เรื่อง "บ้านพักตุลาการ" เชิงเขาดอยสุเทพ พูดกันมาก!
แม้ประธานศาลอุทธรณ์ ภาค ๕
ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่
กองกำลังรักษาความสงบเรียบร้อยจังหวัดเชียงใหม่
กองทัพภาค ๓ ผบ.ทบ. กระทั่ง.......
"เลขาธิการสำนักงานศาลยุติธรรม"
จะแถลงยืนยันกี่ครั้ง-กี่หน ว่า.........
"การก่อสร้างบ้านพักและอาคารชุดพักอาศัยข้าราชการตุลาการและข้าราชการศาลอุทธรณ์ภาค ๕ ที่เชียงใหม่ บริเวณเชิงเขาดอยสุเทพ ต.ดอนแก้ว อ.แม่ริม นั้น
ไม่ได้มีปัญหาเรื่องความชอบด้วยกฎหมาย สิ่งที่ดำเนินการไปทั้งหมด ถูกต้องตามกฎหมาย" ก็ตาม
และถึงแม้ "ภาคประชาสังคม" ไม่โต้แย้ง ในประเด็น ว่าที่ดิน ๑๔๗ ไร่ ที่สร้างบ้านพักตุลาการ นั้น
ไม่ใช่ป่าสงวน เป็นที่ราชพัสดุ ก็ตาม!
แต่ "ภาคประชาสังคม" ผู้เฝ้าพิทักษ์สิ่งแวดล้อม ก็ยังมีประเด็น "แล้งในอก" ต้องย้ำถาม.........
"มีความเหมาะสมแค่ไหน ที่เข้าไปสร้างบ้านพักตุลาการในพื้นที่สีเขียวเชื่อมต่อผืนป่าดอยสุเทพ?"
นั่นก็คือ.........
ภาคประชาสังคม ไม่ติดใจด้านความถูกต้องทางกฎหมายก็จริง
แต่ "ติดใจ" ด้านสิ่งแวดล้อม
ว่าด้วย "พื้นที่สีเขียว" เชื่อมผืนป่าดอยสุเทพ ประเด็น "สมควรมั้ย-เหมาะสมมั้ย.....
ที่ต้องขึ้นไปถากถางสร้างบ้านพักตุลาการบนพื้นที่ลาดเชิงเขาดอยสุเทพขนาดนั้น?"
ประเด็นนี้ ประธานศาลอุทธรณ์ ภาค ๕ เคยทำความเข้าใจไว้.......
"ย้ำให้ผู้รับเหมาเลือกตัดต้นไม้เท่าที่จำเป็น ได้เว้นพื้นที่ ๕๘ ไร่ ลึกเข้าไปให้คงสภาพที่มีต้นไม้อยู่เดิม เมื่อเสร็จแล้ว ก็จะปรับภูมิทัศน์เพิ่มพื้นที่สีเขียว"
และวันก่อน ทางสำนักงานศาลยุติธรรม ก็ตั้งโต๊ะแถลง....
"ศาลยุติธรรมเองก็ให้ความสำคัญในการดูแลสิ่งแวดล้อม ตัวอย่างเช่น........
ศาลย่านรัชดาภิเษก ก็มีการติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์ เพื่อใช้เป็นพลังงานทดแทนช่วยลดสภาวะโลกร้อน"
ครับ...ก็สรุปให้เข้าใจกันคร่าวๆ คือ เรื่องนี้มีมาแต่ปี ๒๕๔๙ แต่ลงมือสร้าง เมื่อปี ๒๕๕๖
สร้างมาเรื่อยๆ จนอีก ๒ เดือน ก็จะเสร็จเรียบร้อย ด้วยงบก่อสร้างกว่า ๑ พันล้าน!
เป็นที่พักของข้าราชการกว่า ๒๐๐ คน จาก ๗ หน่วยงาน ประกอบด้วย
ศาลอุทธรณ์ภาค ๕ สำนักงานอธิบดีผู้พิพากษาภาค ๕ ศาลแรงงานภาค ๕ ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบภาค ๕ ศาลจังหวัดเชียงใหม่ ศาลแขวงเชียงใหม่ ศาลเยาวชนและครอบครัวจังหวัดเชียงใหม่
เท่าที่ผมติดตามเรื่องราวมาเรื่อยๆ พอสรุปได้ว่า
-ศาลก็ไม่ถอย
-ประชาสังคม ก็ไม่ถอย!
ศาลยัน จะเป็นอื่นไปไม่ได้แล้ว แค่อีก ๒ เดือนก็จะแล้วเสร็จ
ประชาสังคมก็ยัน ให้หยุดก่อสร้าง ศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมก่อน
"พื้นที่ตรงนี้ เป็นแหล่งธรรมชาติ เป็นสัญลักษณ์ทางวัฒนธรรมเชียงใหม่
แม้ถูกต้องตามกฎหมาย..........
แต่เป็นโครงการขนาดใหญ่ ใช้พื้นที่ป่าจำนวนมาก ควรพูดถึงผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมด้วย"
อืมมมมม........
ก็เข้าใจเหตุผลของทั้ง ๒ ฝ่าย แต่เมื่อกฎหมาย "ลายลักษณ์อักษร" ยันกับกฎหมาย "จารีตประเพณี" เช่นนี้
เป็นเรื่อง "ไม่น่าสบายใจ" ของบ้านเมืองจริงๆ!
จะตามรอยโครงการบ่อบำบัดน้ำเสีย "คลองด่าน" ซะก็ไม่รู้ สร้างเสร็จแล้ว เสียเงินแล้วนับหมื่นล้าน
แทนที่รัฐบาลจะมีหัวคิด.........
แยกคดีเป็นส่วนคดี เนื้องานที่เสร็จแล้ว ก็แยกเอามาใช้งาน แต่ก็หาคนมีจิตสำนึกในความเป็น "สมบัติหลวง" ไม่ได้
ปล่อยทิ้งร้าง "สูญเปล่า" จนถึงวันนี้!
กรณีบ้านพักตุลาการเชิงดอยสุเทพ ก็หวั่นๆ อยู่ ว่าสุดท้าย จะลงเอยรูปแบบไหน?
ในเมื่อฝ่ายศาลถือกฎหมาย ฝ่ายประชาสังคมถือสิ่งแวดล้อม ก็ไม่มีฝ่ายไหนผิด
แล้วจะทำยังไงกันดี........
และใครล่ะ จะเป็นศูนย์บรรจบของสิ่งถูกทั้ง ๒ ในทางสร้างสรรค์?
บ้านพักตุลาการก็ได้ใช้
พื้นที่เชิงดอยสุเทพที่แหว่งเหมือนถูกแทะ ก็จะได้พื้นที่สีเขียวเชื่อมผืนป่าดอยสุเทพกลับคืนเหมือนเดิม?
ศาลไม่เคยอยู่ในสถานะ "จำเลย" แต่เรื่องนี้ ทั้งที่ถูกต้องตามกฎหมาย แต่ศาลในความรู้สึกสังคม
"โลกวัชชะ" ด้านสิ่งแวดล้อม!
พูดกันตามที่เห็น จากพื้นสภาพเชิงดอยสุเทพที่กำลังสร้างบ้านพักตุลาการ
ไม่พูดกันเรื่องที่ดิน "ผิด-ถูก" กฎหมาย
แต่พูดกันด้วยสำนึกแห่ง หิริ-โอตตัปปะ เมื่อมองจากภาพถ่ายมุมสูงลงมา
ปกติ จะเห็น "ดอยสุเทพ" เหมือนคลุมด้วยกำมะหยี่สีเขียวผืนยักษ์ สมนามความเป็น "ดอยสุเทพ"
พลันกำมะหยี่สีเขียว ๑๔๗ ไร่ ถูกถาก
รูปลักษณ์ดอยสุเทพ.......
พลันเหมือนถูกมีดโกนถากกลางกระบาล ยาวจรดท้ายทอย
หลับตาเห็นภาพอย่างไร
สภาพผืนป่าดอยสุเทพ เมื่อโค่นต้นไม้ ถากดอย สร้างบ้านพักตุลาการตรงเชิง ก็เป็นสภาพนั้น!
จะต่างกันนิด ถ้าถากผม จะเห็นหนังศีรษะขาว
แต่ดอยสุเทพถูกถาก จะเห็นแดงดินกระด่าง และแมกไม้ตายแห้ง........
ก็ "หดหู่"
และรอยแผลนั้น แปรเป็นรอยแผลใจ ไม่เพียงชาวเชียงใหม่ แต่กับทุกคนไม่ว่าใคร เมื่อเห็นสภาพนั้น
ก็เข้าใจ ว่าทำไมจึงมีคนรณรงค์ ล่า ๕ หมื่นรายชื่อ ยื่นให้รัฐบาลทบทวนโครงการ
จะทำไงได้...........
มาไกลเกินกว่ายับยั้ง-ทบทวน คือตอนนี้ถือว่า "เสร็จแล้ว"
แต่ทุกอย่างมีทางออก ส่วนจะออกทางไหน ก็ไม่ถึงตัน ย้ำอย่างเดียว
อย่าประจานความเป็น "รัฐบาลไทย" เหมือนกรณีคลองด่าน
ของที่เสร็จแล้ว ต้องนำมาใช้ประโยชน์.......
ไม่ใช่ทำแบบ "ยึดของกลาง" แล้วทิ้งตากแดด-ตากฝนให้มันพังไป โดยไม่มีใครได้ใช้ประโยชน์ และหาคนรับผิดชอบไม่ได้
ก็มีทางเดียว
ศาลยุติธรรม ต้องใช้งบตัวเอง ไม่ใช่ขอเพิ่ม ปลูกป่าทดแทนตามที่บอก
ปลูกน่ะไม่ยาก........
แต่ที่จะรักษาให้มันโตเป็นป่า นอกจากต้องใช้เวลาเป็นสิบๆ ปีแล้ว ยังต้องมีความรับผิดชอบต่อเนื่องพร้อมงบด้วย
ก็ต้องทนอาย "หัวแหว่ง" กันไปพักใหญ่
กลั้นใจรอไป จนกว่าผมใหม่จะงอกและดกดำกลืนกับผมผืนเดิมนั่นแหละ!
แต่ที่อดห่วงไม่ได้ ก็คือ...........
สถานที่สร้างบ้านพักตุลาการนั้น เป็นพื้นที่ลาดเชิงดอย คงกว่า ๓๐ องศาด้วยมั้ง?
ก็ วิวดี-อากาศดี
แต่จากประสบการณ์ผม การอยู่ตีนเขา-ตีนดอย ต้องระวังไฟป่า
บ้านพักตุลาการเชิงดอยก็ไม่หนีเงื่อนไขนั้น อย่ามองด้านวิวสวยอย่างเดียว ต้องคำนึงด้าน "ไฟป่า" ไว้ด้วย
นอกจากไฟป่าแล้ว คนไม่เคยอยู่ป่า-อยู่ดอย ย่อมไม่ทราบ
ตอน "ฝนตก-น้ำหลาก"........
พรวดเดียวแหละท่าน เร็ว-แรง และคมยิ่งกว่าขวานถาก มันจะกวาด "ทุกอย่าง" ที่ขวางหน้า
กระเด็น-กระดอน ไปในพริบตา!
นี่ไม่ใช่พูดเอาสนุก สภาพเป็นจริง ตั้งบ้านเรือนตามเชิงดอยจะหลีกหนีไม่พ้น ไม่วันใด ก็วันหนึ่ง
ที่พูดทั้งหมดนี้ ด้วยเจตนาเดียว คือ.......
ยุคนี้ โซเชียลมีเดีย เหมือนอำนาจที่ ๔ ก็ไม่อยากให้เกิดคำว่า "ศาลกับชาวบ้าน"
ปุจฉา-วิสัชนากัน เรื่อง "วัตถุกับจิตใจ"
"เวิ้งว้าง"......
ขอบฟ้าจรดขอบน้ำ ไม่รู้จบ!
แค่ตั้งโต๊ะแถลง ก็ไม่จบ ต้องพูดคุยกับคนเมืองให้ปลงใจกัน
จึงจะจบ...ด้วยจำใจ!
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |