อุทยานหลุมฟ้าสะพานสวรรค์ (จบ)


เพิ่มเพื่อน    

 

      อูหลงเป็นเขตปกครองในสังกัดเทศบาลนครฉงชิ่ง มีชื่อเสียงขึ้นอย่างต่อเนื่องตลอดสิบกว่าปีมานี้หลังจากได้นำเสนออุทยานแห่งชาติ “หลุมฟ้า-สะพานสวรรค์” สู่สายตานักท่องเที่ยวทั้งในจีนและทั่วโลก อุทยานหลุมฟ้าสะพานสวรรค์นี้มีลักษณะภูมิประเทศที่เรียกว่า “คาสต์” (Karst) เกิดจากภูเขาหินปูนถูกน้ำกัดกร่อนจนมีรูปร่างแปลกแตกต่างกันไป บางครั้งก็ถึงขั้นดูน่าอัศจรรย์เหมือนไม่ใช่ฝีมือธรรมชาติ

                อุทยานหลุมฟ้าสะพานสวรรค์เป็นส่วนหนึ่งของอุทยานแห่งชาติทางธรณีวิทยาอูหลง (Wulong Karst Geological Park) ได้รับเกรด AAAAA ซึ่งเป็นระดับสูงสุดที่ทางการจีนมอบให้แก่สถานที่ท่องเที่ยว อยู่ในเขตแนวภูมิประเทศแบบคาสต์ของจีนตอนใต้ (South China Karst) ทั้งหมดได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกโดยองค์การยูเนสโก ป่าหินชือหลิน (Shilin Stone Forest) ที่นครคุนหมิงก็อยู่รวมในกลุ่มเดียวกัน


หลังลงจากลิฟต์แก้วก็จะเจอกับวินเกี้ยวเข้าคิวคอยผู้โดยสาร

                 สถานที่ท่องเที่ยวสำคัญในเขต “อูหลงคาสต์” มีอยู่ด้วยกัน 3 แห่ง คือ อุทยานหลุมฟ้าสะพานสวรรค์ ฝรั่งเรียก “สะพานธรรมชาติทั้งสาม” (Three Natural Bridges), รอยแยกหลงฉุ่ยเสีย (Longshuixia Fissure) และถ้ำฟูหรง (Furong Cave) โลกใช้เวลาเพียง 2.6 ล้านปี ในการสร้างภูมิประเทศอันเหลือเชื่อนี้ขึ้นมา         

                อูหลงคาสต์ตั้งอยู่บนความสูงจากระดับน้ำทะเลตั้งแต่ 480-2,033 เมตร อุณหภูมิเฉลี่ยทั้งปีประมาณ 17.4 องศาเซลเซียส มีต้นไม้ปกคลุมถึง 80 เปอร์เซ็นต์ ระดับความเข้มข้นของออกซิเจนประจุลบ ซึ่งดีต่อร่างกายมีสูงมาก อุดมไปด้วยพืชและสัตว์หายาก มีพืชอยู่ 1,058 สปีชีส์ สัตว์ป่า 326 สปีชีส์ เป็นผลให้ระบบนิเวศในเขตนี้สมบูรณ์อย่างยิ่ง


โรงเตี๊ยมในตำนาน ภาพถ่ายยอดนิยมของทุกคนที่มาเยือนหลุมฟ้าสะพานสวรรค์

                 ในตอนที่แล้วผมได้เขียนถึงแค่พิพิธภัณฑ์หินที่จัดแสดงตัวอย่างหินจากพื้นที่ South China Karst และระเบียงพื้นกระจกใสชมวิวแบบเสียวไส้ ห้อยอยู่บนหน้าผาสูง 298 เมตร ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของอุทยานหลุมฟ้าสะพานสวรรค์ แล้วเรื่องก็จบลงแค่นั้นตอนเวลาใกล้เที่ยงวัน

                 ผมได้บอกไปแล้วว่าได้ร่วมคณะทัวร์จีนมากับคนจีนทั้งหมด จาห่าวเพื่อนใหม่จากมณฑลกวางตุ้ง ผู้ร่วมเกสต์เฮาส์เป็นผู้หาซื้อแพ็กเกจทัวร์นี้มา ยามที่ไกด์จีนบรรยายเขาก็จะแปลเป็นภาษาอังกฤษให้ผมฟังในส่วนที่เป็นข้อมูลสำคัญ

        เสร็จจากระเบียงริมผา รถทัวร์พาเราไปส่งยังประตูทางเข้าอุทยานหลุมฟ้าสะพานสวรรค์ มีตัว “บัมเบิลบี” หุ่นยนต์ยักษ์สีเหลืองดำจากภาพยนตร์เรื่อง Transformers ยืนจังก้าอยู่ด้านหน้า ภาพยนตร์ Transformers ภาค 4 ตอน Age of Extinction มีฉากการต่อสู้สำคัญอยู่ในอุทยานหลุมฟ้าสะพานสวรรค์ ภายในอุทยานยังมีหุ่นยนต์ไดโนเสาร์จากภาพยนตร์เรื่องเดียวกันจัดแสดงอยู่กลางหุบเขาอีกตัว ให้ภาพขัดแย้งในความรู้สึกไปบ้าง แต่นักท่องเที่ยวนิยมถ่ายรูปกับหุ่นยนต์พวกนี้จนพวกมันแทบไม่มีเวลาได้ยืนเดี่ยวๆ

                 ผมเกาะจาห่าวไม่ห่าง ไปไหนไปด้วย เข้าคิวขึ้นลิฟต์แก้วก็ต้องยืนติดกัน ลงจากลิฟต์แก้วแล้วก็เดินไปตามทางเดินที่ทำขึ้นอย่างดี มีเครื่องหมายบอกทาง แม้เดินคนเดียวก็คงไม่หลงไปไหน กลุ่มผู้ชายทั้งหนุ่มแน่นไปจนถึงรุ่นคุณลุงนั่งรอ-ยืนรอลูกค้าที่ขาเข่าไม่อำนวยหรือขี้เกียจเดิน พวกเขาจะหามขึ้นเกี้ยวแบกขึ้นบ่าพาชมไปตามเส้นทางทัวร์ เสียดายที่ไม่ได้ขอให้จาห่าวถามว่าค่าความสบายนี้ต้องจ่ายเท่าไหร่


สะพานธรรมชาติมังกรเขียว ถูกหุ่นยนต์ไดโนเสาร์จากหนัง Transformers บุกรุกเสียแล้ว

                 จากจุดที่วินเกี้ยวตั้งอยู่นี้เราเดินลงไปเรื่อยๆ ลอดใต้สะพานธรรมชาติแห่งแรก เรียกว่า “สะพานมังกรฟ้า” เมื่อมองลงไปก็จะเห็น “โรงเตี๊ยมเทียนฟู” อยู่ในหลุมฟ้า หรือหุบเขาลึกมีชื่อว่า “หยางฉ่วยเขอ” โรงเตี๊ยมหลังคาสีดำกำแพงเทาๆ นี้เป็นกลุ่มอาคารโบราณ สร้างล้อมเป็นสี่เหลี่ยม มีลานตรงกลาง ใต้สะพานมังกรฟ้าถือเป็นจุดถ่ายภาพยอดนิยมอันดับหนึ่ง หลายคนมาเยือนอูหลงหรือแม้แต่ฉงชิ่งก็เพื่อจะได้ภาพโรงเตี๊ยมเทียนฟูเป็นฉากหลัง-ฉากล่างไปฝากเพื่อนฝูง

                 สำหรับนักท่องเที่ยวที่เดินทางคนเดียวและเกรงใจไม่กล้าฝากให้คนอื่นถ่ายภาพตัวเองกับวิวโรงเตี๊ยมก็ไม่ต้องกังวล ฝ่ายการท่องเที่ยวอูหลงหรืออาจจะเป็นเอกชนที่ได้รับสัมปทานตั้งกล้องพร้อมอุปกรณ์ขาตั้งกล้องอยู่ตรงนี้ ทุกคนสามารถเข้าคิวถ่ายภาพแล้วรับบัตรหมายเลขเพื่อไปรับภาพที่ปรินต์เคลือบพลาสติกเรียบร้อยแล้วบริเวณทางออกอุทยาน ติดมากับบัตรหมายเลข คือพวงกุญแจรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าคล้ายล็อกเก็ตขนาด 1X2 นิ้ว มีกระจกใส 2 แผ่นสำหรับปิดเข้าและเปิดออกทั้ง 2 ด้าน จุดถ่ายภาพที่เขาจัดไว้มีอยู่ด้วยกัน 4 จุด แบ่งเป็นโซนหลุมฟ้าสะพานสวรรค์ 2 จุด และโซนรอยแยกหลงฉุ่ยเสียอีก 2 จุด


มองไปดูคล้ายพญาเหยี่ยวกำลังกางปีก

                โรงเตี๊ยมเทียนฟูคือสถานที่รับและส่งต่อข่าวสารของทางการเมื่อครั้งโบราณ ตั้งอยู่ระหว่างเมืองฝูโจวและเฉียนโจว สร้างขึ้นในสมัยราชวงศ์ถัง ป้ายประวัติระบุว่า สร้างในปี ค.ศ.619 หรือปีที่ 2 ในการครองราชย์ของจักรพรรดิเกาจู่ ภายหลังได้รับความเสียหายอย่างหนักจากศึกสงคราม กระทั้งถูกสร้างขึ้นมาใหม่ในปี ค.ศ.2005 บนจุดเดิมตามลักษณะโครงสร้างเดิมที่เหลืออยู่ อีกทั้งวัสดุและรายละเอียดก็สร้างตามร่องรอยประวัติศาสตร์

                “จางอี้โหมว” ผู้กำกับ Curse of the Golden Flower แปลไทยว่า “ศึกโค่นบัลลังก์วังทอง” (เข้าฉายปี ค.ศ.2006) เลือกใช้โรงเตี๊ยมในหุบเขาลึกนี้เป็นฉากสำคัญในหนัง หลายท่านคงจำได้ ภาพการบุกจู่โจมจากรอบทิศทางโดยนักรบชุดดำจำนวนมากโหนสลิงพุ่งลงไปยังโรงเตี๊ยม ขณะดูหนังหลายคนคงไม่คิดว่าสถานที่แห่งนี้มีอยู่จริง

                พวกเราตามไกด์สาวที่ถือธงเดินนำลงไปยังโรงเตี๊ยมเทียนฟู เธอบรรยายของเธอไปเรื่อย ใครอยู่ห่างไปก็ไม่ได้ยิน เพราะมีนักท่องเที่ยวเต็มไปหมดและส่งเสียงเซ็งแซ่ จาห่าวก็ไม่ได้ตามติดเธอตลอดเวลา ถึงเวลานี้แค่คอยสังเกตธงของเธอก็พอว่าอยู่ตรงไหนแล้วพยายามรักษาระยะไม่ให้ห่างจนเกินไป


สะพานธรรมชาติมังกรดำ แต่ไฉนดูคล้ายคิงคอง

                จากโรงเตี๊ยมมองเงยหน้าย้อนหลังกลับไปก็จะเห็นสะพานธรรมชาติ “มังกรฟ้า” ดูคล้ายซุ้มประตูหินขนาดยักษ์ ในโรงเตี๊ยมมีภาพยนตร์ฉายอยู่ตรงกำแพงด้านหนึ่ง รูปปั้นม้าตั้งอยู่อย่างน้อย 2 ตัว น่าจะเป็นการสื่อว่าม้าคือผู้นำส่งข่าวสารในอดีต

                ผมอยู่ในนี้ได้เพียงครู่เดียว จาห่าวเดินมาฉุดให้ตามคณะไป จากสะพานมังกรฟ้าสู่สะพานมังกรเขียว ป้ายเขียนบรรยายว่าในวันฝนตกจะมีน้ำตกลงมาจากหน้าผากลายเป็นหมอก เมื่อฝนหยุดหมอกจะกลายเป็นสีรุ้ง ประสานกับสะพานธรรมชาติรูปคล้ายมังกรสีเขียวทะยานขึ้นฟ้าแลดูอัศจรรย์น่าเกรงขาม ตัวสะพานมังกรเขียวนี้สูงถึง 281 เมตร ถือเป็นสะพานธรรมชาติที่สูงที่สุดในโลก ปัจจุบันมีตัวหุ่นยนต์ไดโนเสาร์จาก Transformers 4 มาแยกเขี้ยวคุมเชิงมังกรอยู่ใกล้ๆ

                จาห่าวคว้าเอาโดรนออกมาจากเป้ จัดการต่ออุปกรณ์เข้ามือถือแล้วพยายามจะนำโดรนขึ้นบินเพื่อถ่ายภาพในมุมมองที่ไม่ได้หาง่ายๆ แต่ลองแล้วลองอีกก็ไม่สำเร็จ เขาบอกว่าไม่มีสัญญาณ ผมไม่มีความรู้เรื่องนี้จึงไม่เข้าใจว่าเขาต้องการสัญญาณอะไรในการบังคับโดรนขึ้นบิน สุดท้ายก็เก็บกลับเข้าเป้ด้วยความผิดหวัง


รอยแยกหลงฉุ่ยเสีย ส่วนหนึ่งของอุทยานแห่งชาติทางธรณีวิทยาอูหลง

                สะพานถัดไปชื่อสะพานมังกรดำ แต่มีคนมองเป็นกอริลลายักษ์มากกว่า ถึงขั้นมีป้ายเขียนบรรยายความคล้ายกับคิงคองไว้ โดยเฉพาะดวงตาทั้งคู่ สะพานนี้มีน้ำพุธรรมชาติอยู่ด้านบนไหลลงสู่เบื้องล่างให้ภาพต่างกัน บ้างเป็นม่านน้ำตก บ้างเป็นแผ่นละอองน้ำ ตอนสัมผัสเหมือนโดนฉีดสเปรย์บางๆ นอกจากบรรดาน้ำตกแล้วตลอดทางเดินก็ยังมีลำธารและสะพานหินสวยงามข้ามไปมา ช่วงท้ายๆ ลำธารขยายออกเป็นสระ เพราะมีฝายกั้นไว้ด้านบน แต่ดูไม่ลึก ด้านข้างบางจุดมีหาดทรายและโขดหินให้ลงไปเดินเล่น ส่วนในสระปลาคาร์พแหวกว่ายอยู่เต็มไปหมด    

                ก่อนจะออกจากโซนหลุมฟ้ามีห้องน้ำอย่างดีให้เข้าไปทำธุระ จากนั้นออกมาเจอกับซุ้มภาพถ่าย ตากล้อง 2 คนได้ถ่ายเราไว้กับฉากหลังสวยงามบริเวณใต้สะพานมังกรฟ้าและสะพานมังกรสีเขียว เรายื่นบัตรหมายเลขที่ได้จากตากล้องให้เจ้าหน้าที่สาว เธอนำรูปขนาดประมาณ 6X8 นิ้วที่ปรินต์เคลือบพลาสติกเรียบร้อยแล้วมาให้ดู น่าจะเป็นกระดาษปอนด์ธรรมดา บอกราคาขาย 20 หยวนต่อภาพ หรือตกราวๆ 100 บาท ผมทำท่าจะควักตังค์ซื้อ จาห่าวบอกว่าไม่ต้องซื้อ แพงไป แล้วขอรูปเล็กมาแทน รูปเล็ก 2 รูปนี้ฟรี เอาไปใส่ในพวงกุญแจล็อกเก็ตที่ผมพูดถึงก่อนหน้านี้ รู้สึกเสียดาย โดยเฉพาะภาพที่มีฉากหลังเป็นโรงเตี๊ยมในหลุมฟ้า เพราะผมไม่มีรูปตัวเองกับวิวนี้ อันที่จริงผมไม่มีรูปตัวเองแม้แต่รูปเดียวในอุทยานแห่งนี้ นอกจากรูปเล็กจิ๋วในพวงกุญแจ  


น้ำตกกาแล็กซี่ภายในรอยแยกหลงฉุ่ยเสีย

                เราตามคณะทัวร์ไม่ทันไปสักพักแล้ว จุดเปลี่ยนก็คือตอนที่จาห่าวพยายามนำอากาศยานของเขาขึ้นบิน แย่ไปกว่านั้นจาห่าวไม่ยอมซื้อตั๋วรถชัทเทิลพลังงานไฟฟ้า คล้ายๆ รถกอล์ฟราคา 15 หยวน เพื่อนั่งไปยังโซนถัดไประยะทางกิโลเมตรกว่าๆ เขาบอกว่านั่นสำหรับสตรีและคนชรา แล้วเราก็พากันเดิน บางช่วงก็วิ่ง แม้ว่าทางเดินจะทำไว้ดีมาก แต่ลาดชันจนทำให้เหนื่อย รถกอล์ฟคันแล้วคันเล่าวิ่งแซงเราไป ตอนเริ่มเดินเขาถามผมว่า “ไหวไหม” แต่พอเดินไปสักพักผมได้ยินเสียงเขาหอบดังชัดเจน

                เรามาช้ากว่าที่นัดกับไกด์สาวเอาไว้ประมาณ 10 นาที เธอจัดให้เข้าแถวขึ้นรถบัสของอุทยานสำหรับไปชม “รอยแยกหลงฉุ่ยเสีย” ส่วนคณะผู้สูงอายุที่มากับพวกเราล่วงหน้าไปก่อนแล้ว และสถานที่ต่อไปไกด์สาวไม่ได้เดินทางไปด้วย เธอจะไปรออยู่ที่ทางออกพร้อมรถทัวร์ในเวลา 4 โมงเย็น

                ไม่กี่นาทีก็ถึงทางเข้ารอยแยกหลงฉุ่ยเสีย (Longshuixia Fissure) มีป้ายเขียนไว้ว่า “การเดินทางสู่ใจกลางโลก” ช่วงแรกๆ เราเดินในถ้ำ จากนั้นก็ออกมาเดินเลียบผาหิน เบื้องบนคือยอดผา เบื้องล่างคือหลุมลึก แสงอาทิตย์ส่องลงมาได้เพียงบางเบา มีน้ำตกให้รู้สึกตื่นตาตื่นใจหลายแห่ง โดยเฉพาะน้ำตกที่ชื่อ “น้ำตกกาแล็กซี่” ตกลงมาแล้วก็รวมกับลำธารแคบ ไหลเซาะไปตามหินใหญ่น้อยรูปร่างแปลกตา บางช่วงเราต้องเดินงอตัวไปตามช่องเขาแคบๆ โค้งๆ เกือบจะยื่นมือไปแตะผาอีกฝั่งได้ ไม่ง่ายนักที่จะทำทางเดินบันไดหินมีราวจับแข็งแรงตลอดเส้นทาง โดยรวมแล้วรอยแยกนี้ก็คือแคนยอนที่เรียกว่าแคนยอนระดับตัดลึกถึงตัดกลาง ความยาวรวม 5 กิโลเมตร แต่ทางเดินที่สร้างขึ้นช่วยย่นระยะให้เหลือ 2 กิโลเมตร มีความลึกจากยอดผาถึงก้นหลุมระหว่าง 200 เมตร ถึง 350 เมตร ส่วนที่แคบสุดห่างกันเพียง 1 เมตร

 


น้ำตกม่านลูกปัดในรอยแยกหลงฉุ่ยเสีย

                เราถ่ายรูป 2 จุด 2 รูปกับตากล้องมืออาชีพ รับบัตรหมายเลขและพวงกุญแจล็อกเก็ตอีกครั้ง แต่สุดท้ายก็ไม่ได้ซื้อ รับมาแต่รูปจิ๋วแจกฟรี

                ถ้ำฟูหรงที่เป็น 1 ใน 3 สถานที่ท่องเที่ยวหลักของอูหลงคาสต์อยู่ค่อนข้างห่างออกไปจาก 2 แห่งแรก คณะทัวร์ของเราจึงไม่มีเวลาไปเยือน เราออกจากอุทยานไปเจอกับแผงขายของกินจำพวกมันปิ้ง ข้าวโพดต้ม และผลไม้หลายชนิด แต่ละแผงล้วนขายเหมือนกันทั้ง 2 ฝั่งทางเดิน มีห้องน้ำและคาเฟ่อยู่มุมหนึ่ง เราไม่เจอคณะที่มาด้วยกัน แต่ผมเดินหารถทัวร์ของเราจนเจอ จาห่าวโทรศัพท์หาไกด์สาว เธอโผล่มาโดยที่ยังไม่ได้รับโทรศัพท์ คณะที่เหลือทยอยออกมาจากห้องน้ำ เมื่อพร้อมแล้วก็ออกเดินทางกลับตัวเมืองฉงชิ่ง

                หากเราไม่ใช้รถทัวร์ แต่ใช้เฮลิคอปเตอร์หรือโดรนขึ้นบินแล้วมองกลับไปยังอุทยานอูหลงก็จะเห็นหลุมและรอยแยกแซมอยู่ตามสีเขียวพืดของขุนเขา

                เหมาะนักที่ยักษียักษาจะเล่นซ่อนหากันในนั้น.

 

 

 

 

 

 

 

 

 

แกลลอรี่


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"