คลังไฟเขียวค่าเสี่ยงภัย ‘หมอ-พยาบาล’สู้ไวรัส


เพิ่มเพื่อน    

  กรมบัญชีกลางแจงกำหนดเกณฑ์เบิกจ่ายให้บุคลากรทางแพทย์และคนไข้โควิด-19 ไว้ตั้งแต่ ม.ค.แล้ว เอกชนร่วมใจทำประกันให้วงเงินรวม 1.4 ล้านล้านบาท “สมคิด” ยันไทยเป็นอู่ข้าวอู่น้ำไม่ต้องกักตุน เตรียมแจกหน้ากากผ้าให้ ปชช.ใน 14 วัน แต่ยังไม่สะเด็ดน้ำวิธีการ

    เมื่อวันพุธที่ 18 มีนาคม นายภูมิศักดิ์ อรัญญาเกษมสุข อธิบดีกรมบัญชีกลาง ให้สัมภาษณ์ถึงการเบิกจ่ายในกรณีการระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโควิด-19 ว่ากระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ได้ทำความตกลงเบิกจ่ายเงินค่าตอบแทนให้เจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติงานในการเฝ้าระวัง สอบสวน ป้องกัน ควบคุม และรักษาผู้ป่วยโควิด-19 ตั้งแต่เดือน ม.ค.2563 เป็นต้นไป จนกว่าสถานการณ์จะยุติ ซึ่งกรมได้อนุมัติให้เบิกจ่ายค่าตอบแทนและค่ารักษาพยาบาลของผู้ป่วย ดังนี้ 1.ค่าตอบแทนเสี่ยงภัยในการเฝ้าระวัง สอบสวน ป้องกัน ควบคุม และรักษาผู้ป่วยโรคโควิด-19 สำหรับแพทย์และสัตวแพทย์ที่ปฏิบัติงานในหน่วยงานสังกัด สธ. และนอกสังกัด สธ. สถานพยาบาลเทศบาลและท้องถิ่นผลัดละ 1,500 บาทต่อคน ส่วนพยาบาล นักวิชาการด้านการสาธารณสุข นักวิทยาศาสตร์การแพทย์ นักเทคนิคการแพทย์ นักรังสีการแพทย์ เจ้าพนักงานสาธารณสุข เจ้าพนักงานวิทยาศาสตร์การแพทย์ และเจ้าหน้าที่อื่นๆ ที่ปฏิบัติงานในหน่วยงานสังกัด สธ., หน่วยงานนอกสังกัด สธ. สถานพยาบาล เทศบาลและท้องถิ่นได้รับค่าตอบแทนผลัดละ 1,000 บาทต่อคน โดยการปฏิบัติงานต้องมีลักษณะเป็นเวรเป็นผลัด ผลัดละไม่ต่ำกว่า 8 ชั่วโมง
    2.ค่าตอบแทนการประชุมครั้งละ 1,000 บาทต่อคน สำหรับบุคคลภายนอกที่ไม่ใช่ข้าราชการหรือข้าราชการที่มีความรู้ ความสามารถ และประสบการณ์ในการให้คำปรึกษาด้านการแพทย์และสาธารณสุขเพื่อรับมือกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ที่ได้รับการแต่งตั้งตามคำสั่ง สธ. และ 3.ค่ารักษาพยาบาลของผู้ป่วย ซึ่งตรวจพบเชื้อโควิด-19 และผู้ป่วยที่เข้าเกณฑ์การสอบสวนโรค โดยคนต่างชาติที่ไม่มีสิทธิเบิกค่ารักษาพยาบาลให้เบิกตามค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นจริง ส่วนคนต่างชาติและคนไทยที่มีสิทธิเบิกสวัสดิการค่ารักษาพยาบาลอยู่แล้ว ให้เบิกได้เฉพาะในส่วนที่เกินจากสิทธิ
    พญ.สมศรี เผ่าสวัสดิ์ นายกแพทยสภาและผู้อำนวยการ สำนักงานแพทยสมาคม กล่าวว่า แพทยสภาได้หารือร่วมกับคณะกรรมการบริหารของแพทยสมาคมแล้วเห็นว่าแพทย์และบุคลากรสาธารณสุขทั้งภาครัฐและเอกชนมีภารงานเพิ่มมากขึ้นจากการควบคุมป้องกันโรค และอยู่ในสภาวะเสี่ยงติดเชื้อและมีโอกาสเสียชีวิตได้จากโควิด-19 เหมือนในต่างประเทศ จึงได้ตั้งศูนย์สนับสนุนนักรบเสื้อขาวสู้ภัย COVID-19 ขึ้นมาดูแลขวัญกำลังใจให้ผู้ปฏิบัติงาน โดยมี นพ.ชัยวัฒน์ เตชะไพฑูรย์ เป็นผู้อำนวยการศูนย์ฯ
    นพ.ชัยวัฒน์กล่าวว่า บริษัทเอกชนได้สนับสนุนการทำงานของบุคลากรทางการแพทย์ โดยได้ออกกรมธรรม์ประกันชีวิตคุ้มครองแพทย์ 6 หมื่นคน และพยาบาล 2.2 แสนคน รวม 2.8 แสนคน ที่ต้องเสี่ยงภัย โดยเป็นทุนประกันคุ้มครองในกรณีเสียชีวิตคนละ 5 ล้านบาท คิดเป็นทุนคุ้มครองรวมทั้งสิ้น 1.4 ล้านล้านบาท 
    วันเดียวกัน นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี ได้ประชุมร่วมกับกระทรวงอุตสาหกรรม และผู้ประกอบการรายใหญ่ ก่อนให้สัมภาษณ์ยืนยันว่า ไทยถือเป็นแหล่งการผลิตอาหารอันดับต้นๆ ของโลก ดังนั้นประชาชนไม่จำเป็นต้องกักตุนสินค้า เพราะมีเพียงพอแน่นอน และขณะนี้ ไทยยังไม่มีการปิดประเทศ ส่วนการแก้ไขปัญหาการขาดแคลนหน้ากากอนามัย ขณะนี้กระทรวงอุตสาหกรรมอยู่ระหว่างเร่งประสานงานกับสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศ (ส.อ.ท.) เพื่อเร่งการผลิตหน้ากากผ้า โดยคาดว่าจะผลิตได้ 10 ล้านชิ้น และจะแจกจ่ายให้ประชาชนเช่นเดียวกับเจลแอลกอฮอล์ล้างมือ
     “สถานการณ์ตอนนี้เราไม่รู้ลากยาวแค่ไหน แต่มองว่า 2-3 เดือนนี้น่าจะคลี่คลาย เราต้องทำให้ประชาชนไม่ตกใจ แต่ตอนนี้คนตกใจก็เป็นเรื่องธรรมดา ซึ่งเป็นเรื่องดีที่คนไทยตื่นตัวกัน อย่างน้อยคนจะได้อยู่กับบ้าน โดยคนที่อยู่บ้านเราจะทำอย่างไรให้เขามั่นใจว่าอาหารการกิน ยารักษาโรค น้ำดื่มเขาจะไม่ขาด นอกจากนี้อยากขอความกรุณาผู้ประกอบการอย่าเลิกจ้างงาน ช่วยชะลอ โดยอยากให้ผู้ประกอบการคิดถึงคนที่อยู่กับบริษัท หากต้องตกงานครอบครัวจะเป็นอย่างไร” นายสมคิดกล่าว
      นายสมคิดยังกล่าวถึงการจัดตั้งกองทุนพยุงหุ้นว่า มีการเตรียมการไว้เรียบร้อยแล้ว แต่ยังไม่เปิดเผยรายละเอียด โดยในการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันที่ 24 มี.ค.นี้ กระทรวงการคลังจะเสนอมาตรการเพิ่มเติมในเรื่องการดูแลภาคประชาชนและสถานประกอบการที่ได้รับผลกระทบ ยืนยันว่ารัฐบาลได้คิดมาตรการล่วงหน้าอยู่แล้ว แต่การหยิบมาใช้ต้องพิจารณาถึงความเหมาะสมและช่วงเวลา
    ขณะที่นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธาน ส.อ.ท. กล่าวว่า เดิม ส.อ.ท.ได้ผลิตหน้ากากผ้าเพื่อแจกจ่ายไปยังโรงพยาบาลต่างๆ แล้ว 100,000 ชิ้น และอีก 10 ล้านชิ้นนี้ก็จะประสานไปยังโรงงานในกลุ่มอุตสาหกรรมสิ่งทอให้หันมาผลิตส่วนนี้ก่อน ซึ่งยอมรับว่าต้นทุนที่ผลิตนั้นสูงเพิ่มขึ้นจากเดิมอยู่ที่ประมาณ 5 บาทต่อชิ้น แต่ปัจจุบันนั้นเพิ่มขึ้นมากกว่า 7 บาทแล้ว ซึ่งในกลุ่มอุตสาหกรรมสิ่งทอตอนนี้ก็จะบริหารจัดการ และช่วยเหลือกันในการสนับสนุนด้านวัตถุดิบเพื่อให้สามารถผลิตได้ในราคาเฉลี่ยประมาณ 6 บาทต่อชิ้น
     “ตอนนี้สินค้าไม่ได้ขาด แต่กำลังเร่งผลิตอย่างเต็มที่ และ 10 ล้านชิ้นนี้จะเป็นการแจกจ่ายให้ประชาชนโดยไม่ได้คิดค่าใช้จ่าย โดยในระยะแรกคาดว่าจะแจกจ่ายได้ภายใน 14 วันหลังจากนี้ แต่ต้องมาติดตามว่าจะใช้วิธีแจกจ่ายอย่างไรอยู่ที่รัฐบาลหรือกระทรวงอุตสาหกรรม” นายสุพันธุ์กล่าว
      นางวรวรรณ ชิตอรุณ รองปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า ครม.อนุมัติงบ 65 ล้านบาท โดย 60 ล้านบาทเป็นส่วนใช้จัดซื้อหน้ากากจากโรงงาน ส่วนอีก 5 ล้านบาทใช้สำหรับขนส่ง โดยเบื้องต้นแนวทางการแจกจ่ายหน้ากากอนามัยแบบผ้าให้ประชาชนจะใช้วิธีลงทะเบียนผ่านแอปพลิเคชันเป๋าตุง หรือช่องทางออนไลน์ของธนาคารกรุงไทย ซึ่งไปรษณีย์จะจัดส่งให้ถึงบ้าน หรืออาจให้ประชาชนไปรับได้ที่ร้านธงฟ้า ปั๊ม ปตท. ซึ่งต้องหารือกับปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม เพื่อกำหนดวิธีลงทะเบียน และแจกจ่ายให้ประชาชนอย่างไร
    ด้าน พล.ต.ท.ปิยะ อุทาโย ผู้ช่วย ผบ.ตร. กล่าวภายหลังการประชุมคณะกรรมการรองรับสถานการณ์โรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ถึงความคืบหน้าการนำหน้ากากอนามัยของกลางที่ยึดได้มาใช้ประโยชน์ ว่าผู้ต้องหาหลายรายมีความประสงค์มอบของกลางให้เป็นของหลวง โดยในวันที่ 19 มี.ค. พล.ต.อ.จักรทิพย์ ชัยจินดา ผบ.ตร. จะมอบของกลางกว่าหมื่นชิ้นให้ผู้แทน สธ.เพื่อนำไปใช้ประโยชน์ต่อไป.


 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"