ในภาวะวิกฤติซ้อนวิกฤติสำหรับประเทศไทยนั้น ตัวเลขอัตราโตจีดีพีจะหดตัวรุนแรงเพียงใด
หรือตลาดหุ้นและตลาดการเงินจะผันผวนปั่นป่วนเพียงใด
ไม่สำคัญเท่ากับว่าธุรกิจและผู้ประกอบการระดับกลางและระดับเล็กจะ “ตาย” เสียก่อนหรือไม่
วิกฤติโรคระบาดผสมกับภัยแล้งและอำนาจซื้อที่ถดถอยอย่างแรงนั้นกำลังนำไปสู่ “วิกฤติแห่งความอยู่รอด” ในความหมายที่แท้จริง
มาตรการที่รัฐบาลออกมา เช่น ลดดอกเบี้ย, ปรับโครงสร้างหนี้, เลื่อนการจ่ายภาษีและอื่นๆ จะไม่มีความหมายอะไรเลยหากธุรกิจระดับกลางและเล็ก “หมดลมหายใจ” ไปเสียก่อน
เหตุที่ธุรกิจจำนวนมากในประเทศจะต้อง “สิ้นลม” ไปก่อน ก็เพราะขาดออกซิเจน
ออกซิเจนในทีนี้คือเงินสดหมุนเวียน หรือ cash flow
ณ จุดนี้ ตัวเลขกำไรขาดทุนยังไม่สำคัญเท่ากับเงินสดหมุนเวียนที่จะให้ธุรกิจเดินหน้าต่อไปได้วันต่อวัน สัปดาห์ต่อสัปดาห์ เดือนต่อเดือน
ค่าใช้จ่ายประจำหรือเลือดหมุนเวียนของธุรกิจในยามวิกฤติเช่นนี้คือ เงินเดือนพนักงาน, ค่าน้ำ ค่าไฟ, ค่าเช่า, เงินจ่ายวัตถุดิบเพื่อการผลิต
เพราะเมื่อทุกคนถูกกระทบเหมือนกันหมด ผู้ประกอบการก็คาดหวังไม่ได้ว่าลูกค้าจะมีเงินจ่ายเพื่อซื้อสินค้าของตน
ไม่ว่าคุณจะอยู่ส่วนไหนของห่วงโซ่อุปาทาน หรือ supply chain ปัญหาสำคัญก็คือไม่มีเงินสดจ่ายหนี้การค้าวันต่อวันเพื่อให้ธุรกิจของคุณเดินต่อไปได้วันต่อวัน
เรื่องกำไรขาดทุน เรื่องอัตราดอกเบี้ย เรื่องปรับโครงสร้างหนี้ เรื่องเสียภาษียังรอได้ ต่อรองเจรจาได้
แต่เรื่องเงินสดวันต่อวันที่ใช้ต่อลมหายใจนั้นคือตัวตัดสินว่าคุณจะอยู่รอดถึงพรุ่งนี้หรือไม่...ไม่ต้องพูดถึงว่าจะอยู่รอดถึงโรคระบาดหมดไปหรือไม่ด้วยซ้ำ
นี่คือวิกฤติตัวจริงที่ประชาชนในแวดวงต่างๆ ไม่ว่าจะอยู่ในเมือง, ต่างจังหวัดหรือชนบทห่างไกล
ผู้ประกอบการ SME, เจ้าของร้านรวงเล็กๆ ทั่วทุกหัวระแหง, เกษตรทุกหย่อมหญ้าที่ถูกฤทธิ์ภัยแล้งกระหน่ำอยู่แล้วก็กำลังถูกโรคระบาดซ้ำเติมอย่างหนักหน่วง
ผู้นำจีนเรียกมาตรการช่วยเหลือผู้ตกอยู่ในสภาพสิ้นไร้ไม้ตอกในวงการต่างๆ นี้ว่า
“เติมน้ำเลี้ยงปลา”
เพราะเมื่อคนทำมาหากินขาดเงินหมุนเวียนประจำวัน ก็เหมือนปลาในหนองน้ำคลองบึงที่แห้งผาก หากไม่มีน้ำมาเพิ่ม ดิ้นไปได้ไม่นานก็ตายต่อหน้าต่อตา
นโยบายของรัฐบาลจีนในการอุ้มชูธุรกิจที่กำลังเผชิญกับภัยพิบัตินั้นก็คือการหาทางเอาภาษีประชาชนมาแจกจ่ายให้กับผู้ที่เดือดร้อนที่สุดเป็นมาตรการแรกๆ ก่อนที่จะพูดถึงการเยียวยาด้านต่างๆ
เพราะหากผู้คนอยู่ในสภาพปริ่มน้ำ จมูกอยู่ใต้น้ำ ไม่มีประโยชน์อันใดที่จะรับปากว่ากำลังจะส่งเรือไปช่วย เพราะเขาอาจจะจมน้ำก่อนที่เรือจะไปถึง
วันนี้เราตกอยู่ในสภาพปลาในหนองในบึงกำลังว่ายต่อไปไม่ไหว เพราะน้ำเหือดแห้งลงไปถึงก้นบ่อแล้ว
ดังนั้นสิ่งที่รัฐบาลจะต้องทำโดยด่วนก็คือการ “ปล่อยน้ำ” เพื่อ “เลี้ยงปลา” ไม่ให้ตายไปเสียก่อน
เพราะมิฉะนั้นเราจะเห็นปรากฏการณ์ “ปลาตายหมู่” เกลื่อนไปทั่วทุกหัวระแหง
การแก้ปัญหาหนักเรื่อง cash flow หรือเงินสดหมุนเวียนคือการช่วยเหลือด้วยการให้เงินเข้าถึงจุดที่เดือดร้อนที่สุดอย่างรวดเร็วที่สุด
ผู้ประกอบการที่กำลังหมดแรงสิ้นสภาพ เตรียมจะปลดพนักงาน เพราะเดินต่อไปไม่ไหวจะทบทวนความคิดอย่างนั้นได้ก็ต่อเมื่อรัฐเข้ามาให้แรงจูงใจว่าหากเขาไม่โละพนักงาน รัฐบาลจะให้ความช่วยเหลือในรูปแบบที่เป็นเงินสดเดือนต่อเดือนในช่วงนี้ได้อย่างไร
ผู้ประกอบการต้องการให้รัฐบาลสั่งให้สถาบันการเงินลงไปพูดจากับผู้ประสบภัยทั้งหลายนี้อย่างทันท่วงทีเพื่อ “ปล่อยน้ำ” ในปริมาณที่เพียงพอและต่อเนื่องในระยะหนึ่งเพื่อยังรักษาลมหายใจเอาไว้
ภัยครั้งนี้หนักหน่วงตรงที่มีผลกระทบต่อธุรกิจตั้งแต่ระดับใหญ่ไปถึงรากหญ้า
สำหรับธุรกิจระดับใหญ่นั้น เขาย่อมดูแลเขาได้ ธนาคารและเจ้าหนี้กับลูกหนี้รู้วิธีการปรับตัวเพื่อให้ฝ่าข้ามวิกฤติครั้งนี้ไปด้วยกันได้
แต่สำหรับผู้ประกอบการระดับกลางและล่าง รวมไปถึงเกษตรกรและผู้รับจ้างในอุตสาหกรรมต่างๆ นั้น การเข้าถึงสถาบันการเงินเป็นเรื่องยาก และแม้จะมีนโยบายทางการให้ช่วยเหลือ แต่กว่าถั่วจะสุกงาก็ไหม้หมดแล้ว
จึงเป็นหน้าที่ของรัฐบาลที่จะต้องระดมสรรพกำลังทั้งฝ่ายรัฐและเอกชน รวมถึงวิชาการที่จะหามาตรการทุกทางเพื่อ
“เติมน้ำเลี้ยงปลา” ในยามคับขันนี้ให้จงได้.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |