กอช. ผุดระบบหักบัญชีเงินฝากอัตโนมัติอำนวยความสะดวกสมาชิกนักออม “ปลัดคลัง” ฝันสิ้นปีดูดประชาชนสมัครสมาชิกแตะ 1.2 ล้านคน เล็งดึงลูกจ้างประจำภาครัฐช่วยเสริม
นายสมชัย สัจจพงษ์ ปลัดกระทรวงการคลัง ในฐานะประธานกองทุนการออมแห่งชาติ (กอช.) เปิดเผยว่า กอช. ได้เปิดตัวบริการวางแผนการออมผ่านระบบหักบัญชีเงินฝากอัตโนมัติ (Direct Debit) พร้อมธนาคารรัฐ 5 แห่ง ได้แก่ ธนาคารกรุงไทย, ธนาคารออมสิน, ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.), ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) และธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (เอสเอ็มอีแบงก์) ในการประกาศเจตนารมณ์ร่วมขับเคลื่อนการออมภาคประชาชน เพื่อร่วมส่งเสริมและสนับสนุนด้านวิชาการและให้ความรู้กับประชาชนเกี่ยวกับการออมเงิน การวางแผนการเงินเพื่อยามเกษียณ โดยมุ่งเป้าหมายเพื่อกระตุ้นให้เกิดการตัดสินใจออมและสมัครสมาชิก กอช. มากขึ้น
ทั้งนี้ ปัจจุบันประเทศไทยมีปริมาณการออมเพื่อวัยเกษียณเพียง 2.5 ล้านล้านบาท ซึ่งถือว่าน้อยมากเมื่อเทียบกับต่างประเทศที่มีความพร้อมด้านนี้อย่างมาก ซึ่งหลายประเทศมีการนำเงินออมในส่วนนี้ไปใช้เพื่อการลงทุนในการพัฒนาประเทศด้านอื่น ๆ ขณะที่ไทยเองเงินออมยังลงทุนไม่ได้ และที่ผ่านมารัฐบาลก็ได้มีการผลักดันเรื่องนี้อย่างต่อเนื่อง
“การออมเพื่อวัยเกษียณของไทยยังถือว่าต่ำมาก ซึ่งรัฐบาลพยายามส่งเสริมเรื่องนี้ผ่านช่องทางการออมในรูปแบบต่าง ๆ และให้สิทธิประโยชน์เพื่อจูงใจให้เกิดการออมมากขึ้น โดยเฉพาะในส่วนของ กอช. ที่ปัจจุบันมีสมาชิกอยู่เพียง 5.3 แสนราย จากเป้าหมายแรงงานนอกระบบกว่า 20 ล้านคน เราอายที่ยอดสมาชิกยังไม่ถึงเป้าหมาย โดยในปีนี้ตั้งเป้าหมายหาสมาชิกเพิ่มเป็น 1.2 ล้านราย ก็อยากจะทำให้ได้ โดยอาจจะมีการดึงลูกจ้างชั่วคราวของภาครัฐเข้ามาเสริม เพราะการสนับสนุนให้มีการออมเงิน ถือเป็นแนวทางสำคัญที่จะทำให้ประชาชนมีความสามารถในการดูแลชีวิตของตัวเองในอนาคต และจะช่วยลดภาระของรัฐบาลในการจัดสรรงบประมาณเข้ามาดูแลด้วย” นายสมชัย กล่าว
นายสมชัย กล่าวอีกว่า ได้มีการเดินหน้าผลักดันเรื่องการออมอย่างเป็นระบบ ผ่าน 4 เสาสำคัญ ได้แก่ 1. การเสริมความรู้ทางการเงิน 2. การเสริมผลิตภัณฑ์ทางการออมใหม่ ๆ เพื่อเป็นแรงจูงใจในการออมเงิน 3. องค์กรการเงินชุมชนต้องเสริมให้แข็งแกร่ง เพราะเป็นฐานรากของการออมเงินชุมชน และ 4. เติมเต็มระบบการออมเพื่อวัยเกษียณ
นอกจากนี้ ยังได้มอบหมายให้สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ไปศึกษาแนวโน้มอัตราประชากรของประเทศไทยในแต่ละช่วงอายุ ในช่วง 30-40 ปีจากนี้ เพื่อให้สามารถเตรียมความพร้อมในการวางแผนบริหารจัดการประชากรอย่างเป็นระบบ โดยเฉพาะในวัยแรกเกิด และวัยแรงงาน เนื่องจากแนวโน้มประชากรผู้สูงวัยที่จะมีเพิ่มมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง ขณะที่อัตราเด็กแรกเกิดน้อยลง ซึ่งในระยะยาวอาจส่งผลกระทบถึงฐานการจัดเก็บภาษีของรัฐบาลด้วย
“เรื่องนี้เป็นที่มาของการปรับโครงสร้างประมวลรัษฎากรซึ่งกำลังดำเนินการอยู่ในขณะนี้ ทั้งการเพิ่มประสิทธิภาพการจัดเก็บ การให้สิทธิประโยชน์ด้านต่าง ๆ อาทิ สนับสนุนการมีบุตรเพิ่มขึ้น เบื้องต้น รมว.การคลังได้เห็นชอบในหลักการเรียบร้อยแล้ว แต่ยังต้องหารือในรายละเอียดกับกรมสรรพากรในอีก 2-3 ประเด็น โดยทั้งหมดคาดว่าจะได้ข้อสรุปเร็ว ๆ นี้” นายสมชัย กล่าว
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |