ตัวแทน 55 พรรคการเมืองเก่าร่วมถก กกต. โวยกฎระเบียบยากต่อการปฏิบัติ "มาร์ค" ซัดทำลายฐานสมาชิก ขณะที่ กกต.ยันภายใน 30 เม.ย.ไม่จ่ายค่าสมาชิกต้องพ้นสภาพ ใบ้กิน ก.พ.62 มีการเลือกตั้งหรือไม่ โบ้ยทุกคนรู้เท่ากัน "ศุภชัย" แย้มมีแนวโน้มแก้คำสั่ง คสช.53/60 ปมสมาชิก-การประชุมพรรค ด้าน สนช.จ่อยื่นศาลตีความ พ.ร.ป. 29 มี.ค.นี้ หึ่ง! "สุชาติ ตันเจริญ” เปิดบ้านริมน้ำนัดอดีต ส.ส.กลุ่ม 16อาทิตย์นี้ “สมคิด” ร่วมแจมด้วย
เมื่อวันพุธ ที่โรงแรมเซ็นทราบายเซ็นทารา ศูนย์ราชการและคอนเวนชันเซ็นเตอร์ สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) จัดการประชุมเรื่อง “แนวทางการดำเนินกิจการพรรคแก่การเมืองที่จัดตั้งหรือเป็นพรรคการเมือง ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ.2550” โดยมีพรรคการเมืองเข้าร่วมประชุมจำนวน 55 พรรค รวม 308 คน บรรยากาศเป็นไปอย่างคึกคัก
โดยช่วงเช้าก่อนการประชุม นายศุภชัย สมเจริญ ประธาน กกต. พร้อมด้วยนายเอนก เหล่าธรรมทัศน์ ประธานคณะกรรมการพัฒนาพรรคการเมืองเพื่อการปฏิรูปประเทศ นายธีรวัฒน์ ธีรโรจน์วิทย์ กกต., นายประวิช รัตนเพียร กกต., พ.ต.อ.จรุงวิทย์ ภุมมา รักษาการเลขาธิการ กกต. ในฐานะนายทะเบียนพรรคการเมือง, นายแสวง บุญมี รองเลขาธิการ กกต. ได้หารือนอกรอบกับนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ และนายภูมิธรรม เวชยชัย รักษาการเลขาธิการพรรคเพื่อไทย
ทั้งนี้ นายอภิสิทธิ์ได้ถามถึงปัญหาการดำเนินการตาม พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง ทั้งเรื่องการยืนยันสมาชิกภาพ และการจ่ายเงินค่าสมาชิก ตามมาตรา 140 และ 141 ที่ยังสงสัยว่าหากมีการยืนยันสมาชิกภายในวันที่ 30 เม.ย. แต่สมาชิกดังกล่าวยังไม่จ่ายเงินค่าสมาชิก จะถือว่ายังเป็นสมาชิกพรรคอยู่หรือไม่ ซึ่งในวันนี้อยากให้มีการหาข้อยุติในเรื่องนี้ให้ได้ก่อน หรืออย่างน้อยก็เปิดช่องให้พรรคสามารถยืนยันสมาชิกพรรคให้ได้ก่อน ส่วนความเป็นสมาชิกค่อยไปตีความในศาลอีกชั้น
ด้านนายศุภชัยกล่าวว่า ในวันนี้เป็นการชี้แจงตามคำสั่ง คสช.และ พ.ร.ป.พรรคการเมืองเพียงเท่านั้น เพราะฝ่าย กกต.ต้องปฏิบัติตามกฎหมาย
ขณะที่นายศุภชัย ใจสมุทร รองเลขาธิการพรรคภูมิใจไทย ก็แสดงความกังวลประเด็นเดียวกันกับหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์
ต่อมา นายศุภชัย สมเจริญ ประธาน กกต. กล่าวเปิดการประชุมตอนหนึ่งว่า วัตถุประสงค์ของการจัดประชุมครั้งนี้ เพื่อให้ความรู้ความเข้าใจแก่พรรคการเมืองเพื่อเตรียมความพร้อมก่อนการเลือกตั้ง พรรคการเมืองจะต้องศึกษากฎหมายต่างๆ ที่เกี่ยวข้องให้เกิดความเข้าใจและดำเนินการตามขั้นตอนกฎหมายให้ถูกต้องตามระยะเวลากำหนด ตามมาตรา 141 ของ พ.ร.ป.พรรคการเมือง และคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่ 53/2560 โดยที่ผ่านมามีพรรคการเมืองหลายพรรคสอบถามมายัง กกต. ซึ่ง กกต.ก็ได้ตอบข้อสอบถามไปแล้ว แต่บางคำตอบอาจทำให้พรรคการเมืองไม่เข้าใจถ่องแท้ เพราะบางเรื่องเกี่ยวข้องกับคำสั่ง คสช. ดังนั้น กกต.จึงได้ไปหารือกับตัวแทน คสช. ตัวแทนกฤษฎีกา และนายวิษณุ เครืองาม รองนายกฯ เพื่อให้เกิดความชัดเจน ก็ได้แนวทางมาพอสมควร ซึ่งก็มีแนวโน้มว่าจะมีการแก้ไขคำสั่ง คสช.ที่ 53/2560 ต่อไป
"ปัญหาข้อขัดข้องที่พรรคการเมืองต่างๆ เสนอมา กกต.ก็จะดำเนินการแก้ไขให้ แต่หากเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับ คสช. กกต.ก็จะนำเรื่องไปหารือกับ คสช.ต่อไป วันนี้อยากให้พรรคการเมืองช่วยกันเสนอแนะปัญหาในการปฏิบัติมา เพื่อให้มีการนำไปแก้ไข และจะได้ไม่เป็นปัญหา" นายศุภชัยกล่าว
ซัด กกต.ทำลายฐานสมาชิก
ขณะที่ พ.ต.อ.จรุงวิทย์บรรยายเรื่อง “บทบาทนายทะเบียนพรรคการเมืองกับการดำเนินกิจการของพรรคการเมือง” ตอนหนึ่งว่า สิ่งที่เปลี่ยนแปลงก่อนที่จะเกิดขึ้นก่อนการเลือกตั้งมีหลายเรื่อง ทั้งนี้ กกต.มีอำนาจควบคุม ระงับยับยั้ง แก้ไขเปลี่ยนแปลง สั่งเลือกตั้งใหม่ได้ โดย กกต.คนเดียว ซึ่งจะทำให้วันเลือกตั้งจริง กกต.แต่ละคนจะต้องลงไปอยู่ในพื้นที่เลือกตั้งด้วย ขณะที่พนักงานสืบสวนไต่สวนของ กกต.ถือเป็นพนักงานฝ่ายปกครองตำรวจชั้นผู้ใหญ่ มีอำนาจเรียกสอบพยาน มีการคุ้มครองพยาน และการกันไว้เป็นพยานอีกด้วย มีการให้รางวัลแก่ผู้แจ้งเบาะแส โดยมีการร่างระเบียบไว้เบื้องต้นคดีละ 100,000 บาท ซึ่งไม่รู้ว่ากระทรวงการคลังจะรับไหวหรือไม่ เพราะมาตรการดังกล่าวจะใช้กับการเลือกตั้งระดับประเทศและการเลือกตั้งท้องถิ่น ส่วนเรื่องที่แปลกและใหม่ที่สุดคือกรณีใบเหลืองใบแดง หากศาลฎีกาแผนกคดีเลือกตั้งสั่งให้เพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้ง และเป็นเหตุให้มีการเลือกตั้งใหม่ ศาลสามารถสั่งให้ผู้นั้นรับผิดชอบชดใช้ค่าใช้จ่ายในการเลือกตั้งเลย ซึ่งทำให้ กกต.ไม่ต้องไปดำเนินการทางแพ่ง
ส่วนนายแสวง บุญมี ได้ชี้แจงแนวปฏิบัติเกี่ยวกับคำสั่ง คสช.ที่ 53/2560 ว่า มีหลายประเด็นที่มีปัญหาในทางปฏิบัติ ซึ่ง กกต.ได้มีหนังสือไปยัง คสช.เพื่อให้พิจารณาแก้ไขแล้ว
จากนั้นได้เปิดโอกาสให้ตัวแทนพรรคการเมืองสอบถามในประเด็นที่ยังมีข้อสงสัย โดยส่วนใหญ่อยากให้มีการแก้ไขกรณีที่กำหนดว่า การยืนยันตัวตนของสมาชิกพรรคการเมืองต้องทำพร้อมกับจ่ายค่าบำรุงพรรค 100 บาทด้วย ไม่เช่นนั้นจะสิ้นสภาพ และมีบางพรรคเสนอให้ยกเลิกการทำไพรมารีโหวต
โดยนายอภิสิทธิ์กล่าวว่า กกต.เป็นผู้รักษากฎหมาย และแนวทางปฏิรูปการเมืองมีเป้าหมายให้สมาชิกพรรคมีส่วนร่วมในการสร้างพรรค กกต.จึงควรอำนวยความสะดวกให้พรรคสามารถคงสมาชิกไว้ให้ได้มากที่สุด แต่สิ่งที่ กกต.กำลังทำกลับเป็นการทำลายฐานสมาชิกของพรรคการเมือง อีกทั้งการตีความกฎหมายของ กกต.ไม่ตรงกับสิ่งที่กฎหมายเขียนไว้ เช่น กฎหมายพรรคการเมืองให้เวลาสมาชิกในการจ่ายค่าบำรุงพรรค 4 ปี แต่มีการตีความคำสั่ง คสช.ที่ 53/2560 ว่าสมาชิกที่ยืนยันการเป็นสมาชิกพรรคไม่จ่ายค่าบำรุงพรรคภายในสามสิบวันจะพ้นจากความเป็นสมาชิก โดยไม่มีกรอบเวลา 4 ปีเหมือนในกฎหมายพรรคการเมือง จึงอยากให้ กกต.ทบทวน รวมถึงกรณีสมาชิกพรรคการเมืองยืนยันแต่ยังไม่พร้อมชำระเงินควรให้แจ้งต่อ กกต.ได้ ส่วนสถานภาพจะเป็นอย่างไร ก็ให้ไปสู้กันตามกฎหมาย ส่วนการให้หัวหน้าพรรครับรองว่าสมาชิกมีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้าม เป็นเรื่องที่ยากในการปฏิบัติ หัวหน้าพรรคไม่มีทางรับรองได้ จึงอยากให้แก้ไข
นายชูศักดิ์ ศิรินิล ทีมกฎหมายพรรคเพื่อไทย ถามว่า จะสามารถให้สาขาพรรค ผู้สมัคร อดีต ส.ส. เป็นผู้รับใบยืนยันและหลักฐานการเป็นสมาชิกพรรคมาส่งให้หัวหน้าพรรคแทนการที่สมาชิกต้องมายืนยันด้วยตนเองได้หรือไม่
ด้านนายแสวงชี้แจงว่า ในส่วนการยืนยันการเป็นสมาชิกพรรค ต้องจ่ายเงินบำรุงพรรค 100 บาทต่อปี ภายในวันที่ 30 เม.ย.ด้วย ไม่เช่นนั้นจะต้องพ้นสภาพการเป็นสมาชิกพรรค ส่วนกรณีที่กำหนดให้สมาชิกพรรคนำสำเนาบัตรประชาชนและทะเบียนบ้านมายืนยันความเป็นสมาชิกพรรคด้วยนั้น ไม่จำเป็นต้องนำเอกสารทั้งสองฉบับมาใช้ในการยืนยันความเป็นสมาชิกพรรคแล้ว ถือเป็นขั้นตอนทางธุรการที่แต่ละพรรคจะไปดำเนินการ แต่จะไปขึ้นเป็นป้ายตัววิ่งไม่ควรทำ เพราะจะขัดกับคำสั่ง คสช.ได้ จึงควรที่จะขออนุญาต สำหรับการจะไม่ทำไพรมารีโหวตและกำหนดวันเลือกตั้งนั้น ขึ้นอยู่กับการหารือระหว่าง คสช. ครม. กรธ. ประธาน สนช. และตัวแทนพรรคการเมืองที่จะมีขึ้นหลังกฎหมายเลือกตั้ง ส.ส.ประกาศใช้ในราชกิจจานุเบกษา
62 เลือกตั้งหรือไม่รู้เท่ากัน
นอกจากนี้ พรรคเล็ก อาทิ พรรคสังคมประชาธิปไตยไทย พรรคปฏิรูปไทย ได้ถาม กกต.ถึงการเลือกตั้งว่าจะเกิดขึ้นเมื่อไหร่ และในเดือน ก.พ.62 จะมีการเลือกตั้งเกิดขึ้นหรือไม่ ขอให้ กกต.ไปหารือกับ คสช.ว่าจะมีการประกาศกฤษฎีกาเลือกตั้งเมื่อไร ขณะที่ กกต.ตอบเพียงว่า "ทุกคนรู้เท่ากัน"
ขณะที่ตัวแทนจากพรรคชาติไทยพัฒนา ได้แก่ นายณัฐวุฒิ ประเสริฐสุวรรณ อดีต ส.ส.สุพรรณบุรี พรรคชาติไทยพัฒนา เรียกร้องให้ กกต.ใช้ความกล้าหาญต่อการกำหนดหลักเกณฑ์ปฏิบัติของพรรคการเมือง แม้จะขัดกับคำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ห้ามทำกิจกรรมทางการเมือง เพราะขั้นตอนยืนยันสมาชิกพรรคควรให้โอกาสได้พบปะหรือพูดคุยในแนวทางของพรรคด้วย รวมถึงขอให้ กกต.เสนอไปยัง คสช.ให้ยกเลิกคำสั่งที่เป็นอุปสรรคต่อการทำกิจกรรมทางการเมืองด้วย ทั้งนี้ นายแสวงกล่าวแบบติดตลกว่า "เรารับไว้ แต่ทำไม่ได้ เพราะคนที่เสนอให้ทำนั้นก็ถูกทำให้พ้นจากตำแหน่งไปแล้ว"
สำหรับเอกสารประกอบการประชุม มีการระบุถึงกรอบเวลาดำเนินการเพื่อส่งผู้สมัครรับเลือกตั้งตาม พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมืองไว้ว่า ก.ค.61 คาดว่า พ.ร.ป.เลือกตั้ง ส.ส.จะประกาศในราชกิจจานุเบกษา อาจมีการยกเลิกหรือแก้ไขเพิ่มเติมประกาศ คสช.ฉบับที่ 57/57 และคำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 3/58 ก.ย.61 คาดว่า พ.ร.ป.เลือกตั้ง ส.ส.จะมีผลบังคับใช้จัดตั้งสาขาพรรคการเมือง พ.ย.61 คาดว่า กกต.จะประกาศจำนวนเขตเลือกตั้งแบบแบ่งเขตของแต่ละจังหวัด และ ธ.ค.61-ม.ค.62 จัดตั้งตัวแทนสาขาพรรคการเมือง, ตัวแทนพรรคการเมืองประจำจังหวัด, ทำไพรมารีโหวต
ภายหลังนายภูมิธรรมให้สัมภาษณ์ว่า ขณะนี้ยังไม่ต้องพูดถึงระบบไพรมารีโหวต เพราะเรื่องการยืนยันความเป็นสมาชิกก็ยังมีปัญหา เพราะกฎระเบียบและข้อปฏิบัติในขณะนี้ยังไม่ชัดเจน ทำให้เกิดปัญหาในทางปฏิบัติ และหากทำมากเกินไปก็อาจจะผิดกฎหมาย ดังนั้นหัวใจสำคัญคือจำเป็นต้องยกเลิกคำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 53/2560 ให้พรรคการเมืองสามารถทำกิจกรรมได้ และจะต้องปลดล็อกพรรคการเมืองให้มีการปรึกษาหารือให้เป็นไปตามที่กฎหมายกำหนดได้ หากยังไม่พูดถึงเรื่องนี้ ก็เกรงว่าจะมีปัญหาอื่นตามมาได้ เช่น ในเรื่องของการชำระค่าบำรุงพรรคที่ กกต. ต้องชี้แจงให้ชัดเจนเพื่อไม่ให้เกิดปัญหา ทั้งประชาธิปัตย์ เพื่อไทย ชาติไทยพัฒนา เห็นตรงกันว่าเป็นปัญหาที่ยากต่อการปฏิบัติให้ตรงตามข้อกฎหมาย
นายวราวุธ ศิลปอาชา แกนนำพรรคชาติไทยพัฒนา กล่าวเช่นกันว่า มีความเป็นห่วงเช่นเดียวกับหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ในเรื่องการชำระเงิน ว่าหากสมาชิกยังไม่ชำระเงินจะพ้นจากความเป็นสมาชิกหรือไม่ พรรคชาติไทยพัฒนามีสมาชิกแค่ประมาณ 25,000 คน ต่างจากพรรคขนาดใหญ่ที่มีสมาชิกจำนวนสูงถึงหลักล้าน จึงต้องการความชัดเจนจาก กกต.โดยเร็วที่สุด
ด้านนายศุภชัย สมเจริญ กล่าวถึงกรณีที่ คสช.มีแนวโน้มแก้คำสั่ง คสช.ที่ 53/2560 ว่า เป็นการแก้ไขเกี่ยวกับขั้นตอนการปฏิบัติ ซึ่งเกี่ยวข้องในหลายมาตรา อาทิ มาตรา 140, 141, 145 และ 146 ทั้งเรื่องการชำระค่าสมาชิก การหาสมาชิก และการประชุมพรรค รวมถึงการทำให้เกิดความเท่าเทียมระหว่างพรรคการเมือง ส่วนประเด็นที่ยังมีความขัดกัน ไม่ขอให้ความคิดเห็นว่าจะมีการปรับก่อนวันที่ 1 เม.ย. แต่ที่ประชุม คสช.ก็มีแนวโน้มที่ดีว่าจะมีการปรับแก้ไข แต่ต้องรอดูกันว่าทาง คสช.จะมีการปรับแก้ไขหรือไม่ ส่วนตัวมองว่าการยืนยันสมาชิกภาพและการจ่ายค่าสมาชิกเป็นเรื่องภายในของพรรคการเมืองที่จะต้องปฏิบัติตามกฎหมาย และควรมีเอกสารมายืนยันกับทาง กกต. เพื่อให้สามารถตรวจสอบได้หากเกิดปัญหา
สนช.ยื่นตีความ พรป.สส.
ส่วนความคืบหน้าเรื่องการยื่นร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.ให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความ หลังจากนายกรัฐมนตรีสั่งให้ทีมกฎหมายไปทบทวนนั้น นายกิตติศักดิ์ รัตนวราหะ สมาชิก สนช. กล่าวว่า ขณะนี้สนช.ล่าชื่อสมาชิกได้ครบ 25 คนแล้ว เพื่อยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยร่าง พ.ร.ป.การเลือกตั้ง ส.ส. ตนเป็นหนึ่งใน สนช.ที่ร่วมลงชื่อด้วย เพราะอยากให้ศาลตีความให้เกิดความชัดเจนตั้งแต่ตอนนี้ ดีกว่าปล่อยไปจนกฎหมายประกาศบังคับใช้แล้วมีผู้ไปยื่นตีความภายหลัง จะยิ่งยุ่งไปกันใหญ่ อาจไปถึงขั้นที่กฎหมายหรือการเลือกตั้งเป็นโมฆะได้ ขณะนี้ยังอยู่ในขั้นตอนที่สนช.ยื่นตีความได้ แม้จะส่งเรื่องไปให้นายกฯ แล้ว ตราบใดที่นายกฯ ยังไม่นำกฎหมายขึ้นทูลเกล้าฯ ถวาย สนช.ก็มีสิทธิยื่นได้เลย ไม่จำเป็นต้องรอให้นายกฯ ตีกลับ หลังจากที่ได้รายชื่อ สนช.ครบ 25 คนแล้ว จะนำเรื่องแจ้งให้นายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธาน สนช. ยื่นศาลรัฐธรรมนูญต่อไป
"ไม่ใช่การสมคบคิดเพื่อยื้อเลือกตั้ง แต่ต้องการทำเพื่อให้เกิดความชัดเจนในข้อกฎหมาย แม้ก่อนหน้านี้สนช.ยืนกรานว่าจะไม่ส่งร่างกฎหมายฉบับนี้ให้ตีความ แต่เมื่อหลายฝ่ายท้วงติงมา จึงจำเป็นต้องรับฟัง มั่นใจว่าการยื่นให้ศาลวินิจฉัยคงกระทบโรดแมปเลือกตั้งไม่มาก แต่ก็ยังดีกว่าไม่ทำอะไรเลย ยอมโดนต่อว่าตอนนี้ดีกว่า เพราะถึงอย่างไรจะยื่นหรือไม่ยื่นตีความ สนช.ก็โดนทั้งขึ้นและล่อง" นายกิตติศักดิ์กล่าว
มีรายงานว่า ขณะนี้ สนช.ได้รวบรวมรายชื่อสมาชิก สนช.ประมาณ 25-30 คน เพื่อส่งให้ประธานสนช. ในวันที่ 29 มี.ค.นี้ และคาดว่าจะยื่นต่อศาลรัฐธรรมนูญได้ในวันที่ 2 เม.ย. ส่วนใหญ่ผู้ร่วมลงชื่อเป็นสนช.ที่งดออกเสียงและไม่ได้มาประชุมในวันที่ สนช.ลงมติเห็นชอบร่าง พ.ร.ป.ส.ส. ทั้งนี้ ไม่จำเป็นต้องรอให้นายกฯ ตีกลับร่าง พ.ร.บ.เลือกตั้ง ส.ส.มายัง สนช.ก่อน แต่นายพรเพชรจะประสานไปยังนายกฯ ขอให้ชะลอการนำร่าง พ.ร.ป.เลือกตั้ง ส.ส.ขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายไว้ก่อน เพื่อรอศาลรัฐธรรมนูญตีความ โดยเชื่อว่าจะใช้เวลาวินิจฉัยไม่เกิน 2 เดือน
ขณะที่นายชูศักดิ์ ศิรินิล ประธานคณะทำงานฝ่ายกฎหมายพรรคเพื่อไทย กล่าวว่า หาก พล.อ.ประยุทธ์ยื่น พ.ร.ป.เลือกตั้ง ส.ส.ให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย ย่อมแสดงให้เห็นถึงความไม่ชอบมาพากล มีเบื้องหน้าเบื้องหลังของรัฐบาลและ สนช. ส่วนผู้ร่างก็เขียนกฎหมายคลุมเครือ ทำให้มีตำหนิ ทำให้สงสัยได้ว่ามีแผนอะไรหรือ ส่อเจตนาให้เกิดปัญหา ทำให้เกิดความไม่ราบรื่น ซึ่งจะกระทบกับการเลือกตั้งตามโรดแมปอย่างแน่นอน แทนที่จะได้นำกฎหมายขึ้นทูลเกล้าฯ ถวาย ท้ายที่สุดกลับต้องมารอศาลวินิจฉัย และหากวินิจฉัยว่าขัดกับรัฐธรรมนูญ ก็ต้องมาเริ่มนับหนึ่งกันใหม่ ถามว่าประเด็นที่ยื่นศาลเพื่อตีความนั้นเป็นสาระสำคัญถึงขั้นทำให้การเลือกตั้งต้องเป็นโมฆะหรือไม่ จากการศึกษารายละเอียดข้อกฎหมายเห็นว่าไม่ใช่สาระสำคัญ ไม่จำเป็นต้องยื่นศาลเพื่อตีความ
วันเดียวกัน ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งรับพิจารณาวินิจฉัยร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ตามที่สมาชิก สนช. รวม 30 คน ยื่นเรื่องผ่านประธาน สนช. และแจ้งให้ประธาน สนช.ทราบ และพิจารณามอบหมายให้ผู้แทนของสมาชิก สนช.ที่ลงมติเห็นชอบในวาระ 3 รวมทั้งให้นายกิตติ วะสีนนท์ ซึ่งเป็นผู้แทนของฝ่ายผู้เสนอความเห็น ประธานกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ และประธานคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ประกอบรับธรรมนูญว่าด้วยการได้มาซึ่ง ส.ว. พ.ศ..... ตามมาตรา 267 วรรคห้า ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย สนช.จัดทำความเห็นเป็นหนังสือให้ยื่นต่อศาลภายในวันที่ 18 เม.ย.61
กลุ่ม16นัด"สมคิด"หารือ
ยังมีความเคลื่อนไหวทางการเมืองที่น่าสนใจ มีรยงานว่า ในวันอาทิตย์ที่ 1 เม.ย.นี้ นายสุชาติ ตันเจริญ อดีตรองประธานสภาผู้แทนราษฎร และแกนนำกลุ่มบ้านริมน้ำ ได้นัดอดีต ส.ส.ในกลุ่มบ้านริมน้ำทั่วประเทศ และอดีตนักการเมืองในกลุ่ม 6 บางคน มารับประทานอาหารกลางวันที่บ้านริมน้ำ ย่านนนทบุรี ของนายสุชาติ ที่มักใช้เป็นสถานที่นัดพบสมาชิกและอดีตนักการเมืองกลุ่ม 16 อยู่เป็นประจำ เพื่อพูดคุยสถานการณ์ทางการเมือง เบื้องต้นมีอดีต ส.ส.หลายคนจะเดินทางมา อาทิ นายพิกิฏ ศรีชนะ และนายรณฤทธิชัย คานเขต อดีต ส.ส.ยโสธร พรรคเพื่อแผ่นดิน ขณะเดียวกันยังได้เชิญนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกฯ ที่มีความสนิทสนมกับนายสุชาติ และมีกระแสข่าวว่าจะนั่งเป็นหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ มารับประทานอาหารในครั้งนี้ด้วย
ขณะเดียวกัน ในส่วนของความคืบหน้าการก่อตั้งพรรคพลังประชารัฐ ที่นายชวน ชูจันทร์ ประธานวิสาหกิจชุมชนท่องเที่ยวเชิงเกษตรตลาดน้ำคลองลัดมะยม ไปจดจัดตั้งพรรคกับ กกต.นั้น มีรายงานว่า ในช่วงที่ผ่านมา มีระดับผู้ใหญ่ในรัฐบาลได้ติดต่อสอบถามมายังผู้ก่อตั้งพรรคประชารัฐเป็นระยะๆ ว่าการก่อตั้งพรรคและรวบรวมอดีต ส.ส.มีความคืบหน้าไปถึงไหนแล้ว ท่ามกลางกระแสข่าวว่าจะมีการเปิดตัว พล.อ.ประยุทธ์ ในนามประธานที่ปรึกษาพรรค เดือน มิ.ย.นี้
ที่กองบัญชาการกองทัพบก พล.อ.เฉลิมชัย สิทธิสาท ผบ.ทบ. เป็นประธานมอบเกียรติบัตรชุดปฏิบัติการกิจการพลเรือนทหารบก (ชป.กร.) ซึ่งชุดดังกล่าวจัดตั้งเพื่อสร้างการรับรู้ความเข้าใจกับประชาชน และประชาสัมพันธ์ผลการปฏิบัติของรัฐบาล คสช.และกองทัพบก เพื่อพัฒนาศักยภาพของหมวดดุริยางค์ของมณฑลทหารบก ให้มีขีดความสามารถในการปฏิบัติการจิตวิทยา และปลูกฝังอุดมการณ์ ขณะนี้อยู่ในขั้นตอนการเตรียมพร้อม เพื่อให้เกิดการชำนาญก่อนการปฏิบัติงานในพื้นที่จริงในช่วงเดือนเม.ย.นี้
พล.อ.เฉลิมชัยกล่าวตอนหนึ่งว่า กองทัพบก กอ.รมน. เป็นหน่วยงานที่ต้องรับผิดชอบ ในการสร้างความมั่นคง สร้างความเป็นปึกแผ่นให้กับพี่น้องประชาชน สร้างความรักสามัคคีให้กับคนในชาติ จึงต้องนำข้อมูลที่ถูกต้องมาให้ประชาชนรับทราบ ปัญหาภายในประเทศเราค่อนข้างมาก ทั้งความขัดแย้งของคนในชาติ ความเดือดร้อนของพี่น้องประชาชน เทคโนโลยีการสื่อสารทำให้การปลุกระดมปลุกปั่นเกิดขึ้นได้ง่าย ตอนนี้ปี่กลองเลือกตั้งก็กำลังจะเริ่มขึ้น เราก็ต้องทำหน้าที่ในการดูแลรักษาความสงบฯ ให้เกิดขึ้น คราวหน้าใครจะมาเป็นรัฐบาล กองทัพก็เหมือนเดิมในการรักษาความมั่นคงให้เกิดขึ้น เมื่อลงพื้นที่เราต้องไม่เป็นเครื่องมือของพรรคการเมืองใดๆ ต้องดูให้ดี ขอให้นำมาสู่จุดมุ่งหมายเดียวกัน คือสร้างความมั่นคงแก่บ้านเมือง
พล.อ.เฉลิมชัยกล่าวถึงกรณีกลุ่มคนอยากเลือกตั้งเคลื่อนขบวนชุมนุมมาหน้า บก.ทบ.ช่วงที่ผ่านมาว่า กลุ่มดังกล่าวมีการชุมนุมมาอย่างต่อเนื่องในทุกสัปดาห์ เราก็เข้าใจดีว่าเงื่อนไขที่เรียกร้องให้กองทัพแยกออกมาจาก คสช. แต่ความต้องการจริงๆ คือการเคลื่อนย้ายมวลชนไปตามสถานที่ต่างๆ สิ่งที่คงอยู่ก็คือความผิดตามกฎหมาย เป็นความผิดที่ซ้ำแล้วซ้ำอีก ต้องดำเนินการไป และได้ให้หน่วยงานความมั่นคงตรวจสอบว่ามีกลุ่มการเมืองหนุนหลังการเคลื่อนไหวหรือไม่ รวมถึงการสนับสนุนเส้นทางการเงิน ข้อเรียกร้องก็เลื่อนลอย และไม่มีเงื่อนไขอะไร เพียงแต่ต้องการเคลื่อนขบวน ซึ่งปัญหาก็คือความเดือดร้อนของประชาชน และจะกลายเป็นน้ำผึ้งหยดเดียว ซึ่งเราก็ระมัดระวัง ฝ่ายความมั่นคงพยายามยืดหยุ่นในทุกเรื่องเพื่อไม่ให้เกิดผลเสียหายต่อส่วนรวม.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |