ครม.ทุ่มงบประมาณเยียวยา ปชช.สู้ภัยโควิด-19 ไฟเขียวลดค่าน้ำ-ค่าไฟ คืนเงินประกันมิเตอร์ อนุมัติงบกลาง 1.73 หมื่นล้านจัดสรรหน่วยงานที่เกี่ยวข้องแจกหน้ากากอนามัยให้ สธ.เพิ่มเป็น 1 ล้านชิ้น ผุด กก.เฉพาะกิจ ป้องกันกักตุนสินค้า "เทวัญ" เผยบริษัทผู้ผลิตขนาดใหญ่ยืนยันสินค้าอุปโภคบริโภคเพียงพออย่าตื่นตระหนก "จุรินทร์" เบรก "วิชัย" ไม่ให้ลาออก ยอมรับนายกฯ แจ้งให้ทราบภายหลังสั่งเด้งแล้ว
เมื่อวันอังคาร นางนฤมล ภิญโญสินวัฒน์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงผลการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่า ครม.เห็นชอบตามที่กระทรวงมหาดไทยเสนอมาตรการเพื่อบรรเทาให้กับประชาชน ช่วยเหลือผลกระทบจากสถานการณ์ไวรัสโควิด-19 ในเรื่องของค่าครองชีพและบรรเทาภาระให้กับประชาชนลดค่าใช้จ่ายหลักด้านสาธารณูปโภคพื้นฐาน ได้แก่ ค่าน้ำประปา ค่าไฟฟ้า สำหรับค่าไฟฟ้ามีอยู่ 3 ด้านที่จะช่วยเหลือ คือ 1.ลดค่าไฟฟ้า ร้อยละ 3 (3 เปอร์เซ็นต์) สำหรับผู้ใช้ไฟฟ้าทุกประเภทเป็นระยะเวลานาน 3 เดือน ตั้งแต่เดือนเม.ย.-มิ.ย. คาดว่าจะใช้งบประมาณ 5,160 ล้านบาท โดยแบ่งเป็นการไฟฟ้านครหลวง ใช้งบ 1,600 ล้านบาท ส่วนอีก 3,560 ล้านบาท เป็นการใช้งบประมาณของการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) ทั้งนี้ สำหรับผู้ใช้ไฟฟ้าทุกประเภท และมอบหมายให้คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ดำเนินการ
2.ขยายระยะเวลาการชำระค่าไฟฟ้า สำหรับผู้ใช้ไฟฟ้าประเภทกิจการเฉพาะอย่าง ได้แก่ ธุรกิจโรงแรม กิจการให้เช่าที่พักอาศัย โดยจะไม่มีการคิดดอกเบี้ย และจะไม่มีการลดการจ่ายไฟเป็นการชั่วคราวโดยเด็ดขาด โดยให้ผ่อนผันได้ไม่เกิน 6 เดือนของต่อรอบบิล สำหรับใบแจ้งค่าไฟฟ้าเดือนเม.ย.และเดือน พ.ค. โดยผู้ใช้ไฟฟ้าที่มีความประสงค์ขอรับความช่วยเหลือสามารถติดต่อได้ที่สำนักงานการไฟฟ้าฯ ในพื้นที่
3.การคืนเงินประกันการใช้ไฟฟ้าหรือการคืนเงินประกันมิเตอร์ไฟ จะให้กับผู้ใช้ไฟฟ้าประเภทที่ 1 คือบ้านที่อยู่อาศัย และประเภทที่ 2 คือกิจการขนาดเล็ก รวมทั้งสิ้นจะมีผู้ได้รับการคืนเงินประกันการใช้ไฟฟ้า 22.17 ล้านราย 32,700 ล้านบาท โดยจะแบ่งเป็นส่วนของการไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) 3.87 ล้านราย 13,000 ล้านบาท ที่เหลืออีก 18.3 ล้านราย 19,700 ล้านบาท เป็นของ กฟภ. โดยสามารถใช้สิทธิขอคืนเงินประกันการใช้ไฟฟ้าที่วางไว้ตามขนาดของเครื่องวัดหน่วยไฟฟ้า ในวันที่ 18 มี.ค.นี้ กกพ.จะแถลงข่าวรายละเอียดอีกครั้ง
นางนฤมลกล่าวอีกว่า เรื่องน้ำประปาก็มีในลักษณะเดียวกันคือ 1.ลดค่าน้ำประปาอัตราร้อยละ 3 สำหรับผู้ใช้น้ำทุกประเภทเป็นระยะเวลา 3 เดือน ตั้งแต่เม.ย.-มิ.ย. คาดว่าจะใช้งบประมาณ 330 ล้านบาท 2.ขยายเวลาระยะการชำระค่าน้ำประปาของผู้ใช้น้ำที่จดทะเบียนธุรกิจโรงแรมและธุรกิจให้เช่าที่พักอาศัย โดยไม่คิดดอกเบี้ยและผ่อนชำระได้ไม่เกิน 6 เดือนของแต่ละรอบบิล คาดว่าจะมีผู้ได้รับผลประโยชน์จากการประปานครหลวง (กปน.) 900 ราย ส่วนการประปาส่วนภูมิภาค (กปภ.) 30,000 ราย รวม 30,900 ราย 3.คืนเงินประกันการใช้น้ำให้กับผู้ใช้น้ำประเภทที่ 1 คือที่พักอาศัย คาดว่าจะมีผู้ได้รับประโยชน์ 5.7 ล้านราย วงเงิน 2,834 ล้านบาท แบ่งเป็น กปน. 2 ล้านราย วงเงิน 1,034 ล้านบาท และ กปภ. 3.7 ล้านราย วงเงิน 1,800 ล้านบาท
น.ส.รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงว่า ครม.มีมติอนุมัติงบกลาง 17,310 ล้านบาท สำหรับการแก้ปัญหาที่เกี่ยวข้องกับไวรัสโควิด-19 และปัญหาภัยแล้ง 1.ส่วนราชการ 9,002 ล้านบาท โดยกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ได้รับการจัดสรร 5,488 ล้านบาท โดยส่วนงานของสำนักงานปลัด สธ.ได้รับ 1,551 ล้านบาท กรมควบคุมโรค 520 ล้านบาท สำนักงานสุขภาพแห่งชาติ 3,260 ล้านบาท ขณะกระทวงพาณิชย์ได้รับการจัดสรร 108 ล้านบาท สำหรับชดเชยโรงงาน ผลิตหน้ากากอนามัยทั้ง 11 โรงงาน ที่ต้องรับภาระต้นทุนที่สูงขึ้นมาก
"รัฐบาลทำเต็มที่กับการจัดสรรหน้ากากอนามัยให้เพียงพอ โดยกระทรวงพาณิชย์ได้ประสานกับโรงงงานทั้ง 11 แห่ง เพื่อปรับไลน์การผลิตให้มากขึ้น จากเดิม 1.2 ล้านชิ้นต่อวัน เป็น 1.76 ล้านชิ้นต่อวัน โดยจำนวนที่เพิ่มขึ้น 560,000 ต่อวันนั้น เราจะจัดสรรให้กับหน่วยงานทางการแพทย์ โดยหน่วยงานสังกัด กสธ. จากเดิมที่ได้รับการจัดสรร 7 แสนชิ้นต่อวัน เป็น 1 ล้านชิ้นต่อวัน"
2.ส่วนของโครงการการจ้างงานอีก 2700 ล้านบาท โดยโครงการดังกล่าวมีระยะเวลาไม่เกิน 6 เดือน อัตราค่าจ้างไม่เกิน 9,000 บาทต่อเดือน
น.ส.รัชดากล่าวอีกว่า สำหรับหน้ากากอนามัยที่ยึดมาจากผู้ที่โก่งราคา ของกลางในส่วนดังกล่าวเราจะนำมาจัดสรรให้กับโรงพยาบาล วันนี้กระทรวงพาณิชย์รายงาน ครม.ว่าจะมีการจัดตั้งคณะกรรมการเฉพาะกิจเพื่อป้องกันและปราบปรามการกักตุนและขายสินค้าเกินราคา
นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รมว.พลังงาน กล่าวว่า การขาดแคลนหน้ากากอนามัยและแอลกอฮอล์นั้น ได้พยายามแก้ไขปัญหาอย่างเต็มที่ โดยกระทรวงพลังงานร่วมกับกระทรวงการคลัง ได้ดึงแอลกอฮอล์จากโรงงานเอทานอล จากปกติที่เขาต้องนำไปทำน้ำยาทำความสะอาด 36 ล้านลิตร จากที่มีอยู่กว่า 100 ล้านลิตร และทุกโรงงานกำลังเร่งการผลิต จะทำให้มีแอลกอฮอล์ส่วนเกินประมาณวันละ 1 ล้านลิตร เราต้องช่วยกันเพื่อให้แอลกอฮอล์มีมากเพียงพอ สำหรับหน้ากากอนามัยสถานการณ์ก็ดีขึ้นเรื่อยๆ จะทำให้ประชาชนคลายความกังวลลงได้
นายเทวัญ ลิปตพัลลภ รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงว่า สิ่งที่ประชาชนสอบถามมายังศูนย์ข้อมูลโควิด-19 จำนวนมากคือ เรื่องสินค้าอุปโภคบริโภคที่เริ่มมีการกักตุนกัน ยืนยันว่าเราได้เชิญบริษัทผู้ผลิตขนาดใหญ่มาสอบถามและพูดคุยกันแล้ว ทุกบริษัทยืนยันว่ามีการผลิตเพียงพอ เช่น บะหมี่สำเร็จรูป ผลิตได้ 10-15 ล้านซอง/วัน, ปลากระป๋อง 665 ล้านกระป๋อง/วัน, ปลาทูน่ากว่า 2,000 ล้านกระป๋อง/วัน ถ้าชั้นวางไหนสินค้าหมด สามารถเติมสินค้าได้ทันที ไม่อยากให้ประชาชนตื่นตระหนกเกินไป เรายังไม่ถึงขนาดนั้น อยากให้ประชาชนใช้ชีวิตปกติ
นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.พาณิชย์ กล่าวถึงกรณีนายวิชัย โภชนกิจ อธิบดีกรมการค้าภายใน ยื่นหนังสือลาออกได้มีการอนุมัติแล้วหรือไม่ว่า นายวิชัยได้แจ้งปลัดกระทรวงพาณิชย์ว่าขอลาพักร้อนถึงวันที่ 24 เม.ย. และหลังจากนั้นจะขอลาออก ตอนนี้หนังสืออยู่ที่ปลัดกระทรวงพาณิชย์ และได้รับแจ้งว่าอนุมัติให้ลาพักร้อนได้ และรองอธิบดีกรมการค้าภายในจะขึ้นมารักษาการแทน
ผู้สื่อข่าวถามว่า ได้พูดคุยกับนายวิชัยหรือไม่ว่าใครจะรับผิดชอบเรื่องนี้ นายจุรินทร์กล่าวว่า ได้พูดคุยกับท่านว่าไม่อยากเห็นท่านลาออก ด้วยความเห็นใจและด้วยความเข้าใจว่าที่ผ่านมานายวิชัยทำหน้าที่อย่างเต็มกำลังสามารถ ทุ่มเทในการทำงาน ในช่วงที่ทำงานด้วยกันท่านก็ตั้งใจทำงานทุกอย่างทุกด้าน โดยเฉพาะหน้ากากอนามัย ที่เกิดในช่วงวิกฤติ และการผลิตมีจำกัด ผลิตได้วันละกว่าล้านชิ้น ทุกคนมีความต้องการทำให้พอ ซึ่งนายวิชัยบริหารจัดการให้ตรงกับความต้องการของประชาชน 60 ล้านคน เราก็กระจายให้ดีที่สุด
เมื่อถามว่า ก่อนที่จะมีการออกคำสั่ง นายกฯ ได้มีการแจ้งมาก่อนหรือไม่ ในฐานะที่ รมว.พาณิชย์เป็นผู้บังคับบัญชา นายจุรินทร์ยอมรับว่า แจ้งให้ทราบภายหลัง และยังไม่ได้คุยกับนายกฯ ส่วนจะกลายเป็นประเด็นระหว่างพรรคร่วมรัฐบาลหรือไม่ ตนไม่สามารถคาดการณ์ได้ เพราะเป็นเรื่องของอนาคต
ส่วนมีกระแสข่าวที่ปรึกษา รมว.พาณิชย์มีส่วนเกี่ยวข้องในการกักตุนหน้ากากอนามัย นายจุรินทร์กล่าวว่า เมื่อวันที่ 16 มี.ค.ที่ผ่านมา ได้มีการแจ้งความดำเนินคดีหมิ่นประมาทแล้ว และวันนี้ (17 มี.ค.) ไปแจ้งความดำเนินคดีในความผิดตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ ซึ่งผู้ที่เกี่ยวข้องจะมาชี้แจงในประเด็นดังกล่าวอีกครั้ง
รมว.พาณิชย์กล่าวด้วยว่า เมื่อวันที่ 16 มี.ค. ได้มีการตรวจสอบตู้คอนเทนเนอร์การส่งออกหน้ากากอนามัยที่เขตท่าเรือแหลมฉบัง ต.ทุ่งสุขลา อ.ศรีราชา จ.ชลบุรี โดยกระทรวงพาณิชย์ได้ส่งผู้แทนจากกรมการค้าภายในและกรมศุลกากรไปตรวจสอบ พร้อมกับผู้ส่งออกหน้าที่เป็นเจ้าของหน้ากากอนามัยส่งออก เพื่อไปพิสูจน์ว่ามีใบอนุญาตในการส่งออก เมื่อมีการส่งออกจริงแล้ว ของที่อยู่ข้างในเป็นหน้ากากอนามัยที่มีอนุญาตตรงตามสเปก มีลิขสิทธิ์ มีมาตรฐานให้ส่งออกได้ เพราะที่ผ่านมาไม่เคยมีการสั่งให้ไปเปิดตู้แล้วตรวจสอบ ซึ่งการเปิดตู้ครั้งนี้ทำให้นายกฯ ตน และประชาชนที่ข้อสงสัยจะได้คลายข้อสงสัย ส่วนที่มีข่าวปรากฏออกไปว่าหน้ากากในตู้ไม่ได้มาตรฐานนั้น ตนไม่โทษสื่อ เพราะอาจจะเกิดความสับสนได้.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |