ลาก 'ไวรัส' เข้าสภา ข้อเสนอแสนยากฝ่ายค้าน


เพิ่มเพื่อน    

          สถานการณ์แพร่ระบาดไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 (โควิด-19) ทั่วทุกมุมโลก อยู่ในภาวะน่าเป็นห่วง ยอดผู้ติดเชื้อ ยอดผู้เสียชีวิตเพิ่มสูงขึ้นทุกนาที และยังไม่มีวัคซีนหรือยาต้านไวรัสชนิดดังกล่าวได้ ยุโรป สหรัฐอเมริกาแพร่ระบาดอย่างหนัก ทุกกิจกรรม ทุกสถานที่ที่มีประชาชนไปรวมตัว สายการบิน ห้างสรรพสินค้า คอนเสิร์ต กีฬา การประชุม สัมมนา งานแสดงสินค้า ฯลฯ เหล่านี้ถูกยกเลิก บางสถานที่แม้จะยังไม่มีการยกเลิก แต่ก็มีมาตรการเข้มป้องกันไวรัสโควิด-19 เต็มพิกัด ภาวะเศรษฐกิจไม่ต้องพูดถึง กระทบหนักจนยากประเมินออกมาเป็นตัวเลขความเสียหาย

                ไทยแม้จะยังไม่ร้ายแรงเท่า แต่ก็อยู่ในสถานการณ์น่าเป็นห่วง การแพร่ระบาดยังไม่เข้าสู่ระยะที่ 3  พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ออกทีวีพูลช่วงค่ำ 16 มี.ค. บอกกล่าวในสิ่งที่ทุกคนรู้อยู่แล้ว  ไม่เดินทางไปต่างประเทศ ดูแลรักษาสุขภาพ ไม่กักตุนอาหาร หน้ากากอนามัยมีเพียงพอ ฯ แต่ไม่มีมาตรการอะไรใหม่ที่ทำให้ประชาชนมีความหวังอยากจะต่อสู้ไปกับรัฐบาล เอาแค่หน้ากากอนามัยที่ พล.อ.ประยุทธ์ บอกไม่ขาดตลาด แต่ในความเป็นจริงกลับตรงกันข้าม จึงไม่แปลกใจกับปฏิกิริยาผู้คนไม่น้อยที่หดหู่ สิ้นหวัง หลังได้รับฟังถ้อยแถลง ต่างพากันเดือดดาล ตำหนิต่อว่า มากกว่าชื่นชม

                ฟากฝั่งการเมืองยังสาละวนการเมือง พรรคร่วมฝ่ายค้านนำโดย พรรคเพื่อไทย ยังอาศัยจังหวะ หาช่องทางขอเปิดประชุมสภาสมัยวิสามัญ ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 155 เพื่อระดมความเห็นนำไปสู่การแก้ไขปัญหาไวรัสโควิด-19

                นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว รองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย ระบุว่า "พรรคร่วมฝ่ายค้านมีความประสงค์ที่จะช่วยเหลือประเทศชาติและประชาชน โดยการระดมความคิดเห็นเพื่อแก้วิกฤติของประเทศ ส่วนที่บรรดา ส.ส.ฝ่ายรัฐบาลกังวลว่าจะเป็นเวทีด่ารัฐบาลนั้น เป็นความคิดที่โง่มาก อยากแนะนำว่า พล.อ.ประยุทธ์ ควรเลิกเห็นแก่ตัวเอง และหากเห็นแก่ประเทศจริงต้องให้ความสำคัญกับรัฐสภา ถ้ามัวแต่กลัวฝ่ายค้านก็โง่เต็มที"

                สุทิน คลังแสง ประธานวิปฝ่ายค้าน ให้เหตุผลว่า "เราจะไม่เอาเรื่องนี้ไปเล่นการเมือง ขอให้รัฐบาลมองแง่บวก ถ้าเปิดสภาเป็นโอกาสรัฐบาลชี้แจง ขอความร่วมมือประชาชนได้ด้วย"

                แม้ พรรคเพื่อไทย จะพยายามหาเหตุผล อยากให้มีการเปิดประชุมสภาสมัยวิสามัญเพื่อระดมความเห็น เสนอเป็นทางออกต่อการแก้ไขปัญหาไวรัสโควิด-19 ที่กำลังเผชิญอยู่ก็ตาม แต่ด้วยเงื่อนไข ข้อจำกัด การจะทำให้บรรลุผลได้ ต้องบอกว่าเป็นเรื่องยากสำหรับเพื่อไทย-ฝ่ายค้าน

                รัฐธรรมนูญ มาตรา 123 บัญญัติว่า สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภาทั้งสองสภารวมกัน หรือสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรมีจำนวนไม่น้อยกว่าหนึ่งในสามของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของทั้งสองสภา มีสิทธิเข้าชื่อร้องขอต่อประธานรัฐสภาให้นำความกราบบังคมทูลเพื่อมีพระบรมราชโองการประกาศเรียกประชุมรัฐสภาเป็นการประชุมสมัยวิสามัญได้ ให้ประธานรัฐสภานำความกราบบังคมทูลและลงนามรับสนองพระบรมราชโองการ

                ในความเป็นจริง วันนี้พรรคร่วมฝ่ายค้านมีจำนวนเสียงเพียง 209 เสียง ขณะที่เสียงของทั้ง ส.ส.และส.ว.รวมกัน จากเดิม 750 เสียง ตอนนี้เหลือ 739 คน ดังนั้นเสียงหนึ่งในสามที่จะขอเปิดประชุมสภาได้ ต้องมีอย่างน้อย 246 ร่วมลงนามขอเปิดประชุมสภา ฝ่ายค้านไม่ได้อยู่ในภาวะเสียงปริ่มน้ำเหมือนช่วงหลังเลือกตั้งแล้วเสร็จใหม่ๆ เสียงที่ขาดไปประมาณ 37 เสียงจึงเป็นเรื่องยากสำหรับฝ่ายค้าน หากต้องการขอเปิดประชุมสภาให้ได้คงต้องออกแรงหนัก ประกอบกับท่าทีที่นักการเมืองส่วนใหญ่แสดงออกมาก็เป็นในเชิงไม่เห็นด้วย

                รวมถึงสัญญาณจากรัฐบาลและกฎสังคมในปัจจุบัน มีแต่จะหลีกเลี่ยงไม่ให้มีการรวมตัวกันเกิน 50 คน อันเป็นภาวะสุ่มเสี่ยงต่อการแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 ได้โดยง่าย

                นอกจากนี้ ที่ผ่านมาพรรคร่วมฝ่ายค้าน โดยเฉพาะพรรคเพื่อไทย มีข้อเสนอเป็นระยะๆ คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ ประธานยุทธศาสตร์พรรค ออกข้อเสนอที่น่าสนใจแทบจะเป็นรายวัน อาทิ 1.รัฐบาลต้องเปิดปฏิบัติการปูพรมค้นหาผู้ติดเชื้อ COVID-19 ทั่วประเทศ โดยใช้กลไกของสาธารณสุขที่มีโรงพยาบาลชุมชน โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพ และ อสม.อยู่ทั่วประเทศ ใช้กลไกของมหาดไทยเป็นหน่วยงานเสริม การปูพรมทำภายใน 3 สัปดาห์ 3 รอบ ส่วนผู้ที่มีอาการเสี่ยงทั้งหมดเช่น ไอ จาม เจ็บคอ มีไข้ หรือสัมผัสกับผู้ที่มาจากประเทศกลุ่มเสี่ยง ให้สามารถเข้าถึงการตรวจหาเชื้อ COVID-19 ได้อย่างรวดเร็ว ภายใต้การวินิจฉัยของแพทย์โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย เพราะยิ่งค้นหาจำนวนผู้ติดเชื้อได้มากเท่าไหร่ ยิ่งสามารถควบคุมการแพร่ระบาดได้เร็วเท่านั้น

                2.การระงับการเพิ่มผู้ติดเชื้อรายใหม่เข้าประเทศ ที่ขอเสนอมาตรการขั้นเด็ดขาดให้นายกรัฐมนตรีเลือกอีก 2 มาตรการ คือ A.ประกาศปิดประเทศ (Lockdown) ไม่รับผู้เดินทางจากต่างประเทศ 14 วัน  B.ประกาศให้ผู้เดินทางจากประเทศกลุ่มเสี่ยง ต้องถูกกักตัวเฝ้าระวังสังเกตอาการ 14 วันอย่างเคร่งครัด ตาม พ.ร.บ.ควบคุมโรค รัฐบาลประสานเช่าโรงแรมต่างๆ ที่ขณะนี้มีผู้เข้าพักน้อยอยู่แล้ว เป็นที่พักระหว่างการเฝ้าสังเกตอาการ 14 วัน ผู้เดินทางต้องเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่าย และรัฐส่งเจ้าหน้าที่กำกับดูแลให้ปฏิบัติตามคำประกาศของกระทรวงสาธารณสุขอย่างเคร่งครัด หากไม่ปฏิบัติตามมีความผิดตาม  พ.ร.บ.ควบคุมโรคระบาด

                อย่างไรก็ตาม ต่อให้มีการเปิดประชุมสภาสมัยวิสามัญได้จริง ก็จะคงวนเวียนในข้อเสนอดังกล่าวไปเสนอต่อที่ประชุมในสภาอยู่ดี ไม่เท่านั้นในภาวะสังคมที่ตื่นตัว ตระหนักถึงการป้องกันภัยไวรัสร้าย ที่ตีวงคืบคลานมาใกล้ตัวยิ่งขึ้น หากมีการเปิดประชุมสภาเชื่อว่าทั้งฝ่ายค้าน ฝ่ายรัฐบาล จะเละพอกัน ข้อหายังติดหล่มการเมืองที่เต็มไปด้วยวาทกรรมเสียดสี โจมตี และไร้ข้อสรุป ไม่มีทางออกอย่างที่สังคมคาดหวังเอาไว้

                แม้พรรคเพื่อไทยจะยังไม่ลดละ พยายามติดต่อ ส.ส.รัฐบาลและขอเสียง ส.ว.เพื่อนำไปสู่การเปิดประชุมสภาให้ได้ แต่ท้ายสุดหากไม่เป็นอย่างหวัง ก็เตรียมจะงัดแผนสองตามที่สุทินเปรยๆ เอาไว้ เปิดสัมมนาใหญ่ข้างนอก ระดมความเห็นทุกภาคส่วน ฝ่ายสภา ฝ่ายสาธารณสุข ชาวบ้าน แต่เรื่องนี้เป็นเพียงความเห็นขั้นต้น ต้องไปคุยกับพรรคร่วมฝ่ายค้านอีกที

                เพียงแค่คิดก็บันเทิง ราวกับว่าเปิดสภาหรือได้จัดสัมมนาข้างนอกแล้ว ไวรัสร้ายจะหายวับไปกับตา.   


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"