พรวดติดเชื้อ32ราย 'บิ๊กตู่'ถกด่วนรับระยะที่3 ชงชัตดาวน์ผับ-พรมแดน


เพิ่มเพื่อน    


    "บิ๊กตู่" ถกศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 เตรียมมาตรการรับมือหากเข้าสู่ระยะที่ 3 ย้ำต้องฟังหมอเป็นหลัก จ่อปิดผับ-สถานบันเทิงป้องกันแพร่ระบาด พร้อมเล็งตั้ง รพ.ศูนย์เฉพาะกิจรักษาโควิด "สธ." แถลงพบผู้ติดเชื้อเพิ่มอีก 32 คน "ทร." รับนักศึกษา-คนไทยจากอิตาลี 83 คนเฝ้าระวังที่สัตหีบ "หมอยง" ชี้ไทยมีแนวโน้มผู้ป่วยแบบก้าวกระโดด ผลพวง "แมทธิว" ลาม "เจ้ากรมสวัสดิการทหารบก" ร่วมเวทีมวย ลุ้นผลตรวจเชื้อโคโรนา จับตา "ธุรกิจการบิน" เสนอรัฐปิดพรมแดน 1 เดือนสู้ไวรัส
    ที่ศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 ตึกสันติไมตรี ทำเนียบรัฐบาล วันที่ 15 มี.ค. เวลา 09.30 น. พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 ร่วมกับ พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย, นายดอน ปรมัตถ์วินัย รมว.การต่างประเทศ, นายเทวัญ ลิปตพัลลภ รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี, พล.อ.ชัยชาญ ช้างมงคล รมช.กลาโหม, พล.อ.ณัฐ อินทรเจริญ ปลัดกระทรวงกลาโหม, นายธีรภัทร ประยูรสิทธิ ปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี และคณะกรรมการจากทุกกระทรวง รวมถึงเจ้าหน้าที่ทุกภาคส่วนเข้าร่วมประชุม ใช้เวลากว่า 2 ชม.
    พล.อ.ประยุทธ์กล่าวหลังการประชุมว่า ที่ประชุมได้มีการพูดคุยถึงการเตรียมมาตรการรองรับหากสถานการณ์เข้าสู่ระยะที่ 3 ว่ากระทรวงการต่างประเทศจะต้องทำอะไร เตรียมการในส่วนใดบ้าง ฝ่ายความมั่นคงต้องไปพิจารณาว่าจะต้องใช้กฎหมายใดเพื่อเพิ่มเติมเป็นพิเศษ การประกาศนั้นง่ายอยู่แล้ว แต่สิ่งสำคัญเราต้องมาดูผลกระทบที่จะเกิดขึ้นจะต้องทำอย่างไร ทั้งเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ เศรษฐกิจ และเรื่องสุขภาพ ล้วนแต่เป็นสิ่งสำคัญทั้งสิ้น
    “ยอมรับว่าวันนี้ประชาชนเดือดร้อนเยอะ จึงอยากขอร้องว่าวันนี้ยังไม่ถึงขั้นตอนที่จะต้องไปกักตุนอะไรนักหนา ผมคิดว่าอย่าไปกลัวถึงขนาดนั้นเลย วันนี้เรามีมาตรการเพิ่มเติมขึ้นมา ทั้งในเรื่องการติดตามตัว การใช้แอปพลิเคชันต่างๆ กำลังพิจารณาดูว่าจะบังคับใช้กับทุกคนได้หรือไม่ เพราะบางครั้งก็ติดในเรื่องของสิทธิส่วนบุคคล จะต้องได้รับการยินยอมจากเจ้าตัว” พล.อ.ประยุทธ์กล่าว
    นายกฯ กล่าวว่า เราต้องแยกการปฏิบัติในส่วนของคนไทยและในส่วนของชาวต่างประเทศ ซึ่งทั้งหมดเป็นมาตรการที่เสนอมาโดยคณะแพทย์ อย่าลืมว่านายกรัฐมนตรีไม่ใช่หมอ นายกรัฐมนตรีเป็นผู้บริหาร เราก็ต้องฟังหมอเป็นหลัก ซึ่งวันนี้หมอที่มาร่วมประชุมไม่ใช่หมอเฉพาะกระทรวงสาธารณสุข แต่มีหมอจากภายนอกเข้ามา ซึ่งมีหมออาวุโส ผู้เชี่ยวชาญ เพราะประเทศไทยมีโรคระบาดเกิดขึ้นหลายโรคแล้ว วันนี้ทุกฝ่ายได้เข้ามาช่วยกันทั้งหมด เว้นแต่บางคนที่ยังเข้ามาไม่ได้ เพราะบางครั้งยังพูดไม่ตรงกัน ซึ่งไม่ใช่ว่าจะต้องพูดตรงกับรัฐบาลแล้วถึงจะให้เข้ามาร่วมทำงาน เพียงแต่เราต้องฟังเหตุและผลด้วยกัน 
    "ต้องขอความร่วมมือจากทุกคน นายกฯ ให้ความสำคัญกับทุกคน วันนี้คนไทยที่กลับจากต่างประเทศเราก็มีมาตรการดูแลทั้งนักศึกษาทุนเอเอฟเอส และแรงงาน เพราะทุกคนก็ต้องการกลับบ้าน เราต้องมาดูถึงมาตรการการคัดกรอง ทั้งเรื่องของสถานที่ อย่างที่ศูนย์สัตหีบเราก็ยังมีการใช้อยู่ ไม่ได้สั่งปิดหรือเปิด เมื่อมีคนเข้ามาและจำเป็นต้องเข้าไปใช้ก็ต้องใช้" นายกฯ กล่าว
    พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า สำหรับเรื่องโรงพยาบาลในอนาคตตนได้ให้แนวทางไปว่าควรจะมีการจัดตั้งโรงพยาบาลที่เปิดเป็นศูนย์เฉพาะกิจในการรักษาพยาบาลโรคไวรัสโคโรนา ถ้าสถานการณ์เข้าสู่ระยะที่ 3 ซึ่งขณะนี้มีสถานที่แล้วเป็นโรงพยาบาลที่สร้างใหม่ แต่ยังไม่ได้เปิดใช้งาน มีจำนวนเตียงประมาณ 100 เตียง จะใช้เป็นโรงพยาบาลศูนย์เฉพาะกิจสำหรับโรคโควิดโดยเฉพาะ ถือเป็นมาตรการรองรับในอนาคตในส่วนของอุปกรณ์และเครื่องมือต่างๆก็ให้มีการเสนอขึ้นมา ซึ่งรัฐบาลพร้อมทุ่มสรรพกำลังในตรงนี้ ถือเป็นหน้าที่ของรัฐบาลสนับสนุนทุกเรื่องที่เป็นความต้องการของหน่วยงานภาครัฐจากมติของคณะกรรมการโรคระบาดแห่งชาติ
พบติดเชื้อเพิ่มอีก 32 ราย
    ถามถึงข้อเสนอให้มีการปิดผับและสถานบันเทิงในพื้นที่เสี่ยง พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า ในเรื่องของสถานบันเทิงได้มีการหารือแล้ว ขณะนี้กำลังดูว่าถ้าขอความร่วมมือได้ก็จะขอความร่วมมือ ในส่วนที่มีปัญหาอยู่ต้องดูว่าเขาพร้อมที่จะปิดตัวเองหรือยัง และเมื่อถึงเวลาจำเป็นก็อาจต้องปิดทั้งหมด แต่สิ่งนี้คืออีกขั้นตอนหนึ่ง เรื่องนี้ไม่ใช่ว่าเราทำช้า แต่ต้องคำนึงถึงหลายๆ ส่วน ไม่ว่าจะเป็นสนามกีฬา สนามมวย ผับต่างๆ 
    "ขณะนี้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกำลังไปหารือกันว่าควรมีมาตรการอย่างไร เรื่องนี้เราต้องฟังจากหมอว่าจะควบคุมอย่างไร ไม่ใช่อะไรก็จะให้นายกฯ สั่งตาม ใครอยากได้อะไรผมจะต้องสั่ง ทำงานอย่างนี้ไม่ใช่ นับจากนี้ไปผมจะพูดให้น้อยลงก็แล้วกัน พูดเยอะเดี๋ยวกลายเป็นหมอตู่ไปอีก" พล.อ.ประยุทธ์กล่าว
    เมื่อถามถึงข้อเสนอให้ประชาชนสามารถตรวจเชื้อหาเชื้อไวรัสโควิดฟรี เพื่อเป็นอีกวิธีในการป้องกันการแพร่ระบาด นายกฯ กล่าวว่า เรื่องนี้มีการเสนอแล้ว โดยจะมีการใช้กฎหมายกรณีเจ็บป่วยฉุกเฉินวิกฤติ มีสิทธิทุกที่ หรือยูเซ็ป (Universal Coverage for Emergency Patients : UCEP) ที่เริ่มประกาศใช้ตั้งแต่เมื่อวันที่ 1 เม.ย.60 โดยให้ผู้ป่วยในทุกสิทธิ์การรักษาที่เจ็บป่วยฉุกเฉินวิกฤติ สามารถเข้ารับการรักษายังโรงพยาบาลที่อยู่ใกล้ที่สุด ณ จุดเกิดเหตุได้ รวมถึงโรงพยาบาลเอกชน ในช่วงเวลา 72 ชั่วโมงแรก ขณะนี้กำลังดำเนินการอยู่ ซึ่งต้องให้หมอเป็นผู้อธิบาย ตนไม่ใช่หมอ
    นายกฯ กล่าวว่า ได้บูรณาการภาพรวมทั้งหมดตั้งแต่ต่างประเทศ สนามบิน พื้นที่ควบคุม ส่วนภาคปฏิบัติมีการบูรณาการกันอยู่แล้ว ถ้าเรามัวฟังแต่ในสื่อทุกอย่างก็มีปัญหา เราต้องยอมรับว่าสถานการณ์ไม่เคยเกิดขึ้นมานานแล้ว ดังนั้นเมื่อเกิดเหตุการณ์ขึ้นมาย่อมมีความยุ่งยาก สับสนพอสมควร เนื่องจากต้องดูแลคนจำนวนมาก ทั้งในและต่างประเทศ มีการเข้าและออก วันนี้เจ้าหน้าที่ทำจนสามารถเข้ามาในระบบ 
    "ยืนยันการบริหารจัดการรัฐบาลและเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องไม่ได้ล่าช้า เพียงแต่หลายอย่างต้องอาศัยความเข้าใจ เนื่องจากมีคนจำนวนมากในการทำงานร่วมกัน อย่างวันนี้มีคนเข้าประเทศลดลงเยอะมาก ซึ่งสถิติก็มีอยู่แล้ว เที่ยวบินก็ลดลงจำนวนคนที่เคย เข้ามาวันละ 60,000-70,000 คน วันนี้เหลือเพียง 6,000 คน เป็นปัญหาที่ตามมา ซึ่งต้องมาคิดดูว่าจะทำอย่างไรกันต่อไป แต่วันนี้สุขภาพถือเป็นเรื่องสำคัญที่สุด" นายกฯ กล่าว
    ขณะที่ศูนย์ปฏิบัติการฉุกเฉินด้านการแพทย์และสาธารณสุข กระทรวงสาธารณสุข (สธ.), นพ.สุขุม กาญจนพิมาย ปลัดกระทรวงสาธารณสุข แถลงถึงสถานการณ์ผู้ป่วยติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 (COVID-19) ของไทยประจำวันว่า พบผู้ป่วยยืนยันติดเชื้อรายใหม่ 32 ราย จากที่ติดตามอยู่ 36 ราย แบ่งเป็น 6 กลุ่มคือ 1.ที่สนามมวยราชดำเนิน 9 ราย 2.สถานบันเทิง 8 ราย 3.ตำรวจ ตม.ที่ทำงานสัมผัสกับกลุ่มนักท่องเที่ยว และร้านอาหารในสนามบินสุวรรณภูมิ 3 ราย 4.ผู้ที่เดินทางกลับจากต่างประเทศ 7 ราย โดยเป็นคนไทย 5 ราย และชาวต่างชาติที่มารักษาในไทย 2 ราย 5.ผู้สัมผัสเจ้าของร้านอาหารที่ติดเชื้อ 2 ราย และ 6.อยู่ระหว่างดำเนินการสอบสวนโรค 3 ราย 
    นอกจากนี้ ยังมีข้าราชการที่ไปดูงานที่ประเทศสเปนในช่วงนี้ติดเชื้อด้วยอีก 1 ราย และยังอยู่ระหว่างรอผลการตรวจทางห้องปฏิบัติการอีก 51 ราย ที่มีความสัมพันธ์กับ 6 กลุ่มดังกล่าว ดังนั้นขณะนี้ยอดผู้ป่วยยืนยันติดเชื้อรักษาในโรงพยาบาล 76 ราย กลับบ้านได้แล้ว 37 ราย เสียชีวิต 1 ราย ขณะที่ผู้ป่วยสะสมในขณะนี้อยู่ที่ 114 ราย
    นพ.สุขุมกล่าวว่า ขณะนี้เราพบผู้ป่วยรายใหม่จากสถานที่ที่มีคนหนาแน่น เช่น ผับ สนามมวย ร้านอาหาร จึงขอให้หลีกเลี่ยงหรืองดไปสถานที่ดังกล่าว แต่หากมีความจำเป็นต้องไป ขอให้สวมหน้ากากอนามัย หมั่นล้างมือ แยกภาชนะแก้วน้ำ ช้อน หากเป็นผู้ปฏิบัติงานในสถานที่ดังกล่าว ก็ขอให้สวมหน้ากากอนามัย หมั่นล้างมือด้วยเจลแอลกอฮอล์บ่อยๆ ส่วนผู้ประกอบการให้เพิ่มความถี่ในการทำความสะอาดสถานที่ โต๊ะ เก้าอี้ และเปิดหน้าต่าง ประตู ระบายอากาศทุกวัน รวมทั้งขอให้งดการเดินทางไปต่างประเทศเพื่อลดการแพร่ระบาดของโรคด้วย ทั้งนี้ ร้านอาหาร สถานบันเทิง ที่พบผู้ป่วยนั้น กรุงเทพมหานครได้ดำเนินการลงพื้นที่ทำความสะอาดเรียบร้อยแล้ว
    "ในสัปดาห์หน้าคณะกรรมการโรคติดต่อ กทม. จะมีการจัดประชุมเพื่อดำเนินการตามกฎหมาย มาตรา 35 ของ พ.ร.บ.โรคติดต่อ พ.ศ.2558 ที่การจะสั่งปิดสถานที่ใดๆ ต้องได้รับการเห็นชอบจากคณะกรรมการโรคติดต่อด้วย" นพ.สุขุมกล่าว 
นศ.83คนกลับจากอิตาลี
    ปลัด สธ.กล่าวว่า ในช่วงเช้าของวันนี้ที่ฐานทัพเรือสัตหีบ ได้รับผู้เดินทางจากประเทศอิตาลีจำนวน 83 คน ประกอบด้วย นักศึกษาแลกเปลี่ยน 78 คน, นักท่องเที่ยวชาวไทยที่ติดค้าง 3 คน และพนักงานสายการบิน 2 คน ซึ่งในจำนวนนี้พบว่า 6 คนมีอาการไอ มีน้ำมูก แต่ไม่มีไข้ จึงส่งไปที่โรงพยาบาลเพื่อดำเนินการต่อไป ส่วนผู้เดินทางอีก 77 คนที่เหลือนั้น ได้ส่งไปสังเกตอาการที่อาคารรับรองฐานทัพเรือสัตหีบ จ.ชลบุรี เป็นเวลา 14 วัน
    ด้าน นพ.ธนรักษ์ ผลิพัฒน์ รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวถึงกรณีที่จำนวนผู้ติดเชื้อในลักษณะเป็นกลุ่มก้อนมีเพิ่มขึ้นว่า เข้าใจว่าอาจหมายถึงประเทศไทยในขณะนี้เข้าสู่การแพร่ระบาดในระยะที่ 3 หรือไม่นั้น ขณะนี้เราต้องเพิ่มความเร็วมากขึ้นในการทำงาน ถ้ามีคนไข้หลุดมือไปจำนวนหนึ่งแล้วไปแพร่เชื้ออย่างที่เราเห็น ก็จะเกิดการแพร่โรคในลักษณะกลุ่มก้อนขนาดใหญ่ได้ เราจึงพยายามตามตะครุบผู้ป่วยให้ได้โดยเร็ว แต่ภาครัฐก็มีศักยภาพในระดับหนึ่ง ซึ่งเราทำงานอย่างเต็มที่ ดังนั้นถ้าผู้ป่วยทุกคนหรือผู้ที่สัมผัส หลีกเลี่ยงการไปแพร่เชื้อให้กับผู้อื่นได้ก็จะเป็นสิ่งที่ดี เราหวังจะได้รับความร่วมมือจากประชาชนด้วย 
    ถามว่าช่วงนี้มีฝนตกความชื้นอาจจะส่งผลต่อการแพร่ระบาดหรือไม่ นพ.ธนรักษ์กล่าวว่า ไม่อยากให้เป็นห่วงเรื่องของอากาศ เพราะตอนนี้เชื้อโรคไม่ได้สนความชื้น และไม่กลัวความร้อน ถ้าเราไปสัมผัสกับผู้ที่ติดเชื้อ ดังนั้นขอให้ทำตัวเหมือนกันในทุกวันจะดีกว่า
    ส่วน นพ.รุ่งเรือง กิจผาติ ที่ปรึกษาระดับกระทรวงและโฆษกกระทรวงสาธารณสุข กล่าวถึงกรณีหลายภาคส่วนมีเสียงสะท้อนค่าตรวจโรคโควิด-19 มีราคาแพงว่า ตามปกติหากใครก็ตามมีอาการไม่สบาย เช่น มีไข้ เป็นหวัดหรือน้ำมูกและประวัติเสี่ยง สามารถไปที่โรงพยาบาลที่แต่ละคนมีสิทธิ ซึ่งจะไปเองหรือให้เจ้าหน้าที่ไปรับก็ได้ โดยจะได้รับการตรวจและรักษาฟรีในทุกโรงพยาบาล เพราะทุกคนมีทั้งสิทธิของข้าราชการ สิทธิตามหลักประกันสุขภาพ หรือแม้แต่สิทธิประกันสังคม แต่มีหลักเกณฑ์จะต้องมีอาการป่วยและประวัติเสี่ยงสัมผัส รวมถึงนโยบายเจ็บป่วยฉุกเฉินวิกฤติ มีสิทธิทุกที่ หรือ Universal Coverage Emergency Patient (UCEP) หากเจ็บป่วยภายใน 72 ชั่วโมงแรก สามารถเข้ารับการรักษาหรือช่วยชีวิตโดยไม่มีค่าใช้จ่ายใน 72 ชั่วโมงแรก ไม่ว่าจะในโรงพยาบาลไหนก็ตาม แต่ถ้าไม่มีอาการแล้วไปโรงพยาบาลจะไม่สามารถใช้สิทธิ UCEP ได้ ดังนั้นต้องมีอาการหอบอย่างหนัก ต้องสงสัยว่าเป็นโควิด-19 สามารถเข้าโรงพยาบาลไหนก็ได้ โดยใช้สิทธิ UCEP  
    นพ.รุ่งเรืองกล่าวว่า โรงพยาบาลจะมีการคัดกรองและซักประวัติ แต่หากไม่มีอาการป่วย ขอความกรุณา ไม่มีความจำเป็นที่จะต้องไปตรวจ เพราะตรวจไปก็ไม่มีประโยชน์ และเสียเงินด้วย ส่วนใหญ่ตรวจไปก็ไม่พบเชื้อ แต่ถ้ารู้ว่าตัวเองมีประวัติเป็นกลุ่มเสี่ยง เช่น สัมผัสใกล้ชิดกับผู้ป่วยที่ได้รับการยืนยันแล้ว ขอให้ติดต่อมายังกรมควบคุมโรค สายด่วน 1422 ได้ทันที จะมีเจ้าหน้าที่เข้าไปดูแล วันนี้ผู้ป่วยที่ได้รับยืนยันในแต่ละราย เราทำงานเต็มที่ เราติดตามคนที่ใกล้ชิด 40-170 ราย แต่ไม่ใช่ว่าคนเหล่านี้มีอาการ แต่เป็นกลุ่มเสี่ยง
บิ๊กทหารเสี่ยงติดโควิด 
    วันเดียวกัน ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์เฟซบุ๊กส่วนตัวตอนหนึ่งระบุว่า การระบาดของโควิด-19 ในประเทศไทยขณะนี้มีแนวโน้มที่จะมีจำนวนผู้ป่วยแบบก้าวกระโดด และพบการกระจายเป็นกลุ่ม แนะนำสิ่งที่จำเป็นมากในช่วงที่มีการระบาดอย่างรวดเร็ว ต้องเน้นเรื่องมาตรการทางสังคม ช่วงเวลานี้ขอให้งดทำกิจกรรมในคนหมู่มาก พร้อมระบุ ภาครัฐ ควรจะต้องมีการเปลี่ยนคำจำกัดความกลุ่มเสี่ยงใหม่ เพราะในอนาคตอันใกล้ ทุกคนมีโอกาสจะเสี่ยงหมด
    ในส่วนความคืบหน้ากรณีนายแมทธิว ดีน ดารานักแสดง ออกมายอมรับติดเชื้อไวรัสโควิด-19 และเข้ารับการรักษาอยู่ที่โรงพยาบาล ล่าสุดมีความเคลื่อนไหวจากแมทธิว โดยเจ้าตัวก็ได้โพสต์รูปของตัวเองผ่านอินสตาแกรมส่วนตัวที่ชื่อ matthew.deane1 เมื่อเวลาประมาณ 10.00 น.ที่ผ่านมา เป็นภาพที่นอนอยู่ที่โรงพยาบาลจำนวน 2 รูป พร้อมแคปชั่นระบุว่า ขอบคุณทุกกำลังใจที่ส่งมาให้ และเราทุกคนจะผ่านช่วงเวลานี้ไปด้วยกัน
    “ขอบพระคุณทุกกำลังใจที่ส่งมาให้นะครับ รู้สึกซาบซึ้งจริงๆ เราทุกคนต้องผ่านพ้นช่วงนี้ไปด้วยกัน ไม่แยกกัน ไม่โทษกัน ไม่ตีกัน ทุกที่ทุกประเทศกำลังลำบาก Thank you all for your kind messages of support, they are much appreciated. We all gotta stick together to fight this virus. #covid19”
    ด้าน พ.อ.หญิงศิริจันทร์ งาทอง รองโฆษกกองทัพบก กล่าวถึงกรณีมีข่าว พล.ต.ราชิต อรุณวงษ์ เจ้ากรมสวัสดิการทหารบก ในฐานะนายสนามมวยลุมพินี อาจติดเชื้อไวรัสโควิด-19 จากผู้ที่เข้าชมมวยรายหนึ่งว่า เจ้ากรมสวัสดิการทหารบกได้รับทราบข่าวผู้ติดเชื้อโควิด-19 ซึ่งตนเองได้เข้าไปใกล้ชิดกับบุคคลนั้นในสถานที่การจัดแข่งขันมวย
    "พล.ต.ราชิตตระหนักดีว่าตนเองอยู่ในเกณฑ์เสี่ยง แต่ไม่มีอาการบ่งชี้ใดๆ จึงได้รีบดำเนินการตามมาตรการป้องกัน โดยได้ไปเข้าสู่กระบวนการตรวจคัดกรองและตรวจวินิจฉัยจากโรงพยาบาล ขณะนี้อยู่ในระหว่างการวินิจฉัยของทีมแพทย์ว่าจะเข้าข่ายเป็นผู้ติดเชื้อไวรัสโควิด-19 หรือไม่ ส่วนครอบครัวและบุคคลใกล้ชิดก็ได้ดำเนินตามมาตรการตรวจคัดกรองและกักตัวเอง 14 วันเพื่อสังเกตอาการแล้ว" พ.อ.หญิงศิริจันทร์กล่าว
    มีรายงานข่าวว่า เจ้ากรมสวัสดิการทหารบก ในฐานะนายสนามมวยลุมพินี ได้เข้าตรวจที่โรงพยาบาลเอกชนแห่งหนึ่ง ผลปรากฏเป็น positive จึงได้ตรวจเป็นครั้งที่สองตามขั้นตอนใน รพ.รัฐ ซึ่งในช่วงที่ผ่านมาเจ้ากรมสวัสดิการ ทบ.ได้ทำกิจกรรมและประชุมทั้งในและนอกกองทัพบก ซึ่งมีผู้ที่เข้าข่ายเฝ้าระวังต้องกักตัวเอง 14 วัน ร่วม 100 คน โดยวันที่ 15 มี.ค. กรมวิทยาศาสตร์ทหารบก (วศ.ทบ.) จะเข้าดำเนินการฉีดพ่นยาฆ่าเชื้อในพื้นที่กองบัญชาการกองทัพบก 1.ห้องประชุม 241 2.ห้องจัดเลี้ยง 221 3.หัองประชุม ศปก. อ.1 ชั้น 5 3.จุดเติมน้ำ ตรงที่เติมน้ำรถน้ำ หน้า ทรพ. กองร้อย
    ต่อมา พ.อ.วินธัย สุวารี โฆษกกองทัพบก ชี้แจงเพิ่มเติมกรณีมีข่าว พล.ต.ราชิตเดินไปประเทศฝรั่งเศสมาก่อนว่า ช่วงที่ผ่านมาไม่มีข้อมูลว่า พล.ต.ราชิตเดินทางไปประเทศฝรั่งเศส 
    “ส่วนใครติดจากใคร ต้องรอดูจากกระบวนการสอบสวนของกระทรวงสาธารณสุข หากได้ข้อมูลอย่างเป็นทางการ จะแจ้งให้ทราบต่อไป” โฆษกกองทัพบกกล่าว
    นอกจากนี้ แหล่งข่าวใกล้ชิด พล.อ.อภิรัชต์ คงสมพงษ์ ผบ.ทบ. ออกมาชี้แจงข่าวลือระบุ ผบ.ทบ.อาจจะติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ว่า พล.อ.อภิรัชต์ยังคงแข็งแรงสบายดี และไม่ได้มีอาการป่วยแต่อย่างใด ยังพักผ่อนอยู่ที่บ้านพักส่วนตัว
    มีรายงานว่า ในวันที่ 16 มี.ค. นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.สาธารณสุข จะหารือร่วมกับนายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม พร้อมด้วยหน่วยงานที่เกี่ยวข้องด้านการบิน ภาคเอกชนสายการบินต่างๆ เพื่อซักซ้อมมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 หลังยังมีความสับสนและประชาชนผู้เดินทางยังไม่เข้าใจแนวทางปฏิบัติ ที่สำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (กพท.)
    "มีข้อเสนอแนะจากผู้เชี่ยวชาญด้านธุรกิจการบินขณะนี้ เห็นว่าตอนนี้บางเที่ยวบินก็มีคนบินน้อยมาก พูดง่ายๆ ว่าลูกเรือกับผู้โดยสารจำนวนใกล้เคียงกัน แต่บางสายการบินก็ยังจำเป็นต้องทำการบินทั้งที่ขาดทุน ข้อเสนอที่จะให้รัฐบาลพิจารณาขณะนี้ คืออาจจำเป็นต้องมีการปิดประเทศและพรมแดนของไทยเป็นเวลา 1 เดือน เพื่อให้ระบบสาธารณสุขของประเทศได้ทำงานกับภาระผู้ป่วยที่มีในขณะนี้ได้อย่างเต็มที่ เพราะหากยังเปิดบริการการบินทางอากาศ มีการบินไปมา และมีผู้ติดเชื้อใหม่เดินทางเข้ามาทุกวัน สุดท้ายก็จะคุมการระบาดได้ยาก" ผู้บริหารสมาคมการบินรายหนึ่งระบุ.


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"