“ประยุทธ์” นั่งหัวโต๊ะเคาะยาแรงสกัดโควิด-19 แล้ว ก่อนออกโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจชูกำปั้นปลุกชาวไทยร่วมใจฝ่าวิกฤติ มั่นใจชนะแน่ “วิษณุ” แถลงยังไม่ถึงระยะที่ 3 เตรียมชง ครม.เคาะมาตรการเข้ม ทั้งเลื่อนมหาสงกรานต์-ปิดมหาวิทยาลัย-โรงเรียน-สนามกีฬา ส่วน “โรงมหรสพ-ผับ” ยังลูกผีลูกคน สธ.แจงตัวเลขติดเชื้อล่าสุดเพิ่มอีก 33 ราย แบ่งเป็น 2 กลุ่มจากก๊วนปาร์ตี้-สนามมวย และรายใหม่ที่กลับจากต่างประเทศ ย้ำหากถึงขั้นเลวร้ายที่สุดระดมหมอได้ไม่ต่ำ 3 หมื่นคน และเตียงหนึ่งแสนเตียง
เมื่อวันจันทร์ที่ 16 มีนาคม ที่ตึกภักดีบดินทร์ ทำเนียบรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นประธานการประชุมศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19)
และในเวลา 15.15 น. นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี พร้อมคณะได้แถลงผลการประชุมว่า ที่ประชุมซึ่งมีรัฐมนตรีและผู้ทรงคุณวุฒิมีมติเอกฉันท์ว่า เรายังอยู่ในระยะที่ 2 ยังไม่ไปสู่ระยะที่ 3 เพราะมีผลปฏิบัติและวิชาการว่าการจะประกาศระยะที่ 3 ได้ต่อเมื่อมีประชาชนไทยรับเชื้อหรือติดต่อโรคกันเองโดยสืบสาวราวเรื่องแล้วไม่ปรากฏต้นตอมาจากประเทศที่แพร่เชื้อ อีกทั้งต้องมีการแพร่เชื้อจำนวนมากไม่ใช่ 1-2 ราย และอีกตัวชี้วัดคือการปรากฏแพร่เชื้อหลายพื้นที่ ถ้าอย่างนั้นแปลว่าคับขันที่จะคงระยะที่สองไม่ได้แล้ว เพราะต้องเตรียมวิธีรับมืออีกอย่างหนึ่ง แต่ตอนนี้ยังไม่เข้าสู่ระยะที่ 3 ซึ่งเป็นเกณฑ์ที่เราตั้งขึ้นเอง
นายวิษณุกล่าวว่า ที่ประชุมยังเห็นความจำเป็นต้องเตรียมตัวรับมือ มิเช่นนั้นจะเกิดความประมาท และหาว่ารัฐบาลไม่ได้เตรียมการเพียงพอ โดยในด้านที่ 1.ด้านสาธารณสุข ที่ประชุมขอให้อย่าตื่นตระหนก ขณะนี้ได้เตรียมการรับมือไว้แล้ว โดยนายกรัฐมนตรีสั่งการให้เตรียมโรงพยาบาลของรัฐ เอกชน ท้องถิ่น โรงพยาบาลมหาวิทยาลัย ทหาร ตำรวจ สถานพยาบาลต่างๆ เพื่อเตรียมปรับสถานที่ให้มีเตียงที่จะใช้ได้เพียงพอเพื่อเตรียมรับสถานการณ์ที่จะมาถึง นอกจากนี้ให้เตรียมการเรื่องแพทย์ พยาบาล บุคลากรทางการแพทย์ อีกทั้งกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ได้เตรียมระดมแพทย์อาชีพจากภาครัฐ เอกชน และที่เกษียณอายุราชการไปแล้ว พยาบาล จิตอาสาที่มีความรู้ด้านการแพทย์ที่มีที่อยู่ ถ้าสถานการณ์ถึงจุดจำเป็น รวมถึงเตรียมยา เวชภัณฑ์ ซึ่ง สธ.เตรียมรับมือไว้แล้ว รวมทั้งนายกฯ ยังอนุมัติค่าตอบแทนพิเศษแก่แพทย์ พยาบาลเป็นกรณีพิเศษไว้แล้ว
2.ด้านเวชภัณฑ์ หน้ากากอนามัย เจลล้างมือ กระทรวงพาณิชย์ (พณ.) รายงานว่าได้เร่งกำลังการผลิตมากขึ้นจนเกือบถึง 2 ล้านชิ้นต่อวัน และจะผลิตให้มากขึ้น พร้อมเร่งผลิตแอลกอฮอล์ เจลล้างมือให้มากขึ้น ซึ่งกระทรวงอุตสาหกรรมและกระทรวงพลังงานพร้อมแก้ระเบียบบางอย่างเพื่อให้เร่งการผลิตได้ ส่วนกระทรวงการต่างประเทศ (กต.) รายงานว่าได้รับแจ้งจากบางประเทศว่าพร้อมให้ความช่วยเหลือเรื่องหน้ากากอนามัย นอกจากนี้นายกฯ ยังยกเรื่องสำคัญว่า ในส่วนของการตรวจจับการค้าขาย หรือสั่งซื้อหน้ากากอนามัยทางออนไลน์ที่มีการยึดของกลางมาจำนวนมากนั้น ให้นำไปเพื่อจัดสรรและแจกจ่ายโรงพยาบาล ส่วนเรื่องคดียังดำเนินคดีต่อไปแต่อย่าทำให้เสียรูปคดี
ผุดทีมไทยแลนด์เฉพาะกิจ
3.ด้านข้อมูลข่าวสาร พบว่ามีคนร้องเรียนเข้ามายังศูนย์ข้อมูลโควิด-19 วันละประมาณหนึ่งพันราย ซึ่งได้ชี้แจงทำความเข้าใจและแก้ปัญหาไปแล้ว 98% ที่เหลือให้แก้ปัญหาต่อไป 4.ด้านการต่างประเทศ กต.รายงานว่ามีต่างประเทศแสดงความปรารถนาดีให้ความช่วยเหลือด้านเวชภัณฑ์ คือ ยา หน้ากากอนามัย อุปกรณ์ทางการแพทย์ เราพร้อมรับ แต่นายกฯ สั่งการว่าเราจะรอจากเขาอย่างเดียวไม่ได้ ต้องเร่งการผลิตเอง ซึ่ง สธ.รายงานว่าจะเร่งผลิตชุดที่ต้องใช้ปฏิบัติงานให้ได้มากขึ้น ส่วนการยกเลิกฟรีวีซ่าและวีโอเอนั้น ไม่มีประเทศใดขัดข้อง โดยนายกฯ ห่วงคนไทยในต่างประเทศทั้งข้าราชการที่มีประมาณ 1.5 พันคน นักเรียนไทยนับพันคน พระภิกษุประมาณ 1.5 พันรูป และแรงงานไทยที่ยังไม่กลับเข้ามาอีกนับแสนคน จึงสั่งให้ กต.จัดตั้งทีมไทยแลนด์ในทุกประเทศเพื่อรับมือโควิด-19 โดยมีเอกอัครราชทูตประเทศนั้นๆ เป็นหัวหน้าทีม เพื่อรับร้องเรียน ร้องทุกข์ ตลอดจนให้ข้อมูลข่าวสารเป็นทีมเฉพาะกิจ
5.ด้านมาตรการป้องกันเตรียมรับมือผู้ที่ยังไม่ป่วย ถือว่าเป็นเรื่องสำคัญและย้ำว่าขณะนี้ยังไม่ประกาศระยะที่ 3 แต่อยู่ระหว่างเตรียมรับสถานการณ์ที่สำคัญจากต่างประเทศ โดยเฉพาะการเดินทางเข้าไทยที่จะมีความเข้มงวดจาก 4 ประเทศและ 2 เขตเศรษฐกิจที่เป็นประเทศกลุ่มเสี่ยง ได้แก่ จีน เกาหลีใต้ อิหร่าน อิตาลี ฮ่องกง และมาเก๊า ซึ่งถือเป็นมาตรการสูงสุดอยู่แล้ว แต่ยังไม่มีการประกาศประเทศเขตโรคติดต่อแต่อย่างใด ขอประเมินสถานการณ์รายวัน แต่จะใช้ความเข้มงวดกวดขันในการเดินทางเข้าประเทศไทยสูงสุด
สำหรับเทศกาลสงกรานต์ เดิมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เคยมีมติให้วันหยุดเทศกาลสงกรานต์ปีนี้หยุดยาวรวม 5 วัน ตั้งแต่วันที่ 11-15 เม.ย. แต่ที่ประชุมได้มีมติเห็นว่าการมีหยุดยาว 5 วันอาจทำให้ประชาชนเคลื่อนย้ายและเดินทางมากผิดปกติ ซึ่งเสี่ยงต่ออุบัติเหตุและการติดโรคโควิด-19 คณะแพทย์เกรงว่าจะมีคนใน กทม.ที่เป็นพาหะไปแพร่เชื้อโดยไม่รู้ตัว หรือไปติดเชื้อจากต่างจังหวัดแล้วกลับเข้ามา กทม.เพราะมีการรวมตัวกันเกิดขึ้น เป็นโอกาสเสี่ยงต่อการแพร่เชื้อทั้งสิ้น จึงต้องลดโอกาสเสี่ยง จึงมีมติเป็นเอกฉันท์เพื่อเสนอต่อ ครม.ให้งดวันหยุดราชการช่วงสงกรานต์ 13-15 เม.ย.โดยไม่เป็นวันหยุดราชการ หรือเป็นวันหยุดงานของภาคเอกชน แต่รัฐจะชดเชยวันหยุดให้ในโอกาสอื่นต่อไปในปีนี้เมื่อสถานการณ์บรรเทาเบาบางลง ไม่ยุ่งยากต่อการควบคุม ส่วนจะเป็นช่วงเวลาใดจะประกาศให้ทราบต่อไป
“การพิจารณาวันหยุดชดเชยแทนวันสงกรานต์ในเดือน ก.ค.เป็นเพียงข้อเสนอในที่ประชุมที่มีการหยิบยกขึ้นมา แต่ยังไม่มีข้อสรุปอย่างเป็นทางการ เนื่องจากยังคาดการณ์สถานการณ์ในช่วงนั้นไม่ได้” นายวิษณุกล่าว
ปิดมหา’ลัย-สนามกีฬา
นายวิษณุแถลงอีกว่า การยกระดับการป้องกัน การปิดหรือหยุด หรือระงับการเปิดสถานที่บางแห่ง ซึ่งเป็นที่ชุมนุมชน หรือคนไปอยู่รวมกันจำนวนมากได้ออกเกณฑ์มา 2 ข้อ คือ 1.สถานที่ใดซึ่งมีผู้คนไปชุมนุมกันคราวละมากๆ ชุมนุมเป็นกิจวัตรและมีโอกาสเสี่ยงสูง เพราะมีกิจกรรม สัมผัส พูดจาปราศรัยกันในที่คับแคบ ขอให้มีทางเลือกหรือเลี่ยงที่จะชดเชยการชุมนุมได้ โดยให้เสนอ ครม.เพื่อให้หน่วยงานไปหยุดหรือปิดกิจการเหล่านั้นไว้ชั่วคราว โดยเริ่มได้ตั้งแต่วันพุธที่ 18 มี.ค. เช่นมหาวิทยาลัยทั้งรัฐและเอกชน โรงเรียนรัฐและเอกชน โรงเรียนนานาชาติ สถานกวดวิชา สนามมวย สนามกีฬาที่มีการสัมผัสถึงกัน เช่น สนามฟุตบอล สนามบาสเกตบอล โรงมหรสพ ส่วนโรงภาพยนตร์ต้องขอดูรายละเอียดหรือกำหนดเกณฑ์ผู้ชุมนุม ส่วนสถานที่อื่น ร้านค้า ร้านอาหาร หรือสถานที่ไม่เข้าเกณฑ์ยังเปิดได้ตามปกติ แต่ต้องมีมาตรการรองรับ เช่น วัดไข้ สวมหน้ากากอนามัย จัดที่นั่งให้ห่างกัน 1 เมตรหรือ 1 เมตรเศษ และมีเจลล้างมือ โดยให้เจ้าหน้าที่เข้าตรวจตราเป็นระยะ หากพบการฝ่าฝืนจะสั่งปิดหรือดำเนินการเป็นรายๆ ต่อไป โดยอาศัยอำนาจตามพระราชบัญญัติโรคติดต่อ มาตรา 35
รองนายกฯ แถลงอีกว่า นายกฯ ยังกำชับเรื่องมาตรการป้องกันอีกว่าต้องให้ความรู้แก่ประชาชนในการดูแลตัวเองให้ถูกต้อง และให้กำหนดมาตรการเลื่อนหรือเหลื่อมเวลาทำงานเพื่อลดจำนวนคนที่จะเดินทางไปทำงานพร้อมๆ กัน และเหลื่อมเวลารับประทานอาหารกลางวัน เพื่อไม่ให้เกิดความแออัด การจัดที่นั่งให้ห่างกันหนึ่งเมตร นอกจากนี้นายกฯ ยังสั่งการให้ทุกกระทรวงไปพิจารณาเรื่องการให้งานไปทำที่บ้านเพื่อเลี่ยงการชุมนุมพร้อมๆ กัน และให้กระทรวงรายงานให้ ครม.ทราบทุกๆ 7 วัน ส่วนภาคเอกชนและบริษัทในตลาดหลักทรัพย์ซึ่งได้ดำเนินการไปแล้ว อีกทั้งยังขอความร่วมมือไปยังบริษัทเอกชนที่จะประชุมใหญ่ผู้ถือหุ้นในเดือน เม.ย.ขอให้เลื่อนออกไป หรือถ้ามีความจำเป็นจริงๆ ขอให้ประชุมทางไกลผ่านวิดีโอคอนเฟอเรนซ์
“นายกฯ ขอให้เรื่องโควิด-19 เป็นเรื่องที่สำคัญที่สุดอันดับหนึ่งของประเทศ ส่วนเรื่องอื่นเศรษฐกิจ ผลกระทบการท่องเที่ยว การค้าขาย มีความสำคัญเป็นลำดับสอง เราต้องเอาชีวิตของประชาชนให้รอดไปก่อน เพราะไม่รู้ว่าไปข้างหน้าศึกนี้จะไปขนาดไหน เมื่อศึกเบาบางลง เศรษฐกิจสามารถฟื้นฟูเยียวยาได้ในเวลาต่อมา สามารถมีมาตรการอัดฉีดเร่งรัดได้ เราต้องเอาโควิด-19 มาเป็นลำดับแรกและเร่งด่วน” นายวิษณุกล่าว
เมื่อถามว่าการจัดสอบใหญ่ๆ ยังสามารถทำได้หรือไม่ นายวิษณุกล่าวว่าแต่ละแห่งเขาจะพิจารณาตามความเหมาะสม ซึ่งมีการรายงานถึงนายกฯ แล้วว่าบางแห่งมีความจำเป็นต้องจัด แต่ต้องมีมาตรการดูแล เช่น แจกหน้ากากอนามัย เจลล้างมือ นั่งห่างกันสองเมตร ถ้าทำไม่ได้ให้เลื่อนไปก่อน ส่วนเรื่องเกณฑ์ทหารกระทรวงกลาโหมให้เลื่อนไปก่อน ขณะที่การจัดงานศพ งานแต่ง งานวันเกิด มาตรการของรัฐยังไม่ลงไปลึกขนาดนั้น เพราะความเสี่ยงน้อย เป็นการพบปะกันไม่นาน เจ้าภาพสามารถมีมาตรการรองรับ เช่นการแจกหน้ากากอนามัย และแนะนำว่าให้หลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารร่วมกันหรือการสังสรรค์จะดีที่สุด
ติดเชื้อเพิ่มอีก 33 ราย
นพ.รุ่งเรือง กิจผาติ ที่ปรึกษาระดับกระทรวงและโฆษกกระทรวงสาธารณสุข แถลงตัวเลขผู้ติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ว่ามีผู้ป่วยเพิ่ม 33 คน ทำให้มีผู้ป่วยสะสม 147 ราย ผู้ป่วยยืนยันติดเชื้อรักษาในโรงพยาบาล 108 ราย กลับบ้านแล้ว 38 ราย เสียชีวิต 1 ราย
ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 3 ม.ค.-15 มี.ค. มีผู้ป่วยเข้าเกณฑ์สอบสวนต้องเฝ้าระวังสะสมทั้งหมด 6,545 ราย คัดกรองจากทุกด่าน 276 ราย มารับการรักษาที่โรงพยาบาลเอง 6,269 ราย อนุญาตให้กลับบ้านได้แล้วและอยู่ระหว่างติดตามอาการ 4,312 ราย ส่วนใหญ่เป็นไข้หวัดใหญ่ตามฤดูกาล ยังคงรักษาในโรงพยาบาล 2,233 ราย
สำหรับผู้ป่วยที่เพิ่ม 33 ราย เป็นรายที่ 115-147 นั้น เกิดจากการขยายการตรวจคัดกรองกลุ่มผู้สัมผัสเสี่ยงสูง โดยแบ่งเป็นกลุ่มที่ 1.ผู้ป่วยที่มีประวัติสัมผัสกับผู้ป่วยยืนยัน หรือเกี่ยวข้องกับสถานที่ที่พบผู้ป่วยยืนยันก่อนหน้านี้ 16 คน จากกลุ่มสนามมวย 7 คน, กลุ่มสถานบันเทิง 3 คน และสัมผัสผู้ป่วยที่มีรายงานมาแล้ว 6 คน และกลุ่มที่ 2 ผู้ป่วยยืนยันรายใหม่ 17 คน จากกลุ่มผู้เดินทางกลับจากต่างประเทศ 6 คน, กลุ่มทำงานใกล้ชิดสัมผัสต่างชาติ 6 คน, การระบาดเป็นกลุ่มก้อน 3 คน และกลุ่มผู้ร่วมพิธีทางศาสนาในมาเลเซีย 2 คน นอกจากนี้อยู่ระหว่างดำเนินการสอบสวนโรค และ/หรือรอผลห้องปฏิบัติการ 27 คน
ส่วนกลุ่มที่เดินทางมาจากอิตาลีที่ฐานทัพเรือสัตหีบ จ.ชลบุรี 83 คน ในจำนวนนี้มี 6 คนรับตัวไว้สังเกตอาการที่โรงพยาบาล ทั้งหมดไม่มีไข้ ต้องเฝ้าระวังอย่างต่อเนื่อง ส่วนที่เหลือ 77 คน (ผู้ชาย 24 คน ผู้หญิง 53 คน) ทุกคนไม่มีไข้ แต่ยังต้องอยู่ในการเฝ้าระวังสังเกตอาการจนครบ 14 วันที่อาคารรับรองฐานทัพเรือสัตหีบ
เมื่อถามถึงมาตรการรองรับผู้ป่วยว่าสามารถรองรับได้มากเพียงใดนั้น นพ.รุ่งเรืองกล่าวว่า เราสามารถระดมแพทย์ได้ไม่น้อยกว่าสามหมื่นคน เตียงหนึ่งแสนเตียง ซึ่งแต่ละจังหวัดได้ออกแบบระบบไว้แล้ว ตอนนี้สถานการณ์ค่อนข้างดี แต่เราเตรียมการรองรับสถานการณ์ที่แย่ที่สุดไว้แล้ว
นายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) กล่าวว่า การแพร่ระบาดของไวรัสส่งผลกระทบทางเศรษฐกิจที่มีผลต่อประชาชนในหลายกลุ่ม โดยเฉพาะผู้ประกอบอาชีพอิสระและผู้ทำงานรับจ้างที่ได้รับค่าตอบแทนรายวัน โดยหลังจากการประชุม ครม.ในวันที่ 17 มี.ค.นี้จะมีแนวทางที่ชัดเจนออกมา โดยนายกฯ มอบหมายให้กระทรวงการคลังไปพิจารณาแนวทางการเยียวยาให้ครบถ้วน นอกเหนือจากมาตรการเดิมที่ช่วยเหลือธุรกิจการท่องเที่ยวและเรื่องอื่นๆ นอกจากนี้รัฐบาลกำลังเร่งหามาตรการรองรับกรณีแรงงานต่างด้าวจำนวนมาก ที่จะลาหยุดช่วงเทศกาลสงกรานต์เพื่อเดินทางกลับประเทศบ้านเกิด โดยต้องตรวจคัดกรองโรคคนเหล่านี้ในช่วงเข้าประเทศไทย
ปลุกคนไทยร่วมสู้ไวรัส
ในเวลา 19.00 น. พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ได้ออกโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจแห่งประเทศไทย (ทรท.) แถลงถึงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ว่าการแพร่ระบาดของโรคติดต่อเชื้อไวรัสโควิด-19 ตั้งแต่เตือนธันวาคมปี 2562 จนถึงวันนี้ 16 มี.ค. มีการระบาดไปแล้วถึง 154 ประเทศ มีจำนวนผู้ป่วยรวม 167,543 รายทั่วโลก และประเทศไทยเองจนถึงวันนี้มีผู้ติดเชื้อแล้ว 147 ราย รักษาหายกลับบ้านแล้ว 38 ราย เสียชีวิต 1 ราย และยังไม่มีผู้เสียชีวิตเพิ่มขึ้น
พล.อ.ประยุทธ์กล่าวต่อว่า ช่วงที่ผ่านมาไทยสามารถชะลอการแพร่กระจายของโรคได้ดี ด้วยระบบสาธารณสุขที่เข้มแข็งและความร่วมมือของทุกฝ่าย แต่การระบาดในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมานี้มีจำนวนผู้ป่วยเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ซึ่งสาเหตุสำคัญเกิดขึ้นจากการรวมตัวของประชาชนจำนวนมาก และเป็นช่วงที่มีจำนวนผู้ป่วยเกิดขึ้นมากทั่วโลก รวมถึงไทย เมื่อสถานการณ์เป็นเช่นนี้ประชาชนย่อมกังวล บางท่านอาจรู้สึกกลัวการติดเชื้อเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะมีการเสนอข่าวการแพร่ระบาดและผู้เสียชีวิตในต่างประเทศจำนวนมาก รวมถึงมีข่าวสารมากมายที่ไม่ได้ผ่านการคัดกรองได้ส่งถึงประชาชนอย่างรวดเร็ว ในข่าวสารเหล่านั้นบางส่วนก็ไม่เป็นความจริง ทำให้เกิดความตระหนกแตกตื่น จึงเริ่มมีการกักตุนหน้ากากอนามัยและสินค้าอุปโภคบริโภค ซึ่งไม่มีความจำเป็นในสถานการณ์เช่นนี้
“ผมขอย้ำว่ารัฐบาลไม่เคยนิ่งนอนใจจนถึงวันนี้ รัฐบาลและทุกภาคส่วนได้ร่วมมือร่วมใจทำงาน ในการคัดกรองผู้ป่วยตามมาตรฐานสากลอย่างมีประสิทธิภาพ มีการตรวจทางห้องปฏิบัติการที่รวดเร็วและเชื่อถือได้ มีการจัดเตรียมบุคลากรทางการแพทย์ สถานพยาบาล และเวชภัณฑ์ทั่วประเทศอย่างเพียงพอ เพื่อรองรับผู้ติดเชื้อและสร้างความมั่นใจให้บุคลากรทางการแพทย์ และผู้ปฏิบัติงานที่เกี่ยวข้องทั้งหมด ผมถือว่าบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขคือหัวใจสำคัญในการควบคุมการระบาดและรักษาโรค รัฐบาลจึงให้การสนับสนุนและดูแลอย่างเต็มที่ ทั้งอุปกรณ์ ความปลอดภัย และสร้างขวัญกำลังใจในการปฏิบัติหน้าที่ องค์การอนามัยโลกประเมินว่าการระบาดของโรคโควิด-19 จะเป็นการระบาดเป็นวงกว้าง โดยคาดว่าจะมีผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นเป็นจำนวนมาก และอาจมีผู้เสียชีวิตเพิ่มมากขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เช่นเดียวกับประเทศอื่นๆ ทั่วโลก เพื่อลดการสูญเสียให้น้อยที่สุด”
นายกฯ ระบุว่า ประเทศไทยจะชนะการต่อสู้กับไวรัสนี้ก็ด้วยความร่วมมือของประชาชน โดยงดการเดินทางไปต่างประเทศในช่วงนี้ กรณีกลับจากกลุ่มประเทศเสี่ยงต้องกักตัวอย่างเคร่งครัด 14 วัน รักษาสุขอนามัยส่วนตัวเพื่อป้องกันการติดเชื้อ ได้แก่ กินร้อน อาหารปรุงสุกใหม่ สะอาด ไม่กินของแปลก ช้อนเรา แก้วเรา ห้ามกินน้ำแก้วเดียวกัน สวมหน้ากากอนามัยในพื้นที่เสี่ยง คนไม่ป่วยใช้หน้ากากผ้า แต่ถ้ามีอาการป่วยควรสวมหน้ากากอนามัย ล้างมือด้วยสบู่บ่อยๆ กรณีไปที่สาธารณะแล้วต้องจับลูกบิดประตู ราวรถเมล์ ปุ่มกดลิฟต์ บันไดเลื่อน เป็นต้น ผู้ที่มีความเสี่ยงต่อการเกิดโรครุนแรง ผู้สูงอายุ ผู้ที่มีโรคประจำตัวเรื้อรังต้องดูแลรักษาสุขภาพให้แข็งแรง กินยาอย่างสม่ำเสมอ เพราะหากติดเชื้อจะมีอาการหนักและมีโอกาสเสียชีวิตสูง หลีกเลี่ยงการไปสถานที่แออัด อากาศถ่ายเทไม่สะดวก เพราะมีโอกาสจะแพร่เชื้อ หากหลีกเลี่ยงไม่ได้ควรสวมหน้ากากอนามัยและยืนห่างกันอย่างน้อย 1 เมตร โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้เจ็บป่วยไม่สบายควรอยู่บ้าน อย่ากักตุนของ อย่าวิตกกังวลจนเกินไป ขอให้มีความเชื่อมั่นในรัฐบาล จะจัดการให้มั่นใจได้ว่าจะมีหน้ากากอนามัย เครื่องอุปโภคบริโภค และสิ่งจำเป็นที่ต้องใช้อย่างเพียงพอ ขอความร่วมมือผู้ที่ยังไม่มีอาการ ไม่มีประวัติเสี่ยงติดเชื้อ และแพทย์วินิจฉัยแล้วยังไม่มีความจำเป็นต้องตรวจ ก็ขอให้สังเกตอาการต่อไปเพื่อไม่สิ้นเปลืองค่าใช้จ่าย และจะได้มีชุดตรวจเพียงพอสำหรับผู้ที่จำเป็นต้องใช้จริงๆ เท่านั้น เนื่องจากค่าใช้จ่ายในการตรวจยังมีราคาแพง และขอความร่วมมือหยุดการกระจายข่าวที่ไม่เป็นความจริง สร้างความแตกตื่นให้ประชาชน และก่อนจะมีการกระจายข่าวใดๆ ขอให้มีการตรวจสอบความถูกต้องก่อน
“การระบาดของโรคนี้ยังคงดำเนินไปอีกระยะหนึ่ง ผมรู้ว่าพวกเราทุกคนต้องลำบาก ต้องเจ็บปวด แต่เราต้องอดทนร่วมกันฟันฝ่าวิกฤติครั้งนี้ไปด้วยกัน ผมขอขอบคุณผู้ปฏิบัติงานทุกฝ่ายและประชาชนทุกคน ประเทศไทยต้องชนะครับ” พล.อ.ประยุทธ์กล่าวพร้อมชูกำปั้นทั้งสองข้าง.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |