"เทวัญ" แจงยิบสวดบทรัตนสูตรปัดเป่าโรคภัยไข้เจ็บ ใช้พระสงฆ์แค่ 9 รูป ถ่ายทอดสดโดยไม่เปิดให้ ปชช.เข้าร่วมฟังสกัดการติดเชื้อ เริ่มสัปดาห์หน้า ขณะที่ "ก้าวไกล" แขวะสวดมนต์รักษาโรคระบาด
เมื่อเวลา 10.30 น. ที่ทำเนียบรัฐบาล นายเทวัญ ลิปตพัลลภ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงแนวคิดสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ (พศ.) ให้ทุกวัดทั่วราชอาณาจักรและวัดไทยในต่างประเทศเจริญพระพุทธมนต์บทรัตนสูตร เพื่อเป็นสิริมงคลและสร้างขวัญกำลังใจในช่วงสถานการณ์ประเทศเกิดวิกฤติว่า ที่ผ่านมาตั้งแต่โบราณก็มีช่วงที่ประเทศประสบกับโรคภัยไข้เจ็บ เช่น การระบาดของโรคห่า (อหิวาตกโรค) ก็จะมีการสวดมนต์บทนี้ เพราะมีความเชื่อว่าจะช่วยปัดเป่าเรื่องโรคภัยไข้เจ็บ และสิ่งไม่ดีให้พ้นจากประเทศไป ตนเองจะนำเรียนให้มหาเถรสมาคม (มส.) ได้รับทราบในวันที่ 20 มี.ค.นี้ เพื่อให้ทุกวัดได้สวดมนต์บทนี้ในช่วงหลังจากทำวัตรเย็นทุกวัน
นายเทวัญกล่าวว่า โดยจะเริ่มต้นวันแรกในวันที่ 25 มี.ค. เวลาประมาณ 16.00 น. จะเป็นการนำสวดโดยคณะสงฆ์ โดยพิจารณาวัดในกรุงเทพมหานคร (กทม.) สวดพร้อมกันในวันนั้นคือวัดราชบพิธสถิตมหาสีมารามราชวรวิหาร ซึ่งขณะนี้กำลังทำหนังสือกราบทูลเชิญสมเด็จพระสังฆราชทรงเป็นองค์ประธาน วัดบวรนิเวศราชวรวิหาร และวัดไตรมิตรวิทยารามวรวิหาร รวมถึงวัดในจังหวัดหลัก เพื่อเสริมให้กำลังใจกับประชาชนทุกคนรอดพ้นจากภัยอันตราย
"ในวันดังกล่าวเพื่อไม่ให้เกิดความแออัดยัดเยียด จะขอความร่วมมือประชาชนให้อยู่นอกอุโบสถ โดยเว้นระยะห่างไม่ให้เกิดแออัด เพื่อป้องกันการติดเชื้อ และหากเป็นไปได้ ขอให้ประชาชนร่วมฟังบทสวดไปพร้อมกันอยู่ที่บ้านพัก ซึ่งจะมีการถ่ายทอดสดผ่านทางช่อง 11 (NBT) ช่อง 9 (MCOT) และกำลังหารืออาจจะถ่ายทอดสดผ่านทางโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจแห่งประเทศไทย สำหรับวัดไทยในต่างประเทศจะหารือกับ มส. ว่าจะร่วมด้วยอย่างไร และเรื่องดังกล่าวได้หารือกับนายกรัฐมนตรีเรียบร้อยแล้ว นายกฯ ระบุว่าดี เพราะเป็นการสร้างขวัญและกำลังใจ พร้อมกับให้ข้อแนะนำเรื่องเฝ้าระวังการเรื่องการติดเชื้อ" นายเทวัญระบุ
นายเทวัญระบุด้วยว่า ในส่วนของวัดดังที่มีนักท่องเที่ยวจำนวนมากนั้น ได้ประสานไปยัง มส.แจ้งไปทุกวัดทำความสะอาด ตั้งจุดคัดกรอง หากสถานการณ์เริ่มรุนแรงอาจจำกัดจำนวนผู้เข้าชมวัดให้เป็นรอบๆ และจำกัดจำนวนคน แต่ไม่ถึงขนาดต้องปิดวัด
วันเดียวกัน ในช่วงบ่าย เวลา 15.20 น. นายเทวัญได้แถลงชี้แจงอีกครั้ง หลังมีกระแสวิจารณ์ระบุว่าบทสวดโพชฌังคปริตรมีมาแต่สมัยพุทธกาล ที่เวลามีผู้ใดเจ็บไข้ได้ป่วยจะสวดกันเพื่อเป็นการให้กำลังใจ ซึ่งประเทศไทยก็มีการสวดเช่นนี้มาหลายครั้ง พศ.จึงทำเรื่องไปที่มหาเถรสมาคม (มส.) และหารือกันภายในแล้วว่า มส.เห็นด้วยที่จะให้มีการสวด
"แต่ในการสวดนั้น พระที่นั่งสวดจะสวดในพระอุโบสถที่วัดใช้พระ 9 รูป และจะนั่งห่างกัน 1 เมตร ตามมาตรฐานกระทรวงสาธารณสุข ไม่มีประชาชนเข้าไปฟัง แต่จะใช้วิธีถ่ายทอดสดทางโทรทัศน์ เพื่อให้ประชาชนที่บ้านร่วมรับฟังและมีโอกาสสวดพร้อมกันกับพระ ยืนยันว่าเราไม่ได้ให้ประชาชนทั้งหมดไปฟัง และพระที่สวดก็ไม่ได้เป็นการรวมกันจำนวนมาก ทั้งนี้คาดว่าจะเริ่มปฏิบัติกิจกรรมนี้ในสัปดาห์หน้าภายหลังเข้าที่ประชุม มส.ในวันศุกร์ที่ 20 มี.ค.นี้" นายเทวัญระบุ
ขณะที่นายวิโรจน์ ลักขณาอดิศร ส.ส.บัญชีรายชื่อและโฆษกพรรคก้าวไกล ได้โพสต์ข้อความผ่านทวิตเตอร์ถึงกรณีดังกล่าวว่า “อยากให้ทบทวนครับ ถ้าลำพังการสวดมนต์สามารถแก้ปัญหาโรคภัยและโรคระบาดได้จริงก็ไม่ต้องมีโรงพยาบาลสงฆ์แล้ว.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |