พยากรณ์เศรษฐกิจปีนี้: ใครหาญกล้าท้าฟันธง?


เพิ่มเพื่อน    

              โรคระบาด Covid-19 จะหมดไปเมื่อไหร่? และอัตราโตทางเศรษฐกิจของไทยปีนี้จะอยู่ที่เท่าไหร่?

                มีคนตั้งคำถามชุดนี้ทุกวัน หลายสำนักก็พยายามจะหาคำตอบด้วยวิธีการประเมินในรูปแบบต่างๆ

                แต่คำตอบที่แท้จริงคือ ไม่มีใครรู้!

                ผมยืนยันว่าไม่มีใครมีคำตอบให้คำถามที่สำคัญที่สุดในยามนี้ ก็เพราะไม่มีใครสามารถทำนายพฤติกรรมของเจ้าไวรัสตัวนี้ได้

                เพราะมันเป็น "สายพันธุ์ใหม่" และมัน "กลายพันธุ์" ได้ตลอดเวลา

                นักวิทยาศาสตร์และนายแพทย์ผู้เชี่ยวชาญที่สุดในโลกยังกำลังว้าวุ่นอยู่กับการศึกษา วิจัยและวิเคราะห์รหัสพันธุกรรมของมันอย่างขะมักเขม้น

                เพราะนี่คือการทำสงครามกับศัตรูที่มองไม่เห็น และเป็นคู่ต่อสู้ที่ "รู้หน้าแต่ไม่รู้ใจ"

                เพราะไวรัสหวัดมีมาก่อนหน้าหลายเผ่าหลายพันธุ์ แต่เจ้า Covid-19 นี้โจมตีอย่างที่เราตั้งตัวไม่ทัน

                ผ่านมาเกือบสามเดือนแล้ว เราเห็นสถานการณ์ในจีนเริ่มนิ่งแต่ยังไม่สงบ ขณะเดียวกันในยุโรป  อเมริกา ตะวันออกกลาง และแอฟริกา เจ้าไวรัสตัวนี้ยังอาละวาดต่อเนื่องโดยไม่มีทีท่าว่าจะยอมแพ้ง่ายๆ

                ส่วนมนุษย์นั้นสภาพร่างกายก็อ่อนระโหยโรยแรงลงไปเรื่อยๆ แม้จะพยายามหาอาวุธมาปราบศัตรูตัวนี้ให้ได้ในเร็ววัน แต่ก็ยังเป็นเพียงการ "ตั้งรับ" มากกว่าจะเป็นฝ่าย "รุก"

                แต่แม้เราจะไม่รู้แน่นอนว่าอาการป่วยไข้ของเราจะฟื้นเมื่อไหร่ และเมื่อลุกขึ้นยืนได้แล้วเราจะต้องใช้เวลาเรียกภูมิคุ้มกันกลับมานานเท่าไหร่ เราก็ต้องสู้ เพราะหากเรายอมจำนน มนุษย์โลกก็จะหมดสภาพจริงๆ

                เรายอมแพ้ไม่ได้ เราจึงต้องใช้ความคิดความอ่านทั้งหลายทั้งปวงมาวิเคราะห์ว่า สภาพร่างกายของเราอยู่ในระดับไหนและหวังว่าจะหายเป็นปกติได้เมื่อไหร่

                นี่คือที่มาของคำพยากรณ์หลายสำนักว่า GDP หรือผลผลิตมวลรวมของประเทศไทยปีนี้น่าจะอยู่ที่เท่าไหร่

                วาดตั้งแต่ภาพดีที่สุดหรือ best case

                ไปถึงภาพเลวร้ายที่สุดหรือ worst case

                โดยที่ต้องยอมรับว่าที่ว่า "ดีที่สุด" นั้นความจริงหมายถึง "เลวน้อยที่สุด"

                และที่ว่า "เลวร้ายที่สุด" นั้น เอาเข้าจริงๆ ก็อาจจะแปลว่า "เลวกว่านี้ก็ยังมีอีก"

                แต่กระนั้นเราก็ต้องฟังว่าสำนักไหนเขาว่าอย่างไร

                พอจะสรุปได้ว่าในสถานการณ์ที่ไม่มีใครรู้แน่ว่าพรุ่งนี้หรือเดือนหน้าจะเกิดอะไรขึ้น ภาพสมมติที่เราได้จากหลายสำนักน่าจะสรุปตรงที่ว่าจากที่พอจะเห็นรางๆ อยู่ขณะนี้ ด้วยปัจจัยที่น่าจะเป็นไปได้ที่สุดขณะนี้

                อัตราโตทางเศรษฐกิจทั้งปีของไทยน่าจะอยู่ที่ +0.5% ถึง -0.5 นั่นคือบวกเล็กๆ ไปถึงลบเยอะๆ กันทีเดียวแหละ

                สำนักหนึ่งคือของฝ่ายวิจัยของธนาคารกรุงศรีฯ ที่ได้ลดประมาณการการเติบโตเศรษฐกิจปี 2020  ลงมาที่ 1.5% จาก 2.5%

                แต่นั่นเป็นตัวเลขของรายงานประจำเดือนที่ผ่านมา หากถามตัวเลขใหม่ล่าสุดก็จะใกล้ๆ 0% ได้เช่นกัน

                "ฝ่ายวิจัย" ของ บล.ภัทรเคยทำนายได้ที่ 1.4% (ตอนนั้นก็สร้างเสียงฮือฮาไม่น้อยแล้ว) แต่ล่าสุดมีการปรับตัวเลขใหม่เหลือ -0.4% แล้ว

                ก่อนหน้านี้สำนักวิจัยของธนาคารกสิกรไทยให้ 0.5% ซึ่งหลายคนบอกว่าเป็นตัวเลขที่ "มองโลกในแง่ดีแล้ว"

                แต่วันนี้หลังจากการร่วงหล่นแบบระเนนระนาดของตลาดหุ้น ตลาดการเงิน และตลาดราคาน้ำมันดิบในช่วงสิบวันที่ผ่านมา บรรดาเซียนนักวิเคราะห์ทั้งหลายอาจต้องกลับไปนั่งดีดลูกคิดกันใหม่หมดเลยก็เป็นได้

                ในคาดการณ์เดิมช่วงปลายปี 2019 วิจัยกรุงศรีฯ ได้ประเมินว่ามี 2 ปัจจัยหลักที่มีผลต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจในปี 2020 ได้แก่ การผ่านร่างงบประมาณรายจ่ายปี 2020 และการฟื้นตัวของการท่องเที่ยว

                แต่เมื่อเกิดโรคระบาดในช่วงปลายปีข้ามมาต้นปี 2 ปัจจัยนี้กลับกลายเป็นปัจจัยถ่วงไปเสียแล้ว

                นอกจากนี้ยังมีปัจจัยภัยแล้งรุนแรงกว่าที่ประเมินไว้ ทำให้ทั้ง 3 ปัจจัยจะมีผลเชิงลบต่อความเชื่อมั่นและการชะลอตัวของเศรษฐกิจ ทำให้ปรับลดคาดการณ์การเติบโตทางเศรษฐกิจ (ขณะนั้น) ลงจาก  2.5% เป็น 1.5%

                ในการประเมินช่วงนั้นก็มีประเด็นเรื่องความล่าช้าของร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2563 จำนวน 3.2 ล้านล้านบาท ซึ่งควรจะเริ่มตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2562  แต่กลับล่าช้ากว่า 4 เดือน

                บัดนี้เมื่อกฎหมายงบประมาณผ่านทุกขั้นตอนไปแล้ว วันนี้รัฐบาลคาดว่าจะเริ่มเบิกจ่ายงบประมาณได้ในสิ้นเดือนมีนาคม ซึ่งล่าช้ากว่าเดิมถึง 2 ไตรมาสของปีงบประมาณ

                "วิจัยกรุงศรีฯ" ได้ทบทวนปรับลดประมาณการการลงทุนในโครงการโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ลง  150 พันล้านบาท เพราะความล่าช้าในการพิจารณาอนุมัติงบประมาณไม่เพียงทำให้ต้องเลื่อนการลงทุนออกไป แต่ยังมีผลต่อการที่จะลงทุนเพิ่มของเอกชนให้ชะลอออกไป รวมทั้งกระทบความเชื่อมั่น ซึ่งทั้งหมดนี้จะซ้ำเติมกิจกรรมทางการเศรษฐกิจที่ชะลอตัวอยู่แล้ว

                กระบวนการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณที่ล่าช้า ทำให้การใช้จ่ายภาครัฐ การเบิกจ่ายงบประมาณน้อยกว่าปีงบประมาณก่อน โดยเฉพาะงบลงทุน การเบิกจ่ายในช่วง 4 เดือนแรกของปีงบประมาณ 2563 ลดลง 21.9% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน มีจำนวนเพียง 921.7 พันล้านบาท

                ส่วนการเบิกจ่ายงบลงทุนลดลงถึง 67.7% มีจำนวน 34.1 พันล้านบาท

                รัฐบาลคาดว่าจะเริ่มเบิกจ่ายงบประมาณได้ในช่วงกลางเดือนหรือสิ้นเดือนมีนาคมนี้

                "วิจัยกรุงศรี" มองว่าความล่าช้าของการเบิกจ่ายงบประมาณ แม้มีทางออกในการเพิ่มการใช้จ่ายของภาครัฐ แต่อาจจะไม่เพียงพอต่อการกระตุ้นเศรษฐกิจ

                การขยายเพดานวงเงินการใช้งบประมาณจาก 50% เป็น 75% จะเอื้อต่อการช่วยบริหารประเทศไปจนถึงเดือนมิถุนายน

                แต่แล้ว "พี่ไวรัส Covid-19" ก็ปรากฏตัวขึ้นอย่างไม่มีปี่ไม่มีขลุ่ยตอนสัปดาห์สุดท้ายของปีที่ผ่านมา

                ทำให้การพยากรณ์ทั้งภาพรวมมีอันต้องทบทวนกันใหม่อีกรอบ

                ที่ทบทวนใหม่ก็ใช่ว่าจะแม่นกว่าของเก่า...ที่แน่ใจประการเดียวคือ ที่พยากรณ์ก่อนหน้าทั้งหลายทั้งปวงนั้นเป็น "ข่าวดี" กว่าแนวโน้มที่จะวิเคราะห์ใหม่แน่นอน! 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"