สธ.ระบุผู้ติดเชื้อโควิด-19 เพิ่มขึ้น 35 รายจากกลุ่มสนามมวย-ผับ 29 ราย รายใหม่ 6 รายมาจากกัมพูชา-ทำงานใกล้ชิดต่างชาติ ยอดรวมในไทย 212 มีผู้เข้าเกณฑ์ 7,546 ราย ยอมรับหากสถานการณ์ยังเป็นเช่นนี้ต่อไปการระบาดจะเป็นวงกว้างจนไม่สามารถควบคุมได้ “นายกฯ” มอบนโยบายศูนย์โควิด-19 รับมือหากแพร่ระบาดระยะ 3 ลั่นพร้อมปิดเมืองหากรุนแรงเทียบอู่ฮั่น เตรียมยาเฟวิลาเวียร์-รพ.ทหาร-โรงแรมบางแห่ง เอาแล้ว! ตำรวจติดตาม รมว.คลังติดเชื้อโควิด "อุตตม" โร่ตรวจทันที กักตัว 14 วัน เผย 17 มี.ค.ร่วมประชุม ครม.กับนายกฯ ด้วย
เมื่อวันพุธที่ 18 มีนาคม นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) แถลงสถานการณ์โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ว่า ในวันนี้ทั่วโลกมีผู้ติดเชื้อใน 161 ประเทศ 2 เขตปกครองพิเศษ และ 1 เรือสำราญ พบผู้ป่วยติดเชื้อ 194,584 ราย เป็นผู้ป่วยรายใหม่เพิ่มขึ้น 15,000 คน ยอดรวมผู้เสียชีวิต 7,894 ราย สำหรับอิตาลี อิหร่าน สเปน ฝรั่งเศส สหรัฐอเมริกา พบผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นมากกว่า 1,000 คนต่อวัน
นพ.สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า วันนี้มีผู้ป่วยติดเชื้อเพิ่มขึ้น 35 ราย ยอดรวมสะสม 212 ราย มีผู้เข้าเกณฑ์ 7,546 ราย เพิ่มขึ้น 501 ราย ผู้ป่วยรายใหม่ยังคงเป็นสองกลุ่มเดิมมีความสัมพันธ์กับสถานที่ 29 ราย ได้แก่ สนามมวย 13 ราย สถานบันเทิงย่านทองหล่อ 4 ราย สัมผัสผู้ป่วยที่มีรายงานแล้ว 12 ราย กลุ่มที่ 2 เป็นผู้ป่วยรายใหม่ จำนวน 6 ราย ได้แก่ ผู้ที่เดินทางกลับจากกัมพูชา 1 ราย และเป็นผู้ที่ทำงานใกล้ชิดกับคนต่างชาติ 4 ราย ประกอบด้วยพนักงานต้อนรับ บริกร และนิติบุคคล
ทั้งนี้ สรุปยอดผู้ป่วยรักษา 42 ราย ส่วนผู้ป่วยที่มีอาการหนักมีจำนวน 3 ราย 1.ชาวไทยอายุ 49 ปี เริ่มป่วยตั้งแต่ 8 มี.ค. ตรวจพบว่าเป็นโรคปอดอักเสบ การทำงานของไตผิดปกติ อยู่ในหอผู้ป่วยวิกฤติ ที่โรงพยาบาลในจังหวัดสุราษฎร์ธานี 2.เป็นชายชาวเบลเยียม อายุ 67 ปี เดินทางมาจากประเทศเบลเยียม ตรวจพบว่าปอดอักเสบ และมีภาวะวิกฤติระบบทางเดินหายใจเฉียบพลัน รักษาอยู่ในโรงพยาบาลในจังหวัดเพชรบูรณ์ 3.เป็นรายเดิมที่สถาบันบำราศนราดูร ยังต้องเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิด
นพ.สุวรรณชัยกล่าวว่า สำหรับกลุ่มที่เดินทางกลับจากประเทศอิตาลี ที่ฐานทัพเรือสัตหีบ จ.ชลบุรี 83 คน มี 6 คน รับตัวไว้ที่โรงพยาบาล ทั้งหมดไม่มีไข้ ผลการตรวจทางห้องปฏิบัติการทุกคนไม่พบเชื้อ ยังต้องเฝ้าระวังสังเกตอาการจนครบ 14 วัน โดยในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมามีรายงานผู้ป่วยเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว เป็นผลมาจากการคัดกรองครอบคลุมไปยังกลุ่มคนและสถานที่ที่คาดว่าเป็นจุดเริ่มต้นของการระบาด สอดคล้องกับรายงานการสอบสวนโรคที่พบว่าผู้ป่วยรายใหม่ที่พบมีประวัติเสี่ยง ไม่ให้ความร่วมมือปฏิบัติตามคำแนะนำของ สธ.ยังคงเดินทางไปพื้นที่เสี่ยง ไปในสถานที่ที่มีคนแออัด สังสรรค์ ไม่ลดกิจกรรมทางสังคม ไม่เว้นระยะห่างระหว่างบุคคล ไม่กักกันตัวเองอย่างเคร่งครัด เมื่อป่วยทำให้นำโรคไปติดคนใกล้ชิดในครอบครัวเพื่อนสนิท
"ที่สำคัญโรคนี้มีความรุนแรงในกลุ่มผู้สูงอายุ เด็กเล็ก ผู้มีโรคประจำตัว หากสถานการณ์ยังเป็นเช่นนี้ต่อไป การระบาดของโรคในประเทศจะเป็นวงกว้าง จนไม่สามารถควบคุมได้ ขอให้ทุกคนต้องร่วมมือร่วมใจกันปฏิบัติตามคำแนะนำของกระทรวงสาธารณสุขอย่างเคร่งครัด"
ทั้งนี้ ขอให้ผู้ที่เข้าไปในสนามมวยลุมพินีและสนามมวยราชดำเนิน ตั้งแต่วันที่ 6-8 มี.ค.63 รวมทั้งผู้ที่เข้าไปในสถานบันเทิง ร้านอาหารยามค่ำคืน ในพื้นที่กรุงเทพฯ ระหว่างวันที่ 9-10 มี.ค.63 ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่ สธ.พบผู้ป่วยยืนยันในพื้นที่ดังกล่าวสังเกตอาการตนเองเป็นเวลา 14 วัน หากมีไข้ ร่วมกับอาการไอ เจ็บคอ น้ำมูก หายใจลำบาก อย่างใดอย่างหนึ่ง ให้ไปรับการตรวจรักษาที่สถานบริการสาธารณสุขใกล้บ้านทุกสังกัดได้ฟรี ส่วนสถานการณ์ประเทศมาเลเซียผู้ป่วยเพิ่มขึ้นจำนวนมาก โดยมีคนไทยในภาคใต้เดินทางไปร่วมกิจกรรมทางศาสนา ติดตามได้แล้ว 89 ราย พบว่ามีผู้ป่วย 11 ราย ได้ตรวจเรียบร้อยแล้วมีผู้ติดเชื้อจำนวน 2 ราย
ย้ำตรวจโรคไม่เสียค่าใช้จ่าย
ขณะที่ นพ.สุขุม กาญจนพิมาย ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ได้ปล่อยคลิปวิดีโอขนาดสั้น แจ้งสิทธิ์ให้ประชาชนรับทราบว่าหากเข้าไปตรวจโรคไวรัสโควิด-19 และได้รับการยืนยันผลตรวจจากห้องแล็บของโรงพยาบาลรัฐบาลหรือเอกชน ว่าติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ทุกท่านไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายแต่อย่างใด แต่หากพบว่ามีโรงพยาบาลใดเก็บค่าใช้จ่ายจากการตรวจโรคดังกล่าวหรือพบโรงพยาบาลใดเก็บค่าใช้จ่ายหรือแพงเกินจริง รวมทั้งรักษาไม่ได้มาตรฐาน สามารถโทร.มาร้องเรียนเอาผิดและคืนสิทธิ์ได้ที่โทร. 1669 สายด่วนฉุกเฉิน หรือแจ้งเรื่องมาที่กระทรวงสาธารณสุข เข้าไปจัดการได้ทันที
ด้านนายสาธิต ปิตุเตชะ รมช.สาธารณสุข เปิดเผยว่า กระทรวงสาธารณสุขได้มีจัดทำแอปพลิเคชัน Covid Tracker เพื่อให้ประชาชนสามารถดูยอดผู้ป่วยโรคโควิด-19 โดนอัพเดตเรียลไทม์ เพื่อแสดงเจตจำนงถึงความโปร่งใส ไม่มีการปกปิดยอดผู้ป่วย ในส่วนข้อมูลความรู้จากแพลตฟอร์มกระทรวงสาธารณสุข เรื่องต่างๆในอนาคตทั้งเรื่องบิ๊กคลีนนิงเดย์ สามารถติดตามได้ทาง ไทยรู้สู้โควิด ในแพลตฟอร์มทั้งเฟซบุ๊กและไลน์ นอกจากนี้ สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.) ได้จัดทำแผนการแพทย์ฉุกเฉินร่วมกับกู้ภัยกว่าหมื่นคน พร้อมเคลื่อนย้ายผู้ป่วยไปยังหน่วยบริการทั่วประเทศ โดยของบกลางจากนายกรัฐมนตรี
ที่ตึกสันติไมตรี ทำเนียบรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม พร้อมด้วยนายธีรภัทร ประยูรสิทธิ ปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี ได้ลงมาตรวจเยี่ยมและให้นโยบายเจ้าหน้าที่ประจำศูนย์บริการสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ทำเนียบรัฐบาล โดยนายกฯให้สัมภาษณ์ภายหลังตรวจเยี่ยมว่า ตนได้มาเยี่ยมศูนย์และให้แนวทางปฏิบัติการทำงานแต่ละวัน ว่าควรจะต้องเป็นอย่างไร และผลการประชุมแต่ละวัน ควรจะนำอะไรบ้างมาแถลงให้ประชาชนได้รับทราบ ทั้งนี้ เพื่อให้เกิดความต่อเนื่อง รวมทั้งให้ข่าวประชาสัมพันธ์ ไม่เช่นนั้นจะจัดหมวดหมู่ไม่ได้ ก็จะไปคนละทางสองทาง จนทำให้เกิดความสับสน
“วันนี้เรากำลังทำงานในระดับที่ 3 ซึ่งคำว่าระยะที่ 3 กับระดับ 3 นั้นแตกต่างกัน ระยะที่ 3 นั้นเป็นคำที่องค์การอนามัยโลก (WHO) เป็นผู้กำหนดเป็นการแพร่กระจายระหว่างคนที่ 2 คนที่ 3 และต่อๆ ไป แต่วันนี้ประเทศไทยเรายังอยู่ในขั้นตอนที่สามารถควบคุมได้พอสมควร แต่เมื่อใดที่ขั้นตอนถึงตรงนั้น ก็ต้องไปถึงระยะที่ 3 อย่างแน่นอน วันนี้ผมจึงได้ให้แนวทางเตรียมมาตรการในระดับที่ 4 สำหรับเตรียมการรองรับการยกระดับ หากเป็นระยะที่ 3 ส่วนมาตรการระดับที่ 3 ได้ออกเป็นมาตรการแล้วเมื่อวันที่ 17 มี.ค. ซึ่งก็ต้องรอดูว่าจะมีผลกระทบอะไรเกิดขึ้นบ้าง และก็ต้องไปย่อยดูว่าเราจะดูแลคนที่ได้รับผลกระทบเหล่านี้อย่างไร"
พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า หลายอย่างเพิ่งเริ่มดำเนินการ แต่หลายอย่างได้ดำเนินการไปแล้ว มติคณะรัฐมนตรี (ครม.) ก็ออกไปแล้วหลายส่วน ยอมรับว่ายุ่งยากในเรื่องของการเข้าถึงในการบริการเพราะคนเยอะมาก วันนี้จึงได้สั่งการไปแล้วทุกเรื่องว่าขอให้ใช้ระบบออนไลน์บ้างหรือไม่ ซึ่งก็ต้องให้เวลาฝ่ายปฏิบัติบ้าง สิ่งสำคัญวันนี้เรากำลังเตรียมการระยะที่ 3 ซึ่งมาตรการระดับที่ 4 ที่ได้สั่งการในวันนี้ให้มีการเตรียมการในเรื่องของสถานที่ ทั้งเตียง สถานที่ปัจจุบัน และสถานที่ต่อไปที่อาจจะใช้คือ โรงพยาบาลทหาร โรงพยาบาลเอกชน และบางโรงพยาบาล แม้กระทั่งโรงแรมบางแห่งก็ต้องใช้เป็นสถานที่กักตัว (Quarantine) เพิ่มเติมขึ้น เราต้องเก็บข้อมูลและเตรียมการไว้ก่อนล่วงหน้าตั้งแต่วันนี้ เพราะเมื่อถึงเวลายกระดับเป็นการแพร่ระบาดในระยะที่ 3 มันจะยุ่งกันใหญ่ ถึงขั้นปิดประเทศกันในขณะนั้น
ถ้ารุนแรงก็ต้องปิดเมือง
“คำว่าปิดประเทศ หรือปิดพื้นที่ หรือปิดจังหวัด แบบนั้นคือการปิดซีล นั่นคือคำว่าปิด สิ่งที่ทำในปัจจุบันไม่ได้เรียกว่าปิด ผมเรียกว่าเป็นมาตรการเข้มข้น เป็นมาตการสกัดกั้นคนเข้า-ออก มีการตรวจตราท่าเรือต่างๆ เป็นมาตรการระดับที่ 3 อยู่แล้ว บางครั้งก็อาจจะใช้คำพูดเลยไปนิด และถึงแม้ผู้ว่าราชการจังหวัดจะมีอำนาจอะไรก็ตาม แต่อำนาจเพิ่งให้ไปเมื่อวันที่ 17 มี.ค. แต่ก็ยังต้องรายงานมายังศูนย์ฯ ก่อน เรื่องนี้ผมไม่ว่ากันว่าใครผิดใครถูก ถือว่าวันนี้เขาได้ทำมาตรการที่เข้มงวดขึ้นมาแล้วก็ถือเป็นเรื่องดี เป็นตัวอย่างให้จังหวัดอื่นๆ แต่ถ้าใช้คำว่าปิดประเทศมันวุ่นวายไปหมด หรือปิดจังหวัด ถ้าปิดจังหวัดจริงคนก็เข้า-ออกไม่ได้ รถยนต์ต่างๆ ก็เข้าไม่ได้ ก็จะเหมือนกับอู่ฮั่นที่เคยทำ ที่ปิดเมือง เราคงยังไม่ต้องการขนาดนั้น ทั้งคนทั้งรถ เครื่องบินเข้า-ออกไม่ได้ แล้วจะอยู่กันไหวหรือ ถ้าสถานการณ์ยังไม่รุนแรงขนาดนั้น แต่ถ้าถึงขนาดนั้นจริง ผมก็ต้องปิดอย่างที่ว่า แล้วอาหารการกินจะอยู่กินกันอย่างไร ก็ต้องเตรียมมาตรการกันอีก ขอให้เข้าใจตรงนี้ด้วย ไม่เช่นนั้นก็จะไปคนละทางสองทาง”
พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า ในส่วนความขัดแย้งที่มีกระแสข่าวออกมา เท่าที่เช็กดูก็ยังไม่เห็นมี เพียงแต่มีคนพูดตรงนั้น ตรงนี้ออกมาตามโซเชียลฯ บ้าง ตนก็เรียกทุกคนมาคุย ถามว่ามีปัญหากันหรือไม่ ก็ยังไม่เห็นใครบอกมีปัญหา และไม่ใช่ว่าเขาจะไม่กล้าพูด เพราะตนเปิดโอกาสให้เข้าหาได้ทุกคน
“ผมเองก็เหนื่อยเหมือนกันนะ ที่คนทุกคนเข้าหาผมได้ในทุกๆ ช่องทาง อีกทั้งผมไม่ใช่ไปเสพแต่โซเชียลอย่างเดียว ไม่รู้ว่าใครเอาไปเขียนในโซเชียลก็มีคนคัดกรองมาให้ผม แต่ละวันผมก็มีงานอื่นอยู่ ไม่ใช่แค่โควิด-19 เพียงอย่างเดียว”
เมื่อถามว่า วันนี้เริ่มวันแรกของมาตรการปิดพื้นที่เสี่ยงใน กทม.และปริมณฑลเป็นการชั่วคราว 14 วัน เพื่อป้องกันการแพร่ระบาด ได้รับความร่วมมือดีหรือไม่ นายกฯ กล่าวว่า กำลังติดตามอยู่ ก็โอเค ต้องร่วมมือ เพราะเป็นประกาศออกไปแล้ว โดยมีคณะกรรมการควบคุมในระดับจังหวัดและ กทม.อยู่แล้ว ตรวจหมด และได้ตั้งคณะกรรมการระดับอำเภอไปแล้วประชาชนเข้าไปแจ้งได้ ส่วนกลุ่มแรงงานต่างด้าวมารวมตัวกันเพื่อขอต่อใบอนุญาต ซึ่งจะหมดอายุในวันที่ 31 มี.ค. เรามีระบบบริการผ่านทางออนไลน์ที่กำลังดำเนินการและมีมาตรการอยู่ ขณะนี้ได้มีการขยายเวลาให้แล้ว
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในการมอบนโยบายของนายกรัฐมนตรี ต่อเจ้าหน้าที่ศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 ได้สั่งเตรียมพร้อมรับมือ หากสถานการณ์การแพร่ระบาดลุกลามไปสู่สถานการณ์ที่รุนแรงเข้าสู่ระยะที่ 3 ให้เตรียมยาต้านไวรัสโควิด-19 เฟวิลาเวียร์ ไว้ให้พร้อมรองรับกับจำนวนผู้ป่วยในระยะ 3 และให้จัดตั้งโรงพยาบาลเฉพาะโรคในทุกภูมิภาคทั่วประเทศ โดยให้กระทรวงสาธารณสุขและกองทัพ รวมถึงภาคเอกชน ปรับโรงพยาบาลขนาดกลาง ให้เป็นโรงพยาบาลเฉพาะโรคให้เร็วที่สุด โดยวันที่ 19 มี.ค.กองทัพและกระทรวงสาธารณสุขจะประชุมซักซ้อมแผนเผชิญเหตุเพื่อให้พร้อมรองรับกับการแพร่ระบาดโควิด-19 ภายในกระทรวงกลาโหม และในวันที่ 23 มี.ค. นายกฯ จะเป็นประธานประชุมติดตามความคืบหน้าของสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19 ที่ตึกสันติไมตรี จากเดิมที่จัดที่ตึกภักดีบดินทร์ ทั้งนี้ เพื่อปรับรูปแบบห้องประชุมให้ได้มาตรฐานตามประกาศของกระทรวงสาธารณสุข คือจะต้องนั่งห่างกัน 1 เมตรขึ้นไป
