดประเทศจะต้องเตรียมการในเรื่องต่างๆทุกด้านให้พร้อม โดยเฉพาะการจัดการภาครัฐที่จะต้องรีบปรับตัวพัฒนาการเชื่อมต่อออนไลน์เพื่อรองรับการปิดประเทศ 3.สั่งห้ามการส่งออกหน้ากากอนามัยทั้งหมดไม่มีข้อยกเว้น ไม่ว่าจะได้รับ BOI หรือ มีลิขสิทธิ์ใดๆ 4.เร่งการใช้อุปกรณ์ตรวจสอบการติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ที่ประชาชนสามารถตรวจสอบตัวเองได้ ที่ต่างประเทศได้คิดค้น ผลิต และมีจำหน่ายกันแล้ว หรือที่กลุ่ม ปตท. คิดค้นได้แล้วก็ได้ และมีราคาไม่แพง
"หมดสมัยแล้วที่จะมีรัฐบาลที่คอยแต่ตั้งรับปัญหา และแก้ปัญหาอย่างล่าช้า หากประเทศไทยจะรอดและพัฒนาต่อไปได้ ประเทศไทยจะต้องมีผู้นำและรัฐบาลที่คิดล่วงหน้าและป้องกันปัญหาก่อนที่จะเกิดปัญหา ซึ่งรัฐบาลปัจจุบันพิสูจน์แล้วว่าทำไม่ได้เพราะคิดไม่เป็น ในวิกฤตการณ์ไวรัสโควิด-19 ของโลกครั้งนี้พิสูจน์แล้วว่ารัฐบาลที่ “ทำมากไปและทำเร็วไป” (Too much too soon) จะดีกว่า รัฐบาลที่ “ทำช้าไปและทำน้อยไป” (Too little too late) มากเพราะจะช่วยเหลือชีวิตของประชาชนได้มากกว่า" นายพิชัยกล่าว
นายกรณ์ จาติกวณิช ว่าที่หัวหน้าพรรคกล้า ในฐานะอดีตรัฐมนตรีคลังในช่วงแก้ปัญหาวิกฤติการเงินโลกช่วงแฮมเบอร์เกอร์ กล่าวเสนอแนะว่า งบประมาณแผ่นดินปี 2563 ได้ถูกจัดเตรียมไว้ตั้งแต่ปี 2562 วันนี้สภาพแวดล้อมทางเศรษฐกิจและสังคมได้เปลี่ยนไปอย่างสิ้นเชิง จึงต้องระวังจะเกิดวิกฤติโควิดลามสู่วิกฤติเศรษฐกิจ วันนี้รัฐบาลต้องเตรียมงบเพื่อรองรับความต้องการทางแพทย์ในกรณีที่ผู้ป่วยอาจจะเพิ่มขึ้นอีกหลายเท่าตัว และงบประมาณเพื่อดูแลประชาชนจำนวนมากที่เดือดร้อนอย่างหนักจากสภาวะเศรษฐกิจ รวมไปถึงหล่อเลี้ยงผู้ประกอบการเอสเอ็มอีและผู้ค้ารายย่อยที่ขาดรายได้ เพื่อให้เขาอยู่รอด และไม่ต้องปลดพนักงาน รวมถึงมาตรการที่รัฐแบ่งรับภาระค่าแรง-ค่าว่าจ้างให้กับผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบ
ออก พรก.โอนงบกระทรวงละ 10%
“อย่าให้เงินประชาชนขาดมือ ต้องใช้หลักประคองเงินหมุน โดยนายกรัฐมนตรีสามารถเรียกงบคืนได้ทันที กระทรวงละ 10% เพื่อสู้วิกฤติในครั้งนี้ และโอนงบส่วนนี้มาเป็นงบฉุกเฉินเพื่อใช้ในกรณีที่เกี่ยวข้องกับการรองรับโควิด 10% ของ 3.3 ล้านล้านบาทคือ 330,000 ล้านบาท ซึ่งผมมั่นใจว่าเป็นเรื่องที่ทำได้และต้องทำ”
นายกรณ์กล่าวอีกว่า รัฐบาลสามารถตัดงบดูงานต่างประเทศ งบสัมมนาในประเทศ งบสันทนาการ งบจัดเลี้ยง งบอื่นๆ ที่ไม่มีทางใช้ทันสิ้นปีงบประมาณนี้ รวมถึงงบกลาโหมบางส่วนที่โยกไปเป็นปีหน้าได้ โดยต้องรีบเอาเข้า ครม.และออกพระราชกำหนดโอนงบประมาณ ซึ่งด้วยความจำเป็นเร่งด่วน น่าจะใช้อำนาจรัฐบาลออกเป็นพระราชกำหนดได้เลยโดยไม่ต้องเข้าสภา
นายมงคลกิตติ์ สุขสินธารานนท์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ และหัวหน้าพรรคไทยศรีวิไลย์ แถลงข้อเสนอแนะยุทธการพิชิตสงครามโควิด-19 ให้ประกาศพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 เหมือนกับประเทศสหรัฐอเมริกา อิตาลี สวิตเซอร์แลนด์ และประเทศต่างๆ โดยให้อำนาจเจ้าหน้าที่ทหาร ตำรวจ เจ้าหน้าที่อาสาสมัครป้องกันฝ่ายพลเรือน (อปพร.) และอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) ควบคุมพื้นที่ 77 จังหวัด ไม่ให้ประชาชนที่ไม่มีหน้าที่ออกนอกบ้าน 16 วัน คือเริ่มวันที่ 21 มีนาคม-5 เมษายน 2563 แต่ออกได้ตามความจำเป็นและต้องมีผู้ควบคุมการเข้า-ออก มีเจ้าหน้าที่ ผู้ช่วยเจ้าพนักงาน ตรวจประวัติทุกคนในบ้านช่วงกักตัว ซึ่งถ้าทำได้ เชื่อว่าจะทำให้เราจะชนะในสงครามไวรัสโควิค-19
นายสารัชถ์ รัตนาวะดี ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ผลกระทบต่อเศรษฐกิจจากสถานการณ์ระบาดของโรคโควิด-19 ครั้งนี้จะรุนแรงกว่าวิกฤติต้มยำกุ้งปี 2540 เนื่องจากกระทบมายังผู้ประกอบขนาดกลางและขนาดเล็ก ภาครัฐต้องเตรียมงานให้ดี อัดยาแรง เพราะจากนี้ไปผลกระทบจะเห็นในวงกว้างจากภาคท่องเที่ยว ภาคขนส่ง เอสเอ็มอี ลงไปจนถึงเกษตรกร แบงก์จะไม่กล้าปล่อยกู้หนี้ต่างๆ จะกลายเป็นหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ หรือเอ็นพีแอล ดั้งนั้น ภาครัฐต้องดูดสภาพคล่องมาใช้ โดยออกพันธบัตรมาการันตีเงินกู้ที่ขาดสภาพคล่อง การันตีเงินเดือนผู้ตกงานซักครึ่งหนึ่ง รวมไปถึงการควรพิจารณานอกจากลดดอกเบี้ยแล้ว ก็ลดภาษี ลดภาษีมูลค่าเพิ่ม.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |