“Turkey First” ผลประโยชน์คือความถูกต้อง


เพิ่มเพื่อน    

 

มกราคม 2019 ประธานาธิบดีเรเจพ ทายยิพ แอร์โดกาน (Recep Tayyip Erdogan) พูดซ้ำอีกครั้งว่า “ตุรกีจะยังคงทำในสิ่งที่ทำให้มั่นใจว่าตนเองจะปลอดภัย อยู่ดีมีสุขในประชาคมโลกนี้” คำพูดนี้เป็นตัวแทนของหลัก “ตุรกีต้องมาก่อน” (Turkey First) ได้เป็นอย่างดี แต่การจะเข้าใจว่าหมายถึงอะไร  ต้องดูจากพฤติกรรมที่แสดงออก บทความนี้จะใช้เหตุการณ์ซีเรียเป็นตัวแบบอธิบาย

โค่นอัสซาด ร่วมมือผู้ก่อการร้าย กินพื้นที่ซีเรีย :

                ประการแรก โค่นรัฐบาลเผด็จการคือความชอบธรรม

                ในมุมมองของรัฐบาลแอร์โดกาน ความตาย หายนะจากสงครามกลางเมืองซีเรียที่ยืดเยื้อมาแล้ว 9 ปี เป็นความผิดของรัฐบาลอัสซาด สิ่งที่ตนกำลังทำคือช่วยปลดปล่อยคนซีเรียจากความทุกข์ยาก

                ฝ่ายที่ต่อต้านอัสซาดจะชี้ว่าท่านเป็นจอมเผด็จการ สมควรโดนกำจัด หากผู้พูดคือรัฐบาล ผู้นำประเทศ เท่ากับผู้นำประเทศหนึ่งกำลังตัดสินผู้นำอีกประเทศ กำลังพูดตรงๆ (หรืออ้อมๆ) ว่ารัฐบาลอัสซาดต้องถูกล้มล้าง

                รัฐบาลแอร์โดกานคืออีกประเทศที่สนับสนุนล้มล้างระบอบอัสซาดตั้งแต่ต้น ไม่ต่างจากรัฐบาลสหรัฐ ประเทศในกลุ่ม GCC ที่ชี้ว่ารัฐบาลซีเรียโหดร้ายป่าเถื่อน ละเมิดสิทธิมนุษยชนรุนแรง ฆ่าล้างประชาชนตัวเอง สมควรถูกล้มล้าง ประกาศว่าตนกำลังทำหน้าที่เป็นผู้ผดุงสันติภาพโลก ดูแลสิทธิมนุษยชน

                แต่เหตุผลที่ว่ามาไม่สอดคล้องกฎบัตรสหประชาชาติ ละเมิดอธิปไตยซีเรีย ถึงกระนั้นก็ตามรัฐบาลแอร์โดกานยังคงยึดนโยบายนี้ ซึ่งหมายความว่าจะพยายามโค่นล้มรัฐบาลอัสซาดต่อไปแม้ผ่านมา 9 ปีแล้วก็ตาม

                ประการที่ 2 ต่อต้านผู้ก่อการร้าย หรือปนๆ กัน

                ในการทำสงครามต่อต้านผู้ก่อการร้ายไอซิส หลายประเทศมีส่วนช่วยรบในซีเรียกับอิรัก เรื่องน่าทึ่งคือตุรกีเป็นประเทศแรกๆ ที่ส่งกองทัพเต็มรูปแบบเข้ารบทางภาคพื้นดิน (ประเทศที่เข้าร่วมเน้นการโจมตีทางอากาศ)

                ในขณะเดียวกันมีข้อสงสัยว่าทำไมผู้ก่อการร้ายหลายหมื่นจากนับร้อยประเทศสามารถเข้าพื้นที่ซีเรียกับอิรักโดยผ่านตุรกี อีกทั้งรัฐบาลรัสเซียมีหลักฐานว่าใครบางคนที่มีอำนาจในตุรกีค้าน้ำมันเถื่อนกับไอซิสด้วย

                ประธานาธิบดีปูตินกล่าวเมื่อพฤศจิกายน 2015 ว่าพฤติกรรมของตุรกีคือ “การแทงข้างหลัง” และ “สนับสนุนผู้ก่อการร้าย” เป็นเวลานานแล้วที่รัสเซียมีข้อมูลว่า “ตุรกีได้รับน้ำมันและผลิตภัณฑ์น้ำมันจำนวนมากจากดินแดนที่ผู้ก่อการร้ายยึดครองในเขตแดนซีเรีย” เป็นคำอธิบายว่าทำไมไอซิสจึงมีเงินมหาศาลเข้ากระเป๋า “ไอซิสมีเงินเยอะหลายร้อยล้านหรือเป็นพันล้านดอลลาร์จากการขายน้ำมัน ซ้ำยังได้รับการปกป้องจากกองทัพทั้งประเทศ (หมายถึงกองทัพประเทศใกล้เคียง)  เป็นเหตุผลว่าทำไมพวกเขาจึงปฏิบัติการอย่างกล้าหาญและอึกทึกครึกโครม” ก่อการร้ายทั่วโลก

                นายดมิทรี เมดเวเดฟ (Dmitry Medvedev) นายกรัฐมนตรีรัสเซีย (ในขณะนั้น) ชี้ว่ารัฐบาลตุรกีปกป้องไอซิสเพราะ “เจ้าหน้าที่ตุรกีบางคนมีผลประโยชน์การเงินโดยตรงจากน้ำมันโรงกลั่นที่ไอซิสควบคุม”

                มองในกรอบกว้างขึ้น การขนถ่ายน้ำมันเป็นปฏิบัติการที่ครึกโครม ทำกันเป็นประจำ แต่ผ่านการตรวจจับของหลายประเทศที่ช่วยกันตรวจตราเข้มงวด ด้วยเทคโนโลยีล้ำหน้า กองทัพอันทันสมัย เป็นเรื่องน่าคิดใช่หรือไม่

                การสร้างเขตปลอดภัย (ดังจะนำเสนอต่อไป) แอร์โดกานกล่าวว่า เป็นพื้นที่ปลอดผู้ก่อการร้าย ในขณะที่รัฐบาลซีเรียกับรัสเซียชี้ว่าตอนนี้เป็นที่หลบภัยของผู้ก่อการร้ายด้วย เป็นข้อกล่าวหาเดิมๆ ที่ชี้ว่ารัฐบาลตุรกีสนับสนุนผู้ก่อการร้ายหลายกลุ่ม ไม่เฉพาะฝ่ายต่อต้านสายกลางเท่านั้น

                ข้อสรุปคือในขณะที่รัฐบาลตุรกีทำสงครามต่อต้านก่อการร้ายจริง แต่ในบางกรณีร่วมมือสนับสนุนกลุ่มผู้ก่อการร้ายด้วย

                ประการที่ 3 ขยายพื้นที่อิทธิพลของตุรกี

                การเข้าปะทะกับกองทัพซีเรีย การสร้างเขตปลอดภัย (safe zone) ในดินแดนซีเรียเป็นอีกตัวอย่าง ประธานาธิบดีแอร์โดกานเรียกร้องให้ชาติยุโรป นาโต สนับสนุนการสร้างเขตปลอดภัยที่จังหวัด Idlib ของซีเรีย (และอีกหลายพื้นที่) ให้เหตุผลว่าช่วยสกัดผู้อพยพลี้ภัยไม่ให้เข้ายุโรป

                เดิมทีเมื่อรัฐบาลตุรกีส่งทหารรุกล้ำอธิปไตยซีเรีย ยกเหตุผลเรื่องปราบปรามผู้ก่อการร้ายเคิร์ดซีเรียที่สัมพันธ์กับผู้ก่อการร้ายเคิร์ดตุรกี โดยตีความว่าการทำสงครามรุกเข้าไปในซีเรียคือการป้องกันตัวเอง

                กองทัพตุรกีลุกล้ำเข้าประเทศซีเรีย อิรัก ยึดครองพื้นที่จำนวนหนึ่ง โดยเฉพาะส่วนที่เป็นเขตอาศัยของชาวเคิร์ด มาบัดนี้มีหลักฐานชี้ชัดแล้วว่าเป้าหมายหนึ่งที่ต้องการคือการครองพื้นที่ซีเรียเพื่อสร้างเขตปลอดภัยนั่นเอง

                ตั้งแต่แรกทำสงคราม รัฐบาลตุรกีพูดถึงการสร้างเขตปลอดภัยทางภาคเหนือซีเรียและดำเนินการเรื่อยมา ได้รับการสนับสนุนจากสหรัฐ ปี 2019 เริ่มดำเนินการอย่างเป็นรูปธรรม ผลคือเคิร์ดซีเรียเจ้าของเขตอิทธิพลดังกล่าวถอนตัวออกไปโดยที่รัฐบาลสหรัฐกับรัสเซียเห็นชอบ

                ตามแผนของแอร์โดกาน เขตปลอดภัยจะเป็นที่อาศัยของผู้อพยพลี้ภัย มีระบบเศรษฐกิจของตนเอง ด้วยความช่วยเหลือจากนานาชาติ จุดขายคือคนเหล่านี้ไม่หนีเข้ายุโรป ในอีกด้านหนึ่งเป็นเหมือนเขตปกครองตัวเองที่รัฐบาลตุรกีดูแล แต่แอร์โดกานยังไม่พูดชัดเรื่องนี้ เพราะมีจุดยืนต้องการซีเรียที่มีบูรณภาพแห่งดินแดน พื้นที่ไม่โดนตัดแยกออกไป

                ตามความคิดของแอร์โดกานที่สุดแล้วเขตปลอดภัยที่ตุรกีจัดตั้งจะปกครองโดยคณะตัวแทนที่มาจากการเลือกตั้ง (popularly elected councils) ภายใต้การกำกับของรัฐบาลตุรกี

                อันที่จริงแล้วความคิดช่วยเหลือผู้อพยพลี้ภัยเป็นเรื่องน่าชื่นชม ปัญหาของแอร์โดกานคือกระทำในนามของรัฐบาลตุรกี สหประชาชาติไม่มีส่วนเกี่ยวข้อง เป็นที่มาของคำถามว่าที่สุดแล้วเป็นเขตปกครองตนเองของตุรกีใช่หรือไม่

                นักวิเคราะห์บางคนเชื่อว่าเป็นส่วนหนึ่งของแผน “กินทีละคำ” ยึดครองพื้นที่แถบนั้นทั้งหมดในอนาคต ประธานาธิบดีแอร์โดกานเป็นฝ่ายพูดเองว่าตุรกีสงวนสิทธิที่จะขยายพื้นที่ให้กว้างออกไปอีก นั่นหมายความว่าเขตปลอดภัยในยามนี้เป็นเพียงจุดเริ่มเท่านั้น

ประชาชนเหยื่อความขัดแย้ง :

                9 ปีสงครามกลางเมืองซีเรียตายแล้วกว่า 380,000 ราย ในจำนวนนี้ 115,000 รายเป็นพลเรือน และเป็นเด็กถึง 22,000 คน ประชาชนกว่า 5 ล้านคนหนีออกจากประเทศ ไม่รู้อนาคตจะดีร้ายอย่างไร และอีกกว่า 7 ล้านคนหนีหลบภัยในประเทศ      ปลายเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา สหประชาชาติรายงานยอดผู้ต้องการความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมในซีเรียอยู่ที่ 1.9 ล้านคน ขาดแคลนปัจจัย 4 คนเหล่านี้คือผู้อพยพหนีภัยที่ยังอยู่ในประเทศ

                ในแง่หนึ่งน่าเห็นใจที่ตุรกีรองรับผู้อพยพลี้ภัย 3.6 ล้านคน ไม่ใช่เรื่องง่ายเลย ทุกประเทศที่ผู้อพยพลี้ภัยเคลื่อนเข้าไปต่างพูดเช่นนั้น ไม่แปลกที่หลายประเทศในยุโรปกีดกัน พยายามสกัดไม่ให้เข้าประเทศ (ล่าสุดมีผู้อพยพจากตะวันออกกลางกับแอฟริกาเหนือเข้ายุโรปราว 1 ล้านคน)

                ในเหตุการปะทะที่แถบเมือง Idlib ล่าสุด ดูเหมือนว่ารัฐบาลแอร์โดกานใช้ผู้อพยพลี้ภัยเป็นเครื่องมือ ปล่อยคนเหล่านี้เข้ายุโรปอีก ทั้งๆ ที่มีข้อตกลงกันแล้ว อียูให้เงินช่วยเหลือดูแลผู้อพยพ แต่เมื่อแอร์โดกานเข้าตาจนก็ใช้คนเหล่านี้เป็นเครื่องมือกดดันอียู หวังให้อียูกดดันรัสเซียอีกทอด น่าคิดว่ารัฐบาลแอร์โดกานกำลังใช้ผู้อพยพตะวันออกกลาง ผู้เป็นพี่น้องมุสลิมด้วยกันเป็นเครื่องมือ หาประโยชน์จากคนตกทุกข์ได้ยาก

                รัฐบาลแอร์โดกานมองว่าตนกำลังปกป้องตนเอง โค่นล้มรัฐบาลเผด็จการอัสซาด รักษาสันติภาพตะวันออกกลาง ผดุงความยุติธรรม ดูแลสิทธิมนุษยชน ในอีกมุมอาจมองว่า “สันติภาพ” ที่แอร์โดกานพูดถึงคือการทำเพื่อผลประโยชน์ตนเอง เป็นแนวคิด “Turkey First” ที่ดูคล้าย “America Frist” ของรัฐบาลทรัมป์ ภายใต้แนวคิดนี้ “ผลประโยชน์คือความถูกต้อง” แม้แอร์โดกานเป็นมุสลิม ประชากรตุรกีส่วนใหญ่เป็นมุสลิม.

---------------------

ภาพ : ประธานาธิบดี เรเจพ ทายยิพ แอร์โดกาน

ที่มา : https://www.tccb.gov.tr/en/receptayyiperdogan/

---------------------

 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"