นางนฤมล ภิญโญสินวัฒน์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ตามที่รัฐบาลมีมาตรการเฝ้าระวังและป้องกันการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 โดยเลื่อนวันหยุดสงกรานต์หรือปิดบางสถานที่ เพื่องดการเดินทางโดยไม่จำเป็น เพราะจะเป็นพาหะในการแพร่เชื้อในกลุ่มคนจำนวนมาก ซึ่งนายกฯ มีความห่วงใยและเห็นใจพี่น้องประชาชน โดยขอความร่วมมือประชาชนให้ช่วยงดเดินทางโดยไม่จำเป็น เพราะอาจจะเป็นพาหะในการแพร่เชื้อโควิด-19 ไปพื้นที่อื่นๆ พร้อมทั้งขอผู้ใช้แรงงานให้ช่วยอดทนไปอีกระยะหนึ่ง หากมีอาการเป็นไข้ ขอให้ไปพบแพทย์ทันที หากเดินทางจากพื้นที่เสี่ยงขอให้กักตนเอง 14 วัน ทั้งนี้ ทุกพื้นที่ให้ยึดถือแนวปฏิบัติของรัฐบาลผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กระทรวงมหาดไทย โดยผู้ว่าราชการจังหวัด และคณะกรรมการสาธารณะสุขอย่างเคร่งครัด นายกฯ ย้ำว่า “เราจะผ่านพ้นวิกฤตินี้ไปได้ โดยรัฐบาลจะพยายามดูแลประชาชน และพี่น้องผู้ใช้แรงงานที่ได้รับความเดือดร้อนจากการขาดรายได้ให้ได้มากที่สุด"
ตร.ติดตาม"อุตตม"ติดเชื้อ
นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงสถานการณ์ขยายตัวในการประชุม ครม.แบบเวิร์กแอดโฮม มีความเป็นไปได้ในการประชุม ครม.ของไทยหรือไม่ ว่ารอนายกรัฐมนตรีสั่งการ หากมีความจำเป็นถึงขนาดนั้นก็อาจจะทำได้ การทำไม่ยาก ทั้งโดยทฤษฎีและปฏิบัติ หรือโดยข้อกฎหมายอยู่แล้ว ไม่มีปัญหา และ ครม.ก็อาจจะง่ายกว่าคนอื่น ซึ่งนายกฯ ได้มีข้อสั่งการด้วยว่า ให้ลดจำนวนและจำกัดเจ้าหน้าที่ผู้เข้าร่วมประชุม ครม. เพื่อไม่ให้เกิดความแออัด และจัดให้นั่งห่างกัน 1-1.5 เมตร
เมื่อถามว่า รัฐมนตรี 2 คนที่อยู่ระหว่างการกักตัวต้องไปตรวจเชื้อซ้ำอีกรอบก่อนหรือไม่ นายวิษณุกล่าวว่า ก็ต้องแล้วแต่รัฐมนตรีทั้ง 2 คน
มีรายงานข่าวจากกระทรวงการคลังเปิดเผยว่า ขณะนี้เจ้าหน้าที่ติดตามนายอุตตม สาวนายน รมว.การคลัง ซึ่งนั่งรถตู้คันเดียวกับ รมว.การคลัง มีอาการเข้าข่ายกลุ่มเสี่ยงได้รับเชื้อไวรัสโควิด-19 โดยเริ่มมีอาการป่วย อาเจียน และหายใจติดขัด ตั้งแต่วันที่ 11 มี.ค.2563 และได้เข้ารับการตรวจแล้ว ซึ่งผลการตรวจพบว่า เป็นผู้ติดเชื้อโควิด-19 โดยขณะนี้อยู่ระหว่างรอให้กระทรวงสาธารณสุขประกาศอย่างเป็นทางการ
ขณะที่ช่วงบ่ายวันที่ 18 มี.ค. นายอุตตมได้เดินทางไปตรวจคัดกรองเชื้อโควิด-19 เรียบร้อยแล้ว อยู่ระหว่างการรอผล โดยระหว่างนี้ รมว.การคลังจะทำการกักตัวเองตามเกณฑ์เป็นเวลา 14 วัน
ทั้งนี้ เบื้องต้นในคืนวันที่ 18 มี.ค.2563 กระทรวงการคลังได้ทำการฉีดพ่นยาฆ่าเชื้อที่ชั้น 3-4 อาคารสำนักงานปลัดกระทรวงการคลัง ซึ่งเป็นชั้นห้องทำงานของ รมว.การคลัง รมช.การคลัง รวมทั้งคณะทำงานรัฐมนตรี และห้องทำงานของปลัดกระทรวงการคลัง
นอกจากนี้ ยังมีการเลื่อนการประชุมคณะกรรมการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน ครั้งที่ 1/2563 ของสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) ในช่วงเช้าวันที่ 19 มี.ค. ซึ่งมีนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน พร้อมนายอุตตมออกไปอย่างไม่มีกำหนด ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 17 มี.ค.ที่ผ่านมา นายอุตตมได้เข้าร่วมประชุม ครม.กับ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีด้วย
นายธนกร วังบุญคงชนะ เลขานุการ รมว.การคลัง เปิดเผยว่า เพิ่งทราบว่าตำรวจในรถนำนายอุตตมได้รับเชื้อไวรัสโควิด-19 จากการตรวจสอบเบื้องต้น ตำรวจคนดังกล่าวมาทำงานเมื่อวันพุธที่ 11 มี.ค.วันเดียว แล้วหยุดไป เพิ่งทราบตอนหลังว่าได้รับเชื้อ จึงได้ไปรักษาตัวที่โรงพยาบาลตำรวจ ส่วนนายอุตตมก็เพิ่งทราบ จึงได้ไปตรวจ อยู่ระหว่างการรอผล และได้หยุดปฏิบัติหน้าที่ทันที 14 วัน โดยจะทำงานที่บ้านผ่านทางวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ ทางนายประสงค์ พูนธเนศ ปลัดกระทรวงการคลังก็ได้ดำเนินการตามขั้นตอนของกระทรวงสาธารณสุข โดยได้ประสานงานไปยัง สธ.ให้เข้ามาตรวจสอบตามระเบียบ พร้อมทั้งสั่งการให้เจ้าหน้าที่พ่นยาฆ่าเชื้อทุกพื้นที่ ยืนยันว่าตำรวจคนดังกล่าวไม่ได้นั้งในรถตู้คันเดียวกับนายอุตตม แต่เป็นชุดติดตามรักษาความปลอดภัยนั่งในรถนำ
ด้านนายอุตตม เปิดเผยถึงเรื่องนี้ว่า ตนเพิ่งทราบ จึงได้ไปตรวจคัดกรองเชื้อโควิด-19 เรียบร้อยแล้ว อยู่ระหว่างการรอผล ซึ่งระหว่างนี้จะทำการกักตัวเองตามเกณฑ์เป็นเวลา 14 วัน ตามมาตรฐานของกระทรวงสาธารณสุข และขณะนี้ตนยังปกติดี โดยจะทำงานจากที่บ้าน ยืนยันไม่ได้ใกล้ชิดตำรวจคนดังกล่าว ไม่ได้นั่งรถตู้คันเดียวกัน เพราะตำรวจคนดังกล่าวเป็นรถนำชุดติดตามรักษาความปลอดภัย ส่วนที่กระทรวงการคลังขณะนี้ตนได้สั่งปลัดกระทรวงการคลัง ประสานกระทรวงสาธารณสุขเข้าทำความสะอาดครั้งใหญ่แล้ว
นางนฤมล ภิญโญสินวัฒน์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พล.อ.ประยุทธ์ได้รับทราบเรื่องดังกล่าวแล้ว
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายอุตตมได้มาร่วมการประชุมศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 เมื่อวันที่ 16 มี.ค. และเข้าร่วมการประชุม ครม.เมื่อวันที่ 17 มี.ค. ทั้งนี้ ในส่วนของผู้ที่เข้าร่วมการประชุม ครม. ได้ปฏิบัติตัวตามมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 โดยสวมหน้ากากอนามัย และนั่งเว้นระยะห่างอย่างน้อย 1 เมตร และขณะนี้ยังไม่มีการแจ้งให้ตรวจการติดเชื้อไวรัสโควิด-19 แต่อย่างใด
ที่ศูนย์ข้อมูลโควิด-19 ภายใต้ศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 ทำเนียบรัฐบาล นายเทวัญ ลิปตพัลลภ รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงว่า มาตรการขณะนี้ไม่ใช่การปิดเมืองหรือปิดประเทศ แต่เป็นมาตรการสกัดกั้นเชื้อเข้าประเทศให้ยากขึ้น ชะลอการระบาดในประเทศให้เข้มข้นขึ้น มีการคัดกรองมาตรการบุคคลที่จะกลับเข้าประเทศไทยหรือต่างชาติที่เข้าประเทศไทย มีมาตรการที่เข้มข้น มีการระมัดระวังป้องกันไม่ให้เชื้อโรคจากภายนอกให้ดีที่สุด การที่มีมาตรการต่างๆ เข้ามาย่อมมีผลกระทบต่อประชาชนแน่นอน ตรงนี้อยากขอโทษประชาชนอย่างมากที่ความสะดวกความสบายที่เคยได้รับอาจได้รับน้อยลง แต่เป็นระยะหนึ่งเท่านั้น จนกว่าสถานการณ์จะดีขึ้น และกลับมาใช้ชีวิตตามปกติ ส่วนการเดินทางต่างๆ ยังใช้ชีวิตปกติเช่นเดิม
กทม.แจงยิบปิดพื้นที่เสี่ยง
พล.ต.ท.โสภณ พิสุทธิวงษ์ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า ประเภทของสถานที่ที่ปิดชั่วคราวใน กทม.จะมี 8 ประเภท ได้แก่ 1.สถานประกอบกิจการอาบอบนวด 2.สถานประกอบกิจการอบไอน้ำ อบสมุนไพร เซาน่า 3.โรงมหรสพ โรงภาพยนตร์ โรงละคร 4.ฟิตเนส 5.สถานประกอบกิจการคล้ายสถานบริการ 6.สนามมวย 7.สนามกีฬา และ 8.สนามม้า สำหรับประเภทที่ 5 นั้น สถานบริการ ในส่วนของ กทม.ที่ขึ้นทะเบียนไว้ มี 1,712 แห่งใน 50 เขต โดยสถานบริการที่ต้องปิดและหลายคนยังสงสัยว่ารูปแบบเป็นอย่างไรนั้น หมายถึงที่มีการจำหน่ายอาหาร สุรา มีการแสดงดนตรี เต้นรำ การแสดงโชว์ คาราโอเกะ หรือที่เรียกว่านั่งดริงก์ สถานที่เหล่านี้ปิด แต่ร้านอาหารทั่วๆ ไปไม่ได้ปิด ยังขายได้ตามปกติ ส่วนสนามกีฬานั้น หากเป็นที่โล่งแจ้ง คนวิ่งออกกำลังกายไม่เบียดเสียดกัน ยังดำเนินการได้ แต่หากเป็นสนามกีฬาที่ปิด ซึ่งมีโอกาสที่ผู้ออกกำลังกายจะใกล้ชิดและสัมผัสสารคัดหลั่ง เช่น สนามฟุตซอล สนามแบดมินตัน โรงยิม จะปิดชั่วคราว 14 วัน และระหว่างที่ปิดจะมีเจ้าหน้าที่เขตไปตรวจสอบ ขอความร่วมมือผู้ประกอบการให้มีการทำความสะอาด ฆ่าเชื้อโรคให้ถูกสุขอนามัย ส่วนร้านอาหารในถนนข้าวสาร มีการจัดโต๊ะในระยะห่างกัน ไม่เข้าเกณฑ์ที่จะต้องปิด
พล.ต.ท.โสภณกล่าวว่า ผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากการปิดชั่วคราวคือ แรงงานเกิดความเดือดร้อน ทาง กทม.ได้มีมาตรการช่วยเหลือประชาชน คือแผงค้ากว่า 2.9 หมื่นแผงใน 12 ตลาดของ กทม. จะลดค่าเช่าแผงให้ผู้ประกอบการ 25% เป็นเวลา 4 เดือน ตั้งแต่ เม.ย.-ก.ค. นอกจากนี้ ในส่วนของสถานธนานุบาล 21 แห่ง จะยืดเวลาหลุดจำนำเดิม 4 เดือน 30 วัน ออกไปเป็น 8 เดือน พร้อมกับลดดอกเบี้ย เชื่อว่ามาตรการนี้จะบรรเทาความเดือดร้อนให้แรงงานและผู้มีรายได้น้อย และจะพยายามหามาตรการเพิ่มขึ้นต่อๆ ไป
"เราไม่มีความคิดที่จะปิด กทม.หรือปิดเมืองเลย ทาง กทม.มีแนวคิดแค่จะเพิ่มความเข้มงวดไม่ให้มีการแพร่ระบาด และเข้มงวดการรักษาความสะอาด ทำให้ประชาชนมีความเข้าใจจะป้องกันตัวเอง ไม่เอาโรคไปติดคนอื่น" พล.ต.ท.โสภณกล่าว
นายเทวัญกล่าวด้วยว่า ในสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ทางสำนักงานคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) จะเชิญผู้ประกอบการที่เกี่ยวกับการจัดส่งอาหารเดลิเวอรี อาทิ ไลน์แมน (LineMan), แกร็บ (Grab) มาหารือเพื่อขอความร่วมมือ และให้ความรู้กับผู้จัดส่งในการระมัดระวังและป้องกัน รวมทั้งการรักษาความสะอาดกับผู้รับปลายทาง
นายวราวุธ ศิลปอาชา รมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เปิดเผยว่า ได้ประสานงานกับทางองค์การสวนสัตว์ในการขอปิดสวนสัตว์ทุกแห่ง 14 วัน ตามแนวทางของที่ประชุม ครม.เมื่อวันที่ 17 มี.ค.ที่ผ่านมา
นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รมว.ยุติธรรม กล่าวว่า ในส่วนของกระทรวงยุติธรรม ได้หารือกับกรมราชทัณฑ์ กรมพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชน และกรมคุมประพฤติ ให้ญาติงดเข้าเยี่ยมผู้ต้องขังในเรือนจำเป็นเวลา 14 วัน ตั้งแต่วันที่ 18-31 มี.ค.นี้
พ.อ.หญิงศิริจันทร์ งาทอง รองโฆษกกองทัพบก เปิดเผยว่า พล.อ.อภิรัชต์ คงสมพงษ์ ผบ.ทบ. ได้สั่งการให้กองทัพภาคที่ 1 หน่วยบัญชาการป้องกันภัยทางอากาศกองทัพบก และกรมวิทยาศาสตร์ทหารบก ร่วมกันออกปฏิบัติการล้างสิ่งปนเปื้อน โดยจัดรถยนต์บรรทุกน้ำผสมสารฆ่าเชื้อโรคเข้าดำเนินการฉีดล้างสิ่งปนเปื้อนบนท้องถนนในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ในช่วงกลางคืน เพื่อไม่ให้เป็นการรบกวนการประกอบกิจวัตรประจำวันของประชาชน โดยจะเน้นพื้นที่ที่มีประชาชนไปใช้บริการเป็นจำนวนมาก สถานที่แออัด แหล่งท่องเที่ยวสำคัญ
พล.ต.ท.ปิยะ อุทาโย ผู้ช่วย ผบ.ตร. แถลงว่า ภายหลังจากรับทราบมติ ครม. พล.ต.อ.จักรทิพย์ ชัยจินดา ผบ.ตร. ได้มีวิทยุสั่งการโดยเร่งด่วนให้หน่วยงานทุกหน่วยของสำนักงานตำรวจแห่งชาติและข้าราชการตำรวจทุกนาย ดำเนินการอย่างเต็มกำลังความสามารถในการสนับสนุนและป้องกันการแพร่ระบาดของโรคติดต่อโควิด 19 โดยได้กำหนดเป็นมาตรการ 6 ด้าน
นายอาศิส พิทักษ์คุมพล จุฬาราชมนตรี ลงนามในประกาศจุฬาราชมนตรี ออกประกาศ ฉบับที่ 1 ให้งดการละหมาดวันศุกร์และการละหมาดญามาอะห์ที่มัสยิด-อะซาน แจ้งให้ทุกคนละหมาดที่บ้าน งดจัดกิจกรรมการรวมตัวเป็นกลุ่ม เพื่อหยุดการแพร่กระจายของเชื้อและลดการสูญเสียให้น้อยที่สุด ตามมติ ครม.เมื่อวันที่ 17 มี.ค.63.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |