มาเรื่อยๆ กระทรวงสาธารณสุขแถลงมีผู้ติดโควิด-19 เพิ่มอีก 7 ราย ดันยอดร่วม 82 คนแล้ว โชคดียังติดเป็นกลุ่ม ปลัด สธ.ตั้งข้อสังเกตผู้ที่ติดเชื้อเป็นกลุ่มก้อนมักอาศัยอยู่ในพื้นที่เจริญทางฝั่งตะวันออกของกรุงเทพฯ เป็นถิ่นคนต่างชาติ ยังไม่หมด ตำรวจยศ "พ.ต.อ." หน่วยเก็บกู้ระเบิดติดเชื้อจากสเปน อีก 3 นายรอลุ้น ที่สนามบินพบเพิ่มอีก 2 พนักงานของห้องอาหารตึกคิงเพาเวอร์ เด็กมหิดล ตามมาติดๆ ส่วนดาราที่สัมผัสใกล้ชิด "แมทธิว ดีน" ผลตรวจออกแล้ว ทั้งหนูเล็ก ก่อนบ่าย, มดดำ, ม้า อรนภา และดีเจนุ้ย ไม่พบเชื้อ
ที่ศูนย์ปฏิบัติการฉุกเฉินด้านการแพทย์และสาธารณสุข นพ.สุขุม กาญจนพิมาย ปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) นำแถลงสถานการณ์ระบาดไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 หรือโรคโควิด-19 ในประเทศไทย ว่าพบผู้ติดเชื้อรายใหม่ 7 ราย รายที่ 1 เป็นผู้สัมผัสเสี่ยงสูงผู้ป่วยยืนยันลำดับที่ 57 (กลุ่มสังสรรค์ 11 คน) เป็นหญิงไทยอายุ 63 ปี (นับเป็นผู้ป่วยยืนยันรายที่ 76) รายที่ 2-5 เป็นคนในครอบครัวเดียวกัน มารับการตรวจที่โรงพยาบาลเอกชนในกทม. รายละเอียดดังนี้
รายที่ 2 (index case) หญิงไทย 57 ปี (มารดา) เดินทางมาจากญี่ปุ่นวันที่ 4 มีนาคม 2563 มีไข้ ไอมีเสมหะ (นับเป็นผู้ป่วยยืนยันรายที่ 77)
รายที่ 3 หญิงไทย อายุ 30 ปี (บุตรสาว) อาชีพพนักงานบริษัท ให้ประวัติเพื่อนมาจากเกาหลีใต้ (วันที่ 2 มีนาคม 2563) และมารดามาจากญี่ปุ่น เริ่มป่วยวันที่ 9 มีนาคม 2563 ด้วยอาการไข้ ไอ มีน้ำมูก มีเสมหะ (นับเป็นผู้ป่วยยืนยันรายที่ 78)
รายที่ 4 ชายญี่ปุ่น อายุ 33 ปี (สามีบุตรสาว) อาชีพพนักงานบริษัท เริ่มป่วย 9 มีนาคม 2563 ด้วยอาการไข้ ไอ มีเสมหะ (นับเป็นผู้ป่วยยืนยันรายที่ 79)
รายที่ 5 เด็กหญิงไทย อายุ 4 ขวบ (หลาน) เริ่มป่วย 9 มีนาคม 2563 มีไข้ ไอ มีเสมหะ (นับเป็นผู้ป่วยยืนยันรายที่ 80)
รายที่ 6 เป็นหญิงไทย อายุ 20 ปี เดินทางกลับจากญี่ปุ่นถึงไทย 14 กุมภาพันธ์ 2563 เริ่มป่วยวันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2563 ด้วยอาการไข้ ไอ หายใจเหนื่อย ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ ปวดศีรษะ มีเสมหะ หลังมีเสมหะอาการมีไม่ดีขึ้น วันที่ 11 มีนาคม 2563 จึงเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลเอกชนแห่งหนึ่งใน กทม. (นับเป็นผู้ป่วยยืนยันรายที่ 81) และรายที่ 7 เป็นชายไทย อายุ 41 ปี อาชีพนักแสดงและพิธีกร เริ่มป่วย 11 มีนาคม 2563 ด้วยอาการไข้ ไอ ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ มีประวัติมีเพื่อนเดินทางมาจากต่างประเทศ รักษาตัวที่โรงพยาบาลราชวิถี อยู่ระหว่างติดตามผู้สัมผัสเสี่ยงสูง (นับเป็นผู้ป่วยยืนยันรายที่ 82)
ทั้งนี้ จะติดตามผู้สัมผัสเสี่ยงสูง เพื่อเฝ้าระวังสังเกตอาการ ซึ่งขณะนี้มีผู้เข้าเกณฑ์เฝ้าระวังรอผลสอบสวนโรคประมาณ 36 ราย เมื่อได้รับการยืนยันจะแถลงให้ทราบต่อไป
สรุปมีผู้ป่วยยืนยันที่รักษาหายแล้ว 35 ราย ยังรักษาตัวอยู่ในโรงพยาบาล 46 ราย เสียชีวิต 1 ราย ผู้ป่วยสะสมในประเทศไทยขณะนี้ 82 ราย สำหรับผู้ป่วยอาการหนัก 1 ราย ที่รักษาตัวอยู่ที่สถาบันบำราศนราดูร ยังต้องเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิด
ขณะนี้ ผู้เดินทางกลับจากพื้นที่มีรายงานการระบาดของโรคมีความตื่นตัว ซึ่งเป็นสิ่งที่น่าชื่นชม แต่สิ่งสำคัญคือการกักกันตัวเองที่บ้านให้ครบ 14 วันตามคำแนะนำของกระทรวงสาธารณสุข แยกของใช้ส่วนตัว เพื่อไม่ให้คนในครอบครัวติดเชื้อ เช่น กรณีผู้ป่วยรายใหม่ 4 รายในวันนี้ที่เป็นครอบครัวเดียวกัน ต้องงดกิจกรรมทางสังคม ไม่ออกไปในที่มีคนหนาแน่น เพื่อเป็นการแสดงความรับผิดชอบต่อสังคม หากมีไข้ ร่วมกับมีอาการระบบทางเดินหายใจอย่างใดอย่างหนึ่ง เช่น ไอ มีน้ำมูก ปวดเมื่อย ให้รีบไปพบแพทย์ทันที พร้อมแจ้งประวัติการเดินทาง/ประวัติความเสี่ยง เพื่อเข้าสู่ระบบการตรวจวินิจฉัย การรักษา และเฝ้าระวังป้องกันควบคุมโรคไม่ให้แพร่กระจายในวงกว้าง
จุดเสี่ยงฝั่งตะวันออก กทม.
“ผู้ที่สัมผัสใกล้ชิดกับผู้ป่วยยืนยันโรคโควิด-19 ที่ถือเป็นผู้สัมผัสเสี่ยงสูง คือคนในครอบครัว ผู้สัมผัสใกล้ชิดหรือมีการพูดคุยกับผู้ป่วยในระยะไม่เกิน 1 เมตร นานกว่า 5 นาที หรือถูกผู้ป่วยไอ จามใส่ โดยไม่ได้ป้องกันตนเอง หรืออยู่ในสถานที่ปิด ไม่มีการถ่ายเทอากาศ เช่น รถปรับอากาศ ห้องปรับอากาศ ร่วมกับผู้ป่วยนานกว่า 15 นาที และอยู่ห่างกับผู้ป่วยโดยไม่มีการป้องกันในระยะไม่เกิน 1 เมตร"
นพ.สุขุมกล่าวว่า เป็นที่สังเกตว่าผู้ที่ติดเชื้อเป็นกลุ่มก้อน มักอาศัยอยู่ในพื้นที่เจริญทางฝั่งตะวันออกของกรุงเทพฯ เป็นถิ่นคนต่างชาติ การที่ผู้ป่วยรายที่ 82( แมทธิว ดีน) ออกมาประกาศว่าติดเชื้อโควิด-19 ก่อนที่ สธ.จะประกาศนั้น ถือว่าเป็นเรื่องดี ทำให้คนใกล้ชิดได้ระมัดระวังตัว ดีกว่ารู้ตัวแล้วซ่อน อันนี้อันตราย อาจแพร่กระจาย ต้องขอบคุณ กล้าที่จะบอกสังคม ต้องชื่นชม
ปลัด สธ.กล่าวอีกว่า จะมีการประชุมนักวิชาการ รองนายกฯ รมว.สธ. ผู้บริหาร สธ .ทั้งกระทรวงหารือกัน โดยอาจมีมาตรการบางอย่างออกมา มาตรการนี้เป็นผลจากข้อมูลวิชาการ ออกเป็นกฎหมาย แนวทางคือ รพ.ทั่วประเทศต้องร่วมมือร่วมใจ และ รพ.เอกชนต้องทำตาม พ.ร.บ.โรคติดต่ออันตราย พ.ร.บ.การแพทย์ฉุกเฉิน ต้องช่วยกันดูแล ถ้าเจอพบผู้ป่วยติดเชื้อแล็บครั้งแรก ให้รับไว้เลยทันที เพื่อจัดสถานที่ให้ ไม่ใช่ไล่คนไข้กลับบ้าน ไม่ใช่ปล่อยให้คนไข้ตกใจ ว้าเหว่
นอกจากนี้ คนไข้ที่มีอาการป่วยและมีประวัติใกล้ชิดสัมผัสต่างชาติ หรือเดินทางจากต่างประเทศ ถ้าขอเข้าตรวจหาเชื้่อ แล้วผลออกมาเป็นบวก ไม่ต้องจ่ายเงินเองแต่อย่างใด แต่ถ้าตรวจออกมาแล้วไม่เป็นอาจต้องจ่ายเอง และขอย้ำว่าถ้ามีอาการและมีประวัติตามที่ สธ.ประกาศว่ามีความเสี่ยงสามารถขอตรวจได้ และสามารถตรวจได้ที่สถานพยาบาลทั้ง 34 แห่งที่ สธ.ประกาศ เพราะถือว่าเป็นผู้ป่วยฉุกเฉิน รพ.ทุกแห่งรับไว้ ยกเว้นเกินศักยภาพ ก็ต้องส่งต่อผู้ป่วย
นพ.ธนรักษ์ ผลิพัฒน์ รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวเสริมว่า ทาง คร.ขอย้ำว่า ให้โรงพยาบาลทุกแห่งปฏิบัติตามกฎหมายการควบคุมโรคอย่างเคร่งครัด ถ้าพบผู้ติดเชื้อต้องแจ้ง สธ.ภายใน 3 ชั่วโมง หรือถ้ามีการรับตัวอย่างมาตรวจ ต้องแจ้งกรมภายใน 3 ชม.ด้วยเช่นกัน ซึ่งกรมควบคุมโรคจะดำเนินการตาม กม.อย่างเคร่งครัด เพื่อให้เราสามารถติดตามผู้ป่วยได้รวดเร็ว และเป็นจริงตามสถานการณ์รายวัน
ด้านโรงพยาบาลพระรามเก้า ออกแถลงการณ์ชี้แจงเรื่อง มาตรการคัดกรอง ป้องกัน เพื่อความปลอดภัยของผู้รับบริการโรงพยาบาลพระรามเก้า ผ่านเฟซบุ๊กและเว็บไซต์ของโรงพยาบาล โดยมีเนื้อหาระบุว่า “เนื่องด้วยในวันที่ 13 มีนาคม 2563 เกิดกรณีที่มีข่าวในสื่อสังคมออนไลน์ รวมถึงการเผยแพร่ไปในสื่อสำนักข่าวต่างๆ หลายแห่ง โดยเนื้อหาข่าวได้กล่าวถึงกรณีดารานักแสดงพิธีกรชื่อดังเข้ารับการตรวจรักษา เชื้อไวรัส COVID-19 ที่โรงพยาบาลพระรามเก้า ซึ่งพบผลเป็น detectable โรงพยาบาลพระรามเก้า ขอยืนยันว่าการรักษาพยาบาลในกรณีดังกล่าวเป็นไปตามแนวทางและขั้นตอนของกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุขทุกประการ”
ดาราใกล้ชิด"แมทธิว"ไม่ติดเชื้อ
ขณะที่ท้ายแถลงการณ์ระบุเพิ่มเติมว่า ทางทีมควบคุมโรคติดเชื้อโรงพยาบาลพระรามเก้า ได้ทำการสอบสวนโรคตามแนวทางระบาดวิทยา โดยได้ติดตามผู้ที่สัมผัสผู้ป่วยทุกรายตามแนวทางของกรมควบคุมโรค ติดต่ออย่างเคร่งครัด โดยบุคลากรคนใดที่พบว่ามีความเสี่ยงสูงได้ทำการกักบริเวณตนเองเป็นเวลา 14 วันเป็นที่เรียบร้อย ส่วนบุคลากรที่ไม่มีความเสี่ยงก็สามารถปฏิบัติงานได้ตามปกติ และได้ติดต่อกับผู้ใช้บริการรายอื่นๆ ทุกรายที่มาในช่วงเวลาเดียวกับผู้ป่วยรายนี้ พบว่า ไม่มีรายใดที่มีการสัมผัสใกล้ชิดหรือมีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อ แต่อย่างไรก็ดี ทางโรงพยาบาลจะมีการติดตามดูแลผู้ป่วยกลุ่มนี้ต่อไปให้ครบ 14 วัน ส่วนสถานที่ใช้บริการนั้น ทางโรงพยาบาลได้มีการทำความสะอาดแบบ Deep cleaning จึงปลอดภัยต่อการปนเปื้อนเชื้อต่อไป
ทั้งนี้ เพื่อความปลอดภัย ผู้ป่วยและผู้มาใช้บริการ ทางโรงพยาบาลพระรามเก้าได้มีมาตรการจัดระบบการตรวจคัดกรองผู้ป่วย นับตั้งแต่เดือนมกราคม 2563 โดยการจัดตั้งจุดคัดกรองพิเศษ 3 จุด ซึ่งจะแยกผู้ป่วยกลุ่มเสี่ยงไปยังคลินิกพิเศษบริเวณนอกโรงพยาบาล และมีการจัดตั้งทีมแพทย์พยาบาลเฉพาะสำหรับดูแลผู้ป่วยกลุ่มเสี่ยงเพื่อป้องกันการแพร่กระจายเชื้อ และเพิ่มมาตรการทำความสะอาดเพื่อฆ่าเชื้อโรคทุก 1 ชั่วโมง ในทุกจุดของโรงพยาบาล เพื่อให้ผู้ที่เข้ารับบริการจึงมั่นใจได้ว่าจะได้รับการดูแลตามมาตรฐานสากลและปลอดภัยจากการติดเชื้อ
หลังจากที่แมทธิว ดีน ไปตรวจร่างกายและมีผลการตรวจยืนยันว่าติดเชื้อโควิด-19 และในวันนี้ กระทรวงสาธารณสุขแถลงยืนยันว่าเป็นผู้ป่วยติดเชื้อและพักรักษาตัวอยู่ที่โรงพยาบาลราชวิถี ทำให้เพื่อนดารานักแสดงหลายคนที่ร่วมงานและใกล้ชิดกับแมทธิว ต่างเดินทางไปตรวจร่างกาย เช่น กาละแมร์ พัชรศรี เบญจมาศ ได้ไปร่วมถ่ายรายการสามแซ่บกับแมทธิว ดีน เมื่อวันอังคารที่ค่ายมวยคงสิทธา ได้เดินทางไปตรวจร่างกายที่โรงพยาบาลแล้ว ผลการตรวจก็ออกมาแล้วว่าไม่พบเชื้อ แต่ต้องเฝ้าระวังตัวเองต่อไปเป็นเวลา 14 วัน
เช่นเดียวกับผลตรวจของหนูเล็ก เพ็ญศรี ปิ่นทอง หรือหนูเล็ก ก่อนบ่าย, มดดำ คชาภา ตันเจริญ, ม้า อรนภา กฤษฎี และดีเจนุ้ย ธนวัฒน์ ประสิทธิสมพร ผลตรวจไม่พบเชื้อโควิด-19
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ส่วนราชการกลุ่มงานเก็บกู้วัตถุระเบิด ได้มีหนังสือด่วนที่สุด ลงชื่อ บก.สปพ. ที่ 0015.(สปพ.) 7/543 ลงวันที่ 13 มีนาคม 2563 ถึง พล.ต.ต.สำราญ นวลมา ผบก.สปพ. เรื่อง กำหนดมาตรการในการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัส โรคโควิด-19 โดยระบุใจความว่า เมื่อวันที่ 29 กุมภาพันธ์-6 มีนาคม 2563 มีเจ้าหน้าที่ตำรวจกลุ่มงานเก็บกู้วัตถุระเบิด บก.สปพ. จำนวนหนึ่งได้เดินทางไปราชการศึกษาดูงานที่ประเทศสเปน เมื่อกลับมาประเทศไทย มีเจ้าหน้าที่ตำรวจบางนายมีอาการเป็นไข้ เจ็บคอ จึงเข้ารับการตรวจที่ รพ.พญาไท ซึ่งผลปรากฏว่า พ.ต.อ.ธนากร อ่อนทองคำ ผกก.กลุ่มงานเก็บกู้วัตถุระเบิด บก.สปพ. ติดเชื้อไวรัสโควิด-19 โดยอยู่ระหว่างการรักษา นอกจากนี้ยังมีตำรวจอีก 3 นาย อยู่ระหว่างรอผลตรวจ
ทั้งนี้ ท้ายคำสั่งยังให้เจ้าหน้าที่ตำรวจที่ไปดูงานทั้งหมด กักตนเองอยู่ในที่พักเป็นเวลา 14 วัน หากมีอาการเจ็บป่วยให้รีบแจ้งผู้บังคับบัญชาทันที และประสานบริษัททำความสะอาดให้เข้ามาพ่นยาฆ่าเชื้อบริเวณสถานที่ทำงานและบ้านพักผู้ที่ติดเชื้อไวรัสดังกล่าว
เจอที่สนามบินอีก 2 ราย
วันเดียวกันนี้ นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า ได้รับรายงานจากบริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทอท. ว่าจากการตรวจคัดกรองผู้โดยสาร และลูกเรือ ระหว่างประเทศและภายในประเทศ ทั้งขาเข้าและขาออก ท่าอากาศยาน 6 แห่ง ได้แก่ ท่าอากาศยานดอนเมือง ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ท่าอากาศยานภูเก็ต ท่าอากาศยานเชียงใหม่ ท่าอากาศยานแม่ฟ้าหลวงเชียงราย และท่าอากาศยานหาดใหญ่ รวมทั้งหมด 152,235 คน พบว่ามีผู้โดยสารที่มีไข้เข้าข่ายเฝ้าระวังโควิด-19 ที่จุดคัดกรองระหว่างประเทศขาเข้า ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ จำนวน 1 ราย เป็นผู้หญิงชาวไทย อายุ 24 ปี เดินทางมาจากฮ่องกง โดยสายการบิน HongKong Express เที่ยวบิน UO702 มีไข้ 38.2 องศาฯ ร่วมกับมีอาการไอ ส่งต่อโรงพยาบาลสมุทรปราการ
นอกจากนี้ยังได้รับรายงานจากกรมท่าอากาศยานว่า จากการตรวจคัดกรองผู้โดยสารขาเข้าทุกเที่ยวบิน พบว่า ผู้โดยสาร จำนวน 1 ราย มีอุณหภูมิร่างกายสูง 37.8 องศาเซลเซียส เจ้าหน้าที่โรงพยาบาลเชียงขวัญ จ.ร้อยเอ็ด ได้ดำเนินการซักประวัติ พบว่าไม่มีประวัติการเดินทางไปต่างประเทศ และจะทำการติดตามอาการเพื่อเฝ้าระวังต่อไป
อาคารคิงเพาเวอร์ มหานคร แจ้งว่าตามที่มีการตรวจพบพนักงานของห้องอาหารมหานครแบงค็อกสกายบาร์ มีอาการเข้าข่าย และกำลังอยู่ระหว่างการติดตามอาการ โดยพนักงานดังกล่าวได้เข้าอาคารและมีการตรวจวัดอุณหภูมิ พบว่ามีอุณหภูมิเกิน 37.5 องศา และหัวหน้างานทำการส่งพบแพทย์เพื่อทำการตรวจเบื้องต้น และพบว่ามีอาการเข้าข่ายการติดเชื้อ จึงทำการส่งตัวเข้ารับการคัดกรองอย่างละเอียดที่สถาบันบำราศนราดูร ในวันที่ 13 มีนาคม 2563
ในระหว่างรอผลการตรวจคัดกรองอย่างละเอียด เพื่อปฏิบัติตามแนวทางของกระทรวงสาธารณสุข และความรับผิดชอบต่อส่วนรวม จึงดำเนินการปิดอาคารคิงเพาเวอร์มหานครทันที และเข้าดำเนินการฉีด พ่น อบ น้ำยาฆ่าเชื้อ ตามมาตรฐานสาธารณสุขสากล รวมถึงดำเนินการตรวจเช็กพนักงานที่มีปฏิสัมพันธ์ การพูดคุย ใกล้ชิด สัมผัส ใช้สถานที่หรืออุปกรณ์ร่วมกับพนักงานดังกล่าว ให้หยุดสังเกตอาการเป็นเวลา 14 วัน
สำหรับลูกค้าที่ทำการซื้อบัตรเข้าชมมหานครสกายวอล์คล่วงหน้า สามารถทำการเลื่อนหรือรับคืนเงินได้ 100% โดยสามารถส่งรายละเอียดมาที่ [email protected] และลูกค้าที่สำรองที่นั่งห้องอาหารมหานครแบงค็อกสกายบาร์ ทางเจ้าหน้าที่จะดำเนินการติดต่อกลับเพื่อแจ้งรายละเอียดการกลับมาใช้บริการ โดยสามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่หมายเลขโทรศัพท์ 0-2677-8721
เด็กมหิดลติดเชื้อ
มหาวิทยาลัยมหิดล ออกแถลงการณ์ระบุพบนักศึกษาของมหาวิทยาลัยติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ หรือโรคโควิด-19 ความว่า เนื่องด้วยในวันที่ 13 มีนาคม 2563 ที่ผ่านมา เจ้าหน้าที่กระทรวงสาธารณสุขที่ดำเนินการสอบสวนทางระบาดวิทยาได้ติดต่อนักศึกษาของมหาวิทยาลัยมหิดลเข้าตรวจหาเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 เนื่องจากอยู่ในข่ายต้องสงสัยว่ามีการสัมผัสโรคจากบุคคลที่ติดเชื้อซึ่งอยู่ภายนอกมหาวิทยาลัย
จากผลการตรวจสอบตามขั้นตอนทางการแพทย์ที่คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล ได้รับการแจ้งยืนยันว่า นักศึกษาติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 และขณะนี้คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาลได้รับนักศึกษาคนดังกล่าวไว้ในการดูแลรักษาเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ทั้งนี้ ตามกระบวนการในการควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข มหาวิทยาลัยมหิดลขอแจ้งว่า มหาวิทยาลัยได้ดำเนินการดังต่อไปนี้
1.จากการสอบสวนทางระบาดวิทยา มหาวิทยาลัยมหิดลได้ดำเนินการติดต่อผู้สัมผัสใกล้ชิดกับนักศึกษาดังกล่าว ซึ่งประกอบด้วย กลุ่มเพื่อนหรือบุคคล ที่สัมผัสใกล้ชิดในสถานที่ต่างๆ ที่ได้รับการยืนยันและครอบครัว เพื่อให้มาตรวจคัดกรองโดยวิธี Nasopharyngeal Swab และ RT-PCR โดยคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล ทั้งนี้ กระทรวงสาธารณสุขและมหาวิทยาลัยมหิดลจะดำเนินการรับผิดชอบค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นจากการคัดกรองดังกล่าว หากกลุ่มผู้ที่สัมผัสใกล้ชิดดังกล่าวได้รับการตรวจและมีผลเป็น negative จะให้ดำเนินการสังเกตดูอาการที่บ้าน (self-quarantine at home) เพิ่มเติมเป็นเวลา 14 วัน และหากตรวจแล้วมีผลเป็น positive มหาวิทยาลัยมหิดลจะดำเนินการรับเข้าทำการรักษาและให้ความดูแล โดยมหาวิทยาลัยมหิดลจะได้ดำเนินการติดตามอาการของกลุ่มบุคคลดังกล่าวอย่างต่อเนื่อง
2.เนื่องจากนักศึกษาอาศัยอยู่กับครอบครัวและเดินทางโดยรถยนต์ส่วนบุคคล รวมทั้งมีการปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่นไม่มากนักในระยะเวลาก่อนการตรวจพบเชื้อ มหาวิทยาลัยมหิดลจึงได้ทำการปิดส่วนงาน ห้องเรียน รวมถึงสถานที่ที่นักศึกษาเข้าไปใช้ เพื่อทำความสะอาดและฆ่าเชื้อตามมาตรฐานของการกำจัดเชื้อเป็นเวลา 2 วัน คือ วันที่ 14-15 มีนาคม 2563
อนึ่ง มหาวิทยาลัยมหิดลจะแจ้งความคืบหน้าในกรณีนี้ให้ทราบเป็นระยะ จึงเรียนมาเพื่อทราบโดยทั่วกัน ประกาศ ณ วันที่ 14 มีนาคม พ.ศ. 2563 เวลา 08.00 น.
น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ภายหลังศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 ที่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม เป็นประธาน เห็นชอบให้ปรับมาตรการเฝ้าระวังการแพร่ระบาดเชื้อไวรัสโควิด-19 โดยให้ผู้ที่เดินทางกลับจากประเทศกลุ่มเสี่ยง ที่ผ่านกระบวนการคัดกรองแล้วไม่พบไข้ ให้กลับไปเฝ้าดูอาการ 14 วัน ยังบ้านพักตามภูมิลำเนา โดยจะมีบุคลากรทางการแพทย์ไปตรวจเยี่ยมเป็นประจำทุกวันจนครบ 14 วัน
ติดดาบกำนัน-ผู้ใหญ่บ้าน
รองโฆษกฯ กล่าวว่า ล่าสุด นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.สาธารณสุข ลงนามในประกาศกระทรวงสาธารณสุข แต่งตั้งเจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต่อตามพระราชบัญญัติโรคติดต่อ พ.ศ.2558 ฉบับที่ 3 และ 4 พ.ศ.2563 มีผลบังคับใช้แล้ววันที่14 มี.ค. ซึ่งนอกจากจะมีผู้บริหารระดับสูงและเจ้าหน้าที่ของกระทรวงสาธารณสุขแล้ว ยังหมายรวมถึงข้าราชการในสังกัดกระทรวงมหาดไทย ไม่ว่าจะเป็นผู้ว่าราชการจังหวัด นายอำเภอ กำนันผู้ใหญ่บ้าน แพทย์ประจำตำบล สารวัตรกำนัน ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน ฯลฯ รวมถึงข้าราชการสังกัดองค์การบริหารส่วนจังหวัด เทศบาล และองค์การบริหารส่วนตำบล ไม่ว่าจะเป็น นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดนายกเทศมนตรี นายกองค์การบริหารส่วนตำบล ฯลฯ เพื่อร่วมบูรณาการเฝ้าระวังการแพร่ระบาดของไวรัสทุกพื้นที่
น.ส.ไตรศุลีกล่าวว่า สำหรับอำนาจหน้าที่ของเจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต่อตาม พ.ร.บ.โรคติดต่อฯ เจ้าพนักงานจะมีอำนาจออกหนังสือเรียกบุคคลใดๆ มาให้ถ้อยคำ แจ้งข้อเท็จจริง เพื่อเป็นประโยชน์ในการเฝ้าระวัง โดยมีอำนาจในการเข้าไปยังอาคารบ้านเรือนเพื่อประโยชน์ในการตรวจตรวจสอบด้วย นอกจากนี้ ในส่วนท้องถิ่น กระทรวงมหาดไทย ได้มอบหมายให้กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ฯลฯ อำนวยความสะดวกแก่บุคคลกลุ่มเสี่ยงที่เดินทางกลับไปเฝ้าระวังอาการยังภูมิลำเนา พร้อมประชาสัมพันธ์ถึงวิธีการป้องกันตัวเองแก่คนในชุมชนด้วย อย่างไรก็ตาม ต้องขอความร่วมมือสำหรับผู้ไปกลับเฝ้าสังเกตอาการไม่ให้สร้างพฤติกรรมเสี่ยงต่อสาธารณะ โดยขอความร่วมมือให้กักตัวอยู่ในที่พักอาศัยเพื่อสังเกตอาการเท่านั้น
นายศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย ออกแถลงการณ์สมาคมฯ เรื่อง “รัฐต้องตรวจและรักษาโรคโควิด-19 ฟรีโดยไม่คิดค่าใช้จ่ายใดๆ” ระบุว่า ตามที่องค์การอนามัยโลกได้ประกาศให้การระบาดของโรคติดเชื้อโควิด-19 เป็นภาวะฉุกเฉินทางสาธารณสุขระหว่างประเทศ (Public health emergency of international concern (PHEIC)) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข โดยคำแนะนำของคณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ จึงได้ประกาศให้โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโรคโควิด-19 เป็นโรคติดต่ออันตรายตาม พ.ร.บ.โรคติดต่อ 2558 มีผลตั้งแต่วันที่ 1 มี.ค.2563 เป็นต้นมาแล้วนั้น
ต่อมามีประกาศกระทรวงสาธารณสุขเรื่อง หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการช่วยเหลือเยียวยาแก่ผู้ป่วยฉุกเฉินโรคติดต่ออันตราย ตามกฎหมายว่าด้วยโรคติดต่อ กรณีโรคติดต่อเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโรคโควิด-19 การระดมทรัพยากรและมีส่วนร่วมในการช่วยเหลือเยียวยา และการจัดให้มีการส่งต่อผู้ป่วยไปยังสถานพยาบาลอื่น ตาม พ.ร.บ.สถานพยาบาล 2541 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดย พ.ร.บ.สถานพยาบาล (ฉบับที่ 4) พ.ศ.2559 เมื่อวันที่ 4 มี.ค.2563 แล้วก็ตาม
แต่ปรากฏว่ายังมีประชาชนที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยงบางรายไปทำการตรวจรักษาในสถานพยาบาลของรัฐ แล้วปรากฏว่าต้องเสียค่าตรวจ ซึ่งจะเป็นค่าบริการของแพทย์และการตรวจเชื้อในห้องแล็บและอื่นๆ ตามมาอีกมากมายตามเทคนิคของการตรวจรักษาในแต่ละสถานพยาบาล ซึ่งถ้าใครมีความเสี่ยงสูงอาจจะต้องตรวจละเอียดขึ้น ทำให้ค่าใช้จ่ายอาจจะเพิ่มขึ้นด้วย
ภูเก็ตยังมีเรือสำราญ
การเรียกเก็บเงินไม่ว่ากรณีใดๆ ในการตรวจรักษาโรคโควิด-19 ของสถานพยาบาลของรัฐไม่ว่าจะเล็กหรือใหญ่โต หรือมีชื่อเสียงเพียงใด ถือว่าเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมาย ขัดต่อรัฐธรรมนูญ 2560 ม.47 วรรคสามโดยชัดแจ้ง เนื่องจากกฎหมายบัญญัติไว้ชัดเจนว่า “บุคคลย่อมมีสิทธิได้รับการป้องกันและขจัดโรคติดต่ออันตรายจากรัฐโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย” ดังนั้น การตรวจหาเชื้อในการป้องกันและรักษาต้องฟรีทั้งหมดด้วย หากมีสถานพยาบาลของรัฐใดมีการเรียกเก็บเงินค่าตรวจรักษาโรคโควิด-19 ประชาชนสามารถนำใบเสร็จไปยื่นฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายพร้อมดอกเบี้ยจากกระทรวงสาธารณสุขได้โดยทันที
สมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย จึงใคร่ขอเรียกร้องให้รัฐบาลโดยกระทรวงสาธารณสุข เร่งวางมาตรการให้สถานพยาบาลของรัฐทุกประเภทระงับการเรียกเก็บเงินจากการตรวจรักษาโรคโควิด-19 โดยไม่มีเงื่อนไขใดๆ ทั้งสิ้น
นายอนพัทย์ กอวนิช หัวหน้าด่านควบคุมโรคติดต่อระหว่างประเทศ ท่าเรือภูเก็ต เปิดเผยว่า เมื่อช่วงเช้าวันที่ 14 มี.ค. มีเรือท่องเที่ยวชื่อ star clipper สัญชาติมอลตา เดินทางมาจากปีนัง ประเทศมาเลเซีย เข้าเทียบท่าหาดป่าตอง จังหวัดภูเก็ต เพื่อจอดถ่ายโอนผู้โดยสาร จำนวน 98 ราย ที่จะเดินทางขึ้นเครื่องกลับประเทศช่วงค่ำ เมื่อเรือดังกล่าวเข้าเทียบท่าหาดป่าตอง หน่วยงานด้านสาธารณสุขได้บูรณาการร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ประกอบด้วย น.อ.เกรียงไกร ลายเงิน หัวหน้าศูนย์ควบคุมความมั่นคงท่าเรือจังหวัดภูเก็ต ศรชล ภาค 3, แพทย์หญิงเหมือนแพร บุญล้อม ผู้อำนวยการโรงพยาบาลป่าตอง และเจ้าหน้าที่จากสำนักงานสาธารณสุข อำเภอ กะทู้ ร่วมคัดกรองผู้โดยสารและลูกเรือทั้งหมดด้วยเครื่องเทอร์โมอินฟราเรด ซึ่งผู้โดยสารส่วนใหญ่เป็นชาวยุโรป อาทิ ฝรั่งเศส เยอรมนี สเปน ผู้โดยสารและลูกเรือ รวม 169 คน ผลจากการคัดกรองไม่พบผู้ป่วยเข้าข่ายสงสัยไวรัสโควิด-19
สำหรับเรือ Star Clipper จะรับผู้โดยสารซึ่งเป็นนักท่องเที่ยวชาวยุโรป จำนวน 89 ราย ออกจากหาดป่าตอง เวลา 22.00 น. คืนวันที่ 14 มี.ค. เพื่อเดินทางท่องเที่ยวทางทะเลต่อไป
ที่จุดผ่อนปรนตลาดชายแดนไทย-ลาว อ.โพนพิสัย จ.หนองคาย นายรณชัย จิตรวิเศษ ผู้ว่าราชการจังหวัดหนองคาย, นายถาวร สังคมาน นายอำเภอโพนพิสัย และ พ.ต.อ.ภูวิศ ศิริพานิช ผกก.สภ.โพนพิสัย ได้ออกตรวจมาตรการป้องกันการระบาดของโรคติดต่อโควิด-19 ซึ่งในทุกวันเสาร์จะมีการเปิดตลาดจุดผ่อนปรน ให้ชาวไทย ชาวลาว ได้เดินทางไปมาได้ และมีการค้าขายสินค้าระหว่างกัน
ตามหา 132 คนไทย
ขณะนี้ได้มีการจัดเจ้าหน้าที่สาธารณสุขอำเภอมาทำการตรวจคัดกรอง ตรวจวัดไข้ วัดอุณหภูมิร่างกาย ซึ่งพบว่าชาวลาวที่เดินทางเข้ามาได้ส่วนใหญ่จะสวมหน้ากากอนามัยป้องกันตัวเอง และตรวจสอบไม่มีคนมีไข้เดินทางเข้าพื้นที่ ทางเจ้าหน้าที่เองได้ให้คำแนะนำในการดูแลสุขภาพ การล้างมือที่ถูกต้อง เพื่อป้องกันการระบาดของโรค
นายรณชัย จิตรวิเศษ ผู้ว่าราชการจังหวัดหนองคาย กล่าวว่า สถานการณ์โควิด-19 ในพื้นที่จังหวัดหนองคาย ขณะนี้ไม่พบผู้ป่วยติดเชื้อ ซึ่งมีมาตรการป้องกันและควบคุมโรคระบาด โดยเจ้าหน้าที่สาธารณสุขและหน่วยงานข้างเคียงอื่น ช่วยกันป้องกันและควบคุมโรค ส่วนแรงงานที่เดินทางกลับจากประเทศเสี่ยง โดยเฉพาะเกาหลีใต้ มีประมาณ 130 คน เดินทางกลับภูมิลำเนา ผ่านการกักตัว 14 วันแล้ว 70 คน และอยู่ระหว่างการกักตัวในภูมิลำเนาของตัวเองส่วนหนึ่ง ซึ่งทุกคนให้ความร่วมมือเป็นอย่างดี เชื่อว่าเพราะได้รับทราบข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับโรคโควิด-19 มากขึ้น ตนได้สั่งการให้เฝ้าดูอาการ และให้ความรู้กับประชาชน ถ้าทุกฝ่ายให้ความร่วมมือ ก็คาดว่าการแพร่ระบาดจะไม่เกิดขึ้น
จากกรณีที่นายณรงค์ ศศิธร เอกอัครราชทูต ณ กรุงกัวลาลัมเปอร์ ประเทศมาเลเซีย ได้ออกหนังสือประกาศ ฉบับที่ 2/2563 ลงวันที่ 13 มี.ค.2563 เรื่องสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ COVID-19 เมื่อวันที่ 13 มี.ค.2563 ขอให้คนไทยจำนวน 132 คน ที่เข้าร่วมงาน Jhor Qudamak&Ulamak Malasia 2020 ณ Sri Petaling Mosque กรุงกัวลาลัมเปอร์ ในระหว่างวันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2563 ถึงวันที่ 2 มีนาคม 2563 รีบเข้าพบแพทย์เป็นการเร่งด่วน เนื่องจากการจัดกิจกรรมในครั้งนั้น พบผู้ติดเชื้อ COVID-19 โดยทางสำนักงานสาธารณสุขรัฐกลันตัน ได้ประกาศยอดผู้ป่วย COVID-19 ทั้งหมดในประเทศมาเลเซีย มีจำนวนทั้งสิ้น 158 รายนั้น
ล่าสุดนายซาฟีอี เจ๊ะเลาะ ประธานคณะกรรมการอิสลามประจำ จ.นราธิวาส กล่าวว่า ขณะนี้เชื่อว่าทุกคนคงทราบกันดีแล้วว่าเกิดโรคระบาดทั่วโลก เพราะฉะนั้นไม่ว่าใครก็ตามที่กลับมาจากต่างประเทศ ขอให้ร่วมกันรับผิดชอบต่อสังคม รีบไปรายงานตัวและพบแพทย์โดยด่วนที่สำนักงานสาธารณสุขแต่ละจังหวัด อย่างไรก็ตาม อยากให้รัฐบาลห้ามคนต่างชาติเข้ามาในประเทศไทยด้วย ไม่ใช่ห้ามคนไปต่างประเทศเท่านั้น รัฐต้องมีมาตรการขั้นเด็ดขาดได้แล้ว.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |