6อดีตปธ.รัฐสภา เสนอเปิดประชุม วิปรบ.โดดขวาง


เพิ่มเพื่อน    

  6 อดีตประธานรัฐสภาชง "ชวน" เปิดสภาถกโควิด บี้รัฐบาลปิดประเทศ นับ 1 ใหม่วางมาตรการเข้มข้นเด็ดขาด ปธ.วิปรัฐบาลคัดค้าน แนะส่งหนังสือถึงนายกฯ แทน กกต.ชี้ช่องเลื่อนประชุมใหญ่พรรคการเมือง 

    ที่รัฐสภา เมื่อวันที่ 19 มีนาคม นายสุชน ชาลีเครือ และนายนิคม ไวยรัชพานิช อดีตประธานวุฒิสภา เป็นตัวแทนอดีตประธานรัฐสภา 6 คน ซึ่งประกอบด้วย นายอาทิตย์ อุไรรัตน์ อดีตประธานสภาผู้แทนราษฎร, นายสนิท วรปัญญา นายประสพสุข บุญเดช และ พล.อ.ธีรเดช มีเพียร อดีตประธานวุฒิสภา เข้าพบนายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา เพื่อนำความเห็นของที่ประชุมอดีตประธานสภาฯ และวุฒิสภาทั้ง 6 คน เสนอต่อนายกรัฐมนตรี เพื่อให้มีการหลอมรวมทุกพลังในชาติเพื่อรับมือวิกฤตการณ์ให้รอบด้าน
    โดยนายสุชนกล่าวว่า ข้อเสนอของเราต้องการเรียกร้องให้มีการเปิดประชุมรับรัฐสภาเพื่อหาทางออกของปัญหาของประเทศโดยเฉพาะเรื่องการแก้ปัญหาไวรัสโควิด-19 และการรับฟังปัญหาเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ 60 หลังเกิดการชุมนุมของนักศึกษา หรือแฟลชม็อบเรียกร้องให้มีการแก้ไข ไปจนถึงปัญหาภัยแล้ง และภัยอื่นๆ ของประเทศ เพื่อให้ประชาชนเห็นว่าระบบรัฐสภาเป็นกลไกที่สามารถแก้ปัญหาให้ประเทศได้
    "การปิดประเทศคือการวางมาตรการที่เข้มข้น เด็ดขาด ไม่ได้หมายถึงการห้ามไม่ให้มีการเปิดประชุมรัฐสภาเพื่อหารือในประเด็นดังกล่าว เพราะหากใครมีหน้าที่อะไรก็สามารถทำได้ตามปกติ อย่างไรก็ตาม จากการหารือกับนายชวน ท่านเห็นด้วยกับหลักการ และบอกจะนำเรื่องนี้ไปเสนอต่อนายกฯ" นายสุชนระบุ
    นายนิคมกล่าวว่า ตนให้กำลังใจการทำงานของรัฐบาล แต่ขอเสนอให้การทำงานจากนี้มีความเป็นเอกภาพ และไปในทิศทางเดียวกัน รวมทั้งรัฐบาลต้องมีมาตรการที่เด็ดขาด โดยอดีตประธานทั้ง 6 คน มีข้อเสนออยากเห็นการปิดประเทศ และเริ่มต้นกระบวนการจัดการโดยการนับ 1 ใหม่ ทั้งนี้ ความหมายของการปิดประเทศหมายถึงการวางมาตรการที่เข้มข้นขึ้น เช่น ห้ามต่างชาติเดินทางเข้ามาในประเทศไทย ขณะที่คนไทยที่จะเดินทางเข้าประเทศต้องได้รับการตรวจสอบที่เข้มข้น ขณะเดียวกัน ในประเทศคนก็สามารถเดินทางได้ แต่ต้องมีการเฝ้าระวังที่เข้มงวด เพื่อป้องกันการแพร่กระจายของเชื้อไวรัส
    ทางด้านนายวิรัช รัตนเศรษฐ ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคพลังประชารัฐ และในฐานะประธานคณะกรรมการประสานงานสภาผู้แทนราษฎร (วิปรัฐบาล) กล่าวว่า สถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ในขณะนี้ไม่น่าเปิดประชุมรัฐสภาได้ ขณะที่การประชุมคณะกรรมาธิการสามัญยังประชุมกันไม่ได้เลย วันนี้ต้องให้เป็นหน้าที่ของรัฐบาล หากฝ่ายค้านหรือใครมีอะไรแนะนำรัฐบาลให้เสนอผ่านเป็นหนังสือ เฟซบุ๊ก หรือไลน์ ผ่านทุกช่องทางได้หมด หรือออกมาสัมภาษณ์ผ่านผู้สื่อข่าว หรือทำหนังสือเปิดผนึกถึงนายกฯ ถึงนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกฯ และ รมว.สาธารณสุข ทำได้หมด เพราะฉะนั้นการที่เอาผู้แทนราษฎรไปพูดกันในสภาเวลาจะทำให้การแก้ไขปัญหาช้าได้ วันนี้เรามีผู้เชี่ยวชาญทางการแพทย์ที่นายกฯ เชิญมาร่วมกันหาแนวทางแก้ไข ตนว่าดีที่สุดแล้ว
    นายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ และแกนนำพรรคพลังประชารัฐ กล่าวว่า การรวมตัวของคนเกิน 100 คน ในขณะนี้ไม่น่าเป็นเรื่องที่เหมาะสม ยิ่งเป็นการรวมตัวกันของตัวแทนประชาชนที่จะกลับพื้นที่ไปพบประชาชนจำนวนมาก ถือเป็นเรื่องที่เพิ่มความเสี่ยงและไม่มีความจำเป็น ส่วนตัวมองว่าถ้าใครอยากแสดงความคิดเห็นหรือเสนอแนะการแก้ไขปัญหาต่อนายกฯ มีหลายช่องทางที่จะส่งข้อความถึงนายกฯ ได้ จึงไม่จำเป็นที่จะประชุม
    นพ.สุกิจ อัถโถปกรณ์ ที่ปรึกษาประธานสภาผู้แทนราษฎร เปิดเผยว่า ทางสภาไม่ได้นิ่งนอนใจ พร้อมยกระดับการควบคุมการแพร่ระบาดโรคโควิด-19 ให้เข้มข้นขึ้น โดยในที่ 20 มี.ค. ช่วงบ่าย นายชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร จะเรียกประชุมประธานคณะกรรมาธิการสามัญทั้ง 35 คณะ เพื่อวางมาตรการควบคุมโควิด-19 ในรัฐสภา ถ่ายทอดไปยัง ส.ส.ทุกคนให้ใช้มาตรฐานเดียวกันอย่างเข้มงวด ส่วนจะมีข้อเสนอให้มีการยกเลิกการประชุมคณะกรรมาธิการหรือไม่นั้น ต้องรอฟังผลการหารือ อย่างไรก็ตามเบื้องต้นนายชวนไม่ได้สั่งห้าม
    ส่วนกรณีที่ พล.ต.ราชิต อรุณรังษี เจ้ากรมสวัสดิการทหารบก ติดเชื้อโควิด-19 หลังปฏิบัติหน้าที่ในสนามมวยนั้น ในฐานะที่ตนเป็นหมอ ได้วิเคราะห์เรื่องดังกล่าวดูแล้วว่าเจ้ากรมฯ ได้เดินทางมาร่วมประชุมคณะกรรมาธิการทหาร ในวันที่ 5 มี.ค.ที่รัฐสภา โดยวันนั้นท่านอาจจะยังไม่ติดเชื้อ เพราะไม่เคยมีประวัติในการเดินทางไปต่างประเทศในรอบ 1 ปี มีเพียงกรณีที่เดินทางไปยังสนามมวย ในวันที่ 6 มี.ค. จากนั้นจึงตรวจพบเชื้อภายหลัง ดังนั้นตั้งแต่วันที่ 5 มี.ค. จนถึงตอนนี้ได้ครบกำหนดการฟักตัว 14 วันแล้ว ยังไม่พบบุคคลใดที่มาร่วมประชุมมีอาการติดเชื้อโควิด-19 ดังนั้น จึงอยากให้ ส.ส.และเจ้าหน้าที่เลิกวิตกกังวลและสบายใจได้ในระดับหนึ่ง
    เมื่อถามว่ามีเหตุผลอะไรที่ทำให้ไม่งดประชุม นพ.สุกิจกล่าวว่า เราต้องให้เกียรติกัน ให้เป็นดุลยพินิจของคณะกรรมาธิการนั้นๆ หากไปสั่งงดเลยจะเกิดผลเสียได้ ถือว่าเป็นผู้ใหญ่มีวุฒิภาวะแล้ว ส่วนคณะที่ร่วมประชุมเองก็ต้องมีวิธีการป้องกันตัวเองเช่นกัน
    สำหรับกรณี พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เตมียเวส ประธานคณะกรรมาธิการการป้องกันและปราบปรามการทุจริตประพฤติมิชอบ (กมธ.ป.ป.ช.) ยังยืนยันว่าจะจัดการประชุมอย่างต่อเนื่องนั้น นพ.สุกิจกล่าวว่า พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์เป็นผู้หลักผู้ใหญ่ มีวุฒิภาวะ ให้ขึ้นอยู่กับการพิจารณาและดุลยพินิจของท่านเอง เพราะเชื่อว่าบางเรื่องมีความสำคัญและไม่สามารถเลื่อนการประชุมได้ ทั้งนี้ ไม่ว่าจะเป็นการประชุม กมธ.ใดก็ตาม ประธาน กมธ.ต้องแสดงความรับผิดชอบต่อกลุ่มบุคคลที่เชิญมาให้คำชี้แจงในที่ประชุม และตรวจเข้มงวดให้มาก ไม่ใช่มาพูดท้าทายว่าไม่กลัวตาย เพราะผ่านสมรภูมิมาแล้ว ไม่กลัวเชื้อโรค เพราะเรื่องนี้ไม่ใช่การรบ แต่เป็นเรื่องไวรัส
    วันเดียวกัน ภาคประชาชนจำนวน 48 องค์กร ในนามเครือข่ายประชาชนเพื่อลดการระบาดของเชื้อ COVID-19  ได้ออกแถลงการณ์เรียกร้องให้รัฐประกาศสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อ COVID-19 เป็นระยะที่ 3 พร้อมดำเนินการปิดประเทศ ปิดเมือง ปิดบ้าน และประกาศภาวะฉุกเฉิน เป็นเวลา 3 สัปดาห์ เพื่อหยุดการแพร่กระจายของโรค และทำให้บ้านเมืองกลับคืนสู่สภาพปกติโดยเร็วที่สุด รวมทั้งหยุดยั้งผลกระทบทางเศรษฐกิจที่จะทอดเวลาออกไปนานขึ้น หากไม่มีมาตรการที่เข้มข้น เพียงพอ 
    ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลังจากที่มีพรรคการเมืองหารือมายังสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) และ กกต. มอบหมายสำนักงานฯ ทำการศึกษากฎหมายที่เกี่ยวข้อง ว่าจะสามารถขยายเวลาในการจัดประชุมใหญ่ของพรรคการเมืองที่มาตรา 37 กำหนดให้พรรคการเมืองต้องจัดประชุมใหญ่อย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง เพื่อรับรองรายงานผลการดำเนินกิจการของพรรคประจำปี 62 ตามมาตรา 43 และอนุมัติงบการเงินประจำปี 62 ซึ่งประกอบไปด้วย บัญชีรายได้ รายรับ รายจ่าย เงินบริจาค ทรัพย์สิน และหนี้สินของพรรคที่หัวหน้าพรรคเสนอ ภายในเดือนเม.ย.นี้ ตามมาตรา 61พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.)? ว่าด้วยพรรคการเมือง 60 กำหนดออกไปก่อนได้หรือไม่ เนื่องจากหากมีการจัดประชุมสมาชิกพรรคจากทั่วประเทศก็ต้องเดินทางมาร่วมตัวกัน  ทำให้อาจสุ่มเสี่ยงต่อการแพร่กระจายของเชื้อไวรัสโควิด-19 
    ปรากฏว่าเพจเฟซบุ๊ก พรรคการเมืองดี การเมืองดี บ้านเมืองดี สร้างการเมืองที่ดีด้วยพลเมือง ซึ่งสำนักกิจการพรรคการเมืองของสำนักงาน กกต.ดูแลอยู่ ได้โพสต์ข้อความเสนอทางออกการประชุมใหญ่ของพรรคการเมืองว่า "พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ.2560 มาตรา 37 ประกอบมาตรา 43 กำหนดให้พรรคการเมืองประชุมใหญ่อย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง และประชุมภายในเดือนเม.ย.ของปี แต่พรรคการเมืองอาจไม่จัดประชุมใหญ่ภายในเดือนเม.ย.ก็ได้ หากมีเหตุอันจะอ้างได้ตามกฎหมาย  ตามมาตรา 91(4) ที่ระบุว่าไม่มีการประชุมใหญ่พรรคการเมือง หรือไม่มีการดำเนินกิจกรรมใดทางการเมือง เป็นระยะเวลาติดต่อกันหนึ่งปีโดยมิได้มีเหตุอันจะอ้างได้ตามกฎหมาย" ดังนั้นมีความเป็นไปได้ที่พรรคการเมืองจะสามารถอ้างการประกาศมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโควิด-19 ของรัฐบาลมาเป็นเหตุในการเลื่อนการประชุมใหญ่ของพรรคในเดือนเม.ย.นี้ออกไปก่อนได้.
    
 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"