ประชาธิปัตย์กลับมาได้ ถ้าพรรคยืนอยู่บนหลักที่ถูกต้อง
ความเคลื่อนไหวทางการเมืองของ ส.ส.กลุ่มหนึ่งในพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) ที่แสดงท่าทีต้องการให้พรรคประชาธิปัตย์เรียกประชุมใหญ่พรรคเพื่อหารือทางการเมือง โดยเฉพาะท่าทีของพรรค ปชป.ต่อการอยู่ร่วมรัฐบาล ขณะที่ก่อนหน้านั้น ส.ส.กลุ่มดังกล่าวก็เคยลงมติว่าไม่ความไว้วางใจ ธรรมนัส พรหมเผ่า รมช.เกษตรฯ ในช่วงฝ่ายค้านยื่นญัตติขอเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจ แต่ก็แพ้เสียงโหวตข้างมากด้วยมติ 24 ต่อ 17 จึงทำให้ ส.ส.กลุ่มดังกล่าวต้องลงมติไว้วางใจตามมติพรรค
อันวาร์ สาและ ส.ส.ปัตตานี และรองเลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์ หนึ่งในแกนนำ ส.ส.ปชป.ที่มีท่าทีดังกล่าว ซึ่งก่อนหน้านี้ก็เคยทำหนังสือถึงหัวหน้าพรรคให้เรียกประชุมใหญ่พรรคเพื่อหารือกรณี ส.ส.-สมาชิกพรรค ปชป.ทยอยลาออกอย่างต่อเนื่อง โดยเขาได้พูดคุยเรื่องความเห็นทางการเมืองในหลายแง่มุมที่น่าสนใจ โดยระบุตอนหนึ่งว่า กระแสประชาชนในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ไม่เห็นด้วยที่พรรคลงมติไว้วางใจธรรมนัส และย้ำว่า หากสุดท้ายถ้าพรรค ปชป.มีมติที่ค้านกับความรู้สึกประชาชน ก็อาจทำให้พรรค ปชป.ประสบปัญหาการยอมรับจากประชาชนในการเลือกตั้งรอบหน้าได้
เราตั้งคำถามถึงการที่ อันวาร์ คือ 1 ใน 17 ส.ส.ปชป.ที่มีความเห็นพรรค ปชป.ไม่ควรลงมติไว้วางใจธรรมนัสตอนช่วงอภิปรายไม่ไว้วางใจ ซึ่งเขาเกริ่นไว้ว่า วันที่พรรค ปชป.โหวตร่วมรัฐบาล ที่มีมติ 61 ต่อ 16 ถามว่าวันนั้นไม่มีโจร แต่วันนี้มีโจรอยู่บนเรือ มันต้องทบทวนไหม คำพิพากษาชัดเจนไหมครับ คนที่บอกว่ามีโจรอยู่ก็คือต่างประเทศ ถือว่าคนเตือนเราคือเพื่อนบ้าน เป็นต่างประเทศคือออสเตรเลีย แล้วคำพิพากษาชัดเจนไหม แล้วเราไปรับรองในสิ่งที่ พูดง่ายๆ บอกว่ายาเสพติดเป็นแป้ง ผมว่ามันรับได้หรือไม่ ผมว่าสื่อก็รู้ แล้วประชาชนทั่วไปเขาก็ทราบ แล้วมันค้านความรู้สึกไหม
"คนที่จะมานั่งตรงนี้อย่าลืมว่าต้องสะอาด เพราะว่าเป็นตำแหน่งที่ต้องดูแลผลประโยชน์ของประชาชนในหมู่มาก บางประเทศแค่พัวพันกับสิ่งที่ผิด หลายประเทศแสดงสปิริตลาออกเลย ประชาธิปัตย์เราก็เคยทำ กับเรื่องที่ผ่านมาในอดีต ซึ่งคงไม่ต้องบอก ซึ่งแค่พัวพัน เขาก็ลาออกแล้ว แต่อันนี้มันค้านกับความรู้สึกหลายๆ อย่าง ผมคิดว่าถ้าพิสูจน์ได้ นายกรัฐมนตรีพิสูจน์ได้ว่าทุกอย่าง clean หมด แล้วประชาชนให้การยอมรับในเหตุผลที่ตอบ ก็ไม่มีปัญหาที่เราจะเดินหน้าร่วมกันต่อไปได้ แต่ถ้ายังคลางแคลงใจกันอยู่อย่างนี้ในอนาคตก็จะยังมีปัญหา ก็จะเป็นประเด็นอีก คิดว่าอันนี้จะเป็นอุปสรรค"
...ผมอยากให้รัฐบาลอยู่ยาวๆ อยู่นานๆ เพื่อนำปัญหาต่างๆ ของประชาชนมาแก้แล้วคลี่คลายไปในทางที่ดี แต่ถ้ายังมีเรื่องแบบนี้เป็นอุปสรรค การทำงานของรัฐบาลเองก็จะมีปัญหา
-สรุปแบบนี้ได้ไหมว่า ส.ส.ของพรรค ปชป.ฝ่ายคุณอันวาร์ต้องการให้มีการปรับ ร.อ.ธรรมนัส รมช.เกษตรฯ ออกจาก ครม.?
ประเด็นผมสรุปง่ายๆ เลย อะไรที่ถูกก็ทำให้ถูก อย่างผมชอบมาก คำให้สัมภาษณ์ของคุณสัญญา สถิรบุตร อดีตสมาชิกพรรคประชาธิปัตย์ เขาบอกว่า ประชาธิปัตย์หลังจากนี้อะไรที่ถูก ก็ต้องทำให้เห็นว่าถูก อะไรที่ผิดคือผิด แค่นี้เอง ไม่ได้ยาก และอะไรที่ผิด มันก็จะเห็นชัดในกระบวนการ อะไรที่ถูกเสียงสนับสนุนก็ต้องบอกว่าอันนี้ถูก ก็ไม่ได้ยากในการที่จะสนับสนุน แต่เรื่องไหนที่ยังเคลือบแคลงสงสัย ผมว่านายกฯ อาจมีแนวทางของท่านเอง ในการบริหารจัดการตรงนี้เพื่อไม่ให้เป็นปัญหาในอนาคต ผมก็ไม่ก้าวล่วงการตัดสินใจ แต่อันนี้ก็ควรต้องทำ แต่สำหรับผม ผมก็ทำในพรรคเรามากกว่า ไม่ไปทำข้ามพรรค คือให้พรรคประชาธิปัตย์ยืนหยัดในเรื่องเหล่านี้ ต้องเอาเรื่องผลประโยชน์ประชาชนเป็นหลัก
ส่วนที่มีเสียงวิจารณ์ว่า เรื่องนี้เป็นเรื่องของโควตารัฐมนตรีของพลังประชารัฐ ประชาธิปัตย์ไม่ควรมายุ่งเกี่ยวด้วย อันวาร์-รองเลขาธิการพรรค ปชป. ยอมรับว่า ก็ถูกของเขา แต่สิ่งที่ผมพูด ผมพูดกันภายในพรรคถึงได้ทำหนังสือถึงหัวหน้าพรรค เพียงแต่มีคนมาถามผมว่า หากมีการประชุมใหญ่พรรคประชาธิปัตย์เกิดขึ้นในอนาคต จะมีประเด็นอะไรที่จะพูดคุยกัน ผมก็บอกว่าก็จะมีประเด็นเหล่านี้ แต่เราไม่ได้ก้าวล่วงเขาว่าเขาจะไปทำกันอย่างไร เพราะต่อไปเราต้องมารับผิดชอบเรื่องการตัดสินใจ ถ้ามีปัญหาเรื่องของคนที่รับผิดชอบในแนวนโยบาย ถ้าเป็นรัฐมนตรีแล้วมีปัญหาเรื่องนี้ พรรคเราจะยังใช้มาตรฐานเดิมหรือไม่ ถ้าจะใช้มาตรฐานเดิมเป็นมติพรรค เราก็ไปตามนั้น แต่ก็ต้องรับผิดชอบร่วมกัน ถ้าเกิดวันข้างหน้า ประชาชนจะไม่เลือกประชาธิปัตย์ ก็ต้องรับได้ ถูกไหม เราอยู่ในองค์กร อะไรที่เราเสนอแนะได้ เราก็เสนอแนะ ว่าสิ่งที่เราจะต้องเดินไปข้างหน้าต้องคำนึงถึงสิ่งเหล่านี้
-หากนายกรัฐมนตรีปรับคณะรัฐมนตรี แล้วยังมีชื่อ ร.อ.ธรรมนัสเป็นรัฐมนตรีในรัฐบาลอยู่ จะทำอย่างไร?
ก็เป็นเรื่องที่ต้องพูดคุยกันในพรรค ที่จะมีการเรียกประชุมใหญ่พรรคกัน ผมคงตัดสินใจแทนทุกคนไม่ได้ ผมว่าพรรคประชาธิปัตย์ต้องเปิดประชุม แล้วเรื่องนี้เป็นเรื่องที่พรรคเราต้องคุยกันภายใน ถ้าสมมุติว่า คุณธรรมนัส ซึ่งเราไม่ได้รังเกียจท่าน ถ้าท่านไม่ผิด ถูกต้องทุกอย่าง เคลียร์ตัวเองชัดเจน เสียงสนับสนุนทุกอย่างในพรรค ก็ต้องสนับสนุนท่านเหมือนเดิมทุกอย่างอยู่แล้ว เราไม่ได้ตั้งแง่อย่างนั้น
-ถ้าหากพรรค ปชป.มีการประชุมใหญ่พรรค แล้วเสียงส่วนใหญ่ยังคงเห็นว่า ให้อยู่ร่วมรัฐบาล โดยที่การปรับ ครม.ก็ยังมีชื่อ ร.อ.ธรรมนัสอยู่ใน ครม.แล้วจะทำอย่างไร?
ถ้าเป็นมติ ก็เคารพมติ ก็ต้องไปในทางนั้น เพราะการทำงานในพรรค ต้องยอมรับว่า มติหรือกระบวนการตัดสินใจต่างๆ อยู่ที่สมาชิกส่วนใหญ่ แล้วก็ลงมติว่าไปในทิศทางไหน
-กระแสความรู้สึกประชาชนที่สนับสนุนประชาธิปัตย์ตอนนี้ส่วนใหญ่มองยังไง ที่ ส.ส.ของพรรคลงมติไว้วางใจ ร.อ.ธรรมนัส และการอยู่ร่วมรัฐบาลที่ผ่านมาของพรรค ปชป.?
ผมไม่ทราบว่าส่วนใหญ่ในพื้นที่ของคนอื่นเป็นอย่างไร แต่ว่าในพื้นที่ของผมในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ค่อนข้างแสดงความรู้สึกเกี่ยวกับเรื่องนี้สูงมากว่าเป็นประเด็นที่เคลือบแคลงสงสัยของประชาชน เขาไม่เอา
“พูดง่ายๆ เขาไม่เอา เขาก็บอกว่าเราไปสนับสนุนแบบนี้ได้อย่างไร ส.ส.ทำไมถึงเป็นเหตุแบบนี้ขึ้นมา”
...พรรคเราตั้งมานานแล้ว ประเด็นที่เกี่ยวข้องกับพรรคเรา เวลามีเรื่องเหล่านี้ เราจะตัดสินใจทันที หากต้องปรับ แม้แต่จะยังไม่มีการสรุปว่าผิด อันนี้เป็นมาตรฐาน แต่ถ้าจะบอกว่า เป็นเรื่องของพรรคอื่น แล้วเป็นมติพรรคประชาธิปัตย์ ต้องทำแบบนี้ แล้วการลงมติในวันนั้น (ให้โหวตไว้วางใจธรรมนัส รมช.เกษตรฯ) ทั้ง 53 คน ถามว่าลงมติไว้วางใจไหม ไปในทิศทางเดียวกันไหม ก็ไปในทิศทางเดียวกัน เพราะเป็นมติ
ถ้าเป็นโจรขึ้นมา ไม่ควรนั่งเรือร่วมกัน
-ข้อความ ความเห็น ไม่พายเรือให้โจรนั่ง ที่พนิต วิกิตเศรษฐ์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรค ปชป.ระบุในไลน์กลุ่ม ส.ส.พรรค ปชป.มองยังไง?
ถ้าเป็นสิ่งที่ไม่ดี เป็นเรื่องการคอร์รัปชัน ซึ่งก็ยังไม่ได้พิสูจน์ ถ้าเป็นโจรขึ้นมา ผมว่าไม่ว่าใครก็ไม่ควรให้นั่งเรือด้วยอยู่แล้ว
ถามถึงกรณีทำจดหมายเปิดผนึกฉบับล่าสุดถึงหัวหน้าพรรค ปชป.เรื่อง ขอให้ทบทวนมติ 24 ต่อ 17 เสียง ที่พรรคให้ไว้วางใจร้อยเอกธรรมนัส พรหมเผ่า เรื่องนี้ อันวาร์ ขยายความไว้ว่า ต้องยอมรับอย่างนี้ว่า เมื่อมีปัญหาแล้วมันยังค้างคาใจ เราก็ควรคุยกันในพรรค ผมไม่ได้ไปคุยหรือไปแถลงข้างนอก อย่างที่ผมทำจดหมายเปิดผนึก ผมก็ทำตามขั้นตอนของพรรค ยื่นก็ยื่นในพรรค เสนอผมก็เสนอในพรรค
ผมก็เสนอว่า ในฐานะที่ท่านเป็นหัวหน้าพรรค เป็นหัวเรือใหญ่ สิ่งเหลานี้ต้องสะท้อนความรู้สึกของคนในพรรคประชาธิปัตย์ด้วย เพราะในอนาคตมันจะเป็นปัญหาได้ อย่างเช่นการที่เอาคนที่มีคุณสมบัติที่เป็นรัฐมนตรี อันนี้คุยในพรรค แต่เรื่องนี้จะถูกตอบสนองอย่างไร ก็เป็นหน้าที่ของนายกฯ แต่ในฐานะที่เราเป็นพรรคร่วมรัฐบาล ที่เราจะต้องร่วมรับผิดชอบในมติของคณะรัฐมนตรีทุกอย่าง แล้วมันจะกระทบกับฐานเสียงของแต่ละคนด้วยในพื้นที่ ผมว่าอันนี้ต้องมีการพูดคุยกัน เพราะว่ามติมันคงไม่ได้มีมตินี้มติเดียว ต่อไปก็คงมีมติอะไรอีกหลายอย่าง แต่ในทิศทางที่จะไป ควรต้องมีหลักเกณฑ์ว่าจะต้องคำนึงถึงอะไรบ้าง
อย่าลืมว่าเราที่เป็น ส.ส. เราอาสาที่จะลงมาเล่นการเมือง ซึ่งเมื่อเราลงมาเล่นการเมือง แล้วเราลงไปหาเสียงในพื้นที่ สิ่งที่เราพูดกับประชาชน ก็คือเราจะปกป้องผลประโยชน์ของชาติ จะทำเพื่อผลประโยชน์ของประชาชน ถูกต้องไหม สิ่งนี้คือคำมั่นสัญญา แม้แต่ในการปฏิญาณตนของ ส.ส.วันที่เข้าทำหน้าที่ในสภาฯ ก็จะมีเรื่องนี้ นั่นแสดงว่าสิ่งที่จะเป็นหลักใหญ่ที่จะต้องเป็นมติ จะต้องยึดโยงกับผลประโยชน์ของชาติและพี่น้องประชาชนเป็นหลัก แล้วถามว่าสิ่งที่เกิดไม่ได้ยึดโยงตรงไหน เราก็พยายามทำใช่ไหม อันนี้เป็นเรื่องในพรรคหรือต่างพรรค ก็ต้องลองคิดดูให้ดี
การที่จะทำให้เศรษฐกิจดีขึ้น นั่นหมายถึงว่า ความเชื่อมั่นของประชาชนหรือผู้ลงทุนต้องเกิดขึ้นในรัฐบาล แล้วถ้าเราเอาคนที่เป็นรัฐมนตรีหรือคนที่เป็นหัวเรือแล้วเกี่ยวข้องกับเรื่องของการทุจริต ถามว่าความเชื่อมั่นในการลงทุนจะเกิดขึ้นหรือไม่ ถ้าไม่เกิดขึ้น การจ้างงานก็ไม่เกิด ก็จะมีต่อเศรษฐกิจ สิ่งที่ผมทำ คือการกลับไปย้อนดูว่าสิ่งที่เราเคยสัญญาไว้กับประชาชนคืออะไร เราต้องยึดตรงนี้ มติทุกอย่างต้องอยู่บนพื้นฐานอันนี้ด้วย
-ถ้ามีการประชุมใหญ่พรรค อยากให้พรรคคุยกันเรื่องท่าทีการอยู่ร่วมรัฐบาลของพรรค ปชป.?
ทุกอย่างที่เป็นปัญหาต้องมาคุยกันให้หมด ไม่ว่าจะเป็นจดหมายฉบับแรก แผนฟื้นฟูพรรคประชาธิปัตย์ก็ต้องคุย ผมไม่ได้ลืม เพราะตอนนี้เราไม่มีช่องทางใดๆ เลย ตั้งแต่ทำจดหมายฉบับแรกถึงหัวหน้าพรรค ก็ยังไม่ได้มีการเปิดประชุมพรรค แล้วการประชุมใหญ่วิสามัญก็เลื่อนออกไปแล้ว โดยให้มีการถอน เพื่อจะได้ให้เปิดประชุมสมัยสามัญ แล้วพอสามัญเปิด ก็ไม่ได้ประชุมกันอีก ผ่านไปกี่เดือนแล้วครับ ผ่านมา 2-3 เดือนแล้วจะยืดเยื้ออีกไหม ในส่วนของตรงนี้ คนก็อาจบอกว่าผมเป็นกรรมการบริหารพรรคประชาธิปัตย์ ก็ให้ไปพูดคุยกันในกรรมการบริหารพรรค ซึ่งผมก็เข้าใจ ประเด็นนั้นก็เรื่องหนึ่ง แต่ผมกำลังบอกว่า ในการเรียกประชุม เราจะเรียกทุกคนมาแล้วจะถามมติว่าเราจะอยู่ร่วมหรือไม่อยู่ร่วมรัฐบาล เพื่อน ส.ส.ในพรรคต้องอยู่ร่วมประชุมด้วยไหม ก็ต้องอยู่ด้วย แล้วเสียงสนับสนุนที่เราจะเดินพรรคกันต่อไป ทุกคนก็ต้องรับรู้
เพราะฉะนั้นที่บอกกันว่า กรรมการบริหารพรรคก็ให้ไปคุยกันเองได้ ผมกับหัวหน้าพรรค คุณจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ ก็เจอกันอยู่แล้ว เราก็คุยกันได้ แต่ว่าในประเด็นที่ต้องต่อจากนี้ ไม่ว่าจะเป็นการประชุมคณะรัฐมนตรี ทำไมต้องประชุมทุกสัปดาห์ ทั้งที่คุยกันเองบางเรื่องก็ตกลงกันได้ แต่ในภาคของการปฏิบัติในเนื้อหาที่รองรับ ในหลักของการทำงาน มันไม่ได้รองรับตรงนี้ มันถึงต้องมีการประชุมเพื่อเรียกทุกคนมาเพื่อหาแนวทาง เพราะหากผมเข้าใจ แต่เพื่อนในพรรคของผมคนอื่นเขาไม่เข้าใจ แล้วเขาก็ยังออกจากพรรคประชาธิปัตย์อยู่ดี แล้วแบบนี้จะแก้ปัญหาได้หรือไม่ มันก็ยังแก้ไม่ได้ ตรงนี้คือประเด็น
ระวังคนจะยิ่งไม่เลือก ปชป.!
อันวาร์-รองเลขาธิการพรรค ปชป. กล่าวว่า สำหรับการอยู่ร่วมรัฐบาลของพรรค ปชป. สิ่งที่ต้องเป็นหลักไว้ก็คือ พรรคต้องเป็นที่พึ่งประชาชนให้ได้
“การเป็นที่พึ่งของประชาชนก็คือเขาเห็นด้วยกับสิ่งที่เรากำลังเดิน ถูกก็คือถูก ผิดก็คือผิด อันนี้จะสร้างศรัทธาได้ดีที่สุด เพราะเมื่อประชาชนเชื่อมั่นในพรรคการเมืองใด เขาก็จะยินดีที่จะสนับสนุน บางทีหากมีข้อผิดพลาด เขาก็ยังให้โอกาสอยู่ อันนี้สำคัญที่สุด ต้องสร้างความศรัทธากลับมา โดยยึดผลประโยชน์ของประชาชนกับประเทศชาติเป็นหลัก ก็จะทำให้เรากลับมาแน่”
-หากมีการใช้มติพรรคมาเหนือกว่าความรู้สึกของประชาชน?
ก็อย่าลืม กฎเกณฑ์มันมี การต่อสู้ในพรรคก็ต้องต่อสู้แบบนี้ ใช้หลักของเหตุผล พยายามโน้มน้าวในสิ่งที่เราคิด ให้เป็นเสียงส่วนใหญ่แล้วเอาชนะให้ได้ การอยู่ในกฎเกณฑ์ระบบ มันมี หากจะบอกว่ามติมาแบบนี้ ก็ต้องถกเถียงกัน ให้กลุ่มที่ไม่เห็นด้วย ก็ต้องชี้แจงกัน ถ้าเขาเห็นด้วยในสิ่งที่ถูกต้อง มติก็จะออกมาในทางที่ดี แต่บางอย่างที่มันค้าน เพราะว่าเราไม่ได้ทำสิ่งนั้น ในทางที่ถูกที่ผิด อย่างไปค้านกับความรู้สึก ไปรับรองอะไรที่ไม่ถูก ก็จะเป็นปัญหา
-ถ้ามติพรรคประชาธิปัตย์ออกมาแล้วประชาชนยอมรับไม่ได้กับมติที่ออกมา?
ครั้งหน้าคนก็ไม่เลือกประชาธิปัตย์ นี่ก็เห็นชัดเลย แน่นอน หนีไม่พ้น
-จะทำให้พรรคตกต่ำ?
ยังไม่ตกหรอก คือตอนนี้เรากำลังทำให้พรรคจะได้ฐานเสียงที่เยอะ พรรคประชาธิปัตย์ต่อไปต้องกลับมาเป็นแกนนำให้ได้ ผมคิดแบบนี้คือสิ่งที่ถูกต้อง แม้จะเป็นเสียงส่วนน้อย เพราะถ้าสิ่งที่ผิด แล้วเรายังจะไปสนับสนุน ก็จะเป็นปัญหา ประชาธิปัตย์ก็เคยเป็นฝ่ายค้านและก็เป็นรัฐบาล ประชาธิปัตย์ไม่ได้กลัวจะเป็นฝ่ายค้าน สิ่งที่ต้องยึดคือผลประโยชน์ประเทศชาติและประชาชนเป็นหลัก เราไม่ได้ห่วงว่าเราจะต้องเป็นแต่รัฐบาลอย่างเดียว แต่เราห่วงว่า สิ่งที่เราทำ คือความถูกต้อง เราได้ยืนอยู่บนพื้นฐานตรงนั้นหรือไม่
-หากมีการเปลี่ยนแปลงใดๆ เช่น ยุบสภา ก็ไม่หวั่นเกรง
หากมีการยุบสภาฯ แล้วเรายืนอยู่บนหลักที่ถูกต้อง ที่ประชาชนเห็นด้วย ฐานเสียงเห็นด้วย ยุบกี่ครั้งก็กลับมาได้ ไม่ได้กลัว และก็พร้อม
อันวาร์-รองเลขาธิการพรรค ปชป. กล่าวถึงการดำเนินการตามเงื่อนไข 3 ข้อในการเข้าร่วมรัฐบาลของพรรค ปชป.จนถึงปัจจุบันว่า เรื่องแรก การประกันรายได้ให้สินค้าเกษตรให้เกษตรกร ต้องยอมรับว่า นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รมว.พาณิชย์ ทำได้สำเร็จแล้ว ส่วนอีก 2 ข้อเรื่องแก้ไข รธน.กับเรื่องการไม่ให้ทุจริตคอร์รัปชัน ก็บังเอิญว่าเรื่องทุจริตคอร์รัปชันที่หลายคนก็บอกว่าจะเข้าประเด็นหรือไม่เข้าประเด็น เราก็ต้องมาคุยกัน กรณีเคสของรัฐมนตรี ซึ่งจริงๆ อาจไม่ใช่ของพลังประชารัฐอย่างเดียว แต่ถ้าเป็นของประชาธิปัตย์เอง ก็จะออกมาแบบนี้ จะมีการเรียกให้มีการทบทวนแน่นอน
ถามย้ำว่า เงื่อนไข 3 ข้อในการร่วมรัฐบาล ต้องมีตัวชี้วัดชัดเจนใช่หรือไม่ เช่น หากคณะกรรมาธิการวิสามัญศึกษาการแก้ไข รธน. ที่มีพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค เป็นประธาน กมธ. หากไม่มีข้อสรุปชัดเจนให้มีการแก้ไข รธน.จะทำอย่างไร อันวาร์-รองเลขาธิการพรรค ปชป. ตอบว่า กรรมาธิการที่ตั้งขึ้น ผมคงไม่ต้องพูด คือมันชัดเจน คือเหมือนกับตั้ง แต่ไม่มีข้อสรุป ที่สร้างความมั่นใจ หรือตอบสนองประชาชน ไม่อย่างนั้นก็ไม่มี แฟลชม็อบหรืออะไรต่างๆ เห็นไหม อย่าได้ประมาทความรู้สึกของเยาวชน นักศึกษา เขาก็มองอนาคตของพวกเขา เพราะในสิ่งที่เขาเรียกร้อง เช่น จบการศึกษาออกมา เขาอาจมองว่าอาจตกงาน ไม่มีอนาคต เขาก็ต้องเคลื่อนไหว เราก็ต้องเข้าใจเขา ถ้ารัฐบาลสร้างความมั่นใจให้เกิดขึ้น โดยเฉพาะผู้บริหารที่ดูแลแต่ละกระทรวง ก็ต้องสร้างความน่าเชื่อและสร้างความมั่นใจให้ประชาชนด้วย เพราะถ้ามีพัวพันกับเรื่องทุจริตคอร์รัปชัน แล้วคนที่ต้องร่วมงานกับหน่วยงานนั้น ถามว่าจะกล้าลงทุนหรือไม่ พอคนไม่กล้าลงทุน ประชาชนจะมีงานทำหรือไม่ แล้วแบบนี้เศรษฐกิจจะดีขึ้นหรือไม่ ผมถึงพยายามบอกว่าที่เราคุยกัน เราทะเลาะกันในพรรค ไม่ใช่เรื่องการเมือง ที่ผมคงไม่ได้โง่ถึงขนาดว่า สิ่งที่ทะเลาะ จะไม่เป็นประโยชน์กับประชาชน แต่เป็นเรื่องการสร้างความมั่นใจ เรื่องที่เกิดอาชีพต่อไป เพราะถ้าเรื่องที่เราทะเลาะ เป็นเรื่องของประโยชน์ประชาชนล้วนๆ เพราะเมื่อภาคธุรกิจมีความมั่นใจ กล้าลงทุน การจ้างงานก็เกิดขึ้นแน่ สิ่งที่จะเกิดผลดีก็จะเกิดกับประชาชน
-ถ้าการแก้ไข รธน.ไม่ชัดเจน ไม่คืบหน้า พรรค ปชป.ต้องทบทวนการอยู่ร่วมรัฐบาลหรือไม่?
ก็อยู่ในหลัก 3 ข้อ ผมว่าพรรค ปชป.ควรต้องทบทวนหรือจะไม่ทบทวนเรื่องการอยู่ร่วมรัฐบาล สมาชิกต้องหยิบประเด็นนี้ขึ้นมาพูดแน่ๆ เพราะที่เราคุยกันเป็นผลประโยชน์ของชาวบ้าน เราไม่อยากให้ว่าเราพูดกันตอนหาเสียงเท่านั้น
คลื่นใต้น้ำพรรคสีฟ้า?
เราต้องเรียกศรัทธากลับคืนมา
ก่อนหน้านี้แวดวงการเมืองได้ฮือฮาไม่น้อย เมื่อ อันวาร์ สาและ รองเลขาธิการพรรค ปชป. ได้ทำจดหมายเปิดผนึกถึง จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ เรื่องขอให้จัดประชุมใหญ่วิสามัญเพื่อแก้ไขวิกฤติพรรคและรับผิดชอบร่วมกัน และขอให้เสนอยุทธศาสตร์การฟื้นฟูพรรคที่มีประสิทธิภาพ หลังสมาชิกคนสำคัญของพรรคทยอยลาออกต่อเนื่อง แต่ยังไม่มีมาตรการใดๆ จากฝ่ายบริหารพรรคที่จะแสดงความจริงใจในการแก้ปัญหาดังกล่าว และต่อมาเมื่อ 9 มี.ค.ก็ทำหนังสือขอให้พรรคทบทวนมติการโหวตไว้วางใจ ร.อ.ธรรมนัส รมช.เกษตรฯ
เมื่อถามว่ามองอย่างไรกับการที่ ส.ส.และสมาชิกพรรคทยอยลาออกจาก ปชป.หลายคนก่อนหน้านี้ เกิดจากสาเหตุอะไร เป็นเพราะปัญหาการบริหารจัดการภายในพรรค หรือมองว่าเพราะคนที่ออกไปอาจคิดว่าอยู่ต่อไปก็ไม่มีอนาคต อันวาร์ ออกตัวว่าไม่แน่ใจว่าเหตุผลแต่ละคนที่ออกจากพรรค ปชป.เป็นอย่างไร แต่ที่แน่ๆ เขาอาจจะไม่มีความสุขในการอยู่ อาจจะมีความรู้สึกอึดอัด แต่ในการที่จะทำให้เขาอยู่ต่อไป โดยที่เขาอยู่กับเราแล้วอะไรที่เป็นสิ่งที่ดีในพรรค ปชป.เขาก็รับรู้อยู่แล้ว เขาอาจจะไปเพราะความไม่เข้าใจกันหรือไม่ เราก็ต้องเรียกมานั่งคุยกัน หรือเขาอาจจะไปด้วยเหตุผลอะไรอื่น ซึ่งแต่ละคนก็จะมีไม่เหมือนกัน
สิ่งหนึ่งที่พรรคควรต้องทำก็คือ ทุกคนที่เป็นสมาชิกพรรคทั้งที่เป็น ส.ส.หรือผู้สมัคร ส.ส. ต่างมีที่มาหลากหลาย ซึ่งพื้นฐานหลักความเข้าใจของแต่ละคนทั้งเรื่องการเมือง เศรษฐกิจ กฎหมาย และความเข้าใจในแนวทางต่างๆ แต่ละคนก็จะมีพื้นฐานไม่เท่ากัน สิ่งที่จะทำได้ดีที่สุดคือ บนพื้นฐานที่แต่ละคนมีไม่เหมือนกัน แล้วจะให้เห็นไปในทิศทางเดียวกัน ควรต้องทำอย่างไร ผมคิดว่ามีแนวทางที่สอดคล้องกันอยู่แล้ว ด้วยหลักของเหตุผล ถ้าละลายตรงนี้เพื่อให้มีพื้นฐานใกล้เคียงกัน ให้เห็นไปในแนวทางตรงกัน การทำงานก็จะไม่ยากที่จะเดินไปข้างหน้าได้
อันวาร์ เล่าให้ฟังถึงการที่ตัวเขามักใช้วิธีการทำจดหมายเปิดผนึกถึงหัวหน้าพรรค เพื่อสะท้อนความเห็นในประเด็นต่างๆ โดยได้กล่าวถึงจดหมายฉบับแรกที่ขอให้พรรคแก้ปัญหาคนพรรค ปชป.ทยอยลาออกว่า จดหมายฉบับแรกเป็นเรื่องที่เน้นการทวงถามแผนฟื้นฟูพรรค ปชป. ซึ่งตอนทำจดหมายฉบับดังกล่าวเกิดขึ้นหลังมีสมาชิกและ ส.ส.ของพรรคทยอยลาออกไปเรื่อยๆ ที่คนบอกกันว่า ประชาธิปัตย์อยู่ในสภาวะเลือดไหลไม่หยุด ซึ่งมีทั้ง ส.ส.และนักการเมืองท้องถิ่น เช่น อดีตสมาชิกสภากรุงเทพมหานครพากันทยอยลาออกจากพรรคประชาธิปัตย์ ซึ่งไม่ใช่ภาพที่ดีกับพรรค ผมก็ทำจดหมายเปิดผนึกทวงถามหัวหน้าพรรค เพื่อขอให้พรรคมีการเปิดประชุมใหญ่เพื่อระดมความคิดเห็นของสมาชิก เพราะหลายๆ เรื่องกรณีที่คนของพรรคทยอยลาออก เราก็จะได้รับรู้ปัญหาของพวกเขาเพื่อที่จะได้หาทางแก้ไขปัญหา ที่ผมคิดว่ามันน่าจะอยู่ที่การพูดคุยกันภายในพรรคที่น่าจะโอเคมากกว่า เพื่อจะได้รู้ว่าอันไหนได้อันไหนไม่ได้ เรื่องอะไรที่เรากำลังทำอยู่ จะได้มีโอกาสที่จะชี้แจงกัน
...เป็นเรื่องทวงถามภายในพรรคเพื่อขอให้มีการจัดประชุมใหญ่วิสามัญของพรรค เพราะเราไม่ได้มีการจัดประชุมใหญ่กันมานานแล้ว ซึ่งการประชุมใหญ่ก็จะมีทั้ง ส.ส. อดีต ส.ส. สมาชิกพรรค และผู้บริหารในพื้นที่ เช่น หัวหน้าสาขา จะได้มาคุยกันเพื่อจะได้ให้เป็นแนวทางเดียวกันว่าพรรคจะไปในทิศทางไหน เพราะก็มีประเด็นเช่นทวงถามแผนฟื้นฟู พรรคจะไปในทิศทางไหน เพราะต้องไม่ลืมว่าการเลือกตั้งที่ผ่านมา ต้องถือว่าพรรค ปชป.บอบช้ำมากที่สุด ถ้ามองในความรู้สึกผม เหมือนกับว่าประชาชนส่งสัญญาณหรือเป็นการลงโทษเราด้วยซ้ำไป เห็นได้ชัดจากที่ ส.ส.ของพรรคที่ได้รับการเลือกตั้งลดน้อยลงไปเยอะมาก
อย่างเช่นในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่มี ส.ส. 11 ที่นั่ง โดยมีผมได้รับเลือกตั้งเข้ามาคนเดียว และคะแนนเสียงของผู้สมัครพรรค ปชป.หลายพื้นที่หายไป อันนี้คือสัญญาณที่อันตรายในกรณีที่เป็นเสียงมวลชนและความศรัทธาในพื้นที่ ผมก็เลยทำหนังสือเพื่อขอให้มีการพูดคุยกันภายในพรรคปชป. ในการที่จะทำงานต่างๆ เราต้องเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน แต่แนวคิดที่แตกต่างไม่เป็นไร แต่ต้องมานั่งคุยกัน การปล่อยให้ยืดเยื้อต่อไปไม่เป็นผลดีต่อพรรค
ผมก็เตือนตั้งแต่ตอนนั้น ซึ่งช่วงนั้นหลายคนในพรรคก็ยังไม่ได้ลาออก ผมก็เตือนตั้งแต่ตอนนั้นว่า ระวังจะมีคนลาออกมากกว่านี้ แล้วก็มีคนยังทยอยลาออกอีก ผมก็เห็นว่าแบบนี้มันไม่ได้แล้ว เพราะความรู้สึกของประชาชนที่สนับสนุนพรรค ปชป.ก็มีคำถามขึ้นมาที่แสดงความเป็นห่วง เราลงพื้นที่ก็ได้พบปะพูดคุยกัน คือผมก็ยอมรับว่าเวลานั้นคนในพรรคก็มีความเห็นออกเป็นสองฝ่าย ฝ่ายหนึ่งเห็นว่าพรรคควรร่วมรัฐบาล และอีกฝ่ายเห็นว่าพรรคไม่ควรร่วมรัฐบาล แต่วันนั้นเสียงส่วนใหญ่ก็เห็นว่า ประเทศต้องเดินไปข้างหน้า ทุกคนก็สนับสนุนให้ร่วมรัฐบาล แต่การร่วมรัฐบาลครั้งนั้นก็มีเงื่อนไขสามข้อ
ข้อแรกก็คือ ทำในเรื่องการแก้ไข รธน. ซึ่งผมคิดว่าคงไม่มีใครบอกว่า รธน.ฉบับปัจจุบันดีที่สุด เรื่องที่สอง การประกันรายได้สินค้าเกษตร เพื่อให้ความเป็นอยู่ของเกษตรกรดีขึ้น สาม เรื่องการทุจริตคอร์รัปชันต้องไม่มีเด็ดขาด หรือมีเหตุที่ควรสงสัยต้องพิสูจน์ให้ชัดเจน ไม่เช่นนั้นสามประเด็นนี้จะเป็นประเด็นสำคัญที่เราต้องมาทบทวนในการร่วมรัฐบาล
ขณะเดียวกันหัวหน้าพรรคก็มีเหตุผลสำคัญในการทำให้ประเทศเดินหน้า และทำให้พรรค ปชป.เดินหน้าด้วย นั่นก็คือต้องเยียวยาบาดแผลของคนในพรรค เยียวยาฐานเสียงของคนที่สนับสนุนเรา เรียกร้องศรัทธาความเชื่อมั่นจากเขากลับมาให้ได้ กลับมาให้พรรคประชาธิปัตย์ให้ได้
...ทั้งสองเรื่องดังกล่าวจึงเป็นเรื่องใหญ่ที่ต้องทำพร้อมกันให้ได้ คือทำเพื่อประเทศชาติ สองทำเพื่อพรรคให้ไปในทางเดียวกัน ผมก็คิดว่ามันเป็นภารกิจที่ไม่ง่ายนัก เพราะในส่วนของพรรค ปชป.ก็ต้องยอมรับว่ารัฐบาลเป็นรัฐบาลผสม มีพรรคร่วมรัฐบาล แนวคิดของพรรคร่วมรัฐบาลก็ต้องแตกต่างกัน อาจจะเหมือนกันในบางด้านแต่บางด้านก็แตกต่างกัน ซึ่งแต่ละพรรคก็ต้องพยายามทำให้เกิดเสียงสนับสนุนในพรรคของตัวเองให้สูงขึ้น ก็เกิดการแข่งขันระหว่างพรรคร่วมรัฐบาลด้วยกันเอง ก็เป็นอีกเหตุผลหนึ่งที่เราจะปล่อยให้ยืดเยื้อกันต่อไปอีกไม่ได้
ในวันที่ผมยื่นหนังสือเปิดผนึกดังกล่าวกับหัวหน้าพรรค ทางหัวหน้าพรรคก็เรียกผมไปพูดคุยด้วยเป็นการส่วนตัวในวันนั้นทันที ผมก็บอกหัวหน้าพรรคว่า เรื่องการที่คนของพรรคทยอยลาออกเรื่อยๆ จะปล่อยไว้แบบนี้ไม่ได้ ควรต้องมีการทำความเข้าใจกัน หัวหน้าพรรคก็ให้ความเห็นว่า ใช้วิธีการแบบเรียกคนมาพูดคุยกันแบบวงเล็กๆ แต่ผมให้ความเห็นว่าผมเห็นแตกต่างกัน เพราะหากใช้วิธีเรียกมาคุยกันแบบกลุ่มย่อยๆ ก็อาจเกิด conflict เช่นเรียกมาคุยไม่เท่ากัน หรือคุยแล้วมีเนื้อหาที่แตกต่างกัน หรือมาคุยแล้วไปขยายความประเด็นที่คุยกันไปอีกแบบหนึ่ง เช่นกลุ่มนั้นคุยแบบนี้ แต่อีกกลุ่มคุยอีกแบบ มันก็อาจกลายเป็นประเด็นได้ ผมก็เสนอว่าทางที่ดีควรคุยพร้อมกันทั้งหมด แล้วหา direction เดียวกัน จะได้สื่อสารทางเดียวกัน เนื้อหาเดียวกัน ถ้าหัวหน้าพรรคมีประเด็นอะไรที่จะทำความเข้าใจกับคนในพรรค จะเป็นโอกาสที่ดีมากที่จะทำให้ทุกคนมีความเข้าใจที่เท่าเทียมกัน และตอบข้อซักถามที่ค้างคาใจในข้อมูลเดียวกันพร้อมกันเลย
-ที่คุยกันหัวหน้าพรรคบอกไหมว่าทำไมคนลาออกจากพรรคกันเยอะ?
หัวหน้าพรรคก็อาจมีความเห็นของหัวหน้า ว่าอาจเป็นเรื่องของการไม่พอใจในตำแหน่งหน้าที่หรือเปล่า แต่ผมบอกว่าจะด้วยประเด็นอะไรก็แล้วแต่ บางทีเราอาจคิดของเราไป แต่สิ่งที่เป็นความจริงอาจเป็นประเด็นที่เรื่องความไม่เข้าใจก็ได้ที่จะเป็นทางออก หากเราได้พูดคุยกัน เพราะเราเป็นเพื่อนร่วมพรรคกันมาตั้งหลายสมัย การพูดคุยกันในพรรคมันคุยกันได้
ที่คุยกันกับหัวหน้าพรรคก็ได้แนวทางว่าจะให้มีการประชุมใหญ่พรรค แต่ก็มาเกิดโควิด-19 เสียก่อน ก็เลยต้องเลื่อนการประชุมออกไปก่อน แต่ระหว่างนี้ก็มาเกิดเรื่องกรณีการลงมติไว้วางใจที่มีมติ 24 ต่อ 17 ที่แสดงว่าคนในพรรคยังมีความรู้สึกที่แตกต่างกันในการต้องออกเสียงลงมติ แต่เมื่อต้องมีการออกเสียง พวกเราก็อยู่ในกฎเกณฑ์ที่เราพร้อมยอมรับอยู่แล้ว พอมีการโหวตกันว่าจะให้ไปในทิศทางไหน เมื่อลงมติแล้วแพ้เสียงข้างมากก็ต้องลงมติไปตามเสียงข้างมาก แต่เราก็คุยกันว่าในการประชุมครั้งต่อไป เราคงต้องมานั่งคุยกันแล้ว เพราะมันค้านกับความรู้สึกของเพื่อนสมาชิกอีกหลายคน แต่เราก็เคารพในมติที่ชนะไป ซึ่งก็เป็นเรื่องที่เราจะคุยกันภายในเมื่อมีการจัดประชุมใหญ่พรรค
-เท่าที่ได้คุยกับหัวหน้าพรรค ได้บอกไหมว่าจะมียุทธศาสตร์ฟื้นฟูพรรคอย่างไร?
ก็นี่ไง ผมก็ยังไม่เห็น ผมเป็นกรรมการ เป็นรองเลขาธิการพรรค คนก็ถามว่าไม่คุยกันในพรรค แต่อันนี้เป็นการทำงานในภาพรวมเพื่อให้ไปในทิศทางเดียวกัน มันก็ต้องมีการประชุม ผมก็ไม่เห็นแผนที่พรรคจะให้เป็นรูปธรรมที่ชัดเจน เพื่อจะได้เดินไปในทิศทางที่สอดคล้องกันทุกคน ก็รอการประชุมใหญ่ที่จะมีขึ้น ตอนนี้ก็เลยยังไม่ได้เห็น แต่หัวหน้าพรรคอาจมีแผนยุทธศาสตร์อยู่แล้วก็ได้ เพียงแต่ว่าทุกคนเข้าใจไม่ตรงกัน ผมก็พยายามคุยกับเพื่อนที่มีความคิดเห็นที่ต่างกันว่าอย่าเพิ่งใจร้อน เรากำลังทำเรื่องนี้ แล้วเรามาหาแนวทางที่จะพูดคุยกัน
-ในฐานะรองเลขาธิการพรรค มีความเห็นเรื่องการฟื้นฟูพรรคอย่างไรบ้าง?
ที่แน่ๆ ก็คือว่าต้องเรียกศรัทธากลับคืนมา ไม่วาจะเป็นผู้สนับสนุนพรรค ยิ่งถ้าคนที่อยู่ตรงกลาง หรืออยู่ฝั่งตรงข้าม แล้วทำให้เขามาสนับสนุนพรรคประชาธิปัตย์ อันนี้เป็นสิ่งที่พรรคควรจะทำ เป็นเรื่องของการสร้างความเข้าใจ
สำหรับบทบาทในสภาก็เป็นเรื่องของการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ที่ก็อยู่ในเงื่อนไขการเข้าร่วมรัฐบาลสามข้ออยู่แล้ว ก็อยู่ในยุทธศาสตร์ตรงนี้ ที่กระบวนการก็เช่น การให้มหาวิทยาลัยทั้งหมดทั่วประเทศแบ่งเป็นภาค แล้วใช้รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ที่รับผิดชอบแต่ละภาคไปประสาน เพื่อให้มีการจัดประชุมระดมความคิดเห็นจากฝ่ายต่างๆ เช่นคณบดีในคณะด้านนิติศาสตร์ รัฐศาสตร์ ซึ่งกระบวนการแก้ไขรัฐธรรมนูญไม่ใช่จะมาฟังแต่นักการเมืองอย่างเดียว แต่เราต้องฟังนักวิชาการ คนที่คว่ำหวอดเกี่ยวกับเรื่องเหล่านี้ เพื่อฟังความเห็นในประเด็นที่ควรต้องมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เพื่อทำให้ประเทศชาติมันดีขึ้น
สิ่งเหล่านี้ประชาธิปัตย์ควรจะทำเพื่อจะได้มีความหลากหลาย รวมถึงการเปิดโอกาสให้นักศึกษาร่วมแสดงความคิดเห็นด้วย เพื่อจะได้ข้อคิดเห็นที่เป็นประโยชน์ อันนี้ก็คือหนึ่งในยุทธศาสตร์ที่พรรคประชาธิปัตย์จะต้องทำ
-ถ้ายังไม่แก้ไขปัญหาตรงนี้ พรรคก็จะยังเลือดไหลต่อไปอีก?
ก็อาจจะมี ผมก็บอกไปแล้ว คือหากเขาอยู่ ปชป.แล้วเขามีความสุข ไม่มีใครอยากออกจากพรรคไปหรอก ยิ่งพรรค ปชป.มีจุดแข็งที่เป็นความได้เปรียบอยู่หลายเรื่อง อย่างเช่นพรรคเราเป็นสถาบัน เรามีฐานเสียงในอดีตเยอะมาก และผมกล้าพูดเลยว่าในความรู้สึกของประชาชนทั่วไป ก็ยังมองว่าพรรค ปชป.ยังเป็นหลัก ยังเป็นสถาบัน ก็ยังเป็นจุดแข็งของพรรค ไม่อย่างนั้นพรรคคงไม่อยู่มายาวถึง 73 ปี จนถึงทุกวันนี้ จุดนี้คือจุดดีของพรรคที่เราต้องนำมาวิเคราะห์ นำมาใช้
ถามมุมมองว่าสาเหตุใดที่ทำให้ ปชป.ไม่ประสบความสำเร็จในการเลือกตั้งที่ผ่านมา จนถูกมองว่าเป็นยุคตกต่ำ อันวาร์-รองเลขาธิการพรรค ปชป. ให้ทัศนะว่าคงมีหลายสาเหตุ เช่นเรื่องกฎเกณฑ์ของการเลือกตั้งที่ผ่านมาก็อาจเป็นส่วนหนึ่ง เช่นวิธีการเลือกตั้ง การแบ่งเขตเลือกตั้ง การมีพรรคการเมืองลงเลือกตั้งจำนวนมาก หรืออาจเป็นเรื่องของการทุจริตคอร์รัปชัน การใช้เงินใช้ทองในการเลือกตั้งก็อาจเป็นอีกประเด็น หรือเรื่องของความรู้สึกต่อการทำงานของพรรค ปชป. เขาอาจรู้สึกว่าไม่ตอบสนองเขา ก็อาจเป็นอีกประเด็น ผมถึงเสนอกับทางพรรคว่าเมื่อเราผ่านการเลือกตั้งมาแล้ว เราต้องนำเคสของปัญหาการเลือกตั้งที่ผ่านมามาวิเคราะห์วิจัยด้วยหลักวิชาการ มาถอดบทเรียนกันเลย ถ้าทำแล้วมีผลออกมาชัดก็อาจทำให้เกิดการคลี่คลายปัญหา
-คิดว่าพรรคมีโอกาสจะกลับมารุ่งเรืองเหมือนในอดีตได้หรือไม่?
แน่นอน ผมมั่นใจ เพราะถ้าผมไม่มั่นใจผมย้ายออกจากพรรคประชาธิปัตย์ไปแล้ว เพราะคนที่จะลงเลือกตั้งต้องมีการประเมินตัวเองตลอด แล้วที่ผ่านมาก็มีหลายพรรคการเมืองก็มาทาบทามผม เพราะผมมั่นใจว่าตรงนี้น่าจะดีที่สุด เพราะอุดมการณ์ของพรรค ปชป.ค่อนข้างจะดีและชัดเจนด้วย แต่อาจจะมีปัญหาในประเด็นต่างๆ ที่เกิดขึ้น มันเลยทำให้กระแสการเลือกตั้งที่ผ่านมาเปลี่ยนไป เช่นคนอาจจะกลัวใครบางคนกลับมา คือมันก็มีปัจจัยหลายอย่าง
เราถามถึงกรณีคนภายนอกมองความเคลื่อนไหวของคนในพรรคปชป.ว่า ถึงเวลานี้ในพรรคมีคลื่นใต้น้ำ มีการแบ่งกลุ่มก๊วน เช่น กลุ่มจุรินทร์, กลุ่ม ส.ส.สายอภิสิทธิ์, กลุ่มอดีต กปปส. อันวาร์-รองเลขาธิการพรรค ปชป. ตอบว่า มองว่าสิ่งเหล่านี้หากเราทำให้เป็นหนึ่งเดียวกันให้ได้ ด้วยการยอมรับด้วยเหตุผลที่ดี ด้วยสิ่งที่ถูกต้อง มันก็จะไม่เกิดปัญหานั้น ซึ่งถ้าเกิดความเป็นหนึ่งเดียว ความมั่นใจ ความเชื่อถือที่มีต่อพรรคประชาธิปัตย์จะเกิดขึ้นทันที สิ่งที่เราทำก็คือสิ่งนี้ ผมก็พยายามจะบอกให้พรรคต้องมีการพูดคุย เรื่องไหนที่สมาชิกพรรคไม่เข้าใจกันก็ต้องมาคุยกัน มาปรับกัน บางเรื่องอาจทำดีอยู่แล้วแต่มีคนไม่เข้าใจ พอพูดกันแล้วคนที่ไม่เข้าใจก็อาจเข้าใจก็ได้ ซึ่งกรรมการบริหารพรรคก็มีบทบาทตรงนี้ได้ อะไรที่ยังมีความสงสัย ก็มาพูดคุยกันเพื่อให้เป็นไปในแนวทางเดียวกัน เพราะกรรมการบริหารพรรคคือคนที่จะนำพาแนวทางของพรรคเดินไปในอนาคต ก็ต้องให้มาคุยกัน เพราะอย่างผมก็เห็นปัญหาคือเรื่องความเข้าใจที่ไม่ตรงกัน ผมถึงเสนอให้กรรมการบริหารพรรคกับสมาชิกพรรคต้องมาคุยกัน มาหาข้อสรุปเดียวกันว่าจะให้เป็นไปในทิศทางไหน
-คนภายนอกประเมินกันว่า มีแนวโน้มพรรคประชาธิปัตย์จะแตก?
จริงๆ สถานการณ์ก็เคยเกิดขึ้นในอดีต แต่อย่างตัวผมก่อนหน้านี้คนก็อาจไม่รู้จักผม เพราะผมไม่เคยออกมาแสดงความเห็นอะไร เพราะผมไม่มีหน้าที่ ไม่มีสถานะอย่างนั้น แต่เมื่อผมมาเป็นรองเลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์ ผมก็คิดว่าในสมัยนี้ต้องเปลี่ยน บางอย่างที่ผมคิดว่าต้องทำให้ประชาธิปัตย์ดีขึ้นก็ต้องทำ เพราะผมมีหน้าที่แล้ว มีความรับผิดชอบแล้ว จะมาปัดความรับผิดชอบไม่ได้ บางทีอาจมีความไม่เข้าใจของคนในพรรคต่อตัวผม อาจมองผมอย่างนั้นอย่างนี้ มันก็เป็นเรื่องความเข้าใจตรงนั้น แต่ถ้าจุดมุ่งหมายหลักของเราชัดเจน เป้าหมายชัดเจน ผมก็คิดว่าสิ่งที่ถูกต้องแม้เวลาผ่านไปหลายปี สิ่งที่ถูกก็ยังเป็นสิ่งที่ถูก.
โดย วรพล กิตติรัตวรางกูร
................................................................
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |