เจ็บแต่จบ ดีกว่ายื้อแล้วพังหมด


เพิ่มเพื่อน    

 

   การรับมือกับวิกฤติโควิด-19 ยังเป็นเรื่องที่ประชาชนทุกภาคส่วนให้ความสนใจติดตาม ที่ก็พบว่า หลังรัฐบาลตัดสินใจยกระดับการใช้มาตรการป้องกัน เพื่อลดโอกาสการแพร่ระบาดของโรคในสถานที่ต่างๆ ที่มีความเสี่ยงสูง มีการปิดสถานที่ที่มีความเสี่ยงต่อการแพร่ระบาดเพิ่มขึ้น เช่น มหาวิทยาลัย โรงเรียนนานาชาติ สถาบันกวดวิชา และทุกสถาบันให้ปิดชั่วคราวตั้งแต่วันที่ 18 มี.ค.นี้ เป็นระยะเวลา 2 สัปดาห์ รวมถึงอีกหลายสถานที่ เช่น สนามมวย สนามกีฬา สนามม้า ใน กทม.และปริมณฑล-ผับ สถานบันเทิง สถานบริการ นวดแผนโบราณ และโรงมหรสพในพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล และให้งดการจัดกิจกรรมรวมคนจำนวนมากที่มีความเสี่ยงสูง เช่น คอนเสิร์ต การจัดงานแสดงสินค้าต่างๆ กิจกรรมทางศาสนา วัฒนธรรม และกีฬา ตลอดจนงดวันหยุดสงกรานต์ตั้งแต่ 13-15 เม.ย.นี้ โดยให้เลื่อนออกไปก่อน และจะชดเชยวันหยุดให้ในช่วงเวลาที่เหมาะสม เป็นต้น

           ก็พบว่ามีเสียงขานรับในทางที่สนับสนุนการใช้มาตรการดังกล่าวของรัฐบาล แถมไม่พอ บางเสียงยังบอกควรต้องเข้มกว่านี้ จนเกิดกระแส เจ็บแต่จบ-เจ็บเพื่อให้จบ ถึงขั้นหลายรายหนุนว่าหากสถานการณ์ไม่ดีขึ้น ก็ ปิดประเทศ ไปเลย แบบที่บางประเทศแม้แต่ประเทศเพื่อนบ้านที่มีพรมแดนติดกับไทยอย่างมาเลเซียได้ทำไปแล้ว

           เพราะเวลานี้สถานการณ์โดยรวม การแพร่ระบาดของโควิด-19 ยังอยู่ในภาวะวิกฤติ โดยหลายภาคส่วนประเมินว่า มีแนวโน้มในอนาคตที่อาจเข้าสู่ระยะที่ 3 ที่เป็นการระบาดในวงกว้าง อยู่ในสภาพที่เชื้อโควิด-19 ได้แพร่ระบาดจากคนไทยสู่คนไทยด้วยกันเอง ก็ทำให้สังคมไทยเริ่มเตรียมพร้อมรับมือกันแล้ว หากสุดท้ายวิกฤตครั้งนี้ยังมีทีท่าจะหยุดได้ยากในเวลาอันใกล้ หลังมีความเห็นให้สังคมไทยเตรียมรับมือกับสิ่งที่จะเกิดขึ้น อย่างเช่นความเห็นของ ศาสตราจารย์นายแพทย์ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา หัวหน้าศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย ได้โพสต์ข้อความล่าสุดเมื่อ 18 มี.ค. ระบุว่า

         "ถ้าเราติดเชื้อวันละ 30 แสดงว่ามีผู้ติดเชื้อที่เราตามไม่ได้อีกจำนวนหนึ่ง และติดต่อกันเป็นลูกโซ่ คนทำงานจริงเอาไม่อยู่แล้ว"

           ขณะที่สถานการณ์การแพร่ระบาดในประเทศไทย ล่าสุดเมื่อ 18 มี.ค.ตามคำแถลงของ นพ.สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมควบคุมโรค แถลงถึงสถานการณ์โรคติดเชื้อโควิด-19 ว่ามีผู้ป่วยใหม่ 35 ราย แบ่งเป็น 2 กลุ่มดังนี้

           กลุ่ม 1 ผู้ป่วยที่มีประวัติสัมผัสกับผู้ป่วย/หรือเกี่ยวข้องกับสถานที่ที่พบผู้ป่วยก่อนหน้านี้ จำนวน 29 ราย ได้แก่ สนามมวย 13 ราย, สถานบันเทิง 4 ราย และผู้สัมผัสกับผู้ป่วยที่มีรายงานมาแล้ว 12 ราย และกลุ่ม 2 ผู้ป่วยรายใหม่ 6 ราย เช่น ผู้ทำงานใกล้ชิดสัมผัสต่างชาติ 4 ราย เป็นต้น

         "ทำให้มีผู้ป่วยรักษาหายกลับบ้านแล้ว 42 ราย อยู่ในโรงพยาบาล 169 ราย ผู้ป่วยอาการหนัก 3 ราย เสียชีวิต 1 ราย ผู้ป่วยสะสมในประเทศไทยขณะนี้ 212 ราย" นพ.สุวรรณชัย อธิบดีกรมควบคุมโรค สรุปสถานการณ์

           แน่นอนว่า เมื่อภาพรวมยังคงมีผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ในประเทศไทยและทั่วโลก ก็ทำให้ประชาชนย่อมเกิดความหวั่นวิตกมากขึ้นเรื่อยๆ กระแสเรียกร้องให้รัฐบาลเพิ่มมาตรการในการป้องกันให้เข้มข้น จึงดังขึ้นเรื่อยๆ

           ท่าทีล่าสุดของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เมื่อ 18 มี.ค. ได้ย้ำว่าวันนี้ประเทศไทยยังอยู่ในขั้นตอนที่สามารถควบคุมได้พอสมควร แต่เมื่อใดที่ขั้นตอนถึงตรงนั้น ก็ต้องไปถึงระยะที่ 3 อย่างแน่นอน จึงได้ให้แนวทางเตรียมมาตรการในระดับที่ 4 สำหรับเตรียมการรองรับการยกระดับ หากเป็นระยะที่ 3

         นายกรัฐมนตรีบอกว่า สิ่งสำคัญวันนี้ รัฐบาลกำลังเตรียมการระยะที่ 3 ซึ่งมาตรการระดับที่ 4 ที่ได้สั่งการให้มีการเตรียมการในเรื่องของสถานที่ ทั้งเตียง สถานที่ปัจจุบัน และสถานที่ต่อไปที่อาจจะใช้คือ โรงพยาบาลทหาร โรงพยาบาลเอกชน และบางโรงพยาบาล แม้กระทั่งโรงแรมบางแห่ง ก็ต้องใช้เป็นสถานที่กักตัวเพิ่มเติมขึ้น เราต้องเก็บข้อมูลและเตรียมการไว้ก่อนล่วงหน้า เพราะเมื่อถึงเวลายกระดับเป็นการแพร่ระบาดในระยะที่ 3 มันจะยุ่งกันใหญ่ ถึงขั้นปิดประเทศกันในขณะนั้น

         “คำว่าปิดประเทศ หรือปิดพื้นที่ หรือปิดจังหวัด แบบนั้นคือการปิดซีลนั่นคือคำว่าปิด สิ่งที่ทำในปัจจุบันผมไม่ได้เรียกว่าปิด ผมเรียกว่าเป็นมาตรการเข้มข้น เป็นมาตการสกัดกั้นคนเข้า-ออก มีการตรวจตรา ถ้าใช้คำว่าปิดประเทศมันวุ่นวายไปหมด หรือปิดจังหวัด ถ้าปิดจังหวัดจริงคนก็เข้า-ออกไม่ได้ รถยนต์ต่างๆ ก็เข้าไม่ได้ ก็จะเหมือนกับอู่ฮั่นที่เคยทำ ที่ปิดเมือง เราคงยังไม่ต้องการขนาดนั้น ทั้งคนทั้งรถ เครื่องบินเข้า-ออกไม่ได้ แล้วจะอยู่กันไหวหรือ ถ้าสถานการณ์ยังไม่รุนแรงขนาดนั้น แต่ถ้าถึงขนาดนั้นจริง ผมก็ต้องปิดอย่างที่ว่าแล้วอาหารการกินจะอยู่กินกันอย่างไร ก็ต้องเตรียมมาตรการกันอีก ขอให้เข้าใจตรงนี้ด้วย” (พลเอกประยุทธ์ 18 มี.ค.)

แน่นอนว่า ขณะนี้ประชาชนทุกคนในประเทศต่างต้องการให้ประเทศไทยผ่านพ้นวิกฤติครั้งนี้ไปได้โดยเร็วที่สุด ทุกคนต่างเอาใจช่วยรัฐบาลและนายกฯ ในการตัดสินใจใช้มาตรการต่างๆ ที่ถูกต้อง ให้แก้ปัญหาได้ถูกทางโดยมีคนได้รับผลกระทบน้อยที่สุด ที่ก็พบว่าหลังคนในสังคมเห็นภาพนายกฯ นั่งเป็นประธานในการประชุมรับฟังความเห็นจากบุคลากรทางการแพทย์ อย่าง ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านไวรัสวิทยา จากโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ นักวิจัยดีเด่นแห่งชาติ สาขาวิทยาศาสตร์การแพทย์, ศ.นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาธร อดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยมหิดล อดีต รมว.สาธารณสุข, ศ.นพ.อุดม คชินทร อดีตคณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล, ศ.พญ.สมศรี เผ่าสวัสดิ์ นายกแพทยสภา, ศ.นพ.อมร ลีลารัศมี อาจารย์แพทย์อายุรศาสตร์ นายกแพทยสมาคม เมื่อ 16 มี.ค.ที่ผ่านมา

จนมีการออกหลายมาตรการออกมา ก็ทำให้ประชาชนจำนวนไม่น้อยมีความเชื่อมั่นว่า ประเทศจะต้องชนะ แม้จะเป็นความหวังที่ทุกคนต้องเหนื่อย-แบกรับความเสี่ยง และเลี่ยงไม่ได้ที่ต้องได้รับผลกระทบกับตัวเองและครอบครัวไม่มากก็น้อย แต่ทุกคนก็พร้อมเพื่อให้วิกฤติครั้งนี้คลี่คลายไปได้โดยเร็วที่สุด โดยมีผู้เจ็บปวดน้อยที่สุด ในสงครามสู้กับไวรัสโควิด-19.

 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"