โควิดลามเข้ารัฐสภา สั่ง26ขรก.กักตัวเอง14วัน‘บิ๊กตู่’ทุบโต๊ะขู่ย้ายผู้ว่าฯ


เพิ่มเพื่อน    

 ผู้ติดเชื้อโควิด-19 ทำสถิติใหม่พุ่งพรวด 60 ราย ยอดสะสมอยู่ที่ 272 “หมอสุวรรณชัย” เผยติดทั้งผับและสนามมวยไม่ว่าทำหน้าที่ไหน สุดเซ็งไร้ความผิดชอบ รู้ว่าเสี่ยงยังร่อนไปทั่ว “ประยุทธ์” ประชุมทั้งเช้า-เย็นหารือเรื่องสกัดกั้น ทุบโต๊ะให้อำนาจผู้ว่าฯ แล้วยังเอ้อระเหยก็ต้องย้าย 21 มี.ค.ถกอีกรอบ คาดมีมาตรการเข้มใหม่ อดีตหมอและแพทย์ผู้ใหญ่เห็นตรงกันมาถูกทาง แต่กระตุกสำนึกพวกสุ่มเสี่ยง “อุตตม” ไร้โรคผลตรวจเป็นลบ 14 วัน รัฐสภาระส่ำสั่ง ขรก. 26 ชีวิตกักตัวเอง 14 วัน

    เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 19 มีนาคม นพ.สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมควบคุมโรค (คร.) แถลงข่าวสถานการณ์โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโควิด-19 ว่ามีผู้ป่วยรายใหม่ 60 ราย แบ่งเป็น 2 กลุ่ม คือ กลุ่มที่ 1 มีประวัติสัมผัสผู้ป่วย หรือสถานที่พบผู้ป่วยก่อนหน้านี้ 43 ราย แบ่งเป็นสนามมวย 12 ราย จำนวนนี้เป็นผู้ชม ญาติ ผู้ดูแลค่ายมวย เจ้าหน้าที่ทำงานสนามมวยลุมพินี ราชดำเนิน และจิตเมืองนนท์ สถานบันเทิง 14 ราย เรียกว่าติดทั้งผับ ทั้งดีเจ พนักงานทำความสะอาด พ่อครัว พนักงานเสิร์ฟ พิธีกร แคชเชียร์ คนเที่ยว และแฟนคนเที่ยว จากย่านทองหล่อ สวนหลวง รามคำแหง และสุขุมวิท ซึ่งสัมผัสกับผู้ป่วยที่รายงานมาก่อนหน้านี้ 12 ราย เป็นทั้งเพื่อนร่วมงาน ภรรยา ผู้โดยสารร่วมเที่ยวบิน ลูกเรือสายการบิน แอร์โฮสเตส โดยมีพฤติกรรมเสี่ยงดื่มเหล้าทานข้าวร่วมวง และร่วมพิธีทางศาสนาที่มาเลเซีย 5 ราย เป็นชาวไทยจากจังหวัดปัตตานีและยะลา
        และกลุ่มที่ 2 ผู้ป่วยรายใหม่ 17 ราย ซึ่งเดินทางกลับจากต่างประเทศ 9 ราย โดยมีประวัติไปไต้หวัน ฝรั่งเศส อังกฤษ อินเดีย อิตาลี มาเลเซีย กัมพูชา ญี่ปุ่น เยอรมนี และอิหร่าน บางรายไปมากกว่า 1 ประเทศ และทำงานใกล้ชิดต่างชาติ 3 ราย เป็นครูพี่เลี้ยง พนักงานเคาน์เตอร์เช็กอิน และเพื่อนต่างชาติมาอาศัยในคอนโดฯ ทำงานหรืออาศัยในสถานที่แออัดต้องใกล้ชิดคนจำนวนมาก 1 ราย เป็นเทรนเนอร์ในสถานที่ออกกำลังกาย และรอผลการสอบสวนโรคเพิ่มเติม 4 ราย โดยจำนวนนี้มีผู้สื่อข่าว 1 ราย สรุปมีผู้ป่วยสะสม 272 ราย กลับบ้าน 42 ราย รักษาอาการ 229 ราย เสียชีวิต 1 ราย โดยมีอาการหนัก 3 ราย อยู่ในการดูแลของแพทย์อย่างใกล้ชิด
         "ผู้ป่วยรายใหม่สัมผัสเสี่ยงสูง ทำงานในสถานบันเทิงและมีลักษณะงานครบทุกตำแหน่ง เรียกว่าติดทั้งผับ ทั้งคนทำงาน คนเที่ยว และคนในครอบครัวที่สัมผัสใกล้ชิด โดยตั้งแต่รายงานผู้ป่วย 12 มี.ค. เราพบผู้ป่วยยืนยันในกลุ่มนี้ 57 ราย ต่อมาคือสนามมวยพบติดเชื้อตั้งแต่ผู้จัด เจ้าของค่าย เซียนมวย พิธีกร ผู้ชม คนในครอบครัวใกล้ชิด เริ่มพบ 14 มี.ค. จำนวนรวม 52 ราย โดย 2 กลุ่มนี้รวมกันเข้าไปก็หลักร้อย ผู้ป่วยรายงานเพิ่มขึ้นรวดเร็วทำให้ผู้ป่วยสะสมมากกว่า 200 ราย โดยกว่า 100 รายเกิดจากเหตุการณ์ของผับและสนามมวยโดยตรง”
นพ.สุวรรณชัยกล่าวต่อว่า อีกประเด็นหนึ่งคือ สนามมวยเราพบว่าผู้ติดเชื้อส่วนหนึ่งเป็นผู้ชมจากต่างจังหวัด หมายความว่าผู้ป่วยนั้นมีโอกาสนำเชื้อกลับไปติดคนใกล้ชิดในภูมิลำเนาหรือที่ตัวเองเดินทางไป เรายังพบว่ามีบางคนที่เป็นผู้สัมผัสเสี่ยงสูงยังออกไปในสถานที่ผู้คนแออัด สถานบันเทิง ร้านอาหาร โดยไม่มีการกักกันตัวเองตามคำแนะนำของกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ตรงนี้เป็นอันตรายมากในการแพร่โรคสู่ผู้อื่น ส่งผลการควบคุมป้องกันโรคเป็นไปด้วยความยากลำบาก ซึ่งเป็นเหตุผลที่ สธ.และรัฐบาลแนะนำให้หลีกเลี่ยงงดการไปสถานที่คนแออัด 
ชี้ยังรู้ที่มาของผู้ป่วย
         "ผู้ป่วยกลุ่มเพิ่มมากขึ้น 75-80% ที่พบในแต่ละวัน ยังเป็นผู้ป่วยที่เราทราบแหล่งว่าไปติดอย่างไร ยังอยู่ในวงจำกัด โดยสัมพันธ์กับสนามมวย ผับ และสถานบันเทิง ผู้ป่วยรายใหม่ก็ชัดเจน ส่วนใหญ่เป็นผู้ป่วยที่พบจากการเดินทางมาจากต่างประเทศ แม้จะเจอผู้ป่วยรายใหม่ ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มผู้สัมผัสก็มีอาการไม่มาก แต่ไม่ได้หมายความว่าให้ประชาชนตั้งอยู่บนความประมาท แต่อย่าให้ตื่นตระหนกจนเกินไป" นพ.สุวรรณชัยกล่าวและว่า ถึงผู้กลับมาจากอิตาลี 83 ราย ว่าผลตรวจทุกคนไม่พบเชื้อ ทั้งนี้ สธ.เตรียมร่วมกับ รพ.ทุกภาคส่วนสำรองเตียงใน กทม.และต่างจังหวัดทั่วประเทศมากกว่า 7,000 เตียง หากผู้ป่วยเพิ่มขึ้นจะพิจารณาเปิด รพ.สนาม พร้อมสำรองยา เวชภัณฑ์ อุปกรณ์ป้องกันตนเองอย่างพอเพียง ให้อุ่นใจว่าหากเจ็บป่วยติดเชื้อจริงจะได้รับบริการ
         เมื่อถามถึงกรณีคนที่มีประวัติสัมผัสเสี่ยงสูง แต่ยังฝ่าฝืนออกไปข้างนอกจะลงโทษหรือไม่ นพ.สุวรรณชัยกล่าวว่า คนที่มีความเสี่ยงสูง และยังไม่ได้เข้าระบบติดตาม หากชาวบ้านทราบและพบเจอสามารถแจ้งได้ ส่วนคนเสี่ยงสูงที่เข้าระบบติดตามแล้วยังฝ่าฝืนไม่กักตัว ก็จะเอาผิดเด็ดขาด
         ทั้งนี้ ผู้ป่วยกรณีสนามมวยมีกระจายทั้งใน กทม. เชียงใหม่ ขอนแก่น สมุทรปราการ สุโขทัย นครราชสีมา กาฬสินธุ์ ร้อยเอ็ด และนนทบุรี
    สำหรับความเคลื่อนไหวของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ในฐานะประธานศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ได้ยกเลิกภารกิจช่วงเช้าทั้งหมด พร้อมยกเลิกบันทึกเทปรายการ Government Weekly โดยได้เดินทางออกจากทำเนียบรัฐบาลไปยัง สธ. เพื่อตรวจเยี่ยมและประชุมร่วมกับผู้บริหาร สธ. และแพทย์ผู้เชี่ยวชาญในเรื่องโควิด-19  
ทั้งนี้ ในการประชุม เจ้าหน้าที่ตั้งจุดคัดกรองอย่างเข้มงวด ผู้ที่จะเข้าไปภายในห้องทุกคนต้องสวมหน้ากาก ก่อนตรวจวัดอุณหภูมิ ส่วนภายในห้องประชุมได้จัดวางที่นั่งให้มีระยะห่างกัน 1 เมตร        
    โดยนายกฯ กล่าวก่อนการประชุมว่า การเดินทางมายัง สธ.วันนี้ เพราะรัฐบาลให้ความสำคัญกับปัญหาโรคติดเชื้อโควิด-19 เป็นอันดับแรก จึงอยากมาฟังมุมมองทางการแพทย์ทั้งจากคนเก่าและใหม่ ว่าเราต้องเตรียมการเพิ่มขึ้นหรือไม่ แต่สิ่งสำคัญคือขณะนี้สังคมเกิดความตื่นตระหนก แต่จะทำอย่างไรให้เกิดความเชื่อมั่นด้วยความร่วมมือของเราทุกคน วันนี้เราแบ่งการทำงานออกเป็น 2 ส่วน โดยรัฐบาลมีมาตรการออกไปแล้ว อีกส่วนคือผู้ว่าราชการจังหวัดและสาธารณสุขจังหวัดที่ต้องทำงานให้เข้มงวดมากขึ้น 
    จากนั้น เวลา 13.00 น. นายกฯ แถลงหลังการประชุมว่าได้หารือร่วมกันทั้งในฝ่ายของรัฐบาล และบุคลากรทางการแพทย์ทั้งภาครัฐและเอกชน ถือเป็นการทำงานทุกภาคส่วน ซึ่งกระบวนการแก้ปัญหาต้องเป็นไปตามขั้นตอน เป็นไปตามกฎหมายและสถานการณ์ที่จะเกิดขึ้น วันนี้แม้จะพบผู้ติดเชื้อมากขึ้น แต่ก็ต้องชื่นชมระบบคัดกรองการติดตามของเราที่สามารถติดตามได้มากขึ้น เรามองตรงนี้ สิ่งสำคัญที่สุดต้องทราบว่าที่หาเจอนั้นมาจากไหน เริ่มการแพร่ระบาดจากตรงไหน เช่น สนามมวย บาร์ ผับต่างๆ เหล่านี้ คือสิ่งที่เรากำลังดำเนินการต่อเนื่อง
พร้อมย้ายผู้ว่าฯ เอ้อระเหย
    “ผมยืนยันว่าทุกพื้นที่ที่มีความเสี่ยงการติดโรค ไม่ว่าจะเป็นคอนเสิร์ตที่แสดงมาแล้วและเป็นข่าว ทุกคนต้องได้รับการตรวจสอบคัดกรองทั้งสิ้น ต้องติดตามตัวให้ครบ และอย่างที่ได้บอกแล้วว่ารัฐบาลห้ามจัดคอนเสิร์ตในช่วงนี้ ฉะนั้นขอความร่วมมือด้วย สิ่งสำคัญที่สุดวันนี้รัฐบาลได้ประกาศมาตรการไปแล้ว 6 มาตรการ ซึ่งเป็นการให้อำนาจกับฝ่ายปกครอง ผู้ว่าราชการจังหวัด ผู้ว่าฯกทม. ซึ่งสามารถกำหนดมาตรการเพิ่มเติมจากกรอบใหญ่ที่ให้ไป เช่น การปิดสถานที่ต่างๆ ที่เข้าข่ายเสี่ยง ปิด 14 วันเมื่อจะเปิดใหม่ต้องไปตรวจสอบว่ามีความปลอดภัย ความพร้อม เพียงพอหรือไม่ ถ้ายังไม่พร้อม สามารถขยายอีกได้ นั่นคืออำนาจที่ได้ให้กับพื้นที่ไปแล้ว” นายกฯ กล่าว และว่า ขอร้องไปยังข้าราชการระดับพื้นที่ โดยเฉพาะผู้ว่าฯ คณะกรรมการโรคติดต่อประจำจังหวัด ต้องทำงานอย่างเด็ดขาด และต้องรายงานผลการปฏิบัติทุกมาตรการที่รัฐบาลออกไปแล้วให้ทราบทุกวันผ่านช่องทางของกระทรวงมหาดไทยเข้ามาที่ศูนย์โควิด-19 ส่วนผู้เดินทางจากต่างประเทศนั้น ต้องมีใบรับรองแพทย์ ประกันสุขภาพ ซึ่งเดิมเฉพาะ 4 ประเทศบวก 2 เขตปกครองพิเศษ แต่วันนี้ทุกประเทศที่เข้ามา และติดตามด้วยแอปพลิเคชัน
    “รอบบ้านเราจะปิดช่องทางพรมแดนหรือไม่ อยู่ที่อำนาจผู้ว่าฯ เพราะได้ให้อำนาจไปแล้ว และให้รายงานผมมา หากผู้ว่าฯ ทำไม่ได้ก็ย้ายผู้ว่าฯ จะยากตรงไหน” พล.อ.ประยุทธ์กล่าว
สำหรับการประชุมครั้งนี้ใช้เวลากว่า 2 ชั่วโมง โดย สธ.ได้เชิญบุคลากรทางการแพทย์และผู้เชี่ยวชาญด้านโรคระบาดที่เกษียณอายุราชการไปแล้วมาให้คำแนะนำด้วย อาทิ นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร อดีต รมว.สธ., นพ.อุดม คชินทร อดีตคณบดีคณะแพทยศาสตร์ ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล เป็นต้น
    ต่อมานายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกฯ และ รมว.สธ. แถลงผลประชุมอีกครั้งว่า เราต้องมั่นใจในบุคลากรที่มีประสบการณ์ผ่านการควบคุมโรคระบาดมาแล้วกว่า 20 ปี และต้องร่วมมือกันต่อสู้ศัตรูของเราคือโควิด-19 ถ้าเราช่วยกันสู้จะไม่มีทางพ่ายแพ้  ตอนโรคระบาดมาใหม่ๆ รัฐบาลถูกตำหนิว่าดูแลแต่คนจีน วันนี้ขอให้มองว่าเราได้อะไรกลับมา จีนพร้อมสนับสนุนเราทุกด้าน เมื่อเช้า แจ็ก หม่า โทรศัพท์เข้ามาจึงต่อสายให้คุยกับนายกฯ โดยแจ็ก  หม่า ขอบคุณไทยที่ช่วยดูแลคนจีน และพร้อมสนับสนุนเวชภัณฑ์ เราจึงขอให้แจ็ก หม่า ใช้คอนเน็กชั่นติดต่อไปยังเจ้าของผลิตภัณฑ์ให้ขายของให้ไทย ไม่ต้องให้ฟรี ยามีเท่าไหร่เราซื้อหมด
    นพ.สุขุม กาญจนพิมาย ปลัด สธ. กล่าวว่า รัฐบาลและทีมแพทย์ยืนยันในความพร้อมในการรับมือโรคระบาดโควิด-19 ใน กทม.ได้ โดยพบว่าสามารถรองรับผู้ป่วยสูงสุดกว่า 1,000 ราย และขยายไปทุกจังหวัดทั่วประเทศ เพื่อพร้อมรับมือหากมีผู้ป่วยหนัก 6,000 ราย และได้เตรียมความพร้อมให้โรงพยาบาลชุมชนมีหอผู้ป่วยเฉพาะโรค และจากได้พูดคุยกับผู้บริหารของกระทรวงและอดีตปลัดกระทรวง และอดีตอธิบดี ซึ่งเป็นอาจารย์แพทย์ผู้เชี่ยวชาญ มีประสบการณ์ผ่านการระบาดของโรคทั้งไข้หวัดนก ซาร์ส และไข้หวัดใหญ่ 2009 โดยทุกคนเห็นตรงกันว่าทิศทางของประเทศไทยที่เดินถึงขณะนี้มีความมั่นใจที่จะดูแลชีวิตและสุขภาพของคนไทย คล้ายกับกรณีซูเปอร์สเปรดของเกาหลีใต้ ซึ่งจะสามารถควบคุมสถานการณ์ให้กลับสู่ภาวะปกติได้ ยืนยันว่าเราจะไม่ปล่อยให้มีคนป่วยและตายเหมือนอังกฤษ
    ด้าน นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร อดีต รมว.สธ. กล่าวว่า การดำเนินการของ สธ.และรัฐบาลมาถูกทางแล้ว แต่จำเป็นต้องได้รับความร่วมมือจากทุกฝ่ายให้เป็นหนึ่งเดียวจะผ่านวิกฤตินี้ไปได้ แต่ขณะนี้ยังเห็นวัยรุ่นไปเที่ยวผับ บางคนกลับมาจากต่างประเทศ พ่อแม่ส่งไปกักตัวก็ยังรวมตัวกัน สังสรรค์ดื่มเหล้าแล้วกลับบ้านส่งผลให้ญาติติดเชื้อ
ยกตปท.ห้าม20คนรวมตัว
    นพ.อุดมกล่าวว่า ขอให้ประชาชนมีความเข้าใจเกี่ยวกับโรค ไม่ตื่นตระหนก ที่ผ่านมาไทยรับมือได้มาก 2 เดือนมีคนไข้ไม่ถึงร้อยราย เสียชีวิตเพียง 1 ราย แต่ในช่วงนี้ผู้ติดเชื้อวันละ 30 ราย และวันนี้เพิ่มอีก 60 ราย ซึ่งส่วนใหญ่เกิดจากที่ผู้ติดเชื้อไม่แสดงอาการ จึงไม่มาพบแพทย์ และบางคนไม่รับผิดชอบต่อสังคม จึงทำให้โรคแพร่ระบาด รัฐบาลห้ามไม่ให้คนมารวมตัวชุมนุมเกิน 50 คน ซึ่งยังยอมให้มากกว่าต่างประเทศที่ห้ามรวมตัวกันเกิน 20 คน ทั้งนี้เพื่อลดความเสี่ยงไม่ให้การแพร่ระบาดเข้าสู่ระยะ 3
    นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า โควิด-19 หายเกลี้ยงไปเป็นเรื่องยาก การเดินทางหลังจากนี้ เป็นเรื่องระยะยาว ไม่ใช่แค่ 1-2 เดือน ที่ผ่านมาเราพยายามกดเอาไว้เพื่อรอยาและวัคซีน โดยขณะนี้เห็นทิศทางแล้วว่ามียารักษา ทำให้ไวรัสเพิ่มจำนวนได้น้อยลง และลดความรุนแรงของโรค ขอให้มั่นใจว่าเราจะลดอุบัติการณ์ของการสูญเสีย แต่ต้องใช้เวลาต่อสู้โรคนี้อีกยาวนาน
    นพ.ไพจิตร์ วราชิต อดีตปลัด สธ. กล่าวว่า เคยเป็น ผบ.ควบคุมเหตุการณ์โรคระบาดไข้หวัด 2009 ซึ่งวิธีการควบคุมโรคระบาดมี 3 แนวทาง 1.ไม่ทำอะไรเลย ปล่อยให้โรคระบาดไปเรื่อยๆ 2.หน่วงโรคคล้ายฝายชะลอน้ำ และ 3.ปิดประเทศ ซึ่งไทยใช้แนวทาง 2-3 ร่วมกัน แต่ไม่ได้พูดให้คนตกใจว่าปิดประเทศ จึงขอให้เชื่อมั่นว่าทิศทางนี้ถูกที่สุด ยืนยันว่าไข้หวัดใหญ่ 2009 มีคนติดเชื้อและตายมากกว่านี้ แต่คนยังไม่เกิดความกลัวเท่ากับโควิด-19 จึงขอให้บุคคลที่เป็นกลุ่มเสี่ยงคือผู้สูงอายุอยู่กับบ้าน รออีก 2-3 เดือนเรื่องอาจจะจบ ถ้าเราหยุดความเคลื่อนไหว 2 สัปดาห์ถึง 1 เดือนการติดเชื้อก็จะไม่เพิ่มมากขึ้น และขอให้มั่นใจว่าผู้ติดเชื้อส่วนใหญ่ จะไม่แสดงอาการแทบไม่ต้องกินยาก็หายเอง ส่วนผู้ที่มีอาการปานกลางหรือป่วยหนัก สธ.มีความพร้อมในการรักษา
    เมื่อถามถึงกรณี นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา หัวหน้าศูนย์ วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เสนอให้ปิดประเทศ 21 วัน นายอนุทินกล่าวว่า คนที่ออกมาตรการคือรัฐบาล เราไม่จำเป็นต้องไปพูดคุยกับใคร ยอมรับว่าเป็นเรื่องดีที่มีความเห็นต่าง แต่วันนี้เราปิดประตูบ้านหมดแล้ว  มท.ก็ปิดด่านชายแดนทุกด่านไม่ให้คนต่างชาติเข้า-ออก แล้วทำไมต้องพูดคำว่าปิดประเทศให้คนตกใจ ต่างจังหวัด สนามมวย สถานบันเทิงปิดหมดแล้ว มั่นใจว่า 14 วันต้องดีขึ้น 
    ต่อมาในเวลา 16.00 น. พล.อ.ประยุทธ์ได้เรียกประชุมติดตามสถานการณ์ไวรัสโควิด-19 โดยมีรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งคณะแพทย์ผู้เชี่ยวชาญอีกครั้ง
    และเมื่อเวลา 18.00 น. ภายหลังการประชุมกว่า 2 ชั่วโมง ศ.พญ.สมศรี เผ่าสวัสดิ์ นายกแพทยสภา กล่าวสั้นๆ ว่า นายกฯ ได้รับฟังข้อเสนอแนะของเหล่าคณบดีคณะแพทยศาสตร์จากหลายมหาวิทยาลัยต่างๆ ซึ่งโดยหลักจะมีมาตรการเพิ่มเติมออกมา โดยให้ฟังรายละเอียดความชัดเจนจากนายกฯ ต่อไป
21 มี.ค.ถกอีกรอบ
นพ.สุขุมกล่าวว่า ในวันเสาร์ที่ 21 มี.ค. จะพูดคุยกันอีกครั้งในเรื่องของมาตรการ โดยเริ่มตั้งแต่เวลา 09.30 น. ที่ศูนย์กระทรวงสาธารณสุข ซึ่งในการประชุมนายกฯ ได้ย้ำให้ดูแลผู้ป่วยให้ดีที่สุด เพราะชีวิตคนไทยมีค่า โดยพร้อมสนับสนุนงบประมาณอย่างเต็มที่ในการดูแลผู้ป่วย 
นายอนุทินกล่าวว่า นายกฯ ได้เชิญอาจารย์ คณบดีคณะแพทย์จากหลายสถาบันมาร่วมพูดคุย เพื่อปรับจูนความเข้าใจ ซึ่งเป็นนิมิตหมายที่ดี โดยได้รับคำยืนยันว่าวันนี้เรามีความพร้อมเรื่องการรักษาพยาบาลและการป้องกันเฝ้าระวัง เหลืออย่างเดียวคือความร่วมมือของประชาชน หากประชาชนหยุดการเดินทางให้มากที่สุด หยุดการออกจากบ้าน หยุดการรวมกันเป็นหมู่คณะให้มากที่สุด หากมาจากพื้นที่เสี่ยงให้กักตัวเอง 14 วัน เราจะผ่านวิกฤติครั้งนี้ไปได้แน่นอน เพราะทุกอย่างพร้อมหมดแล้ว 
"โรคนี้รักษาได้ ไม่ใช่จะอาการหนักทุกคน ดีที่สุดคือการให้ความ ส่วนเมื่อไรคนไทยเบาใจได้ ถ้าให้ความร่วมมือก็เบาใจได้ ในรอบสัปดาห์นี้ที่ติดเชื้อเพิ่มมากขึ้น มาจากคนกลุ่มเดียวที่ไปสนามมวย ไนต์คลับ บาร์ ไปใช้ของร่วมกัน ซึ่งเราพูดจนปากฉีกอย่าใช้ของร่วมกัน ติดเชื้อเยอะขึ้นมาจากการไม่เชื่อคำแนะนำ นี่คือความเห็นแก่ตัวอย่างหนึ่ง รักสนุก รักตัวเองเกินไป ไม่คิดถึงส่วนรวม ถ้าคิดว่าไปไหนโรคไปด้วย ถ้าไม่ไปไหนโรคไม่ไปด้วย เมืองไทยสะอาดทันที ถ้าให้ความร่วมมือจะกลับสู่สถานการณ์ปกติโดยเร็ว ฉะนั้นกินร้อน ช้อนกู ต่างคนต่างอยู่ ห่างกู 2 เมตร”
มีรายงานข่าวแจ้งว่า ที่ประชุมไม่ได้พูดคุยกันถึงขั้นจะยกระดับการแพร่ระบาดเป็นระยะที่ 3 แต่อย่างใด
    นางนฤมล ภิญโญสินวัฒน์ โฆษกประจำสำนักนายกฯ กล่าวว่า นายทีโดรส อัดฮานอม กีบรีเยซุส ผู้อำนวยการใหญ่องค์การอนามัยโลก หรือฮู ได้แถลงว่า WHO ได้ทำการวิจัย Solidarity Trail หรือการทดลองอันเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน เพื่อสร้างฐานข้อมูลขนาดใหญ่ในการประเมินว่าวิธีการรักษาแบบใดที่มีประสิทธิภาพที่สุด โดยมี 10 ประเทศแรกเข้าร่วม ได้แก่ อาร์เจนตินา บาห์เรน แคนาดา ฝรั่งเศส อิหร่าน นอร์เวย์ แอฟริกาใต้ สเปน สวิตเซอร์แลนด์ รวมทั้งไทยซึ่งเป็นประเทศแรกในเอเชีย
    ขณะที่เพจ Chinese Embassy Bangkok สถานเอกอัครราชทูตสาธารณรัฐประชาชนจีนประจำประเทศไทย โพสต์ข้อความ ในหัวข้อ "ลงเรือลำเดียวกัน ดูแลช่วยเหลือซึ่งกันและกัน ประเทศจีนยินดีให้ความช่วยเหลือประเทศไทยในการต่อสู้กับโรคระบาดอย่างเต็มที่" 
    วันเดียวกัน ที่กระทรวงกลาโหม พล.อ.ณัฐ อินทรเจริญ ปลัดกระทรวงโหม พร้อมด้วย นพ.พิศิษฐ์ ศรีประเสริฐ รองปลัด สธ. ร่วมกันเป็นประธานการประชุมเพื่อฝึกร่วมจำลองสถานการณ์เตรียมความพร้อมรับการพัฒนาของสถานการณ์การแพร่ระบาดเชื้อไวรัสโควิด-19 ในพื้นที่ กทม.และปริมณฑล โดยเป็นการฝึกซ้อมแผนบนโต๊ะ 
    พล.ท.คงชีพ ตันตระวาณิชย์ โฆษกกระทรวงกลาโหม กล่าวว่า การประชุมวันนี้เพื่อทดสอบแนวทางการบูรณาการ และการจัดสรรทรัพยากรทางการแพทย์ในภาวะวิกฤติกรณีที่มีผู้ป่วยจำนวนมากในพื้นที่ กทม.และปริมณฑล ซึ่งเน้นการจัดตั้งศูนย์ประสานงานทางการแพทย์ในเขต กทม.และปริมณฑล การประเมินและคาดการณ์สถานการณ์ที่คาดว่าจะเกิดขึ้น เพื่อจัดสรรและระดมทรัพยากรทางการแพทย์รับมือ ตลอดจนการรับและส่งต่อผู้ป่วยเข้ารับการรักษาพยาบาลให้ทันต่อสถานการณ์ และการติดต่อประสานงานระหว่างวัน การสนับสนุนทางด้านการจัดสรรทรัพยากรสาธารณูปโภค การส่งกำลัง การประชาสัมพันธ์ การสื่อสารในภาวะเร่งด่วน ตลอดจนถึงการแก้ไขปัญหากรณีที่มีเจ้าหน้าที่เจ็บป่วยหรือไม่เพียงพอ
    “ขอให้เชื่อมั่นและมั่นใจการทำงานของรัฐบาล ขอให้ยึดมั่นและปฏิบัติตนตามที่กระทรวงสาธารณสุขกำหนด รวมถึงข้อห้าม ข้อบังคับ มาตรการต่างๆ ของรัฐบาล ขอให้รับผิดชอบต่อตนเองและสังคม เชื่อว่าเราทุกคนจะผ่านพ้นวิฤติครั้งนี้ไปด้วยกัน” พล.ท.คงชีพกล่าว
ฝึกจำลองสถานการณ์
    ด้าน นพ.พิศิษฐ์กล่าวว่า การฝึกครั้งนี้ไม่ใช่การจำลองสถานการณ์ เพราะเราอยู่ในสถานการณ์จริง การฝึกเป็นการเตรียมรองรับ เพื่อให้เราเห็นว่าเราจะประสบปัญหาอะไรบ้างเพื่อนำไปสู่การแก้ไข ซึ่งปัจจุบันเรามีผู้ป่วยหนักมาก 3 ราย ที่ต้องใช้ห้องและเครื่องมือพิเศษ แต่ผู้ป่วยที่นอนอยู่ใน รพ.เป็นผู้ป่วยที่อยู่ระดับกลางเพื่อป้องกันไม่ให้ไปแพร่กระจายเชื้อในจุดอื่น แต่เมื่อถึงจุดหนึ่งหากผู้ป่วยมีจำนวนมาก จะมีการแบ่งผู้ป่วยออกเป็น 3 ระดับคือ ระดับหนักมากที่ต้องดูแลพิเศษ ระดับปานกลาง และระดับไม่หนักมาก
    “เตียงผู้ป่วยปัจจุบันมีเพียงพอ เพียงแต่เตรียมเอาไว้หากมีผู้ป่วยเพิ่มมากขึ้น ไม่ใช่อัตรากว่า 30 รายต่อวัน แต่เมื่อสถานการณ์ไปถึงจุดหนึ่งอาจขึ้นหลักพัน ซึ่งต้องปรับตัว โดยกำหนดแผนเบื้องต้นไว้ว่าหากพบผู้ป่วย 1,000 คน จัดการอย่างไร และระดับ 2,000 คน 3,000 คน หรือมากกว่า 5,000 คนจะทำอย่างไรต่อไป ซึ่งแผนรองรับทั้งหมดจะเตรียมเสนอ พล.อ.ประยุทธ์ต่อไป” นพ.พิศิษฐ์ กล่าว
    สำหรับกรณีการติดเชื้อโควิด-19 ของนายอุตตม สาวนายน รมว.การคลัง จากกรณีนายตำรวจติดตามเป็นผู้ติดเชื้อนั้น ล่าสุดนายอุตตมโพสต์เฟซบุ๊กว่า ขออัพเดตผลตรวจเชื้อโควิด-19 ซึ่งได้รับการยืนยันจากโรงพยาบาลแล้วว่า ผลตรวจเป็นลบ หมายความว่าไม่ติดเชื้อ แต่ก็จะกักตัวเองต่อไปตามแนวทางป้องกันของสาธารณสุข และทำงานที่บ้านไปจนครบ 14 วัน
    รายงานข่าวจากกระทรวงการคลังระบุว่า เมื่อเวลา 12.00 น. นายประสงค์ พูนธเนศ ปลัดกระทรวงการคลัง ได้ออกเสียงตามสาย ชี้แจงให้ข้าราชการทุกคนรับทราบว่า ในวันที่ 20 มี.ค.2563 จะทำการฉีดพ่นยาฆ่าเชื้อโรค และทำความสะอาดครั้งใหญ่ (บิ๊กคลีนนิง) หลังพบเจ้าหน้าที่ตำรวจติดตาม รมว.การคลังติดเชื้อไวรัสโควิด-19
    ขณะเดียวกัน ทำเนียบรัฐบาลได้ออกมาตรการเข้มตามมาตรฐานกระทรวงสาธารณสุขในการทำความสะอาดและป้องกันโควิด-19 เช่นเดียวกับนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกฯ ได้ว่าจ้างบริษัท ชวิศา โซน จำกัด มาทำการฉีดพ่นโอโซนเป็นกรณีพิเศษที่ห้องทำงาน บริเวณชั้นหนึ่งที่ตึกบัญชาการทำเนียบฯ ด้วย
    มีรายงานว่า น.ส.รุ่งนภา ขันธีโชติ ผู้อำนวยการสำนักบริการทางการแพทย์ประจำรัฐสภา ได้ทำหนังสือถึงเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ลงวันที่ 18 มี.ค. เกี่ยวกับการคัดกรองเชื้อโควิด-19 ในบุคลากรกลุ่มเสี่ยงระบุว่า จากกรณีจัดสัมมนาที่ข้าราชการสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร 14 คน และข้าราชการวุฒิสภา 11 คน เข้าฝึกอบรม ซึ่งมีข้าราชการสรรพากร จ.ฉะเชิงเทรา รวมถึงญาติและเจ้าหน้าที่หน้าห้องของนายกิตติ เป้าเปี่ยมทรัพย์ นายก อบจ.ฉะเขิงเทรา ที่ติดเชื้อโควิด-19 เข้าร่วมอบรมด้วย จึงสมควรให้ข้าราชการสภาทั้ง 14 คนงดสแกนนิ้ว และให้มาลงลายมือชื่อไป-กลับแทน และให้ทั้ง 14 คนสวมหน้ากากอนามัยตลอดเวลา แยกตนเองออกมาจากบุคคลอื่นในระยะ 2 เมตร และให้ปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัด ส่วนจะให้ข้าราชการทั้ง 14 คนกักตัวหรือไม่ ให้เป็นอำนาจของผู้บริหารระดับสูงพิจารณาต่อไป ส่วนข้าราชการของวุฒิสภา 11 คน ได้เข้ามาคัดกรองบ้างแล้ว
    ด้านนายสรศักดิ์ เพียรเวช เลขาธิการสภาฯ กล่าวว่า ได้ทำการตรวจข้าราชการรัฐสภา 25 คนแล้ว ทุกคนไม่มีการติดเชื้อ แต่เพื่อให้ทุกฝ่ายเกิดความมั่นใจได้สั่งการให้กักตัวเองเป็นเวลา 14 วัน ติดตามอาการต่อไป
    มีรายงานว่า ยังมีข้าราชการตำแหน่งบรรณารักษ์อีก 1 คนที่ประจำห้องสมุดรัฐสภา ซึ่งปฏิบัติงานที่สำนักงานเลขาธิการสภา อาคารกษาปณ์ ถ.ประดิพัทธ์ เป็นกลุ่มเสี่ยง เนื่องจากบิดาทำอาชีพอยู่ในสนามมวยย่าน จ.นนทบุรี และตรวจพบการติดเชื้อโควิด-19 ล่าสุดเข้ารับการรักษาตัวที่โรงพยาบาลบำราศนราดูร ทำให้ทางสำนักงานบริการแพทย์ สภาผู้แทนราษฎร ได้สั่งให้ข้าราชการคนดังกล่าวกักตัวอยู่ที่บ้านเป็นเวลา 14 วัน ตั้งแต่วันที่ 19 มี.ค. 
    


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"